ThaiPublica > เกาะกระแส > “ประสาร ไตรรัตน์วรกุล” สะท้อนวิกฤตสู่แนวคิดปฏิรูปการศึกษา หลังการเลือกตั้ง 2562

“ประสาร ไตรรัตน์วรกุล” สะท้อนวิกฤตสู่แนวคิดปฏิรูปการศึกษา หลังการเลือกตั้ง 2562

19 กุมภาพันธ์ 2019


ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ประธานคณะกรรมการบริหารกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา (กอปศ.)

ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ประธานคณะกรรมการบริหารกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา (กอปศ.) ได้รับเชิญจากมูลนิธิอิศรา อมันตกุล กล่าวปาฏกถา ในหัวข้อ “การปฏิรูปการศึกษา” ให้แก่ผู้บริหารการสื่อสารมวลชนระดับกลางด้านกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (บสก.รุ่นที่ 8) โดยมีสาระสำคัญสรุปได้ดังนี้

เป็นเรื่องน่ายินดีที่ในช่วงฤดูการหาเสียงสู่การเลือกตั้งตลอด 2-3 เดือนที่ผ่านมาเราได้เห็นนโยบายด้านการศึกษาเป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญที่พรรคการเมืองทุกพรรคได้นำเสนอแนวนโยบายที่หลากหลายและน่าสนใจผ่านสื่อมวลชนแทบทุกแขนง เป็นเครื่องยืนยันได้ว่าทั้งนักการเมืองและประชาชนคนไทยล้วนหวังที่จะเห็นเด็กเยาวชนไทยประสบความสำเร็จมากยิ่งขึ้นในอนาคต และพรรคการเมืองต่างก็ตั้งความหวังไว้ว่าเมื่อมีโอกาสจัดตั้งรัฐบาลแล้ว จะนำนโยบายการศึกษาที่เสนอแก่ประชาชนในวันนี้มาปฏิบัติให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลได้อย่างแท้จริง

หากเรามองย้อนกลับไปดูประวัติศาสตร์การปฏิรูปการศึกษาในระดับนานาชาติที่ Mckinsey & Company ได้รวบรวมข้อมูลย้อนหลังไปมากกว่า 25 ปีก็จะพบว่า ในแถบเอเชียนี้เคยมีประเทศที่ในอดีตระบบการศึกษาเคยอยู่ในระดับที่ไม่ดีนัก (Fair) แต่เมื่อมีความพยายามในการปฏิรูประบบการศึกษาอย่างจริงจังและต่อเนื่อง การปฏิรูปก็ปรากฎผลสัมฤทธิ์ได้ในระยะเวลาไม่นานจนเกินไป เช่น สิงคโปร์ และ ฮ่องกง ที่ใช้เวลาเพียง 6-10 ปี ในการยกระดับการศึกษาจากระดับ Fair สู่ระดับ Good และ จากระดับ Good สู่ระดับ Great ตามการจัดระดับของ Mckinsey & Company ได้อย่างต่อเนื่อง

ในส่วนของประเทศไทยนั้น ความหวังในการปฏิรูปการศึกษาให้ประสบความสำเร็จนั้นถือเป็น 1 ใน 2 ประเด็นการปฏิรูปสำคัญที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้มีการตั้งคณะกรรมการอิสระขึ้นมาดำเนินการจัดทำกฎหมายและข้อเสนอในการปฏิรูปการศึกษา เป็นที่มาของการจัดตั้ง คณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา (กอปศ.) ตามมาตรา 261 แห่งรัฐธรรมนูญ ด้วยเจตนารมย์เพื่อให้การจัดทำข้อเสนอเพื่อการปฏิรูปการศึกษาในครั้งนี้เป็นไปอย่างอิสระ หลุดออกจากกับดักเรื่องอำนาจและผลประโยชน์ในระบบการศึกษาอย่างแท้จริง

โดยหลังจากปฏิบัติหน้าที่มาได้ราว 1 ปีครึ่ง กอปศ. ก็ได้รวบรวมข้อมูลวิชาการ และผลการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนทั่วประเทศมาจัดทำรายงาน “สะท้อนวิกฤตสู่แนวคิดปฏิรูปการศึกษา” ขึ้น

ดร.ประสาร กล่าวว่า สาระสำคัญของเนื้อหาในรายงานฉบับนี้ หากวิเคราะห์ตามหลักอริยสัจ 4 แล้วก็มองเห็นได้ว่า “ทุกข์” ในระบบการศึกษาไทยมี 4 เรื่อง ที่สำคัญ ได้แก่

1. ทุกข์เรื่องคุณภาพผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของไทยอยู่ระดับต่ำมาก จากข้อมูลล่าสุดผลการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน O-NET ชั้น ม. 6 ซึ่งวัดความรู้มาตรฐานของเด็กเยาวชนไทยยังต่ำกว่า 50% ทุกรายวิชา ไล่มาตั้งแต่ ภาษาไทย 49.25% สังคม 34.7 % วิทยาศาสตร์ 29.37 % ภาษาอังกฤษ 28.31 % และ คณิตศาสตร์ 24.53%

ขณะที่ผลการสอบวัดความรู้นักเรียนนานาชาติหรือ PISA ในปี 2558 นักเรียนที่ได้ “คะแนนต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานระดับนานาชาติ” ของไทยสูงกว่าประเทศเพื่อนบ้านอย่างชัดเจน ทั้ง วิชาคณิตศาสตร์ นักเรียนไทยได้คะแนนต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานระดับนานาชาติ 53.8 % ขณะที่นักเรียนเวียดนามอยู่ที่ 7.8% ส่วนมาเลเซีย อยู่ที่ 37.5 % ไม่ต่างจากวิชาวิทยาศาสตร์ที่นักเรียนไทยอยู่ที่ 46.7 % เวียดนามอยู่ที่ 5.9 % และมาเลเซีย อยู่ที่ 33.7 %

2. ทุกข์เรื่องความเหลื่อมล้ำในระบบการศึกษาไทยอยู่ในระดับที่สูงมาก เกี่ยวข้องกับนักเรียนประมาณ 4.3 ล้านคน ทั้ง ความเหลื่อมล้ำทางโอกาสการศึกษา 6.7 คน นักเรียนยากจน 2 ล้านคน ที่เหลือเป็นความเหลื่อมล้ำด้านคุณภาพการศึกษา

ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมาระหว่างปี 2550 -2560 ระบบการศึกษาไทย มีงบประมาณแก้ไขความเหลื่อมล้ำทางการเมืองศึกษา เพียงแค่ 0.5% โดยรัฐบาลสนับสนุนเงินอุดหนุนเพียพอต่อเด็กยากจน 1.6 ล้านคน สำหรับ เด็ก ป.1 – ม.3 ในขณะที่มีรายงานว่ามีนักเรียนยากจนถึง 3 ล้านคน ซึ่งมากกว่าที่ได้รับการสนับสนุนถึงเกือบ 2 เท่า แต่ภายหลังมีการจัดตั้งกองทุน กสศ. งบประมาณแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำได้ขยับเพิ่มเป็น 1% และ 1.7% ในปี 2562 และ 2563 ตามลำดับ

3. ทุกข์เรื่องการศึกษาไทยฉุดรั้งขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดย จาก Global Competitiveness Index (IMD) ไทยอยู่อันดับที่ 32 ซึ่งหากแยกพิจารณาเฉพาะดัชนีด้านการศึกษาจะอยู่ที่อันดับ 56 ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาด้านการศึกษาที่เป็นอุปสรรคต่อความสามารถการแข่งขัน

นอกจากนี้ ผลผลิตของการศึกษาไทยนำไปสู่การว่างงาน โดยข้อมูล ณ เดือนมกราคม พ.ศ.2561 มีผู้ว่างงานราว 449,000 คน เป็นผู้จบการศึกษาระดับอุดมศึกษามากถึงประมาณ 150,000 คน ซึ่งคิดเป็น 1 ใน 3 ของจำนวนผู้ว่างงานทั้งหมด

ในขณะที่อันดับของมหาวิทยาลัยในประเทศไทย ไม่มีติดอันดับท็อป 200 ของ มหาวิทยาลัยทั่วโลก ในขณะที่ สิงคโปร์ มี 2 มหาวิทยาลัย ไต้หวัน 2 มหาวิทยาลัย และ มาเลเซีย 1 มหาวิทยาลัย

4. ทุกข์เรื่องการบริหารจัดการทรัพยากรในระบบการศึกษาไทย ขาดประสิทธิภาพ ดังจะเห็นว่า การศึกษาไทยลงทุนมากกว่า 5 แสนล้านบาทในแต่ละปี แต่คุณภาพกลับต่ำ ความเหลื่อมล้ำสูง และมีปัญหาการทุจริตคอรัปชั่นอย่างต่อเนื่อง

ยิ่งหากพิจารณาในรายละเอียดประเทศไทยใช้งบประมาณทั้งส่วนกลาง ท้องถิ่น และ เอกชน รวมกันสูงกว่า 8 แสนล้านบาท คิดเป็น 6.1 %ของ จีดีพี มากกว่าค่าเฉลี่ยของกลุ่มประเทศองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) ซึ่งอยู่ที่ประมาณ 5.2 % ของจีดีพี

แต่หากนำค่าใช้จ่ายด้านการศึกษามาพิจารณารวมกับผลลัพธ์ด้านการศึกษา จะพบหลายประเทศที่ใช้รายจ่ายด้านการศึกษาน้อยกว่าไทยกลับมีคุณภาพที่ดีกว่า ดังจะเห็นจากคะแนน PISA ที่หลายประเทศสูงกว่าไทยทั้งที่ใช้รายจ่ายน้อยกว่า

ดร.ประสาร สรุปว่า จากทุกข์ทั้ง 4 เรื่อง กอปศ. ได้ลงไปรับฟังความคิดเห็นทั่วประเทศ เป็นเวลาเกือบ 2 ปี นำมาสู่ 4 เป้าหมายการปฏิรูป (นิโรธ) และ 7 แผนงานปฏิรูป (มรรค)

เป้าหมายการปฏิรูปที่หนึ่ง ยกระดับคุณภาพการศึกษา ทำให้เกิดผลลัพธ์ทางการศึกษา การเรียนรู้ของประชาชน รวมทั้ง ครู อาจารย์และบุคลากรทางการศึกษาต้องเป็นผู้มีความเชี่ยวชาญมีจิตวิญญาณความเป็นครู ส่วนหลักสูตรต้องมีความยืดหยุ่นหลากหลาย ขณะที่ สถานศึกษาต้องมีระบบสนับสนุนที่ตอบสนองต่อความต้องการของการจัดการศึกษา

เป้าหมายการปฏิรูปที่สอง ความเสมอภาพทางการศึกษา เริ่มตั้งแต่เด็กปฐมวัย ต้องมีโอกาสเสมอภาคในการได้รับการพัฒนาร่างกาย จิตใจ เด็กทุกคนต้องมีโอกาสเข้าถึงการศึกษามีคุณภาพปราศจากอุปสรรคทางเศรษฐกิจ สังคม สุขภาพ ความห่างไกล และผู้เรียนต้องมีโอกาสได้รับทางเลือกในการศึกษาที่เหมาะสมกับศักยภาพและความถนัด

นอกจากนี้ประชาชนทุกคนต้องมีโอกาสเสมอภาคในการพัฒนาทักษะในการประกอบอาชีพและเรียนรู้ตลอดชีวิต ที่จำเป็นต่อการพึ่งพาตัวเอง โดยที่ ครูและสถานศึกษาต้องได้รับโอกาสเสมอภาคในการได้รับการสนับสนุนทรัพยากรที่จำเป็นสอดคล้องกับบริบทในพื้นที่ ทั้งนี้ กองทุน กสศ. มี 6 เป้าหมายใน 10 ปี ข้างหน้า ได้แก่

  • เด็กเล็กในครอบครัยากจนต้องได้รับการดูแลกระตุ้นและส่งเสริมพัฒนาการ อย่างเหมาะสมตามพัฒนาการและช่วงวัย เพื่อเป็นรากฐานสู่ทรัพยากรมนุษย์ที่ดีของประเทศไทย
  • ขจัดปัญหาเด็กเยาวชนนอกระบบการศึกษา (Out of school Children) 670,000 คนให้หมดจากประเทศไทย
  • ขจัดปัญหาเด็กเยาวชนหลุดออกจากระบบการศึกษา (Dropout)
  • ลดความเหลื่อมล้ำด้านโอกาสในการศึกษาต่อ ระดับอุดมศึกษาอาชีวศึกษา โดยเด็กเยาวชนจากครัวเรือนยากจนที่สุด 20% แรก มีโอกาสเรียนระดับอุดมศึกษาและอาชีวศึกษาเพิ่มขึ้นจาก 5 % เป็น 35%
  • ครูที่ปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่ห่างไกลและครูผู้สอนนักเรียนยากจนด้อยโอกาส ต้องได้รับการเสริมสร้างคุณภาพและประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานครบทุกคน
  • ประกันโอกาสทางการศึกษาคุณภาพการเรียนรู้ และคุณภาพชีวิต เด็กเยาวขนทุกคนที่ได้รับการสนับสนุนจากองทุนให้สามารถพัฒนาตนเองได้เต็มศักยภาพและความถนัด

ดร.ประสาร ย้ำว่า สิ่งที่สำคัญในการลดความเหลื่อมล้ำคือการปฏิรูประบบงบประมาณเพื่อความเสมอภาคพร้อมใช้นวัตกรรมเข้ามามีส่วนช่วย ไม่ใช่ใช้วิธีช่วยเหลือแบบทั่วไปเท่ากันหมด แต่ควรที่จะต้องพุ่งเป้าไปยังจุดที่เป็นปัญหาเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพ

โดยปัจจุบัน กสศ. ได้มีการออกแบบนวัตกรรมการคัดกรองเด็กยากจนที่เรียกว่า PMT และ iSEEเพื่อจัดสรรเงินได้ตรงตามความต้องการรายบุคคล พร้อมมีระบบติดตามพัฒนการต่อเนื่อง ผ่านแอพพลิเคชั่นในโทรศัพท์มือถือ ที่สามารถเช็คได้ตั้งแต่เวลาเข้าเรียน จนถึงดัชนีมวลกายน้ำหนักส่วนสูงจนสำเร็จการศึกษาขั้นพื้นฐาน

ดังจะเห็นว่าภาคเรียนที่ 2/2561 สถานศึกษาสังกัด สพฐ มีนักเรียนยากจนทั้งหมด 1,723,727 คน เป็นนักเรียนยากจนพิเศษ 36 % หรือ 629,319 คน โดยมีนักเรียนยากจนพิเศษที่ขอรับเงินอุดหนุนจาก กสศ.ทั้งหมด 517,004 คน โดยจ่ายเรียบร้อยแล้ว 337,045 คน รอการจ่ายเงินอยู่ระหว่างการตรวจสอบและส่งข้อมูลเพิ่มเติมจำนวน 179,959 คน

เป้าหมายการปฏิรูปที่สาม เสริมสร้างขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ โดยให้ผู้เรียนผู้สำเร็จการศึกษาได้รับการสร้างสมรรถนะและคุณลักษณะมีศักยภาพสูง สามารถสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ ได้ ขณะที่สถาบันอุดมศึกษาสามารถผลิตนักวิจัยและนักเทคโนโลยีชั้นแนวหน้าที่สามารถตอบโจทย์การพัฒนาประเทศได้

รวมทั้งพัฒนาสถาบันการศึกษาและสถาบันวิจัยของไทยให้ได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติผ่านการสร้างความร่วมมือในระดับนานาชาติ และส่งเสริมการวิจัยพัฒนาองค์ความรู้และเทคโนโลยีของสถาบันอุดมศึกษาไทยสอดคล้องกับทิศทางการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจสังคมและสิ่งแวดล้อมของประเทศในเวทีโลก

เป้าหมายการปฏิรูปที่สี่ ใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพและมีระบบธรรมาภิบาล โดยใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและนวัตกรรมทางการเงินเพื่อเสริมสร้างประสิทธิภาพ จัดสรรทรัพยากรในระบบการศึกษาตามอุปสงค์ของผู้เรียน และด้วยหลักความเสมอภาค ที่สำคัญคือมีการสนับสนุนกระบวนการมีส่วนร่วมในการจัดทำแผนงบประมาณและการติดตามตรวจผลการใช้จ่ายงบประมาณด้านการศึกษา
กอปศ. ได้นำเป้าหมายทั้ง 4 เรื่อง มาจัดทำแผนปฏิรูปด้านการศึกษา 7 ข้อ ได้แก่

    1)การปฏิรูปการศึกษาตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ทั้ง ออก พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติและกฎหมายลำดับรอง ต่างๆ ตลอดจนปรับปรุงแผนการศึกษาแห่งชาติให้สอดคล้องรัฐธรรมนูญ

    2)การปฏิรูปการพัฒนาเด็กเล็กและเด็กก่อนวัยเรียน โดยออก พ.ร.บ. การพัฒนาเด็กปฐมวัย การพัฒนาระบบการดูแล พัฒนา และจัดการเรียนรู้ให้เด็กปฐมวัย ได้รับการพัฒนาร่างกายจิตใจ วินัย อารมณ์ สังคม และสติปัญญาที่เหมาะสมกับวัย

    3)การปฏิรูปเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ด้วยการออก พ.ร.บ.กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา สนับสนุนผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ การจัดการศึกษาสำหรับบุคคลพิการ บุคคลที่มีความสามารถพิเศษ และยกระดับคุณภาพการจัดการศึกษาในพื้นที่ห่างไกล

    4)ปฏิรูปกลไกและระบบการผลิต คัดกรองและพัฒนาผู้ประกอบวิชาชีพครู และอาจารย์ การผลิตครู และการคัดกรองครู เพื่อให้ได้ครูที่มีคุณภาพตรงกับความต้องการของประเทศ และมีจิตวิญญาณความเป็นครู ตลอดจนการพัฒนาวิชาชีพครู องค์กรวิชาชีพครู

    5)ปฏิรูปการจัดการเรียนการสอนเพื่อตอบสนอง การเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ 21 ทั้งการปรับหลักสูตรเป็นหลักสูตรฐานสมรรถนะ (Competency-based Curriculum) มีระบบการประกัน การประเมิน และการรับรองคุณภาพการศึกษา และจัดตั้งสถาบันหลักสูตรและการเรียนรู้แห่งชาติ ตลอดจน ปฏิรูปอาชีวศึกษา และการปฏิรูปอุดมศึกษา

    6)ปรับโครงสร้างของหน่วยงานในระบบการศึกษา ปรับปรุงการจัดการเรียนการสอน และยกระบบคุณภาพการจัดการศึกษา โดยให้ สถานศึกษามีความเป็นอิสระในการบริหารและจัดการศึกษา และออก พ.ร.บ. เขตพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา เพื่อตอบสนองความต้องการการศึกษาในพื้นที่เฉพาะ

    7)ปฏิรูปการศึกษาและการเรียนรู้โดยการพลิกโฉมด้วยระบบดิจิทัลการจัดตั้งแพลตฟอร์มการเรียนรู้ด้วยดิจิทัลแห่งชาติ (Digital Learning Reform: National Digital Learning Platform: NDLP) และ มี ระบบข้อมูลสารสนเทศเพื่อการศึกษา
    สำหรับแผนปฏิรูปการศึกษาทั้ง 7 เรื่องนี้จะแบ่งเป็น 3 ระยะ คือ ระยะเร่งด่วน (ปี 2562) ระยะสั้น (3 ปี) ระยะกลาง-ยาว (5-10 ปี)

ดร.ประสาร กล่าวย้ำว่า ไม่ว่าผลการเลือกตั้งครั้งนี้ใครจะได้เป็นรัฐบาลทั้งกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และ คณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา (กอปศ.) ก็ยินดีที่จะช่วยเหลือสนับสนุนการปฏิรูปการศึกษาตามนโยบายของรัฐบาล โดยเฉพาะเรื่องข้อมูลและประสบการณ์จากการดำเนินงานในโครงการต้นแบบที่ได้เริ่มดำเนินงานในปีที่ผ่านมา รวมทั้งข้อมูลข้อเสนอแนะเพื่อการปฏิรูปการศึกษาที่ได้ดำเนินการสังเคราะห์รวบรวมจากการรับฟังเสียงจากประชาชนและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องจากทุกภาคส่วนตลอด 2 ปีที่ผ่านมา