ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > ย้อนรอยมหากาพย์ 7 ปี CTX (1): เบาะแสจากสินบนข้ามชาติ ถึงความไม่โปร่งใสการจัดซื้อ

ย้อนรอยมหากาพย์ 7 ปี CTX (1): เบาะแสจากสินบนข้ามชาติ ถึงความไม่โปร่งใสการจัดซื้อ

4 กันยายน 2012


เครื่องตรวจจับระเบิด CTX 9000
เครื่องตรวจจับระเบิด CTX 9000

หลังการไต่สวนเป็นเวลากว่า 7 ปี จากคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องหลายชุด ในที่สุดข้อกล่าวหาต่อ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ อดีต รมว.คมนาคม ในคดีการจัดซื้อและติดตั้งเครื่องตรวจจับระเบิด (CTX 9000) และการก่อสร้างระบบสายพานลำเลียงกระเป๋าในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ก็สิ้นสุดลง หลัง ป.ป.ช. มีมติสั่งไม่ฟ้อง เนื่องจากมีพยานหลักฐานไม่เพียงพอ

โดยข้อกล่าวหาจากคดีนี้ทั้ง 2 ข้อ ก็ถือว่าเป็นอันตกไป คือ 1. การกล่าวหาว่า บริษัทท่าอากาศยานสากลกรุงเทพแห่งใหม่ (บทม.) ว่าจ้างบริษัทกิจการร่วมค้าไอทีโอ (ITO) จัดหาระบบสายพานโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และ 2. ข้อกล่าวหาว่า บทม. กระทำการเป็นบริษัทนายหน้าจัดซื้อเครื่องตรวจสอบซีทีเอ็กซ์เอง

ส่วนเจ้าหน้าที่ บทม. จำนวน 6 คน ที่เดินทางไปเมืองซานฟานซิสโก ประเทศสหรัฐอเมริกาเพื่อดูงาน โดยมีมีบริษัทตัวแทนขาย CTX 9000 ในประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายให้ ป.ป.ช. ได้ตั้งอนุกรรมการเพื่อไต่สวนความผิดต่อไป

คดี CTX 9000 เป็นข่าวปรากฏตามสื่อของประเทศไทยครั้งแรกในวันที่ 25 เมษายน 2548 หลังจากหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจได้เปิดเผยผลการสอบสวนของคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์ หรือ ก.ล.ต. ของสหรัฐอเมริกา ที่ตรวจพบการติดสินบนเจ้าหน้าที่ของรัฐในต่างประเทศ ของบริษัทสัญชาติอเมริกันที่มีชื่อว่า “อินวิชัน” (InVision)

ความผิดดังกล่าว เป็นความผิดตามกฎหมายสหรัฐฯ ว่าด้วยการกระทำอันเป็นการทุจริตข้ามชาติ (Foreign Corrupt Practices Act – FCPA) ที่ห้ามไม่ให้บริษัทสัญชาติอเมริกันทำการติดสินบนเจ้าหน้าที่ของรัฐในต่างประเทศ

ในผลการสอบสวนของ ก.ล.ต. สหรัฐฯ ที่ถูกนำมาเปิดเผย ระบุว่า “อินวิชัน” ซึ่งเป็นบริษัทออกแบบและผลิตระบบการตรวจสอบวัตถุระเบิด เพื่อติดตั้งในท่าอากาศยาน ได้ทำการติดสินบนเจ้าหน้าที่รัฐในประเทศจีนและฟิลิปปินส์ ส่วนประเทศไทย ได้พบความพยายามที่จะติดสินบนเจ้าหน้าที่ไทย แต่ยังไม่ทันเสร็จสิ้น เรื่องก็ถูกเปิดเผยขึ้นมาเสียก่อน

หากจะย้อนรอยเหตุการณ์ทั้งหมดที่เกิดขึ้น อาจต้องย้อนไปตั้งแต่เหตุการณ์วินาศกรรม 11 กันยายน 2544 ที่ทำให้มาตรฐานระบบรักษาความปลอดภัยของท่าอากาศยานทั่วโลก ต้องเปลี่ยนแปลงไปนับแต่นั้นเป็นต้นมา

เหตุการณ์วินาศกรรม เป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้สนามบินทั่วโลกต้องปรับปรุงระบบรักษาความปลอดภัยครั้งใหญ่ โดยองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) ได้ออกข้อกำหนดให้สนามบินต่างๆ ทั่วโลก หันมาใช้ระบบรักษาความปลอดภัยในการตรวจสอบกระเป๋าและหีบห่อสัมภาระผู้โดยสารแบบ In-line Screening

สำหรับประเทศไทย ที่ขณะนั้นการก่อสร้างสนามบินสุวรรณภูมิยังไม่แล้วเสร็จ เมื่อมีเหตุการณ์วินาศกรรมดังกล่าว ครม. จึงได้อนุมัติให้มีการปรับปรุงระบบสายพานลำเลียงสัมภาระ และมีคำสั่งให้จัดซื้อเครื่องตรวจจับระเบิด CTX 9000 จากบริษัท “อินวิชัน”

แต่ความซับซ้อนของเรื่องนี้อยู่ที่ บทม. ที่เป็นเจ้าของโครงการก่อสร้างสนามบินสุวรรณภูมิ ได้ทำสัญญาว่าจ้างกลุ่มบริษัทร่วมทุน ITO ซึ่งประกอบด้วย บริษัท อิตาเลียน-ไทย จำกัด, บริษัท ทาเคนากะ จำกัด และ บริษัท โอบายาชิ จำกัด ให้จัดสร้างสนามบินแบบจ้างเหมาเบ็ดเสร็จ ครอบคลุมงานก่อสร้างอาคารผู้โดยสาร และอาคารเทียบเครื่องบิน ตั้งแต่ปี 2544 แต่ ครม. ได้มีการอนุมัติให้มีการจัดซื้อ CTX ในปี 2546

การจัดซื้อ CTX จึงต้องทำการเพิ่มเติมสัญญากับ ITO ในภายหลัง โดย ITO ได้ติดต่อขอซื้อเครื่อง CTX จาก “อินวิชัน” ที่สหรัฐฯ แต่ “อินวิชัน” กลับขอให้ ITO ไปติดต่อซื้อเครื่องจากตัวแทนจำหน่ายในประเทศไทยคือ บริษัทที่ปรึกษาธุรกิจ แพทริออต จำกัด (Patriot) แทน

ITO จึงทำสัญญาจัดซื้อและจ้างให้ Patriot ติดตั้งระบบ CTX จำนวน 26 เครื่อง ซึ่ง บทม.จะต้องจ่ายค่าใช้จ่ายให้ ITO ต่อจากนั้น ITO จะต้องจ่ายต่อให้ Patriot และ Patriot จะต้องจ่ายให้ “อินวิชัน” เป็นทอดสุดท้าย เป็นการซื้อขายที่ผ่านตัวแทน “เป็นทอดๆ” และมีการตรวจพบว่า ราคาส่วนต่างจะเพิ่มสูงขึ้นในทุกทอดของธุรกรรม

โดย บทม. ได้ทำการจัดซื้อจัดจ้างจาก ITO ในวงเงิน 2,608 ล้านบาท ขณะที่ ITO จัดซื้อจัดจ้างจาก Patriot เป็นเงินเพียง 2,003 ล้านบาท และ Patriot ได้จัดซื้อจัดจ้างจาก “อินวิชัน” ในราคาเพียง 1,432 ล้านบาท เท่านั้น โดยรายการสิ่งของและการดำเนินงานที่จัดซื้อตามสัญญาทั้ง 3 ทอดนี้เหมือนกันเกือบทุกประการ

พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ภาพจาก - มติชน
พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ภาพจาก – มติชน

แต่เรื่องนี้อาจจะไม่เป็นข่าว หากไม่มีการควบรวมกิจการของ “อินวิชัน” กับบริษัท “จีอี” (GE) ซึ่งเป็นบริษัทใหญ่ในตลาดหลักทรัพย์สหรัฐฯ เมื่อช่วงต้นปี 2547

เนื่องจากการควบรวมกิจการของบริษัทในตลาดหลักทรัพย์สหรัฐฯ จำเป็นต้องมีการตรวจสอบบัญชี เพื่อให้การควบรวมเป็นไปโดยเรียบร้อยและโปร่งใส แต่ปรากฏว่าสำนักงานกฎหมายที่เข้าไปตรวจสอบ “อินวิชัน” ได้ตรวจพบการกระทำที่เข้าข่ายเป็นความผิดตามกหมาย FCPA ของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับ “อินวิชัน”

ในขั้นตอนการสอบสวน “อินวิชัน” ได้ออกมายอมรับว่า รู้เห็นถึงพฤติกรรมของตัวแทนจำหน่ายในภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก ที่พยายามติดสินบนเจ้าหน้าที่ของรัฐ ใน 3 ประเทศคือ ไทย ฟิลิปปินส์ และจีน เพื่อให้จัดซื้อชุดอุปกรณ์สำหรับตรวจสอบวัตถุระเบิดของบริษัท และนำไปติดตั้งประจำท่าอากาศยานต่างๆ ของแต่ละประเทศ โดยในประเทศจีนและฟิลิปปินส์ ได้มีการจ่ายเงินสินบนแล้ว ส่วนประเทศไทยพบว่ามีความพยายามที่จะติดสินบนเจ้าหน้าที่ แต่ยังไม่ทันจะจ่าย ก็ถูกตรวจพบเสียก่อน

ในผลการสอบสวน “อินวิชัน” ยอมรับว่า มีความเป็นไปได้สูงที่นายวี ซุคกี ตัวแทนจำหน่ายภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก มีความตั้งใจจะใช้เงินซึ่งเกิดจากส่วนต่างของราคา ไปติดสินบนเจ้าหน้าที่ของไทย แต่ขณะที่มีการเตรียมควบรวมกิจการ การสอบสวนดังกล่าวอยู่ในช่วงที่การจ่ายเงินสินบนยังไม่เกิดขึ้น จึงยังไม่มีหลักฐานยืนยันว่ามีการจ่ายเงินสินบนให้กับใคร เป็นจำนวนเท่าไร แต่การเตรียมการเหล่านี้ ทางการสหรัฐฯ ถือว่าเป็นความผิด เนื่องจาก “อินวิชัน” รู้เห็น แต่ไม่มีการคัดค้าน

ในที่สุด “อินวิชัน” ต้องยอมสารภาพความผิดทั้งหมด และต้องยอมจ่ายเงินค่าปรับกว่า 1.1 ล้านดอลลาร์ ในคดีที่ถูก ก.ล.ต. สหรัฐฯ ฟ้อง และต้องยอมจ่ายค่ายอมความอีก 800,000 ดอลลาร์ ในอีกคดีที่ถูกกระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ ฟ้อง เพื่อแลกกับการยุติคดี

โดย “อินวิชัน” ได้ทำบันทึกตกลงกับกระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ ว่า หากจะขาย CTX ให้แก่ประเทศไทย จะต้องขายตรงให้แก่ บทม. หรือหน่วยราชการไทยเท่านั้น ห้ามขายผ่านผู้แทนจำหน่ายหรือเอกชนอื่นใดอีก ผลจากการยอมตกลงกับกระทรวงยุติธรรมส่งผลให้การควบรวม “จีอี-อินวิชัน” มีผลสมบูรณ์ในวันที่ 6 ธันวาคม 2547

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ อดีต รมว.คมนาคม ภาพจาก - ผู้จัดการ
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ อดีต รมว.คมนาคม ภาพจาก – ผู้จัดการ

แต่เรื่องก็มาเป็นข่าวขึ้นในประเทศไทย เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2548 หลังจากที่สื่อมวลชนของไทย เริ่มนำผลการสอบสวนออกมาเผยแพร่

ทำให้รัฐบาลพรรคไทยรักไทย สมัย 2 ที่มี พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี และนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ เป็น รมว.คมนาคม ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก ที่ปล่อยให้มีกรณีดังกล่าวเกิดขึ้น เป็นการสะท้อนให้เห็นถึงการบริหารราชการที่ไม่โปร่งใส

กระแสดังกล่าว ส่งผลให้รัฐบาลต้องออกมาแถลงข่าวตอบโต้ว่า เจ้าหน้าที่ของไทยไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในเรื่องนี้ และมีมติให้ บทม. สั่งซื้อ CTX 9000 จาก “จีอี-อินวิชัน” โดยตรง และให้ ITO เป็นผู้ติดตั้งระบบ

ในสัญญาใหม่ บทม. ได้ทำการซื้อขายพร้อมติดตั้ง CTX 9000 จำนวน 26 เครื่อง กับ “จีอี-อินวิชัน” ในวันที่ 21 กรกฎาคม 2548 ในวงเงิน 1,432 ล้านบาท โดยรวมอุปกรณ์และการดำเนินงานต่างๆ 13 รายการ ซึ่งรวมถึงอะไหล่สำรอง การรับประกัน 2 ปี และการฝึกอบรม แต่ บทม. ยังคงต้องจ่ายให้ ITO ในราคา 2,608 ล้านบาท ตามสัญญาเดิม

ขณะเดียวกัน รัฐบาลก็ได้แต่งตั้งคณะคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงขึ้น โดยมีมีนายบุญศักดิ์ เจียมปรีชา อธิบดีกรมบัญชีกลาง เป็นประธาน โดยผลการสอบสวนของคณะกรรมการชุดดังกล่าวมีข้อสรุปว่า “ไม่พบสิ่งผิดปกติประการใด” จากการตรวจสอบครั้งนี้

โดยได้มีคำชี้แจงจากคณะกรรมการว่า ส่วนต่างของราคาที่เกิดขึ้นจากสัญญาเดิม ที่ Patriot ได้ขายต่อ CTX 9000 ให้ ITO ในราคา 2,003 ล้านบาท ทั้งที่ซื้อมาจาก “อินวิชัน” ในราคาเพียง 1,432 ล้านบาทนั้น เนื่องจากในสัญญามีการรวมค่าอุปกรณ์ ค่าใช้จ่ายอื่นๆ และภาษีในราคาด้วย

เมื่อหักค่าใช้จ่ายอื่นๆ เหล่านี้ออกไป จะพบว่า Patriot นำ CTX 9000 จำนวน 26 เครื่อง มาขายต่อให้ ITO ในราคาเพียง 1,684 ล้านบาท และเมื่อหักค่าขนส่งและภาษีแล้ว พบว่า Patriot จะได้กำไรจากการขายต่อครั้งนี้ 6.2 % ซึ่งคณะกรรมการตรวจสอบเห็นว่า ส่วนต่างนี้อยู่ในวิสัยที่รับได้ในทางธุรกิจ

และในส่วนการรับเงินสินบนของเจ้าหน้าที่ไทย คณะกรรมการตรวจสอบก็ไม่พบหลักฐานใดๆ ที่จะสามารถสรุปได้ว่า เจ้าหน้าที่ไทยมีการรับเงินสินบน โดยมีการกล่าวอ้างหลักฐานจากฝ่ายทางการสหรัฐฯ และตัวแทนของ “จีอี” ซึ่งเป็นผู้เข้าควบรวมกิจการกับ “อินวิชัน” ที่ยืนยันว่าไม่มีหลักฐานตรวจพบการจ่ายเงินสินบนให้แก่เจ้าหน้าที่ไทย จึงไม่สามารถสรุปได้ว่าเจ้าหน้าที่ไทย มีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้

ในขณะที่ฝ่ายค้าน ได้นำเรื่องนี้มาเป็นประเด็นในการยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.คมนาคม แม้ว่าในการอภิปราย สภาจะมีมติไว้วางใจ ให้นายสุริยะทำหน้าที่ รมว.คมนาคมต่อ แต่ด้วยภาพลักษณ์ที่เสียไปจากคดีฉาว CTX การปรับ ครม. ในเวลาต่อมา นายสุริยะก็ต้องบอกลาเก้าอี้ รมว. คมนาคมไปในที่สุด

หลังการปรับ ครม. เสร็จสิ้น ดูเหมือนกระแสต่อต้านรัฐบาลจากคดีฉาว CTX กลับไม่ได้ผ่อนคลายลงอย่างที่หลายฝ่ายคาด และเมื่อเกิดเหตุการณ์รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ขึ้น กลับทำให้ความร้อนแรงของคดี CTX ทวีขึ้นมาอีก เมื่อคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือ คปค. ได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ หรือ คตส. ขึ้น เพื่อทำการตรวจสอบเรื่องที่ รัฐบาลในสมัยของ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ทำให้รัฐเสียหาย

และก็เป็นไปตามที่หลายคนคาด เมื่อ คตส. ได้หยิบคดีการจัดซื้อและติดตั้งเครื่องตรวจจับระเบิด (CTX 9000) และการก่อสร้างระบบสายพานลำเลียงกระเป๋าในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ นำกลับขึ้นมาปัดฝุ่นตรวจสอบกันใหม่อีกครั้ง โดยคราวนี้ คตส. ได้ให้ความมั่นใจกับสาธารณะชนว่า จะสามารถนำคนผิดมาลงโทษได้อย่างแน่นอน