วุ่ยวายกันไม่เลิกรา ในช่วงเช้าของวันที่ 25 กรกฏาคม 2555 นายโสฬส สาครวิศวะ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ “เอสเอ็มอีแบงก์” ได้ยื่นใบลาออกกับนายนริศ ชัยสูตร อธิบดีกรมธนารักษ์ ในฐานะประธานกรรมการ ธพว. ก่อนการประชุมบอร์ดของธนาคาร โดยให้เหตุผลว่ามีปัญหาด้านสุขภาพ จึงขอลาออกจากตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ ธพว. ให้มีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 4 ตุลาคม 2555 เป็นต้นไป
นายนริศจึงเชิญนายโสฬสเข้าห้องประชุม พร้อมกับสั่งให้ผู้บริหารระดับสูงของธนาคารที่ไม่เกี่ยวข้องออกไปรอที่หน้าห้อง การประชุมบอร์ดวันนั้นจึงกลายเป็น “การประชุมลับ” โดยบอร์ดได้ใช้เวลาเจรจาเกลี้ยกล่อมนายโสฬสอยู่ 3 ชั่วโมง กว่าจะเลิกประชุมประมาณเที่ยง แต่ในระหว่างที่บอร์ดกำลังประชุมลับกันอยู่นั้น ปรากฏว่าในเวลา 10.30 น.กระทรวงการคลังได้ส่งข้อความ SMS ไปแจ้งสื่อมวลชนว่า นายวิรุฬ เตชะไพบูลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง และคณะผู้บริหารระดับสูงของ ธพว. จะแถลงข่าวที่ห้องวายุภักษ์ 1 เวลา 15.30 น. แต่ไม่ได้บอกว่าเป็นประเด็นอะไร
จนกระทั่งถึงเวลาที่กระทรวงการคลังเปิดแถลงข่าว นายนริศเปิดเผยว่า ในช่วงเช้าของวันที่ 25 กรกฎาคม 2555 นายโสฬสได้ยื่นใบลาออกจากตำแหน่งกับบอร์ดของธนาคาร โดยอ้างว่ามีปัญหาด้านสุขภาพ และขอให้การลาออกมีผลตั้งแต่วันที่ 4 ตุลาคม 2555 เป็นต้นไป แต่เมื่อพิจารณาตามเงื่อนไขของสัญญาว่าจ้างนายโสฬส ที่ระบุว่า หากฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดจะบอกเลิกจ้างต้องมีเหตุผลอันสมควร และต้องบอกกล่าวให้ทราบล่วงหน้าอย่างน้อย 90 วัน นั่นคือวันที่ 24 ตุลาคม 2555
ดังนั้น กรณีนี้บอร์ดตั้งข้อสังเกตุว่าเป็นการลาออกก่อนกำหนด ซึ่งในสัญญาว่าจ้างฯ ระบุว่า หากนายโสฬสไม่ปฎิบัติตาม ธนาคารมีสิทธิเรียกค่าชดเชยจากนายโสฬสได้ โดยคำนวณจากค่าจ้างเดือนสุดท้ายคูณกับระยะเวลาทำงานที่ยังเหลืออยู่ ส่วนเหตุผลการลาออกครั้งนี้ นายโสฬสอ้างว่ามีปัญหาสุขภาพ แต่ไม่ได้แนบใบรับรองแพทย์มาให้พิจารณาด้วย ดังนั้นในการประชุมบอร์ดครั้งนี้ ยังไม่มีการอนุมัติให้นายโสฬสลาออกตามที่ร้องขอแต่อย่างใด
นายนริศกล่าวว่า ช่วงที่นายโสฬสดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ ธพว. นั้น การบริหารงานพบว่ามีข้อผิดพลาดอยู่หลายประเด็น ซึ่งอาจจะทำให้ธนาคารได้รับความเสียหาย อย่างเช่น โครงการสินเชื่อชะลอการเลิกจ้างที่ธนาคารได้รับการสนับสนุนเงินทุนอัตราดอกเบี้ยต่ำจากสำนักงานประกันสังคม (สปส.) ซึ่งโครงการนี้ผ่านการอนุมัติจากบอร์ดธนาคารแค่ 7,000 ล้านบาท แต่ในช่วงที่นายโสฬสบริหารงานอยู่นั้น ธนาคารมีการอนุมัติสินเชื่อออกไป 19,000 ล้านบาท หรือเกินวงเงินไป 12,000 ล้านบาท ทำให้ธนาคารได้รับความเสียหายกว่า 700 ล้านบาท
“ตอนนี้มีหลายประเด็นที่นายโสฬสเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้อง ตราบใดที่คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงที่กระทรวงการคลังแต่งตั้ง ยังไม่สรุปผลการสอบข้อเท็จจริงว่าถูกหรือผิด ตามระเบียบของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ผมคงยอมให้ลาออกก่อนไม่ได้ และถ้าพบว่ามีมูลความผิดจริง ก็จะต้องดำเนินการตามกฏหมายต่อไป มิฉะนั้นจะถือว่าผมมีความผิด ฐานละเว้น ไม่ปฎิบัติตามหน้าที่” นายนริศกล่าว
แหล่งข่าวจากเอสเอ็มอีแบงก์ ธพว. กล่าวว่า ก่อนที่นายโสฬสจะยื่นใบลาออกครั้งนี้มีกระแสข่าวว่า นายโสฬสปรารภกับผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงการคลังว่าอยากลาออก โดยมีข้อแม้ว่าต้องยุติเรื่องการสอบข้อเท็จจริงทั้งหมด แต่สุดท้ายไม่ทราบว่าเกิดอะไรขึ้น นอกจากบอร์ดไม่อนุญาตให้ลาออก ยังมีคำสั่งจากเบื้องบนให้เดินหน้าตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีการทุจริตที่เกิดขึ้นในธนาคารอย่างเข้มข้นต่อไป
นอกจากเรื่องการปล่อยสินเชื่อชะลอการเลิกจ้างเกินวงเงินกู้ที่ได้รับการอนุมัติจากบอร์ดแล้ว ยังมีอีกหลายประเด็นที่นายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ อธิบดีกรมบัญชีกลาง ในฐานะประธานคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง กำลังตรวจสอบอยู่ อาทิ เรื่องตบแต่งบัญชี, การปรับโครงสร้างหนี้ให้กับลูกหนี้ที่เป็นหนี้เสียโดยที่ลูกหนี้ไม่ทราบเรื่อง, กรณีอนุมัติสินเชื่อชะลอการเลิกจ้างให้กับกลุ่มธุรกิจรายใหญ่, โครงการจัดซื้อระบบปฏิบัติการหลักของธนาคาร หรือ (Core banking system: CBS) และยังมีคดีพิพาทที่กำลังต่อสู่ในชั้นของศาลแพ่ง กรณี ธพว. ตัดสินใจไม่จ่ายค่าปรับตามสัญญาซื้อ-ขายอัตราดอกเบี้ยล่วงหน้า (Interest rate swap) ให้กับธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) หากแพ้คดี ธพว. จะต้องจ่ายค่าปรับเป็นวงเงินหลายพันล้านบาทให้กับธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) เป็นต้น
ดังนั้น สถานะของนายโสฬสตอนนี้จึงตกอยู่ในที่นั่งที่ลำบาก กลืนไม่เข้า คายไม่ออก ครั้นชิงลาออกก่อน บอร์ดก็ไม่อนุมัติ แถมยังต้องนั่งแก้ต่างในประเด็นที่ถูกตั้งกรรมการสอบถึง 9 ประเด็น จึงเป็นหนทางวิบากสำหรับ “โสฬส สาครวิศวะ”