ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > ธปท. คาดอีก 10 ปี ไม่มีวิกฤต ล้างหนี้กองทุนฟื้นฟูฯ หมดก่อนกำหนด

ธปท. คาดอีก 10 ปี ไม่มีวิกฤต ล้างหนี้กองทุนฟื้นฟูฯ หมดก่อนกำหนด

24 กุมภาพันธ์ 2012


ในที่สุด เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้ง 9 ท่าน มีคำวินิจฉัยต่อกรณีคำร้องพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) 2 ฉบับ คือ 1. พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการวางระบบบริหารจัดการน้ำและสร้างอนาคตประเทศ พ.ศ.2555 และ 2. พ.ร.ก.ปรับปรุงการบริหารหนี้เงินกู้ที่กระทรวงการคลังกู้เพื่อช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน พ.ศ.2555 ว่า พ.ร.ก.ทั้ง 2 ฉบับ ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 184 วรรคหนึ่งและวรรคสอง (กฎหมายรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550)

โดย พ.ร.ก. ฉบับแรก ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีมติเป็นเสียงเอกฉันท์ทั้ง 9 ท่าน ส่วน พ.ร.ก. ฉบับที่ 2 ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีมติ 7 ต่อ 2 โดยเสียงข้างน้อยที่เห็นว่าไม่เป็นกรณีฉุกเฉินและไม่มีความจำเป็นเร่งด่วนต้องออกเป็น พ.ร.ก. คือ นายชัช ชลวร และนายจรัญ ภักดีธนากุล (โฉมหน้าคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 9 ท่าน)

ธปท. เดินหน้าเก็บเงินนำส่งงวดแรก ก.ค. นี้

หลังตุลาการศาลรัฐธรรมนูญแถลงคำวินิจฉัยเสร็จเรียบร้อยตอนช่วงบ่าย ตกเย็นในวันเดียวกัน ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวที่ ธปท. เกี่ยวกับ พ.ร.ก.ปรับปรุงการบริหารหนี้เงินกู้ที่กระทรวงการคลังกู้เพื่อช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน พ.ศ.2555 ว่า ผลการตัดสินน่าจะเป็นผลดี ทำให้สิ่งที่ได้หารือและเตรียมการเอาไว้เกี่ยวกับการแก้ไขหนี้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินจะได้เดินหน้าต่อตามที่ตกลงกันไว้

“หนี้กองทุนฟื้นฟูฯ เป็นหนี้มูลค่าสูง มีหลายคนพยายามหาทางแก้ไขมาหลายปี จนกระทั่งล่าสุดได้ข้อสรุปที่คิดว่าสามารถจัดการกับหนี้ก้อนนี้ได้ให้เสร็จเรียบร้อยไป”

สำหรับขั้นตอนหลังจากนี้ไป ดร.ประสารอธิบายว่า เมื่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยแล้ว รัฐบาลจะต้องนำ พ.ร.ก. เข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้เทนราษฎร และ สมาชิกวุฒิสภา เพื่อให้เป็นพระราชบัญญัติ หลังจากนั้น กระทรวงการคลังจะออกพระราชกฤษฎีกาปรับเปลี่ยนอัตราเงินนำส่งของธนาคารพาณิชย์ให้สถาบันคุ้มครองเงินฝากจาก 0.4% เป็น 0.01% ของยอดในบัญชีเงินฝากที่ได้รับการคุ้มครอง

ต่อจากนั้น ธปท. ก็จะออกประกาศ ธปท. เรียกเก็บเงินนำส่งในอัตรา 0.46% ของยอดเงินที่สถาบันการเงินได้รับจากประชาชน จากนั้นจะเป็นการดำเนินการในรายละเอียดอื่นๆ ทั้งนี้การเรียกเก็บเม็ดเงินนั้นคงเป็นปลายเดือนกรกฎาคม 2555 เพราะการนำส่งจะทำ 6 เดือนครั้ง โดยใช้ตัวเลขกลางปีและสิ้นปีของยอดเงินที่สถาบันการเงินได้รับจากประชาชนเป็นฐานในการคำนวณเงินนำส่ง

ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการ ธปท.
ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการ ธปท.

ผู้ว่าแบงก์ชาติมั่นใจ “เอาอยู่”

“ในการชำระดอกเบี้ยงวดแรก รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง (นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง) รับปากว่า ในงบประมาณ ปี 2555 ทางรัฐบาลได้จัดงบประมาณในการชำระดอกเบี้ยให้แล้ว แปลว่า ธปท. ได้เงินนำส่งมาก็ยังไม่ต้องชำระดอกเบี้ยงวดกรกฎาคมถึงกันยายน ดังนั้น ธปท. จะได้ทุนประเดิมที่จัดเก็บเงินนำส่งงวดแรกประมาณ 20,000 ล้านบาท เป็นอย่างต่ำสำหรับงวดหน้า”

ขณะเดียวกัน ดร.ประสารบอกว่า ทางกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ ซึ่งมีสินทรัพย์กว่า 100,000 แสนล้านบาท ก็จะบริหารสินทรัพย์ให้ได้เงินสดมาเติมกับเงินนำส่ง เพื่อจะได้กระแสเงินสดรับกับกระแสเงินสดจ่ายได้ดุลกัน อย่างน้อยก็จัดการดอกเบี้ยไม่ให้มีปัญหา เหลือจากนั้นจะนำไปลดหนี้เงินต้น

นอกจากนี้ ยังมีเงินจากบัญชีผลตอบแทนในบัญชีผลประโยชน์ประจำปีที่ช่วยลดหนี้เงินต้นได้อีก ซึ่งช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ธปท. ได้ลดหนี้เงินต้นไปกว่า 9,000 ล้านบาท โดยใช้เงินจากบัญชีผลประโยชน์ประจำปี เพราะปีที่แล้วเงินบาทอ่อนเมื่อเทียบกับดอลลาร์ แต่แข็งกว่าเงินยูโรกับเงินเยนเล็กน้อย

“ส่วนผลกำไรของ ธปท. หลังหักขาดทุนสะสม แน่นอนว่าช่วง 2-3 ปีนี้คงจะยังไม่มีเงินนำส่งเท่าไรเพราะช่วงที่ผ่านมาต้องเข้าไปดูอัตราแลกเปลี่ยน แต่เท่าที่เราดูคิดว่าน่าจะเอาอยู่”

โดยอัตราเงินนำส่งที่ ธปท. จะเรียกเก็บจากสถาบันการเงินคือ 0.46% ของยอดเงินที่สถาบันการเงินได้รับจากประชาชน ดร.ประสารกล่าวว่า เงินที่สถาบันการเงินได้รับจากประชาชนหมายถึงฐานเงินฝากและฐานตราสารที่มีลักษณะคล้ายๆ เงินฝาก โดยเฉพาะตราสารระยะสั้น เช่น ตั๋วบีอีหรือหุ้นกู้ระยะสั้น เนื่องจากเดิมคิดเฉพาะตั๋วบีอี แต่เมื่อ ก.ล.ต. (คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์) มาคุมตั๋วบีอี ก็อาจทำให้มีการหันไปออกเป็นหุ้นกู้ระยะสั้น

กองทุนฟื้นฟูฯ คาดมีรายได้ปีละหมื่นล้านบาท

นางพวงทิพย์ ปรมาพจน์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายจัดการกองทุน ธปท. ในฐานะผู้จัดการกองทุนฟื้นฟูฯ ประเมินว่า จะมีรายได้เป็นกระแสเงินสดเข้ามาประมาณปีละ 10,000 ล้านบาท จากกองทรัพย์สินของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ ที่มีกว่า 100,000 ล้านบาท โดยจะมีรายได้หลักจากเงินปันผลของบริษัทบริหารสินทรัพย์กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด (BAM), ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) และการติดตามทวงหนี้คืนของบริษัทบริหารสินทรัพย์สุขุมวิท (SAM)

“อัตราเงินนำส่งที่ ธปท. กำหนด 0.47% อยู่ในบนสมมติฐาน 3 ปี สามารถบริหารจัดการได้โดยกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ ไม่จำเป็นต้องเร่งขายหุ้นธนาคารกรุงไทย หรือเร่งนำ BAM เข้าตลาดหลักทรัพย์ แต่หากมีจังหวะที่เหมาะสมก็สามารถดำเนินการได้”

อย่างไรก็ตาม ประมาณเดือนสิงหาคมนี้ ผู้จัดการกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ จะสามารถวางแผนบริหารจัดการทรัพย์สิน และทำประมาณการรายได้ของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ ได้ชัดเจนขึ้นว่าจะมีเงินเข้ามาเท่าไร และจะนำเงินไปชำระดอกเบี้ยและหนี้เงินต้น 1.14 ล้านล้านบาทเมื่อไร โดยเมื่อประมาณการรายได้ชัดเจนแล้ว จะนำเสนอกระทรวงการคลัง เพื่อให้คณะรัฐมนตรีอนุมัติวงเงินนำเงินส่งปีแรกสำหรับชำระเงินต้นและดอกเบี้ยหนี้ดังกล่าว

ทั้งนี้เป็นไปตาม พ.ร.ก. ซึ่งกำหนดว่า การจัดลำดับชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยเงินกู้และการกำหนดจำนวนเงินที่จะต้องชำระ ให้เป็นไปตามที่กระทรวงการคลังแจ้งให้ทราบ

“ปัจจุบัน กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ มีกระแสเงินสดที่พร้อมจะชำระดอกเบี้ยและเงินต้นเป็นทุนประเดิมให้ ธปท. 7,000 ล้านบาท แต่การจะนำไปชำระดอกเบี้ยและหนี้เงินต้นเมื่อไร ขึ้นอยู่กับจังหวะเวลาที่เหมาะสม เนื่องจากไม่ต้องการนำเงินไปกองไว้ที่บัญชีสำหรับชำระดอกเบี้ยและเงินต้น ซึ่งไม่ได้รับผลตอบแทน” นางพวงทิพย์กล่าว

อัตราเงินนำส่ง 0.47% ใช้หลัก “พอเพียง-ต่ำที่สุด”

ผู้ว่า ธปท. กล่าวถึงที่มาของการกำหนดอัตราเงินนำส่งของสถาบันการเงินที่เพิ่มขึ้นจาก 0.4% เป็น 0.47% ว่า ใช้หลักความ “เพียงพอ” แต่ “ต่ำที่สุด” โดยเพียงพอ คือ ไม่เป็นภาระต่องบประมาณแผ่นดิน ส่วนต่ำที่สุด คือ จะไม่เป็นภาระจนกระทั่งธนาคารพาณิชย์รู้สึกว่าทำงานไม่มีประสิทธิภาพ ซึ่งจากการสอบถามผู้บริหารธนาคารพาณิชย์ต่างๆ พบว่า ส่วนใหญ่ก็ค่อนข้างจะรับได้ แต่เขาขอว่าระยะต่อไป ถ้ามีโอกาสจะปรับลดได้เพื่อจะได้อยู่ในสถานะพร้อมแข่งขันกับประเทศอื่นๆได้ ซึ่ง ธปท. เห็นด้วยและจะพยายามดำเนินการ

“เราก็กำลังคิดว่าใช้อัตราเงินนำส่ง 0.47% ในขั้นเริ่มต้น ใช้เวลาระยะหนึ่งสักประมาณ 3 ปี ก็จะกลับมาทบทวนใหม่ โดยใช้สมมติฐานของเรา คือ การเติบโตของฐานเงินฝาก ถ้าฐานเงินฝากเติบโตสูงเราก็สามารถลดหนี้ได้เร็ว อีกอันคือดอกเบี้ยในตลาด ถ้าไม่ได้สูงขึ้นไปมาก เราก็อาจสามารถพิจารณาปรับลดอัตราตัวนี้ได้”

ดร.ประสารบอกว่า ตัวแปรที่สำคัญมาก คือ ฐานเงินฝากที่จะเติบโต ซึ่งการคำนวณของ ธปท. อยู่บนสมมติฐานที่ระมัดระวังคือ ฐานะเงินฝากจะโตขึ้นในระดับ 4% และอัตราดอกเบี้ยในท้องตลาดที่กระทรวงคลังต้องไปออกพันธบัตรรุ่นใหม่ๆ มาทดแทนรุ่นเก่า อัตราดอกเบี้ยที่ ธปท. ใช้คือตัวเลขที่สำนักบริหารหนี้ (สบน.) ให้มาเฉลี่ยอยู่ที่ 4-4.5% หากเลยจากนั้นไป ถ้าเศรษฐกิจฟื้นแล้วอัตราเงินเฟ้ออาจขยับเพิ่มขึ้น ดังนั้น อัตราดอกเบี้ยก็อาจขยับเป็น 5%

มั่นใจฐานเงินฝากโตเฉลี่ยปีละ 4%

การเพิ่มขึ้นของเงินฝากของธนาคารพาณิชย์นั้น ผู้ว่าการ ธปท. อธิบายว่า จะล้อไปกับระดับรายได้ของประชาชนที่เพิ่มขึ้น และระดับรายได้ของประชาชนที่เพิ่มขึ้นก็จะล้อกับมูลค่าของระบบเศรษฐกิจ (จีดีพี) ที่เติบโต โดยประมาณการว่า จีดีพีของประเทศเติบโตในราคาคงที่ 4-5% และมีอัตราเงินเฟ้อ 2-3% ดังนั้น เศรษฐกิจของประเทศก็อยู่ในระดับที่เติบโตได้ในราคาปัจจุบันเฉลี่ยปีละ 7-8% เมื่อเป็นเช่นนี้ ธปท. จึงค่อนข้างมั่นใจว่า ที่ใช้สมมติฐานการเติบโตของเงินฝากเฉลี่ยระดับ 4% นั้นเป็นไปอย่างค่อนระมัดระวัง

“สาเหตุที่เราต้องใช้สมมติฐานแบบนี้ก็เพราะว่า เมื่อ พ.ร.ก.ปรับปรุงการบริหารหนี้เงินกู้ฯ ออกแล้ว กระทรวงการคลังระบุชัดว่าจะไม่ตั้งงบประมาณนำเงินมาใช้ลดดอกเบี้ย และเงินต้นอีกแล้ว เราจึงใช้สมมติฐานอย่างระมัดระวัง แต่เพื่อเป็นธรรมเราก็บอกว่า เมื่อเวลาผ่านไประยะเวลาหนึ่ง ถ้าเก็บได้มากกว่าที่เราคิด เราก็จะพยายามลดให้”

ทั้งนี้ ธปท. ประมาณการว่า ดอกเบี้ยจะลงมาอยู่ในราวประมาณ 40,000-50,000 ล้านบาท เพราะดอกเบี้ยพันธบัตรกระทรวงคลังที่ออกชดเชยความเสียหายกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ ที่อยู่ระดับสูง 6.75% จะครบกำหนดชำระกว่า 300,000 ล้านบาทในปีนี้ การออกพันธบัตรรุ่นใหม่ก็น่าจะมีอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำลงมากค่อนข้างเยอะ จากนั้น ดอกเบี้ยก็จะลดลงมาค่อนข้างเยอะเหลือประมาณ 40,000-45,000 ล้านบาท

คาด 10 ปี ล้างหนี้ 1.14 ล้านล้านเบ็ดเสร็จ

สำหรับกรอบเวลาที่กำหนดจะลดต้นให้หมดภายใน 24 ปีนั้น ดร.ประสารกล่าวว่า เรื่องแบบนี้ เมื่อผ่านไประยะเวลาหนึ่ง นอกจากหนี้ก้อนนี้จะลดลงตามลำดับแล้ว เวลาเปรียบเทียบกับขนาดเศรษฐกิจไทยและระบบธนาคารพาณิชย์แล้ว เมื่อถึงถึงจุดหนึ่งแล้วอาจไม่ได้สูงเกินไปในเชิงเปรียบเทียบ ทั้งคนที่อยู่ในเวลานั้นอาจจะมีความพร้อม และอาจจะตัดสินใจที่จะแก้หนี้ส่วนที่เหลือแบบเบ็ดเสร็จก็ได้

เพราะเมื่อถึงเวลานั้น เมื่อเปรียบเทียบกับเศรษฐกิจหรือระบบธนาคารพาณิชย์แล้ว อาจไม่น่าสะพรึงกลัวเหมือนกับอดีตหรือในปัจจุบันก็ได้ อาจจะมีความพร้อมมากกว่าก็ได้ ในยามนี้ ถ้าเราไปเร่งแก้ตัวนี้เร็วเกินไป ก็มีสถานะคล้ายๆ หักโหม กระทบจุดใดจุดหนึ่งแรงเกินไป

“แนวคิดขณะนี้ก็คือ ใช้เวลาเข้าช่วยด้วยและหาทางออกไม่กระทบส่วนต่างๆ แรงเกินไป แต่เมื่อเวลาผ่านไประยะเวลาหนึ่ง เราจะหาทางปรับลดพวกนี้ได้และแก้ปัญหาแบบเบ็ดเสร็จ อาจไม่ต้องรอจนกระทั่ง 20 กว่าปี อย่างที่ประมาณการเอาไว้ ตอนนี้ใช้ลักษณะที่ใช้เวลา และไม่ให้กระทบภาคส่วนต่างๆ แรงเกินไป”

ดร.ประสารอธิบายว่า ถ้าเวลาผ่านไปสักช่วงหนึ่ง สมมติว่า 10 ปี ระยะเวลาช่วง 10 ปี เศรษฐกิจไทยจะโตขึ้น 2 เท่าตัว เหตุผลก็คือ ถ้าจีดีพีโตปีละ 4-5% และมีเงินเฟ้ออีกปีละ 3% หากเป็นตามคาดจีดีพีจะโตประมาณ 7-8% ต่อปี เมื่อเวลาผ่านไป 10 ปี จีดีพีก็จะโตขึ้นสัก 80% ซึ่งเป็นการคิดแบบไม่ใช่ทบต้น ถ้าคิดแบบทบต้นก็มีโอกาสเป็น 100%

ดังนั้น ปัจจุบันเศรษฐกิจไทยมีมูลค่า 10 ล้านล้านบาทต่อปี อีก 10 ปีข้างหน้า ถ้าไม่มีวิกฤตอะไรมายุ่งกับเรา เศรษฐกิจไทยจะโตเป็น 20 ล้านล้านบาท และเงินฝากของระบบธนาคารพาณิชย์ ซึ่งปัจจุบันอยู่ใกล้ๆ 10 ล้านล้านบาทเช่นเดียวกัน ก็จะล้อกันไปจนถึงตอนนั้นระบบธนาคารพาณิชย์ก็จะมีเงินฝาก 20 ล้านล้านบาทด้วย

หนี้จำนวน 1.14 ล้านล้านบาท ในอดีตอาจใหญ่มาก มาถึงตอนนี้เมื่อเปรียบเทียบกับเศรษฐกิจที่ 10 ล้านล้านบาท อาจดูเล็กลงนิดหนึ่ง แต่ก็ยังใหญ่อยู่ และพอไปถึง 10 ปีข้างหน้า สามารถลดหนี้เงินต้นลงได้ไปจำนวนหนึ่ง โดยถ้าลดลงไปครึ่งหนึ่ง สมมติลงเหลือ 500,000 ล้านบาท เมื่อเทียบกับเศรษฐกิจ 20 ล้านล้านบาท ถึงเวลานั้น คนสมัยนั้นจะรู้สึกว่ามีความพร้อมมากขึ้นกว่าตอนนี้มาก

ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการ ธปท. ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวที่สนามหญ้าหน้าวังบางขุนพรหม
ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการ ธปท. ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวที่สนามหญ้าหน้าวังบางขุนพรหม

“ถ้าเกิดมีงานแบบนี้อีก ผู้ว่าแบงก์ชาติมานั่งอยู่ตรงนี้ในอีก 10 ข้างหน้า แล้วพวกเรามานั่งตรงนี้ก็ถามเขา เขาจะพูดด้วยความเชื่อมั่นที่สูงกว่าผมอีก 2 เท่า เขาจะรู้สึกว่า หนี้ก้อนนี้เหรอ จิ๊บๆ เขาอาจจะเสนอกระทรวงการคลังตัดสินใจล้างในหนึ่งคราวเลยก็ได้ เพราะเงิน 5 แสนล้านบาท ในอีก 10 ข้างหน้า เปรียบเทียบกับเศรษฐกิจที่เป็น 20 ล้านล้านบาท ถึงตอนนั้นอาจจะจัดการในคราวเดียว”

ทั้งนี้ การจะดำเนินการแก้ปัญหาหนี้แบบเบ็ดเสร็จนั้น ผู้ว่าการ ธปท. กล่าวว่า ขึ้นอยู่กับความพร้อม ทำแล้วต้องไม่หักโหมจนเกินไป เวลานี้ ธปท. ไปทำแบบนั้นไม่ได้ เพราะทำแล้วจะกระทบส่วนอื่นของระบบเศรษฐกิจ ธปท. จึงต้องทำแบบให้ระบบค่อยๆ ซึมรับไปทีละนิดๆ

เบื้องหลังแบงก์ยืนยันไม่ผลักภาระ

อย่างไรก็ตาม ในระหว่างที่สถาบันการเงินต้องนำส่งเงินให้สถาบันคุ้มครองเงินฝากและให้ ธปท. ด้วยในอัตรา 0.47% เพิ่มขึ้นจากเดิมที่เคยนำส่ง 0.4% นั้น ดร.ประสารกล่าวว่า เป็นการปรับเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย จึงได้ขอคำยืนยันจากผู้บริหารธนาคารพาณิชย์ โดยเฉพาะผู้บริหารธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ ว่าจะไม่ผลักภาระนี้ไปให้ประชาชนไม่ว่าจะเป็นผู้ฝากเงินหรือผู้กู้เงิน

สำหรับเบื้องหลังที่ทำให้ผู้บริหารธนาคารพาณิชย์ยืนยันว่าจะไม่ผลักภาระดังกล่าวนั้น ดร.ประสารบอกว่า เนื่องจากได้อธิบายง่ายๆ ให้ผู้บริหารธนาคารพาณิชย์ฟังว่า ตนเคยบริหารธนาคารพาณิชย์ ก็รู้ว่าทุกสิ้นเดือนจะต้องทำเพาเวอร์พอยต์แสดงให้คณะกรรมการธนาคารเขาดูว่า NIM (ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ หรือ Net Interest Margin: NIM) ของเขาเป็นเท่าไร และ NIM ของคู่แข่งเป็นเท่าไร ซึ่ง NIM ของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยก็แข่งกันอยู่แถว 2.5-2.9%

“แล้วผมก็ให้ข้อสังเกตว่า ทุกครั้งที่เราเสนอ NIM แข่งกับคู่แข่ง เราเสนอที่ทศนิยมหลักแรก เวลาแข่งจะอยู่ที่ 2.5, 2.6, 2.7 แต่เราเก็บเพิ่ม 0.47% เป็นหลักเอาทศนิยมหลักที่ 2 ด้วย เพราะฉะนั้น สมมติเดิมเคยได้ NIM 2.6% ก็ไม่น่าจะเป็นเหตุให้มารุกรานผู้ฝากเงินผู้กู้เงินนัก เพราะว่านี่มันทศนิยมหลักที่สอง น่าจะช่วยกันดูแลได้ ซึ่งผู้บริหารธนาคารพาณิชย์ฟังแล้วก็ยิ้มๆ”

แบงก์มีภาระเพิ่ม 7 พันล้าน ไม่เป็นอุปสรรการพัฒนา

ผู้ว่าการ ธปท. ระบุว่า ตอนนี้ฐานะเงินฝากของระบบธนาคารพาณิชย์มีประมาณ 7 ล้านล้านบาท ส่วนตั๋วบีอี มีประมาณ 2 ล้านล้านบาท รวมกันแล้วประมาณ 9 ล้านล้านบาท แต่คิดแบบง่ายๆ ใช้ตัวเลขเป็น 10 ล้านล้านบาท เมื่อคูณด้วยอัตราเงินนำส่งที่เพิ่มขึ้น 0.07% คิดเร็วๆ จะทำให้ธนาคารพาณิชย์มีภาระเพิ่มขึ้นทั้งปีประมาณ 7,000 ล้านบาท ถ้าครึ่งปีนำส่งครั้งหนึ่ง ก็จะมีภาระประมาณ 3,500 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม แม้ผู้บริหารธนาคารพาณิชย์จะยืนยันว่าจะไม่ผลักภาระให้ผู้ฝากเงินและผู้กู้เงิน แต่ ดร.ประสารยอมรับว่า ภาระหนี้จำนวน 1.14 ล้านล้านบาท เป็นค่าใช้จ่ายส่วนหนึ่งของประเทศ วิธีแก้ปัญหาทางหนึ่งที่ตรงไปตรงมาคือ ใช้เงินจากการเก็บภาษีมาค่อยๆ ทยอยชำระ และทางอื่นก็มีวิวัฒนาการที่พยายามทำกันมา โดยการให้สถาบันการเงินนำส่งเงินก็เป็นภาษีรูปแบบหนึ่ง ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายของระบบธนาคารพาณิชย์ แต่ลักษณะที่พยายามทำคือ มีการเกลี่ยและเฉลี่ยในวงกว้าง แล้วก็รับกันคนละนิดคนละหน่อย เป็นระยะเวลาที่ยาว

“ผมค่อนข้างมั่นใจ วิธีนี้จะไม่เป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวและการพัฒนาของประเทศต่อไป แต่แน่นอนว่าในที่สุดวิธีแบบนี้อาจต้องรับคนละนิดคนละหน่อย พวกเราที่ฝากเงินว่าไปแล้วก็อาจรับไปโดยถูกหัก 0.47% หรือ 0.4% บ้าง ผู้กู้เงินก็อาจรับไปบ้าง แต่ในอนาคต เราอยากเห็นตุ้มถ่วงตัวนี้น้อยลงเรื่อยๆ” ดร.ประสารกล่าว

(ข่าวที่เกี่ยวข้อง จับตา “ประชาธิปัตย์” ยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความ “พ.ร.ก. ร้อน” ขัดมาตรา 184 เบรกรัฐบาลแก้หนี้กองทุนฟื้นฟู-ชะลอกู้เงิน 3.5 แสนล้าน)