ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > ศาลปกครองรับคดี “อุทยานราชภักดิ์” พิจารณาเปิดราคากลางสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ฯ

ศาลปกครองรับคดี “อุทยานราชภักดิ์” พิจารณาเปิดราคากลางสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ฯ

28 มีนาคม 2017


เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2560 นายประเสริฐ ภราดรพานิชกุล พนักงานคดีปกครองชำนาญการพิเศษ รักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการกลุ่มออกกฎหมาย ศาลปกครองกลาง ทำหนังสือแจ้งผู้สื่อข่าว สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า (ผู้ฟ้องคดี) เป็นครั้งที่ 2 ตามที่ผู้ฟ้องได้ยื่นคำฟ้องลงวันที่ 20 มกราคม 2560 ต่อศาลปกครองกลางทางไปรษณีย์ลงทะเบียน โดยศาลปกครองกลางได้รับคำฟ้องนี้ไว้ พร้อมกับออกหมายเลขคดีเป็นคดีหมายเลขดำที่ 139/2560 โดยผู้ฟ้องขอให้ศาลปกครองกลาง พิจารณาสั่งให้กองทัพบกเปิดเผยข้อมูลราคากลางการจัดสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์บูรพกษัตริย์แห่งสยามจำนวน 7 พระองค์ (อุทยานราชภักดิ์) หากไม่สามารถเปิดเผยได้ ก็ขอให้ชี้แจงว่าเหตุใดจึงไม่สามารถกำหนดราคากลางได้ และใช้วิธีใดในการพิจารณาการจัดสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ฯ ดังกล่าว เพื่อให้การใช้งบประมาณดังกล่าว ซึ่งมาจากเงินบริจาคและงบกลาง เป็นไปอย่างโปร่งใส คุ้มค่า และไม่มีส่วนต่างของราคามากจนอาจนำไปสู่ปัญหาเรื่องการทุจริต จากนั้นเมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2560 ศาลปกครองกลางได้มีคำสั่งรับคำฟ้องดังกล่าวไว้พิจารณา และคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาล

ที่มาของคดีนี้เกิดขึ้นในช่วงปี 2558 หลังจากที่มีสื่อมวลชนรายงานข่าวเกี่ยวกับการเรียกรับ “ค่าหัวคิว” 20 ล้านบาท จากการจัดสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์บูรพกษัตริย์แห่งสยามทั้ง 7 พระองค์ ต่อมา พล.อ. อุดมเดช สีตบุตร อดีตผู้บัญชาการทหารบก ชี้แจงว่าได้ขอให้เซียนพระ อ. บริจาคเงินทั้งหมดคืนมูลนิธิราชภักดิ์แล้ว ขณะที่ผลการตรวจสอบของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ยืนยันว่าเงินดังกล่าวไม่ใช่ค่าหัวคิว แต่เป็น “ค่าที่ปรึกษา” แต่จนถึงปัจจุบัน ทั้งกระทรวงกลาโหมและกองทัพบกยังไม่ได้เปิดเผยข้อมูลการราคากลางและวิธีคิดราคากลางในการจัดสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ฯ ดังกล่าว

วันที่ 24 พฤศจิกายน 2558 สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้ามอบหมายให้ผู้สื่อข่าวใช้สิทธิตาม พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 ยื่นคำร้องขอข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับโครงการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์จากกองทัพบก 2 รายการ คือ 1. เอกสารผลการจัดซื้อจัดจ้างในปีงบประมาณ 2558 และ 2. เอกสารราคากลางการจัดซื้อจัดจ้างที่เกี่ยวข้องกับโครงการอุทยานราชภักดิ์ทั้งหมด

ต่อมา ศูนย์บริการข้อมูลข่าวสารกองทัพบก ได้ทยอยจัดส่งเอกสารในรายการที่ 1 ให้ผู้สื่อข่าวเป็นระยะจนครบถ้วน แต่สำหรับเอกสารในรายการที่ 2 ไม่ได้นำส่งแต่อย่างใด โดย พล.ต. ปัณณทัต กาญจนะวสิต เลขานุการกองทัพบก ส่งหนังสือแจ้งปฏิเสธ รวม 2 ฉบับ ฉบับแรกลงวันที่ 29 มกราคม 2559 ระบุว่าไม่สามารถจัดส่งเอกสารให้ได้เนื่องจากอยู่ระหว่างการรับตรวจจาก สตง. ควรจะรอให้ สตง. ตรวจรับเสร็จสิ้นก่อน แต่ต่อมา หลังจาก สตง. ตรวจสอบโครงการก่อสร้างดังกล่าวเสร็จสิ้น ได้ส่งจดหมายมาอีกฉบับ ลงวันที่ 20 เมษายน 2559 ระบุว่า ไม่สามารถจัดส่งเอกสารให้ได้เนื่องจากอยู่ในขั้นตอนที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริงอยู่

วันที่ 11 พฤษภาคม 2559 ผู้สื่อข่าวได้ยื่นอุทธรณ์คำปฏิเสธที่จะเปิดเผยข้อมูลของกองทัพบกต่อคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ (สขร.)

วันที่ 29 สิงหาคม 2559 คณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร (กวฉ.) สาขาสังคม การบริหารราชการแผ่นดิน และการบังคับใช้กฎหมาย คณะที่ 1 ที่มีนายขจัดภัย บุรุษพัฒน์ เป็นประธาน ได้ส่งหนังสือแจ้งผลการพิจารณาหนังสืออุทธรณ์ดังกล่าว โดยมีมติให้กองทัพบกเปิดข้อมูลดังกล่าวกับผู้สื่อข่าว เพราะข้อมูลเรื่อง “ราคากลางและวิธีคำนวณราคากลาง” การจัดซื้อจัดจ้าง เป็นสิ่งที่ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม กำหนดให้หน่วยงานของรัฐต้องเปิดเผยให้ประชาชนทราบอยู่แล้ว ขณะที่กองทัพบกทำหนังสือแจ้งผู้สื่อข่าวว่า “ไม่สามารถเปิดเผยราคากลางการจัดสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ฯ เนื่องจากไม่สามารถกำหนดราคากลางได้”

ต่อมาวันที่ 16 สิงหาคม 2559 ไทยพับลิก้าได้รายงานข่าว “กวฉ. สั่งเปิดข้อมูล ‘ราคากลาง’ อุทยานราชภักดิ์ หลังยื่นขอมา 9 เดือน – ทบ. อ้างว่าไม่มี ต้องไปจบที่ศาล”

หลังจากนั้น วันที่ 24 สิงหาคม สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้าได้รับหนังสือจากศูนย์ข้อมูลข่าวสาร สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม ลงวันที่ 22 สิงหาคม 2559 ชี้แจงกรณีการร้องเรียนเกี่ยวกับการปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 ระบุว่า ตามที่สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้าได้ยื่นคำร้องขอข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงของคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงโครงการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์ และรายชื่อโครงการและคู่สัญญาที่เกี่ยวข้องกับโครงการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์ ผ่านศูนย์ข้อมูลข่าวสารของสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหมเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2558 นั้น ศูนย์ข้อมูลข่าวสารฯ ขอชี้แจงดังนี้

1. ในวันดังกล่าว คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงโครงการฯ ได้จัดการแถลงข่าวข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการดำเนินโครงการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์ต่อสื่อมวลชน โดยศูนย์ข้อมูลข่าวสารของสำนักปลัดกระทรวงกลาโหมได้อำนวยความสะดวกให้กับท่านและสื่อมวลชนทุกสาขาเข้ารับฟังการแถลงข่าวดังกล่าวเรียบร้อยแล้ว

2. สำหรับข้อมูลในส่วนที่สำนักข่าวไทยพับลิก้าร้องขอ ซึ่งประกอบด้วยผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงของคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงโครงการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์ ชุดที่มีพลเอก ชัยชาญ ช้างมงคล รองปลัดกระทรวงกลาโหม เป็นประธาน เป็นข้อมูลซึ่งอยู่ในอำนาจการพิจารณาของคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของกระทรวงกลาโหม สำหรับในส่วนของรายชื่อโครงการและคู่สัญญาที่เกี่ยวข้องกับโครงการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์ทั้งหมด เป็นข้อมูลซึ่งอยู่ในอำนาจการพิจารณาของคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของกองทัพบก

จดหมายสำนักปลัดกลาโหม

ทั้งนี้ อาศัยความตามมาตรา 12 แห่ง พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 ซึ่งบัญญัติว่า ในกรณีที่มีผู้ยื่นคำขอข้อมูลข่าวสารของราชการตามมาตรา 11 แม้ว่าข้อมูลข่าวสารที่ขอจะอยู่ในความควบคุมของหน่วยงานส่วนกลาง หรือส่วนสาขาของหน่วยงานแห่งนั้น หรือจะอยู่ในความควบคุมดูแลของหน่วยงานของรัฐแห่งอื่นก็ตาม ให้หน่วยงานของรัฐที่รับคำขอให้คำแนะนำ เพื่อไปยื่นคำขอต่อหน่วยงานของรัฐที่ควบคุมดูแลข้อมูลข่าวสารนั้นได้ ในการนี้จึงขอให้ท่านไปยื่นคำขอข้อมูลข่าวสารดังกล่าวจากศูนย์ข้อมูลข่าวสารของกระทรวงกลาโหมและศูนย์ข้อมูลข่าวสารของกองทัพบกโดยตรงต่อไป ลงชื่อ พลตรี ยุทธนินทร์ บุนนาค กรรมการและเลขานุการ คณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม (อ่านรายละเอียดจดหมาย)

วันที่ 23 กันยายน 2559 ผู้สื่อข่าวได้ใช้สิทธิตาม พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ ยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารกระทรวงกลาโหม ขอคัดสำเนา “รายงานผลการตรวจสอบข้อเท็จจริง โครงการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์” ที่มี พล.อ. ชัยชาญ ช้างมงคล เป็นประธานคณะกรรมการ และวันที่ 27 ตุลาคม 2559 ได้ยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของกองทัพบก ผ่านสำนักงานเลขานุการกองทัพบก เพื่อขอข้อมูลรายชื่อโครงการ คู่สัญญาที่เกี่ยวข้องกับโครงการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์ ตามคำแนะนำของ พล.ต. ยุทธนินทร์ บุนนาค กรรมการและเลขานุการคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่ได้รับหนังสือตอบกลับจากหน่วยงานทั้ง 2 แห่ง

ในส่วนของการยื่นศาลปกครอง วันที่ 9 กันยายน 2559 ผู้สื่อข่าวยื่นคำฟ้องกองทัพบกต่อศาลปกครอง ครั้งที่ 1 ขอให้ศาลปกครองกลางพิจารณาสั่งให้กองทัพบกเปิดเผยราคากลางการจัดสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ฯ ทั้ง 7 พระองค์ หากไม่สามารถเปิดเผยได้ ก็ขอให้ชี้แจงว่าเหตุใดจึงไม่สามารถกำหนดราคากลางได้ และใช้วิธีใดในการพิจารณาการจัดสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ฯ ดังกล่าว เพื่อให้การใช้งบประมาณที่มาจากทั้งเงินบริจาคและงบกลางเป็นไปอย่างโปร่งใส คุ้มค่า และไม่มีส่วนต่างของราคามากจนอาจนำไปสู่ปัญหาเรื่องการทุจริต ซึ่งศาลปกครองก็รับคำฟ้องดังกล่าวไว้เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2559 เวลา 10.36 น. และออกหมายเลขคดีเป็นคดีหมายเลขดำที่ 1421/2559

แต่ศาลปกครองกลางมีคำสั่งไม่รับฟ้องไว้ เนื่องจากเห็นว่า ผู้สื่อข่าว หรือผู้ฟ้อง ยังไม่ได้ดำเนินการแก้ไขความเดือดร้อนหรือความเสียหายตามขั้นตอนหรือวิธีการที่กฎหมายได้กำหนดไว้เป็นการเฉพาะ นั่นคือการใช้สิทธิการตรวจสอบความมีอยู่จริงของเอกสารตามมาตรา 13 และมาตรา 33 แห่ง พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540

ช่วงเดือนธันวาคม 2559 ผู้สื่อข่าวจึงได้กลับไปยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการฯ ขอให้ตรวจสอบความมีอยู่จริงของเอกสาร ซึ่งต่อมา พล.ต.อ. เจตน์ มงคลหัตถี ประธานคณะอนุกรรมการดำเนินการตรวจสอบข้อมูลข่าวสารตามกฎหมายข้อมูลข่าวสารของราชการ ได้ส่งหนังสือแจ้งผลการดำเนินการกลับมาในวันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2559 ระบุว่า เชื่อว่า “กองทัพบกไม่มีเอกสารราคากลางการจัดสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์บูรพกษัตริย์แห่งสยาม จำนวน ๗ พระองค์จริง” ประกอบกับคำให้สัมภาษณ์ของแหล่งข่าวจาก ป.ป.ช. ตามสื่อออนไลน์แห่งหนึ่ง ระบุว่า กองทัพบกได้ยื่นเอกสารดังกล่าวมาประกอบการพิจารณาในคดีที่มีการยื่นคำร้อง ขอให้ไต่สวนโครงการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์ว่าจะมีการทุจริตหรือไม่ ก่อนที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. จะมีมติเป็นเอกฉันท์ 9 ต่อ 0 ยุติการไต่สวนในคดีดังกล่าว ผู้สื่อข่าวจึงยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง เพื่อใคร่ขอให้ช่วยตรวจสอบความมีอยู่จริงของเอกสารดังกล่าว

ล่าสุดเมื่อวันที่ 20 มกราคม 2560 ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวออนไลน์ไทบพับลิก้ายื่นคำฟ้องต่อศาลปกครองเป็นครั้งที่ 2 ครั้งนี้เจ้าหน้าที่ศาลปกครองกลางรับเรื่องและออกหมายเลขคดีเป็นคดีหมายเลขดำที่ 139/2560 จากนั้น วันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2560 นายประเสริฐ ภราดรพานิชกุล พนักงานคดีปกครองชำนาญการพิเศษ รักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการกลุ่มออกกฎหมาย ศาลปกครองกลาง ทำหนังสือแจ้งผู้สื่อข่าวว่า เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2560 ศาลปกครองกลางได้มีคำสั่งรับคำฟ้องดังกล่าวไว้พิจารณาแล้ว และอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาล

[scribd id=343252339 key=key-pzOmcWuqxyMbI1GpJHie mode=scroll]
ป้ายคำ :