ThaiPublica > Sustainability > Sustainable Business > “ปรีดา เตียสุวรรณ์” มองความยั่งยืนผ่าน “ความสมดุลของ 3M”

“ปรีดา เตียสุวรรณ์” มองความยั่งยืนผ่าน “ความสมดุลของ 3M”

27 ตุลาคม 2020


นายปรีดา เตียสุวรรณ์ ประธานกรรมการ บริษัท แพรนด้า จิวเวลรี่ จำกัด (มหาชน)

ความยั่งยืน (Sustainability) ผ่านมุมมอง ปรีดา เตียสุวรรณ์ จากแนวคิดความสมดุลของ 3M (Man, Material and Money)

กระแสเรื่องความยั่งยืน (sustainability) กำลังซัดมาเป็นระลอก หลังคลื่นของโควิด-19 ถาโถมเข้ามา องค์กรในทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคธุรกิจ รวมไปถึงประชาชนทุกคน ต่างมุ่งความสนใจและให้ความสำคัญในเรื่องของการสร้างความยั่งยืน ภาคธุรกิจมักถูกมองว่าเป็นผู้ที่แสวงหาแต่ผลประโยชน์และกำไร แต่ในมุมมองของ นายปรีดา เตียสุวรรณ์ ประธานกรรมการ บริษัท แพรนด้า จิวเวลรี่ จำกัด (มหาชน) ผู้นำวงการธุรกิจอัญมณีและเครื่องประดับ และเป็นหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย (Global Compact Network Thailand) ในเครือของ United Nations Global Compact ได้แสดงให้เห็นในอีกแง่มุมหนึ่งของการสร้างความยั่งยืน ที่ภาคธุรกิจจะต้องเข้ามามีบทบาทสำคัญในการดูแลความสมดุลของทรัพยากรโลก โดยอธิบายผ่านมุมมองแนวคิดความสมดุลของ 3M ประกอบด้วย ทรัพยากรมนุษย์ (man) ทรัพยากรธรรมชาติ (material) และ เงิน-ธุรกิจ (money)

นายปรีดาเล่าถึงที่มาของความยั่งยืนว่า แนวคิดนี้เริ่มมาจาก โกลบอลคอมแพ็ก (Global Compact) ซึ่งมีที่มาจากองค์การสหประชาชาติ ส่วนหนึ่งของรากฐานแห่งความยั่งยืนนี้มีที่มาจากประเทศไทยเช่นกัน โดยมีข้อมูลอ้างอิงเกี่ยวเนื่องกับหลักเศรษฐกิจพอเพียง จากเอกสารของโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ ที่เป็นองค์กรที่ให้ความสำคัญในเรื่องของความเหลื่อมล้ำ ความยากจน และหลักสิทธิมนุษยชน โดยมีการรวบรวมความคิดของสหประชาชาติในเรื่องการจัดทำเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งหนึ่งในข้อมูลอ้างอิงนั้น เป็นข้อมูลที่ได้มาจากแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9

ย้อนไปเมื่อปี ค.ศ. 1990 หลังจากสงครามเย็นสิ้นสุดลง ซึ่งเป็นสงครามที่เกิดจากความขัดแย้งด้านอุดมการณ์ระหว่างสหภาพโซเวียตและสหรัฐอเมริกา องค์การสหประชาชาติตระหนักว่า หากต้องการแก้ปัญหาความขัดแย้งอย่างยั่งยืน ต้องมุ่งแก้ไขปัญหาด้านความเหลื่อมล้ำ ซึ่งเป็นสาเหตุที่ก่อให้เกิดความหวาดระแวง ไม่เชื่อถือซึ่งกันและกัน อันนำไปสู่ชนวนสงครามครั้งใหญ่ทั้ง 3 ครั้ง ดังนั้นในยุคหลังสงครามนี้ จึงมีการก่อตั้งองค์กรโกลบอลคอมแพ็ก โดยมีจุดมุ่งหมายในการจัดทำเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เพื่อสร้างความสมดุลให้เกิดขึ้น เมื่อเกิดความสมดุลแล้ว ความเท่าเทียมและความเชื่อใจซึ่งกันและกันก็จะตามมา สิ่งนี้เป็นเป้าหมายหลักของสหประชาชาติเพื่อหลีกเลี่ยงความขัดแย้งในอนาคต

ในการสร้างความสมดุลนั้น ทางสหประชาชาติมองว่าภาคธุรกิจต้องเข้ามามีบทบาทสำคัญในการสร้างและการดูแลรักษาความสมดุล เนื่องจากเป็นองค์กรที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยมีการใช้ทรัพยากรมนุษย์และทรัพยากรธรรมชาติมากที่สุดในโลกใบนี้

แนวคิดความสมดุลของ 3M

นายปรีดาอธิบายแนวคิดความสมดุลของ 3M อันประกอบไปด้วย

  • ทรัพยากรมนุษย์ (man)
  • ทรัพยากรธรรมชาติ (material)
  • เงิน-ธุรกิจ (money)

แนวคิดนี้เป็นการรักษาความสมดุลระหว่างทรัพยากรมนุษย์ ในที่นี้หมายถึง แรงงานและทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งสำคัญคือ การดูแลรักษาทรัพยากรทั้ง 2 อย่างนี้ไว้ให้ดี เพราะเมื่อแรงงานมีคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี ได้รับความคุ้มครองตามหลักสิทธิมนุษยชน พวกเขาก็จะมีความสุขในการทำงาน และสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ควบคู่ไปกับการดูแลทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เราจำเป็นต้องรักษาทรัพยากรของโลก โดยการใช้ทรัพยากรอย่างพอเพียง เพราะการใช้ทรัพยากรที่มากเกินพอดีเป็นการทำลายธรรมชาติและโลกของเรา อย่างเช่น การตัดไม้ทำลายป่า ความต้องการไม้ที่มากเกินไปจนนำไปสู่การบุกรุกป่านี้ ทำให้ธรรมชาติขาดสมดุล ส่งผลกระทบต่อวัฏจักรของน้ำบนโลก ซึ่งจะนำไปสู่การเกิดวิกฤติทางธรรมชาติ เช่น น้ำท่วม ภัยแล้ง ดินถล่ม และภาวะโลกร้อน

หากเราสามารถรักษาสมดุลของ man และ material ไว้ได้ ก็จะก่อให้เกิด money ที่เป็นเงินทุนหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ ทำให้ผู้คนมีกินมีใช้ มีความเป็นอยู่ที่ดี และสามารถร่วมกันพัฒนาสังคมให้ดียิ่งขึ้นต่อไปได้ ดังนั้น การรักษาความสมดุลของทั้ง 3M จึงเป็นปัจจัยหลักที่สำคัญในการสร้างความยั่งยืน

สมดุลของธรรมชาติ คือความท้าทายของทุกฝ่าย

เราทุกคนรู้ว่า ระดับน้ำในทะเลเพิ่มขึ้นตลอดเวลาจากการละลายของภูเขาน้ำแข็ง แม้กระทั่ง ณ ตอนนี้ที่เรากำลังสู้กับโควิด-19 อยู่ แผ่นน้ำแข็งขนาดใหญ่ที่หนักมากถึง 6,000 ล้านกิโลกรัมพังทะลายลงไปในทะเล ทำให้ระดับน้ำในทะเลเพิ่มขึ้นครึ่งมิลลิเมตร และระดับน้ำจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ต่อไปในอนาคต เพราะแผ่นน้ำแข็งค่อยๆ ละลายในทุกวัน แต่สิ่งเหล่านี้กลับไม่เป็นข่าว

ในส่วนของปัญหาก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ที่เกิดขึ้นสะสมต่อเนื่องมากตั้งแต่ปี ค.ศ. 1960 ในช่วงยุคการเติบโตของอุตสาหกรรมหลังสงคราม ตอนนี้ปัญหาเหล่านั้นได้ย้อนกลับมาทำร้ายเรา เช่น ฝุ่น PM2.5 มลภาวะทางอากาศที่ส่งผลกระทบเป็นอันตรายต่อร่างกายมนุษย์ และมีแนวโน้มที่จะรุนแรงมากขึ้น หรือน้ำท่วม ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทุกปี สร้างความเสียหายให้กับชุมชนเป็นอย่างมาก สิ่งเหล่านี้เป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ ที่เกิดจากการขาดสมดุลของธรรมชาติ ดังนั้น องค์กรธุรกิจรวมทั้งประชาชนทุกคนจึงต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลรักษาสมดุลของทรัพยากรต่อไปในอนาคต

สหประชาชาติมองเห็นปัญหาเหล่านี้ จึงได้เข้ามาผลักดันให้เกิดการจัดทำเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เพราะมนุษย์ยังต้องมีกินมีใช้ ต้องการชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ในอนาคตจำนวนของมนุษยชาติจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ถึง 10,000 ล้านคน ผลิตผลจึงต้องเพิ่มมากขึ้นไปด้วยเพื่อตอบสนองความต้องการนั้น แต่กระบวนการผลิตดังกล่าวจะต้องอยู่ภายใต้หลักการรักษาสมดุลของธรรมชาติ

หากเราไม่ดูแลโลกเลย แล้วปล่อยไปแบบนี้อีก 50 ปี โลกจะมีอุณหภูมิที่สูงขึ้นไปถึง 4°C ซึ่งเป็นอันตรายอย่างร้ายแรงต่อการดำรงอยู่ของมนุษย์

นายปรีดากล่าวทิ้งทายว่า “องค์กรธุรกิจในฐานะที่เป็นผู้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจและใช้ทรัพยากรธรรมชาติมากที่สุด จึงมีความรับผิดชอบและหน้าที่ในการดูแลความสมดุลเพื่อความยั่งยืนของทรัพยากรโลก”