ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > สมัชชาปฏิรูปฯ ดันรื้อโครงสร้างกรรมการแข่งขันทางการค้า จี้เลิกอุ้ม-คุ้มครองกลุ่มพวกพ้อง

สมัชชาปฏิรูปฯ ดันรื้อโครงสร้างกรรมการแข่งขันทางการค้า จี้เลิกอุ้ม-คุ้มครองกลุ่มพวกพ้อง

8 ตุลาคม 2011


การประชุมสมัชชาปฏิรูปเฉพาะประเด็นฯ 6 ต.ค. 2554
การประชุมสมัชชาปฏิรูปเฉพาะประเด็นฯ 6 ต.ค. 2554

ปัญหาการบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยการแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2542 ที่ล้มเหลว แม้จะมาจากหลายสาเหตุคือ องค์กรขาดความเป็นอิสระ การดำเนินการที่ขาดงบประมาณและบุคลากร ปัญหากรอบภารกิจไม่ครอบคลุมรัฐวิสาหกิจ และปัญหาบทลงโทษไม่เหมาะสมกับความเสียหาย

จากการศึกษาวิเคราะห์เกี่ยวกับอุปสรรคปัญหาการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าว ของ ดร.เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ และสุณีพร ทวรรณกุล (การผูกขาดทางธุรกิจกับการเมือง 2549) เห็นว่า ประเด็นปัญหาหลักเกิดจาก “โครงสร้างของกรรมการ” การแข่งขันทางการค้า ที่สุ่มเสี่ยงต่อการแทรกแซงทางการเมืองและกลุ่มผลประโยชน์ธุรกิจ

นอกจากนี้การศึกษาวิจัยเรื่อง “การปฏิรูปเพื่อลดการผูกขาดและส่งเสริมการแข่งขันในเศรษฐกิจไทย” ของ ดร.เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ ผู้อำนวยผู้อำนวยการวิจัย ด้านการบริหารจัดการระบบเศรษฐกิจ มูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ที่ใช้เป็นเอกสารความรู้ประกอบการพิจารณาร่างมติ สมัชชาปฏิรูปเฉพาะประเด็นเรื่อง “การปฏิรูปนโยบายและกฎหมายเพื่อลดการผูกขาดและสนับสนุนการแข่งขันในเศรษฐกิจไทย” เมื่อวันที่ 6 ต.ค 2554

งานวิจัยชี้ว่าโครงสร้างของคณะกรรมการฯ มีความเสี่ยงที่จะทำให้สำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า ซึ่งเป็นหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายภายใต้กระทรวงพาณิชย์ มีความเสี่ยงต่อการถูกแทรกแซงทางการเมืองอยู่แล้ว ยิ่งมีความเสียงถูกครอบงำโดยกลุ่มผลประโยชน์ทางธุรกิจอีก โดยมาตรา 6 กำหนดให้มีคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า ประกอบด้วย(โครงสร้างคณะกรรมการแข่งขันทางการค้าในปัจจุบัน)

1.รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เป็นประธานกรรมการ 2.ปลัดกระทรวงพาณิชย์เป็นรองประธานกรรมการ 3.ปลัดกระทรวงการคลัง 4.ผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งมีความรู้และประสบการณ์ทางนิติศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ พาณิชยศาสตร์ การบริหารธุรกิจ หรือการบริหารราชการแผ่นดิน มีจำนวนไม่น้อยกว่า 8 คน แต่ไม่เกิน 12 คนซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้ง โดยต้องแต่งตั้งเป็นผู้ทรงคุณวุฒิภาคเอกชนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งเป็นกรรมการ 5.อธิบดีกรมการค้าภายในเป็นกรรมการและเลขานุการ

รายชื่อคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าในปัจจุบัน
รายชื่อคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าในปัจจุบัน ที่มา ทีดีอาร์ไอ

ข้อสังเกตคือ การแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิระบุให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีที่กำหนดใน “กฎกระทรวง” ซึ่งมีข้อหนึ่งกำหนดว่า ในการเสนอชื่อให้สภาหอการค้าและสภาอุตสาหกรรมเสนอชื่อแห่งละ 5 ชื่อ เพื่อให้สำนักงานตรวจสอบคุณสมบัติให้รัฐมนตรีพาณิชย์คัดเลือก 2-3 คน ส่วนกระทรวงการคลังและกระทรวงพาณิชย์เสนอชื่อแห่งละ 2-3 คน เพื่อให้รัฐมนตรีพาณิชย์เสนอชื่อเป็นกรรมการ

ดร.เดือนเด่นชี้ว่าจากบทบัญญัติกฎหมาย และข้อบังคับของกฎกระทรวงเห็นได้ว่าคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าไทยนั้น มีโอกาสจะถูกครอบงำทั้งฝ่ายการเมืองเนื่องจากมีรัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์เป็นประธานกรรมการ และฝ่ายธุรกิจเนื่องจากกฎกระทรวงกำหนดให้สภาหอการค้าและสภาอุตสาหกรรมเป็นผู้เสนอชื่อกรรมการ ซึ่งในทางปฏิบัติประธาน รองประธาน เลขาธิการ หรือรองเลขาธิการของทั้งสองสภาจะเป็นผู้ที่เข้ามาเป็นกรรมการ

“จึงมีโอกาสเป็นไปได้สูงว่า ผู้บริหารเหล่านั้นจะมาจากธุรกิจขนาดใหญ่ โดยเฉพาะสภาอุตสาหกรรม นอกจากนี้คณะกรรมการแต่ละชุดมีวาระการดำเนินงานเพียง 2 ปี เมื่อมีการเปลี่ยนรัฐบาลมักมีผลต่อการเปลี่ยนชุดคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า หลังจากที่ครบวาระดำเนินงานด้วย ทำให้คณะกรรมการฯ มีความเปราะบางมาก เนื่องจากมีอิทธิพลทางการเมือง”

โครงสร้างกรรมการการแข่งขันทางการค้าดังกล่าว ดร.เดือนเด่นระบุว่า แตกต่างจากโครงสร้างที่เป็นสากล โดยทั่วไปแล้วกรรมการแข่งขันทางการค้าจะประกอบด้วยนักเศรษฐศาสตร์ และนักกฎหมายจากมหาวิทยาลัย หรือ บริษัทที่ปรึกษาทางกฎหมายเป็นหลัก ไม่ใช่ตัวแทนจากภาคธุรกิจซึ่งมีผลประโยชน์ทับซ้อน

ตัวอย่างประเทศญี่ปุ่น คณะกรรมการแข่งขันทางการค้าประกอบด้วย ประธานกรรมการ ซึ่งเป็นอดีตข้าราชการสำนักนายกรัฐมนตรี และกรรมการอีก 4 คน ประกอบด้วยนักกฎหมายจากสำนักกฎหมายเอกชน อดีตอัยการสูงสุดองเขต Naha อาจารย์คณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยนาโกย่า และอาจารย์คณะวิศวกรรม ที่มีความเชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์เทคโนโลยี

ส่วนคณะกรรมการแข่งขันทางการค้าของสหรัฐอเมริกา ประกอบด้วยนักกฎหมาย 5 คน ประกอบด้วยอาจารย์คณะนิติศาสตร์จากมหาวิทยาลัย Columbia และ Georgetown นักกฎหมายจากสำนักกฎหมายเอกชน 2 คน และอดีตนักกฎหมายจากสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค 1 คน ทั้งนี้การที่กรรมการแข่งขันทางการค้าของสหรัฐอเมริกา ล้วนประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย เนื่องจากสหรัฐอเมริกามีการบังคับใช้กฎหมายแข่งขันทางการค้ามาเป็นเวลานาน และมีคดีความจำนวนมาก ทำให้มีนักกฎหมายที่มีความเชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์อุตสาหกรรม และกฎหมายการแข่งขันทางการค้าจำนวนมาก

ดร.เดือนเด่นกล่าวถึงกรณีศึกษาจากข้อมูลการร้องเรียนที่ผ่านมาว่า กรรมการแข่งขันทางการค้าบางคนมีความสัมพันธ์ทั้งทางตรงและทางอ้อมกับธุรกิจที่อาจมีพฤติกรรมการค้าที่ไม่เป็นธรรม 4 กรณี ได้แก่

กรณีแรก นายบดินทร์ อัศวาณิชย์ กรรมการแข่งขันทางการค้า ปี 2543 และ ปี 2547 ดำรงตำแหน่งกรรมการบริษัทกฎหมายปูนซีเมนต์ไทย และเป็นนิติกรใหญ่บริษัทปูนซีเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) ซึ่งเคยถูกร้องเรียนเกี่ยวกับการกำหนดราคาปูนซีเมนต์ร่วมกับผู้ประกอบการรายอื่นโดยการนัดกันหยุดการผลิตเพื่อการซ่อมบำรุง

กรณีที่สอง ร้อยโท สุชาย เชาว์วิศิษฐ์ (อดีตอธิบดีกรมการค้าภายใน) ซึ่งเป็นเลขานุการคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า โดยตำแหน่งในปี 2543 มีการพิจารณาประเด็นการผูกขาดธุรกิจโทรทัศน์เคเบิ้ล ซึ่งมีการเรียกร้องการกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมสมาชิกรายเดือนที่สูงเกินควร ในขณะที่ร้อยโทสุชายเป็นกรรมการบริษัทเซเว่น อีเลเว่น บริษัทในเครือเจริญโภคภัณฑ์ด้วย

กรณีที่สาม นายทวี บุตรสุนทร กรรมการกลางว่าด้วยการกำหนดราคาสินค้าและบริการในปี 2543 ขณะนั้นดำรงตำแหน่งกรรมการบริษัททีซีซี โฮลดิ้ง บริษัทลูกกลุ่มแสงโสม ในขณะที่การพิจารณากรณีการร้องเรียนเรื่องการขายพ่วงสุราขาวกับเบียร์ของบริษัทในเครือ

กรณีที่สี่ ดร.วัชระ พรรณเชษฐ์ กรรมการแข่งขันทางการค้า ปี 2545 และในปี 2547 เป็นกรรรมการบริษัทเมเจอร์ ซีนีเพล็ก กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ในขณะที่มีเรื่องร้องเรียนเรื่องการที่โรงภาพยนตร์กำหนดราคาค่าตั๋วชมภาพยนตร์ร่วมกัน

ผังภาพการทับซ้อนของผลประโยชน์ของคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า
ผังภาพการทับซ้อนของผลประโยชน์ของคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า ที่มา ทีดีอาร์ไอ

ภายหลังจาก ดร.เดือนเด่น นำเสนอประเด็นปัญหาเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนของกรรมการคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า ได้มีการประชุมเปิดโอกาสให้หาฉันทามติร่วมกันจากภาคีเครือข่ายต่างๆ โดยมีตัวแทนภาครัฐและรัฐวิสาหกิจ เช่น กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และตัวแทนภาคธุรกิจ เช่น สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย บริษัททรู คอปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) รวมถึงตัวแทนเครือข่ายภาคประชาสังคม เช่น เครือข่ายองค์กรเพื่อผู้บริโภค เครือข่ายความมั่นคงทางอาหาร รวมทั้งประชาชนผู้สนใจทั่วไป

โดยประเด็นสำคัญที่ถกเถียงกันค่อนข้างมาก คือเรื่องของคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า จากเดิมในร่างมติที่กำหนดให้คณะกรรมการควรมีตัวแทนองค์กรผู้บริโภค แรงงาน ตัวแทนสถาบันอุดมศึกษา ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ พาณิชยศาสตร์ การบริหารธุรกิจ อุตสาหกรรมและกฎหมายแข่งขันทางการค้าเป็นองค์ประกอบ

แต่มีความเห็นจากกลุ่มเกษตรกร สื่อ และชุมชนต่างๆว่า ควรมีตัวแทนจากภาคเอกชน สื่อและชุมชน ซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรงจาก พ.ร.บ. ดังกล่าว เข้าร่วมเป็นรรมการการแข่งขันทางการค้าด้วย เช่น มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เสนอให้มีการเพิ่มตัวแทนจากกลุ่มผู้บริโภคหรือภาคประชาชน ส่วนสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยเสนอให้เพิ่มภาคเอกชน ด้านเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกภาคเหนือเสนอให้เพิ่มเกษตรกร ขณะที่เครือข่ายองค์กรผู้บริโภคภาคกลางเสนอให้เพิ่มสื่อชุมชน

จึงนำไปสู่ประเด็นข้อถกเถียงว่าควรนำผู้มีส่วนได้เสียจาก พ.ร.บ. ดังกล่าวเข้ามาเป็นกรรมการหรือไม่ ซึ่งฝ่ายเสียงสนับสนุนเห็นว่าสมควรให้มี เพื่อให้กลุ่มคนดังกล่าวเข้าไปรักษาผลประโยชน์ของตนเอง แต่ฝ่ายคัดค้านให้ความเห็นว่าคณะกรรมการไม่ควรนำผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเข้าร่วม เนื่องจากคณะกรรมการควรมีความเป็นกลาง

ทั้งนี้เสียงส่วนหนึ่งจากฝ่ายคัดค้านได้แก่ นายปรีดา เตียสุวรรณ์ ไม่เห็นด้วยกับการให้สื่อเข้ามามีบทบาทเป็นกรรมการเนื่องจากหน้าที่ของสื่อทำให้เหมาะสมที่จะเป็นที่ปรึกษามากกว่า ขณะที่ ดร.เดือนเด่นเห็นว่าควรให้ผู้ที่มีความรู้ความสามารถ และมีความเป็นกลางเข้าไปทำหน้าที่ในฐานะผู้ดูแลระบบ เนื่องจากคณะกรรมการดังกล่าวมีหน้าที่หลักในการดูแลระบบการแข่งขันให้เกิดประสิทธิภาพและความเป็นธรรม ไม่ใช่มุ่งรักษาประโยชน์ของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่ควรเป็นกลางและเป็นธรรมสำหรับทุกฝ่าย หากมีการเปิดโอกาสให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเข้ามา ฝ่ายอื่นๆก็ต้องได้เข้ามาด้วย ทำให้คณะกรรมการมีขนาดใหญ่มากจนกลายเป็นปัญหา ไม่สามารถหาข้อยุติต่างๆได้

ในท้ายที่สุดที่ประชุมจึงมีมติให้นำกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่างๆ ไปเป็นคณะกรรมการสรรหา และให้คณะกรรมการแข่งขันทางการค้าต้องประกอบไปด้วยผู้ทรงคุณวุฒิในด้านต่างๆ เช่น นักเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัย นักกฎหมาย ผู้เชี่ยวชาญด้านการคุ้มครองผู้บริโภค เพื่อให้การส่งเสริมการแข่งขันทางการค้าเป็นไปอย่างเสรีและเป็นธรรมต่อผู้ประกอบการธุรกิจ ตลอดจนสามารถแข่งขันได้ในตลาดโลกและพร้อมต่อการรวมตัวรวมตัวของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558

พระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า พ.ศ.2542

ร่างพระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า (ฉบับที่…) พ.ศ.…