ThaiPublica > เกาะกระแส > “ทางเลือก-ทางรอดประเทศไทย ในยุคความปั่นป่วนทางเทคโนโลยี” ต้องสร้างอนาคตด้วยตัวเอง อย่าหวังพึ่งรัฐมากเกินไป

“ทางเลือก-ทางรอดประเทศไทย ในยุคความปั่นป่วนทางเทคโนโลยี” ต้องสร้างอนาคตด้วยตัวเอง อย่าหวังพึ่งรัฐมากเกินไป

18 พฤษภาคม 2018


ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

งานสัมมนาสาธารณะสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ ทีดีอาร์ไอ (TDRI) “ปรับทิศทางเศรษฐกิจไทยให้พร้อมสู่ยุคแห่งความปั่นป่วนทางเทคโนโลยี” เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2561 ที่ผ่านมา มีการอภิปรายปิดท้ายสัมมนาเรื่อง “ทางเลือก-ทางรอดประเทศไทย ในยุคแห่งความปั่นป่วนทางเทคโนโลยี” จากวิทยากรหลายภาคส่วน ที่มาชวนตั้งคำถาม ขบคิด และมองอนาคตไปด้วยกัน เพื่อแสวงหาทางเลือกให้ประเทศอยู่รอดอย่างเป็นธรรมและยั่งยืน

ปลดล็อกกฎหมายช่วยสตาร์ทอัป

ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ปัจจุบันเทคโนโลยีเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วและกำลังเปลี่ยนโลกอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน เป็นการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4  ดังนั้น สิ่งที่ประเทศไทยต้องทำมี 3 เรื่องสำคัญ คือ 1. เปลี่ยนแปลงกฎหมายให้ทันสมัย 2. เตรียมคนกำกับดูแลกฎหมายใหม่ให้เข้าใจโลกยุคเทคโนโลยี และ 3. สร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อให้ประเทศไทยเท่าทันโลก

“ปัญหาของประเทศไทยคือ กฎหมายหลายฉบับล้าหลังเกินไป คนที่จะมาทำสตาร์ทอัปในประเทศไทยแต่ติดขัด เพราะกฎหมายของประเทศไทยไม่รองรับ คนเขียนกฎหมายไม่เคยเห็นสิ่งที่โลกกำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว รัฐบาลจึงคิดว่าต้องจัดการเรื่องกฎหมายให้ได้ ถ้าอยากจะรองรับโลกยุคดิสรัปชัน กฎหมายต้องเปลี่ยนแปลงด้วย”

นอกจากนี้ ยังติดปัญหาไม่มีเมนเตอร์เข้าใจผู้ประกอบการเพียงพอ ที่จะทำให้สตาร์ทอัปเติบโตอย่างแท้จริง ซึ่งเป็นสิ่งที่รัฐบาลอยากจะทำ และกำลังหารือกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเพื่อปลดล็อกปัญหาสำคัญต่างๆ ให้ได้ เช่น เตรียมจะออกสตาร์ทอัปแคมป์วีซ่า ระยะเวลา 6 เดือน อำนวยความสะดวกให้สตาร์ทอัปที่จะเข้ามาตั้งแคมป์ทำธุรกิจในประเทศไทย หลังจากพบว่าไทยเป็นประเทศที่ชาวต่างชาติสนใจเข้ามาลงทุนธุรกิจอยู่ในหลายพื้นที่ เช่น จ.เชียงใหม่ ภูเก็ต กรุงเทพฯ แต่ปัจจุบันเข้ามาโดยใช้วีซ่าท่องเที่ยว

พร้อมกันนั้นยังคาดว่ากระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเตรียมจะเสนอกฎหมายจำนวน 2 ฉบับ คือ กฎหมายสตาร์ทอัป และกฎหมายแซนด์บอกซ์ (sandbox) ภายในเดือนมิถุนายนนี้ ซึ่งจะมีส่วนสำคัญต่อการเกิดสตาร์ทอัปมากขึ้น

ดร.เดชรัต สุขกำเนิด หัวหน้าภาควิชาเศรษฐศาสตร์เกษตรและทรัพยากร คณะเศรษฐศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์

ปรับทักษะฝีมือ-ระบบสวัสดิการสังคมภาค “แรงงาน” รับเทคโนโลยี

ดร.เดชรัต สุขกำเนิด หัวหน้าภาควิชาเศรษฐศาสตร์เกษตรและทรัพยากร คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ชี้ว่า นอกจากการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยีแล้ว โจทย์ของประเทศไทยที่ยังมีความสำคัญคือ ภาคส่วนอื่นๆ เปลี่ยนแปลงทันตามเทคโนโลยีหรือไม่ โดยเฉพาะภาคแรงงานที่กำลังจะถูกทดแทนด้วยเครื่องจักร หรือปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ)

เพราะปัจจุบันการปรับตัวของทุนกับแรงงานมีความเร็วไม่เท่ากัน ภาคแรงงานอาจจะปรับตัวเพื่อไปทำงานในโอกาสใหม่ได้ยากกว่า ตั้งแต่แรงงานที่ไม่มีทักษะมากนัก ไปจนถึงแรงงานที่มีทักษะฝีมือ จึงจำเป็นที่จะต้องมีการปรับตัวเช่นกัน

“วงจรชีวิตของการพัฒนาเทคโนโลยีและวงจรของผลิตภัณฑ์ที่สั้นลง กลายเป็นโจทย์ใหม่สำหรับภาคแรงงานไทย ซึ่งประเทศไทยยังไม่ได้เตรียมความพร้อมในเรื่องนี้ดีพอ และอาจจะทำให้อำนาจต่อรองของแรงงานไทยน้อยลงไปอีก และกระทบถึงคุณภาพชีวิต”

ดร.เดชรัต เห็นว่า การเตรียมตัวรองรับกับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป จะต้องมอง 2 ด้าน ด้านแรก คือ แรงงานจะสู้หรืออยู่กับทุนได้อย่างไร ซึ่งประเด็นสำคัญที่จะสามารถอยู่กับทุนได้คือ “ความจำเพาะเจาะจง” ของคนในแต่ละงาน หรือแม้แต่เรื่องของรสนิยม การสัมผัส ที่อาจจะดีกว่าเอไอ หรือ “การไม่สามารถคาดเดาได้”

“เอไอแม้จะเล่นโกะเก่งอย่างไรก็ตาม แต่ก็เล่นเพื่อเป้าหมายเดียว ทว่าสำหรับมนุษย์ บางครั้งมีความสุขกับการมีเป้าหมายที่หลากหลายกว่า ฉะนั้น จะนำความรู้สึกที่ไม่สามารถคาดหมายได้มาปรับใช้อย่างไร ภาคแรงงานก็อาจจะต้องขบคิด”

ด้านที่สอง คือ ภาครัฐสามารถช่วยภาคแรงงานได้ใน 3 ส่วนสำคัญ คือ

1. “ปรับทักษะฝีมือแรงงาน” ซึ่งปัจจุบันยังไม่เป็นเชิงรุกมากนัก และยังไม่มีการกระจายอำนาจให้กับผู้ใช้แรงงานได้เป็นผู้ตัดสินใจเลือกปรับทิศทางทักษะของตนเอง

2. “ความจำเพาะจงจง” ที่เทคโนโลยีทำไม่ได้ โดยสามารถสร้างได้ในเชิงนโยบาย อย่างเช่น การพัฒนาเชิงพื้นที่ในเรื่องเขตเศรษฐกิจพิเศษต่างๆ ทั้งนี้ จะออกแบบอย่างไรให้เขตเศรษฐกิจพิเศษตอบโจทย์ความเป็นท้องถิ่นด้วย โดยไม่ได้กีดกันเทคโนโลยีจากต่างชาติ แต่คนในท้องถิ่นสามารถทำสิ่งต่างๆ ได้ และทำได้ดีขึ้น

3. “สวัสดิการแรงงานที่เพียงพอ” ทำให้แรงงานสามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีได้ดีขึ้น เพราะคนส่วนหนึ่งในสังคมยังมีความเชื่อว่า หากให้สวัสดิการมากไป คนอาจจะขี้เกียจ แต่หากมองในมุมกลับกัน การมีสวัสดิการหนุนหลังที่เพียงพอ อาจจะแปลว่าสังคมพร้อมแล้วที่จะสร้างความหวังไปพร้อมกัน

“ดังนั้น นอกเหนือจากการไล่ตามเทคโนโลยีในต่างประเทศให้ทัน เราจะต้องให้พี่น้องของเราไล่ตามเทคโนโลยีให้ทันด้วย” ดร. เดชรัต กล่าว

นางสาวสฤณี อาชวานันทกุล กรรมการผู้จัดการด้านการพัฒนาความรู้ บริษัท ป่าสาละ จำกัด

ภาครัฐ-บริษัทขนาดใหญ่ ต้องพร้อมที่จะถูก disrupt

นางสาวสฤณี อาชวานันทกุล กรรมการผู้จัดการด้านการพัฒนาความรู้ บริษัท ป่าสาละ จำกัด เผยว่า จากงานศึกษาดัชนีวิวัฒนาการทางดิจิทัล เมื่อปี 2017 (Digital Evolution Index 2017) โดย Fletcher school, Tufts University สหรัฐอเมริกา พบว่า ประเทศไทยมีการลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง คนไทยยินดีที่จะใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ และใช้โซเชียลมีเดียเป็นจำนวนมาก  ติด 1 ใน 10 ของโลก

อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยยังมีปัญหาเรื่องสภาพแวดล้อมในการกำกับดูแลและการลงทุน โดยเฉพาะด้านระเบียบกฎหมายต่างๆ ยกตัวอย่างเช่น พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์, พ.ร.บ.ดิจิทัลฯ, การแก้ พ.ร.บ. กสทช. ซึ่งส่วนตัวคิดว่ายังไม่ชัดเจนต่อการส่งเสริมผู้ประกอบการหรือนวัตกรรมและการเปลี่ยนแปลง

งานศึกษาระบุด้วยว่า หัวใจสำคัญของการสนับสนุนนวัตกรรมและการเปลี่ยนแปลง คือการสร้างวัฒนธรรมผู้ประกอบการ หรือ “entrepreneurial culture” ให้ได้ นั่นคือความ “กล้าเสี่ยง” แต่ต้องมีโครงสร้างและสภาพแวดล้อมที่รองรับและสนับสนุนให้ผู้ประกอบการ กล้าเสี่ยงในการทำธุรกิจ

“ทำอย่างไรให้คนรู้สึกว่า เขาพูดอะไรที่อาจจะไม่ตรงกับผู้มีอำนาจหรือขัดผลประโยชน์ของบริษัทขนาดนั้น ก็ต้องทำได้ เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะเป็นบริษัทขนาดใหญ่ รัฐบาล หรือหน่วยงานราชการ ก็ต้องพร้อมที่จะถูก disrupt มันถึงจะเกิด disruptive ได้”

นางสาวสฤณี กล่าวเพิ่มเติมว่า โลกในอนาคตจะเดินไปสู่จุดที่เอไอจะเก่งเท่ามนุษย์ หรือ “technological singularity” และเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างต่อเนื่อง สิ่งที่น่ากังวลคือจะมีการนำหุ่นยนต์หรือเอไอเข้ามาทำงานขั้นพื้นฐานแทนมนุษย์ ซึ่งจะยิ่งทำให้คนที่ไม่มีทักษะลำบากมากขึ้น และมีแนวโน้มก่อให้เกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำเพิ่มขึ้น ซึ่งจำเป็นจะต้องคิดใหม่ในหลายเรื่อง หากจะแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำ

“ความท้าทายที่กำลังเกิดขึ้นในเรื่องเอไอหรือดิสรัปชันที่อาจจะทำให้ความเหลื่อมล้ำมีแนวโน้มรุนแรงขึ้น ปฏิเสธไม่ได้ว่ายังไงก็ต้องคาดหวังให้รัฐจัดการ ต้อง smart regulation คือรัฐต้องเล็กลงและกำกับอย่างฉลาด  จึงอยากชวนคิดว่าการค้นคว้าวิจัยในอนาคต จะต้องมองในแง่ที่ว่า รัฐจะ disrupt ยังไง หรือประเทศไทยจะ disrupt ระบบราชการยังไง จะ disrupt ระบบยุติธรรมยังไง จะ disrupt รัฐบาลยังไง จะ disrupt ภาคการเมืองยังไง  ซึ่งเป็นโจทย์ใหญ่ที่น่าสนใจ”

นายเรืองโรจน์ พูนผล ผู้ก่อตั้ง Disrupt University และกองทุน 500 TukTuKs

สร้างอนาคตด้วยตัวเอง อย่าหวังพึ่งภาครัฐมากเกินไป

นายเรืองโรจน์ พูนผล ผู้ก่อตั้ง Disrupt University และกองทุน 500 TukTuKs เห็นด้วยว่า ภาครัฐต้องแก้ไขกฎหมายและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องในการสนับสนุนให้เกิดสตาร์ทอัป โดยเฉพาะการปฏิบัติผ่านระบบราชการ ซึ่งทุกวันนี้ประเทศไทยยังเน้นการสร้างสตาร์ทอัปในเชิงปริมาณมากเกินไป ดังนั้นรัฐบาลต้องมีความกล้าหาญทางการเมือง หรือ “political courage”  คือ อย่าทำให้มาก ทำให้น้อย แต่ทำให้สุดทาง

นอกจากนั้น ยังมีประเด็นสำคัญในเรื่องการปรับทักษะแรงงาน เพราะปัจจุบันภาคเอกชนหลายประเทศไม่พึ่งพาระบบดั้งเดิมอีกต่อไป จากโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และหันมาทำเรื่องการปรับทักษะแรงงานเพื่อสร้าง innovation ecosystem ขณะที่ภาครัฐคอยทำหน้าที่อำนวยความสะดวกให้ หรือลงทุนให้ถูกจุด เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดจริงๆ

อย่างไรก็ตาม คนไทยต้องลุกขึ้นมาสร้างอนาคตด้วยตนเอง อย่าหวังพึ่งภาครัฐมากเกินไป สำหรับคนที่มีลูก เลี้ยงให้เขาเป็นนักสู้ ให้เป็นคนที่เรียนรู้ตลอดชีวิต และปรับตัวให้เท่าทันโลก ให้สามารถเข้าถึงความรู้ที่ดีที่สุดในโลกได้จากโทรศัพท์มือถือหรือจากเทคโนโลยี  ซึ่งบางครั้งพ่อแม่ต้องเชื่อใจลูก ให้โอกาสลูก หากลูกใครรู้จักใช้เทคโนโลยี เขาอาจจะสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงระดับโลกได้

“อนาคตอยู่ในมือคุณทุกคน อยากให้อนาคตเป็นยังไง วิธีที่ดีที่สุดคือลุกขึ้นมาทำอนาคตให้ดีที่สุด แม้แต่เรื่องการเมือง เศรษฐกิจ ก็เป็นเรื่องของทุกคน อนาคตของประเทศไทยก็เป็นเรื่องของทุกคน ถ้าวันนี้คนไทยลุกขึ้นมาช่วยกันทำ ผมว่ามันทำได้ แล้วมันจะไปต่อได้ด้วยความเป็นไทย” นายเรืองโรจน์ กล่าว

ดร.เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ ผู้อำนวยการวิจัยด้านการบริหารจัดการระบบเศรษฐกิจ ทีดีอาร์ไอ

ภาครัฐต้องกล้าเสี่ยง-เลิกแนวคิด “รัฐคุณพ่อรู้ดี”

ดร.เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ ผู้อำนวยการวิจัยด้านการบริหารจัดการระบบเศรษฐกิจ ทีดีอาร์ไอ กล่าวในหัวข้อ “ปรับทัศนคติภาครัฐเพื่อรับความเปลี่ยนแปลงแห่งอนาคต” ว่า ความท้าทายของรัฐยุคใหม่คือ ต้องเข้าใจเทคโนโลยี เข้าใจการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี และเข้าใจผลกระทบของเทคโนโลยี

ขณะที่ผู้กำหนดนโยบายและผู้กำกับดูแลต้องมองผลระยะยาว และกล้ายอมรับความเสี่ยง เพราะตราบใดที่รัฐบาลยังไม่อยากรับความเสี่ยง หรือพยายามควบคุมความเสี่ยงให้ถึงที่สุด เทคโนโลยีที่เป็นประโยชน์ก็จะเกิดขึ้นไม่ได้

นอกจากนั้น รัฐต้องกล้าประกาศส่งเสริมเทคโนโลยีที่เป็นประโยชน์ และเลิกแนวคิดแบบ Nanny State หรือ “รัฐคุณพ่อรู้ดี” ที่กำกับหมดทุกอย่างจนขยับอะไรไม่ได้ เพราะเทคโนโลยีนั้นเหมือนกับเด็กรุ่นใหม่ มีวิธีคิดเป็นของตัวเอง ไม่ควรไปจำกัดกรอบว่าควรจะเป็นอย่างไร

ดร.เดือนเด่น กล่าวด้วยว่า ภาครัฐในอนาคตต้องกล้าเสี่ยงที่จะเปลี่ยน 4 อย่าง คือ

    1. ต้อง “มีหลักฐาน” และเหตุผลในการออกกฎกติกา (regulatory sandbox) เปิดให้ประชาชนรับรู้

    2. ให้ประชาชน หรือผู้มีส่วนได้เสีย “มีส่วนร่วม” ในการออกแบบเทคโนโลยี เพราะเป็นไปไม่ได้ที่หน่วยงานภาครัฐหรือราชการจะรู้ทุกอย่างเกี่ยวกับเทคโนโลยี

    3. ต้อง “มีสมดุล” ระหว่าง benefit กับ cost ประเมินผลดีผลเสียของกฎหมายที่ชัดเจน

    4. ต้อง “มีเอกภาพ” ในการสนับสนุนเทคโนโลยี ระหว่างหน่วยงานต่างๆ ในภาครัฐ ที่ต้องเดินหน้าไปในทิศทางเดียวกัน

”วันนี้เราพูดถึงเทคโนโลยีปั่นป่วน (disruptive technology) แต่เทคโนโลยีทั้งหมดมันจะรุ่งหรือจะร่วง ขึ้นอยู่ที่ทัศนคติของภาครัฐนั่นเอง” ดร.เดือนเด่น สรุปทิ้งท้าย