ThaiPublica > เกาะกระแส > “วรวิทย์ ชัยลิมปมนตรี” ผอ.ออมสินลาออก กระโดดหนีวงล้อมแรงกดดันจ่ายหนี้ชาวนา-ความเสี่ยงข้อกฏหมาย

“วรวิทย์ ชัยลิมปมนตรี” ผอ.ออมสินลาออก กระโดดหนีวงล้อมแรงกดดันจ่ายหนี้ชาวนา-ความเสี่ยงข้อกฏหมาย

19 กุมภาพันธ์ 2014


ปรากฏการณ์ประชาชนแห่ถอนเงินจากธนาคารออมสินเมื่อวันที่ 17-18 กุมภาพันธ์ 2557 จำนวน 5 หมื่นล้านบาท แม้จะไม่ทำให้ธนาคารมีปัญหา แต่เป็นสัญลักษณ์ของประชาชนที่ไม่เห็นด้วยกับนโยบายของรัฐบาลในโครงการรับจำนำข้าว ทั้งนี้เป็นผลจากกรณีที่ธนาคารออมสินปล่อยกู้ให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธ.ก.ส.) ผ่านตลาดอินเตอร์แบงก์ (เงินกู้ระหว่างธนาคาร) จำนวน 5,000 ล้านบาท เพื่อไปจ่ายหนี้ให้ชาวนา

ทำให้ “วรวิทย์ ชัยลิมปมนตรี” ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน ประกาศลาออกทันทีหลังจากไปชี้แจงคณะกรรมาธิการการคลัง การธนาคาร และสถาบันการเงิน วุฒิสภา เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2557 เพราะพิษ “จำนำข้าว”

เป็นการกระโดดหนีวงล้อมจากแรงกดดันทั้งปวง

“โครงการรับจำนำข้าว” ของรัฐบาล “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” จึงเป็นเรื่อง”ร้อน”ที่สุดที่สถาบันการเงินไม่กล้าปล่อยกู้เพราะกลัวผิดกฏหมายรัฐธรรมนูญมาตรา 181(3)และ(4) รวมทั้งฉาวที่สุด ที่รัฐบาลเป็นหนี้ชาวนากว่า 1 แสนล้านบาทนานกว่า 5 เดือน เป็นโครงการที่มีกระแสข่าวโจมตีว่ามีการทุจริตมากที่สุด และเป็นโครงการที่รัฐบาลไม่สามารถเปิดเผยข้อมูลการรับจำนำข้าวให้ประชาชนได้รับทราบว่า กว่า 2 ปีที่รับจำนำข้าว บัญชีรายรับ-รายจ่าย สต็อกข้าว ความเสียหายที่เกิดขึ้นเป็นอย่างไร ทั้งๆ ที่มีการร้องขอให้เปิดเผยข้อมูลมาอย่างต่อเนื่อง แต่จนถึงขณะนี้ก็ยังคงเป็นความลับอยู่

หากย้อนกลับไป การปล่อยกู้ของธนาคารออมสินให้ ธ.ก.ส. นั้น ธุรกรรมทำเสร็จเรียบร้อยตั้งแต่วันพฤหัสที่ 13 กุมภาพันธ์ 2557 แม้จะปิดเป็นความลับ แต่ข่าวนี้ก็ถูกปูดขึ้น และข่าวยืนยันว่าธนาคารออมสินได้ปล่อยกู้ให้กับ ธ.ก.ส. แล้ว 5,000 ล้านบาท ขณะที่กระแสในโซเชียลมีเดียก็แรงมากจนทำให้ “วรวิทย์” ต้องออกมาแถลงข่าวด่วนในบ่ายวันอาทิตย์ที่ 16 กุมภาพันธ์ 2557 ว่าได้ปล่อยกู้ให้ ธ.ก.ส. จริง เพื่อให้นำไปเสริมสภาพคล่องเท่านั้น แต่ถ้าอ่านการแถลงข่าวของผู้จัดการธ.ก.ส.ในช่วงนี้จะยืนยันทุกครั้งว่าธ.ก.ส.มีสภาพคล่องเพียงพอ

วรวิทย์ ชัยลิมปมนตรี" ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน แถลงข่าวด่วนเมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2557
นายวรวิทย์ ชัยลิมปมนตรี ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน แถลงข่าวด่วนเมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2557

การแถลงข่าวด่วนเกิดขึ้นเพราะเห็นประจักษ์แล้วว่าจะมีประชาชนแห่มาถอนเงินในวันจันทร์ที่เปิดทำการแน่นอน เพราะรู้อยู่แล้วว่าประชาชน “ไม่เชื่อ” ว่าการปล่อยกู้ครั้งนี้ไม่เกี่ยวข้องกับการจ่ายหนี้ให้ชาวนา

ดังนั้น คำกล่าวอ้างเพื่อเสริมสภาพคล่อง จึงเป็นคำถามว่า “วรวิทย์” เชื่อเช่นนั้นจริงหรือ หรือเพื่อใช้เป็นบันไดหนีไฟ เพราะการดิ้นสุดซอยของรัฐบาลบอกอาการอยู่แล้ว ประกอบกับข่าวที่สื่อนำเสนอว่ากระทรวงการคลังออกหนังสือ Letter of Comfort ให้ ธ.ก.ส. ด้วยแล้ว ย่อมตีความได้ทันที และมากไปกว่านั้นนายแบงก์ย่อมรู้ดีว่าการกู้เงินผ่านอินเตอร์แบงก์ไม่ต้องบอกว่ากู้เงินไปทำอะไร

“วรวิทย์” ชี้แจงว่า “หลังจากเกิดเหตุการณ์ลูกค้าถอนเงิน ผมรู้สึกไม่สบายใจ และเสียใจต่อการตัดสินใจ ช่วงเช้าของวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2557 ผมได้สั่งให้เจ้าหน้าที่บรรจุเรื่องยกเลิกการอนุมัติวงเงินกู้ระยะสั้นให้กับ ธ.ก.ส. 5,000 ล้านบาท ให้ที่ประชุมบอร์ดออมสินพิจารณา ซึ่งบอร์ดออมสินจะมีมติตามบอร์ดบริหารที่อนุมัติมาแล้ว หลังจากบอร์ดใหญ่มีมติยกเลิกวงเงินกู้ ธ.ก.ส. ขั้นตอนต่อไปธนาคารออมสินต้องทวงเงินคืน ส่วนผมแสดงความรับผิดชอบด้วยการยื่นใบลาออก ขอโทษลูกค้าทุกท่าน ใบลาออกจะมีผลบังคับภายใน 30 วัน”

สำหรับ “วรวิทย์ ชัยลิมปมนตรี” เกิดในครอบครัวคนจีนเก่าแก่ในย่านตลาดโบ๊เบ๊ ธุรกิจครอบครัวเป็นกิจการจำหน่ายเสื้อผ้า จากนั้นก็ขยับขยายมาทำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์

“วรวิทย์” จบปริญาตรี ด้านบริหารธุรกิจ (BBA) สาขาการตลาด มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ปี 2535 ปริญญาโทบริหารธุรกิจ (MBA) สาขาธุรกิจระหว่างประเทศ จาก Schiller International University กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ปี 2537

เริ่มทำงานที่บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ ซีแอล สหวิริยา ตำแหน่งเจ้าหน้าที่สินเชื่อ และบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์วอลล์สตรีท จนกระทั่งบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ทั้ง 2 แห่งถูกปิดกิจการในปี 2540 “วรวิทย์” จึงมานั่งตำแหน่งกรรมการ บริษัทขนส่ง (บ.ข.ส.) และในปี 2544 เป็นกรรมการและอนุกรรมการบริหาร องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.)

ระหว่างนี้ “วรวิทย์” เข้าร่วมทีมงานวางแผนนโยบายเศรษฐกิจของ “สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” และนายพันศักดิ์ วิญญรัตน์ ภายใต้การสนับสนุนของ “วราเทพ รัตนากร” รักษาการรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

เมื่อพรรคไทยรักไทยชนะเลือกตั้ง ปี 2544 “วรวิทย์” เข้ามานั่งเป็นกรรมการและกรรมการบริหาร ธนาคารออมสิน, กรรมการและกรรมการบริหารบริษัททิพยประกันภัย, ประธานกรรมการ บริษัทจี แคปปิตอล

ปี 2548 “วรวิทย์” ลาออกจากการเป็นบอร์ดทุกแห่ง เพื่อเข้ามาทำงานที่ออมสินในตำแหน่งรองผู้อำนวยการ และนั่งเป็นบอร์ด 3 แห่ง ได้แก่ กรรมการและกรรมการสรรหาและกำหนดค่าตอบแทน บริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ, กรรมการและประธานคณะกรรมการบริหารการลงทุน บริษัททิพยประกันภัย และกรรมการและกรรมการบริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนธนชาต

นายวรวิทย์ ชัยลิมปมนตรี ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน
นายวรวิทย์ ชัยลิมปมนตรี

ปี 2553 พรรคประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาล ได้รับความไว้วางใจจากนายกรณ์ จาติกวณิช อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.)

เมื่อพรรคเพื่อไทยชนะการเลือกตั้งได้เป็นรัฐบาล ปี 2555 นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รักษาการรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เพื่อนร่วมรุ่นสถาบันวิทยาการตลาดทุนหรือ วตท. รุ่นที่8 ทาบทามให้ “วรวิทย์” ลงสมัครขอรับการสรรหาแทนนายเลอศักดิ์ จุลเทศ อดีตผู้อำนวยการธนาคารออมสินที่ยื่นใบลาออก “วรวิทย์” จึงได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการธนาคารออมสินจนถึงปัจจุบัน

ดังนั้นในสภาวะที่สถานการณ์มี “ความเสี่ยงสูง” การลาออกย่อมเป็นทางออก แต่จะเป็นทางออกของรัฐบาล หรือจะยิ่งทำให้รัฐบาลเจอภาวะวิกฤติการหาเงินกู้หนักขึ้นหรือไม่ ก็ต้องเกาะติดวิกฤติหนี้รัฐบาลที่ค้างจ่ายชาวนาต่อไป ว่า “อาการดิ้นสุดซอย” ของรัฐบาล “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” จะหาเงินจ่ายหนี้ชาวนาได้อย่างไร ในสภาพที่เป็นรัฐบาลรักษาการ ที่อาจจะผิดกฎหมายรัฐธรรมนูญ 181(3) และ (4) จึงทำให้รัฐบาลอยู่ในสภาพถูกทวงหนี้ คือ ไม่มีสถาบันการเงินใดยอมให้กู้เพราะเกรงว่าจะผิดกฎหมาย

ดังนั้น จะด้วยความผิดพลาดหรือความไม่รู้ข้อกฎหมายจึงทำให้รัฐบาล “ยิ่งลักษณ์” เจอทางตัน ทำให้โครงการรับจำนำข้าว ต้องอยู่ในสภาพเจ๊งคามือ

เป็นการพิสูจน์ให้ประชาชนเห็นว่าการบริหารจัดการ”ล้มเหลว” ไม่รู้ว่าเงิน 5 แสนล้านบาทของโครงการนี้หายไปไหน เอาไปทำอะไรบ้าง

ทำให้ประชาชนรับรู้ว่าการทุจริตคอร์รัปชัน ที่บอกว่าเป็นเรื่องไกลตัวนั้น วันนี้มาถึงตัวแล้วและประชาชนได้รับความเสียหายเต็มๆแล้ว ผลกระทบลามเป็นลูกโซ่

และเชื่อว่าโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาล “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” จะเป็นตำนานที่กล่าวขานกันอีกนาน