ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > สตง. เปิดรายชื่อโครงการที่รับเงินจาก สสส.-สปสช.-สวรส. ปี 2546 – 2557 กว่า 2 พันล้าน

สตง. เปิดรายชื่อโครงการที่รับเงินจาก สสส.-สปสช.-สวรส. ปี 2546 – 2557 กว่า 2 พันล้าน

3 พฤศจิกายน 2015


ที่มาภาพ : http://www.hsri.or.th/people
ที่มาภาพ : http://www.hsri.or.th/people

หลังจากที่ได้นำเสนอข่าวข้อมูลสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เปิดรายชื่อกรรมการและผู้ทรงคุณวุฒิที่เกี่ยวข้องกับมูลนิธิที่รับเงินสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และมีบางหน่วยงานได้ออกมาชี้แจง แต่อย่างไรก็ตาม ปรากฏว่า สตง. ยังได้ตรวจสอบข้อมูลของบุคคลและโครงการต่างๆ ที่รับเงินจาก สสส. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจากตระกูล ส. อื่นๆ อีก

คำว่าตระกูล ส. เป็นชื่อที่เรียกกันในวงการสาธารณสุข สาเหตุที่เรียกว่าตระกูล ส. เนื่องจากกลุ่มนักวิชาการ กระทรวงสาธารณสุข ที่มีความเกี่ยวข้องนั่งในตำแหน่งกรรมการ ที่ปรึกษา ไขว้กันไปมา และบางรายนั่งเป็นกรรมการอย่างต่อเนื่องโดยสลับตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญ เช่น จากผู้เชี่ยวชาญด้านแพทย์ทางเลือก มาเป็นผู้แทนองค์กรเอกชนด้านผู้สูงอายุ เป็นต้น ซึ่งการเกิดขึ้นของตระกูล ส. เริ่มจากสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) มาจากงานวิจัยที่พบว่าคนไทย “โง่ จน เจ็บ” ในปี 2542 โดยมี นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ เป็นผู้อำนวยการ สวรส. คนแรก จากนั้นตามมาด้วยการจัดตั้ง สสส. ในปี 2544 และเพื่อให้เข้าถึงการบริการสุขภาพ จึงมีสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) หรือที่รู้จักในชื่อกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และสำนักงานสุขภาพแห่งชาติ (สช.)

อนึ่ง ก่อนหน้านี้ที่ สสส.ดำเนินการมาครบ 10 ปี ได้ออกงานวิจัยสนับสนุนผลงานของ สสส. ในรอบ 10 ปี ว่าเป็นการใช้เงินงบประมาณที่ได้รับการจัดสรร 2% จากภาษีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่ ประมาณ 24,400 ล้านบาท ว่าคุ้มค่า รายงานวิจัยดังกล่าวจัดทำโดย สวรส. ที่ได้มอบหมายให้โครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP) ซึ่งเป็นภาคีในเครือข่ายของ สวรส. ทำการประเมินผลความคุ้มค่าในการดำเนินงานสร้างเสริมสุขภาพของ สสส. (อ่านเพิ่มเติม)

นอกจากนี้สวรส. ได้ระบุถึงระบบการทำงานว่าเป็นโครสร้างแบบเครือข่าย (network) และการสร้าง “องค์กรลูก” ที่เป็นกลไกเชิงสถาบันซึ่งทำงานวิจัยอย่างเชื่อมประสานกันกับองค์กรภาคีต่างๆ องค์กรลูกหลายองค์กรได้รับการจัดตั้งเป็นองค์กรอิสระในระยะเวลาต่อมา ได้แก่ สสส., สช. และสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์การมหาชน) ปัจจุบัน สวรส. มีองค์กรลูกที่เรียกว่า “เครือสถาบัน” จำนวนทั้งหมด 7 เครือสถาบัน ประกอบด้วย

1. สำนักงานกลางสารสนเทศบริการสุขภาพ (สกส.)
2. สำนักงานพัฒนาระบบตรวจสอบการเบิกจ่ายเงินค่ารักษาพยาบาล (สพตร.)
3. สถาบันพัฒนาการคุ้มครองการวิจัยในมนุษย์ (สคม.)
4. สำนักงานวิจัยเพื่อการพัฒนาหลักประกันสุขภาพไทย (สวปก.)
5. สถาบันสุขภาพวิถีไทย (สสว.) ปัจจุบันได้ปิดตัวลงแล้ว
6. สถาบันสร้างเสริมสุขภาพคนพิการ (สสพ.)
7. สำนักงานพัฒนาระบบการเงินการคลังด้านสุขภาพแห่งชาติ (สพคส.)
8. ศูนย์พัฒนากลุ่มโรคร่วมไทย (ศรท.)

นอกจากนี้ยังมีภาคีเครือข่าย ได้แก่ HITAP,สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.), สถาบันวิจัยและพัฒนาระบบสุขภาพชุมชน (สพช.),สถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์กรมหาชน) หรือ สรพ.,สถาบันพัฒนาสุขภาพอาเซียน (AIHD),มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ, มูลนิธิแพทย์ชนบท, มูลนิธิเครือข่ายร่วมพัฒนาผู้นำการสร้างสุขภาวะแนวใหม่ (คศน.), มูลนิธิสุขภาพไทย มูลนิธิหมอชาวบ้าน มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ เป็นต้น

ดังนั้นจากข้อมูล สตง. ได้รวบรวมรายชื่อโครงการและรายชื่อบุคคลต่างๆ ที่ได้รับสนับสนุนจาก สสส., สปสช. และทั้งจาก สปสช. สสส. ผ่าน สวรส. ตั้งแต่ปี 2546–2557 เป็นวงเงินรวมกว่า 2 พันล้านบาท ดังรายละเอียดข้างล่างนี้

thaihealth-2