ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > ข้อพิพาทกรมศุลฯ-เชฟรอน (9): ปมร้อนของ “ปลัดคลัง-อธิบดีกรมศุล” เดิมพันครั้งนี้สูงนัก

ข้อพิพาทกรมศุลฯ-เชฟรอน (9): ปมร้อนของ “ปลัดคลัง-อธิบดีกรมศุล” เดิมพันครั้งนี้สูงนัก

1 พฤศจิกายน 2016


%e0%b8%81%e0%b8%a3%e0%b8%b2%e0%b8%9f%e0%b8%b4%e0%b8%81-%e0%b9%80%e0%b8%8a%e0%b8%9f%e0%b8%a3%e0%b8%ad%e0%b8%99

ปมเรื่อง“เชฟรอนขอคืนภาษี” เป็นผลสืบเนื่องมาจากการมีหนังสือร้องเรียนพร้อมพยานหลักฐานกล่าวหาผู้บริหารระดับสูงศุลกากรว่าตีความอาจไม่ตรงกับข้อเท็จจริง กรณีบริษัท เชฟรอนฯ ซื้อน้ำมันดีเซลจากโรงกลั่นน้ำมันสตาร์ ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง ส่งไปขายที่แท่นขุดเจาะน้ำมันบริเวณไหล่ทวีป ถือเป็นการส่งออก ทำให้กรมสรรพสามิต กรมสรรพากร และกระทรวงพลังงาน ต้องยกเว้นภาษีและเงินนำส่งกองทุนน้ำมันให้กับบริษัทเชฟรอนฯ ตั้งแต่ปี 2554-2559 รวมเป็นเงิน 3,175 ล้านบาท หนังสือร้องเรียนดังกล่าวได้ส่งถึงมือ”กุลิศ สมบัติศิริ”อธิบดีกรมศุลกากร

แต่เมื่อเปรียบเทียบบริษัทที่ขุดเจาะน้ำมันอย่าง บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) ซึ่งประกอบธุรกิจเหมือนกับบริษัท เชฟรอนฯ กลับไม่ได้ใช้สิทธิขอยกเว้นภาษีและค่าธรรมเนียมแต่อย่างใด

%e0%b8%a1%e0%b8%95%e0%b8%b4%e0%b8%84%e0%b8%93%e0%b8%b0%e0%b8%81%e0%b8%a3%e0%b8%a3%e0%b8%a1%e0%b8%81%e0%b8%b2%e0%b8%a3%e0%b8%81%e0%b8%9e%e0%b8%9e

หากย้อนไปถึงที่มาของปมเรื่องนี้ เริ่มต้นขึ้นในปี 2552 ตรงช่วงที่นายสมชัย สัจจพงษ์ ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมศุลกากร ได้เห็นชอบการตีความกรณีบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) นำน้ำมันเชื้อเพลิงไปใช้ที่แท่นขุดเจาะน้ำมันนอกเขต 12 ไมล์ทะเล หรือเขตต่อเนื่อง 24 ไมล์ทะเลว่าเป็นการส่งออก ซึ่งการประชุมครั้งนั้นมีนายวิศาล วุฒิศักดิ์ศิลป์ เป็นประธานคณะกรรมการพิจารณา

ช่วงต้นปี 2554 บริษัท เชฟรอนฯ จึงทำหนังสือมาสอบถามนายประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมศุลกากรขณะนั้น กรณีบริษัท เชฟรอนฯขนน้ำมันไปใช้ที่แท่นขุดเจาะ ถือเป็นส่งออกหรือไม่? นายวิศาล วุฒิศักดิ์ศิลป์ ที่ปรึกษาด้านพัฒนาระบบควบคุมทางศุลกากรปฏิบัติราชการแทนอธิบดีกรมศุลกากร ทำหนังสือตอบข้อหารือบริษัท เชฟรอนฯว่า กรณีดังกล่าว ถือเป็นการส่งออก

จากนั้นบริษัท เชฟรอนฯ ได้ดำเนินการขอคืน หรือ ขอยกเว้นภาษีน้ำมันกับกรมสรรพสามิตเรื่อยมา จนถึงปี 2557 เรือบรรทุกน้ำมันของ “เชฟรอน สผ.”ขนน้ำมันที่แจ้งว่าส่งออกกลับเข้ามาจอดที่ชายฝั่งไทย ถูกด่านศุลกากรสงขลาจับกุมได้ ยอมรับสารภาพ ขอระงับคดี และผลของการจับกุมครั้งนั้น ทำให้บริษัทเชฟรอนฯไม่สามารถมาขอคืนภาษีกับกรมสรรพสามิตนานถึง 1 ปี เนื่องจากกรมศุลกากรได้แนะนำให้บริษัทเชฟรอนฯกลับไปผ่านพิธีการศุลกากรในรูปแบบการค้าชายฝั่ง

ต่อมานายสมชัย สัจจพงษ์ กลับมาเป็นอธิบดีกรมศุลกากรเป็นครั้งที่ 2 ได้มอบหมายให้นางกฤติกา ปั้นประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักกฎหมาย ทำหนังสือแจ้งบริษัทเชฟรอนฯ ให้กลับมาปฏิบัติพิธีการศุลกากรในรูปแบบนำเข้า-ส่งออกจนถึงปัจจุบัน

จนกระทั่ง “กุลิศ สมบัติศิริ”อธิบดีกรมศุลกากร มารับตำแหน่งต่อจากนายสมชัย ได้รับเรื่องร้องเรียนกรณีบริษัทเชฟรอน นายกุลิศ จึงทำหนังสือสอบถามสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา กรณีบริษัท เชฟรอนฯ ซื้อน้ำมันดีเซลในประเทศส่งไปขายที่แท่นขุดเจาะน้ำมัน ถือเป็นการซื้อ-ขายในประเทศหรือส่งออก เพื่อให้แนวปฏิบัติในการผ่านพิธีการศุลกากรมีความชัดเจน ถูกต้อง และเป็นมาตรฐานเดียวกัน และคำตอบที่ได้คือไม่ใช่การส่งออก

ปมขัดแย้งจึงเกิดขึ้นเมื่อ “สมชัย” อดีตอธิบดีกรมศุลกากร ปัจจุบันเป็นปลัดกระทรวงการคลัง เคยมีคำสั่งและตีความว่าเป็นการส่งออก ทำให้รัฐต้องจ่ายคืนภาษีให้เชฟรอนไปกว่า 3,000 ล้านบาท มาวันนี้เมื่อ”กุลิศ” อธิบดีกรมศุลกากรคนปัจจุบัน ได้รับการยืนยันจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาว่า”ไม่ใช่การส่งออก”

เมื่อความเห็นแย้งเช่นนี้ สิ่งที่ได้กระทำมาก่อนหน้านี้ใครจะรับผิดชอบ และจะเอาผิดได้หรือไม่ และจะแก้ปัญหากันอย่างไร

นายสมชัย สัจจพงษ์(ซ้าย) -นายกุลิศ สมบัติศิริ (ขวา)
นายสมชัย สัจจพงษ์(ซ้าย) -นายกุลิศ สมบัติศิริ (ขวา)

ข้อพิพาทระหว่างกรมศุลกากรกับบริษัท เชฟรอน (ไทย) จำกัด จึงเป็นปมร้อนฉ่าของทั้งคนกระทรวงการคลังและคนกรมศุลกากรนำมาสู่ปมขัดแย้งระหว่าง”สมชัย สัจจพงษ์” ปลัดกระทรวงการคลัง กับ “กุลิศ สมบัติศิริ” อธิบดีกรมศุลกากร โดยมีตำแหน่งหน้าที่การงาน รวมทั้งความรับผิดตามกฎหมายที่จะตามมาในอนาคตเป็นเดิมพัน

ด้วยเหตุนี้ฝ่ายที่ถูกร้องเรียนต่างหาหลักฐานมายืนยันการตัดสินใจของตน ขณะที่ฝ่ายรับเรื่องร้องเรียนก็หาข้อมูลประกอบการพิจารณาข้อเท็จจริง จึงทำให้ปมขัดแย้งปะทุขึ้น

เริ่มจากกรมศุลกากรจัดประชุม 3 ฝ่ายเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2559 ตามคำแนะนำสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา มีกรมศุลกากร กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ และกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย ได้ลงมติร่วมกันให้บริษัท เชฟรอนฯ กลับไปปฏิบัติพิธีการศุลกากรในรูปแบบการค้าชายฝั่ง โดยอนุโลม

แม้จะมีคำตอบจากที่ประชุม 3 ฝ่าย แต่ข้าราชการระดับสูงของกระทรวงการคลัง ขอให้ “กุลิศ” ทำหนังสือไปสอบถามคณะกรรมการกฤษฎีกาอีกครั้ง ก่อนที่กรมศุลกากรจะทำหนังสือแจ้งบริษัท เชฟรอนฯอย่างเป็นทางการ แต่ “กุลิศ” ไม่ยอม เนื่องจากกรมศุลกากรปฏิบัติตามคำแนะนำของคณะกรรมการกฤษฎีกาครบถ้วนแล้ว ไม่มีประเด็นข้อสงสัยใดๆที่กรมศุลกากรต้องทำหนังสือไปสอบถามคณะกรรมการกฤษฎีกาอีก

ต่อมา 16 กันยายน 2559 นายประภาศ คงเอียด อดีตผู้พิพากษาศาลภาษีอากรกลาง ซึ่งขอย้ายโอนมาอยู่กระทรวงการคลัง ปัจจุบันได้รับการแต่งตั้งให้เป็นรองปลัดกระทรวงการคลัง ดูแลกรมจัดเก็บภาษี ได้รับมอบหมายจาก” สมชัย สัจจพงษ์” ปลัดกระทรวงการคลังให้จัดการประชุม 7 ฝ่าย มีสำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง, กรมศุลกากร, กรมสรรพสามิต, กรมสรรพากร, สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา, กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ และกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย เพื่อระดมความเห็นจากที่ประชุมและหาประเด็นใหม่ ส่งให้กระทรวงการคลังใช้ประกอบการพิจารณาต่อไป

แต่กระทรวงการคลังยังไม่ทันสรุปผลการวินิจฉัย วันที่ 30 กันยายน 2559 สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ทำหนังสือ 2 ฉบับส่งถึง พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และนายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ขอให้สั่งการกรมสรรพสามิต กรมสรรพากร เรียกภาษีคืนจากบริษัทเชฟรอนฯ 3,000 ล้านบาท พร้อมแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทั้งทางแพ่ง อาญา และวินัยราชการ

เวลาผ่านไป 1 เดือน ปรากฏว่ากระทรวงการคลังยังไม่ได้ดำเนินการตามคำสั่งของ สตง. จึงมีหลายฝ่ายออกมาเคลื่อนไหว กดดันให้รัฐบาล เริ่มจากนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ทีมกฎหมายพรรคเพื่อไทย ทำหนังสือด่วนที่สุด (EMS)ถึง พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ขอให้ใช้มาตรา 44 ปลด”สมชัย”ปลัดกระทรวงการคลังออกจากตำแหน่ง เหมือนกับผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ทำให้นายประภาศ คงเอียด ต้องออกหนังสือสั่งการให้”กุลิศ สมบัติศิริ” อธิบดีกรมศุลกากร ทำหนังสือสอบถามสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาอีกครั้ง ทั้งๆที่ยังไม่มีประเด็นใหม่

ดร.พนัส สิมะเสถียร อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และปลัดกระทรวงการคลัง  ที่มาภาพ : www.mof.go.th
ดร.พนัส สิมะเสถียร อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และปลัดกระทรวงการคลัง
ที่มาภาพ: www.mof.go.th

ถ้าหากต้องทำหนังสือถามไปยังสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎาจริงๆ ปัจจุบันดร.พนัส สิมะเสถียร อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและปลัดกระทรวงการคลัง วัย 84 ปี นั่งอยู่ในตำแหน่งประธานคณะกรรมการกฤษฎีกา คณะที่ 12ซึ่งดร.พนัสเป็นลูกหม้อเก่าแก่ของกระทรวงการคลัง มีประวัติการทำงานที่ไม่เคยด่างพร้อย เป็นข้าราชการตงฉิน ซึ่งรับรู้และเข้าใจเรื่องกรณีเชฟรอนเป็นอย่างดี

เมื่อผู้สื่อข่าวถามประเด็นข้อพิพาทระหว่างกรมศุลกากรและบริษัทเชฟรอนฯ ดร.พนัสกล่าวว่า “พอ ไม่ต้องบรรยายประเด็นคำถามมาก ผมเข้าใจเรื่องทั้งหมดแล้ว ขอให้ผู้สื่อข่าวนำเสนอข่าวนี้ต่อไปเรื่อยๆ อย่าหยุด จนกว่าความจริงจะปรากฏ แต่ผมเองก็อดสงสัยไม่ได้ ทำไมบริษัทเชฟรอนฯ ขนน้ำมันดีเซลไปเติมเครื่องจักรสำหรับการสำรวจและขุดเจาะน้ำมันมากกว่า 500 ล้านลิตร ซึ่งใช้กับเครื่องจักรไม่กี่ตัว ส่วนกรณีที่กระทรวงการคลังจะทำหนังสือมาสอบถามกฤษฎีกา ขอให้กรมศุลกากรรีบส่งประเด็นคำถามมาได้เลย ผมจะรอตอบข้อหารืออยู่”

อย่างไรก็ตามคำสั่งของ”สมชัย สัจจพงษ์”ปลัดกระทรวงการคลัง สั่งตรงไปยังอธิบดีกรมศุลกากร ให้ส่งเรื่องทั้งหมดไปให้คณะกรรมการกฤษฎีกาชี้ขาดใหม่ โดยหวังจะเป็นทางออกของเรื่องนี้

ระหว่างที่หนังสือจากรมศุลกากรกำลังเดินทางไปสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา วันที่ 28 ตุลาคม 2559 มีข้าราชการระดับสูงกระทรวงพลังงาน คือนายวีระศักดิ์ พึ่งรัศมี อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ และนายวิฑูรย์ กุลเจริญวิรัตน์ อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน ออกมาให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน ยืนยันกรณีบริษัทเชฟรอนฯ ส่งน้ำมันดีเซลไปขายที่แท่นขุดเจาะถือเป็นขายในประเทศ กรณีบริษัทเชฟรอนฯส่งน้ำมันดีเซลไปขายที่แท่นขุดเจาะ ต้องเสียภาษีสรรพสามิต และต้องนำส่งเงินเข้ากองทุนน้ำมันด้วย

ที่ผ่านมา“สมชัย สัจจพงษ์” ได้ประกาศตนว่าเป็นมือปราบคอร์รัปชันสมัยนั่งเป็นอธิบดีกรมศุลกากร อาทิ ประกาศปฏิญญาเขมราฐ ล้างบางข้าราชการทุจริตให้หมดไปจากกรมศุลกากร ปัจจุบันยังคงสานต่อการต่อต้านคอร์รัปชันตามนโยบายรัฐบาลซึ่งได้ปรากฎตัวในกิจกรรมต่างๆอยู่เสมอๆ

ปัจจุบันแม้จะนั่งเก้าอี้ปลัดกระทรวงการคลัง “สมชัย” ยังคงได้รับการสนับสนุนช่วยเหลือจากอดีตข้าราชการระดับสูงของกระทรวงการคลังที่เกษียณอายุราชการไปแล้วในด้านต่างๆอยูเนืองๆ

ขณะที่ “กุลิศ สมบัติศิริ” เป็นข้าราชการทำงานรับใช้แผ่นดิน ดูจะไม่มีร่องรอยที่เป็นผลงานให้เฉือดเฉือน

ปมร้อนเชฟรอนจึงเป็นการต่อสู้ใน “หลักการและความถูกต้อง” เมื่อความจริงปรากฏก็ต้องมีคนรับผิดและรับชอบกันไป