ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > คัดเลือกประธานบอร์ดธปท. (จบ): ไม่พลิกโผ “ดร.โกร่ง” ลอยลำ – เจาะลึกกลไกการแทรกแซง

คัดเลือกประธานบอร์ดธปท. (จบ): ไม่พลิกโผ “ดร.โกร่ง” ลอยลำ – เจาะลึกกลไกการแทรกแซง

14 พฤษภาคม 2012


ดร.วีรพงษ์ รามางกูร (ซ้าย) และ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เมื่อคราวร่วมแถลงประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศ (กยอ.) ที่มาภาพ: http://www.siamintelligence.com
ดร.วีรพงษ์ รามางกูร (ซ้าย) และ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เมื่อคราวร่วมแถลงข่าวแต่งตั้งประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศ (กยอ.) ที่มาภาพ: http://www.siamintelligence.com

เป็นไปตามคาดการณ์ ผลการคัดเลือกประธานบอร์ดแบงก์ชาตินัดตัดสินวันที่ 14 พฤษภาคม 2555 ไม่ผลิกโผ โดยแหล่งข่าวจากคณะกรรมการคัดเลือกยืนยันว่า ผู้ที่ได้รับการคัดเลือกคือ ดร.วีรพงษ์ รามางกูร หรือ ดร.โกร่ง

“ดร.โกร่งได้รับคัดเลือกด้วยคะแนนเสียงท่วมท้น แต่จะได้กี่คะแนนต้องถามทางประธานบอร์ดคัดเลือก ส่วนเรื่องคุณสมบัติของ ดร.โกร่งที่นั่งเป็นประธาน กยอ. (คณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศ) ทางฝ่ายกฎหมายของแบงก์ชาติดูแล้วไม่ขัดคุณสมบัติ เนื่องจากเป็นหน่วยงานนอกกฎหมายกำหนด แต่หาก ดร. โกร่งจะต้องลาออกจากตำแหน่ง ต้องเป็นบริษัทที่เกี่ยวข้องกับสถาบันการเงิน” แหล่งข่าวระบุ

ทั้งนี้ เมื่อคณะกรรมการคัดเลือกพิจารณาคัดเลือกบุคคลที่สมควรได้รับการแต่งตั้งแล้ว ในกรณีประธานกรรมการให้เสนอชื่อต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณา และเมื่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาเห็นชอบแล้วให้ทูลเกล้าฯ เพื่อทรงแต่งตั้ง ในกรณีกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิให้เสนอชื่อต่อรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาแต่งตั้ง

เพราะฉะนั้น ในวันที่ ดร.โกร่งเริ่มเข้าปฏิบัติภารกิจในแบงก์ชาติเมื่อไร น่าจะเป็นการเริ่มต้นของ “จุดเปลี่ยน” แบงก์ชาติอย่างแน่นอน แต่จะเป็น “จุดเสี่ยง” หรือไม่ เป็นประเด็นที่น่าวิเคราะห์ โดยพิจารณาจากพ.ร.บ. ธนาคาคารแห่งประเทศไทย ฉบับแก้ไขล่าสุด พ.ศ. 2551 ซึ่งโฟกัสที่บทบาทของคณะกรรมการแบงก์ชาติ ตามมาตรา 25 ทั้งนี้ มาตรา 25 มีทั้งหมด 12 วงเล็บ แต่สาระสำคัญ คือ

1. คณะกรรมการแบงก์ชาติมีอำนาจหน้าที่พิจารณาให้ความเห็นชอบแผนงานและงบประมาณ และประเมินผลการดำเนินกิจการและการดำเนินการของแบงก์ชาติ รวมทั้งประเมินผลการปฏิบัติงานโดยทั่วไปของผู้ว่าการแบงก์ชาติ

2. กำหนดข้อบังคับว่าด้วยโครงสร้างองค์กรและการบริหารงานบุคคล

3. กำหนดข้อบังคับว่าด้วยการเสนอชื่อ การพิจารณา และการคัดเลือกผู้ทรงคุณวุฒิเป็นกรรมการในคณะกรรมการนโยบายการเงิน คณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงิน และคณะกรรมการระบบการชำระเงิน

4. กำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการบริหารจัดการสินทรัพย์ในทุนสำรองเงินตรา

แม้อำนาจหน้าที่ดังกล่าว บางคนจะบอกว่า ดร.โกร่งคนเดียวทำไม่ได้ ขึ้นอยู่กับคณะกรรมการแบงก์ชาติอีก 11 คน ซึ่งมีส่วนถูก แต่มีการตั้งข้อสังเกตว่า หากดูองค์ประกอบของคณะกรรมการแบงก์ชาติจะพบว่า มีคนในแบงก์ชาติ 4 คน เป็นโดยตำแหน่งจากภายนอกแบงก์ชาติ 2 คน และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจากภายนอกแบงก์ชาติ (รวมประธานบอร์ดแบงก์ชาติ) อีก 6 คน เมื่อนับตัวเลขแล้วจะเห็นว่า มีกรรมการจากภายนอกถึง 8 คน

ลองคิดต่อไปอีกว่า กรรรมการคนนอกแบงก์ชาติเป็นใครบ้าง จากรายชื่อปัจจุบันมีเพียง ดร.ศิริ การเจริญดี เพียงคนเดียวที่เคยเป็นอดีตผู้บริหารแบงก์ชาติ นอกนั้นไม่ใช่ และคนนอกโดยตำแหน่งอีก 2 คน ก็เป็นข้าราชการ ซึ่งอาจมีความโน้มเอียงเข้าข้างหรือเห็นสอดคล้องกับคนของรัฐบาลที่ส่งเข้ามานั่งเป็นประธานบอร์ดแบงก์ชาติ รวมทั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิท่านอื่นๆ หากดูชื่อเสียงเรียงนามและตำแหน่งแห่งหนกันแล้ว ก็คงคาดเดาได้ไม่ยากว่าสุดท้ายแล้วจะยืนข้างไหน

หากข้อสังเกตที่ว่ามาเป็นจริง ก็พอจะเห็นเส้นทางของแบงก์ชาติในระยะต่อไปได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง เพราะอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการแบงก์ชาติที่สรุปสาระสำคัญไว้ข้างต้นว่าสามารถทำอะไรได้มากกว่าที่หลายฝ่ายคิด ที่สำคัญหาก ดร.โกร่งเข้ามาแล้วและจัดการในทุกเรื่อง และดำเนินการต่างไปจากแนวทางที่แบงก์ชาติ หรือที่ ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล หรือ “หม่อมเต่า” วางไว้ เท่ากับเป็นการ “เขย่า” แบงก์ชาติอย่างแรง

ประเด็นที่คาดว่า ดร. โกร่งจะดำเนินการเป็นเรื่องแรกๆ คือ การบริหารสินทรัพย์ในทุนสำรองเงินตรา เพราะแนวคิดของ ดร.โกร่งและรัฐบาลในเรื่องนี้ค่อนข้างชัดเจนว่า ต้องการตั้ง “กองทุนมั่งคั่ง” หรือ ต้องการนำทุนสำรองเงินตราไปลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเพิ่มเพิ่มศักยภาพของประเทศระยะยาว

เนื่องจากงบประมาณที่มีจำกัด และนโยบายประชานิยมต่างๆ ทำให้ไม่มีเงินเพียงพอสำหรับนำลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน จึงจำเป็นต้องหาแหล่งเงินอื่น ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลใช้วิธีกู้ยืมเงิน แต่แนวทางกู้ยืมทำได้เพียงบางส่วนเท่านั้นก็จะติดเพดานกฎหมายงบประมาณ และกรอบวินัยการคลัง

ดังนั้น การพุ่งเป้าแหล่งเงินใหม่มาที่เงินทุนสำรองเงินตราจึงเป็นทางเลือกที่รัฐบาลนี้ และหลายรัฐบาลที่ผ่านมาต่างเล็งนำเงินสำรองเงินตราที่แบงก์ชาติบริหารจัดการมาใช้ประโยชน์ ด้วยการอ้างว่า การนำเงินสำรองเงินตรามาใช้ลงทุนน่าจะได้ประโยชน์คุ้มค่ากว่าให้แบงก์ชาติไปบริหารซึ่งได้ผลตอบแทนต่ำมาก

ทั้งนี้ แหล่งข่าวจาก ธปท. ระบุว่า การตั้งกองทุนมั่งคั่ง สามารถทำได้โดยไม่ต้องแก้กฎหมายแบงก์ชาติ แต่ขึ้นอยู่กับคณะกรรมการแบงก์ชาติเป็นผู้พิจารณา

ดังนั้น หากนับคะแนนเสียงคณะกรรมการแบงก์ชาติที่จะสนับสนุนแนวคิด ดร.โกร่ง จะเห็นว่าน่าจะได้เสียงสนับสนุนจากคณะกรรมการมากกว่าฝากแบงก์ชาติ

อย่างไรก็ตาม เรื่องการตั้งกองทุนมั่งคั่งและการนำเงินสำรองเงินตรามาใช้ แบงก์ชาติโต้แย้งมาตลอดเพราะห่วงเรื่องวินัยการเงิน แต่ถ้ารัฐบาลต้องการนำเงินสำรองไปใช้จริงๆ แบงก์ชาติก็ยินดีบนเงื่อนไขต้องโอนหนี้สินของแบงก์ชาติไปด้วยในสัดส่วนเดียวกับเงินสำรองที่จะเอาไปใช้ ประกอบกับตั้งแต่หลังวิกฤตปี 2540 เงินสำรองเงินตรามีเงินบริจาคโครงการผ้าป่าช่วยชาติของหลวงตามหาบัว ทำให้ทุกครั้งที่หลายๆ รัฐบาลที่ผ่านมาไม่กล้าแตะเงินสำรองเงินตรา เนื่องจากถูกต่อต้านจากลูกศิษย์หลวงตามหาบัว

ในที่สุดเรื่องนี้จะออก “หัว” หรือ “ก้อย” แต่เชื่อว่า จะกลายเป็นประเด็นร้อนที่น่าจับตามองอย่างใกล้ชิด

การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการแบงก์ชาติ คงเหนื่อยหนัก เพราะการชี้แจงแต่ละเรื่องต้องอธิบายได้ชัดเจน และอาจต้องทำการบ้านอย่างหนักเพื่อตอบให้ได้ทุกคำถามทุกข้อสงสัย โดยเฉพาะเรื่องผลการดำเนินการของแบงก์ชาติที่ขาดทุนปีละเป็น 100,000 ล้านบาท และยังมีขาดทุนสะสมอีกว่า 400,000 ล้านบาท

มีการตั้งข้อสังเกตว่า เรื่องผลการดำเนินการของแบงก์ชาติขาดทุนจำนวนมหาศาล อาจถูกจุดเป็นชนวนปลดผู้ว่าการแบงก์ชาติได้เลยทีเดียว หากคณะกรรมการแบงก์ชาติซึ่งเห็นงบดุลของแบงก์ชาติแล้ว คณะกรรมการส่วนใหญ่มีความเห็นไปทางเดียวกันว่า ปัญหาการขาดทุนของแบงก์ชาติมีสาเหตุจากการบริหารงานของผู้ว่าการแบงก์ชาติ “หย่อนความสามารถ” ก็สามารถปลดผู้ว่าการแม้แบงก์ชาติได้ไม่ยาก

ทั้งนี้ กฎหมายแบงก์ชาติ มาตรา 28/18 กำหนดวาระการดำรงตำแหน่งผู้ว่าการแบงก์ชาติไว้คราวละ 5 ปี แต่ มาตรา 28/19 (5) ระบุว่า นอกจากพ้นตำแหน่งตามวาระแล้ว คณะรัฐมนตรีมีมติให้ออกโดยคำแนะนำของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง หรือการเสนอของรัฐมนตรีโดยคำแนะนำของคณะกรรมการแบงก์ชาติ เพราะบกพร่องในหน้าที่อย่างร้ายแรงหรือหย่อนความสามารถ โดยมติดังกล่าวต้องแสดงเหตุผลในการให้ออกอย่างชัดแจ้ง

ดังนั้น แม้ ดร.ประสารซึ่งเข้ารับตำแหน่งผู้ว่าการแบงก์ชาติ เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2553 ยังเหลือวาระที่ดำรงตำแหน่งได้อีก 3 ปี แต่จะอยู่จนครบวาระหรือไม่ เริ่มมีความไม่แน่นอนเกิดขึ้น

อีกจุดหนึ่งที่ต้องจับตามอง คือ การโยกย้ายผู้บริหารระดับสูงของแบงก์ชาติ ตั้งแต่ระดับผู้ช่วยผู้ว่าการแบงก์ชาติ และรองผู้ว่าการแบงก์ชาติ ซึ่งคณะกรรมการแบงก์ชาติมีอำนาจโยกย้าย และเปิดรับสมัครคัดเลือกผู้มีคุณสมบัติเหมาะสมจากภายนอกเข้ามาเป็นผู้ช่วย และรองผู้ว่าการแบงก์ชาติได้

โดยตำแหน่งที่ถูกจับตามองมากที่สุดคือ “สายนโยบายการเงิน” ซึ่งทำหน้าที่ดูแลเกี่ยวกับอัตราแลกเปลี่ยนและอัตราดอกเบี้ย แม้จะมีคณะกรรมการนโยบายการเงินรับผิดชอบตัดสินนโยบาย แต่สายนโยบายการเงินของแบงก์ชาติคือกลจักรสำคัญในการนำเสนอข้อมูล เสนอความคิดเห็นต่างๆ ให้คณะกรรมการนโยบายการเงินพิจารณา และเป็นสายงานหลักที่ต้องปฏิบัติตามมติของคณะกรรมการนโยบายการเงิน

ทั้งนี้ การโยกย้ายระดับผู้บริหารแบงก์ชาติไม่ใช่เรื่องแปลก มักเกิดขึ้นบ่อยๆ ด้วยเหตุผลหลักคือ ให้เกิดการเรียนรู้งานด้านอื่นๆ อย่างครบถ้วน ทั้งที่เหตุผลแท้จริงอาจมาจากผู้บริหารระดับสูงเห็นว่าตำแหน่งที่อยู่ในปัจจุบันไม่เหมาะสมหรือเป็นการลงโทษก็ได้ ส่วนกรณีดึงคนนอกเข้ามานั่งเป็นผู้บริหารแบงก์ชาติ ก็เกิดขึ้นมาแล้วตั้งแต่สมัยนายวิจิตร สุพินิจ เป็นผู้ว่าการแบงก์ชาติ ได้ดึงคนนอกอย่าง ดร.บัณฑิต นิจถาวร และ นายเกริก วณิกกุล เข้ามา แต่ช่วงนั้นไม่ใช่ตำแหน่งผู้บริหารระดับสูง

แต่การรับตำแหน่งผู้บริหารระดับสูงตั้งแต่ผู้ช่วยผู้ว่าการเริ่มในสมัยหม่อมเต่าเป็นผู้ว่าการแบงก์ชาติ โดยเปิดรับสมัครคัดเลือก และในสมัยนั้นผู้ที่ได้รับการคัดเลือก เช่น ดร. อัจนา ไวความดี, นายกิตติ พัฒนพงศ์พิบูล, นายรัฐกรณ์ นิ่มวัฒนา, นายจักรทิพย์ นิติพน เป็นต้น

นอกจากต้องติดตามดูเรื่อง “คน” ในแบงก์ชาติว่าจะโดนเด้งหรือไม่ และนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนกับนโยบายการเงินที่ใช้เป้าหมายเงินเฟ้อจะถูกรื้อยกแผงหรือไม่ เพราะถ้าเกิดการเปลี่ยนแปลงหรือโยกย้ายตำแหน่งที่สำคัญดังกล่าว ต้องจับตามมองว่า “ใคร” จะมาแทนคนที่อยู่เดิม เนื่องจากมีการตั้งข้อสังเกตที่น่าสนใจว่า จากจุดนี้ หากการเปลี่ยนแปลงนำคนที่เห็นสอดคล้องกับแนวคิดของ ดร.โกร่งเข้ามาเพื่อเป็นแขนขา อาจเป็นจุดเริ่มต้นของการสั่งให้แบงก์ชาติเริ่มศึกษาเรื่องระบบอัตราแลกเปลี่ยน รวมถึงศึกษาการกำหนดเป้าหมายเงินเฟ้อที่ใช้อยู่ในปัจจุบันว่าเหมาะสมหรือไม่อย่างไร

จุดที่เป็นกังวลคือ ผลการศึกษาทั้งสองเรื่องภายใต้เครือข่ายที่สนับสนุน ดร.โกร่งอาจนำไปสู่การเปลี่ยนระบบอัตราแลกเปลี่ยน และการยกเลิกการกำหนดเป้าหมาย ตามแนวคิดที่รัฐบาล และ ดร.โกร่งมีความเชื่อว่าดีกว่านโยบายที่แบงก์ชาติกำลังดำเนินการอยู่

อย่างไรก็ตาม เรื่องนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนและนโยบายอัตราดอกเบี้ย หลายคนทั้งในและนอกแบงก์ชาติอาจมองว่ามีเกราะป้องกัน เพราะมีคณะกรรมการนโยบายการเงิน ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ตัดสินใจ และคณะกรรมการนโยบายการเงินชุดปัจจุบันในส่วนของผู้ทรงคุณวุฒิ 4 ท่าน กว่าจะครบวาระก็เดือนตุลาคม 2557 เพราะฉะนั้นเรื่องนี้ไม่ง่าย แต่ก็ประมาทไม่ได้เหมือนกัน

จากข้อสังเกตข้างต้นที่ว่ามาทั้งหมดจะเห็นว่า ประธานแบงก์ชาติคนใหม่สามารถดำเนินการได้ภายใต้กฎหมายแบงก์ชาติปัจจุบัน ที่หลายคนมองว่าเป็นกรอบป้องกันแบงก์ชาติได้ แท้จริงแล้วกรอบนั้นเปราะบางมาก เห็นได้จากกรณีสั่งให้แบงก์ชาติปล่อยกู้ซอฟต์โลน 300,000 ล้านบาท เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมยังสามารถทำได้ ทั้งที่เจตนารมณ์ของกฎหมายห้ามดำเนินการ เพราะฉะนั้นเรื่องอื่นๆ ก็มีสิทธิเกิดได้เช่นกัน

ทั้งหมดที่ว่ามานั้น เป็นเพียงการชี้ให้เห็น “จุดเสี่ยง” ของแบงก์ชาติ แต่จะมีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน และกฎหมายแบงก์ชาติที่เชื่อว่าจะเป็นเกราะป้องกันการ “แทรกแซง” หรือ “ครอบงำ” จากนักการเมืองได้นั้น จะเป็นเพียงการปลอบใจตัวเองของคนแบงก์ชาติหรือไม่ ล้วนเป็นประเด็นที่ต้องจับตามองนับจากนี้ไป

แม้หลายฝ่ายย้ำว่า การเปลี่ยนทั้งหลายทั้งปวง ดร.โกร่งทำโดยคนเดียวไม่ได้ ต้องมีขุมกำลังพอสมควร ซึ่งคณะกรรมการแบงก์ชาติชุดปัจจุบันแม้จะดูโน้มเอียงเห็นสอดคล้องกับแนวคิดของ ดร.โกร่ง แต่ก็มีความหวังลึกๆ ว่า ทุกคนทำงานร่วมมือเป็นอย่างดีกับหม่อมเต่า เพราะฉะนั้นการจะโน้มน้าวให้เห็นต่างไปไม่น่าง่าย และถ้าจะมีการเปลี่ยนตัวกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิก็ต้องรอจังหวะเวลา

โดยกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิส่วนใหญ่จะครบวาระเดือนมกราคม ปี 2557 ถึงตอนนั้น ดร.โกร่งก็หมดวาระไปก่อนด้วยซ้ำ เว้นแต่จะมีตัวแทนเกิดขึ้นมาอีก แต่คณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่ครบวาระพร้อมหม่อมเต่า 2 คน คือ นายนนทพล นิ่มสมบูรณ์ กับ ดร.คณิศ แสงสุพรรณ ล่าสุดมีกระแสข่าวออกมาว่า ดร.คณิศน่าจะได้รับคัดเลือกต่ออายุอีกวาระหนึ่ง ส่วนนายนนทพลนั้นถูกเปลี่ยนตัวเป็นนายพันศักดิ์ วิญญรัตน์

เพราะฉะนั้น อะไรๆ ก็ไม่แน่นอน และแบงก์ชาติเองก็มีบาดแผลอยู่เยอะ ซึ่งมีหลายๆ เรื่องที่คนข้างนอกไม่สามารถล้วงเข้าไปได้ ที่สำคัญ ภาพลักษณ์ของแบงก์ชาติในการดำเนินนโยบายหลายๆ ครั้งถูกมองว่าเป็นคนดื้อและไม่มีเพื่อน หรือมีเพื่อนน้อย เหล่านี้ล้วนเป็นจุดอ่อนที่อาจนำไปสู่ “จุดเปลี่ยน” หรือ “จุดเสี่ยง” ที่แบงก์ชาติไม่ต้องการให้เกิดขึ้น