ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > ย้อนรอยมหากาพย์ 7 ปี CTX: ตอนจบแบบหักมุมของ ป.ป.ช.

ย้อนรอยมหากาพย์ 7 ปี CTX: ตอนจบแบบหักมุมของ ป.ป.ช.

27 กันยายน 2012


คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) - ภาพจาก เนชั่น
คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) – ภาพจาก เนชั่น

ประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 30 กำหนดให้ คตส. มีหน้าที่ในการตรวจสอบ และไต่สวนการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ ส่วนการฟ้องร้องต่อศาลเป็นหน้าที่ของอัยการสูงสุด(ตอน 2)

หลังการไต่สวนคดีเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิด CTX เสร็จสิ้น คตส. จึงต้องส่งเรื่องให้อัยการสูงสุดดำเนินการฟ้องศาลตามขั้นตอน แต่เนื่องจากคดี CTX มีชื่ออัยการสูงสุดในขณะนั้น คือ นายชัยเกษม นิติสิริ ตกเป็นผู้ถูกกล่าวหาอยู่ คตส. จึงต้องแยกสำนวนของนายชัยเกษมส่งฟ้องเอง

ในวันที่ 27 มิถุนายน 2551 เพียง 3 วันก่อนหน้าที่ คตส. จะหมดหน้าที่ หลังจากที่ คตส. ได้มีมติให้ดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิด และได้ส่งเอกสารสำนวนให้อัยการสูงสุดแล้ว แต่เมื่ออัยการสูงสุดได้มีข้อโต้แย้งจากข้อไม่สมบูรณ์ของคดี และขอให้ คตส. ร่วมกันตั้งคณะกรรมขึ้นมาเพื่อพิจารณาในข้อไม่สมบูรณ์

การตั้งคณะกรรมร่วมกันในคดีนี้จึงถูกส่งต่อให้ ป.ป.ช. เป็นผู้ดำเนินการต่อไปโดยปริยาย โดยนายกล้านรงค์ จันทิก กรรมการ ป.ป.ช. ได้ถอนตัวออกจากการไต่สวนเรื่องนี้ เนื่องจากเป็นอดีต คตส. ซึ่งถือว่าเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย

การตั้งคณะกรรมการพิจารณาร่วมกันระหว่างอัยการสูงสุดกับ ป.ป.ช. ทั้งสององค์กรได้มีการหารือ และหาข้อยุติร่วมกันถึงคดีนี้หลายครั้ง เป็นเวลากว่า 3 ปี จนในที่สุด เมื่อเดือนกันยายน 2554 อัยการสูงสุดจึงมีข้อยุติ ยืนยันไม่สั่งฟ้องในคดี CTX โดยมีเหตุผลมาจากข้อไม่สมบูรณ์ของคดีเช่นเดิม เรื่องทั้งหมด ป.ป.ช. จึงเตรียมการที่จะฟ้องเอง โดยเตรียมการให้สภาทนายความเป็นผู้ว่าคดีให้

นายกล้านรงค์ จันทิก กรรมการ ป.ป.ช. และอดีตกรรมการ คตส. - ภาพจาก กรุงเทพธุรกิจ
นายกล้านรงค์ จันทิก กรรมการ ป.ป.ช. และอดีตกรรมการ คตส. – ภาพจาก กรุงเทพธุรกิจ

จากความเห็นที่ไม่ตรงกันในข้อไม่สมบูรณ์ของคดี ระหว่างอัยการสูงสุดและ ป.ป.ช. ตั้งแต่เอกสารที่อัยการสูงสุดยื่นให้ก่อนที่ คตส. จะหมดอำนาจ ไปจนถึงการตั้งคณะกรรมการพิจารณาร่วมกันระหว่างอัยการสูงสุดและ ป.ป.ช. มีข้อไม่สมบูรณ์หลักๆ ที่ได้รับการเปิดเผยอยู่ 5 ข้อ คือ

1. ข้อไม่สมบูรณ์เกี่ยวกับค่าเสียหาย ค่าดำเนินการ ราคาค่าจ้าง จัดหา ติดตั้งระบบสายพานลำเลียง และราคาสินค้า ที่ คตส. คิดค่าเสียหายโครงการจัดซื้อจัดจ้างระบบสายพานลำเลียงกระเป๋าสัมภาระผู้โดยสาร และเครื่องตรวจสอบวัตถุระเบิด คิดเป็นเงินประมาณ 6,937 ล้านบาท

แต่ฝ่ายอัยการสูงสุดมีความเห็นว่า ค่าปรับเปลี่ยนระบบสานพานลำเลียงกระเป๋ามีจำนวน 4,335 ล้านบาทเท่านั้น ความเสียหายที่ คตส. เรียกจำนวน 6,937 ล้านบาท เป็นการนำค่าระบบสายพานเดิมมารวมไว้ด้วย ทางอัยการสูงสุดจึงเห็นว่าไม่สามารถดำเนินการได้

2. ข้อไม่สมบูรณ์เกี่ยวกับหลักฐานและพยานบุคคล ที่อัยการสูงสุดเห็นว่ามีการนำผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการเสนองาน คือผู้บริหารของบริษัท ASI ซึ่งเป็นที่ปรึกษาด้านความปลอดภัยของสนามบินสุวรรณภูมิ มาเป็นพยาน จึงควรทำการไต่สวนเพิ่ม และมีการนำอีเมล์ของนายวี ฮอกกี ตัวแทนจำหน่ายภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก มาเป็นหลักฐาน ซึ่งยังไม่มีการพิสูจน์ความถูกต้อง

และส่วนที่สำคัญที่สุดคือ หลักฐานเอกสารที่กระทรวงยุติธรรมสหรัฐอเมริกาส่งมาให้สำนักงานอัยการสูงสุด ตามพระราชบัญญัติความร่วมมือระหว่างประเทศในเรื่องทางอาญา พ.ศ.2535 ที่ยืนยันว่าไม่มีหลักฐานของการให้ค่าตอบแทนโดย “อินวิชั่น” หรือตัวแทนบริษัท ให้แก่เจ้าหน้าที่ไทย และไม่มีหลักฐานว่า อินวิชั่นได้ยอมรับหรือปฏิเสธข้อกล่าวหาที่ถูกฟ้องแต่อย่างใด

ทาง ป.ป.ช. ได้โต้แย้งว่า การนำผู้บริหารของบริษัท ASI มาเป็นพยาน ได้มีการไต่สวนแล้วถึง 6 ครั้ง ซึ่งการจะพิจารณาว่ารับฟังได้หรือไม่ ต้องพิจารณาหลักฐานประกอบด้วย และอีเมล์ของนายวี ฮอกกี เป็นเอกสารที่ได้มาจากการตรวจสอบของทางการสหรัฐอเมริกา รวมทั้งมีบุคคลที่เกี่ยวข้องรับรองความถูกต้องและมีอยู่จริงของจดหมายแล้ว

และ ป.ป.ช. ได้โต้แย้งส่วนพยานหลักฐานเอกสาร ที่กระทรวงยุติธรรมสหรัฐอเมริกาส่งมาให้สำนักงานอัยการสูงสุดว่า

“พยานหลักฐานเอกสารที่กระทรวงยุติธรรมสหรัฐอเมริกาส่งมาให้สำนักงานอัยการสูงสุด ตามพระราชบัญญัติความร่วมมือระหว่างประเทศในเรื่องทางอาญา พ.ศ. 2535 จะมีน้ำหนักรับฟังได้หรือไม่นั้น ต้องประมวลข้อเท็จจริงและพฤติการณ์แห่งคดีทั้งหมด จะนำข้อเสนอความตอนหนึ่งตอนใดของเอกสารซึ่งมีจำนวนหลายร้อยหน้ามาเป็นข้อโต้แย้งว่าไม่มีหลักฐานของการให้ค่าตอบแทนโดยอินวิชั่น เทคโนโลยี หรือตัวแทนบริษัท ให้เจ้าหน้าที่คนไทย หรือว่าหากมีการเสนอให้ค่าตอบแทนได้มีการยอมรับข้อเสนอดังกล่าว ดังข้ออ้างของอัยการสูงสุดหาได้ไม่ เพราะการเสนอให้สินบนกระทำในประเทศไทยมิได้กระทำในสหรัฐอเมริกา หากไม่มีการเสนอสินบนในเรื่องนี้ ก็ไม่มีเหตุผลและความจำเป็นที่อินวิชั่น เทคโนโลยี จะต้องทำบันทึกข้อตกลงกับทางการสหรัฐอเมริกาเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2547 ดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น”

กระทรวงยุติธรรมสหรัฐอเมริกา U.S. Securities and Exchange Commission - ภาพจาก Bloomberg
กระทรวงยุติธรรมสหรัฐอเมริกา U.S. Securities and Exchange Commission – ภาพจาก Bloomberg

3. ข้อไม่สมบูรณ์กรณีบริษัทท่าอากาศยานสากลกรุงเทพแห่งใหม่ (บทม.) เชิดตัวเองเข้าเป็นคู่สัญญากับจีอี ที่อัยการสูงสุดเห็นว่า การที่ บทม.ทำสัญญาซื้อตรงกับ จีอี อินวิชั่น ยังไม่ปรากฏหลักฐานว่า เป็นการช่วยเหลือกิจการร่วมค้า ITO อย่างไร และ กิจการร่วมค้า ITO ได้ประโยชน์เพิ่มขึ้นหรือไม่

ป.ป.ช. เห็นว่าข้อโต้แย้งของอัยการสูงสุดเลื่อนลอยไร้เหตุผลเพราะ คตส. ได้พิจารณาแล้วว่า บทม. เชิดตัวเองเข้าเป็นคู่สัญญากับจีอีเพื่อหลอกลวงกระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ ว่าจีอีขายเครื่องตรวจสอบวัตถุระเบิด CTX ให้แก่ บทม. โดยตรง ซึ่งเป็นไปตามข้อตกลงเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2547 แต่ในความเป็นจริงนั้น บทม. เชิดตัวเองเข้าลงนามในสัญญาแทนกิจการร่วมค้า ITO เท่านั้น

4. ข้อไม่สมบูรณ์เกี่ยวกับเอกสารภาษาอังกฤษ อัยการสูงสุดอ้างว่า เอกสารภาษาต่างประเทศจะต้องมีการจัดทำคำแปลเป็นภาษาไทยให้ครบถ้วน แต่ในสำนวนการตรวจสอบไต่สวนปรากฏว่า มีเอกสารภาษาอังกฤษหลายฉบับไม่มีคำแปลภาษาไทยอยู่ในสำนวนนั้น

ป.ป.ช. ได้อ้างประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 บัญญัติว่า วิธีพิจารณาข้อใดที่ซึ่งประมวลกฎหมายนี้มิได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะ ให้นำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับเท่าที่พอจะบังคับได้

ส่วนประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 46 วรรค 3 บัญญัติว่า ถ้าต้นฉบับเอกสารหรือแผ่นกระดาษไม่ว่าอย่างใดๆ ที่ส่งต่อศาล ทำขึ้นเป็นภาษาต่างประเทศ ให้ศาลสั่งคู่ความฝ่ายที่ส่งให้ทำคำแปลทั้งฉบับหรือเฉพาะแต่ส่วนที่สำคัญ โดยมีคำรับรองมายื่นเพื่อแนบไว้กับต้นฉบับ ดังนี้ คู่ความฝ่ายใดอ้างพยานเอกสารที่ปรากฏถือความเป็นภาษาต่างประเทศ ไม่ต้องทำคำแปลยื่นต่อศาลเสมอไป นอกจากศาลสั่ง

5. ข้อไม่สมบูรณ์ในการแจ้งข้อกล่าวหา ที่อัยการสูงสุดแย้งว่าไม่มีการเรียกผู้ถูกกล่าวหามารับทราบข้อกล่าวหา ซึ่ง ป.ป.ช. เห็นว่า เมื่อคณะอนุกรรมการไต่สวนได้แจ้งข้อหาอันเป็นหลักความผิดทั่วไปแล้ว ไม่จำเป็นต้องแจ้งข้อหาความผิดเกี่ยวพันอีก และถือว่าคณะกรรมการไต่สวนได้มีการสอบสวนความผิดทุกข้อหาแล้ว ไม่จำเป็นต้องเรียกผู้ถูกกล่าวหามาแจ้งข้อกล่าวหาใหม่

การเตรียมการฟ้องเองของ ป.ป.ช. จึงต้องทำการสรุปสำนวนข้อกล่าวหาใหม่ และรวบรวมพยานหลักฐานเพิ่มเติม โดยได้มีการขอความร่วมมือกับกระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ ให้มีการส่งเอกสารหลักฐานเพิ่มเติมจากสำนักงานสอบสวนกลางแห่งสหรัฐฯ (FBI) อีกกว่า 5,000 หน้า โดยมีหลักฐานสำคัญคือ เอกสารยืนยันจากกระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ ส่งมายืนยันในช่วงต้นเดือนสิงหาคม 2555 ว่าไม่พบหลักฐานการจ่ายสินบนหรือเรียกรับผลประโยชน์ใดๆ จากการซื้อขายเครื่องตรวจสอบวัตถุระเบิด CTX

นายวิชัย วิวิตเสวี กรรมการ ป.ป.ช. - ภาพจาก วอยซ์ทีวี
นายวิชัย วิวิตเสวี กรรมการ ป.ป.ช. – ภาพจาก วอยซ์ทีวี

ในที่สุด วันที่ 28 สิงหาคม 2555 นายวิชัย วิวิตเสวี กรรมการ ป.ป.ช. จึงได้แถลงอย่างเป็นทางการว่า ป.ป.ช. มีมติเอกฉันท์ยกคำร้องต่อ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี, นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ อดีต รมว.คมนาคม และและบริษัทเอกชนหลายกลุ่ม รวม 25 ราย ในคดีการจัดซื้อและติดตั้งเครื่องตรวจจับระเบิด CTX และการก่อสร้างระบบสายพานลำเลียงกระเป๋าในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ

ทำให้ข้อกล่าวหาจากคดีนี้ทั้ง 2 ข้อ เป็นอันตกไป คือ 1. การกล่าวหาว่า บทม. ว่าจ้างบริษัทกิจการร่วมค้าไอทีโอ (ITO) จัดหาระบบสายพานโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และ 2. ข้อกล่าวหาว่า บทม. กระทำการเป็นบริษัทนายหน้าจัดซื้อเครื่องตรวจสอบ CTX เอง เนื่องจากพยานหลักฐานทั้งหมดไม่เพียงพอที่จะพิสูจน์ได้ว่าผู้ถูกกล่าวหากระทำผิด โดยปราศจากข้อสงสัย

แต่มีการตั้งอนุกรรมการเพื่อไต่สวนความผิดอดีตเจ้าหน้าที่ บทม. จำนวน 6 คน ที่เดินทางไปเมืองซานฟานซิสโก ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อเดือนมิถุนายน 2546 เพื่อดูงานท่าอากาศยาน โดยมีมีบริษัทตัวแทนขาย CTX 9000 ในประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายให้แทน เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 149 และ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ พ.ศ. 2554 มาตรา 103

ประกอบด้วย นายศรีสุข จันทรางศุ อดีตปลัดกระทรวงคมนาคม ในฐานะประธานกรรมการ บทม. พล.อ.สมชัย สมประสงค์ รองประธาน บทม., นายชัยเกษม นิติสิริ อดีตอัยการสูงสุด, นายเทิดศักดิ์ เศรษฐมานพ, นายศุภเดช พูนพิพัฒน์ และ พล.อ.อ.ณรงค์ สังขพงศ์ ในฐานะกรรมการ บทม.

เป็นตอนจบแบบหักมุมของคดีคอร์รัปชันที่ยืดเยื้อมานานถึง 7 ปี

เปิดใจ เมธี ครองแก้ว “เสียดายที่ไม่มีโอกาสร่วมประชุมครั้งสุดท้าย”

เมธี ครองแก้ว: เบื้องลึกมติคดี CTX 9000
ที่มา:กระแสทรรศน์ มติชนรายวัน 4 ก.ย. 2555

ผู้เขียนรู้สึกเสียดายที่ไม่มีโอกาสได้เข้าร่วมประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในการพิจารณาสำนวนคดี CTX 9000 ครั้งสุดท้าย เมื่อวันอังคารที่ 28 สิงหาคม ที่ผ่านมา เพราะหมดวาระการเป็นกรรมการ ป.ป.ช. ไปเสียก่อน

ที่เสียดายก็เพราะว่าไม่รู้ว่าในการประชุมกันในครั้งนี้ ท่านกรรมการได้ให้ความสำคัญกับประเด็นไหน ในการจะชี้มูลหรือไม่ชี้มูลความผิดของใครบ้าง?

เพราะในฐานะผู้เขียน (เมื่อครั้งยังเป็นกรรมการ ป.ป.ช. อยู่) ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้หาข้อมูลเพิ่มเติมจากกระทรวงยุติธรรมของสหรัฐอเมริกาในคดีนี้มาให้คณะกรรมการดู เอกสารข้อมูลที่ได้นี้มีจำนวนมากถึงกว่า 5,000 แผ่น เป็นภาษาอังกฤษทั้งหมด ซึ่งได้ส่งมอบให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องแล้วเมื่อเดือนที่ผ่านมา

เนื่องจากผู้เขียนไม่ทราบว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้ใช้ข้อมูลดังกล่าวข้างต้นนี้มากน้อยเพียงใด จึงต้องคาดเดาจากคำแถลงการณ์ของคณะกรรมการ ภายหลังมีมติยกคำร้องการกล่าวหาการกระทำผิดของนักการเมืองและเจ้าหน้าที่ของรัฐ และเอกชนผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด ว่าคงเป็นด้วยเหตุผลว่าหลักฐานไม่เพียงพอที่จะฟ้องร้องเอาความผิดใครได้

และอีกเหตุผลหนึ่งที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนกว่ากันคือ เหตุผลที่ว่าคดีนี้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ชุดนี้ไม่ใช่เป็นคนทำ แต่เป็นคดีที่ทำเสร็จ มีการชี้มูลเรียบร้อยแล้วโดย คตส. และส่งให้อัยการสูงสุดเพื่อส่งฟ้องแล้ว

นายเมธี ครองแก้ว อดีตกรรมการ ป.ป.ช.
นายเมธี ครองแก้ว อดีตกรรมการ ป.ป.ช.

คณะกรรมการ ป.ป.ช. ชุดนี้เพียงแต่รับรู้ และรับเรื่องมาพิจารณาต่อในกรณีความเห็นระหว่าง คตส. กับอัยการสูงสุดไม่ตรงกัน ความเชื่อมโยงหรือต่อเนื่องในเรื่องนี้ในมุมมองของ ป.ป.ช. จึงมีน้อยหรือไม่มีเลย

และอาจเป็นสาเหตุสำคัญที่ ป.ป.ช. จะยกคำร้องเรื่องนี้ทั้งหมด โดยมีติ่งไว้นิดหนึ่งว่าจะขอไต่สวนคณะกรรมการท่าอากาศยานบางคน ซึ่งอาจถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดตามมาตรา 103 ของ พ.ร.บ. ป.ป.ช. เรื่องการรับเงินหรือประโยชน์อื่นใดจากบริษัทที่เกี่ยวข้องระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งเป็นเรื่องที่กฎหมายฉบับนี้ได้ห้ามไว้ และเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ คตส. ไม่ได้ไต่สวนไว้ก่อน

ต้องยอมรับว่าอำนาจในการวินิจฉัยหรือใช้ดุลพินิจว่า หลักฐานใดเพียงพอหรือไม่เพียงพอ ที่จะชี้มูลความผิดเจ้าหน้าที่ของรัฐคนใดของกรรมการ ป.ป.ช. แต่ละท่าน เป็นอำนาจเด็ดขาดที่หากใช้อย่างตรงไปตรงมาไม่อาจมีใครไปก้าวล่วงได้ อย่างไรก็ตาม เป็นไปได้ว่าข้อมูลที่มีอยู่เป็นจำนวนมากจนทำให้อาจมองข้าม หรือมองไม่เห็นประเด็นที่เกี่ยวข้องที่สำคัญไปได้

ผู้เขียนอยากจะยกตัวอย่างข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องคดี CTX 9000 นี้ ซึ่งใครต่อใครก็หาได้ในอินเทอร์เน็ต เช่น ข้อตกลง (Agreements) ระหว่างกระทรวงยุติธรรมสหรัฐอเมริกา กับบริษัท InVision ซึ่งเป็นผู้ขายเครื่องตรวจวัตถุระเบิด CTX 9000 ให้แก่ประเทศไทย ในกรณียอมรับผิดว่าได้กระทำความผิดตามกฎหมายต่อต้านการทุจริตของสหรัฐอเมริกา (US Foreign Corrupt Practices Act) และยอมเสียค่าปรับและการปฏิบัติตามเงื่อนไขต่างๆ ของทางการ เพื่อแลกเปลี่ยนกับไม่ต้องถูกฟ้องคดีอาญา

ข้อตกลงนี้สามารถหาดูได้จากเว็บไซต์นี้

ย่อหน้าที่ 3 ของภาคผนวก A (Appendix A) ของข้อตกลงนี้ได้เขียนไว้ว่าดังนี้

“มีหลักฐานที่มีน้ำหนักน่าเชื่อถือได้ว่า บริษัท InVision โดยผู้บริหาร A (Executive A) และผู้จัดการ A (Manager A) ได้ล่วงรู้ถึงความเป็นไปได้ที่สูงมากว่า ส่วนหนึ่งของแหล่งเงินที่ตัวแทน A (Agent A) ได้ให้หรือสัญญาว่าจะให้แก่เจ้าหน้าที่ของไทย (Officials) น่าจะเป็นส่วนต่างระหว่างราคาของสินค้าที่บริษัท InVision ได้รับจากบริษัทรับเหมาช่วง A (Subcontractor A) ที่ทำกับบริษัท A (Company A) และราคาที่บริษัทรับเหมาช่วง A (Subcontractor A) ได้รับจากการทำงานตามสัญญารับเหมาช่วงระบบตรวจสอบกระเป๋าสัมภาระผู้โดยสาร

“ผู้บริหาร A (Executive A) มิได้สอบสวนเพิ่มเติมในประเด็นนี้ ดังนั้น จึงเป็นการจงใจที่จะไม่รับรู้เกี่ยวกับความจริงว่าตัวแทน A (Agent A) มีความตั้งใจที่จะใช้ส่วนต่างของราคาที่จ่ายให้บริษัท InVision ตามสัญญาที่ทำไว้กับบริษัท A (Company A) และราคาที่บริษัทรับเหมาช่วง A (Subcontractor A) ได้รับจากสัญญาจัดทำระบบตรวจสอบกระเป๋า จ่ายให้หรือสัญญาว่าจะจ่ายให้แก่เจ้าหน้าที่ของไทย?”

สำหรับผู้อ่านทั่วไป เมื่อได้อ่านแค่นี้ก็น่าจะเพียงพอที่จะตั้งข้อสงสัยว่า ถ้าทางการสหรัฐอเมริกามีความมั่นใจถึงขนาดนี้แล้ว เราจะไม่เอาผิดใครเลยได้อย่างไร? ที่สำคัญไปกว่านี้ก็คือว่า ขณะนี้ทางการสหรัฐอเมริกาได้บอกมาด้วยแล้วว่า ตัวแทน A ข้างต้นนี้คือใคร? บริษัทรับเหมาช่วง A คือบริษัทอะไร?

ผู้บริหาร A และผู้จัดการ A คือใคร?

ถ้าหากคณะกรรมการ ป.ป.ช. รู้อย่างนี้แล้ว ยังไม่ทำอะไรต่อ สงสัยคงต้องเหนื่อยต่อการต้องชี้แจงให้สาธารณชนรับทราบอีกนาน