ThaiPublica > เกาะกระแส > สสส.แจงการประเมินสตง.ทำงบขาดดุล อ้างนายกฯนั่งหัวโต๊ะกำหนดนโยบาย – ต้องไม่เสียโอกาสการใช้เงินให้เกิดประโยชน์

สสส.แจงการประเมินสตง.ทำงบขาดดุล อ้างนายกฯนั่งหัวโต๊ะกำหนดนโยบาย – ต้องไม่เสียโอกาสการใช้เงินให้เกิดประโยชน์

1 กุมภาพันธ์ 2016


จากที่สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า นำเสนอข่าวเรื่อง “ผลสอบ สตง. ประเมิน สสส. ปี 2557 (ตอนที่ 2) : ทำงบขาดดุลหวั่นขาดสภาพคล่อง – จ่ายเงินโครงการงวดแรก 50 – 100% ทั้งที่ยังไม่เริ่มงาน” เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2559 นั้น สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.)ทำส่งหนังสือทางอีเมล์โดยนายประกาศิต กายะสิทธิ์ โฆษกสสส.ขอยืนยันว่า ข้อมูลดังกล่าวยังไม่ถือเป็นที่สุด อีกทั้งเอกสารดังกล่าวเป็นเอกสารลับทางราชการ ดังนั้นการนำเสนอข้อมูลโดยอ้างอิงแหล่งข่าวจากสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.) และนำไปเผยแพร่ในวงกว้าง ย่อมทำให้เกิดความเข้าใจผิด รวมถึงสร้างความเสียหายให้แก่ สสส.ได้ ดังนั้นเพื่อให้การสื่อสารข้อมูลครบถ้วน และเกิดความเป็นธรรมต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทางสสส.ชี้แจงข้อมูลดังนี้

1. การจัดทำงบประมาณไม่ถูกต้องและไม่เหมาะสม มีการตั้งงบประมาณแบบขาดดุล 3.5% และ 1% ของงบประมาณรายรับในแต่ละปี ข้อเท็จจริงแล้ว การจัดทำงบประมาณของ สสส. ในแต่ละปี เป็นไปตามนโยบายการเงินที่คณะกรรมการกองทุนฯ ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานโดยตำแหน่งเป็นผู้กำหนด ตามอำนาจในมาตรา 21 ของ พ.ร.บ.กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ พ.ศ.2544 และที่ผ่านมาคณะกรรมการกองทุนฯ ได้แต่งตั้งอนุกรรมการนโยบายการเงิน ที่ประกอบด้วยตัวแทนคณะกรรมการฯ และผู้ทรงคุณวุฒิด้านการเงินการคลัง รวมถึงผู้บริหารระดับสูงของกรมบัญชีกลาง ทำหน้าที่เสนอนโยบายทางการเงิน กรอบงบประมาณให้คณะกรรมการกองทุนฯ เห็นชอบและกำหนดเป็นนโยบายทางการเงินในแต่ละปี

ที่ผ่านมามีการกำหนดวงเงินงบประมาณที่จะอนุมัติประจำปีจากวงเงินคาดประมาณรายรับรวมกับระดับวงเงินในกองทุนสำรอง โดยมีนโยบายให้รักษาระดับวงเงินสำรองให้มีเพดานต่ำสุดและสูงสุดที่เหมาะสมเพียงพอต่อการรองรับการเปลี่ยนแปลงเพื่อให้จ่ายเงินสนับสนุนโครงการตามภาระผูกพันต่อไปได้ แต่ก็ไม่ให้มีระดับวงเงินในกองทุนสำรองสูงเกินไปเพราะจะทำให้เสียโอกาสในการใช้เงินให้เกิดประโยชน์ ดังนั้นในปีที่ตรวจสอบพบว่า ระดับเงินทุนสำรองสูงกว่าระดับบนตามนโยบาย คณะกรรมการกองทุนฯ จึงมีนโยบายให้วางแผนงบประมาณแบบขาดดุล เพื่อนำเงินที่เป็นภาระผูกพันและยังไม่ถึงกำหนดจ่ายมาจัดทำโครงการที่ตรงกับวัตถุประสงค์ของ สสส. โดยให้ตั้งวงเงินงบประมาณในการจัดทำแผนดำเนินงานประจำปีสูงกว่ารายรับที่คาดประมาณ ซึ่งกระบวนการทางนโยบายการเงินดังกล่าว ได้ถือปฏิบัติและผ่านการตรวจสอบของ สตง. และรายงานต่อคณะกรรมการประเมินผล คณะรัฐมนตรี และรัฐสภามาโดยตลอด 13 ปี ตั้งแต่ สสส. ดำเนินงานมา

2. การจัดทำแผนของ สสส. ไม่มีการกำหนดจำนวนโครงการและรายละเอียดโครงการ ทำให้ขาดเครื่องมือบริหารที่ดี และการกำหนดให้ผู้จัดการกองทุนฯ สามารถปรับแผนได้ 10% ของเงินงบประมาณ ทำให้การปรับเปลี่ยนงบระหว่างแผน และอาจทำให้การดำเนินงานไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์นั้น ขอชี้แจงว่า สสส. เป็นกองทุนที่สนับสนุนทุนเพื่อการสร้างเสริมสุขภาพ ไม่ใช่องค์กรที่ปฏิบัติกิจกรรมด้วยตนเองเป็นหลัก จึงได้ปฏิบัติทำนองเดียวกับองค์กรสนับสนุนทั่วไปที่จะกำหนดเป้าหมาย ยุทธศาสตร์ และกรอบการสนับสนุนทุน ไม่สามารถใส่จำนวนโครงการและรายละเอียดได้ทั้งหมด เนื่องจากในทางปฏิบัติ การพัฒนาโครงการที่เกิดขึ้นจริงกับภาคีเครือข่าย(ซึ่งไม่ใช่ผู้รับจ้างทำงาน) อาจได้ข้อตกลงเป็นเนื้อหาโครงการหรือวงเงินงบประมาณไม่เท่ากับกรอบที่คาดประมาณไว้ได้เสมอไป การปรับวงเงินส่วนน้อยในแต่ละแผนจึงเป็นการทำให้การเกลี่ยเงินงบประมาณได้ลงตัวกับโครงการที่เกิดขึ้นจริงได้มากขึ้น และวงเงินงบประมาณโดยรวมทำประโยชน์ได้สูงสุด

ดังนั้นการกำหนดให้ผู้จัดการกองทุนฯ สามารถปรับแผนได้ไม่เกิน 10% ของเงินงบประมาณ จะทำให้สามารถปรับทิศทางการทำงานได้ชัดเจน ให้การดำเนินงานบรรลุเป้าหมายและวัตถุประสงค์ อย่างไรก็ตามเป้าหมายของแต่ละแผนที่กำหนดไว้ในแผนหลักยังคงที่ ไม่ได้ลดทอนหรือปรับเปลี่ยนไปตามการเกลี่ยวงเงินแต่อย่างใด โดยผลการดำเนินงานของ สสส. จะถูกประเมินโดยคณะกรรมการประเมินผล ที่กำหนดตัวชี้วัดด้านผลสัมฤทธิ์ไว้ในแผนหลักที่มีน้ำหนักถึงร้อยละ 30 ตามแนวทาง Balanced Scorecard และจากผลการประเมินพบว่า สสส. มีผลการดำเนินงานตามตัวชี้วัดในระดับสูงและสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

3. การอนุมัติเงินอุดหนุนโครงการไม่เหมาะสม บางแผนงานได้รับงบในสัดส่วนที่สูงเมื่อเทียบกับงบประมาณทั้งแผนนั้น ขอชี้แจงว่า การสนับสนุนการดำเนินงานของ สสส. ที่ระบุในแผนระดับต่างๆ มีจุดเน้นที่การบรรลุผลลัพธ์ของการสร้างเสริมสุขภาพเป็นหลัก ไม่ใช่เพื่อการกระจายทุนให้ถึงผู้รับทุนวงกว้าง ดังนั้นการทำให้เกิดผลลัพธ์ของงานทั้งด้านงานวิชาการ งานรณรงค์ งานผลักดันและพัฒนานโยบาย ล้วนต้องอาศัยความรู้ ความเชี่ยวชาญจากผู้ที่มีประสบการณ์และมีความมุ่งมั่นของการดำเนินงานเป็นสำคัญ มากกว่าการหมุนเวียนองค์กรที่ทำงานไปเรื่อยๆ ซึ่งจะไม่นำมาสู่ผลลัพธ์ที่ดี และในแต่ละปีสัดส่วนวงเงินที่สนับสนุนแผนงานต่างๆ ในแผนเป็นไปตามการวิเคราะห์เหตุผลความจำเป็นภายใต้หลักการข้างต้น การระบุความเหมาะสมของสัดส่วนวงเงินสนับสนุนโดยไม่ได้วิเคราะห์ถึงเนื้อหาหรือเหตุผลความจำเป็นของแผนจึงคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงได้ ซึ่ง สสส. ยินดีชี้แจงข้อเท็จจริงของทุกรายโครงการที่มีข้อสงสัย

4. มีการเบิกจ่ายเงินงวดไม่เหมาะสม เช่น การกำหนดจ่ายเงินงวดแรกสูงถึง ร้อยละ 50 – 100% ของวงเงินอนุมัติ ขอชี้แจงว่า การจ่ายเงินงวดเป็นไปตามแผนการดำเนินงานที่กำหนดไว้ในโครงการต่างๆ ซึ่งมีลักษณะและเวลาดำเนินงานแตกต่างหลากหลายมาก การวิเคราะห์การเบิกจ่ายในงวดงานต่างๆ จึงกระทำให้สัมพันธ์กับเนื้องานจริง บางโครงการมีการจัดทำกิจกรรมในช่วงเริ่มต้นโครงการมาก หรือจำเป็นต้องนำไปสร้างภาคีเครือข่ายเพื่อขยายการดำเนินงานสร้างเสริมสุขภาพออกไป จึงทำให้งบประมาณในงวดที่ 1 ค่อนข้างสูง ประกอบกับผู้รับทุนทั้งในฐานะบุคคล คณะบุคคล มูลนิธิ หรือส่วนราชการ ไม่มีทุนหมุนเวียนเพื่อนำมาใช้ดำเนินการก่อนได้ ในส่วนที่จ่ายเงินงวดแรกทั้ง 100% เป็นโครงการผลิตสื่อโฆษณา ที่ผู้ผลิตได้ทำเสร็จในระยะสั้นให้ทันเวลาเทศกาลที่ต้องรณรงค์ และส่งมอบงานเรียบร้อยแล้วจึงเบิกเงินไป จึงไม่ได้แบ่งเป็นหลายงวดโดยไม่จำเป็น

5. การอนุมัติเงินไม่เหมาะสมจำนวน 3.85 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนบุคคลไปปฏิบัติงานในองค์การอนามัยโลก (World Health Organization) ตามภารกิจหลักของกรมสรรพากร ข้อเท็จจริงคือ เป็นการประสานความร่วมมือระหว่างกรมสรรพสามิต กระทรวงการคลัง กระทรวงสาธารณสุข องค์การอนามัยโลก และ สสส. ในการคัดเลือกบุคลากรไปพัฒนาศักยภาพให้สามารถนำองค์ความรู้และประสบการณ์จากผู้เชี่ยวชาญระดับโลกด้านแบบจำลองภาษียาสูบเพื่อสุขภาพในระยะเวลา 1 ปี มาสนับสนุนวิชาการและผลักดันนโยบายภาษีสรรพสามิตยาสูบในไทย ซึ่งเป็นมาตรการสำคัญในการควบคุมการบริโภคยาสูบที่กำหนดไว้ในแผนยุทธศาสตร์การควบคุมยาสูบชาติ ซึ่งเป็นไปตามมาตรา 5 ของ พ.ร.บ.กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ พ.ศ.2544 ในการสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพภาคีฯ สสส. เพื่อเพิ่มขีดความสามารถการทำงานในทุกระดับ

ป้ายคำ :