ThaiPublica > คอลัมน์ > ครูในฝัน: คิดหน้าคิดหลังก่อนซ่อมการศึกษา (ตอนที่ 2)

ครูในฝัน: คิดหน้าคิดหลังก่อนซ่อมการศึกษา (ตอนที่ 2)

31 มกราคม 2015


ณภัทร จาตุศรีพิทักษ์

ที่มาภาพ : http://pixabay.com/en/teacher-classroom-school-class-403004/
ที่มาภาพ: http://pixabay.com/en/teacher-classroom-school-class-403004/

น่าประหลาดใจที่คนเรามักมองว่าหุ้นเล่นยาก เศรษฐกิจโลกเข้าใจยาก ต้องไปหาเกจิอาจารย์ ไปหานักวิเคราะห์ แต่กลับไม่ค่อยมีคนมองว่าการศึกษาเป็นอะไรที่ลึกลับซับซ้อน

แต่ละคนมักจะมี “ความเชื่อ” บางอย่างว่าอะไรเวิร์กไม่เวิร์กในการศึกษาติดตัวมา ทั้งๆ ที่จริงๆ แล้วการศึกษาเป็นอะไรที่ละเอียดอ่อน ไม่แน่นอน และซับซ้อน มีตัวแปรมากมายที่ผู้ปกครอง ครูใหญ่ หรือแม้แต่กระทั่งตัวครูเองก็ไม่อาจจะรู้ทราบกันได้หมด

อาจเป็นไปได้ว่าคนเรามักมองการณ์ใกล้ เพราะหากเราลองคิดดูดีๆ แล้วคนส่วนมากที่คิดจะพัฒนาการศึกษานั้นก็ได้ “เลยวัย” ที่ตัวเองจะได้รับผลพลอยได้จากการศึกษาโดยตรงกันไปหมดแล้ว

กว่าเด็กรุ่นใหม่จะโตขึ้นมาเป็นแรงงานของชาติพวกเราก็คงแก่เฒ่ากันหมด ลูกเราก็ไม่ใช่ตัวเรา ถึงแม้ว่ารักลูกมากกว่าตัว เราก็อาจจะใส่ใจกับการศึกษาของลูกเราเองมากกว่าการศึกษาของ “คู่แข่ง” ในอนาคตของเขา จุดนี้จึงอาจเป็นเหตุที่ว่าทำไมหลายประเทศที่กำลังพัฒนานั้นยังมีปัญหาด้านคุณภาพของการศึกษาทั้งๆ ที่ทั้งรัฐบาลและประชาชนต่างก็เห็นตรงกันว่าต้องมีการปฏิรูปการศึกษา

หากเราคิดว่าการศึกษามีความสำคัญจริง ก้าวแรกของการพัฒนาการศึกษานั้นง่ายมาก ขอแค่ให้เราเก็บ “ความเชื่อ” ของเราเกี่ยวกับการศึกษาไว้ที่บ้านแล้วยอมรับ “ความจริง” ว่ามันยังมีอะไรที่เราไม่ทราบและไม่เข้าใจเกี่ยวกับการศึกษาอีกมาก แค่การตอบคำถามว่าเป้าหมายของการศึกษาแท้จริงแล้วคืออะไรยังยากเลย การจะตอบคำถามย่อยๆ เช่น “จะใช้เงินจำนวนจำกัดนี้เพื่อสนับสนุนข้าวกลางวันนักเรียนหรือเพื่อให้เป็นโบนัสกับครูเก่งดี” ยิ่งเป็นคำถามที่ตอบยากเข้าไปใหญ่ ก้าวแรกนี้อาจจะสั้นหน่อยแต่อย่างน้อยเราก็ไม่ต้องหลอกตัวเองเมื่อก้าวผิดทาง

ในตอนที่ 1 นั้น ผู้เขียนได้สรุปผลวิจัยเกี่ยวกับการแจกจ่ายอุปกรณ์การศึกษาในหลายประเทศที่พบว่าหลายนโยบายที่ดูเหมือนว่าจะมีผลนั้นกลับไม่มีผลและเป็นแค่การสิ้นเปลืองเงินภาษีเปล่าๆ บทความตอนที่ 2 นี้จะชวนผู้อ่านไปลองสำรวจสองคำถามสำคัญที่ยังไม่มีใครตอบได้แน่ชัดเกี่ยวกับ “ครู” ต่อไปนี้

1. คุณลักษณะของครูที่มีประสิทธิภาพคืออะไร
2. เราสามารถเพิ่มประสิทธิภาพของครูได้ด้วยวิธีใด
3. โครงการพัฒนาความสามารถครูสำคัญแค่ไหน

ใครคือคุณครูในฝัน

คุณภาพของครูนั้นเป็นสิ่งที่หลายคนคิดว่าเป็นหนึ่งในสิ่งที่มีความสำคัญมากที่สุดในการพัฒนาผลการเรียน แต่ปัญหาสำคัญในขณะนี้คือยังไม่มีใครสามารถฟันธงได้ว่าคุณลักษณะใดที่โรงเรียนควรมองหาในตัวครู เมื่อเราไม่แน่ใจในจุดนี้ การที่โรงเรียนต่างๆ จะค้นหาครูที่เก่งที่สุดหรือการที่จะสร้างโครงการอบรมเพื่อพัฒนาครูได้ถูกจุดนั้นจึงทำได้ลำบากมาก

น่าเศร้าที่สังคมออนไลน์ไทยเลือกที่จะฉลองต้อนรับวันครูเมื่อวันที่ 16 ม.ค. ด้วยการแชร์ภาพ “ครูสวย”30 ท่านกันอย่างถล่มทลาย แทนที่จะใช้โอกาสนี้ชื่นชมและให้กำลังใจ “ครูเก่ง” ทั้งนี้ผู้เขียนไม่ได้คิดว่าครูที่รูปลักษณ์ดีนั้นจะต้องไม่เก่งเสมอไป เพียงแต่แค่รู้สึกผิดหวังที่เราเลือกที่จะสรรเสริญคุณสมบัติที่ประเมินได้ง่ายกว่าแม้ว่ามันจะเกี่ยวหรือไม่เกี่ยวกับความสามารถของครูก็ตาม

คงเป็นเพราะว่าการวิเคราะห์ดูว่าครูเก่งคือใครนั้นทำได้ยากจริงๆ ด่านแรกคือการตัดสินใจให้ได้ว่าเราหวังอะไรจากตัวครู เราจะประเมินประสิทธิภาพของครูจากผลการเรียนของเด็กๆ อย่างเดียวหรือจะรวมผลงานอื่นๆ ที่จะไม่ปรากฏในคะแนนสอบแต่อาจมีผลระยะยาวเมื่อเด็กๆ โตขึ้น (อย่างเช่นในกรณีของการศึกษาระดับปฐมวัย)

ด่านที่สองคือเราจะแยกแยะได้อย่างไรว่าผลงานของครูมาจากความสามารถของครูหรือมาจากสิ่งแวดล้อมที่อยู่นอกเหนือความควบคุมของเขา เช่น คุณภาพของครูใหญ่ ความสามารถดั้งเดิมของนักเรียน และความสะอาดปลอดเชื้อโรคของห้องเรียน

ด่านสุดท้ายคือแม้ว่าเราจะมั่นใจได้ว่าผลงานของครูมาจากความสามารถของครูจริงๆ ไม่ใช่แค่โชคช่วย เราก็ยังจะต้องมาค้นหาว่าอะไรในตัวครูคนนี้ที่ทำให้ประสิทธิภาพของการเรียนการสอนนั้นดี ปัญหาคือมีหลายสิ่งเหลือเกินในตัวครูที่อาจจะมีผลกระทบต่อผลงานของครูไม่ว่าสิ่งเหล่านั้นจะวัดได้หรือไม่ได้ก็ตาม

การวิจัยค้นหาว่าคุณลักษณะของครูเก่งคืออะไรจึงเป็นงานที่ลำบากและมีผลวิจัยที่ค่อนข้างกระจัดกระจาย เรามักคิดว่ายิ่งครูมากประสบการณ์ยิ่งน่าจะเก่ง แต่งานวิจัยชิ้นโบว์แดงของ Eric Hanushek พบว่า “ชั่วโมงบิน” สำคัญแค่ช่วง 5 ปีแรก หลังจากนั้นแทบไม่มีผล พูดง่ายๆ คือโดยเฉลี่ยแล้วครูที่มีประสบการณ์สอน 5 ปีกับ ครูที่มีประสบการณ์ 25 ปีนั้นมีประสิทธิภาพไม่ต่างกัน

ส่วนงานวิจัยเกี่ยวกับความเกี่ยวโยงระหว่างวุฒิการศึกษาหรือ majorของครูกับประสิทธิภาพครูนั้นก็ยังสรุปไม่ได้ Harris กับ Sass (2011) พบว่ามีงานวิจัยแค่ 3 จาก 12 ชิ้นที่พบว่าวุฒิปริญญาโทนั้นมีผลเกี่ยวโยงกับการพัฒนาผลการเรียนคณิตฯในระดับประถมศึกษา อีก 9 ชิ้นที่เหลือพบว่าการมีวุฒิปริญญาโทไม่ได้มีผลอะไรหรือไม่ก็กลับมีผลเสียต่อผลการเรียนเด็กๆ ด้วยซ้ำ จุดนี้น่าเป็นห่วงเนื่องจากบางรัฐในประเทศสหรัฐอเมริกานั้นบังคับให้ครูที่ต้องการใบ teacher certification ระดับสูงต้องจบปริญญาโท บางโรงเรียนก็ชอบโฆษณาว่ามีครูจบปริญญาสูงๆ กี่คนทั้งๆ ที่ยังไม่ใครฟันธงได้ว่าปริญญาเหล่านี้มีค่าต่อเด็กๆ และผู้ปกครองมากกว่าแค่กระดาษใบหนึ่งหรือไม่ ยิ่งไปกว่านั้นบางงานวิจัยยังพบผลลัพธ์ที่ต่างไปตามระดับการศึกษาของเด็กๆ อีกด้วย ทำให้การหาคุณสมบัติของครูเก่งในแต่ละช่วงอายุของเด็กๆ ยิ่งยากเข้าไปอีก

เห็นทีครูในฝันคงยังจะเป็นครูในฝันต่อไปหากเรายังเก็บข้อมูลได้ไม่ลึกไปกว่าที่เราเคยทำ ก้าวต่อไปในการค้นหาคุณลักษณะของครูคุณภาพคงจะมาจากการสังเกตคุณลักษณะใหม่ๆ ที่สมัยก่อนไม่เคยวัดได้ หวังว่าในอนาคตเราจะค้นพบแนวคิดใหม่ๆ ในการเสาะหาครูคุณภาพที่เป็นมากกว่าแค่การกวาดสายตามองและตัดสินความสามารถของครูคนหนึ่งด้วยแค่ใบปริญญาหรือแค่รูปลักษณ์เท่านั้น

ให้รางวัลครูคุณภาพ

ที่มาภาพ : http://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/c/c3/A_hanging_carrot.jpg
ที่มาภาพ: http://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/c/c3/A_hanging_carrot.jpg

หลายคนคิดว่าครูไม่ได้เลือกประกอบอาชีพครูเพราะว่าผลตอบแทนทางเงินตรา อย่างไรก็ตามขณะนี้งานวิจัยโครงการ teacher incentive ที่ไม่สนใจการค้นหาคุณลักษณะของครูคุณภาพแต่สนใจว่าการโน้มน้าวแบบใดทำให้ครูมีประสิทธิภาพมากขึ้นนั้นกลับพบว่าโครงการเหล่านี้ที่เชื่อมผลงานเข้ากับรางวัลทางเงินตรามีผลลัพธ์ที่ค่อนข้างดีแนะน่านำไปศึกษาต่อ ด้านล่างคือตัวอย่างผลวิจัยของโครงการ teacher incentive ขนาดใหญ่จากหลายประเทศ

1. โน้มน้าวให้ครูมาทำงานโดยใช้กล้องถ่ายรูป – ไม่น่าเชื่อ แต่ว่ายังมีหลายโรงเรียนในประเทศกำลังพัฒนาที่ครูเอาแต่กินเงินเดือน “โดดสอน” ไม่ยอมมาทำหน้าที่ งานวิจัยชื่อดังของ Duflo, Hanna, Ryan (2010) วัดผลของการใช้ “กล้องถ่ายรูปบอกเวลา” เพื่อบันทึกการมาเข้าทำงานของครูในประเทศอินเดีย และทำการให้โบนัสตามจำนวนวันที่ครูมาทำงานจริง พบว่า ครูโดดสอนจาก 44% ลดลงเหลือแค่ 21% ภายใน 30 เดือน คะแนนสอบเด็กสูงขึ้น 0.17SD เมื่อเทียบกับโรงเรียนในหมู่ control group ที่ไม่ได้ดำเนินโครงการกล้องถ่ายรูปนี้

2. Performance Pay – สามารถนำไปสู่ผลการเรียนที่ดีขึ้นได้จริงในหลายงานวิจัย (Muralidharan and Sundararaman 2011) ยกตัวอย่างเช่น โครงการหนึ่งในประเทศอินเดีย พบว่าการจ่ายเงินตามผลงานครูนั้นมีผลทำให้คะแนนสอบเลขและภาษาเพิ่มขึ้น 0.27SD กับ 0.18SD ภายในสองปี ที่น่าสนใจกว่าคือโครงการนี้จ่ายเงินให้น้อยกว่าโปรแกรมอื่ๆ ที่มีการวัดผลในโลก แต่กลับมีผลผลักดันคะแนนสอบได้มากที่สุด แปลว่าการทุ่มเงินลงไปกับโครงการมากๆ ไม่ได้หมายความว่าจะได้ผลลัพธ์ที่ดีกว่าออกมา การใช้โครงการที่มีบทลงโทษรุนแรงในประเทศสหรัฐอเมริกานั้นมีงานวิจัยพบว่าเกิดผลดีต่อการเพิ่มคุณภาพของครูที่เหลืออยู่ อีกงานวิจัยของ Glewwe, Illias, กับ Kremer (2010) ในประเทศเคนยานั้นพบว่าการเพิ่มเงินเดือนตามคะแนนนั้นทำให้คะแนนสอบเพิ่มขึ้นจริง แต่คะแนนเพิ่มเฉพาะในวิชาที่อยู่ในสูตรที่ใช้ในการประเมินโบนัสเท่านั้น ไม่เกิดผลในวิชาอื่นที่ไม่ได้เอาผลการเรียนไปผูกไว้กับสูตรโบนัสเลย ที่น่าวิตกกว่าคือ โครงการประเภทนี้ไม่สามารถแก้ปัญหาเด็กขาดเรียนหรือเด็ก drop out ได้เลยแม้แต่นิดเดียว

3. ระวังการ “โกง” – ข้อควรระวังของการทำโครงการประเภท teacher incentive นี้คือพฤติกรรมอันไม่พึงประสงค์ที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในโรงเรียน เช่น การปรับสไตล์การสอนใหม่หมดเพื่อมุ่งเน้นให้นักเรียนไปทำคะแนนได้ดีในข้อสอบเท่านั้น (teach to the test) ไม่ได้ใส่ใจว่านักเรียนเข้าใจเนื้อหาถ่องแท้จริง หรืออาจก่อให้เกิดการทุจริตในหมู่นักเรียนเองเวลามีโบนัสเงินรางวัลให้กับตัวเด็กนักเรียนด้วย

โครงการพัฒนาครูมีความสำคัญมาก

ที่มาภาพ : http://www.prathamusa.org/sites/default/files/imagecache/tab_nav_image/Programs.jpg
ที่มาภาพ: http://www.prathamusa.org/sites/default/files/imagecache/tab_nav_image/Programs.jpg

บางทีการใช้เงินตราเป็นตัวหลอกล่อจูงใจให้ครูมาสอนหรือตั้งใจทำงานขึ้นนั้นยังไม่พอในการทำให้เด็กๆ ได้พัฒนาการเรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด ดังนั้น โครงการฝึกอบรบเพื่อพัฒนาครูจึงเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่ขาดไม่ได้ ขณะนี้หลายฝ่ายทราบว่าโครงการเหล่านี้ดีแต่ยังกำลังค้นหาว่าโครงการประเภทไหนดีที่สุด ความสำเร็จจะอยู่ที่รายละเอียดของการจัดทำโครงการเหล่านี้

1. โครงการอบรมเทคนิคการสอนอาจมีผลดี – ยังมีงานวิจัยไม่มากพอในประเทศกำลังพัฒนาที่จะตอบโจทย์นี้ แต่มีงานของ Yoshikawa et al. (forthcoming)ที่ไปทำการวัดผลในโรงเรียนอนุบาลในประเทศชิลี พบว่าการอบรมครูเรื่องเทคนิคการสอนและกลยุทธ์ในการช่วยให้เด็กสามารถควบคุมความประพฤติได้ดีขึ้นนั้น สามารถพัฒนา Emotional Support กับ Classroom Organization ได้ดีขึ้น แต่กลับไม่มีผลต่อความประพฤติหรือความสามารถทางภาษา จุดอ่อนของโครงการแบบนี้ในเด็กเล็กคือ ครูเก่งขึ้นก็จริงแต่เด็กเล็กขาดเรียนบ่อย จึงอาจเป็นเหตุที่ว่าทำไมถึงไม่ค่อยเห็นผลเท่าไหร่นัก

2. การให้ feedback เกี่ยวกับผลการเรียนของเด็กไม่ค่อยมีผลเท่าไหร่นักMuralidharan and Sundararaman (2010) ทำการทดลองในอินเดียและพบว่าโครงการแบบนี้ไม่ได้ทำให้ผลการเรียนท้ายปีของเด็กที่ครูได้รับ feedback ดีขึ้นกว่าในกลุ่ม control group เลย ครูที่ได้ feedback อาจจะทำงานหนักกว่าเพราะว่าอยากพัฒนาผลการเรียนของเด็กๆ แต่อาจไม่ทราบว่าต้องทำอย่างไรจึงจะพัฒนาการเรียนรู้ของเด็กๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด

3. การแนะนำครูอย่างละเอียดว่าควรสอนอะไรเพิ่มและสอนอย่างไร เวิร์ก โครงการ Shishuvachan เพื่อเพิ่มความสามารถในการอ่านหนังสือของเด็กๆ ในประเทศอินเดียนั้นถือว่าเป็นที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างยิ่ง (ใช้ storybooks, alphabet charts, flashcards และเพิ่มหนังสือที่เหมาะกับวัย) โดยโปรแกรมนี้ให้ข้อมูลกับครูอย่างครบถ้วนว่าควรปรับปรุงการเรียนการสอนอย่างไร อะไร เมื่อไหร่ และมีการตรวจเช็คค่อนข้างถี่ว่าครูนำสิ่งเหล่านี้ไปใช้จริง พบว่าผลความสามารถในการอ่านนั้นเพิ่มขึ้นสูงถึง 0.12-0.70SD

4. การแนะนำครูให้นำการอ่านแบบมาราธอน เวิร์ก – อีกหนึ่งโครงการที่ดีคือโครงการเพื่อพัฒนาการอ่านในประเทศฟิลิปปินส์ที่นำหนังสือบริจาคที่เหมาะสมกับวัยมาให้โรงเรียนยากไร้ หลังจากนั้นฝึกให้ครูทำการนำ “การอ่านมาราธอน” ยาวหนึ่งชั่วโมงเต็มเป็นเวลาหนึ่งเดือน พบว่าโครงการนี้ทำให้คะแนนการอ่านขึ้น 0.13SD และเพิ่มจำนวนหนังสือที่เด็กๆ อ่านมากกว่าเดือนที่แล้วถึง 7.1 เล่ม

สรุปซีรีย์ “คิดหน้าคิดหลังก่อนซ่อมการศึกษา”

ผู้อ่านคงจะเห็นภาพแล้วว่าการพัฒนาการศึกษานั้นใช้แรงเงินและแรงใจรวมไปถึงแรงวิจัยอันมหาศาล ข้อคิดที่ผู้เขียนอยากให้ผู้อ่านได้ติดไม้ติดมือกลับไปคือ

1. ฟังหูไว้หูเวลาพบเจองานวิจัยที่ไม่ได้มาตรฐาน – พยายามหลีกเลี่ยงงานวิจัยกลวงๆ ประเภทที่พิสูจน์ได้แค่ว่าตัวแปร x กับตัวแปร y นั้น “เกี่ยวข้องกัน” เพราะมันไม่ได้ช่วยให้เราเข้าใจขึ้นเลยว่าเราลงทุนทำ x แล้วจะเกิด y ขึ้นจริงไหมและจะเกิด y ขึ้นเท่าไหร่ คุ้มเงินที่เสียในการเพิ่ม x ไปไหม

2. อย่าสนับสนุนการพัฒนาการศึกษาแบบขอไปที – อนาคตของเด็กไม่ใช่สนามเด็กเล่นของผู้ใหญ่ที่จะเข้ามาปรับเปลี่ยนอย่างฉับพลันเป็นว่าเล่นอยู่เสมอ อย่างที่เราได้เห็นมาสองตอน การศึกษานั้นลึกซึ้งและซับซ้อน และต้องการผู้ที่มีความรู้และประสบการณ์จริง ทั้งในห้องเรียน ห้องวิจัย และห้องประชุม มาช่วยกันพัฒนากันในรูปแบบที่ทุกฝ่ายเก็บความเชื่อส่วนตัวไว้ที่บ้าน

3. ผลักดันการพัฒนามาตรฐานการเรียนรู้และมาตรฐานของครู – การวัดผลการเรียนและผลงานของครูให้ถูกต้องและสมเป้าหมายนั้นเป็นก้าวแรกๆ ที่เราต้องทำให้ได้ดี ความอื้อฉาวของข้อสอบ O-net เมื่อปีก่อนๆ คือฝันร้ายที่ประเทศไหนในโลกก็ไม่ต้องการ หากไม่มีมาตราฐานที่มีคุณภาพ เราคงวิจัยอะไรกันได้ลำบาก

ทั้งหมดที่เราสำรวจกันไปในสองบทความนี้เป็นแค่เรื่องของ “ประสิทธิภาพ” ของการศึกษา ยังมีเรื่องของ “ความเท่าเทียมกัน” ของโอกาสทางการศึกษาที่เรายังไม่ได้พูดถึงเลยด้วยซ้ำ บางคราวที่เรามองเห็นอุปสรรคในการศึกษาแล้วท้อ เราอาจจะเริ่มคิดว่าทำไมไม่ปล่อยให้โรงเรียนแข่งกันเพิ่มคุณภาพกันเองตามกลไกตลาด ใครมีเงินจ่ายก็ได้ที่นั่งที่ดีที่สุดไป เราได้เห็นตัวอย่างมามากมายในโลกนี้แล้วไม่ว่าจะเป็นตลาดการเงินหรือตลาดประกันสุขภาพในสหรัฐฯ ที่สามารถแผลงริษเล่นงานประชาชนให้สังคมสั่นคลอนได้อย่างที่ไม่มีใครคาดคิด

สังคมที่มีสุข มั่นคง และไม่เหลื่อมล้ำคือสังคมที่ผู้เขียนค้นหา ผู้เขียนเชื่อว่าการยอมเหนื่อยตอนนี้เพื่อการศึกษาที่มีประสิทธิภาพและเท่าเทียมกันมากขึ้นนั้นจะพาเราไปสู่สังคมนั้นได้ในที่สุด

หมายเหตุ: ตีพิมพ์ครั้งแรกที่ “เศรษฐ” ความคิด – settaKid.comณ วันที่ 26 สิงหาคม 2557