จากการที่สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้านำเสนอข่าวกรณีนายโสฬส สาครวิศว อดีตกรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) ฝ่าฝืน “มติคณะกรรมการธนาคารครั้งที่ 4/2552” ลงวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2552 กรณีการปล่อยสินเชื่อโครงการชะลอการเลิกจ้างแรงงาน ตามเงื่อนไขปล่อยได้ไม่เกินวงเงินที่สำนักงานประกันสังคม (สปส.) นำมาฝากกับธนาคาร โดย สปส. นำเงินมาฝากกับธนาคารลอตแรก 6,000 ล้านบาท ธนาคารจ่ายดอกเบี้ยเงินฝากให้ สปส. 1% ต่อปี และลอตที่ 2 อีก 1,000 ล้านบาท ธนาคารจ่ายดอกเบี้ยเงินฝากที่อัตรา 1.5% ต่อปี รวม สปส. นำเงินมาฝากกับเอสเอ็มอีแบงก์ทั้งหมด 7,000 ล้านบาท เพื่อใช้เป็นแหล่งเงินทุน (Source of fund) ในการปล่อยกู้ต่อให้กับลูกค้า โดยคิดอัตราดอกเบี้ยคงที่ 5% เป็นระยะเวลา 5 ปี
ปรากฏว่าปิดโครงการปี 2553 นายโสฬส อนุมัติสินเชื่อออกไปทั้งสิ้น 23,350 ล้านบาท ซึ่งเกินวงเงินปล่อยกู้ที่บอร์ดมีมติ 16,350 ล้านบาท ปกติธนาคารต้องคิดอัตราดอกเบี้ยกับลูกค้า MLR +1 หรือ 2% (ณ ปี 2552-2553 MLR = 7.25%) แต่นายโสฬสปล่อยกู้โดยคิดดอกเบี้ยลูกค้าแค่ 5% ทำให้ธนาคารเสียโอกาสในการหารายได้จากดอกเบี้ยประมาณ 2% คิดเป็นมูลค่าความเสียหายที่เกิดขึ้น 1,795 ล้านบาท
วันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2555 คณะกรรมการเอสเอ็มอีแบงก์มีมติแต่งตั้งนายพิชัย ชุณหวชิร อดีตประธานกรรมการบริหาร เอสเอ็มอีแบงก์ เป็นประธานกรรมการสอบข้อเท็จจริงนายโสฬส สรุปผลการสอบสวนมีมูลความผิด ธนาคารจึงมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ ดำเนินการเรียกค่าเสียหายอดีตเอ็มดีเอสเอ็มอีแบงก์ 1,795 ล้านบาท
คณะกรรมการพิจารณาความรับผิดทางละเมิดฯใช้เวลาเกือบ 2 ปี ในการรวบรวมพยานหลักฐานสรุปสำนวนคดีส่งให้ที่ประชุมคณะกรรมการธนาคารชุดก่อนที่มีดร.นริศ ชัยสูตร เป็นประธานฯลงนามอนุมัติก่อนดร.นริศยื่นใบลาออกจากตำแหน่ง ล่าสุด เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2557 เวลา 13.00 น.เอสเอ็มอีแบงก์ได้ยื่นฟ้องนายโสฬสที่ศาลแรงงานกลาง เพื่อบังคับให้นายโสฬสชดใช้ค่าเสียหายให้ธนาคาร 1,795 ล้านบาท เนื่องจากในสัญญาว่าจ้างนายโสฬสเป็นกรรมการผู้จัดการเอสเอ็มอีแบงก์ ระบุว่า “หากนายโสฬสทำความเสียหายให้กับธนาคาร ธนาคารในฐานะผู้ว่าจ้างสามารถเรียกร้องค่าเสียหายได้”
แหล่งข่าวระดับสูงจากเอสเอ็มอีแบงก์ เปิดเผยว่ากรณีนี้ธนาคารเกรงว่าคดีจะขาดอายุความ เจ้าหน้าที่และผู้บริหารที่รับผิดชอบคดี อาจจะมีความผิดฐานละเว้นปฏิบัติ ตามกฎหมาย ป.ป.ช. มาตรา 157 กรณีนายโสฬสผ่าฝืนมติบอร์ด อนุมัติสินเชื่อ “โครงการสินเชื่อชะลอการเลิกจ้างแรงงาน” เกินวงเงิน เข้าข่ายความผิดตามพ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539มีอายุความ 2 ปี ซึ่งคดีนี้จะครบอายุความวันที่ 14 สิงหาคม 2557
ต่อเรื่องนี้นายโสฬสเปิดเผยว่า “ช่วงที่ผมยังดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการธนาคาร คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงเรียกผมไปสอบปากคำเพียงครั้งเดียว หลังจากผมลาออกจากตำแหน่งไปแล้ว ทราบว่าบอร์ดเอสเอ็มอีแบงก์ได้แต่งตั้งคณะกรรมการความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ขึ้นมาสอบสวนผม ซึ่งผมคิดว่ามันคือ “ศาลเตี้ย” เพราะคณะกรรมการชุดนี้ไม่ได้มีการแต่งตั้งบุคคลภายนอกหรือคนกลาง องค์ประกอบของคณะกรรมการชุดนี้มีพนักงานระดับรองกรรมการผู้จัดการเป็นประธาน ส่วนกรรมการอีก 2 คนเป็นพนักงานระดับล่าง ซึ่งผมอาจจะไม่ได้รับความเป็นธรรม หลังจากที่ผมลาออกมาแล้ว ก็ไม่ได้ไปให้ปากคำต่อคณะกรรมการพิจารณาความรับผิดทางละเมิดฯ เพราะคิดว่าไปต่อสู้ในศาล ผมน่าจะได้รับความเป็นธรรมมากกว่า”
นายโสฬส กล่าวต่อว่า “ข้อเท็จจริงที่ผมต้องการชี้แจงให้สาธารณชนได้รับทราบมีดังนี้ 1. ข้อกล่าวหาที่ว่าผมอนุมัติสินเชื่อโครงการสินเชื่อชะลอการเลิกจ้างแรงงานเกินวงเงินไป 16,350 ล้านบาท ทำให้ธนาคารเสียหาย ข้อเท็จจริงคือ ปิดโครงการปี 2553 ธนาคารมีการอนุมติสินเชื่อโครงการนี้ไปทั้งสิ้น 23,350 ล้านบาทจริง แต่มีลูกค้าเบิกเงินกู้แค่ 14,000 ล้านบาท ขณะที่ สปส. นำเงินมาฝากกับธนาคาร 7,000 ล้านบาท จึงมียอดเบิกจ่ายเกินไปแค่ 7,000 ล้านบาทเท่านั้น”
ประการที่ 2 ข้อกล่าวหาที่ว่า หาก สปส. ไม่นำเงินมาฝากกับธนาคาร โครงการนี้มีต้นทุนของแหล่งเงิน (Cost of fund) ประมาณ 3.5% ต้นทุนการดำเนินงาน (Operate cost) อีก 3 % รวมต้นทุนทั้งหมด 6.5% แต่ผมนำไปปล่อยกู้ คิดดอกเบี้ยลูกค้า 5% ต่อปี ทำให้ธนาคารขาดทุน 1.5%
นายโสฬสชี้แจงว่า “ถ้าย้อนหลังกลับไปดูอัตราดอกเบี้ยในตลาดเงินช่วงปี 2552-2554 จะพบว่าดอกเบี้ยในตลาดเงินต่ำมาก อย่างเช่น ปี 2552-2553 แบงก์เอกชนจ่ายดอกเบี้ยให้กับผู้ฝากเงินประเภทนิติบุคคลประมาณ 1% ต่อปี ปี 2554 ประมาณ 2% ต่อปี ซึ่งเอสเอ็มอีแบงก์ก็จ่ายดอกเบี้ยใกล้เคียงกับแบงก์เอกชน หาก สปส.ไม่นำเงินมาฝากกับเอสเอ็มอีแบงก์ ธนาคารระดมทุนจากแหล่งอื่นมาใช้ในการปล่อยสินเชื่อ Cost of fund ไม่น่าจะสูงถึง 3.5% ต่อปี เพราะในช่วงปี 2552-2554 ตลาดเงินจ่ายดอกเบี้ยเงินฝากอยู่ที่ 1-2% ต่อปีเท่านั้น”
กรณีที่คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงชุดนี้ ระบุว่า ส่วนต้นทุนการดำเนินงานของเอสเอ็มอีแบงก์อยู่ที่ 3% นายโสฬส กล่าวว่าปกติธนาคารมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานอยู่แล้ว เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟ เงินเดือนพนักงาน เป็นต้น หากไม่ขยายสินเชื่อ ก็อาจจะขาดทุน ดังนั้นผมจึงพยายามเร่งขยายสินเชื่อ เพื่อลดผลขาดทุน หรือ ลดค่าใช้จ่ายต่อหน่วยของธนาคารลง ซึ่งจะทำให้ต้นทุนการดำเนินงานลดจาก 3% เหลือเพียง 2% เท่านั้น” นายโสฬสกล่าว
ประการที่ 3 ข้อกล่าวหาที่ว่าตนอนุมัติสินเชื่อเกินวงเงิน ทำให้ธนาคารเสียโอกาสในการหารายได้ แทนที่ธนาคารจะนำเงินส่วนเกินจำนวนนี้ไปปล่อยกู้ลูกค้าทั่วไป ซึ่งมีดอกเบี้ยรับอยู่ที่ 7-8% แต่ตนนำมาปล่อยกู้แค่ 5% นายโสฬส กล่าวว่า ประเด็นนี้คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง ควรจะวิเคราะห์เจาะลึกลงในรายละเอียดและจะพบว่าความจริงไม่มีความเสียหายใดๆ เกิดขึ้น กล่าวคือ เอสเอ็มอีแบงก์นำเงินฝาก สปส. ต้นทุน 1% ต่อปี ปล่อยกู้ลูกค้าคิดดอกเบี้ย 5% ต่อปี เริ่มปี 2552 เป็นปีแรกได้รับส่วนต่างกำไร 4% หักค่าใช้จ่ายดำเนินการ 2% ก็ยังกำไรอยู่ ปี 2553 รับส่วนต่างกำไรก่อนหักค่าใช้จ่าย 3-4% ปี 2554 รับส่วนต่างกำไร 2% พ้นกำหนดดอกเบี้ยคงที่ขึ้นไปที่ 6 คิดดอกเบี้ยขั้นต่ำ 7.25% ธนาคารรับส่วนต่างกำไรก่อนหักค่าใช้จ่าย 5-6% ไปอีก 2-5 ปี ทำไมไม่นำกำไรส่วนนี้มาคำนวณด้วย
“ช่วงปี 2552-2553 ดอกเบี้ยในตลาดต่ำมาก ผมขอถามคณะกรรมการพิจารณาความรับผิดทางละเมิดฯว่าหากผมปล่อยกู้ลูกค้า โดยคิดดอกเบี้ยที่ 7-9% จะมีลูกค้ารายไหนมากู้เงินกับธนาคาร และถ้าไม่มีลูกค้ามากู้เงิน แต่ธนาคารมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน เป็นรายจ่ายคงที่รออยู่ ถามว่าถ้าอยู่เฉยๆ ขาดทุนใช่หรือไม่ และถ้าไปตรวจดูตัวเลขทางบัญชีของธนาคาร ก็จะพบว่าโครงการนี้ไม่ได้ขาดทุนตามข้อกล่าวหา นอกจากนี้ช่วงปิดโครงการปี 2553 ขณะนั้นมีคุณพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ เป็นประธานบอร์ด ก็ประเมินผลงานผมดีในทุกๆ ด้าน หากผมทำผิดจริง ทำไมบอร์ดชุดนี้ไม่ดำเนินคดีกับผม แต่พอกระทรวงการคลังเปลี่ยนประธานบอร์ดเป็น ดร.นริศ ชัยสูตร ทำไมเพิ่งมาดำเนินคดีผม ซึ่งข้อมูลทั้งหมดนี้ ผมจะนำไปต่อสู้ในชั้นศาล” นายโสฬสกล่าว
สำหรับวิธีการคำนวณความเสียหายของคณะกรรมการพิจารณาความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ กรณีนายโสฬสอนุมัติสินเชื่อโครงการนี้เกินวงเงิน 7,000 ล้านบาท แหล่งข่าวระดับสูงจากเอสเอ็มอีแบงก์เปิดเผยว่า คณะกรรมการความรับผิดทางละเมิดฯ ใช้วิธีการคำนวณความเสียหายที่เกิดขึ้นจริงเป็นหลักการสำคัญ ซึ่งแตกต่างจากวิธีคำนวณตามคำชี้แจงของนายโสฬส กล่าวคือ ลูกค้าที่เข้าโครงการสินเชื่อชะลอการเลิกจ้างแรงงานธนาคารคิดอัตราดอกเบี้ย 5% ต่อปี เป็นระยะเวลา 5 ปี เริ่มปีที่ 6 เป็นต้นไป คิดอัตราดอกเบี้ย MLR (7.25%) บวก 0-2% ลูกค้าแต่ละรายจะถูกบวกดอกเบี้ยเพิ่มไม่เท่ากัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับเครดิตหรือความสามารถในการชำระหนี้ของลูกค้า เช่น บางกรณีถูกบวกดอกเบี้ยเพิ่มอีก 0.5% บางกรณีมีความเสี่ยงสูง อาจจะถูกบวก 1% เป็นต้น กล่าวคืออัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงที่ธนาคารจะคิดกับลูกค้าทั่วไป กรณีสปส.ไม่ได้นำเงินมาฝากกับเอสเอ็มอีแบงก์
“ดังนั้น คณะกรรมการพิจารณาความรับผิดทางละเมิดฯ จึงใช้อัตราดอกเบี้ยเงินกู้หลังปีหลังพ้นกำหนด 5 ปีไปแล้วมาเป็นพื้นฐานในการคำนวณความเสียหาย โดยใช้อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ปีที่ 6 ขั้นต่ำ 7.25% ต่อปีลบอัตราดอกเบี้ยคงที่ 5% ทำให้ธนาคารสูญเสียโอกาสในการหารายได้ไปประมาณ 2-2.25% มาเข้าโปรแกรมคำนวณความเสียหาย แบบลดต้นลดดอกเบี้ย คำนวณเป็นรายเดือน และรายบัญชีเงินกู้ เช่น ลูกค้าชำระหนี้เดือนนี้เข้ามาแล้วเหลือเงินต้นเท่าไหร่ คำนวณความเสียหายเฉพาะต้นเงินกู้คงค้างเท่านั้น โดยทำการคำนวณในรูปแบบนี้ไปถึงครบอายุสัญญาเงินกู้ 7-10 ปี จากนั้นก็จะนำตัวเลขความเสียหายที่เกิดขึ้นทุกบัญชีมารวมกัน สรุปยอดเสียหายที่เกิดขึ้นทั้งหมด 1,795 ล้านบาท” แหล่งข่าวกล่าว
แหล่งข่าวกล่าวต่อไปอีกว่า ตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 ให้อำนาจคณะกรรมการพิจารณาความรับผิดทางละเมิดฯ ดำเนินการได้ 2 แนวทาง คือ 1.รวบรวมพยานหลักฐาน สรุปสำนวนส่งให้ธนาคารดำเนินคดีในชั้นศาล ฐานผิดสัญญาว่าจ้าง และ 2. ใช้อำนาจทางการปกครอง เรียกให้นายโสฬสชำระค่าเสียหายได้โดยตรง หรือ บังคับคดีโดยไม่ต้องผ่านหน่วยงานอื่น ซึ่งที่ผ่านมาธนาคารได้ออกคำสั่งทางการปกครองเรียกให้นายโสฬสมาชดใช้ค่าเสียหาย แต่นายโสฬสไม่ยอมจ่าย และมาใช้สิทธิยื่นคำขออุทธรณ์กับธนาคารตามขั้นตอนของกฎหมายฉบับนี้ ซึ่งทางธนาคารได้พิจารณาคำขออุทธรณ์แล้ว ยืนยันว่านายโสฬสต้องชดใช้ค่าเสียหาย คาดว่านายโสฬสอาจจะนำผลการพิจารณาคำร้องขออุทธรณ์ไปยื่นศาลปกครอง เพื่อขอให้ศาลปกครองเพิกถอนคำสั่งทางการปกครองของธนาคาร กรณีใช้อำนาจบังคับให้นายโสฬสชดใช้จ่ายเสียหายต่อไป