
หลังจากที่สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้านำเสนอข่าว “ปลัดคลังตั้งกรรมการสอบวินัย ข้าราชการธนารักษ์ จัดที่ดินราชพัสดุแหลมฟ้าผ่าให้บริษัทเอเชียนมารีนเช่า รัฐเสียหายกว่า 100 ล้าน”วันที่ 15 ตุลาคม 2557 ต่อเรื่องนี้ทั้งนายนริศ ชัยสูตร อธิบดีกรมธนารักษ์ หัวหน้าส่วนราชการ ซึ่งทำหน้าที่บริหารจัดการที่ดินราชพัสดุของรัฐ และนายประกิต ประทีปะเสน ประธานกรรมการ และกรรมการอิสระ บริษัท เอเชียน มารีน เซอร์วิสส์ จำกัด (มหาชน) บริษัทที่ได้รับกรรมสิทธิ์เช่าที่ดินราชพัสดุแหลมฟ้าผ่าจากกรมธนารักษ์โดยไม่เปิดประมูล ได้ชี้แจงข้อซักถามของผู้สื่อข่าว
นายนริศได้ตอบข้อถามที่ว่า กรณีที่คณะกรรมการที่ราชพัสดุ ที่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นประธาน มีมติอนุมัติให้กรมธนารักษ์นำที่ดินราชพัสดุแหลมฟ้าผ่าไปให้บริษัทเอเชียน มารีนฯ เช่า โดยไม่เปิดประมูลใช่หรือไม่ นายนริศยืนยันว่า “ได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการที่ราชพัสดุแน่นอน กล่าวคือ วันนั้นบอร์ดมีมติให้กรมธนารักษ์ดำเนินการตามขั้นตอนดังนี้ คือ 1. ให้กรมธนารักษ์สอบถามชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย ในฐานะผู้เช่าเดิมก่อนว่าจะเช่าต่อหรือไม่ ภายใต้เงื่อนไขการเช่าใหม่ 2. หากชุมนุมสหกรณ์ไม่สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขใหม่ได้ ให้สอบถามบริษัทเอเชียน มารีนฯ 3. หากบริษัทเอเชียน มารีนฯ ไม่สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขการเช่าใหม่ได้ ให้เปิดประมูล และ 4. หากเปิดประมูลแล้วไม่มีผู้สนใจหรือไม่มีผู้ชนะการประมูล ให้ทำเรื่องเสนอนายวิรุฬ เตชะไพบูลย์ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง พิจารณา”
นายนริศกล่าวต่อว่า กรมธนารักษ์ได้ทำตามมติบอร์ดอย่างเคร่งครัด โดยทำหนังสือไปสอบถามชุมนุมสหกรณ์ฯ ปรากฏว่าชุมนุมสหกรณ์ฯ ทำหนังสือตอบกลับมาล่าช้ากว่าที่กำหนด และไม่สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขของกรมธนารักษ์ได้ ขอต่อรองค่าเช่าที่ดิน กรมธนารักษ์จึงดำเนินการตามมติบอร์ดขั้นตอนที่ 2 คือนำหลักเกณฑ์เงื่อนไขเดียวกันนี้ไปสอบถามบริษัทเอเชียนมารีนฯ ซึ่งบริษัทยอมรับและสามารถปฏิบัติเงื่อนไขได้ทุกประการ จึงไม่จำเป็นต้องเปิดประมูลตามขั้นตอนที่ 3 และ 4 รวมทั้งนำเรื่องนี้กลับมาให้บอร์ดพิจารณาอีกครั้ง เพราะถือว่าบอร์ดเคยมีอนุมัติแล้ว
ประเด็นข้อกล่าวหาที่ว่า หากบอร์ดมีมติอนุมัติ ต้องระบุชัดเจนว่า อนุมัติให้กรมธนารักษ์นำที่ดินราชพัสดุไปทำสัญญาเช่ากับบริษัทเอเชียนมารีนฯ โดยไม่เปิดประมูล ถือว่ายังไม่อนุมัติใช่ไหม นายนริศตอบสั้นๆ ว่า “อย่ามาทำไขสือ เอามติบอร์ดให้เด็ก ป.1 อ่าน ก็ต้องเข้าใจว่าบอร์ดมีมติอนุมัติแล้ว”
“วันนี้ผมยังไม่รู้ว่ามีความผิดอะไร สื่อมวลชนกล่าวหาผมทุกวัน นำเสนอข่าววันแรกระบุว่าบอร์ดยังไม่มีมติอนุมัติ วันที่ 2 คำนวณค่าเช่าไม่ถูกต้อง วันที่ 3 คิดค่าเช่ากับเอกชนต่ำเกินไป และวันที่ 4 บริษัทเอเชียนมารีนฯ ไม่เคยมีนิติสัมพันธ์กับกรมธนารักษ์ ตอนนี้ผมให้ทนายความเก็บข้อมูลทั้งหมดแล้ว สื่อมวลชนฉบับไหนตั้งประเด็นผิด ผมฟ้องแน่ ขณะนี้ผมยังไม่เห็นสำนวนสอบข้อเท็จจริง หากคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงสรุปว่ามีมูลความผิด ปลัดกระทรวงการคลังต้องแต่งตั้งคณะกรรมการสอบวินัยแล้ว แสดงว่ายังไม่มีการสรุปผลการสอบ รับรอง สอบผมอย่างไรก็ไม่ผิด นำเสนอข่าวแบบนี้ผมเสียชื่อเสียงมาก ผมรับราชการมาตลอดชีวิต ที่ผ่านมามีแต่ปราบทุจริต ไล่ผู้กระทำผิดออกจากราชการ ซื่อสัตย์ในวิชาชีพ สื่อมวลชนควรนำเสนอข่าว 2 ด้าน” นายนริศกล่าว
นายนริศกล่าวต่อไปว่า ถ้าผมคิดเอื้อประโยชน์ให้กับบริษัทเอเชียนมารีนฯ จริงจะทำหนังสือไปสอบถามชุมนุมสหกรณ์ทำไม เพราะถ้าชุมนุมสหกรณ์ฯ ยอมรับอัตราค่าเช่าตามที่กรมธนารักษ์นำเสนอได้ บริษัทเอเชียนมารีนฯ ก็ไม่ได้รับสิทธิเช่าที่ดิน ที่ผ่านมาชุมนุมสหกรณ์เปรียบเสมือน “เสือนอนกิน” สมมุติว่า เก็บค่าเช่าจากเอกชนมาได้ 100 บาท ชุมนุมสหกรณ์ฯ หักค่าเช่าเอาไว้ใช้ในกิจการ 50 บาท ส่งให้กรมธนารักษ์ 50 บาท แต่วันนี้กรมธนารักษ์ต้องการค่าเช่า 100 บาท จึงเรียกเก็บกับชุมนุมสหกรณ์ฯ ปรากฏว่าชุมนุมสหกรณ์ฯ ไม่มีเงินจ่าย นั่นแสดงว่าผมคิดค่าเช่าแพง ถือเป็นการรักษาผลประโยชน์ให้กับทางราชการและกรมธนารักษ์
ส่วนข้อร้องเรียนกรมธนารักษ์ไม่ดำเนินการบังคับให้บริษัทเอเชียนมารีนฯ ยกกรรมสิทธิ์อาคารที่อยู่บนที่ดินก่อนสิ้นสุดสัญญาให้กับกระทรวงการคลัง หรือรื้อถอนอาคารออกไป อธิบดีกรมธนารักษ์กล่าวว่า ปัญหานี้เกิดขึ้นก่อนที่ตนมารับตำแหน่งอธิบดีกรมธนารักษ์กว่า 10 ปี คงต้องตรวจสอบการทำงานของเจ้าหน้าที่ในอดีต เหตุใดชุมนุมสหกรณ์ฯ ไม่รายงาน และทำไมเจ้าหน้าที่ไม่รายงานกรมธนารักษ์ ประเด็นนี้ไม่เกี่ยวกับอธิบดีกรมธนารักษ์ เป็นเรื่องระดับเจ้าหน้าที่ต้องไปตรวจสอบ หากพบอาคารที่ปลูกสร้างบนที่ราชพัสดุหลังใดเข้าข่ายต้องยกกรรมสิทธิ์ให้กระทรวงการคลัง ก็ต้องเร่งดำเนินการ
“ตามหลักการของกรมธนารักษ์ หากเจ้าหน้าที่ธนารักษ์ ตรวจสอบพบผู้ที่ใช้ที่ดินราชพัสดุจริง ไม่ใช่ผู้ครอบครองกรรมสิทธิ์ ซึ่งกรณีนี้รวมไปถึงผู้บุรุกด้วย เจ้าหน้าที่ธนารักษ์มีสิทธิ์ยกกรรมสิทธิ์ที่ดินไปให้กับผู้ที่ใช้พื้นที่จริงได้ทันที ทั้งนี้เปิดโอกาสผู้ที่ใช้พื้นที่จริงได้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ราชพัสดุอย่างถูกต้อง ส่วนกรณีพิพาทเรื่องการยกกรรมสิทธิ์อาคารบนที่ราชพัสดุแหลมฟ้าผ่า เกิดขึ้นก่อนผมเข้ามารับตำแหน่งอธิบดีกรมธนารักษ์ และอยู่ในความรับผิดชอบของเจ้าหน้าที่ระดับล่าง ไม่เกี่ยวกับผม” นายนริศกล่าว
ขณะที่นายประกิต ประทีปะเสน ประธานกรรมการ และกรรมการอิสระ บริษัท เอเชียนมารีน เซอร์วิสส์ จำกัด (มหาชน) ชี้แจงว่า เรื่องนี้เกิดขึ้นเมื่อ 30 ปีก่อน บริษัทเจนเนอรัล คลังสินค้า บริษัทในเครือของเอเชียนมารีนฯ ทำสัญญาเช่าช่วงกับชุมนุมสหกรณ์ฯ จากนั้นบริษัทเจนเนอรัล คลังสินค้า นำสิทธิการเช่ามาทำสัญญาเช่าช่วงกับบริษัทเอเชียนมารีนฯ อีกทอดหนึ่ง ยืนยันว่าทำถูกต้องตามระเบียบของกรมธนารักษ์ทุกประการ ต่อมาก่อนสัญญาเช่าช่วงจะสิ้นสุด บริษัทเอเชียนมารีนฯ ทำหนังสือถึงกรมธนารักษ์ ขอเช่าที่ดินราชพัสดุแหลมฟ้าผ่าโดยไม่เปิดประมูล ส่วนสาเหตุที่ไม่เปิดประมูลเป็นการทั่วไป เนื่องจากบริษัทเอเชียนมารีนฯ ประกอบกิจการอู่ต่อเรืออยู่บนที่ดินแปลงนี้อยู่หน้าก่อนแล้ว และที่ดินแปลงนี้ไม่มีความเหมาะสมที่จะนำไปทำธุรกิจอื่น นอกจากอู่ต่อเรือ ทางกรมธนารักษ์จึงทำหนังสือสอบถามชุมนุมสหกรณ์ฯ คู่สัญญาเช่าที่ดินราชพัสดุแปลงนี้ก่อนว่าจะต่อสัญญาเช่าหรือไม่ หากต่อสัญญาเช่าต้องจ่ายเงินค่าธรรมเนียมและค่าเช่าที่ดินหลายสิบล้านบาท ชุมนุมสหกรณ์ฯ ไม่ได้ทำธุรกิจอะไร นอกจากนำที่ดินไปจัดให้เช่าต่อ ไม่มีเงินจ่ายกรมธนารักษ์ ในแง่กฎหมายถือว่าชุมนุมสหกรณ์ฯ สละสิทธิ์ กรมธนารักษ์ทำหนังสือสอบถามบริษัทเอเชียนมารีนฯ ปรากฏว่าบริษัทยอมรับเงื่อนไขของกรมธนารักษ์ได้ทั้งหมด ต่อมาจึงมีการลงนามในสัญญาเช่าที่ดินกับกรมธนารักษ์

ก่อนสัญญาเช่าช่วงระหว่างชุมนุมสหกรณ์ฯ กับบริษัทเจนเนอรัลคลังสินค้าจะสิ้นสุด กลุ่มบริษัทเอเชียน มารีนฯ นำเงิน 175 ล้านบาท ลงทุนก่อสร้างอาคารบนที่ราชพัสดุ อยู่ในข่ายต้องยกกรรมสิทธิ์อาคารให้กับกระทรวงการคลัง ปัจจุบันบริษัทได้ดำเนินการอย่างไร นายประกิตกล่าวว่า อาคารหลังไหนที่อยู่ในข่ายต้องยกกรรมสิทธิ์ให้กระทรวงการคลัง ทางบริษัทก็พร้อมที่จะดำเนินการ หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ก็มีหลายรายการไม่ได้ก่อสร้างบนที่ราชพัสดุ เช่น ตัวออฟฟิศ เป็นแพลอยอยู่ในแม่น้ำ อู่ต่อเรือมี 2 หลัง รูปแบบคล้าย “เพิงหมาแหงน” ทำเป็นเสาขึ้นมามีหลังคาคลุม ไม่ได้มีมูลค่าอะไรมากมายอย่างที่เข้าใจ
ส่วนประเด็นที่คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงตั้งข้อสังเกตว่า บอร์ดที่ราชพัสดุยังไม่มีมติอนุมัติให้กรมธนารักษ์ทำสัญญาเช่าที่ดินกับบริษเอเชียนมารีนฯ โดยไม่เปิดประมูล นายประกิตกล่าวว่า ประเด็นนี้คงต้องรอนายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ ปลัดกระทรวงการคลัง สรุปผลสอบข้อเท็จจริง หากบอร์ดไม่มีมติอนุมัติจริง กรมธนารักษ์จะนำที่ดินไปให้เอกชนเช่าไม่ได้ ซึ่งสัญญาเช่าที่ดินของรัฐ คงต้องส่งให้พนักงานอัยการตรวจสอบความถูกต้อง หากบอร์ดยังไม่ได้อนุมัติจริง กรมธนารักษ์จะนำที่ดินมาทำสัญญาเช่ากับเอกชนได้อย่างไร และเชื่อว่าคงไม่มีข้าราชการที่ไหนกล้าทำแบบนี้ บริษัทเอเชียน มารีนฯ เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ทำอะไรตรงไปตรงมา หากคิดว่ากรมธนารักษ์คิดค่าเช่าบริษัทไม่ถูกต้อง ก็จัดการให้ถูกต้อง บริษัทไม่มีปัญหา พร้อมที่จะทำทุกอย่างให้ถูกต้อง