ThaiPublica > คอลัมน์ > อย่าให้พระเอกตกงาน: มองการท่องเที่ยวผ่านเลนส์เศรษฐศาสตร์

อย่าให้พระเอกตกงาน: มองการท่องเที่ยวผ่านเลนส์เศรษฐศาสตร์

20 สิงหาคม 2015


ณภัทร จาตุศรีพิทักษ์

ที่มาภาพ : https://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/1/1d/Pai_river,_north_of_Pai,_Mae_Hong_Son,_Thailand.jpg
ที่มาภาพ: https://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/1/1d/Pai_river,_north_of_Pai,_Mae_Hong_Son,_Thailand.jpg

ในช่วงเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมานี้ผมได้มีโอกาสไปเที่ยวพักผ่อนที่จังหวัดเชียงใหม่และอำเภอปายจังหวัดแม่ฮ่องสอน นับว่าเป็นทริปที่ทำให้ผมรู้สึกขัดข้องในใจอย่างบอกไม่ถูก

ในขณะที่ผมดีใจที่ประเทศไทยยังมีขุมทรัพย์ท่องเที่ยวอันล้ำค่าสวยงามไม่แพ้แหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติระดับโลก แต่ในขณะเดียวกัน “พฤติกรรมมนุษย์” ที่ผมสังเกตเห็นในทริปนี้ทำให้ผมกังวลและเป็นห่วงอนาคตของการท่องเที่ยวไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาคับขันแบบนี้ที่การท่องเที่ยวดูเหมือนว่าจะเป็นหนึ่งในเซกเตอร์พระเอกเพียงไม่กี่เซกเตอร์ของเศรษฐกิจไทย ซึ่งล่าสุดก็เพิ่งจะถูกกระทบกระทั่งจากการวางระเบิดในกรุงเทพฯ

อิสรภาพ ความเละเทะ และ “externality”

ที่มาภาพ : https://pixabay.com/en/can-garbage-cocacola-recycle-dump-696583/
ที่มาภาพ: https://pixabay.com/en/can-garbage-cocacola-recycle-dump-696583/

หนึ่งในจุดขายหลักของการท่องเที่ยวไทยในสายตาชาวต่างชาตินอกเหนือจากความงดงามของศิลปะวัฒนธรรมและธรรมชาติแล้วก็คือ “อิสรภาพในการท่องเที่ยว” ซึ่งหมายความว่าเป็นการท่องเที่ยวในรูปแบบที่เมื่อเปรียบเทียบกับการท่องเที่ยวในประเทศอื่นแล้วถือว่าไร้ซึ่งความกังวล ไร้ซึ่งกฎเกณฑ์ อยากทำอะไรก็ทำได้ เมื่อไหร่ก็ได้ ทั้งหมดนี้ค่อนข้างจริงเมื่อเทียบกับการไปเที่ยวญี่ปุ่น เกาหลี หรืออเมริกา ที่ระเบียบค่อนข้างจัด สไตล์การท่องเที่ยวไทยในมุมนี้ก็มีข้อดีคือ อะไรๆ มันก็ง่ายกว่าจริงๆ อยากเพิ่มไข่เพิ่มข้าวสั่งนอกเมนูก็ง่าย อยากเดินไปทานอาหารไปก็ได้ ไม่ต้องหลบๆ เหมือนในญี่ปุ่น

ดังที่นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติได้เขียนบันทึกประสบการณ์ขี่มอเตอร์ไซค์เที่ยวแม่ฮ่องสอนไว้ในบล็อกโพสต์ว่า:

“The freedom of traveling like this is unmatched. You can just do whatever you want – you can eat where and when you want, you can stop as often you want, you can pee where you want and you are always flexible to explore the surroundings of the places you stay.”

“จะปัสสาวะที่ไหนก็ได้แล้วแต่ใจอยาก” เขาว่างั้น ฟังดูแย่เกินจริงแต่เมื่อไปถึงอำเภอปายด้วยตัวเองแล้วก็ตระหนักว่ามันไม่ได้ต่างจากที่เขาเขียนไว้ขนาดนั้น

แม้ว่าทั้งทริปจะเจอนักท่องเที่ยวที่ปัสสาวะนอกห้องสุขาแค่สองราย ตัวอย่างที่น่าสนใจกว่าคือสิ่งที่เกิดขึ้นในบริเวณถนนคนเดินในปาย

จากที่ผมลองสังเกตดูแค่ไม่กี่นาที มีการทิ้งขยะอย่างเรี่ยราดเสียยิ่งกว่าในกรุงเทพฯ มองไปทางขวามีกลุ่มนักท่องเที่ยวจากยุโรปที่สูบบุหรี่จัดมาก สูบเสร็จก็ทิ้งก้นบุหรี่ลงพื้นเลย มองไปทางซ้ายมีนักท่องเที่ยวจีนแกะห่อขนมเสร็จ มองหาถังขยะไม่เจอ ก็เลยปล่อยมันลอยไปตามลม ผมเดินต่อไปอีกห้านาทีก็ถึงพื้นที่ที่จัดไว้เก็บขยะ ที่ทราบว่าเป็นพื้นที่เก็บขยะนั้นไม่ได้เป็นเพราะเห็นป้ายอะไรแต่อย่างใด แต่เป็นเพราะเห็นขยะมันกองกลิ้งกันเอ่อล้นออกมาจากถังขยะสามสี่ใบจนเกือบถึงตัวถนน

ที่มาภาพ :  http://www.settakid.com/thai_sustainable_tourism/
ที่มาภาพ: http://www.settakid.com/thai_sustainable_tourism/

อีกปรากฏการณ์ที่น่าสนใจในบริเวณเดียวกันนี้คือการไร้ซึ่งการควบคุมมลภาวะอากาศ บนถนนคนเดินแห่งนี้มีคนเดิน แต่ก็มีสิ่งอื่นอีกมากมายที่ไม่ใช่คน

รถยนต์ รถกระบะ และรถมอเตอร์ไซค์ เวียนว่ายผสมกันจนผมสงสัยว่าบรรยากาศมันยังตรงกับชื่อถนนอยู่หรือไม่ เดินๆ อยู่ก็จะได้กลิ่นควันท่อไอเสีย บางทีก็จะโดนรถกระบะใหญ่ๆ เบียดแทบจะลงไปในกระทะเกี๊ยวซ่าและได้ยินเสียงแตรมอเตอร์ไซค์ดังเป็นระยะๆ และแล้วเมื่อผมเดินเข้าไปตามซอยเล็กๆ ผมก็เข้าใจว่าทำไมถึงเป็นเช่นนี้ ในบริเวณเล็กๆ นี้มีธุรกิจให้เช่ามอเตอร์ไซค์ในราคาถูกตั้งอยู่มากมาย บางแห่งค่าเช่าแค่วันละเพียง 100 บาทเท่านั้น

ปัญหามลภาวะบนถนนเล็กๆ เส้นนี้เป็นปัญหาคลาสสิกในทางเศรษฐศาสตร์ที่เรียกกันว่า “negative externality” ซึ่งหมายถึงผลกระทบทางลบต่อกลุ่มบุคคลที่ไม่ได้เกี่ยวข้องโดยตรงกับธุรกรรมทางเศรษฐศาสตร์ ธุรกรรมที่เกิดขึ้นระหว่างผู้ให้เช่ากับผู้เช่ามอเตอร์ไซค์นั้นไม่ได้รวมต้นทุนต่อสังคม เช่น มลภาวะอากาศ หรือมลภาวะเสียง จึงทำให้ราคาของการเช่ามอเตอร์ไซค์ต่ำจนเกินไป กลไกตลาดมอเตอร์ไซค์ให้เช่าบนถนนคนเดินแห่งนี้จึงไม่สะท้อนถึงผลกระทบต่อผู้คนและสภาวะแวดล้อมโดยรวม

จะไปว่าธุรกิจเหล่านี้ผิดก็ไม่ถูกเสียทีเดียว เขาก็หากินตามวิถีที่ทำได้และตามกรอบที่ภาครัฐกำหนดไว้ เวลาเราปล่อยให้ทุกอย่างเป็นไปตามกลไกตลาดโดยไม่มีกฎระเบียบที่เข้มแข็งพอ สังคมไม่ว่าจะเล็กแบบบนถนนคนเดินในอำเภอปาย หรือจะใหญ่ขนาดเดียวกับกรุงเทพฯ ก็มีโอกาสที่จะลงเอยเช่นนี้ (หรือไม่ก็ลงเอยไปเรียบร้อยแล้ว…) นานวันเข้ามลภาวะและขยะทั้งหลายจะค่อยๆ บ่อนทำลายทรัพยากรธรรมชาติที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวมาตั้งแต่แรก จะเริ่มดึงดูดนักท่องเที่ยวผิดประเภท และบ่อนทำลายสุขภาพของคนท้องถิ่นไปอย่างช้าๆ

มองแหล่งท่องเที่ยวให้เป็น “ทรัพยากร” ที่ต้องบริหารจัดการ

ที่มาภาพ :  https://pixabay.com/en/plants-trees-bamboo-slender-thin-731166/
ที่มาภาพ: https://pixabay.com/en/plants-trees-bamboo-slender-thin-731166/

ที่น่าเป็นห่วงยิ่งกว่าปัญหา negative externality คือปัญหาความยั่งยืนของการท่องเที่ยวไทยและทัศนคติต่อแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติ


ผมคิดว่าเราอาจจะต้องมองการท่องเที่ยวซึ่งเป็นหนึ่งในเซกเตอร์สำคัญของเศรษฐกิจไทยว่ามันเป็น “เซกเตอร์ทรัพยากร” เหมือนกับที่เรามองเซกเตอร์พลังงานให้มากกว่านี้

เวลาท้องที่หนึ่งมีทรัพยากรที่ทุกฝ่ายสามารถเข้ามาใช้ได้ค่อนข้างง่าย ไม่มีหรือมีการควบคุมแบบหละหลวม มักจะเกิดปัญหาที่ว่าทรัพยากรจะถูกใช้ในอัตราที่สูงเกินไปและอาจหมดสิ้นไปในเวลาอันสั้น ยกตัวอย่างง่ายๆ ก็คือจำนวนปลาบางชนิดในมหาสมุทรที่การควบคุมดูแลการจับปลาอาจเป็นไปได้ไม่ 100% จึงเกิดปัญหาการจับปลาเกินขนาดขึ้นเมื่อปลาขยายพันธุ์ไม่ทันอัตราที่ถูกจับ

ปัญหาปลาหมดทะเลเกี่ยวกับการท่องเที่ยวธรรมชาติเพราะว่าทั้งสองสิ่งนี้สามารถมองให้อยู่ในกลุ่มปัญหาที่นักเศรษฐศาสตร์มักเรียกว่าปัญหาประเภท open access resource use ได้ ซึ่งจริงๆ แล้วคำว่า “resource” ในที่นี้สามารถตีความเป็นทรัพยากรอะไรก็ได้ที่มีสต็อกเพิ่มลดตามการเวลา ตามการถูกไล่ล่า หรือตามการใช้สอย เช่น ปริมาณงาช้างและนอแรดในป่า ปริมาณน้ำมันดิบใต้ทะเล หรือจำนวนต้นเฟิร์นโบราณในหมู่เกาะอีสเตอร์ก่อนที่อารยธรรมชาวเกาะจะล่มสลายเหลือแต่รูปปั้นโมอายให้เราดู เป็นต้น

ความงามหรือสภาพของทรัพยากรธรรมชาติในแหล่งท่องเที่ยวก็เช่นกัน เราสามารถมอง “สภาพ” ของแหล่งท่องเที่ยวให้เป็นสต็อกที่ลดลงตามความเสื่อมโทรมตามกาลเวลาหรือตาม “อัตราทำลาย” โดยนักท่องเที่ยวหรือคนท้องถิ่นที่ทิ้งขยะเรี่ยราด ก่อไฟป่า ทำลายปะการัง หรือเอามือไปถูหินงอกหินย้อย ในขณะเดียวกันก็อาจเป็นสต็อกที่เพิ่มขึ้นได้ตาม “อัตราฟื้นฟู” โดยการซ่อมแซม เช่น ในกรณีของสิ่งปรักหักพัง หรือฟื้นฟูตามธรรมชาติเช่นในกรณีของ ป่าไม้ หินงอกหินย้อย และปะการัง

ที่มาภาพ : https://pixabay.com/en/diving-underwater-reef-coral-reef-712634/
ที่มาภาพ: https://pixabay.com/en/diving-underwater-reef-coral-reef-712634/

แม้ว่าแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติหลายประเภทจะสามารถฟื้นฟูได้ด้วยตัวเองตามธรรมชาติ แต่อัตราการฟื้นฟูมักจะต่ำมาก เช่น อัตราเจริญเติบโตของปะการัง Porites sp ที่น้อยกว่า 1 ซม. ต่อปี ทรัพยากรการท่องเที่ยวบางอย่างแม้จะซ่อมแซมได้ด้วยเงินและแรงงานมนุษย์ เช่น เจดีย์ หรือรูปปั้นสำคัญทางประวัติศาสตร์ มันก็ไม่เหมือนเดิม 100% หากนักท่องเที่ยวหรือชาวบ้านไม่ดูแลความสะอาดหรือทำลายทรัพยากรเหล่านี้ในอัตราที่เร็วกว่าอัตราการซ่อมแซม ท้ายที่สุดแหล่งท่องเที่ยวแห่งนี้ก็จะหมดสิ้นซึ่งความสวยงาม

การปล่อยปละละเลยในเซ็กเตอร์การท่องเที่ยว แม้จะเป็นเพียงการกระทำในกรอบเล็กๆ เช่น การทิ้งเศษขยะชิ้นเล็กๆ ทิ้งก้นบุหรี่ ขากเสลด ปัสสาวะนอกห้องสุขา ผลิตมลภาวะอากาศเล็กน้อยจากมอเตอร์ไซค์ นั้นไม่ต่างกับการปล่อยให้ต่างชาติหรือคนชาติเดียวกันเองเข้ามาขุดใช้ “เหมืองทรัพยากรท้องถิ่น” โดยมีปราการสำคัญเพียงแค่สองด่าน คือพาสปอร์ตกับป้ายราคา

วันหนึ่งทรัพยากรเหล่านี้ก็จะหมดไป ชาวบ้านที่ฝึกฝนทักษะแรงงานมาทั้งชั่วชีวิตเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวก็จะตกระกำลำบากเมื่อต้องปรับตัวเข้ากับเศรษฐกิจใหม่ที่ไร้ซึ่งแหล่งท่องเที่ยว ประเทศเราก็จะศูนย์เสียแหล่งรายได้สำคัญไปอย่างน่าเสียดาย ทั้งๆ ที่จริงๆ แล้วทั้งหมดนี้สามารถเริ่มป้องกันได้ในระดับหนึ่งตั้งแต่วันนี้

มองไปข้างหน้า

jatusri_article11_figure5

ผมไปอำเภอปายและหลายๆ ดอยในจังหวัดเชียงใหม่รอบนี้ทำให้นึกถึงเมืองเซอร์แมท ประเทศสวิตเซอร์แลนด์

ที่นึกถึงนั้นไม่ได้นึกถึงเพราะว่าเป็นเมืองภูเขาเหมือนกัน แต่นึกถึงเพราะว่ามันต่างกันลิบลับ

ที่เมืองเซอร์แมทนั้นไม่มีรถยนต์ อากาศในเมืองนี้จึงบริสุทธิ์สุดๆ และถึงแม้ว่าจะไม่มีรถยนต์วิ่งเลยและมีกฎระเบียบเข้มถึงขั้นห้ามถ่ายรูปเซลฟี่กับสุนัข St. Bernard และวิวยอดเขา เศรษฐกิจของเซอร์แมทก็ยังไปได้ดี มีอัตราการว่างงานแค่ 1.9% และการท่องเที่ยวกำลังเริ่มฟื้นขึ้นกลับไปสู่พีคก่อนวิกฤติปี 2008 แล้ว

แต่บางทีของบางอย่างก็ไม่ถึงขั้นต้องบันทึกลงไปในกฎหมาย ไม่ต้องมีตำรวจคอยเฝ้ามอง ก็ยังสามารถทำให้เกิดการบังคับปฏิบัติในสังคมได้

ที่ผมไม่เดินไปกินไปในญี่ปุ่น ยอมรีบๆ กินไอศครีมในร้านคนแน่นๆ ทั้งๆ ที่บรรยากาศด้านนอกดีกว่านั้นไม่ได้เป็นเพราะมีตำรวจคอยจ้องจับตามองไอศครีมซอฟต์ครีมในมือของผม แต่เป็นเพราะว่าเจ้าบ้านเขาล้วนไม่เดินไปกินไป ทุกคนทราบระเบียบดี

จริงๆ แล้ววัฒนธรรมแบบนี้ก็เคยอยู่ในวัฒนธรรมไทย แต่เวลาผ่านไปไม่ทราบเกิดอะไรขึ้นจึงไม่หลงเหลืออยู่แล้ว

เมื่อวัฒนธรรมเละเทะและกฎระเบียบเละเทะ เจ้าบ้านก็เละเทะ ก็จะดึงดูดนักท่องเที่ยวที่เละเทะ ส่วนนักท่องเที่ยวที่แต่เดิมไม่เละเทะก็จะมาเละเทะที่บ้านเรา เพราะว่าต้องยอมรับว่าความเละเทะมันสะดวกสบายต่อตนเองมากกว่าความมีระเบียบ หากปล่อยให้เป็นแบบนี้ไปเรื่อยๆ ผมจะไม่แปลกใจเลยหากวันหนึ่งแหล่งท่องเที่ยวไทยและประเทศไทยก็จะเละเทะตามไปด้วย

ทุกวันนี้เราทุกคนคงทราบดีว่าปัญหาหลายๆ อย่างในประเทศนั้นส่วนมากเป็นปัญหาส่วนรวม มีผู้เล่นจำนวนมาก แก้ไขจากส่วนกลางทำได้ลำบากและใช้เวลาแก้ไขมานานแล้ว ความเปลี่ยนแปลงอาจจะเกิดขึ้นได้เร็วกว่าหากเราทุกคนมาจับมือร่วมมือกันเป็นเจ้าบ้านที่ดี เป็นตำรวจวัฒธรรมที่ดี เป็นตัวอย่างที่ดี และมองการไกลให้มากกว่าเดิม

มันน่าเสียดายหากเราปล่อยให้ทรัพยากรวิเศษเหล่านี้ค่อยๆ หมดสิ้นไป เพราะจริงๆ แล้วสิ่งที่ประเทศเรามีนั้นไม่ได้แพ้ชาติใดเลย

หมายเหตุ: ตีพิมพ์ครั้งแรกที่ “เศรษฐ” ความคิด – settaKid.comณ วันที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2558