ThaiPublica > เกาะกระแส > กวฉ. สั่งเปิดข้อมูล “ราคากลาง” อุทยานราชภักดิ์ หลังยื่นขอมา 9 เดือน – ทบ. อ้างว่าไม่มี ต้องไปจบที่ศาล

กวฉ. สั่งเปิดข้อมูล “ราคากลาง” อุทยานราชภักดิ์ หลังยื่นขอมา 9 เดือน – ทบ. อ้างว่าไม่มี ต้องไปจบที่ศาล

16 สิงหาคม 2016


581119ราชภักดิ์-620x467

หลังจากช่วงกลางเดือนพฤษภาคม 2559 ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้าเดินทางไปที่สำนักงานคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ (สขร.) เพื่อยื่นคำขออุทธรณ์ กรณีที่กองทัพบก (ทบ.) โดย พล.ต. ปัณณทัต กาญจนะวสิต เลขานุการกองทัพบก ส่งหนังสือมาแจ้งว่า “ปฏิเสธจะเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร” หลังจากผู้สื่อข่าวได้ใช้สิทธิตาม พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 มาตรา 11 ยื่นขอข้อมูลเกี่ยวกับโครงการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์ บนพื้นที่โรงเรียนนายสิบทหารบก อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ตั้งแต่วันที่ 24 พฤศจิกายน 2558 โดยเฉพาะกรณี “ราคากลาง” โครงการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์(อ่านประกอบ กรณี “อุทยานราชภักดิ์” สะท้อนความล้มเหลว “การเปิดเผยข้อมูลภาครัฐ” ยุค คสช.)

ล่าสุด มีรายงานข่าวแจ้งว่า เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2559 คณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร (กวฉ.) สาขาสังคม การบริหารราชการแผ่นดิน และการบังคับใช้กฎหมาย คณะที่ 1 ที่มีนายขจัดภัย บุรุษพัฒน์ อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เป็นประธาน ได้ประชุมเพื่อพิจารณาถึงคำขออุทธรณ์กรณีดังกล่าว ก่อนจะมีมติให้ ทบ. เปิดเผยข้อมูล “ราคากลาง” โครงการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์ให้กับผู้สื่อข่าวที่ใช้สิทธิยื่นขอตาม พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฯ เนื่องจากเป็นข้อมูลที่ “ต้องเปิดเผยโดยอัตโนมัติ” ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (กฎหมาย ป.ป.ช.) มาตรา 103/7 รวมถึงมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่เกี่ยวข้อง อยู่แล้ว

“ข้อมูลราคากลางเป็นสิ่งที่ต้องเปิดเผยอยู่แล้วตามกฎหมาย ป.ป.ช. อย่างไรก็ตาม ทาง ทบ. อ้างว่าไม่มีข้อมูลนี้อยู่ในครอบครอง ซึ่งตาม พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฯ ก็กำหนดให้ผู้ยื่นคำขอมีสิทธิไปยื่นฟ้องต่อศาลปกครองเพื่อบังคับให้เปิดเผยข้อมูลต่อไป” รายงานข่าวระบุ

จดหมายซึ่งลงนามโดย พล.ต.ปัณณทัต กาญจนวสิต เลขานุการกองทัพบก ซึ่งส่งมาแจ้งว่า ปฏิเสธที่จะเปิดเผยข้อมูล "ราคากลาง" โครงการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์ ตามที่ผู้สื่อข่าวยื่นคำร้องขอไปตั้งแต่เมื่อกว่า 6 เดือนก่อน
หนังสือจากกองทัพบก (ทบ.) ซึ่งลงนามโดย พล.ต. ปัณณทัต กาญจนะวสิต เลขานุการกองทัพบก ที่ส่งมาแจ้งว่า ทบ. ปฏิเสธที่จะเปิดเผยข้อมูล “ราคากลาง” โครงการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์ ตามที่ผู้สื่อข่าวยื่นคำร้องขอไป

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า โครงการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์ ซึ่งก่อสร้างขึ้นในสมัยที่ พล.อ. อุดมเดช สีตบุตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นผู้บัญชาการทหารบก หรือ ผบ.ทบ. (ระหว่างเดือนตุลาคม 2557 – กันยายน 2558) ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าอาจจะมีความไม่โปร่งใส โดยเฉพาะการเรียกรับ “ค่าหัวคิว” ในการก่อสร้าง ซึ่งที่ผ่านมา ผู้เกี่ยวข้องทั้งในรัฐบาลและกองทัพได้ออกมายืนยันว่าโครงการนี้ “โปร่งใส พร้อมเปิดเผยข้อมูลให้ตรวจสอบได้” แต่จนถึงปัจจุบัน ซึ่งผ่านมา 9 เดือนแล้ว แม้ผู้สื่อข่าวได้ใช้สิทธิตาม พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฯ ยื่นขอข้อมูลเกี่ยวกับโครงการนี้ แต่ยังไม่ได้รับข้อมูล โดยเฉพาะ “ราคากลาง” แต่อย่างใด

นอกจากนี้ ช่วงกลางเดือนพฤษภาคม 2559 ผู้สื่อข่าวยังได้ยื่นร้องเรียนต่อคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ (กขร.) ที่มีนายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน กรณีที่กระทรวงกลาโหมดำเนินการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับโครงการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์ล่าช้า หลังจากผู้สื่อข่าวได้ใช้สิทธิตาม พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฯ มาตรา 11 ยื่นขอข้อมูล รวม 2 รายการ ประกอบด้วย 1. ผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงโครงการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์ของคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง ชุดที่มี พล.อ. ชัยชาญ ช้างมงคล รองปลัดกระทรวงกลาโหม เป็นประธาน และ 2. รายชื่อคู่สัญญาที่เกี่ยวข้องกับโครงการนี้ทั้งหมด จนถึงขณะนี้ยังไม่ได้รับข้อมูลใดๆ จากกระทรวงกลาโหม

สำหรับการตรวจสอบความไม่โปร่งใสโครงการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์ ปัจจุบันเหลือเพียงคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่ยังเดินหน้าตรวจสอบอยู่ แต่ก็ยังไม่มีความคืบหน้าแต่อย่างใด

เส้นทางการเงินอุทยานราชภักดิ์1แก้

กล่าวโดยสรุป กระบวนการขอข้อมูลเกี่ยวกับโครงการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์ของผู้สื่อข่าวสำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า เป็นดังนี้

  • กลางเดือนพฤศจิกายน 2558 เดินทางไปที่ศูนย์บริการข้อมูลข่าวสาร เพื่อขอตรวจดูข้อมูลสรุปผลการจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานภายใน ทบ. ที่น่าจะเกี่ยวข้องกับโครงการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์ โดยเฉพาะ “กรมกิจการพลเรือนทหารบก” และ “กรมยุทธโยธาทหารบก” ในปีงบประมาณ 2558 ซึ่งเป็นปีที่ พล.อ. อุดมเดช เป็น ผบ.ทบ. แต่ได้รับเอกสารไม่ครบถ้วน
  • วันที่ 24 พฤศจิกายน 2558 เดินทางไปที่ศูนย์บริการข้อมูลข่าวสาร ทบ. อีกครั้ง เพื่อใช้สิทธิตาม พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฯ มาตรา 11 ยื่นขอข้อมูลเกี่ยวกับโครงการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์ที่อยู่ในครอบครองของ ทบ. รวม 2 รายการ 1. สรุปผลการจัดซื้อจัดจ้างของกรมกิจการพลเรือนทหารบกและกรมยุทธโยธาทหารบกในปี 2558 ที่ยังได้รับไม่ครบถ้วน และ 2. ราคากลางโครงการที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์
  • วันที่ 30 ธันวาคม 2558 เดินทางไปที่ศูนย์บริการข้อมูลข่าวสาร กระทรวงกกลาโหมเพื่อใช้สิทธิตาม พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฯ มาตรา 11 ยื่นขอข้อมูลจากกระทรวงกลาโหม รวม 2 รายการ ประกอบด้วย 1. ผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงโครงการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์ของคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง ชุด พล.อ. ชัยชาญ และ 2. รายชื่อคู่สัญญาที่เกี่ยวข้องกับโครงการนี้ทั้งหมด แต่ถึงปัจจุบันก็ยังไม่ได้รับเอกสารที่ยื่นขอแต่อย่างใด
  • ปลายปี 2558 – ต้นปี 2559 มีการติดต่อมาจากศูนย์บริการข้อมูลข่าวสาร ทบ. เพื่อแจ้งความคืบหน้าอยู่เป็นระยะๆ และได้จัดส่งเอกสารสรุปผลการจัดซื้อจัดจ้างของกรมกิจการพลเรือนทหารบก และกรมยุทธโยธาทหารบก ในปีงบประมาณ 2558 มาให้จนครบถ้วน แต่เอกสารเกี่ยวกับราคากลาง เจ้าหน้าที่แจ้งว่า ทางหน่วยงานต้นสังกัดใน ทบ. ไม่ได้ส่งมอบมาให้แต่อย่างใด
พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะอดีตผู้บัญชาการทหารบก ที่มาภาพ : http://www.posttoday.com/politic/417627
พล.อ. อุดมเดช สีตบุตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะอดีตผู้บัญชาการทหารบก ผู้ริเริ่มโครงการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์ ที่มาภาพ: www.posttoday.com/politic/417627
  • วันที่ 21 มกราคม 2559 เดินทางไป สขร. เพื่อยื่นร้องเรียน ทบ. กรณีเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับโครงการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์ตามที่ยื่นขอล่าช้า
  • วันที่ 29 มกราคม 2559 ทบ. โดย พล.ต. ปัณณทัต กาญจนะวสิต เลขานุการ ทบ. ได้ส่งหนังสือมาแจ้งว่า กรณีเอกสารสรุปผลการจัดซื้อจัดจ้างของกรมกิจการพลเรือนทหารบก และ กรมยุทธโยธาทหารบก ที่ยังได้รับไม่ครบถ้วน จะเร่งประสานเพื่อจัดส่งให้ แต่กรณีเอกสารราคาราคากลาง ที่อยู่ในครอบครองของ “กรมกำลังพลทหารบก (กพ.ทบ.)” ยังไม่สามารถจัดส่งให้ได้ เนื่องจากทั้งหมดอยู่ระหว่างรับตรวจโดยสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ต้องรอให้ผลการตรวจสอบจาก สตง. เสร็จสิ้นก่อน
  • วันที่ 24 มีนาคม 2559 สตง. ได้สรุปผลการตรวจสอบโครงการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์เสร็จสิ้นแล้ว
  • วันที่ 20 เมษายน 2559 ทบ. โดย พล.ต. ปัณณทัต กาญจนะวสิต เลขานุการ ทบ. ได้ส่งหนังสือมาแจ้งปฏิเสธการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับโครงการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์ตามที่มีร้องขอ ซึ่งขณะนั้นเหลือเพียงเอกสารเกี่ยวกับราคากลาง ทั้งนี้ ในหนังสือของ ทบ. “ไม่ได้แจ้งสิทธิ” ในการยื่นอุทธรณ์คำปฏิเสธการเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร ว่าสามารถทำได้ภายใน 15 วัน ทำให้ระยะเวลาการยื่นอุทธรณ์ได้ขยายออกเป็น 1 ปี ตาม พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 มาตรา 40 วรรคสอง
  • กลางเดือนพฤษภาคม 2559 เดินทางไปที่ สขร. เพื่อยื่นอุทธรณ์ ทบ. กรณีปฏิเสธไม่เปิดเผยข้อมูล “ราคากลาง” การจัดซื้อจัดจ้างที่เกี่ยวข้องกับโครงการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์ และยื่นร้องเรียนกระทรวงกลาโหม กรณีดำเนินการเปิดเผยข้อมูลเรื่องผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงโครงการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์ รวมถึงรายชื่อคู่สัญญาทั้งหมดล่าช้า
  • วันที่ 11 สิงหาคม 2559 กวฉ. สาขาสังคม การบริหารราชการแผ่นดิน และการบังคับใช้กฎหมาย คณะที่ 1 ที่มีนายขจัดภัย บุรุษพัฒน์ อดีตเลขาฯ สมช. เป็นประธาน ได้วินิจฉัยให้ ทบ. เปิดเผยข้อมูล “ราคากลาง” โครงการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์ตามที่ร้องขอ เนื่องจากเป็นข้อมูลที่ต้องเปิดยโดยอัตโนมัติตามกฎหมาย ป.ป.ช. มาตรา 103/7 และมติ ครม. ที่เกี่ยวข้อง อยู่แล้ว