เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2559 พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์หลังการประชุมเพื่อมอบนโยบายแก่ผู้บริหารระดับสูงในสังกัดกระทรวงการคลัง ถึงกรณีสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) มีหนังสือถึงกระทรวงการคลังให้เรียกค่าภาษี 3,000 ล้านบาท คืนจากบริษัท เชฟรอน (ไทย) จำกัด ภายหลังจากคณะกรรมการกฤษฎีกาวินิจฉัยว่าการส่งน้ำมันเชื้อเพลิงไปขายที่แท่นขุดเจาะน้ำมันถือเป็นการขายในประเทศ ไม่ใช่ส่งออกว่า
“วันนี้ก็ได้มีการหารือกับผู้บริหารของกระทรวงการคลังเกี่ยวกับเรื่องนี้ด้วย เนื่องจากเป็นเรื่องที่ปรากฏตามสื่อต่างๆ ซึ่งผมสอบถามรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังแล้ว และได้รับคำตอบว่า กระทรวงการคลังได้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนแล้ว และกำลังอยู่ระหว่างการตรวจสอบที่มาของประเด็นปัญหา รวมไปถึงแนวปฏิบัติที่ถูกต้องตามกฎหมายคืออะไร กรณีดังกล่าวต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 หรือไม่ ต้องดำเนินการตามกฎหมายให้ครบถ้วน และที่สำคัญต้องเข้าใจว่า เมื่อมีหน่วยงานภายนอกทำหนังสือร้องเรียนเข้ามา และทางกระทรวงการคลังได้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนแล้ว ก็แสดงให้เห็นถึงความตั้งใจ ทางรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังก็ไม่ได้ละเลย พร้อมชี้แจงเรื่องนี้ต่อหน่วยงานที่ทำหนังสือทักท้วง”
ด้านนายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า เพื่อให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ขณะนี้ได้แต่งตั้งนายประภาศ คงเอียด รองปลัดกระทรวงการคลัง เป็นประธานคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง กรณีกรมศุลกากรตีความว่าการส่งน้ำมันไปขายที่แท่นขุดเจาะน้ำมันถือเป็นการส่งออก ทำให้มีการคืนภาษีแก่บริษัทเชฟรอนฯ แต่อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้มีบางหน่วยงานตีความเป็นการขายในประเทศ บางหน่วยงานตีความว่าเป็นการส่งออก เพื่อให้เกิดความชัดเจน จึงจำเป็นต้องส่งให้คณะกรรมการกฤษฎีกาชี้ขาดเสียก่อน กระทรวงการคลังจะดำเนินการเรียกภาษีคืนต่อไป
อนึ่ง นับจากวันที่ 30 กันยายน 2559 สตง. ได้ทำหนังสือ 2 ฉบับ ถึง พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และนายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้สั่งการกรมสรรพากรและกรมสรรพสามิต เรียกเงินค่าภาษีอากรคืนพร้อมเบี้ยปรับและเงินเพิ่มจากบริษัท เชฟรอน (ไทย) จำกัด กว่า 3,000 ล้านบาท พร้อมกับแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้าราชการที่เกี่ยวข้องฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ทั้งทางอาญา แพ่ง และวินัยราชการ
เวลาผ่านไป 1 เดือน ปรากฏว่ากระทรวงการคลังไม่ได้ดำเนินการใดๆ และยังสั่งการให้อธิบดีกรมศุลกากรทำหนังสือไปหารือคณะกรรมการกฤษฎีกาเป็นครั้งที่ 2 ทั้งๆ ที่กรมศุลกากรได้ปฏิบัติตามความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา กรณีที่แนะนำให้กรมศุลกากรหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องครบถ้วนแล้ว (กรมศุลกากร กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ และกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย) โดยที่ประชุม 3 ฝ่าย ลงมติร่วมกันว่า การขนส่งน้ำมันจากชายฝั่งไทยไปขายที่แท่นขุดเจาะน้ำมันถือว่าอยู่ในราชอาณาจักรไทย ให้ปฏิบัติพิธีการศุลกากรในรูปแบบการค้าชายฝั่งโดยอนุโลม
วันที่ 28 ตุลาคม 2559 สตง. จึงทำหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและปลัดกระทรวงการคลัง ขอให้กระทรวงการคลังยุติเรื่องการทำหนังสือไปสอบถามคณะกรรมการกฤษฎีกา เพราะกรมศุลกากรได้ปฏิบัติตามความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้ว โดยที่ประชุม 3 ฝ่าย สรุปผลการวินิจฉัยแล้วว่าแท่นขุดเจาะน้ำมันอยู่ในราชอาณาจักรไทย ทาง สตง. จึงขอให้กรมศุลกากรพิจารณากรณีกระทรวงการคลังสั่งการให้กรมศุลกากรทำหนังสือไปสอบถามคณะกรรมการกฤษฎีกาตีความอีก ถือเป็นคำสั่งโดยชอบหรือไม่ รวมทั้งกรณีที่ สตง. มีหนังสือถึงกระทรวงการคลังแล้ว แต่ยังไม่ดำเนินการ อาจจะเข้าข่ายละเว้นปฏิบัติหน้าที่ราชการ
มือกฎหมายกรมศุลเขียนบทความแย้ง”หนังสือข้อหารือของตัวเอง”
ระหว่างที่กระทรวงการคลัง คณะกรรมการกฤษฎีกา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กำลังค้นหาคำตอบว่า กรณีบริษัทเชฟรอนฯ ส่งน้ำมันไปขายที่แท่นขุดเจาะที่อยู่นอกเขต 12 ไมล์ทะเล ถือเป็นการส่งออกและมีสิทธิขอคืนภาษีและกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงหรือไม่ ปรากฏว่านางกฤติกา ปั้นประเสริฐ ผู้อำนวยการ สำนักกฎหมาย กรมศุลกากร (สกม.) ที่เคยลงนามหนังสือตอบข้อหารือว่า กรณีบริษัทเชฟรอนฯ ส่งน้ำมันไปขาย ถือเป็นการส่งออก ได้เขียนบทความ “แนวทางการปฏิบัติพิธีการศุลกากรสำหรับการนำของออกไปใช้ในพื้นที่สัมปทานปิโตรเลียมในทะเลอ่าวไทยนอกบริเวณทะเลอาณาเขต” ลงในวารสารวิชาการทางภาษีอากร ศุลกากร แรงงาน และกฎหมายธุรกิจ ประจำเดือนกรกฎาคม 2559 (UNIQUE TAX & BUSINESS LAW JOURNAL) ของสำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยนางกฤติกาได้ทำการวิเคราะห์กรณีการส่งน้ำมันเชื้อเพลิงไปใช้ที่แท่นขุดเจาะนอกเขต 12 ไมล์ทะเล ตามหลักการทางนิติศาสตร์ทั้งหมด 5 ประเด็น ดังนี้
1)พื้นที่ดังกล่าวถือเป็นราชอาณาจักรหรือไม่
2)หากนำของจากประเทศที่สามเข้ามาในพื้นที่ดังกล่าวจะต้องเสียภาษีขาเข้าหรือไม่
3)หากส่งน้ำมันออกไปเพื่อใช้ในพื้นที่ดังกล่าว จะต้องคืนภาษีน้ำมันและเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงหรือไม่
4)จะนำข้อห้าม ข้อจำกัดในการนำเข้า-ส่งออกตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง มาใช้กับการนำของเข้ามาใน หรือส่งของออกจากเขตพื้นที่ดังกล่าวกลับมายังชายฝั่ง หรือไม่
5)หากมีการเคลื่อนย้ายของจากประเทศไทยออกไป หรือจากพื้นที่ดังกล่าวเข้ามา จะต้องปฏิบัติพิธีการนำเข้า-ส่งออก หรือเป็นการซื้อขายในประเทศเคลื่อนย้ายภายใน
แต่ที่น่าสนใจ คือ ประเด็นที่ 2 การนำของจากประเทศที่ 3 เข้ามาในพื้นที่ดังกล่าวต้องเสียภาษีหรือไม่ นางกฤติการะบุไว้ในบทความว่า “เมื่อการนำของจากพื้นที่สัมปทานมายังชายฝั่ง และการนำของจากชายฝั่งไปยังพื้นที่สัมปทาน ไม่ใช่การนำของจากนอกราชอาณาจักรเข้ามาในราชอาณาจักร หรือส่งของในราชอาณาจักรออกไปนอกราชอาณาจักร จึงไม่มีการนำเข้า-ส่งออกที่จะต้องเสียภาษีแต่อย่างใด แต่หากเป็นการนำของจากประเทศที่ 3 เข้ามายังชายฝั่งหรือพื้นที่สัมปทานปิโตรเลียมนอกเขต 12 ไมล์ทะเล ถือเป็นการนำเข้า ต้องเสียภาษี แต่หากเป็นของที่ใช้ในกิจการปิโตรเลียม เช่น เครื่องมือ เครื่องจักร น้ำมัน อุปกรณ์ทุกประเภท ที่ใช้ในการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม ก็อาจได้รับการยกเว้นอากรตามมาตรา 70 แห่งพระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 ได้”
นอกจากนี้ ในประเด็นที่ 3 กรณีการส่งน้ำมันเชื้อเพลิงไปใช้ในพื้นที่ดังกล่าวจะต้องคืนภาษีน้ำมันและเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงหรือไม่ นางกฤติกาให้ความเห็นในบทความว่า “ในการคืนภาษีน้ำมันและเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงของกรมสรรพสามิต จะคืนเมื่อมีการส่งออกตามกฎหมายศุลกากร ดังนั้น เมื่อกรมศุลกากรมีความเห็นว่า การนำของจากพื้นที่สัมปทานมายังชายฝั่งและการนำของจากชายฝั่งไปยังพื้นที่สัมปทาน ไม่ใช่การนำของจากนอกราชอาณาจักรเข้ามาในราชอาณาจักรหรือของในราชอาณาจักรออกไปนอกราชอาณาจักร ผู้เขียนจึงเห็นว่าไม่สามารถคืนภาษีน้ำมันและเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงได้ อย่างไรก็ตาม กรณีดังกล่าวเป็นเรื่องที่กรมสรรพสามิตสามารถพิจารณาตามอำนาจหน้าที่ต่อไปได้”
ประเด็นสุดท้าย หากมีการเคลื่อนย้ายของจากประเทศไทยออกไป หรือจากพื้นที่ดังกล่าวเข้ามา จะต้องปฏิบัติพิธีการนำเข้า-ส่งออก หรือเคลื่อนย้ายภายใน ประเด็นนี้ นางกฤติการะบุว่า “การพิจารณาน่าจะเหมือนกันกับประเด็นที่ 2 กล่าวคือ เมื่อการนำของจากพื้นที่สัมปทานเข้ามายังชายฝั่งและการนำของจากชายฝั่งไปยังพื้นที่สัมปทานไม่ใช่การนำของจากนอกราชอาณาจักรเข้ามาในราชอาณาจักรหรือของจากราชอาณาจักรออกไปนอกราชอาณาจักร จึงไม่มีการนำเข้า-ส่งออก ดังนั้น จึงไม่ต้องปฏิบัติพิธีการนำเข้า-ส่งออก แต่ปฏิบัติพิธีการในรูปแบบการค้าชายฝั่งตามมาตรา 64-71 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469มาใช้โดยอนุโลม”
อนึ่ง นางกฤติกา ปั้นประเสริฐ ผู้อำนวยการ สำนักกฎหมาย กรมศุลกากร (สกม.) เป็นอาจารย์สอนวิชากฎหมายในหลายมหาวิทยาลัย
อ่านเพิ่มเติม : บทความการส่งของออกไปใช้ในเขตพื้นที่สัมปทานปิโตรเลียมที่นี่