ThaiPublica > เกาะกระแส > เอกสารธนาคารโลก “Vietnam 2035” คู่มือของเวียดนามสู่เศรษฐกิจที่มั่งคั่ง

เอกสารธนาคารโลก “Vietnam 2035” คู่มือของเวียดนามสู่เศรษฐกิจที่มั่งคั่ง

21 กุมภาพันธ์ 2017


รายงานโดย ปรีดี บุญซื่อ

เมื่อเร็วๆนี้ บริษัท PricewaterhouseCoopers (PwC) ได้เผยแพร่รายงานชื่อ The World in 2050 เพื่อคาดหมายการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจของ 32 ประเทศ ที่จะเกิดขึ้นในปี 2050 เศรษฐกิจรวมกันของประเทศเหล่านี้มีสัดส่วนเท่ากับ 85% ของเศรษฐกิจโลก รายงานนี้กล่าวว่า ในอีก 33 ปีข้างหน้า ในบรรดา 7 ประเทศที่เศรษฐกิจจะใหญ่โตที่สุดนั้น 6 ประเทศจะมาจากประเทศที่เศรษฐกิจกำลังเติบโต คือ จีนจะมีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับที่ 1 อินเดีย อันดับที่ 2 และอินโดนีเซีย อันดับที่ 4

รายงาน The World in 2050 กล่าวว่า การเติบโตของเศรษฐกิจโลกจะมาจากการขับเคลื่อนโดยเศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนา เรียกว่ากลุ่มประเทศ E7 ที่ประกอบด้วย บราซิล จีน อินเดีย อินโดนีเซีย เม็กซิโก รัสเซีย และตุรกี โดยในช่วงปี 2016-2050 เศรษฐกิจกลุ่ม E7 จะเติบโตเฉลี่ยปีละ 3.5% ส่วนกลุ่ม G7 ที่ประกอบด้วยชาติที่พัฒนาแล้ว (แคนาดา ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี ญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร และสหรัฐฯ) เศรษฐกิจจะเติบโตเฉลี่ยปีละ 1.6%

ในด้านการเติบทางเศรษฐกิจ เวียดนาม อินเดีย และบังกลาเทศ จะเป็นประเทศที่มีอัตราการเติบโตที่เร็วที่สุด โดยแต่ละประเทศจะเติบโต 5% ต่อปีจนถึงปี 2050 ทำให้เวียดนามเป็นประเทศที่มีการเลื่อนลำดับชั้นของขนาดเศรษฐกิจได้เร็วที่สุด คือจากอันดับที่ 32 ของเศรษฐกิจโลกปี 2016 เป็นอันดับที่ 29 ในปี 2030 และอันดับที่ 20 ในปี 2050 ขณะที่ไทยตกจากอันดับที่ 20 ในปี 2016 เป็นอันดับที่ 22 ในปี 2030 และอันดับที่ 25 ในปี 2050

กลยุทธ์เศรษฐกิจที่ไล่ตามให้ทัน

เวียดนามมีประชากร 92 ล้านคน พื้นที่มีขนาดเท่ากับเยอรมนี และเศรษฐกิจของประเทศเสียหายจากภาวะสงครามที่สิ้นสุดลงในปี 1975 นับจากปลายทศวรรษ 1980 เป็นต้นมา เศรษฐกิจเวียดนามเติบโตในอัตราที่สูง เฉลี่ย 6.4% ต่อปีในทศวรรษ 2000 แม้ว่ารายได้ต่อหัวของประชากรจะยังต่ำกว่าประเทศในเอเชียตะวันออก ปี 2015 เวียดนามมีรายได้ต่อคนที่ 2,111 ดอลลาร์ ระดับเดียวกับประเทศซูดาน แต่ความสำเร็จของเวียดนามในระยะ 30 ปีที่ผ่านมาสร้างความประหลาดใจแก่นักวิเคราะห์ทั่วโลก โดยตั้งคำถามว่า จะอธิบายการเติบโตที่รวดเร็วของเศรษฐกิจเวียดนามอย่างไร

การพัฒนาเศรษฐกิจนั้น นักวิเคราะห์ให้การยอมรับต่อความเห็นของ Douglas North นักเศรษฐศาสตร์ด้านการพัฒนา ที่กล่าวว่า “เราจะอธิบายอย่างไรต่อความยากจนที่ดำรงอยู่ท่ามกลางความมั่งคั่ง หากเรารู้แหล่งที่มาของการสร้างความมั่งคั่ง แล้วทำไมประเทศที่ยากจนจึงไม่นำสิ่งนี้ไปใช้เพื่อสร้างความมั่งคั่งขึ้นมา คำตอบตรงๆ ก็คือ เราไม่รู้ว่าจะเดินไปถึงจุดนั้นได้อย่างไร เราต้องสร้างแรงจูงใจเพื่อให้คนลงทุนในเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ทำให้คนมีทักษะความชำนาญการมากขึ้น และสร้างกลไกตลาดที่มีประสิทธิภาพ การสร้างแรงจูงใจดังกล่าวคือบทบาทของสถาบัน ดังนั้น เราต้องเข้าใจธรรมชาติของสถาบัน และสิ่งนี้จะพัฒนาได้อย่างไร”

ที่มาภาพ : http://image.vietnamnews.vn/uploadvnnews/Storage/Images/2014/10/17/samsung.jpg
ที่มาภาพ : http://image.vietnamnews.vn/uploadvnnews/Storage/Images/2014/10/17/samsung.jpg

เวียดนามดำเนินนโยบายปฏิรูปเศรษฐกิจ เรียกว่า “โด่ย เหมย” (Doi Moi) มาตั้งแต่ปี 1986 ทำให้ปัจจุบัน แม้จะอยู่ในระยะเศรษฐกิจในช่วงเปลี่ยนผ่าน (transitional economy) เวียดนามก็ประสบความสำเร็จในการพัฒนาเศรษฐกิจ จนกลายเป็นประเทศส่งออกสินค้าเกษตรรายใหญ่ของโลก เป็นศูนย์กลางการผลิตด้านอุตสาหกรรม และแหล่งดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติมากขึ้น สงครามทำให้เวียดนามไม่มีพื้นฐานการผลิตด้านอุตสาหกรรมมาก่อน จึงต้องอาศัยกลยุทธ์การทำข้อตกลงการค้าเสรีกับบางประเทศ เพื่อสร้างโอกาสด้านการค้า และดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติ เวียดนามต้องการให้ตัวเองเป็นศูนย์กลาง การผลิตอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้น เช่น สิ่งทอ เครื่องนุ่งห่ม และอิเล็กทรอนิกส์

นิตยสาร Nikkei Asian Review รายงานว่า ความสำเร็จที่โดดเด่นที่สุดของการลงทุนจากต่างชาติในเวียดนาม คือ กรณีของ Samsung Electronics ที่มีโรงงาน 2 แห่งในเวียดนาม ใช้เงินลงทุน 7.5 พันล้านดอลลาร์ จ้างงานคนเวียดนาม 110,000 คน สามารถผลิตโทรศัพท์มือถือของ Samsung ปีหนึ่ง 126 ล้านเครื่อง หรือ 30% ของการผลิตโทรศัพท์มือถือทั้งหมดของ Samsung การส่งออกสินค้าของ Samsung จึงมีสัดส่วนสูงถึง 20% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดของเวียดนาม

เอกสาร Vietnam 2035

เอกสารธนาคารโลก Vietnam 2035

เมื่อเร็วๆ นี้ ธนาคารโลกก็ได้เผยแพร่เอกสารชื่อ Vietnam 2035: Toward Prosperity, Creativity, Equity, and Democracy ที่จัดทำขึ้นมาร่วมกับกระทรวงวางแผนและการลงทุนของเวียดนาม เอกสารนี้กล่าวถึงเป้าหมายของเวียดนาม ที่ต้องการเป็นประเทศรายได้ปานกลางระดับบน เป็นสังคมอุตสาหกรรมสมัยใหม่ และมีเศรษฐกิจบนพื้นฐานความรู้ อาศัยการเป็นสังคมประชาธิปไตยและการสร้างสรรค์มาขับเคลื่อนการพัฒนาและการเติบโตของเศรษฐกิจในอนาคต เป็นประเทศที่ยึดถือหลักนิติรัฐ อย่างมีประสิทธิภาพ และมีกลไกรัฐที่มีความรับผิดชอบ เป็นต้น

เวียดนามใช้นโยบายโด่ยเหมยมาได้ 30 ปี ก็สามารถพลิกฐานะจากประเทศยากจนที่สุดในโลก มาเป็นหนึ่งในประเทศที่ประสบความสำเร็จมากสุดด้านการพัฒนาเศรษฐกิจ ปัจจัยที่สร้างความสำเร็จคือ ผู้นำที่มีวิสัยทัศน์ สังคมมีเป้าหมายร่วมกัน และการมุ่งมั่นต่ออนาคต นับจากปลายทศวรรษ 1980 ปัจจัย 3 ประการดังกล่าวได้หลอมรวมเข้ากับเศรษฐกิจตลาดและเศรษฐกิจโลก ทำให้เวียดนามก้าวเดินบนเส้นทางที่นำไปสู่การเป็นประเทศรายได้ปานกลางในปัจจุบัน

เมื่อมองไปข้างหน้าในปี 2035 หรือ 60 ปีหลังจากการรวมประเทศ เวียดนามต้องการที่จะเป็นประเทศทันสมัย มีการพัฒนาอุตสาหกรรม และประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่สูงขึ้น เอกสาร Vietnam 2035 กล่าวว่า หากความมุ่งมั่นของเวียดนามดังกล่าวจะบรรลุผลได้ นโยบายและสถาบันต่างๆ ของรัฐ จะต้องตั้งอยู่บนเสาหลัก 3 อย่าง คือ (1) การสร้างความสมดุล ระหว่างความรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจกับความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม (2) การส่งเสริมความทัดเทียม และทุกภาคส่วนของสังคมได้ประโยชน์ และ (3) การเสริมสร้างความสามารถและความรับผิดชอบขององค์กรรัฐ

เวียดนาม8

ความรุ่งเรืองที่สมดุล

เวียดนามกำหนดเป้าหมายให้รายได้ต่อหัวของประชาชนเพิ่มปีละ 7% ซึ่งหมายความว่า เศรษฐกิจจะต้องเติบโตปีละ 8% หากเติบโตในอัตรานี้ เมื่อถึงปี 2035 เวียดนามจะเป็นประเทศรายได้ปานกลางขั้นสูง ประชากรมีรายได้เฉลี่ยต่อคน 18,000 ดอลลาร์ ซึ่งเป็นระดับเดียวกันกับเกาหลีใต้เมื่อกลางปีทศวรรษ 2000 นอกจากต้องอาศัยการออมในประเทศที่สูงและการทำงานหนักแล้ว การเติบโตทางเศรษฐกิจจะต้องอาศัยแรงขับเคลื่อนสำคัญที่มาจากผลิตภาพ (productivity) และนวัตกรรม

ปัจจุบัน เวียดนามประสบปัญหาผลิตภาพทางเศรษฐกิจชะงักงัน เพราะการลงทุนของรัฐขาดประสิทธิภาพ เนื่องจากการตัดสินใจไม่เป็นเอกภาพ หน่วยงานรัฐแยกเป็นส่วนๆ ขาดการประสานงาน ส่วนการประกอบการของรัฐวิสาหกิจก็ไร้ประสิทธิภาพ ขณะเดียวกัน โอกาสที่จะรักษาการเติบโตทางเศรษฐกิจให้ต่อเนื่องได้ในระยะยาวก็เผชิญอุปสรรคจากการเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อม ทั้งภาวะน้ำและอากาศเป็นพิษที่เกิดจากขยะทางอุตสาหกรรม และการผลิตไฟฟ้าที่เพิ่มมากขึ้นโดยอาศัยถ่านหิน เวียดนามจึงเป็นหนึ่งในประเทศที่มีความเสี่ยงต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ

นโยบายที่จะทำให้เศรษฐกิจเวียดนามเติบโตได้อย่างเข้มแข็งยาวนาน จะต้องส่งเสริมการเติบโตของวิสาหกิจเอกชน ภาคเอกชนที่เข้มแข็งจะทำให้การเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจกับบริษัทต่างชาติเกิดความลุ่มลึกมากขึ้น และนำไปสู่การถ่ายโอนเทคโนโลยี การมีธุรกิจบริการที่เข้มแข็งมากขึ้น และระบบการขนส่งที่กว้างขวางทั่วประเทศ จะทำให้เวียดนามกลายเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่การผลิตของโลก เมืองใหญ่ๆ เช่น โฮจิมินห์ ฮานอย ไฮฟอง และดานัง จะต้องส่งเสริมให้เกิดเป็นคลัสเตอร์ (cluster) การผลิตทางอุตสาหกรรม เพื่อเชื่อมโยงการผลิตของเวียดนามเข้ากับห่วงโซ่อุปทานการผลิตของโลก

ที่มาภาพ : file:///E:/PDF%20Un/9781464808241.pdf
ที่มาภาพ :file:///E:/PDF%20Un/9781464808241.pdf

ส่งเสริมความเท่าเทียม

เอกสาร Vietnam 2035 กล่าวว่า เวียดนามเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศที่เศรษฐกิจเติบโตสูงควบคู่ไปกับการสร้างความเท่าเทียม เพราะการจัดสรรที่ดินที่ยุติธรรมในปลายทศวรรษ 1980 และการให้บริการพื้นฐานของรัฐด้านสาธารณสุขและการศึกษา แต่เมื่อเวียดนามพัฒนากลายเป็นสังคมเมืองมากขึ้น เชื่อมโยงกับเศรษฐกิจโลกมากขึ้น และมีการผลิตที่ใช้ทักษะมากขึ้น เวียดนามจะต้องดำเนินนโยบาย 2 อย่างควบคู่กัน คือ การสร้างความเท่าเทียม และการทำให้ทุกภาคส่วนของสังคมได้ประโยชน์จากการพัฒนา

นโยบายให้ทุกภาคส่วนได้ประโยชน์ คือ การสร้างความเท่าเทียมทางโอกาส เช่น การลดอุปสรรคต่างๆ ที่กีดขวางโอกาสทางเศรษฐกิจของคนกลุ่มน้อย ในปี 2035 เวียดนามจะมีคนชั้นกลางมากขึ้นเป็น 50% ของประชากร เพิ่มจากปัจจุบันที่ 10% และคนสูงอายุจะมีสัดส่วน 22% จากปัจจุบัน 10% นโยบายสร้างความเท่าเทียมสำหรับคนชั้นกลางและคนสูงอายุ ได้แก่ การขยายระบบบำนาญครอบคลุมคนส่วนใหญ่ ที่อาจรวมถึงการเพิ่มอายุการเกษียณจากงานให้สูงขึ้น ทำให้การศึกษาระดับมัธยมปลายที่มีหลักสูตรวิชาชีพ เปิดกว้างแก่นักนักเรียนทั่วไป แทนที่จะเป็นระบบการสอบเข้าเรียน มีระบบหลักประกันสุขภาพที่คนทั่วไปสามารถเข้าถึงโดยค่าใช้จ่ายไม่แพง เน้นหนักที่ศูนย์บริการสาธารณสุขมากกว่าโรงพยาบาล

ที่มาภาพ : http://www.worldbank.org/en/news/infographic/2016/02/23/vietnam-2035-toward-prosperity-creativity-equity-and-democracy
ที่มาภาพ : http://www.worldbank.org/en/news/infographic/2016/02/23/vietnam-2035-toward-prosperity-creativity-equity-and-democracy

เพิ่มความสามารถขององค์กรรัฐ

เวียดนามจะต้องมีการปฏิรูปการเมืองและองค์กรรัฐ เพื่อให้บทบาทรัฐก้าวทันกับการพัฒนาเศรษฐกิจ บทเรียนจากหลายประเทศแสดงให้เห็นว่า ความสามารถของรัฐในการกำหนดเป้าหมายการพัฒนา และความพยายามเพื่อบรรลุเป้าหมายดังกล่าว เป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลโดยตรงว่าการพัฒนาจะได้ผลลัพธ์ที่ดีขึ้นหรือไม่ สำหรับเวียดนาม ประสิทธิภาพของรัฐขึ้นอยู่กับเสาหลักสำคัญ 3 อย่าง คือ รัฐบาลที่มีระบบราชการที่มีวินัยและยึดหลักความสามารถ การกำหนดนโยบายเศรษฐกิจที่ยึดหลักการของระบบกลไกตลาด และการมีกลไกตรวจสอบถ่วงดุลต่อรัฐบาลโดยประชาชนมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวาง

การเติบโตที่รวดเร็วของเวียดนามในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา (1986-2016) แสดงให้เห็นถึงความสามารถของกลไกรัฐในเรื่องการบริหารจัดการด้านเศรษฐกิจ ที่สามารถเปลี่ยนฐานะประเทศจากที่เคยยากจนมากที่สุดขึ้นมาเป็นประเทศรายได้ปานกลางระดับล่าง แต่สภาพการณ์ในปัจจุบัน ที่ผลิตภาพทางเศรษฐกิจเริ่มชะงักงัน และธุรกิจภาคเอกชนอ่อนแอ สะท้อนถึงจุดอ่อนของเวียดนามในเรื่องประสิทธิภาพของรัฐที่เป็นอยู่ เวียดนามเป็นประเทศที่รัฐเข้ามาทำธุรกิจการค้าอย่างกว้างขวาง ความสำเร็จทางธุรกิจของเอกชนก็ต้องอาศัยการมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับรัฐ

Vietnam 2035 กล่าวว่า สำหรับเวียดนาม การเพิ่มสมรรถนะและความรับผิดชอบของหน่วยงานภาครัฐ ประกอบด้วย การจัดโครงสร้างองค์กรรัฐ ที่เป็นไปตามหลักการ เพื่อให้เวียดนามมีประสิทธิภาพในเรื่องการประสานงานด้านนโยบาย การมีระบบราชการที่ยึดหลักความสามารถ เพื่อประสิทธิภาพของบุคลากรภาครัฐ และการกำหนดนโยบายเศรษฐกิจที่มาจากหลักการของเศรษฐกิจกลไกตลาด ส่วนการสร้างความรับผิดชอบขององค์กรรัฐ ได้แก่ การเปลี่ยนรัฐสภาแห่งชาติให้เป็นรัฐสภาของตัวแทนจากวิชาชีพต่างๆ อย่างแท้จริง โดยมีหน้าที่ตรวจสอบการดำเนินงานของรัฐทั้งหมด เป็นต้น

เวียดนามเป็นประเทศที่พัฒนาเศรษฐกิจล่าช้ากว่าประเทศเอเชียอื่นๆ และต้องเผชิญภาวะเศรษฐกิจการค้าโลกที่แปรปรวนมากกว่าในอดีต ในช่วงทศวรรษ 1970 ประเทศในเอเชียใช้การพัฒนาที่เรียกว่า โมเดล “ฝูงห่านบิน” (Flying Geese) ที่มีรูปทรงแบบตัว V การพัฒนาอุตสาหกรรมอาศัยความได้เปรียบด้านค่าแรง โดยเริ่มต้นจากญี่ปุ่น แล้วขยายตัวสู่ประเทศอุตสาหกรรมใหม่ กลุ่มอาเซียนและจีน การผลิตทางอุตสาหกรรมก็เริ่มต้นเป็นลำดับจาก สิ่งทอ เคมีภัณฑ์ เหล็ก รถยนต์ และอิเล็กทรอนิกส์

แต่ในปัจจุบัน การพัฒนาเพื่อยกระดับอุตสาหกรรมการผลิตของประเทศกำลังพัฒนาอย่างเช่น เวียดนาม นอกจากจะอาศัยโมเดลฝูงห่านบินแล้ว ยังต้องอาศัยโมเดล “การก้าวกระโดดทางเทคโนโลยี” โดยสามารถที่จะผลิตสินค้าเฉพาะอย่างที่ใช้เทคโนโลยีเฉพาะทาง เช่น สมาร์ทโฟน เป็นต้น แต่ความสำเร็จของโมเดลการพัฒนาดังกล่าวต้องอาศัยปัจจัยที่เอื้ออาทรจาก “การค้าโลกที่เสรี” เวียดนามคาดหวังไว้มากว่า ข้อตกลงเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (TPP) จะเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยยกระดับการพัฒนาเศรษฐกิจ เมื่อโดนัลด์ ทรัมป์ ให้สหรัฐฯ ถอนตัวจากข้อตกลง TPP ผู้นำเวียดนามก็ต้องหาหนทางใหม่ที่จะนำพาประเทศให้หลุดพ้นจาก “กับดักประเทศรายได้ปานกลาง”