ThaiPublica > คนในข่าว > “ณภัทร จาตุศรีพิทักษ์” ชีวิตที่เลือกได้ “make a difference” เชื่อมเศรษฐศาสตร์ภาษาคนกับโลกที่เป็นจริง

“ณภัทร จาตุศรีพิทักษ์” ชีวิตที่เลือกได้ “make a difference” เชื่อมเศรษฐศาสตร์ภาษาคนกับโลกที่เป็นจริง

11 กรกฎาคม 2016


“ณภัทร จาตุศรีพิทักษ์” หรือ “คิด” ลูกชายคนโตของคุณพ่อที่ชื่อ “ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” รองนายกรัฐมนตรี หัวหน้าทีมเศรษฐกิจในรัฐบาลปัจจุบัน มีบุคลิกสุขุมนุ่มลึก สูงยาวเข่าดีเหมือนดร.สมคิด

แต่ที่มากว่านั้นคือ เขาเป็นนักเศรษฐศาสตร์รุ่นใหม่ที่ขยัน ใฝ่รู้ ไฟแรง และเป็นที่ภาคภูมิใจของครอบครัว ทั้งคุณพ่อและคุณแม่ อนุรัชนี จาตุศรีพิทักษ์

ปัจจุบัน “คิด”กำลังศึกษาปริญญาเอกด้านเศรษฐศาสตร์ประยุกต์ และเป็นนักวิจัยประจำสถาบันความเปลี่ยนแปลงของโลกที่มหาวิทยาลัยมินนิโซตา(University of Minnesota) รวมทั้งเขียนบทความมุมมองด้านเศรษฐศาสตร์ผ่านเว็บไซต์ settakid.com และเป็นคอลัมนิสต์ประจำสำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า

ขณะที่อีกด้านหนึ่งของชีวิตของว่าที่ด็อกเตอร์ “คิด-ณภัทร” เขาเข้าสู่ประตูวิวาห์กับ”วณิศรา บุญยะลีพรรณ” เมื่อกรกฎาคมปีที่แล้ว ทุกวันนี้ แม้จะใช้ชีวิตที่อเมริกาเป็นส่วนใหญ่ กลับบ้านแค่ปีละหนสองหน แต่ล่าสุด เขาบินกลับมาเยี่ยมครอบครัว และได้มาร่วมเป็นหนึ่งในวิทยากรงานเสวนา “ Big Data @ Life : ชีวิตผูกติดข้อมูล สู่อนาคตประเทศไทย 4.0”

“คิด” บอกว่า “..ในโลกปัจจุบัน ข้อมูลเป็นเรื่องสำคัญมาก”

ณภัทร จาตุศรีพิทักษ์7

และนี่คือการให้สัมภาษณ์พิเศษกับไทยพับลิก้าของ “คิด” “ณภัทร จาตุศรีพิทักษ์”

ไทยพับลิก้า : เล่าประวัติส่วนตัวนิดหนึ่ง

จริงๆ แล้วผมไม่ได้โตเมืองนอกนะครับ ผมโตเมืองไทย เรียนจบสาธิตจุฬาฯตั้งแต่อนุบาล แล้วถึงค่อยไปต่อมัธยมปลายที่สหรัฐอเมริกา หลังจากนั้นไปเรียนต่อปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยคอร์เนลล์ (Cornell University) ด้านเศรษฐศาสตร์กับเลข

ตอนแรกไม่ได้ชอบเรียนเลขขนาดนั้น เพราะเมืองไทยเรียนไม่ค่อยสนุก เวลาเรียนเลขก็แค่ว่าแค่ทำโจทย์ ไม่รู้ว่าทำไปทำไม ทำเพื่อไปสอบให้เสร็จ แต่พอไปที่โน้น เขาบอกเลยว่าถ้าเรียนเศรษฐศาสตร์ยังไงก็ต้องเรียนเลข เพราะเป็นวิชาที่กระทบคนจำนวนมาก ว่าคุณต้องมีความแม่นยำมากๆ ว่าทำนโยบายอะไร แล้วมันจะต้องไม่ย้อนศร ถึงแม้ว่ามันจะย้อนกันในทุกวันนี้ เพราะมันยาก จึงตัดสินใจเรียนเลขควบคู่ไป

เศรษฐศาสตร์ที่โน้นเขาค่อนข้าง…คิดว่าไม่ได้เป็นอะไรที่พูดๆ ไปแล้วมันได้ หรือจะทำนโยบายอะไรก็ทำได้ มันต้องมีความคิดในเชิงวิทยาศาสตร์ปนไปด้วยว่าทำอย่างนี้แล้วจะเกิดอะไรขึ้นจริง คนไหนได้ประโยชน์หรือเสียประโยชน์

หลังจากนั้นก็ไปเรียนต่อปริญญาโทที่มหาวิทยาลัยจอนส์ ฮอปกินส์ (Johns Hopkins University) ด้านเศรษฐศาสตร์ระหว่างประเทศ ตอนนั้นมันกำลังมาแรง เรียนแล้วสนุกมากครับ เพราะไม่ใช่โรงเรียนที่เป็นวิชาการมาก คนส่วนใหญ่ที่มาเรียนเป็นคนทำงานมาแล้วหลายปี คนต้องการมาเรียนอะไรที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนโลก ก็มีเพื่อนๆเป็นทั้งทหาร นายธนาคาร ทูต ทำให้ได้มุมมองหลายมุมมอง เพราะเวลาเราดูเศรษฐกิจโลก ไม่ได้ดูแค่เรื่องเศรษฐกิจ แต่มีเรื่องการเมืองระหว่างประเทศ มีเรื่องกฎหมายระหว่างประเทศ เรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ผมชอบมาก สนุกมาก เป็นมุมมองที่มีค่ามาก ตอนแรกไม่ไปเรียนโคลัมเบีย โดนคุณพ่อว่า (หัวเราะ) ทำไมไม่ไปเรียนที่มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย (Columbia University) ผมบอกว่าที่นี่ดีกว่า เลยตัดสินใจไป

ไทยพับลิก้า : ดีที่รู้ว่าชอบอะไร

ก็นานเหมือนกันกว่าจะรู้ว่าชอบหรือไม่ชอบ มารู้ก็ตอนมาเรียนสายนี้ ไม่รู้จนกระทั่งมาเรียนที่จอห์นส์ ฮอปกินส์ เพราะผมไปเป็น TA (Teaching Assistant) ในคลาสหนึ่ง ที่ใช้เศรษฐมิติ เพื่อดูว่านโยบายต่างๆ มีผลจริงๆ แค่ไหน ดูว่าคุณทำนโยบายการศึกษา คุณเสียเงินเท่านี้ ได้ผลลัพธ์ยังไง แล้วดูว่ามีผลยังไง คุ้มจริงหรือเปล่า ฟังดูน่าจะใช้การได้ แต่ไม่ค่อยมีคนทดสอบว่า ที่ทำไปแล้วคืนทุนไหม เด็กฉลาดขึ้นไหม สมมติเราแจกไอแพดเด็ก เกิดอะไรขึ้นกับผลสำเร็จในการเรียนเด็ก

พอ TA คลาสนั้นไป ก็ได้เห็นว่าจริงๆ แล้วทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ประยุกต์ได้ใกล้ความจริงกว่าที่ผมนึกไว้ ตอนแรก สายนี้ค่อนข้างเป็นนามธรรม ทฤษฎีเยอะ โดยเฉพาะนักเศรษฐศาสตร์รุ่นเก่าๆ ทฤษฎีต้องมาก่อน เพราะว่าข้อมูลไม่ค่อยมี แต่เดี๋ยวนี้ข้อมูลดีขึ้นเยอะมาก เพราะฉะนั้น ไม่มีความจำเป็นที่ต้องทฤษฎีอย่างเดียวแล้ว วันนี้มันต้องมารวมกันว่าคุณทำอย่างนี้แล้วจริงหรือเปล่า แล้วหลายๆครั้งที่ทำไปพบว่าเปลืองเงินมาก ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาก็เห็นว่าเป็นช่องหนึ่งที่ผมสามารถ make a difference ได้ในฐานะนักเศรษฐศาสตร์ ก็เลยสนใจ

จริงๆตอนนั้นอยาก make a difference มีโครงการไปสร้างบ้านตามชนบท แต่พอลองๆคิดดูพบว่า ผมไม่ได้เป็นคนสร้างบ้านเก่งที่สุด มีคนเก่งกว่าผมเยอะมากในการไปช่วยสร้างบ้าน พอเห็นจุดนี้แล้วผมคิดว่าเป็นจุดหนึ่งที่ผมทำได้ และน่าจะทำได้ดี ก็เลยเอาจริงด้านนี้ ลองสมัครงานไปเป็นผู้ช่วยวิจัยที่ Harvard Kennedy School เป็นโรงเรียน Public Policy นโยบายสาธารณะ ที่นั่นส่วนใหญ่เป็นนักเศรษฐศาสตร์แทบทั้งหมด ก็จะดูว่านโยบายแต่ละด้านมีผลแค่ไหน

ผมไปทำให้อาจารย์สองท่าน ท่านหนึ่งทำเรื่องนโยบายการศึกษา อีกท่านทำเรื่องนโยบายสิ่งแวดล้อมกับสุขภาพ คือคนละสาขากันนะครับ แต่เนื้องานจริงๆ ใช้เศรษฐศาสตร์ดันทุกด้าน

นายณภัทร จาตุศรีพิทักษ์
นายณภัทร จาตุศรีพิทักษ์

ที่โน้นเขาให้ความสำคัญกับมลภาวะทางอากาศมาก ถึงขั้นสร้างกฎหมาย เขาบอกว่าเขาคิดว่าทำไมถึงต้องห้ามปล่อยเกิน 15 มิลลิกรัมต่อลูกบาศก์เมตร เขาคิด…ทำไมต้องเป็นเลข 15 มายังไง แล้วกฎหมายมายังไง กฎหมายมาได้เพราะมีงานวิจัยบอกว่า ถ้าเกิน 15 อีกนิดเดียว คนจะตายกี่คน แล้วเขาก็ให้อาจารย์ผมดูว่าชีวิตคนคนหนึ่งมีมูลค่าทางเศรษฐกิจประมาณเท่าไหร่ เชื่อไหมครับ ชีวิตคนหนึ่งคนมีค่าโดยเฉลี่ยประมาณ 6-7 ล้านเหรียญสหรัฐ ฉะนั้น ถ้าคุณลดมลภาวะทางอากาศได้นิดเดียว หลายคนอาจจะมองว่าช่างเถอะ มันนิดหน่อย แต่อาจจะมีคนเสียชีวิตได้เพราะสูดมลภาวะเข้าไป โดยเฉพาะคนแก่หรือเด็ก เขาให้ความสำคัญกับชีวิตคนมาก อันนี้ผมยิ่งชอบมาก

แต่ก็มีคนด่าเยอะมากว่า ทำไมนักเศรษฐศาสตร์ชอบเอาเงินตรามาแปะบนชีวิตคน ก็จะมีคนพวกหนึ่งไม่เห็นด้วย แต่ถ้าถามผม ก็จริงนะครับ เราไม่ควรเอาเงินไปวางบนหัวคนอื่น แต่มันก็ไม่ค่อยมีวิธีอื่น ถ้าสมมุติเราจะดูว่านโยบายไหนคุ้มเงิน ถ้าดูเรื่องเงินนะครับ ก็ต้องเอาเงินไปแปะเหมือนกัน

พอทำด้านนี้ไป ผมก็เห็นว่ามีช่องทางในการเชื่อมระหว่างด้านวิชาการกับด้านความเป็นจริงของโลก มันใกล้กว่าที่นึกไว้ แต่ที่นี่ไม่ค่อยแน่ใจ ที่โน้นค่อนข้างใกล้มาก ถึงขั้นที่ว่ามีเทศบาลมาติดต่อให้ลองวิจัยดูว่าทำแล้วเกิดจริงไหม

คือมันมีทัศนคติที่ว่า ภาครัฐอยากทราบด้วยเหมือนกันว่าสิ่งที่ตัวเองทำนั้นใช้การได้หรือเปล่า เขาไม่ได้แค่มาจ้างให้ดูว่าจะทำอย่างไร แต่จ้างเพื่อให้ติดตามผลว่าที่ทำไปแล้วใช้การได้หรือเปล่า เขาจะได้ปรับปรุง

หลังจากนั้นก็ไปสมัครเข้าเรียนปริญญาเอก แต่เลือกไปที่มหาวิทยาลัยมินนิโซตา เพราะว่าเขามีโปรแกรมด้านมหภาคค่อนข้างแข็งมาก แล้วมีอาจารย์ที่ปรึกษาคนหนึ่งที่ผมเลือก เขาเป็นเซียนด้านนโยบายการศึกษาในประเทศกำลังพัฒนา

เพราะผมมองว่าประเทศที่กำลังพัฒนาในอนาคต ไม่มีทางพัฒนาไปอีกได้ ถ้าระบบการศึกษายังอยู่กับที่ แล้วการศึกษาหลายที่ คนไม่มีทัศนคติมองว่ามันเป็นวิทยาศาสตร์ คนมักจะมองเพียงว่าเป็นความเชื่อว่าคุณควรจะสอนอะไรเด็ก คุณควรมีอุดมการณ์อะไรให้เด็กเรียน แต่ไม่เคยมองในเชิงว่าอะไรใช้การได้ อะไรใช้การไม่ได้ อะไรคุ้มไม่คุ้ม ผมก็เลยลองมาเรียนดู น่าจะเกิดอะไรดีๆ ขึ้น อีกอย่างภรรยาผมก็ได้งานที่มินนิอาโปลิสด้วยก็เลยไปด้วย

ไทยพับลิก้า : ที่บอกว่าทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ในอดีตบางอย่างก็ไม่สามารถใช้ได้ปัจจุบัน

บางอย่างก็ยังใช้ได้นะครับ แต่เพราะปัจจุบันข้อมูลเยอะขึ้น จึงมีโอกาสเอาทฤษฎีเก่าๆ มาประยุกต์ใช้กับโลกจริง ดูว่ายังจริงอยู่หรือเปล่า บางทีก็จริง บางทีก็ไม่จริง เศรษฐศาสตร์เป็นวิทย์ที่สุดในสายศิลป์ ก็ต้องมีการทดลอง ก็มีเยอะขึ้น รุ่นผมสนใจข้อมูล Big Data มากกว่ารุ่นเก่านิดหนึ่ง จริงๆทุกอย่างก็ยังอิงทฤษฎีอยู่ ถ้าคุณขึ้นดอกเบี้ยแล้วจะเกิดอะไรขึ้น หรือคุณแจกเงินให้ครัวเรือน เขาจะเอาลูกไปเรียนจริงไหม หรือจะฮุบเงินไว้ เป็นต้น

ไทยพับลิก้า : คุณพ่อแนะนำอะไรบ้าง เรื่องเรียนต่อด้านเศรษฐศาสตร์

คุณพ่อมีส่วนแน่นอนครับ แต่ผมก็สนใจเองด้วย แยกลำบากนะครับว่าผมสนใจเองหรือพ่อสนใจ (หัวเราะ) เพราะผมโตมากับพ่อ ท่านก็จะพูดให้ฟังว่าเมืองไทยเป็นอย่างนี้นะ ทำไมไม่ลองเรียนด้านนี้ดู ก็ลองเรียนดู เป็นสาขาที่ผมชื่นชอบมากในตอนหลัง แต่แรกๆไม่ค่อยชอบ เพราะเป็นวิชาที่สอนได้น่าเบื่อ เป็นวิชาที่สอนยากมาก เส้นอะไรไม่รู้มาตัดกัน อ่ะ..นี่แหละ equilibrium ซึ่งเป็นจริงๆ หรือเปล่าไม่รู้ เพราะตอนนั้นยังไม่ค่อยมีข้อมูล แต่เรียนไปเรื่อยๆ ผมคิดว่าเป็นวิชาที่ใช้ได้กับแทบจะทุกอย่างในโลก ทำให้เรามองโลกได้อีกมุมที่คนอื่นไม่มองกัน ซึ่งก็ไม่ได้ดีเสมอไปนะครับ (หัวเราะ) แต่มัน special ผมชอบ

ไทยพับลิก้า : การคิดต่อยอดหรือการประยุกต์เศรษฐศาสตร์กับเรื่องต่างๆ เป็นเพราะมีพื้นฐานครอบครัวที่เป็นนักการเมือง เลยทำให้เห็นประเด็นของสังคมหรือเปล่า

ถ้าเป็นด้านนั้นคุณพ่อไม่ค่อยพูดการเมืองกับผมขนาดนั้น แต่สิ่งที่ซึมซับมากๆ คือ คุณพ่อเป็นคนที่รักสังคมมาก สังคมมาก่อนตัวเอง เป็นคนเสียสละมาก คือผมไม่ได้มองแค่ Private Gain เท่านั้น ผมมองว่าถ้าเราทำอย่างนี้แล้วกระทบใครได้บ้าง ก็จะได้หลากมุมมอง

เรื่องๆหนึ่ง ทฤษฎีหนึ่งประยุกต์ใช้ได้เกือบจะทุกอย่าง มีทฤษฎีหนึ่งที่ดูเรื่องค่าเงินบาทสมัยปี 2540 ว่าทำไมถึงตกฮวบ เป็นทฤษฎีเดียวกับการอธิบายว่าทำอย่างไรถึงที่จะไม่ให้คนล่างาช้าง มันก็แปลก ดูเหมือนสองเรื่องนี้ไม่เหมือนกัน มันน่าสนใจ ทฤษฎีเดียวกันแต่ประยุกต์ใช้ได้หลายที่มาก

ณภัทร จาตุศรีพิทักษ์

ไทยพับลิก้า : ไม่สนใจเป็นนักการฑูตบ้างหรือ เรียนความสัมพันธ์ระหว่างประเทศมาด้วย

ก็น่าสนใจนะครับ เพื่อนก็เป็นเยอะ แต่ไลฟ์สไตล์จะไม่ค่อยมีที่เป็นหลักเป็นแหล่งในช่วงแรกๆ ขณะที่ผมชอบอยู่เป็นหลักเป็นแหล่ง ภรรยาผมก็ชอบ แต่เชื่อไหมครับ แต่ก่อนผมย้ายบ้านบ่อยมากแทบทุกปี จริงๆควรไปซื้อหุ้น U-Haul ได้แล้ว เพราะใช้บริการบ่อยมาก ย้ายโรงเรียนบ่อย ขับรถไปเองจนเรซูเม (resume) ของผมแทบจะไปขับรถบรรทุกได้เลย เพราะขับไปมาหมดแล้ว จากฮิวสตันไปดีซี ดีซีไปนิวยอร์ก ไปบอสตัน ไปมินนิอาโปลิส แล้วก็วนกลับมาฮิวสตันอีกรอบ (หัวเราะ)

ไทยพับลิก้า : เพราะอะไร

ที่อเมริกาจะมีวัฒนธรรมเคลื่อนที่ ย้ายเมืองเป็นเรื่องปกติมากสำหรับคนรุ่นผม ย้ายไปย้ายมา ทำงาน เรียนหนังสือ แล้วก็ไปมีเพื่อนใหม่ ไปมีสังคมใหม่ ผมเลยทำมั้ง แล้วอีกอย่างเมืองในอเมริกา เจริญ ไม่กระจุกเกินไป มีเมืองเหมือนกรุงเทพฯ คือมีกรุงเทพ หลายๆกรุงเทพ รถไม่ติด คนก็ไม่ล้น ถ้าผมชอบอยู่ต่างจังหวัด ไปอยู่ ก็ยังได้หมอดี โรงพยาบาลดีๆให้ผมรักษา ได้โรงเรียนดี ไม่มีข้อจำกัด นี่คือทำไมถึงย้ายบ่อย

ไทยพับลิก้า : จะเรียนจบเมื่อไหร่

ตอนนี้ผมเรียน coursework จบแล้ว เหลือแค่ทำวิทยานิพนธ์ให้เสร็จ น่าไม่จะเกินปีนิดๆ

ไทยพับลิก้า : จะกลับมาอยู่เมืองไทยหรือเปล่า

น่าจะกลับนะครับ (หัวเราะ) เรื่องนี้คิดยากมาก เพราะผมอยู่ที่นั่นมากว่า 10 ปีแล้ว เป็นบ้านหลังที่สองไปแล้ว อยู่นานๆ เข้าก็เห็นชัดเลยว่า สังคมไทยกับอเมริกานั้นตรงกันข้ามเลย ในหลายๆเรื่อง ซึ่งก็มีทั้งข้อดีข้อเสีย

ไทยพับลิก้า : ตรงข้ามอย่างไร

คือเมืองไทยคนกันเองดี ง่ายๆ อยู่แล้วสบายใจ ตอนไม่ทะเลาะกันนะครับ แต่ก็มักจะเป็นสังคมที่ไม่พูดกันตรงๆ ทะเลาะกันก็ไม่พูดตรงๆ ไม่แน่ใจว่าทำไม อาจจะเป็นวัฒนธรรมมั้ง ขณะที่ที่โน้นไม่ไว้หน้ากันเลย แต่ไม่ได้โกรธที่คน ใส่อารมณ์ในประเด็นเท่านั้น สุดท้ายก็เป็นเพื่อนทำงานกันได้ ผมชอบ ไม่ได้โกรธกัน แต่ที่โน้นเหงานะ ถ้าเราไม่มีญาติหรือเพื่อนวัยเด็ก แม้ว่าเพื่อนจะสร้างใหม่ได้ตลอด แต่ว่าเมืองไทยญาติเยอะดี เจอกันตลอด ก็เป็นข้อดีครับ ที่โน้นก็มีปัญหาการเมืองเหมือนกัน ที่นี่ก็มี ที่โน้นก็มีอะไรต่อมิอะไรที่ไม่น่าจะเกิดขึ้นในประเทศที่เจริญที่สุดในโลก แต่ก็มีอยู่ทุกวัน

ไทยพับลิก้า : คุณพ่อพูดคุยเรื่องการเมืองและอยากให้มาเล่นการเมืองไหม

ไม่กดดันกันเลยครับ การเมืองเป็นอาชีพที่ต้องเสียสละมาก คุณพ่อบอกว่าชีวิตเราทำอะไรก็ต้องทำเพื่อสังคมบ้าง ไม่ใช่ทำแค่ตัวเองอย่างเดียว คุณพ่อปลูกฝังแต่เด็ก

แต่ผมก็เชื่อว่ามีหลายช่องทางที่ผมสามารถจะทำอะไรให้กับสังคมได้ โดยไม่จำเป็นต้องเป็นช่องทางการเมืองเสมอไป มีหลายๆคนก็ทำกันได้โดยไม่ต้องผ่านช่องการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าช่องนี้ไม่ใช่ช่องทางที่ทำได้ดีที่สุด แต่ทั้งนี้แล้วแต่เวลา

ไทยพับลิก้า : พร้อมที่จะเสียสละ

ผมเสียสละแน่นอนครับ แต่ยังไม่แน่ใจว่าในเชิงไหน การที่เราอยู่ในการเมือง เวลาเราทำอะไรบางอย่าง มันไม่มีคำว่าทุกคนได้ประโยชน์อยู่แล้ว และมันน่ากลัวมาก ว่าสิ่งที่เราทำไปนั้น เวลาบาลานซ์แล้ว ใครได้ประโยชน์ หรือเสียประโยชน์ มันยาก

ไทยพับลิก้า : คุณพ่อพูดว่าอยากให้เป็นนักวิชาการ จริงๆ แล้วอยากเป็นไหม

ก็ดีนะครับ ตอนนี้นักวิชาการของไทยมีเรื่องสมองไหล คือตลาดแรงงานนักวิชาการไทยไม่ให้ค่าตอบแทนพอที่จะแข่งกับที่อื่น เช่น สิงคโปร์ ญี่ปุ่น อเมริกา ผมก็ดูๆอยู่ครับว่าถ้าค่าตอบแทนสูงพอผมก็อยากเป็น (หัวเราะ) แต่อย่างที่ว่า ..เราไม่ได้ทำเพราะใจรักอย่างเดียว ส่วนหนึ่งผมก็ต้องดูแลครอบครัวผมเหมือนกัน อย่างที่อเมริกา ถ้าเป็นนักวิชาการ เป็นนักวิจัย เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย ได้เป็นประมาณชนชั้นกลาง ซึ่งก็อยู่ดี กินดี มีสุข สบาย ไม่ได้รวยมากแต่อยู่ได้ และได้ทำงานที่รัก ก็ดี แต่อาจจะไม่ใช่อย่างนั้นถ้าผมกลับมาเมืองไทย

ไทยพับลิก้า : ของไทยควรดีไซน์ระบบผลตอบแทนยังไง

ณภัทร จาตุศรีพิทักษ์1

ต้องไปอ่านบทความของคุณณัฐวุฒิ เผ่าทวี สังคมไทยไม่ได้ให้คุณค่ากับการวิจัยมากนักมันถึงเป็นแบบนี้ หากให้คุณค่าก็คงดึงทุกคนมาได้ ผมไม่ค่อยเข้าใจเรื่องนี้นัก อย่าง เรื่องเงินเดือนครู ภรรยาผมเป็นครูมา 3 ปี วันนี้เป็นรองผู้อำนวยการ โรงเรียนเด็กยากไร้ รู้เลยว่าครูทำงานหนักมาก ถ้าจะทำหน้าที่ครูดีๆ นะครับ หรือเป็นอาจารย์ที่ดี มันเหนื่อยมาก เงินเดือนไม่มีทางพอ แม้จะรายได้ดีกว่าไทยก็ตาม นี่เป็นปัญหาหนักเลย รุ่นผมหลายคน ไม่มีใครอยากเป็นอาจารย์ จะเกิดอะไรขึ้น ถ้าคนหัวดีๆ ไม่ได้มาอยู่ในวงการศึกษา ก็เจ็บปวดนะครับ สำหรับอนาคตประเทศ

ไทยพับลิก้า : ที่ว่าเป็นครูเหนื่อย หนื่อยยังไง

ครูต้องเอาอนาคตเด็กมาก่อน ถึงเด็กจะยุ่ง จะนิสัยไม่ดียังไง อย่าไปโกรธเขา เพราะเขาเป็นเด็ก แล้วแต่ละคนเรียนรู้แตกต่างกัน ไม่ใช่ว่าสอนทีเดียว อัดๆ เข้าไปในหัวอย่างบ้านเรา แล้วคิดว่าเด็กรับได้หมด รับได้เท่ากัน ไม่ใช่ ที่โน้นเขาจะดูเแลกันเป็นคนๆ (Individual Life) เลยว่าเด็กคนนี้มีปัญหาด้านไหน ควรจะเรียนด้านไหนก่อนหรือหลัง

นี่คือการสอนในโรงเรียนเด็กยากไร้ อาจารย์ทุกคนต้องเปิดมือถือถึง 3 ทุ่ม เพราะพ่อแม่จะโทรมาได้หมด ว่าลูกเขาเป็นยังไง ครูก็มีหน้าที่ถ่ายรูปเด็ก หรือสัมภาษณ์เด็กว่าวันนี้เป็นยังไงบ้าง ถ้าความประพฤติไม่ดีก็ส่งข้อความไปบอกพ่อแม่ได้เลย เป็นบริการระดับพรีเมียมมาก ผมก็ไม่เคยได้ยินเลยนะว่าโรงเรียนไหนจะพรีเมี่ยมขนาดนี้ บอกเลยว่าลูกคุณไปแกล้งเด็กคนนี้ วันนี้เลยได้ใบแดง และช่วยบอกลูกนะคืนนี้ว่าพรุ่งนี้เอาใหม่ อย่าเสียใจ มันกลับขึ้นมาได้ (ใบแดงเปลี่ยนได้) ไม่ใช่ชีวิตจบไปเลย เป็นการลงทุนที่เหนื่อยนิดหนึ่ง

เรื่องแบบนี้ เมืองไทยไม่แน่ใจว่าแก้แบบบนลงล่างได้หรือไม่ ผมก็ไม่รู้จริงๆ เพราะว่าเมืองไทยมีปัญหาระบบ bureaucracy กว่าจะลงอะไรจากข้างบนลงมาล่าง กว่ามันจะถึง

ไทยพับลิก้า : ส่วนใหญ่ครูหนึ่งคนต่อเด็กเยอะไหม

เป็นอะไรที่ไม่มีทางรู้เลยครับว่าจะสิบ ยี่สิบ สามสิบ หรือห้าคน ถ้าเราไม่มีทัศนคติในการใช้วิทยาศาสตร์ดูด้านการศึกษา ที่โน้นเขาคิดมาแล้วว่าครูหนึ่งคนต่อเด็ก 20 คน และยังต้องดูเรื่องต้นทุนด้วย หรือบางทีลดจาก 20 คน เหลือ 19 คน ปรากฏว่าก็ไม่ดีไปกว่าเดิม ก็อยู่ที่ 20 เหมือนเดิม จำนวนเด็กต่อครูได้มากขึ้น มันมีวิธีคิดแบบวิทยาศาสตร์

ในต่างประเทศส่วนหนึ่งเหมือนเป็นวัฒนธรรมด้วยครับว่า ที่นั่นต้องมีหลักฐานว่าคุณจะทำอะไร แล้วเอานักวิชาการมารับรองว่าทำแล้วนะ แล้วนักวิจัยก็ต้องอยู่ตรงกลาง นักวิจัยก็ซื้อตัวไม่ได้ ตัดสินใจบนฐานวิชา ไม่ใช่บนฐานว่าเงินมาจากที่ไหน

เรื่องราคาที่ว่าแพง(การทำวิจัย) ผมคิดว่าบางทีถ้าไม่ทำอาจแพงกว่า การศึกษาไทยน่าจะจริงเลย ประเทศเรามีปัญหาจ่ายเยอะ แต่ผลน้อย เคยดูตัวเลขงบประมาณการศึกษาคิดเป็นสัดส่วนต่อจีดีพี ประมาณสิงคโปร์ แต่อ่อนกว่าเขา 40 กว่าเท่า (pisa ranking) ไม่ทราบว่าเงินไปไหนหมด เมืองไทยยากนิดหนึ่งเรื่องบุคลากรครู เมืองนอกก็ยาก แต่ที่เมืองนอกเขาค่อนข้างเข้มงวดมาก ว่าครูคนไหนเก่ง คนไหนไม่เก่ง มีนโยบายผลักดันว่าจะให้โบนัสใครหรือไม่ให้ใครตามผลงาน รวมไปถึงการเชิญออกด้วยซ้ำ เพราะเขามองว่าถ้าคุณเป็นที่ครูไม่ดี คุณไปอยู่ที่อื่นดีกว่า เพราะนี่คืออนาคตประเทศชาติ แต่การจะมองว่าครูคนไหนเก่งหรือไม่เก่ง ก็ต้องถกเถียงกันอีกนาน แต่สุดท้ายก็ต้องวัด อยู่ที่ว่าวัดยังไง

ไทยพับลิก้า : ที่อเมริกามีธุรกิจโรงเรียนกวดวิชาเยอะไหม

มี Kumon เต็มไปหมดครับ เพียงแต่ว่าคนไปโรงเรียน ก็พอแล้ว ไปเรียนแค่นั้นพอ กลับบ้าน เล่นเกม เล่นกีฬา คือไม่แน่ใจว่าทำไมต้องอัด ผมก็โตเมืองไทย ก็ไปเรียน แต่เรียนไปแล้วไง ลืม เพราะไม่ได้มีความอยากเรียนเลยครับ ผมเรียนเพราะว่าเพื่อนเรียนกัน แล้วก็สอบๆไป ถึงวันนี้ยังไม่เข้าใจเลยว่าลูกบอลไหลลงมาแล้วยังไง แต่ว่าตอบได้หมดในตอนนั้น เคมีก็รู้หมด แต่ทุกวันนี้ตารางธาตุจำไม่ได้แล้ว ไม่รู้ว่าเรียนไปทำไม อันนี้เป็นปัญหานะ..

ไทยพับลิก้า : แล้วที่บอกว่า การศึกษาคือการสร้างชาติ ยังไงก็ต้องคนใช่ไหม

ในอนาคตอย่างที่ ดร.สุวิทย์ (เมษินทรีย์) พูดบ่อยๆ เรื่องประเทศไทย 4.0 มันเป็นเศรษฐกิจที่ต้องใช้นวัตกรรมเยอะมาก ไม่ใช่ขายของแบบเดิมๆ อีกต่อไป

ถ้าคุณภาพคนไม่มี มันจะลำบาก มันจะไปไม่ถึง 4.0 เพราะอนาคตจะมีหุ่นยนต์ มีสมองกลมาแทนมนุษย์ คุณภาพคนจึงต้องดี มีความคิดสร้างสรรค์ มีทักษะใหม่ๆ ที่ปกติสมัยก่อนไม่มี

การศึกษาอาจจะไม่ใช่ทางเดียว แต่อันนี้ค่อนข้างสำคัญ ยิ่งประเทศไทยที่คนแก่เริ่มเยอะ แล้วเด็กโตขึ้น ถ้าผ่านการศึกษาไม่ดี จะเหลือใครมาทำงานในยุคหน้าที่แข่งกันด้วยคุณภาพคน มันก็ยาก

ไทยพับลิก้า : แล้ว settakid.com เกิดขึ้นได้ยังไง ทำไมถึงมาเป็นนักเขียนด้วย

ไม่เคยคิดเป็นนักเขียน จุดแรกเลยที่อยากเขียนบล็อกคือภรรยาเป็นคนบอกให้ลองเขียนครับ จริงๆแล้วผมชอบเขียนอะไรที่เสียดสีมากนะครับ แต่เขียนแล้วก็ลบทุกที เพราะกลัวโดนคนเขาว่า (หัวเราะ) แต่ตอนนั้นที่เขียนเพราะมีช่วงวิกฤติยูโร สมัยเรียนที่จอห์นส์ ฮอปกินส์ ก็อินกับมัน มีไอเดียเยอะ จดๆไว้ เขียนๆ ไปแล้วก็แชร์ให้เพื่อนลองอ่าน เพื่อนบอกว่าอ่านแล้วเข้าใจง่ายดี ส่วนที่ผมที่ผมปวดใจมากคือข่าวไฟแนนเชียลไทมส์ (Financial Times) แต่ก็ไม่รู้ว่าทำไมมันถึงเขียนให้เข้าใจยาก ผมจำได้เลยว่าวันแรกที่ไปเรียนจอห์นส์ ฮอปกินส์ เขาบอกว่าคุณเรียนจบปริญญาโทที่นี่ อย่างแรกที่คุณต้องทำได้คือต้องอ่านไฟแนนเชียลไทมส์ให้เข้าใจทันทีเลย จริงๆ ฟังดู..ต้องเรียนจบปริญญาโทถึงจะอ่านข่าวได้

ณภัทร  จาตุศรีพิทักษ์5

แต่จริงๆ มันยากมากในตอนแรก ตอนเรียนเศรษฐศาสตร์ ปริญญาตรี นั้นมีแต่ทฤษฎี พอไปเรียนโทแทบไม่มีทฤษฎีเลย คนที่มาสอนหลายคนอยู่มอร์แกน สแตนลีย์ อยู่ SEC เห็นวิกฤตวันนั้นเลย บอกว่าโลกแห่งความเป็นจริงเป็นอย่างไร หนังสือผิดหรือถูกยังไง ผมก็เลยอิน ก็เลยเขียน

หลังจากนั้นก็ค้นพบว่าตัวเองชอบเขียน สนุกดี ก็ชอบเขียนหลายเรื่อง บางเรื่องก็ขายดี เช่น เศรษฐกิจโลกขายดีมาก ทั้งที่ใช้เวลาน้อยกว่าเขียนเรื่อง Big Data Open Dataเสียอีก

ไทยพับลิก้า : แล้วก่อนหน้านี้ที่จะเรียนจบ ป.โท อ่านไฟแนนเชียลไทมส์แล้วรู้เรื่องไหม

ก็รู้บ้างไม่รู้บ้าง คือเขาเขียนสั้นมาก แต่หลังๆ ก็เข้าใจขึ้น ผมว่าไม่ใช่ผมคนเดียวนะ คุยกับเพื่อนไปสมัครงานว่าต้องอ่านวอลล์สตรีทเจอร์นัล (Wall Street Journal) ให้รู้เรื่อง พออ่านแล้วไม่อยากอ่านเลย มันเข้าใจลำบาก แต่พอตอนหลัง พอเขียนบ่อยๆ ก็เชื่อมโยงกันมากขึ้น ก็เลยง่าย

นี่จึงเป็นอีกหนึ่งแรงบันดาลใจให้ทำเว็บไซต์ เพราะคิดว่าควรจะมีคนเขียนเศรษฐศาสตร์ให้เป็นภาษาคน ส่วนใหญ่ไม่ค่อยเป็นภาษาคน (หัวเราะ)

ไทยพับลิก้า : แล้วเป็นภาษาอะไร

เป็นภาษาอะไรไม่รู้ เหมือนจะพูดอะไรบางอย่าง แต่พออ่านไป เขาพูดอะไรกัน ไม่ค่อยเข้าใจ ก็อยากทำด้านนี้ แล้วเนื้อหาที่ซีเรียสๆในเมืองไทยไม่ค่อยมี ตัวเลือกไม่เยอะ ในภาษาอังกฤษมีเต็มไปหมด ผมก็เลยอยากเขียนมีอะไรออกมาให้คนอ่านบ้าง ก็ยากนิดหนึ่งเพราะหลายคนเขาอยากให้ฟันธงในโลกการเงิน แต่นักเศรษฐศาสตร์ฟันธงไม่ได้ ใครฟันธง ผมว่าไม่รอด ผิดแน่นอน โดยเฉพาะมหภาค มันไม่ได้อยู่ในห้องแล็บที่ควบคุมได้ทุกอย่าง คุณไม่มีทางรู้หรอก ว่ามีอะไรไม่รู้ที่จะมาทำให้ราคาเปลี่ยน ก็พยายามเขียนไม่ฟันธง แต่เขียนในเชิงให้ข้อมูล ให้ความรู้ ให้เขาไปคิดเอง ผมเชื่อว่านักลงทุนเขาคิดเองได้ แค่มีตัวช่วยให้เขารู้สึกมั่นใจขึ้น หรือรู้สึกเข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้น ไม่กลัว พอกลัวแล้วก็จบ ไปขายทิ้ง ก็เสียหาย อันนี้เป็นหนึ่งแรงใจที่ทำให้เขียนหนังสือ

แต่หลังจากนี้น่าจะเขียนได้บ่อยขึ้นกว่าเดิม เพราะทุกวันนี้ค่อนข้างยุ่งมาก ได้แค่เดือนละชิ้นเพราะผมเรียนด้วย สอนด้วย สอบด้วย มีงานทำวิจัย แล้วก็เพิ่งแต่งงานด้วย ก็เลยต้องเป็นสามีที่นิดหนึ่ง (หัวเราะ) ไม่ใช่ทำแต่งานก็ไม่ไหว กะว่าปีหน้าจะเขียนเรื่องเศรษฐกิจโลกเพิ่มขึ้น แบบสั้นๆ ให้ได้ใจความ แล้วอาจจะเป็นเรื่องสังคมมากขึ้นด้วย

ไทยพับลิก้า : คนที่เป็นนักเศรษฐศาสตร์ ทำไมเขียนแล้วอ่านไม่รู้เรื่อง

คือมันไม่ควรเป็นอย่างนั้น หรือเป็นเพราะผมที่ไม่เข้าใจเองไม่รู้นะ เหมือนมีช่องว่างระหว่างตอนที่เราเรียนปริญญาตรีกับสิ่งที่มันเกิดขึ้นในโลก ก็อยากให้คนรู้เรื่องมากขึ้น ไม่งั้นคนกลัว เหมือนของมันดี แต่แพคเกจจิ้งไม่ดี เพราะว่ามันสอนให้คนเข้าใจยาก หนึ่งคือใช้เลขเยอะ มันต้องพิสูจน์ว่าถ้าราคาขึ้นคุณจะซื้อน้อยลง แค่นี้เลขก็มาเป็นแผ่นแล้ว ฟังดูเป็นอะไรทีง่ายมาก แต่การที่เราจะพิสูจน์ได้จริงๆ ว่าเวลาราคามันขึ้นแล้วคนซื้อน้อยลง คุณต้องสันนิษฐานอะไรบ้างเกี่ยวกับความคิดและพฤติกรรมคนว่าชอบของแค่ไหน มีของอะไรให้เลือกบ้าง มันซับซ้อนมาก แล้วก็ยังไม่ใช่สาขาที่สมบูรณ์ และเปลี่ยนไปเรื่อยๆ สิ่งที่เรียนวันนี้อาจจะผิดก็ได้ ถ้าจุลภาคค่อนข้างนิ่งแล้ว แต่มหภาคยังไม่แน่ว่าจะเปลี่ยนแค่ไหน ในอดีตมหภาคก็เปลี่ยนมาเยอะแล้ว แต่จุลภาคแทบจะไม่เปลี่ยน

ไทยพับลิก้า : คุณพ่อเคยอ่านงานเขียนและมีคอมเม้นต์บ้างไหม

เคยอ่านครับ ก็บอกว่าเขียนอย่างนี้ดีแล้ว แต่อย่าเขียนบ่อยมาก เดี๋ยวหมดมุก (หัวเราะ) แต่คุณพ่อชอบอ่านอะไรที่สังคมมากๆ

ไทยพับลิก้า : การทำอะไรให้สังคมในเชิงของบทความที่เขียน อยากจะสื่อหรือจุดประเด็นในเรื่องไหนบ้าง

ณภัทร  จาตุศรีพิทักษ์2

นอกจาก“เศรษฐศาสตร์ภาษาคน”แล้ว อยากทำเรื่อง ไอเดียใหม่ๆ ที่ประเทศอื่นเขาทำกันแล้วเข้าท่า เช่น ประเทศอื่นเขาสนใจเรื่องข้อมูล ทุกอย่างต้องมีหลักฐาน มีที่มาที่ไป กฏหมายปรับที่ 1,000 บาท ทำไมต้องเป็นเลข 1,000 บาท ทำไมไม่ใช่ 1,100 บาท คือมันต้องมีที่มาที่ไป วันนี้ประเทศอื่นเขาไปไกลแล้ว มันน่าจะถึงเวลาแล้ว…คือ เราก็ไม่ต้องไปเลียนแบบเขาทุกอย่าง เพราะอเมริกันก็เป็นสังคมที่ไม่น่าเลียนแบบหลายๆเรื่อง น่าจะหลีกๆไปในหลายเรื่อง แต่ก็มีหลายอย่างที่เขาทำได้ดีมาก อย่างหนึ่งคือเรื่องการเก็บข้อมูล และการใช้ข้อมูลให้ฉลาด เขาเก่งมากในเรื่องนี้ อันนี้ต้องยอมรับ เหมือนเพื่อนบ้านเรา สิงคโปร์เขาเก่งมาก แต่เขาคนละแบบกับเรา เมืองคนละอย่างกัน อาจจะเอามาใช้ไม่ได้ทันใด

ก็สนุกดีครับ เขียนงานแล้วรู้สึกภูมิใจ บางเรื่องก็รู้ว่าเอาออกเยอะๆ ก็จะมีคนมาว่าเราบ้าง ก็เป็นเรื่องปกติ ก็ชินแล้ว คุณพ่อบอกว่าเป็นเรื่องปกติ นอกจากเป็นงานที่ต้องเสียสละแบบคุณพ่อแล้ว ต้องแข็งแกร่งมากด้วยในจิตใจ การเป็นบุคคลสาธารณะไม่มีใครรักคุณได้ตลอด ก็แลกกัน

คุณพ่อเป็นคนสู้ชีวิตมาตั้งแต่เด็ก วัยเด็กของคุณพ่อเขาลำบากมาก แต่ต้องสู้ มันต้องรอด ไม่อย่างนั้นอยู่ไม่ได้ รุ่นผมโตมาสบายแล้ว ไม่เคยผ่านความลำบาก ความรันทด ความไม่มีจะกิน แต่คุณพ่อก็สอนให้ติดดินที่สุด เพราะว่าชีวิตไม่แน่นอน จึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องใช้ชีวิตให้ประหลาดกว่าคนอื่น

ผมสบายๆมาก วันนี้เห็นแต่งตัวดี เพราะให้เกียรติคนอื่น ปกติอยู่ที่โน้น ผมชอบมาก สังคมอเมริกัน ไปไหนใส่ชุดนอนได้ ขาสั้นรองเท้าแตะ แต่เมืองไทยเวลาออกมาข้างนอก ยีนส์ต้องใหม่นิดนิดหนึ่ง ต้องตัดผมเท่ๆ แต่ที่โน้นเขาเฉยๆ ใครจะทำอะไรก็แล้วแต่คุณ ออกไปซื้อของซูเปอร์มาร์เก็ตทั้งชุดนอนได้ ง่ายๆ

ไทยพับลิก้า : คุณพ่อขอให้ช่วยงานบ้างไหม

ไม่เคยขอเลยให้ผมช่วยเลยครับ เขาอยากให้ผมโฟกัสเรื่องเรียน เรื่องชีวิตของผม ไม่ได้มากำหนดว่าผมต้องทำอย่างนั้นอย่างนี้ โตมาในบ้านเดียวกัน แต่คนละชีวิตกัน

ไทยพับลิก้า : เอาความรู้ที่เรียนมาช่วยคุณพ่อในเรื่องการทำงานไหม

ก็คุยกันบ่อยๆ แต่ไม่ค่อยได้อยู่เมืองไทย ว่าเมืองไทยควรจะไปทางไหน แต่ผมประสบการณ์น้อย ทำอะไรให้สังคมมากแบบพ่อไม่ได้ ก็ทำเท่าที่ทำได้

บอกว่าเรื่องไหนมันสำคัญ อย่างเพิ่งไปสัมมนา Esri User Conference 2016 อยากให้พ่อไปปีหน้า เพราะเขาไปไกลแล้ว สัมมนานี้จัดโดยบริษัทEsri เขาทำซอฟต์แวร์ ดูเรื่องจีไอเอส เป็นซอฟต์แวร์ที่โหลดข้อมูลแผนที่ แผนที่ก็มีหลายระดับ มีตั้งแต่ดาวเทียม มีเมฆยังไง ท่อน้ำยังไง ถนนตรงไหนเป็นหลุมเป็นบ่อ โรงพยาบาลอยู่ไหน โรงเรียนอยู่ไหน มาซ้อนกันให้หมด แล้วก็วิเคราะห์ได้ว่ารถติดตรงไหนบ้าง คือทำได้หมด ดูแล้วจะไม่มีวันบริหารเมืองโดยไม่มีมัน เพราะเมื่อใช้ซอฟต์​แวร์เขา จะรู้หมดทุกอย่างว่าอะไรอยู่ตรงไหนในเมือง แล้วอีกหน่อยจะเรียลไทม์มาก บางเมือง เช่น นิวยอร์ก บางโซนทุกอย่างต่อกันหมด แม้กระทั่งถังขยะต่อเน็ต คือรู้เลยว่าถังนี้เริ่มจะเต็มแล้วนะ แล้วมันก็วัดเป็นเวลา ทุกครั้งที่เรือเฟอร์รี่มาจอด คนก็จะออกมา จะทิ้งขยะ ถังขยะก็แน่นมากช่วงหนึ่ง เขาก็จะได้ส่งคนมาเปลี่ยนถังให้บ่อยๆ ให้มันถูกเวลา นี่เป็นเรื่องเล็กมากนะ แต่ว่ามีหลายเรื่องมากที่ปะติดปะต่อแล้วสังคมก็จะดีขึ้น

หรือเขาส่งทีมไปสำรวจว่าถนนทุกเส้นในแอลเอสะอาดแค่ไหน ทุกเส้นนะครับ อัปเดตทุก 3 เดือน ลองจินตนาการกรุงเทพฯ ว่าถนนทุกเส้น เส้นไหนสะอาดแค่ไหน เขารู้หมดเลยว่าเส้นไหนสะอาดไม่สะอาด แล้วรู้ว่าไม่สะอาดเพราะอะไรด้วย แล้วก็จะแยกรถไปเก็บขยะประเภทต่างๆ

ครอบครัว"ณภัทร จาตุศรีพิทักษ์" มาร่วมงานเสวนา Big Data@ Life : ชีวิตผูกติดข้อมูล สู่อนาคตประเทศไทย 4.0
ครอบครัว”ณภัทร จาตุศรีพิทักษ์” มาร่วมงานเสวนา Big Data@ Life : ชีวิตผูกติดข้อมูล สู่อนาคตประเทศไทย 4.0

ไทยพับลิก้า : มันดีไซน์ระบบยังไง

จริงๆ แล้วควรจะเป็นความร่วมมือระหว่างประชาชนกับเมือง เพราะบางทีเทศบาลทำเองไม่ไหวหรอก แต่จริงๆ แล้วดีนะ จะได้โปร่งใส บางทีคนจะบ่นว่าเทศบาลไม่แฟร์ ช่วยแต่ย่านคนรวย ย่านผู้มีอิทธิพลสะอาด แต่พอทำอย่างนี้ มันจะมีเหตุผลว่าทำไมบางย่านถึงได้รับบริการก่อน เพราะบางย่านไม่ไหวจริงๆ ดูไม่ได้แล้วทางเท้า เขาก็จะได้รับบริการก่อน แต่บางที่เงินไม่พอ เวลาไม่พอ เทศบาลก็ต้องทำให้ดีที่สุดในการเลือกว่าจะไปเส้นไหน ก็ทำเท่าที่ทำได้ แต่เขาตั้งใจทำเป็นระบบ มันหลุดโลกมาก ดูแล้วรู้สึกว่าเราอยู่ดาวอะไรนี่

ไทยพับลิก้า : ต่างจากรถเมล์เมืองไทย ไม่เคยตรงเวลา

หลายอย่างผมคิดว่ารัฐบาล เทศบาล ไม่ต้องรับผิดรับชอบ (accountable) ก็ไม่รู้จะแก้ยังไง ในความนึกคิดรัฐบาลหรือเทศบาลคือผู้รับใช้ประชาชน ทำไม่ดีก็โดนออก ที่โน้นเขากลัวมาก ก็เลยต้องทำงานหนัก รถบัสหรือรถเมล์ที่นั่นมาตรงเวลามากจนบางทีผมเซ็งเลย ตรงเกินไป ผมช้าไป 1 นาที มันไปแล้ว แต่ถ้ารอก็ไม่เกิน 4 นาที อีกคันก็มา คือเขารับใช้ประชาชนแบบจริงจัง

เมืองไทยผมก็ได้ยินมานานแล้วเรื่องรถเมล์ไม่ตรงเวลา มันแย่นะ แต่ทำไมเราต้องยอมรับว่าไม่ตรงเวลา แล้วเราจะไปไหนทันได้อย่างไร ทั้งที่กรุงเทพฯ เป็นเมืองใหญ่ระดับโลก แต่รถติดเกินไป แล้วให้ไปอัดกันในรถไฟฟ้า ให้ทุกคนซื้อคอนโดอยู่ มันก็ยังไงอยู่นะ ไม่ใช่คุณภาพชีวิตที่ดี

ผมเคยคำนวณว่ารถติดเฉลี่ยอย่างน้อยวันละ 2 ชั่วโมง บางคน 3 ชั่วโมง ทำงานไป 30 ปี เชื่อไหมครับเสียเวลาอยู่ในรถ 3 ปี เกือบเรียนจบปริญญาตรีนะครับ แต่ดันไปอยู่ในรถ ทั้งที่ระยะทางไม่ไกล บางทีพอๆ กับเดินเลย

คือไม่แน่ใจว่า ที่คนไทยทำได้ไม่ค่อยดีคือทำอะไรร่วมกัน ทำบุญร่วมกันโอเค แต่ว่าเรื่องบางอย่างที่ต้องตัดสินใจร่วมกัน มีได้มีเสียร่วมกัน ทำไมมันยาก เพราะก็ไม่ได้เป็นแค่ไทยที่เดียว ที่อื่นก็ยาก แต่ไม่แน่ใจว่าที่อื่นเขาทำได้ยังไง ที่อื่นก็คงเคยอยู่จุดนี้มาก่อน ไม่ใช่ทุกประเทศจะเพอร์เฟกต์ ยกเว้น สแกนดิเนเวีย เขาเพอร์เฟกต์เหลือเกิน หรืออย่างอเมริกาเองก็ไม่ได้เพอร์เฟกต์ ก็มีปัญหา แต่เขาเป็นชาติที่ลุยมาก บางทีเราได้ภาพผิดๆ ว่าฝรั่งอ้วนๆ นั่งกินขนม ดูหนัง มันเป็นแค่บางส่วน แต่ส่วนใหญ่ตั้งใจทำงาน ขยัน บ้างาน คนที่เป็นนักการเมืองก็ลุยจริงๆ แม้จะมีบางคนคอร์รัปชันในแบบของมัน

ไทยพับลิก้า : กดดันไหมเป็นลูกคุณพ่อที่มีชื่อเสียง

ผมไม่คิดมากครับ มันคนละคนกัน พ่อก็บอกว่าไม่ต้องคิดมาก คนเขาชอบเปรียบเทียบ ผมคิดว่าคนที่เปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่นนั้นมีความสุขยาก ผมก็แค่ทำของผมให้ดีที่สุดก็พอ เป็นMotto ของชีวิต ไม่ต้องไปเทียบ คุณพ่อก็เป็นคุณพ่อไป ผมก็เป็นผม

มันเป็นข้อเท็จจริงที่เราเปลี่ยนไม่ได้ ผมทำอะไรกับมันไม่ได้ พ่อผมทำอย่างนี้ เขาก็อาจจะคิดว่า งั้นลูกอาจจะเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ … ผมทำอะไรไม่ได้จริงๆ ชีวิตผมก็สั้นนะครับ คนเราบางทีกังวลเกินไป บางทีคนอื่นเขาอาจไม่ได้สนใจเราขนาดนั้น แต่เรากังวลเอง ผมเลยพยายามไม่กังวล และเป็นตัวเราเอง แต่แรกๆ ก็ยากครับ เพราะคนก็คาดหวังว่าเป็นลูก เรียนก็คล้ายๆ กันอีก แถมบางทีพูดจาท่าท่างก็คล้ายๆ กันอีก (หัวเราะ) แต่ผมก็ทำของผมให้ดีที่สุด

พ่อเขาชอบบอกว่าเป็นเรื่องโชคชะตา ผมก็คิดว่ามันก็มีส่วน แต่ผมไม่เชื่อในโชคชะตาทั้งหมด ไม่อย่างนั้นผมก็นอนอยู่บ้าน มันไม่ใช่อย่างนั้น

ไทยพับลิก้า : ในฐานะเด็กรุ่นใหม่ ซึ่งต้องเป็นอนาคตของชาติ ต้องทำอะไรอย่างไร

อย่างแรกต้องพยายามใฝ่รู้ครับ ผมโตมาในสังคมที่การศึกษาไม่ได้อยากให้เด็กใฝ่รู้ อันนี้ไม่ได้ว่ารร.สาธิต จุฬาฯ แต่มันเป็นทุกที่ มาโรงเรียนไม่ได้อยากเรียน อยากเตะบอล อยู่กับเพื่อน ไปสามย่าน นั่นคือชีวิต ไม่ได้สนใจเลยว่าสิ่งที่เข้ามาในหัวเพื่ออะไร ไม่มีแรงจูงใจที่จะเรียนเลย หากเทียบกับที่อื่นที่ระบบการศึกษา โอเค คือเขาจะใฝ่รู้ เพราะในอนาคตถ้าคุณไม่ใฝ่รู้ คุณไม่รอด เพราะโลกมันเปลี่ยนเร็ว บางทีที่ผมเรียนไป อาจจะใช้ไม่ได้ด้วยซ้ำ แต่ว่ามันต้องปรับตัวได้ แล้วก็ทำสิ่งที่ตัวเองชอบ คือบางทีสังคมไทยมีความคาดหวังบางอย่างว่าควรจะเป็นอะไร คุณควรจะทำอะไร ทำไมถึงควรจะเป็นหมอ ญาติเราเป็นหมอ พ่อแม่เป็นหมอ เราควรเป็นหมอไหม คือมันมีความกดดันบางอย่างอยู่ แต่วันนี้ชีวิตมันสั้นมากนะครับ มันควรจะได้ทำสิ่งที่ตัวเองชอบ ทำให้สุดๆ ไปเลย ไม่ต้องทำตามคนอื่นขนาดนั้น วันนี้มีหลายช่องทางมากที่เด็กรุ่นใหม่สามารถเก่งได้ มีประกายได้

สมัยผม ทุกคนอยากเป็น Investment Banker ทั้งที่จริงๆ แล้วเขาอาจเป็นนักดนตรีที่เก่งที่สุดก็ได้ เป็นช่างตัดผมที่สุดยอดแห่งประเทศไทย ที่ทรงไทยไปดังในเกาหลี ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ชีวิตสั้นครับ ต้องกล้าๆ ลองเสี่ยงบ้าง

ณภัทร  จาตุศรีพิทักษ์9

ไทยพับลิก้า : ตอนนี้คนรุ่นใหม่อยากเป็นนายตัวเอง Startup

ผมชอบนะครับคอนเซ็ปต์ที่เป็นนายตัวเอง เพราะว่าชีวิตมันสั้น ทำไมเราต้องไปเหนื่อยให้คนอื่น แต่ startup มันมีความเสี่ยง ผมว่าเวลาทำธุรกิจหรือทำอะไร ต้องดูว่าตัวเองมีอะไรที่คนอื่นไม่มี ถ้าเราไม่มีอะไรเลย ก็ต้องมีเปรียบเทียบโอกาสที่จะอยู่รอด ดูความเสี่ยงเท่านี้แล้วจะได้เงินเท่าไหร่ หากมีคู่แข่ง ถ้าเราทำบ้างแล้วเรามีอะไรดีกว่าเขา หากเราไม่มีอะไรดีกว่าเขาจะเข้าไปทำทำไม

หากเป็นเด็กรุ่นใหม่ที่ฮิตกันจะเป็นนายตัวเอง ก็เป็นกลไกตลาดจะแข่งกันไป คนที่เก่งก็ชนะ คนที่แพ้ก็แพ้ แต่ถ้าแพ้ตอนเด็ก ผมว่ายังดีกว่าแพ้ตอนโต แต่ถ้าแพ้ตอนเด็กแล้วไม่กลับไปเรียนหนังสือ หรือขุดตัวเองขึ้นมาไม่ไหว มันก็เหนือย แต่ถ้า take risk ผมว่าทำตอนเด็กดีกว่าตอนแก่ เพราะตอนแก่จะไม่เหลืออะไร แต่ก็มีคนไม่เห็นด้วยกับเรื่องนี้เยอะนะ จริงๆปล่อยให้ startup ไปเลย คนที่ชนะก็ชนะ คนที่แพ้ก็เป็นบทเรียน มันไม่ได้เสียไปหมดเลย มันรู้เรื่องเยอะเวลาสร้างอะไรเอง

อย่างตอนผมสร้างเว็บ Settakid.com ไม่เคยรู้เลยว่าการทำเว็บไซต์ ทำโลโก้ ทำเว็บยังไงไม่ให้เจ๊ง มันยากแค่ไหน ไม่มีโรงเรียนที่ไหนสอน ไม่เคยรู้ว่าทำยังไง ก็ได้เรียนรู้เยอะ ต้องทำไม่ใช่อยากทำ ฝันๆอยู่ ก็ทำไปเลย แพ้ก็ไม่เป็นไร เอาใหม่ได้

ไทยพับลิก้า : มีคนติดตาม settakid.com เยอะไหม

ก็มีบ้างครับ ก็ไม่ได้ดังอะไร แต่ก็กะว่าให้มีคนติดตามเยอะขึ้น แต่มันต้องมีความถี่ เนื้อหาของเราก็หนัก ไม่ใช่พ่อบ้านใจกล้า ผมต้องมีเวลาพอสมควรในการเขียน ส่วนยอดไลค์ได้ก็ดีครับ แต่บางทียอดไลค์ก็ไม่จีรัง แค่หวังว่ามีคนติดตามก็พอใจแล้วครับ

ไทยพับลิก้า : ทำไมย้ำบ่อยมากว่าชีวิตคนเรามันสั้น

อันนี้เป็นอะไรที่ผมคิดเรื่องนี้เยอะนะ ชีวิตพวกผมจะยาวกว่ารุ่นคุณพ่อคุณแม่ แต่ชีวิตผม น้องผม ชีวิตจริงๆมันยาวขึ้น แต่ที่คนรุ่นใหม่มองว่าสั้นเพราะมันจำกัดมาก ไม่แน่ใจว่าทำไม แต่เป็นสิ่งที่ผมคิดเยอะมากว่าเราเสียเวลา เพราะ “เวลา” เป็น asset ที่สำคัญที่สุดในชีวิต มันไปแล้วมันเอากลับไม่ได้ เพราะฉะนั้นต้องคิดดีๆ ว่าเราจะใช้เวลายังไงให้คุ้มที่สุด อันนี้คิดแบบนักเศรษฐศาสตร์ คงไม่มีใครคิดขนาดนี้(หัวเราะ) แต่ถ้าให้ผมคิด ผมต้องคิดว่า สมมติเราเกิดมาชาติเดียว คนอื่นอาจจะคิดว่ามีหลายชาติ แต่เอาชาติเดียวให้ได้ก่อน ก็ต้องคิดดูว่าจากวันนี้จนถึงวันที่ตาย ซึ่งเราไม่รู้ว่าจะตายเมื่อไหร่ แล้วย้อนกลับมาแต่ละช่วงของชีวิตว่าคุณใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดหรือยัง ผมไม่ได้เครียดกับมันมากนะครับ แต่ก็วางแผนไว้ อย่างผมก็วางว่าไม่อยากรถติดวันละ 3 ชั่วโมง มันไม่ไหว เวลามันหายไปเลย …เวลามันจำกัด พอคิดอย่างนี้ก็จะคิดว่าชีวิตมันสั้น อาจจะเป็นเพราะว่าชีวิตคนรุ่นใหม่โดนกิจกรรมต่างๆ ดูดไปเยอะ เลยไม่ค่อยเหลือเวลาให้กับตัวเอง

อยู่เมืองนอกผมโชคดี เวลาเป็นนักเรียนหรือทำงานวิจัย ผมทำงานอยู่กับบ้าน ชอบมาก และได้ทำสิ่งที่ตัวเองต้องการ คือพอทำอย่างนี้แล้วเรารู้ว่าเรจะได้อยู่กับครอบครัวมากแค่ไหน อย่างน้อยผมไม่ต้องเดินทาง ได้อยู่บ้าน ได้รดน้ำต้นไม้ ทำความสะอาดบ้านเอง นี่เป็นอีกอย่างที่ผมชอบมากทำความสะอาดบ้านเอ ซักผ้าเอง แต่ไม่รีดผ้าเองครับ (หัวเราะ)แต่ที่โนั้นไม่เป็นไร เสื้อยับได้ ไม่มีใครแคร์ ยกเว้นไปงาน การทำงานบ้านมันมีความสุข ว่าเราเป็นเจ้าของบ้าน ผมชอบให้บ้านสะอาด

ไทยพับลิก้า : คนอื่นทำแล้วไม่ถูกใจ

มันเป็นความรู้สึก ทำเองดีกว่า ทำเองได้ ทำไมต้องให้คนอื่นทำ แต่คนรุ่นใหม่คงโดนกิจกรรมอื่นดูเวลาไปเยอะ รถติดดูดไปแล้ว 3 ชั่วโมง เหลือ 21 ชั่วโมง ต้องนอนอีก 8 ชั่วโมง ก็เหลือจริงๆ ก็เลยต้องคิดนิดหนึ่งว่าต้องทำอะไรกับชีวิต เพราะท้ายสุดมันเป็นเรื่องครอบครัว ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ ไม่งั้นก็จะมีปัญหาชีวิต ผมยังเด็ก ก็ไม่รู้ว่าจะมีปัญหายังไง แต่ไม่ต้องคิดมากก็ได้ มันก็รู้ว่าถ้าเราไม่มีเวลาให้ภรรยา พ่อแม่ มันจะเกิดอะไรขึ้น มันเข้าใจง่ายมาก แต่ถ้าคิดในมุมเศรษฐศาสตร์ทำอย่างไรให้ optimal ที่สุด(หัวเราะ)ว่าจะให้เวลาภรรยาเท่าไหร่ พ่อแม่เท่าไหร่ น้องเท่าไหร่ มันตอบยาก หากตอบก็จะเจ็บใจกันนิดหนึ่ง น้อยใจ…(หัวเราะ)