เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2558 ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ได้กล่าวสุนทรพจน์ในงานปาฐกถาพิเศษ Governor’s Talk ด้วยหัวข้อ “จดหมายจากใจถึงอาจารย์ป๋วย : ศาสตร์และศิลป์บนเส้นทางห้าปีของผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย” เนื่องในโอกาสครบ 100 ปีชาตกาล ศาสตราจารย์ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ในปี 2558
ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล เป็นผู้ว่าแบงก์ชาติคนที่ 22 กำลังจะครบวาระในวันที่ 30 กันยายนนี้ และมีดร.วิรไท สันติประภพที่จะมารับไม้ต่อในฐานะผู้ว่าการแบงก์ชาติคนใหม่
ที่ผ่านมาผู้ว่าฯประสารมีจุดยืนที่ชัดเจนในการทำหน้าผู้ว่าการธนาคารกลาง ดังที่เคยได้กล่าวถึง “บทบาทหน้าที่ของธนาคารกลางท่ามกลางความเปลี่ยนแปลง”และอีกหลายครั้งๆ(อ่านสุนทรพจน์เพิ่มเติม) รวมถึงจดหมายที่เคยเขียนถึงอาจารย์ป๋วย และครั้งนี้เป็นครั้งสุดท้ายทีได้เขียนจดหมายเปิดผนึกถึงอาจารย์ป๋วยในฐานะผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย
…..
ท่านผู้มีเกียรติทุกท่าน
วัตถุประสงค์ในการจัดงาน Governor’s Talk วันนี้ คือ ต้องการจะแสดงความกตัญญูกตเวทิตาแด่อาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ในโอกาสจะครบ 100 ปีชาตกาลในเดือนมีนาคมปีหน้า เนื่องด้วยอาจารย์ป๋วยได้แสดงและปฏิบัติตามหลักการในการเป็นผู้ว่าการธนาคารกลางที่ดีไว้หลายประการ ระหว่าง พ.ศ. 2502 ถึง 2514 ที่ท่านดำรงตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งผมเองได้นำมาใช้เป็นแนวทางในการทำงานของผมอย่างได้ผลดี เพราะฉะนั้น ในโอกาสฉลองครบรอบ 100 ปีชาตกาลดังกล่าว นอกจากการร่วมทำโครงการต่างๆ แล้ว ธปท. จึงมีความคิดที่จะนำหลักการอันทรงคุณค่าในการบริหารธนาคารกลางที่ดีของอาจารย์ป๋วย ขึ้นมานำเสนอในอีกโอกาสหนึ่ง
ด้วยเหตุที่ผมเคยใช้เวทีการเขียนจดหมายจากผมถึงอาจารย์ป๋วย เล่าเรื่องเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยและแนวคิดในการดำเนินงานในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา หลายเรื่องเป็นความท้าทายเชิงหลักการคิดและแนวการปฏิบัติของธนาคารกลางคล้ายคลึงกับในยุคของท่านรวมแล้ว 19 ฉบับ ซึ่งเป็นที่สนใจของผู้อ่าน ผมจึงเกิดความคิดในการนำจดหมายฉบับที่ 20 ซึ่งจะเป็นฉบับสุดท้ายในตำแหน่งผู้ว่าการ ขึ้นมานำเสนอในรูปปาฐกถา โดยขอให้ชื่อจดหมายฉบับที่ 20 นี้ว่า “จดหมายจากใจถึงอาจารย์ป๋วย: ศาสตร์และศิลป์บนเส้นทางห้าปีของผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย”
ธนาคารแห่งประเทศไทย
18 สิงหาคม 2558
เรียน อาจารย์ป๋วย ที่เคารพ
หลังจากผมเริ่มเขียน จม. ถึงอาจารย์ฉบับแรก ในเดือนมีนาคม 2555 ผมได้เขียนจดหมายถึงอาจารย์อีกนับรวมได้ 19 ฉบับ เล่าเรื่องราวต่างๆ ของ ธปท. รวมทั้งเหตุการณ์บ้านเมืองให้อาจารย์ฟัง แต่มีข้อที่แปลกคือ หากจะนึกถึงหลักการบริหารบ้านเมือง หรือหลักธนาคารกลางที่ดีแล้ว สามารถย้อนกลับไปที่คำพูดหรืองานของอาจารย์ได้โดยไม่รู้สึกเคอะเขินเลย สำหรับจดหมายนี้ เป็นฉบับสุดท้าย นอกจากจะจัดพิมพ์ในวารสารพระสยามแล้ว ผมตั้งใจว่าจะจัดขึ้นเป็นปาฐกถาพิเศษด้วย เพื่อแสดงกตเวทิตาจิตและร่วมฉลองวาระ 100 ปี ชาตกาลของอาจารย์
อาจารย์ครับ เมื่อใกล้จะครบวาระ ผมคิดว่าเป็นโอกาสที่จะเหลียวหลังทบทวนว่า ที่ผ่านมาได้ทำอะไร มีอะไรบกพร่อง อะไรยังทำไม่สำเร็จ รวมทั้งแลหน้าถึงบทบาทของ ธปท. ในระยะต่อไป เหล่านี้คือสิ่งที่ผมจะขอเล่าให้อาจารย์ฟังผ่านจดหมายฉบับนี้
1. เหลียวหลัง: บริบททางเศรษฐกิจ-การเมือง
เหลียวหลังกลับไป อาจจะกล่าวได้ว่า 5 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยของเราเผชิญกับความท้าทายและปัญหาที่รุมเร้าหลายด้าน ทั้งจากปัจจัยภายนอกและภายในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวและตลาดการเงินโลกที่ผันผวน ปัญหาเชิงโครงสร้างที่ขาดการลงทุนและการพัฒนาเทคโนโลยี การขาดแคลนแรงงาน รวมถึงปัญหาความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการ ซึ่งทำให้การบริโภคและการลงทุนของภาคเอกชนอ่อนแรง
2. ภารกิจธนาคารกลาง: รักษาเสถียรภาพควบคู่กับการพัฒนา
ภายใต้บริบทเศรษฐกิจที่ท้าทาย ผมในฐานะผู้ว่าการ ธปท. ไม่เคยนิ่งนอนใจ พยายามทำหน้าที่นายธนาคารกลางที่ดี แก้ปัญหาต่างๆ ของบ้านเมือง อย่างเต็มกำลังความรู้ความสามารถ ดังที่เคยมีโอกาสเล่าให้อาจารย์ฟังบ้างในจดหมายหลายฉบับก่อนหน้านี้
อาจารย์ครับ อาจารย์เคยพูดถึง “ศาสตร์ของการเป็นผู้ว่าการ” ว่า
“ศาสตร์ หรือ วิทยาการแห่งนโยบาย คือ เป้าหมายการดำเนินนโยบายในความรับผิดชอบของธนาคารกลางนั้น มี 2 เรื่อง (1) การส่งเสริมให้การดำเนินเศรษฐกิจของประเทศเป็นไปได้โดยดี และ (2) การรักษาเสถียรภาพการเงินให้คู่ไปกับการพัฒนาเศรษฐกิจ”
ทั้ง 2 ส่วนนี้ คือ เป้าหมายการทำงานของ ธปท. และ ของผม ในช่วงที่ผ่านมา กล่าวคือ
ส่วนที่หนึ่ง ดูแลให้เศรษฐกิจดำเนินไปด้วยดี มีเสถียรภาพ
ในภาวะที่เศรษฐกิจเผชิญความไม่แน่นอน ภาคส่วนต่างๆ ขาดความเชื่อมั่น ภารกิจสำคัญอันดับแรกของ ธปท. คือ การสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ประชาชน ผู้บริโภค นักลงทุนทั้งภายในและภายนอกประเทศ โดยดูแลตลาดการเงิน สถาบันการเงิน ระบบการชำระเงิน รวมทั้งการพิมพ์และการจัดการธนบัตร ให้ดำเนินไปได้ด้วยดี มีเสถียรภาพ ไม่เป็นอุปสรรคต่อการค้าการลงทุนของเอกชน และการดำเนินชีวิตประจำวันของประชาชน
ภายใต้กรอบ Flexible Inflation Targeting ที่ยืดหยุ่น การดำเนินนโยบายการเงินของ ธปท. ในช่วงที่ผ่านมา มุ่งดูแลให้ภาวะการเงินของประเทศโดยรวมผ่อนปรน มีความคล่องตัวเพียงพอ สนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และช่วยประคับประคองให้ภาคส่วนต่างๆ โดยเฉพาะกลุ่มที่ได้รับผลกระทบมาก เช่น ครัวเรือนในระดับฐานราก ผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็ก (SMEs) ให้ปรับตัวได้ ควบคู่ไปกับการดำรงรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงินให้ดี ไม่ให้มีปัญหาเรื่องความไม่สมดุล
อาจารย์ครับ ผมคิดว่าเราโชคดีที่ พื้นฐานเศรษฐกิจมหภาคของประเทศอยู่ในเกณฑ์ที่มั่นคง
อัตราเงินเฟ้อและอัตราการว่างงานต่ำ ในขณะที่ฐานะการเงินของภาคส่วนต่างๆ อยู่ในเกณฑ์เข้มแข็ง ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากการปรับตัวครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงวิกฤตต้มยำกุ้ง สถาบันการเงินที่เคยมีหนี้ NPLs กว่า 40% ปัจจุบันปรับลงเหลือประมาณ 2-3% ขณะที่บริษัทเอกชนในตลาดฯ มีสัดส่วนหนี้ต่อทุนปรับลดลงจากประมาณ 5 เท่าเหลือ 1-2 เท่า ภาครัฐมีหนี้สาธารณะอยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้ ส่วนภาคครัวเรือนที่แม้หนี้สูงขึ้น ในระยะหลังก็เริ่มชะลอลงบ้างแล้ว ภาพรวมเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงินจึงนับว่ามั่นคง ไม่มีความเปราะบางและปัญหาฟองสบู่
ปัจจัยเหล่านี้ ประกอบกับนโยบายเศรษฐกิจมหภาคของภาครัฐที่น่าเชื่อถือ ช่วยรองรับความผันผวนและช่วยให้เศรษฐกิจไทยปรับตัวได้ราบรื่นในระดับหนึ่ง รวมทั้งเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้นักลงทุนต่างชาติ และบริษัท จัดอันดับความน่าเชื่อถือ (Credit rating agency) ยังให้ความเชื่อมั่นในศักยภาพของประเทศไทย
อาจารย์ครับ ผมบอกผู้ที่เกี่ยวข้องเสมอว่า ส่วนนี้เป็นจุดแข็งของประเทศที่ต้องรักษา ต้องไม่ประมาท เพราะไม่ได้มาฟรีๆ เหมือนสุขภาพที่ดี ก็มาจากการออกกำลังกาย และการดูแลสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ
ประเด็นที่มีความท้าทายอยู่บ้าง คือ อัตราแลกเปลี่ยน
ช่วงที่ผ่านมา แม้เศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัว ทว่าเศรษฐกิจของแต่ละประเทศมีความเข้มแข็งต่างกัน(Multi speed recovery) และการดำเนินนโยบายก็ต่างกัน (Policy divergence) ทำให้ตลาดการเงินและเงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศผันผวนค่อนข้างมาก อาจารย์ครับ ปรัชญาที่ผมยึดมาโดยตลอดเมื่อพิจารณาเรื่องนี้ คือ “เข้าใจโลกตามความเป็นจริง” และ “คิดถึงอนาคตในระยะยาว” ทั้งนี้ ในการบริหารดูแล จัดให้มีปราการ3 ด่าน (Multiple lines of defense) กล่าวคือ (1) มีกรอบการบริหารจัดการที่ยืดหยุ่น (2) ดูแลภาวะด้านต่างประเทศให้สมดุล ทั้งดุลบัญชีเดินสะพัดและภาระหนี้ต่างประเทศ และ (3) จัดเตรียมเครื่องมือต่างๆ ให้พร้อมและเพียงพอ
ทั้งหมดนี้ เป็นปราการสำคัญที่ช่วยให้เศรษฐกิจไทยสามารถปรับตัว และใช้ประโยชน์จากความเชื่อมโยงของตลาดการเงินและเงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศได้ดีในระดับหนึ่ง
ส่วนที่สอง การพัฒนาระบบการเงิน เพื่อวางรากฐานการพัฒนาประเทศ
ธนาคารกลาง ไม่ได้มุ่งดูแลเสถียรภาพอย่างเดียว ยังมีบทบาทด้านการพัฒนาประเทศด้วย ดังที่อาจารย์พูดไว้ในหลายวาระว่า “ธนาคารชาติช่วยพัฒนาเศรษฐกิจได้อย่างไรบ้าง” งานอีกด้าน ที่ ธปท. ผลักดันอย่างต่อเนื่อง คือ การพัฒนาระบบการเงิน เพื่อเป็นการวางรากฐานสำหรับการพัฒนาประเทศในด้านต่างๆ โดยให้ความสำคัญกับ 3 ส่วนที่ถือเป็น 3 เสาหลักสำคัญของระบบการเงินไทย กล่าวคือ
หนึ่ง การพัฒนาตลาดการเงิน ให้เป็นแหล่งระดมทุนโดยตรงที่มีประสิทธิภาพ เอื้อให้ภาคธุรกิจสามารถระดมทุนเพื่อการลงทุนได้อย่างเพียงพอ ด้วยต้นทุนที่เหมาะสม ที่ผ่านมา ธปท. ได้ร่วมมือกับผู้เกี่ยวข้องพัฒนาตลาดให้มี ความกว้าง ความลึก และ ความคล่องตัว ให้สามารถรองรับการทำธุรกรรมปริมาณมากๆ ได้ โดยไม่กระทบราคา รวมทั้งจัดให้มีโครงสร้างพื้นฐานในด้านต่างๆ เพียงพอ เช่น ระบบการชำระราคา การจัดตั้งสมาคมผู้ร่วมตลาด เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมุ่งสร้างสภาพแวดล้อมที่จะช่วยให้เงินทุนเคลื่อนย้ายมีทิศทางที่สมดุล
สอง การพัฒนาระบบสถาบันการเงิน อาจารย์ครับ อนาคตอันใกล้นี้จะมีการประกาศใช้แผนพัฒนาระบบสถาบันการเงินระยะที่ 3 (ปี 2558-2562) ซึ่ง ธปท. เปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายทั้งภาครัฐและเอกชนช่วยกันให้ความคิดเห็นและออกแบบ แผนนี้จะช่วยให้สถาบันการเงินของไทยมี การแข่งขัน มากขึ้น ผู้ใช้บริการรายย่อยสามารถ เข้าถึง บริการมากขึ้น และเพิ่มความเชื่อมโยง กับภูมิภาคเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต
และ สาม การพัฒนาระบบการชำระเงิน ซึ่งถือว่าเป็น Infrastructure ของระบบการเงิน ก็เป็นงานพัฒนาอีกด้านที่ ธปท. ให้ความสำคัญ ทั้งในมิติการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การพัฒนามาตรฐานกลางข้อความการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ และการส่งเสริมการใช้ E-payment ปัจจุบัน ธปท. อยู่ระหว่างผลักดันกฎหมายเพื่อกำกับดูแลระบบการชำระเงิน ซึ่งเป็นการแก้ไขกฎหมายครั้งสำคัญ เพื่อยกระดับการกำกับดูแลและลดความซ้ำซ้อน ผมเชื่อว่าแนวทางนี้จะช่วยพัฒนาระบบการชำระเงินของบ้านเราให้ ถูก ดี และปลอดภัย
อาจารย์ครับ งานด้านการพัฒนาเราไม่ได้ดูแค่เรื่องการเงินการธนาคาร เมื่อมีโอกาสก็จะพยายามช่วยบ้านเมืองในด้านอื่นด้วย ผมนึกถึงที่อาจารย์พูดไว้ว่า “เพื่อนร่วมงานของข้าพเจ้าบางคนอาจกล่าวหาว่า ข้าพเจ้าอยากให้ธนาคารไปเกี่ยวข้องกับหลายอย่างซึ่งอยู่นอกขอบเขตของการธนาคาร แต่ข้าพเจ้าวิงวอนว่า ปัจจุบันธนาคารกลางโดยความจำเป็นได้กลายมาเป็นธนาคารกลางเพื่อพัฒนา ฉะนั้นเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางต้องพร้อมและคล่องตัวกว่าเดิม”
ที่ผ่านมา งานด้านการพัฒนาประเทศด้านหนึ่งที่ ธปท. เข้าไปมีส่วนร่วม คือ การปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ ซึ่งเป็นภาคเศรษฐกิจที่สำคัญมาก เพราะรัฐวิสาหกิจเป็นผู้ครอบครอง Strategic assets ที่สำคัญของประเทศ ไม่ว่าจะเป็น คลื่นความถี่ สนามบิน ท่าเรือ ทางพิเศษ ระบบราง สินทรัพย์ทั้งหมดของรัฐครึ่งหนึ่งเป็นของรัฐวิสาหกิจ และที่ผ่านมาถูกแทรกแซงจากการเมือง มีปัญหาเชิงโครงสร้าง ไม่มีผู้ทำหน้าที่เจ้าของที่จะคอยหวงแหนเป็นห่วงเป็นใยแทนประชาชน ปัญหาเหล่านี้ถ้าปล่อยทิ้งไว้ รัฐวิสาหกิจจะไม่สามารถบรรลุพันธกิจด้านการให้บริการที่ดีมีคุณภาพ และเป็นการเสียโอกาสการพัฒนาของประเทศ รวมทั้งจะเป็นต้นทุนที่แพงขึ้นของทุกคน
ผมและคณะทำงาน จึงได้เสนอแนวทาง “ยกเครื่องรัฐวิสาหกิจ” โดยจะมีการออกกฎหมายเพื่อวางรากฐานการกำกับดูแลที่ดี ทั้งมิติการแต่งตั้งกรรมการ การเปิดเผยข้อมูล และการส่งผ่านนโยบายที่ชัดเจน ซึ่งจะช่วยลดโอกาสที่รัฐวิสาหกิจจะถูกใช้ทำนโยบายประชานิยมที่ไม่รับผิดชอบเหมือนอย่างที่ผ่านมา รวมทั้ง จะมี การจัดตั้ง “บรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติ” ขึ้นเพื่อทำหน้าที่หน่วยงานเจ้าของแทนประชาชน ดูแลบริหารสินทรัพย์ให้เพิ่มมูลค่าและเกิดประโยชน์สูงสุด ผมเชื่อว่าถ้างานส่วนนี้สำเร็จจะเป็น Platform การปฏิรูปเศรษฐกิจที่สำคัญที่สุดอันหนึ่งของประเทศในระยะต่อไป
3.ศิลปะการดำเนินนโยบายในบริบทที่เปลี่ยนแปลง
อาจารย์ครับ สภาพเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนแปลง ทำให้ธนาคารกลางต้องปรับ “วิธีทำงาน” ให้สอดคล้องกับบริบทและความคาดหวังของคนในสังคม อย่างไรก็ดี วิธีการทำงานบางเรื่อง ก็มีหลักการวิชาการที่แน่นอน (เป็นศาสตร์) แต่บางเรื่องก็ไม่ การปฏิบัติอาจจะไม่ตรงกัน เป็น ศิลปะ เหมือนอย่างที่อาจารย์เคยพูดไว้ว่า
“ศิลปะในการปฏิบัตินั้น ได้แก่ปัญหาว่าควรจะทำอย่างไร.. สอนกันไม่ได้”
สิ่งแรกที่ผมตั้งใจว่าจะทำในฐานะผู้ว่า ธปท. คือ “การสร้างค่านิยมที่ดี” ให้กับองค์กร เพราะเชื่อว่าการมีค่านิยมที่ดีที่ถูกต้อง ในที่สุดจะนำไปสู่การสร้างวัฒนธรรมองค์กร และจะเป็นเข็มทิศให้กับองค์กรและพนักงานในเรื่องต่างๆ ไม่ว่าจะด้านการทำงาน หรือการปฏิสัมพันธ์กับผู้ที่เกี่ยวข้อง ทั้งในยามปกติและยามคับขัน ซึ่งผมเห็นว่า “บุคคลแบบอย่าง” หรือ Role Model ที่ดีที่สุดของ ธปท. คือ อาจารย์ป๋วยนั่นเอง แต่น่าเสียดายที่เพื่อนพนักงานรุ่นหลังๆ เริ่มไม่รู้จักอาจารย์ นอกเหนือจากคำบอกเล่าที่ได้ยินกัน ผมจึงแปลงค่านิยมดีๆ ที่อาจารย์ทำไว้เป็นแบบอย่างตลอดชีวิตอาจารย์ เป็นคำไทยง่ายๆ 4 คำ ดังนี้
“ยืนตรง” คือ ทำในสิ่งที่ควรทำ ไม่ทำในสิ่งที่ไม่ควรทำ
“มองไกล” คือ ให้คิดถึงอนาคตในระยะยาว ไม่เน้นเฉพาะผลในระยะสั้น
“ยื่นมือ” คือ ต้องทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ดี ทั้งภายในและภายนอกองค์กร
“ติดดิน” คือ เข้าใจโลกในความเป็นจริง ถ่อมตน เข้าถึงง่าย
วันที่ 1 ตุลาคม 2553 เริ่มงานวันแรก 8.00 น. ผมได้สื่อสารกับเพื่อนพนักงาน ธปท. ผ่านจดหมายผู้ว่าการถึงพนักงานฉบับที่ 1 ว่า “เมื่อคราวคัดเลือกผู้ว่าการ ธปท. ผู้สื่อข่าวถามท่านผู้ว่าฯ ธาริษาว่า คนเป็นผู้ว่าการ ธปท. ควรมีคุณสมบัติอย่างไร ท่านตอบโดยใช้คำสั้นๆ แต่กินใจ 3 คำว่า ยืนตรง มองไกล ติดดิน ผมอยากให้ทั้งสามข้อเป็นคุณสมบัติขององค์กร ธปท. และถ้าจะให้สมบูรณ์ ผมอยากเพิ่มคำที่สี่คือ ยื่นมือ”
อาจารย์ครับ ผมเชื่อว่าการมีคุณสมบัติทั้ง 4 ข้อนี้จะช่วยให้ประชาชนและผู้ที่เกี่ยวข้องเกิด “ความไว้วางใจ” ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่งยวด สำหรับองค์กรที่ทำนโยบายสาธารณะอย่างเช่น ธปท.
Public Office is a Public Trust ทั้งหมดนี้คือ “หัวใจ” และเป็นแนวทางที่ผมใช้ทำงานมาตลอด 30 ปี เมื่อไปทำงานในองค์กรสาธารณะทั้ง ธปท. และ ก.ล.ต.
Public Office ไม่ใช่ตัวอาคาร 1 อาคาร 2 หรือ นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการ ธปท. ไม่ใช่ ส.ส. ในรัฐสภา แต่มันคือ “ความไว้วางใจ” ของประชาชน
มันเปล่าประโยชน์ ถ้าเรามีตำแหน่ง มี Public Office แต่ขาด Public Trust
ตรงนี้ผมนึกถึงข้อคิดที่อาจารย์เคยให้ไว้ว่า
“หลักของธนาคารกลางก็เช่นเดียวกับหลักการธนาคารทั่วๆ ไป คือ เครดิต และ Faith คือ ความเชื่อถือกันทั้งภายในและภายนอก ถ้าขาดเครดิตแล้วเลิกพูดเรื่องการธนาคารได้”
อาจารย์ครับ ที่ผ่านมาเมื่อผมมีโอกาสพบปะกับบุคคลต่างๆ ในสังคม ส่วนใหญ่จะพูดถึง ธปท. ด้วยความชื่นชม โดยเฉพาะในความเป็นผู้มีหลักการ รอบคอบ ซื่อสัตย์สุจริต ตรงนี้ก็ทำให้ผมมีความภูมิใจไม่น้อย แต่หลายคนมักเปรียบเทียบการทำงานของ ธปท. ว่า “อยู่บนหอคอย” ซึ่งจะว่าไปแล้วก็คงไม่ผิดนัก เพราะ ธปท. ต้องยืนตรงยึดมั่นในหลักการ และทำหน้าที่เป็นนักวิชาการที่รอบคอบมองไกลไปข้างหน้า
จากบริบทเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนไป วิกฤตการเงินโลกชี้ถึงความซับซ้อน เชื่อมโยงกันของระบบเศรษฐกิจ ในภาคการเงินเห็นความเกี่ยวโยงกันระหว่างนโยบายการเงินและนโยบายกำกับดูแลสถาบันการเงิน ธนาคารกลางหลายแห่งจึงปรับบทบาทให้เหมาะสมกับบริบทใหม่ อาทิ ธนาคารแห่งประเทศอังกฤษ (BOE) จากภาพลักษณ์ของ สุภาพสตรีชราทึมทึกที่ปิดตัวแห่งถนน Threadneedles Street ก็เปลี่ยนบทบาทใหม่ มาเป็น “คุณแย้ม” แห่งถนน Threadneedles Street
Mark Carney ผู้ว่าการ BOE ที่เพิ่งมารับตำแหน่งไม่นานนี้ ตั้งคำถามชวนคิดว่า What is the Bank of England for? บทบาทของธนาคารประเทศอังกฤษในวันนี้คืออะไร เขาตอบว่า Promoting the Good of People of United Kingdom เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของประชาชนอังกฤษซึ่ง BOE ก็ยกเครื่ององค์กรครั้งใหญ่ มีการโอนงานด้านการกำกับดูแลสถาบันการเงินกลับมาอยู่ที่ธนาคารกลาง มีการปรับองค์กร เพื่อเพิ่มการประสานงาน เพิ่ม Synergies ระหว่างฝ่ายงานในองค์กร รวมพลังกันเพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจในภาพรวม
ธปท. ที่เคยถูกมองว่าเป็น “ปู่โสมเฝ้าทรัพย์แห่งบางขุนพรหม” ต้องปรับตัวเช่นกัน การประสานงานกับผู้อื่นมีความจำเป็นมากขึ้นเป็นลำดับ เพื่อให้สามารถผลักดันงานส่วนรวมให้สำเร็จได้ผลเต็มที่ นอกจากนี้ก็มีความสำคัญอย่างมากที่ประชาชนชาวบ้านร้านตลาด ซึ่งผมคิดว่าเป็นเจ้าของประเทศตัวจริง ต้องสามารถเข้าใจสิ่งที่ ธปท. ทำ และไม่รู้สึกว่าเราอยู่ไกลเกินไป เราต้อง ยื่นมือ และ ติดดิน
นี่คือที่มาของการพยายามทำให้ ธปท. เป็นองค์กรที่ประชาชนเข้าถึงและพึ่งได้
แม้งานบางส่วนอาจจะไม่ใช่ Conventional jobs ของธนาคารกลาง แต่ผมเชื่อว่าจะช่วยสร้างทุนความน่าเชื่อถือให้ ธปท. และอาจเป็น Jigsaw ที่หายไป ที่จะช่วยให้ ธปท. เป็นองค์กรที่ประชาชนศรัทธาอย่างแท้จริง ในเรื่องนี้ผมได้นำแนวคิด Branding ที่ใช้กันในภาคธุรกิจ มาปรับใช้กับงานของธนาคารกลาง โดย “ลูกค้า” ของ ธปท. ก็คือ “ประชาชนทุกคน” ตัวอย่างความพยายามของเราในเรื่องนี้ อาทิ
การสื่อสารกับสาธารณชนอย่างโปร่งใสต่อเนื่อง อาจารย์ครับ ในอดีตธนาคารกลางมักทำตัวลึกลับ ยึดหลักการรักษาความลับ และไม่แสดงท่าทีที่ชัดเจน เนื่องจากเกรงว่าจะเป็นการสร้างข้อผูกมัด ดังที่เราเคยได้ยินบ่อยๆ เกี่ยวกับ Mystique of Central Bank
ที่ผ่านมา ธปท. พยายามพัฒนาและให้ความสำคัญกับการสื่อสาร ในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับคณะกรรมการทุกชุด (กนง. กนส. กรช.) ผู้ว่าการ และพนักงาน เพื่ออธิบายให้ประชาชนเข้าใจการดำเนินงานของเรา ว่ามีหลักคิด ข้อพิจารณา (Trade-off) มีเหตุมีผลของการตัดสินใจอย่างไร การใช้ภาษาก็พยายามใช้คำง่ายๆ เพื่อให้เข้าถึงประชาชนมากขึ้น ด้าน กนง. มีการเปิดเผยผลการลงคะแนนและรายงานการประชุมฉบับย่อ เพิ่มเติมจากการแถลงข่าวและการจัดทำรายงานนโยบายการเงิน (Monetary Policy Report) อาจารย์ครับ เดิมรายงานนี้ชื่อ รายงานแนวโน้มเงินเฟ้อ (Inflation Report) แต่เราเปลี่ยนชื่อเสียใหม่ เพื่อสื่อสารกับประชาชนว่า ในการทำนโยบายการเงิน ธปท. พิจารณาปัจจัยรอบด้าน ไม่ได้หมกมุ่นดูแต่เงินเฟ้ออย่างเดียว
เมื่อเริ่มงาน ผมได้นำระบบ Balanced Score Card มาใช้ เพราะเชื่อว่าจะช่วยให้การทำงานเป็นระบบ มีแผนงานชัดเจน ช่วยให้พนักงานทุกระดับตลอดจนผู้ว่าการเห็นว่า งานที่ตนทำนั้นสนับสนุนงานของ ธปท. ในภาพรวมอย่างไร มี stakeholders เป็นใครบ้าง และมีอะไรเป็นตัวชี้วัดความสำเร็จ สำหรับงานด้านการสื่อสารก็เช่นกัน ลองนับดูแทบไม่น่าเชื่อนะครับ เกือบ 5 ปีที่ผ่านมา ผมไปกล่าวปาฐกถาในที่สาธารณะ (speeches) รวมกว่า 180 ครั้ง ทั้งในและนอกประเทศ ซึ่งนี่ยังไม่รวมการพบปะกับกลุ่มต่างๆ ที่ไม่เป็นทางการ ปาฐกถาเหล่านี้ผมไม่ได้ไปแบบสุ่ม แต่เลือกไปตาม stakeholders กลุ่มต่างๆ เพื่อให้มั่นใจว่าสามารถทำความเข้าใจกับทุกกลุ่มได้อย่างทั่วถึง ผมคิดว่านี่เป็นส่วนหนึ่งของงานผู้ว่าการ เป็นความรับผิดชอบของเราที่ต้องอธิบาย ซึ่งผมขอขอบคุณ ทุกท่านที่มีส่วนช่วยในการเตรียมข้อมูล ผมคิดว่าความพยายามสื่อสารของเราช่วยให้สาธารณชนเข้าใจ ธปท. ดีขึ้น และเมื่อมองย้อนกลับไปในยามคับขัน ก็เห็นสิ่งนี้ว่ามีค่ายิ่ง รู้สึกซาบซึ้งที่ประชาชนเมตตาและเข้าใจ
อาจารย์ครับ การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญมากในช่วงที่ผ่านมา คือ การกำกับดูแลสถาบันการเงินธปท. ได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่ Regulator สำหรับสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ (SFIs) ซึ่งที่ผ่านมาประสบปัญหาหลายด้าน SFIs บางแห่งมีหนี้เสียสูงจนน่าตกใจ ภาครัฐต้องเข้าไปเพิ่มทุนหลายครั้ง ในการทำภารกิจใหม่นี้พนักงาน ธปท. อาจกังวล กลัวจะเป็นเหตุให้การเมืองมาแทรกแซง ซึ่งผมอธิบายเพื่อนพนักงานว่า
“อยากให้มองเรื่องนี้อย่างภาคภูมิใจและให้พยายามทำงานที่เราได้รับมอบหมายให้ดี เรื่องนี้เป็นเรื่องของส่วนรวมที่ ธปท. ต้องยื่นมือ ถ้า SFIs มีปัญหา ระบบการเงินก็จะมีปัญหา”
นอกจากนี้ ยังมีการปรับปรุงกลไกให้มีการทำงานระหว่าง กนง. และ กนส. ให้ประชุมร่วมกันอย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง มีการจัดทำ Financial Stability Report เพื่อประเมินความเสี่ยงของระบบการเงินในภาพรวม รวมทั้งมีการประสานการทำงานร่วมกันระหว่าง ธปท. และ Regulator อื่นเช่น กลต. คปภ. มากขึ้น
อีกมุมหนึ่งที่เราพยายามปรับปรุงต่อเนื่อง คือ ในการทำนโยบายเรารับฟังความคิดเห็นของ stakeholders มากขึ้น เช่น ในการประเมินภาพเศรษฐกิจ นอกจากดูตัวเลข Macro ก็มีเจ้าหน้าที่ลงไปคุยกับภาคธุรกิจจริง (Business Liaison Program- BLP) ปีที่ผ่านมา เราได้พูดคุยกับภาคธุรกิจในทั่วทุกภาคของประเทศมากถึง 800 แห่ง นอกจากนี้ ธปท. ก็ส่งพนักงานไปทำงานที่หน่วยงานภายนอก (Secondment) หลายสิบแห่ง เพื่อให้ ธปท.เข้าใจการปฏิบัติงานของภาคธุรกิจมากขึ้น
ธปท. มีการทำ Perception Survey สอบถามประชาชนว่าคาดหวังอะไรกับ ธปท. หนึ่งในผลสำรวจที่พบคือ คาดหวังให้ ธปท “พึ่งพาได้” ศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน (ศคง.) จึงถูกตั้งขึ้นเพื่อทำงานด้านการคุ้มครองผู้ใช้บริการ และเป็นกลไกที่ช่วยให้ ธปท. สามารถเข้าถึงข้อมูลเพื่อนำไปปรับปรุงนโยบายให้เป็นธรรมและเป็นประโยชน์ต่อผู้ใช้บริการ ขณะเดียวกันยังเป็นหน่วยงานเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงิน (Financial Literacy) ช่วยให้ผู้บริโภคสามารถตัดสินใจได้อย่างเหมาะสม และไม่ถูกเอาเปรียบ
การทำงานของ ธปท. ต้องอาศัยความร่วมมือจากธนาคารพาณิชย์ (ธพ.) ในการดูแลประชาชน อาทิ ช่วงที่หนี้ครัวเรือนเร่งตัวขึ้นมาก เราห่วงและเริ่มออกมาเตือน และขอความร่วมมือ ธพ. ให้เปลี่ยนรูปแบบการโฆษณา จากที่เน้นเรื่องกู้ง่ายกู้เร็ว มาเน้นเรื่องการออม การวางแผนทางการเงินมากขึ้น ซึ่งได้รับความร่วมมืออย่างดี ผมขอแสดงความชื่นชมและขอบคุณไว้ ณ ที่นี้ด้วย และไม่ใช่เรื่องนี้เรื่องเดียว ธพ. ให้ความร่วมมือแก่ ธปท. ในอีกหลายเรื่องเมื่อได้รับคำขอ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการส่งผ่านอัตราดอกเบี้ย เรื่องการลดค่าธรรมเนียม หรือเรื่องการดูแลลูกค้า SMEs สิ่งเหล่านี้ทำให้ผมประจักษ์ว่า “Persuasion” หรือศิลปะของนายธนาคารกลางในการชักจูงให้ ธพ. ยอมร่วมมือนั้น เป็นเรื่องที่สำคัญมาก เหมือนที่อาจารย์เคยพูดเอาไว้ทุกประการ
นอกจากนี้ ในการประชุมสัมมนาวิชาการประจำปีของ ธปท. หลายปีก่อน ท่านอดีตผู้ว่าการ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ให้ข้อคิดไว้อย่างน่าสนใจว่า ในบางช่วงประชาชนรู้สึกว้าเหว่ ไม่มีที่พึ่ง ธปท. เป็นองค์กรที่มีทรัพยากร มีข้อมูล มีเจ้าหน้าที่ที่มีความรู้ ต้องเป็นที่พึ่งของประชาชน ในการทำหน้าที่ “คอยเตือนภัย” ถ้าเห็นว่าเศรษฐกิจของประเทศมีความเสี่ยงในเรื่องใด รวมทั้งพร้อมเสนอทางออกเพื่อการพัฒนาประเทศ นี่คือที่มาของคำว่า ประภาคารเชิงรุก สิ่งที่ ธปท.ดูแลอาจไม่เพียงพอ ต้องบอกคนที่เกี่ยวข้องให้ช่วยกันดูแลแก้ไข อาทิ การปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน หรือ การมีวินัยทางการคลัง ซึ่งเป็นเรื่องระยะยาวที่บ้านเมืองต้องการ
และสุดท้ายเพื่อเป็นการรำลึกและสืบสานคุณงามความดีของอาจารย์ป๋วย ผู้เป็นทั้งนักเศรษฐศาสตร์ ข้าราชการมืออาชีพ ผู้ว่าการ ธปท. นักพัฒนาชนบท นักการศึกษา ผู้วางรากฐานการศึกษาวิจัยของไทย และที่สำคัญเป็นผู้สร้างแรงบันดาลใจให้กับคนจำนวนมาก เมื่อต้นปี 2558 นี้ ธปท. จึงจัดตั้ง สถาบันวิจัยเศรษฐกิจ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ขึ้น และมีงานเปิดตัวอย่างเป็นทางการในวันนี้
จุดประสงค์เพื่อเสริมความแข็งแกร่งของวงการวิชาการเศรษฐศาสตร์ในประเทศ ผ่านการพัฒนาเครือข่ายนักวิจัย โดยเฉพาะความเชื่อมโยงระหว่างผู้ดำเนินนโยบายกับนักวิชาการ เพราะที่ผ่านมา นักวิจัยที่มุ่งศึกษาเรื่องนโยบายเป็นการเฉพาะมีอยู่น้อย ผมหวังว่าสถาบันแห่งนี้จะช่วยสนับสนุนข้อมูลสถิติและทรัพยากรต่างๆ แก่นักวิจัยไทย ให้ผลิตงานศึกษาด้านนโยบายเศรษฐกิจออกมามากขึ้น เพื่อแก้ปัญหาและพัฒนาประเทศของเราให้มั่นคงยั่งยืนต่อไป ดังที่อาจารย์เคยกล่าวไว้ว่า
“การสะสมทุนทางวิชาการต้องอาศัยการวิจัยเป็นสำคัญ ฉะนั้น ประเทศใดไม่มีการวิจัย…ประเทศนั้นจะต้องด้อยในเชิงสะสมทุนเป็นแน่”
4. เรื่องที่ยังไม่สะเด็ดน้ำ
อาจารย์ครับ ตั้งแต่เข้ามารับตำแหน่ง ผมคิดเสมอว่าเวลาทำงานมีจำกัด ผมยังจำคำพูดของอดีตผู้ว่าการม.ร.ว. จัตุมงคล โสณกุล ได้ดี ท่านบอกว่า เข้ามาอยากทำหลายอย่าง พอออกจากตำแหน่งแล้ว ทำได้ไม่ถึง 10% ของที่ตั้งใจทำในวันแรก ตอนนั้นผมไม่เข้าใจ พอใกล้จะครบวาระก็เข้าใจคำพูดนี้ดีขึ้น
4 ปีก่อน มีคนถามผมว่า ครบวาระแล้วจะภูมิใจอะไรที่สุด ผมตอบว่าถ้าทำเรื่อง “ยื่นมือ” ได้สำเร็จก็จะภูมิใจ มาถึงวันนี้ แม้งานหลายส่วนคืบหน้า สะท้อนจาก Perception Survey ล่าสุดที่ stakeholders เห็นว่า เข้าถึง ธปท. ง่ายขึ้น การสื่อสารและทำงานกับคนอื่นของเราดีขึ้น แต่ผมเห็นว่ายังมีอีกหลายเรื่องที่สามารถพัฒนาให้ดีขึ้นได้ อาทิ เรื่องยื่นมือไปช่วยโจทย์ของบ้านเมืองด้านการพัฒนา การยื่นมือภายใน ธปท. ด้วยกันเอง และการช่วย SMEs และชาวบ้านที่มีศักยภาพให้เข้าถึงบริการทางการเงิน เหล่านี้เป็นเรื่องที่ยังไม่สะเด็ดน้ำเสียทีเดียว
อีกเรื่องที่ผมคิดว่ายังมีข้อบกพร่อง คือ การประสานนโยบายกับรัฐบาลในบางช่วง มองย้อนกลับไป ก็คิดว่าน่าจะทำได้ดีกว่านี้ ผมคิดถึงที่อาจารย์เคยพูดเปรียบไว้ว่า รัฐบาลกับธนาคารกลางก็เหมือนสามีกับภรรยา หากมีปัญหาก็ควรปรับความเข้าใจกันในบ้าน การจะว่ากล่าวกันให้ชาวบ้านฟังนั้นไม่ใช่วิสัยที่ดี และถึงที่สุดแล้ว “ถ้าเราไม่สามารถที่จะเกลี้ยกล่อมท่านได้ หน้าที่ของผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ก็จะด้อยลงไป ความรับผิดชอบและประโยชน์ที่เราจะทำให้ก็จะเสียหายไปเช่นเดียวกัน”
อาจารย์ครับ หลายครั้งมีคนถามผมถึงความเห็นเกี่ยวกับ ความเป็นอิสระของธนาคารกลาง
ผมชี้แจงว่า คำว่าอิสระเป็นคำที่ผมระมัดระวัง จริงๆ แล้วไม่ค่อยจะชอบใช้ เพราะต้องอาศัยความเข้าใจความหมาย และบ่อยครั้ง คำนี้ ทำให้รู้สึกว่า เราถูก เขาผิด ซึ่งในโลกแห่งความจริงไม่เป็นอย่างนั้น
บางครั้ง เราถูก เขาผิด บางครั้ง เราผิด เขาถูก
รากฐานที่จะนำมาสู่ความเป็นอิสระ ผมคิดว่าประกอบด้วย 2 ส่วน คือ “ทำในสิ่งที่ควรทำ และไม่ทำในสิ่งที่ไม่ควรทำ” โดยทั่วไป คนส่วนใหญ่มักจะให้น้ำหนักเฉพาะส่วนหลัง ก็คือ “เราไม่ทำในสิ่งที่ไม่ควรทำ” หมายความว่า ถ้าเราเห็นว่า เขาทำผิดเราต้องทัดทาน และ ไม่ยอมให้เขาบังคับให้เราทำในสิ่งที่ผิด ซึ่งจะว่าไปก็ใช่ แต่นี่เป็นเพียงครึ่งหนึ่งของเรื่อง
อีกครึ่งหนึ่งเป็นเรื่องที่เราจะต้องไม่มี ego ไม่ดื้อ คือ หากสิ่งที่เราทำหรือเชื่อ ต่อมาเห็นว่า “อาจไม่ถูกต้อง” เราต้องไม่ดื้อ และเปลี่ยนมาทำในสิ่งที่ถูกต้อง จึงเรียกว่า “ได้ทำในสิ่งที่ควรทำ”
คงปฏิเสธไม่ได้ว่า ธปท. เป็นองค์กรหนึ่งของรัฐ ที่จะต้องช่วยกันดูแลให้ประเทศก้าวหน้าไปได้ ธปท. จึงไม่สามารถเป็นอิสระจากรัฐบาลได้ทั้งหมด เช่น การดำเนินนโยบายการเงิน กฎหมายวางหลักไว้ค่อนข้างดีว่า ช่วงปลายปี กนง. ต้องเสนอเป้าหมายการดำเนินนโยบายการเงินผ่าน รมต.คลัง ไปยังรัฐบาล หมายความว่า รัฐบาลมีอำนาจว่าจะอนุมัติหรือไม่อนุมัติ ธปท. ไม่ได้เป็นอิสระจากรัฐบาลทั้ง 100%
เมื่อรัฐบาลอนุมัติเป้าหมาย ธปท. ก็รับเป้าหมายนั้นมาดำเนินการ ในระยะเวลาที่เหมาะสม ด้วยเครื่องมือที่เห็นว่าเหมาะสม ส่วนหลังนี้กฎหมายให้ ธปท. สามารถดำเนินงานได้อิสระ คือมี Operational Independence ซึ่งสอดคล้องกับหลักการสากลที่ธนาคารกลางควรมีอิสระในการดำเนินงาน ด้วยเหตุผลอย่างน้อย 3 ข้อ กล่าวคือ (1) จำเป็นต้องแยกคนพิมพ์แบงก์ออกจากคนใช้เงิน (2) การกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อผลระยะสั้นอาจก่อผลเสียระยะยาว และ (3) บ่อยครั้งธนาคารกลางมักต้องทำเรื่องที่ไม่ popular
แต่อย่างไรก็ดี ผมคิดว่าข้อกฎหมาย อย่างเดียวไม่พอ ท้ายที่สุดต้องอาศัยแรงสนับสนุนจากประชาชน กล่าวคือ การเมืองไม่กลัว ธปท. แต่เขากลัวประชาชน ดังนั้น สิ่งสำคัญคือ ธปท.ต้องดำรงสถานะให้น่าเชื่อถือ
ให้ประชาชนมีความไว้วางใจ ธปท.ต้องมีธรรมาภิบาลในการทำงาน ต้องโปร่งใส สื่อสารและเปิดเผยข้อมูลให้ประชาชนทราบ ซึ่งผมคิดว่า ค่านิยม 4 ข้อ ยืนตรง มองไกล ยื่นมือ ติดดิน เป็นวิธีที่จะช่วยให้ประชาชนไว้ใจ ธปท. Public Office is a Public Trust ทั้งหมดนี้คือ หัวใจ
5. แลไปข้างหน้า : อนาคตของ ธปท.
เมื่อไม่นานมานี้ มีนักข่าวถามผมว่าใกล้จะครบวาระแล้ว มีอะไรต้องรีบทำไหม ผมตอบว่า ไม่ เพราะ Staff ที่ ธปท.พร้อมรับช่วงงานต่อ ที่นี่เป็นสถาบัน
แม้ “คน” ไป แต่ “สถาบัน” ยังอยู่
กว่า 70 ปีแล้วที่ ธปท. มีส่วนสำคัญในการดำเนินนโยบายเพื่อเศรษฐกิจไทย ได้รับทั้งการชื่นชม และบางครั้งก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์ แต่ไม่ว่าจะอย่างไร ผมเชื่อมั่นว่า ธปท. จะเรียนรู้จากอดีต เพื่อปรับปรุง พัฒนา และจะยังคงดำรงความเป็น “สถาบันคู่บ้านคู่เมือง” ที่ทำหน้าที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้ก้าวหน้าต่อไป
“ความเป็นสถาบัน” ของธนาคารแห่งประเทศไทย ประกอบด้วยอย่างน้อย 3 สิ่ง
(1) กรอบนโยบายที่ยืดหยุ่น มีธรรมาภิบาล เครื่องมือที่เพียงพอ และ โปร่งใส
ธปท. มีกฎหมายที่กำหนดบทบาทหน้าที่ วิธีทำงานระหว่างผู้ที่เกี่ยวข้องอย่างชัดเจน มีการถ่วงดุลอำนาจที่เหมาะสม (Checks and Balances) และในการทำหน้าที่ธนาคารกลาง มีกรอบการดำเนินนโยบายที่ยืดหยุ่น สามารถปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมตามสถานการณ์ได้ทันท่วงที มีชุดของเครื่องมือที่พร้อมและเพียงพอในการดูแลเศรษฐกิจ รวมทั้งมีการเปิดเผยข้อมูล สื่อสารทำความเข้าใจกับสาธารณชนอย่างต่อเนื่อง และโปร่งใส
(2) บุคลากร
อาจารย์ครับ ผมอยากเรียนให้ทราบด้วยความภูมิใจว่า พนักงานของ ธปท. ในปัจจุบัน รวมทั้งอดีตพนักงานที่ได้ออกไปช่วยพัฒนาประเทศด้านอื่นๆ ได้รับการยอมรับจากคนทั่วไปว่ามีความรู้ดีเยี่ยม มีความวิริยะอุตสาหะ และที่สำคัญเป็นผู้มีความซื่อสัตย์สุจริตในการปฏิบัติหน้าที่ ธปท. เป็นสถาบันที่มีคนมีคุณภาพมากที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศ เป็นสถาบันที่เด็กจบใหม่ใฝ่ฝันจะเข้ามาร่วมงาน งานใดที่ผ่านมาในสมัยผมที่พอจะเห็นผลอยู่บ้าง ก็เป็นผลจากความอุตสาหะของท่านเหล่านี้ ที่ทำงานด้วยความทุ่มเทเพื่อประโยชน์ของส่วนรวม
(3) ประวัติศาสตร์แห่งความดีงาม
อันเป็นมรดกของอดีตพนักงานและผู้บริหารที่สั่งสมมาตั้งแต่สมัยผู้ว่าการท่านแรก พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าวิวัฒนไชย มาจนสมัยของอาจารย์ และสืบทอดเรื่อยมาถึงปัจจุบัน ไม่เพียงแค่ความเชื่อมั่นและความเมตตาของประชาชนที่มีต่อสถาบันนี้เท่านั้น แต่รวมถึงองค์ความรู้ของธนาคารกลาง ศิลปะในการบริหารงาน และอุดมคติของการทำงานที่อยู่ในจิตใจของพนักงานทุกคน ทั้งความเสียสละและความซื่อสัตย์สุจริต ผมนึกถึงที่อาจารย์เคยกล่าวไว้อย่างกินใจว่า
“กระผมขอเชิญให้ท่านทั้งหลายระลึกว่า ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ชื่อว่าเป็นสถาบันในราชการของชาติไทยที่มีเกียรติประวัติและเกียรติคุณดีเด่นทั้งภายในประเทศ และเฉพาะอย่างยิ่งในต่างประเทศทั่วโลก นี่ก็เป็นสิ่งที่น่าภาคภูมิใจสำหรับพนักงานและกรรมการทุกท่าน แต่ก็ทำให้เราระลึกถึงคุณอันใหญ่หลวงของท่านผู้ใหญ่ที่ได้ให้กำเนิดแก่ธนาคารนี้ ท่านผู้ใหญ่ที่ได้เริ่มวางระเบียบแบบแผน แนวทางปฏิบัติในทางที่ดีที่ชอบให้เรารุ่นหลังได้ยึดเป็นหลักอันดีสืบมา ตลอดจนพนักงานทั้งผู้ใหญ่ผู้น้อย ซึ่งได้เทอดทูนหลักธรรมถือเป็นข้อปฏิบัติให้สัมฤทธิ์ผลเป็นอันดีตราบเท่าทุกวันนี้ … กระผมใคร่จะขอเสริมเหตุแห่งเกียรติและประโยชน์ของธนาคารในอีกข้อหนึ่งคือตลอดประวัติการณ์ของธนาคาร นักศึกษาสามารถเรียนรู้ว่า ผู้ว่าการ รองผู้ว่าการ และกรรมการของธนาคารนี้ ได้ร่วมมือกับรัฐบาลในการดำเนินราชการเศรษฐกิจการเงินอย่างสุขุม คัมภีรภาพและด้วยความกล้าหาญอยู่เสมอ มีอยู่หลายต่อหลายครั้งที่ผู้ว่าการ รองผู้ว่าการ และกรรมการธนาคารไม่ลังเลใจที่จะสละตำแหน่งเมื่อมีเหตุผลอันสมควร และในเมื่อการสละตำแหน่งดังกล่าวจะเป็นประโยชน์แก่ส่วนรวม”
อาจารย์ครับ อาจารย์อาจจะทราบแล้วว่า ดร.วิรไท สันติประภพ คนหนุ่มไฟแรง มีความรู้ความสามารถ เป็นที่ยอมรับทั้งในและต่างประเทศ ได้รับเลือกมาดำรงผู้ว่าการคนใหม่ต่อจากผม ด้วยประสบการณ์ที่หลากหลาย ทั้งด้านตลาดเงิน ตลาดทุน สถาบันการเงิน และการพัฒนาประเทศ ผมเชื่อว่า ดร.วิรไท จะสามารถทำหน้าที่ ผู้ว่าการ ธปท. ได้เป็นอย่างดี ขอให้อาจารย์วางใจ
ก่อนจะจบจดหมายฉบับนี้ ผมอยากเล่าความในใจให้อาจารย์ฟัง สาเหตุที่ผมสมัครมาทำงานตรงนี้ คือ คิดว่าการทำงานตรงไหนที่ให้ความหมายกับชีวิตดีที่สุด ผมอยากทำอะไรที่มีความหมายต่อชีวิตมากขึ้น มันเป็นความตั้งใจมาตั้งแต่อดีต ตอนนั้นอายุ 58 ปีแล้ว ก็คุยกับคนที่บ้านว่า ถ้าได้เป็นผู้ว่าการก็ดีอย่าง ได้ทำสิ่งที่ตัวเองอยากทำ อยากใช้เวลาทำงานที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม แต่ถ้าไม่ได้ ก็ดีอย่าง ชีวิตสงบ
5 ปีที่ผ่านมา เหมือนผมกลับสู่ “สมรภูมิรบ” อีกครั้ง
รู้สึกท้าทาย แต่มีชีวิตชีวา และรู้สึกว่า ชีวิตมีความหมายขึ้น
สำหรับความรู้สึกที่เหลือในใจ คงคล้ายๆ กับอาจารย์ตอนที่ลาออกจากตำแหน่งผู้ว่าการ ซึ่งอาจารย์กล่าวลากับพนักงานว่า “การที่เราอยู่ในสถาบันเป็นเวลานานนั้น ก็ย่อมมีความผูกพันกันเป็นธรรมดา ผมมีความภาคภูมิใจร่วมกับพวกคุณทั้งหลายที่สถาบันธนาคารแห่งประเทศไทยของเรา เป็นสถาบันที่มีเกียรติทั้งภายในประเทศ และภายนอกประเทศทั่วโลก ทำนองเดียวกันกับท่านผู้ว่าการในอดีต ผมคงจะมีความภาคภูมิใจตลอดไป”
ด้วยความเคารพอย่างสูง
ประสาร ไตรรัตน์วรกุล