ThaiPublica > คนในข่าว > DIB TALK ครั้งที่ 2 “ในฐานะคนตัวเล็กๆ เราจะทำอะไรดีๆ ให้โลกได้บ้าง” กับ “ทรงกลด บางยี่ขัน” บรรณาธิการนิตยสาร a day

DIB TALK ครั้งที่ 2 “ในฐานะคนตัวเล็กๆ เราจะทำอะไรดีๆ ให้โลกได้บ้าง” กับ “ทรงกลด บางยี่ขัน” บรรณาธิการนิตยสาร a day

29 พฤษภาคม 2015


เมื่อวันอาทิตย์ ที่ 24 พฤษภาคม 2558 ณ ห้อง ดร.ถาวร พรประภา ออดิทอเรียม ชั้น 5 ตึกสยามกลการ ป่าสาละ จัดงานเสวนา DIB TALK (Do It Better Talk) ครั้งที่ 2 เพื่อกระตุ้นการแลกเปลี่ยนความคิดในประเด็นความยั่งยืน โดยมีบุคคลหลากหลายอาชีพที่ลงมือเปลี่ยนโลกให้ยั่งยืนด้วยวิถีของพวกเขาเองร่วมแลกเปลี่ยนในหัวข้อ “ในฐานะคนตัวเล็กๆ เราจะทำอะไรดีๆ ให้โลกได้บ้าง”

ผู้ร่วม DIB TALK ประกอบด้วย

ทรงกลด บางยี่ขัน บรรณาธิการนิตยสาร a day “นักสื่อสาร”

ทรงกลด อดีตนักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมและเอ็นจีโอ ที่ผันตัวมาเป็นบรรณาธิการนิตยสาร a day นิตยสาร zcong ขวัญใจคนรุ่นใหม่ ทรงกลดเชื่อว่าด้วยพลังของนักสื่อสาร เขาสามารถทำหน้าที่เล่าเรื่องต่างๆ เพื่อให้คนในสังคมเข้าใจปัญหา เกิดแรงบันดาลใจ และสร้างพลังการเปลี่ยนแปลงไปสู่สังคมในวงกว้างได้ ทรงกลดตั้งข้อสงสัยว่า เหตุที่งานภาคสังคมยังเข้าไม่ถึงคนรุ่นใหม่ในกระแสหลักอาจเป็นเพราะขาดนักสื่อสารที่ดี ทุกวันนี้ทรงกลดทำงานสื่อสารเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงทั้งในประเด็นทางสังคมและสิ่งแวดล้อมผ่านงานเขียน การเป็นพิธีกรรายการโทรทัศน์ และกิจกรรมที่พาคนเมืองไปสัมผัสประเด็นสังคมต่างๆ ด้วยตัวเขาเอง

พ่อหลวงพรมมินทร์ พวงมาลา ผู้ใหญ่บ้าน บ้านแม่กำปอง จังหวัดเชียงใหม่ “ผู้นำชุมชน DIB”

ในฐานะผู้นำชุมชน พ่อหลวงพรมมินทร์เชื่อว่า การพัฒนาชุมชนต้องอยู่บนพื้นฐานของการพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน เขาจึงเริ่มต้นโครงการพัฒนาชุมชนที่ใส่ใจทั้งด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยการก่อตั้งกลุ่มออมทรัพย์และกลุ่มฝึกอบรมอาชีพ เพื่อให้ชาวบ้านเข้าถึงแหล่งเงินทุนและบรรเทาปัญหาความยากจน ฟื้นฟูป่าต้นน้ำที่เคยเสื่อมโทรม สร้างความเข้าใจและส่งเสริมให้เกิดการท่องเที่ยวเชิงนิเวศและการปลูกกาแฟใต้ร่มไม้ใหญ่ พัฒนากระบวนการผลิตกระแสไฟฟ้าพลังน้ำจากน้ำตก ทำให้คนทั้งในหมู่บ้านและหมู่บ้านใกล้เคียงได้มีไฟฟ้าใช้ และขายคืนให้กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เพื่อสร้างรายได้ให้กับชุมชนอีกทางหนึ่ง คนและป่าจึงอยู่ร่วมกันได้อย่างยั่งยืนในหมู่บ้านเล็กๆ แห่งนี้

อ.เดชรัต สุขกำเนิด อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์: “นักเศรษฐศาสตร์และเจ้าของบ้าน “ยั่งยืน” DIB”

นักเศรษฐศาสตร์ด้านพลังงาน อดีตกรรมการในคณะกรรมการแก้ไขปัญหาการปฏิบัติตามมาตรา 67 ของรัฐธรรมนูญ (คณะกรรมการสี่ฝ่ายแก้ไขปัญหามาบตาพุด) และเลขานุการคณะกรรมการปฏิรูป ผู้พัฒนาและส่งเสริมให้ชุมชนหันมาใช้พลังงานชีวมวลเพื่อการใช้พลังงานอย่าง “ยั่งยืน” รวมถึงยังเปลี่ยนบ้านตนเองเป็น “ต้นแบบ” บ้านยั่งยืน ด้วยการออกแบบให้เป็นบ้านประหยัดพลังงานและน้ำ มีสวนผักและฟาร์มผลิตอาหารได้เอง ลดรอยเท้าคาร์บอนและใช้ทรัพยากรธรรมชาติให้เกิดประโยชน์สูงสุด

สุรางค์ จันทร์แย้ม ผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อนพนักงานบริการ (สวิง-SWING: Service Workers in Group Foundation) เพื่อนพนักงานบริการ (ทางเพศ) DIB

สุรางค์ตระหนักถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำและคนชายขอบในสังคม เธอจึงก่อตั้งมูลนิธิเพื่อนพนักงานบริการ หรือสวิง ขึ้นเพื่อสร้างโอกาสที่เท่าเทียมและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นให้กับกลุ่มผู้ขายบริการทางเพศ อาทิ การฝึกทักษะด้านต่างๆ เช่น ภาษาอังกฤษ คอมพิวเตอร์ ให้พนักงานบริการ เพื่อให้พวกเขามีความรู้มากขึ้นหากต้องการเปลี่ยนอาชีพในอนาคต นอกจากนี้ยังให้ความรู้ด้านการดูแลสุขภาพ ด้วยการจัดตั้งคลินิกตรวจโรค จัดหาถุงยางอนามัยและสารหล่อลื่นคุณภาพมาจำหน่ายให้พนักงานบริการในราคาถูกกว่าท้องตลาด เพราะถุงยางจากการบริจาคไม่สามารถหาได้อย่างสม่ำเสมอ และสินค้าที่จำหน่ายในตลาดมีราคาสูงเกินไป

ในตอนสุดท้าย ขอนำเสนอเรื่องราว การทำงานสื่อสารเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงทั้งในประเด็นทางสังคมและสิ่งแวดล้อมผ่านงานเขียน โดยทรงกลดเล่าว่า

ไม่สำคัญว่า “ทำ” อะไร สำคัญว่า “ได้” อะไร

“คนเล็กๆ สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงอะไรได้บ้าง” ผมเคยนึกถึงประโยคหนึ่งขึ้นมาซึ่งฝังหัวผมมาสัก 20 กว่าปีแล้ว เป็นประโยคที่อยู่ในปกหลังของหนังสือนิทานของมูลนิธิเด็ก หลังปกหนังสือนั้นเขียนว่า “เมื่อไหร่ก็ตามที่คุณมีโอกาสจะสร้างฝันสานจินตนาการให้กับคนรอบข้าง ขอจงสร้างแต่ฝันดี เพื่อฝันนั้นจะได้เติบโตขึ้นพร้อมกับความทรงจำที่งดงาม” ผมจะมาเล่าเรื่องนี้ครับ

ทรงกลด บางยี่ขัน บรรณาธิการนิตยสาร a day
ทรงกลด บางยี่ขัน บรรณาธิการนิตยสาร a day

ถ้าย้อนไป ทำไมผมถึงเป็นคนทำหนังสือที่คิดเรื่องสังคมอะไรพวกนี้ ย้อนกลับไปสมัยเรียนมหาวิทยาลัย จุดเปลี่ยนหนึ่งคือ การได้ไปค่ายของชมรมอนุรักษ์สภาพแวดล้อมของจุฬาฯ ถ้าเป็นยุคผมเรียนก็นานมากแล้ว เวลาจะไปค่ายจะมีโปสเตอร์แปะอยู่ตามโรงอาหาร มีค่ายหลากหลายรูปแบบ มีค่ายเชิงปัญหาหนักๆ มีการลงพื้นที่ไปดูว่าที่นั่นที่นี่เกิดปัญหาอะไรบ้าง ไปอยู่กับเด็กด้อยโอกาสอะไรก็แล้วแต่ กับค่ายอีกประเภทหนึ่งซึ่งมีคีย์เวิร์ดประเภทคำว่า เชียงใหม่ ดอย ภู ทะเล หาด เกาะ เหมือนไปเที่ยว ซึ่งผมก็เลือกพวกหลังๆ นี่แหละครับ ปักใจว่ามันต้องสนุกแน่ๆ เลย ก็เลยไป

สมัยเด็กๆ ผมรู้สึกว่าการทำค่ายเชิงสายลมแสงแดดมันช่างกระจอกเสียจริงๆ การทำ “ค่ายประเด็น” มันเท่กว่า โตขึ้นมาก็จะบอกว่า คนทำงานเชิงป็อปๆ ไม่เห็นเจ๋งเลย งานที่ดูหนักแน่นสิเจ๋งกว่า แต่พอเราแก่ตัวลงเรื่อยๆ ก็พบว่าจริงๆ แล้วกิจกรรมอะไรอะไรก็ตามมันไม่สำคัญว่าคุณทำเรื่องยาก เรื่องง่าย เรื่องหนักเรื่องเบา มันไม่สำคัญว่าคุณทำอะไรกับมันหรอก มันสำคัญว่าคุณได้อะไรกับมันต่างหาก เช่นเดียวกัน ไม่ว่าคุณจะไปค่ายหนัก ค่ายเบา สิ่งสำคัญคือว่าคุณได้ไป แต่คุณได้อะไรจากการไปต่างหาก

ผมถูกหลอกไปค่ายที่ว่ากันว่าดูเหมือนจะสวย สิ่งที่ไปเจอกลับไม่ใช่ความงดงามแบบนั้น ผมไปเจอสองเรื่อง เรื่องแรกผมไปเจอต้นตอของปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ไม่เคยรู้มาก่อน ผมเข้าใจมาตลอดว่าปัญหาสิ่งแวดล้อมมันสำเร็จรูปมากๆ มีชาวเขาตัดป่า แต่ว่าวันที่ไปได้ยินเสียงตัดป่า ถามว่าใครตัด ตำรวจตัด โอ้โห มันเปลี่ยนโลกมากเลย เราตั้งรับไม่ทัน นั่นคือส่วนหนึ่ง

อีกส่วนหนึ่งเราเจอปัญหา เราเจอคนแก้ เราเจอคนเล็กๆ ที่สื่อยังไม่ได้ไปโฟกัสพวกเขา ซึ่งเรารู้สึกว่าคุณพี่พวกนี้เจ๋ง อยากเป็นคนแบบนี้บ้าง เป็นคนทำงานเล็กๆ ที่ยิ่งใหญ่ ที่สร้างประโยชน์ให้กับผู้คนได้ พอไปค่ายแบบนี้มากเรื่อยๆ ก็เลยเริ่มสับสนในชีวิตว่าตัวเองจะเอาอะไรดี เรียนเศรษฐศาสตร์มาก็คิดว่าจะยังไงต่อดี ก็เลยเริ่มเรียนเศรษฐศาสตร์สิ่งแวดล้อม

ผมก็พบว่าสมัยนั้นคนบนโลกนี้มีสองประเภท ประเภทแรก คือ คนที่อยู่บนโลกที่กำลังหมุน ประเภทที่สอง คือ คนที่กำลังออกแรงหมุนโลกไปสู่การเปลี่ยนแปลงโลก ให้มันขับเคลื่อนไป

ยุคนี้ เปรียบให้เห็นก็ประมาณว่า “คนด่าความมืด” กับ “คนจุดเทียน” หรือง่ายกว่านั้นเป็นนักเลงคคีย์บอร์ดที่ด่าว่า “นี่โลกสวยเหลือเกิน รับไปอยู่ด้วยสักครอบครัวไหม” กับอีกฝั่งก็คือฝั่งโลกสวย ผมเลือกอยู่ฝั่งโลกสวย ผมรู้สึกว่าอยากเป็นคนที่ออกแรงหมุนโลก เด็กหนุ่มในวันวันนั้นก็เลยคิดว่า เอาล่ะ ชีวิตฉันต่อจากนี้ไปจะทำงานที่ออกแรงหมุนโลก ต้องมีส่วนในการเปลี่ยนแปลงโลกให้ได้ อหังการมากนะครับ

จบมาก็เลยทำงานเป็นนักวิชาการก่อน คิดว่าว่าวิชาการเปลี่ยนแปลงโลกได้ เข้าบริษัทไป เป็นภาคธุรกิจมันก็เป็นทุนสามานย์ เปลี่ยนแปลงโลกไม่ได้ ถัดมาเป็นเอ็นจีโอ ที่ WWF สำนักงานประเทศไทย ทำได้สักพัก โห สนุกจัง

Screen Shot 2558-05-28 at 12.53.51 AM
องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล World Wide Fund for Nature-WWF (http://www.wwf.or.th/)

ตอนสมัยทำงาน ผมว่าผมเก่งมาก ไม่ได้มีใครบอกผม แต่รู้สึกว่าผมเก่งมาก คิดดูสิผมเรียนปีหนึ่งตอนอายุ 16 ปี ช่วงอายุ 16-20 ปี ก็เป็นช่วงที่เจอเอ็นจีโอสายเข้มแข็งมากมาย ลงพื้นที่ เข้าไปเดินป่า ทำงานกับเอ็นจีโอไทย เข้าใจระบบนิเวศอย่างถ่องแท้ งานวิชาการก็รู้มาก จบภาคอินเตอร์สิ่งแวดล้อมโลก เข้าใจอย่างละเอียด ทำงานกับฝรั่ง ผมว่าผมเก่ง คือไม่ได้มีคนบอก ผมคิดว่าอย่างนั้น

การที่เราคิดว่าฉันเก่ง เป็นหนึ่งคนที่สามารถเปลี่ยนแปลงโลกได้ ก็มีโทรศัพท์ดังมาหนึ่งสายจากคุณโหน่ง วงศ์ทนง ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งอะเดย์ พี่โหน่งไม่ได้พูดพร่ำอะไรมาก นอกจากบอกว่า “ก้อง พี่อยากชวนก้องเป็น บ.ก. อะเดย์” ผมก็หยุดอึ้งไปสักพัก ก็คิดว่าอะเดย์เป็นหนังสือที่เรารักมาก เติบโตมากับมัน ซื้อหุ้นมันด้วย

เป็น บ.ก. อะเดย์ เหรอ ก็ดีนะ แต่ว่าความฝันอยากเปลี่ยนโลก-เอ็นจีโอล่ะ ก็สบสันสักเดือนหนึ่ง ก็คิดว่าออกจากวงการเอ็นจีโอเข้าสู่วงการแสงสีดีกว่า ด้วยเหตุผลว่าตอนนั้นอยู่ฝ่าย communication (เจ้าหน้าที่ฝ่ายสื่อสาร) ของ WWF ทุกครั้งที่อยากเสนอประเด็น ผมก็ต้องนั่งลิสต์ข้อมูล ส่ง press release (ข่าวประชาสัมพันธ์) ไปให้สื่อ ถ้าพี่ๆ สื่อไม่ลง ก็ไม่เป็นข่าว ไม่เป็นที่รับรู้

มีครั้งหนึ่งผมเคยส่งบทความเรื่องโลกร้อนไปที่นิตยสารชั้นนำของประเทศ ผมคิดว่าผมฝากความหวังไว้กับเขาได้ เขาบอกว่า “น้อง มันยากไป อย่าลงเลย” แล้วถ้าผมฝากพี่ไม่ได้ เมืองไทยจะฝากใครได้ ผมก็เลยเข้าสู่วงการทำสื่อ ซึ่งผมจบเศรษฐศาสตร์มา เป็นเอ็นจีโอ ทั้งชีวิตมีแต่ต้นไม้ ก็ไม่รู้เรื่องการจัดหน้าหนังสือ การถ่ายปก การสัมภาษณ์เป็นอย่างไร ผมก็เลยใช้ชีวิตอยู่กับการเรียนรู้ใหม่หมดเลย เข้าร้านหนังสือศึกษาเรื่องต่างๆ

กระทั่ง 3 ปีผ่านไป ก็ได้กลับมาเจอเพื่อนที่ WWF อีกครั้งหนึ่ง นั่งกินข้าวกัน ก่อนออกมามีคนมาทำงานแทนผม ช่วงสั้นๆ ครึ่งเดือน เขาเป็นคนที่ย้ายจากฝ่ายอื่นมา เป็นคนที่ไร้แพชชั่นสิ้นดีในการทำงาน ไม่ได้รักโลกอะไรเลย เข้ามาด้วยบุญพาวาสนาส่ง รู้จักกันมา แล้วก็มาทำชั่วคราว ทำๆ ไปก็แล้วกัน แบคกราวน์ทางสิ่งแวดล้อมก็ไม่ได้มี ใจก็ไม่ได้มี เป็นตัวที่อ่อนมาก เทียบกับผมซึ่งเก่งมากในตอนนั้น

“สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ วันที่ไปกินข้าวกัน ตัวอ่อนนั้นยังอยู่ เขาเล่าให้ผมฟังว่าตอนนี้ปัญหาเรื่องโลกร้อนจะมีการเจรจาเท่าไหร่แล้ว ท่าทีโลกมีอะไรอย่างไรบ้าง ฟังแล้วก็แบบ “ฉิบหาย” ทำไมไม่รู้เลย เขารู้ได้อย่างไร ที่หนักไปกว่านั้นคือ ผมพบว่า ถ้าเป็นทีมบอลผมอาจจะเป็นทีมแชมเปี้ยนส์ลีก เขาเป็นระดับ อบต. วันนั้นผมแพ้ทีม อบต. ยับเยินมากนะครับ กลับบ้านไปนอนไม่หลับ มันเกิดอะไรขึ้นในชีวิตเรา กับสิ่งที่เราเคยภูมิใจมากว่าเราเก่งในวงการนี้มันหายไปแล้ว ถูกแซงโดยคนที่ไม่คิดว่าจะแซงผมได้ ผมทบทวนตัวเองหลายวัน มันเกิดอะไรขึ้นกับเราสิ่งที่เราศรัทธาและคิดว่าเราเก่ง

ใช้สื่อสิ่งพิมพ์เป็นเครื่องมือ ผนึก “ข้อมูล+สื่อสารเป็น”

เราหยุดการเติบโตในภาคเอ็นจีโอไป เพราะว่าเราทำหนังสือ เราไปหัดสื่อสาร ทุกวันนี้เรามีความรู้เรื่องเอ็นจีโอเท่าเดิม แต่ด้านสื่อสารเพิ่มขึ้น แล้วผมก็พบว่าคนบนโลกนี้มีอยู่ 2 แบบ ผมชอบแบ่งคนเป็น 2 แบบเหลือเกิน แบบแรก คือ นักวิชาการ สื่อ หรือเอ็นจีโอ ซึ่งมีทฤษฎีมีข้อมูลมาก แต่สื่อสารกับคนไม่เก่ง แบบที่สอง คือ คนทำสื่อ คนทำเอเจนซี่ ซึ่งสื่อสารเก่ง แต่ไม่ค่อยมีข้อมูล ไม่ค่อยอยากเข้าใจมาก

Screen Shot 2558-05-28 at 12.58.22 AM
นิตยสารอะเดย์

ผมก็เลยคิดว่าถ้าอย่างนั้นถึงเวลาแล้วที่เราจะเอาสองด้านมารวมกัน แล้วใช้ศักยภาพที่เรามีปกป้องโลก ลองดูว่าทำอะไรได้บ้าง มันก็เลยออกมาเป็นการเบ่งบานของสิ่งพิมพ์ 2 ชิ้น ซึ่งเกิดในช่วงใกล้ๆ กัน ชิ้นแรกเป็นหนังสือแถมเล่มหนึ่งของอะเดย์ ชื่อว่า “an idea a day to change the world” เป็นหนังสือพูดเรื่องวิธีการช่วยโลกแบบครีเอทีฟเป็นเคสต่างๆ แล้วก็เป็นแรงบันดาลใจให้คนมาก ซึ่งในยุคนั้นไม่มีวิธีการนี้มาก่อน

ปัญหาคือ เมื่อก่อน เวลาทำหนังสือแถมกับอะเดย์ ไม่เคยมีลูกค้ารายไหนเอาเลย บอกว่ามันไม่มีคุณค่าหรอก แต่เคสนี้เป็นเคสที่ได้ทำเพราะว่าเพื่อนผมเป็นเจ้าของเงิน หลังจากนั้นทำเล่มแถมมาตลอด ซึ่งหนังสือเล่มนี้พิสูจน์ว่า หนังสือที่ดี คือ หนังสือที่ดี หนังสือเล่มนั้นถูกต่อยอดเป็นหนังสือชุดต้นไม้ใต้โลก ต้นไม้ใต้ดวงอาทิตย์ มากมาย กลายเป็นหนังสือที่ห้างสรรพสินค้าขอซื้อไปแจก กลายเป็นหนังสือที่โรงเรียนขอไปใช้เป็นแบบเรียน กลายเป็นหนังสือที่มีคนขอสั่งซื้อเพื่อใช้เป็นหนังสือแซยิดงานคุณพ่อ ซึ่งผมคิดว่าผมตายได้แล้ว แต่โชคดียังไม่ตาย

K6266340-0
หนังสือ “ต้นไมใต้โลก” โดย ทรงกลด บางยี่ขัน ที่มาภาพ: http://2g.pantip.com/cafe/library/topic/K6266340/K6266340.html

ก็เลยทำหนังสืออีกเล่มหนึ่งในช่วงใกล้ๆ กัน เป็นหนังสืออะเดย์เล่มต้นไม้ พบว่า ตอนนั้นเป็นยุคโลกร้อนแบ่งบาน คนก็เฮโลกันมากมาย ผมคิดว่าผมอยากจะช่วยโลกบ้าง แต่ว่าจะทำอย่างไรดี พบว่าปัญหาเรื่องโลกร้อนนี่คนจำนวนมากพูดกันในฝั่งของแหล่งการลดการปล่อยคาร์บอน อีกฝั่งคือฝั่งหาแหล่งของการดูดซับคาร์บอน คือ ต้นไม้นั่นเอง ผมอยากชวนคนมาปลูกต้นไม้กัน ผมจะชวนเขาปลูกต้นไม้โดยที่ไม่บอกเขาว่าช่วยโลกร้อน เพราะผมคิดอีกอย่างหนึ่งว่าเวลาดูทีวีหรือดูหนังก็ตาม ดูทีวีแชมเปี้ยน เวลาแข่งกินเค้ก ทำไมเราถึงอยากหาเค้กแบบนั้นกินบ้าง เวลาแข่งกินราเมง ทำไมเราถึงอยากหาราเมงแบบนั้นกินบ้าง

ทำไมสื่อทีวีมีอิทธิพล ขณะที่นิตยสารไม่เห็นพลังแบบนั้นเลย ปัญหาคือว่าแล้วนิตยสารหนึ่งเล่มทำแบบนั้นได้ไหม อ่านจบแล้วฮึกเหิมได้ไหม ผมอยากทำให้ได้ ก็เลยอยากออกแบบทุกอย่าง เล่มนี้ผมคิดว่าถ้าคุณอ่านจบแล้ว คุณต้องไปปลูกต้นไม้ให้ได้ ก็มีกระบวนการเนื้อหาต่างๆ ล่อหลอกคนมากมาย แล้วก็หมัดสุดท้าย บอกว่าหนังสือเล่มนี้เคยเป็นต้นไม้มาก่อน คุณอ่านหนังสือมาก ตัดต้นไม้มาก อยากปลูกคืนบ้างไหม จากนั้นแถมเมล็ดพันธุ์ให้ด้วยเลย เมล็ดพันธุ์ดอกไม้ป็อปๆ หน่อย เอาไปปลูกกัน มี 8 แบบ อยากรู้ว่าคุณได้อะไรไปก็ลองปลูกดู

ถ้าผู้ชายได้ไป หน้าตาโฉดๆ ไม่เห็นจะเหมาะกับเราเลย เลยเขียนไว้ข้างซองว่า “Love at First Seed” มีดอกไม้มาให้ แต่ยังไม่ได้ปลูก ดังนั้นเอาจีบหญิงได้ ยื่นให้ เล่มนี้อออกวาเลนไทน์ ตั้งใจว่าผู้หญิงซื้อสิ่งนี้ให้ผู้หญิง นี่คือวิธีการที่พยายามโน้มน้าวคนที่ประสบความสำเร็จ มีคนขอสั่งซื้อเมล็ดพันธุ์ใช้สำหรับงานแต่งงานอีกมากมายหลายคู่ รู้สึกว่าผมตายได้แล้ว แต่โชคดียังไม่ตาย ยังทำงานต่อ

หลังจากนั้นมาก็รู้สึกว่าเอาพลังของสื่อกระดาษมาทำให้คนเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมบางอย่าง มีคนอาจจะได้ธรรมะไปสวนโมกข์แล้วบวชเลย ตอนนี้เป็นคนที่เขียนเรื่องธรรมะอยู่อะเดย์ นั่นคือสิ่งที่คนทำสื่อกระดาษได้รับ สิ่งที่เราทำมีพลังมากกว่าที่เราคิด เพียงแค่เราเปลี่ยนคำถามนิดหน่อยเท่านั้นเอง

ตัวหนังสือไม่เพียงพอ ใช้สื่อพาคนพบประสบการณ์เอง

พักเรื่องนี้ไว้สักครู่ อีกส่วนหนึ่งของการทำงานคือทำงานเรื่องการเดินทาง สมัยเด็กๆ ทำเรื่อง Ecotourism (การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ) มาโดยตลอด ตอนเรียนมหาวิทยาลัยทำเรื่องนี้ด้วยการพาคนไปเที่ยว ตอนนั้นก็ไม่ได้คิดอะไรมาก อยากพาคนไปเจออะไรใหม่ๆ

Agrotourism
ที่มาภาพ: http://www.makemytrip.com/blog/eco-tourism-thailand

Ecotourism มีรูปแบบที่มันใหม่กว่านั้นได้อีก เมื่อ 20 ปีก่อน เช่น พาคนไปดำนา หรือไม่ก็เกี่ยวข้าว เมื่อ 20 ปีก่อนมันใหม่มาก ผมได้ลงบางกอกโพสต์ทั้งปก ได้ลงปกหน้าเนชั่น มีช่องสาม ช่องเจ็ด เพราะว่ามันใหม่มากในช่วงนั้น ในยุคนั้นคนก็คิดกันว่าจะดีเหรอ สมมติว่าผู้ชายจะชวนแฟนไปเกี่ยวข้าว มันจะดูจนทันที ผมสร้างแบรนดิ้งใหม่ให้กับการเกี่ยวข้าว ก็เลยมีการตั้งชื่อทริป อย่างเช่นทริปดำนาชื่อว่า “สายฝนกับต้นข้าว” ทริปเกี่ยวข้าวเป็นทริปที่ชื่อว่า “ปลายฝนกับต้นข้าว” แล้วก็มีสโลแกน คำโฆษณาประมาณว่า “ชวนเธอคนเดียว ก็ฉันอยากจะเกี่ยวกับเธอ” จีบกันก็จีบกันไป หรือไปเก็บบัว ซึ่งเป็นวัฒนธรรมที่อยู่กับประเทศไทยมานาน ก็จะมีสโลแกนว่า “กบใต้ใบบัว บางตัวอาจเป็นเจ้าชาย” คุณจะไปเพราะอะไรก็แล้วแต่ แต่ไปแล้วได้อะไรต่างหาก

หลังๆ ผมทำอะเดย์ เจอคนเจ๋งๆ มาก เจอเนื้อหาที่มันน่าสนใจมาก เขียนหนังสือให้ตายมันก็ได้บางอย่าง บางมิติ พาไปเจอเลยดีกว่า ก็จัดทริปไป พาคนไปหาโจน จันได ไปดูอะไรต่ออะไร ก็หลอกคนไป ระหว่างที่หลอกคนไปผมก็ได้รู้อะไรบางอย่างมากขึ้น

ผมก็เป็นเนิร์ดมาก่อน ตอนทำเรื่อง ecotourism มีทฤษฎีอันหนึ่งเรียกว่า “รอยเท้าทางนิเวศวิทยา” หรือว่า ecological footprint ทุกๆ ครั้งเราจะพูดว่าเมื่อมีทัวร์ไป จะมีบางอย่างเสียหาย วิถีชีวิตเขาเปลี่ยนไปอะไรต่างๆ เปลี่ยนไป ซึ่งทั้งหมดทั้งปวงนั้นแย่ลง มันจำเป็นหรือที่รอยเท้าทางระบบนิเวศทำให้คนท้องถิ่นแย่ลง มันเป็นเชิงบวกได้ไหม ผมคิดว่าได้

ผมเชื่อว่าการท่องเที่ยวที่ผมทำทุกครั้ง เป็นการท่องเที่ยวที่ผมสร้างรอยเท้าเชิงบวกให้กับคนในท้องถิ่น เช่น มีวันหนึ่งผมไปเซอร์เวย์ทริปบัว ก็จอดรถข้างนาบัว ก็ลงไปถามว่า “พี่ นานี้น้ำลึกไหมครับ ผมสนใจมาก อยากพาคนมาเที่ยว” พูดยังไม่ทันจบเจ้าของนาบัวลงไปเก็บให้ดู ลึกถึงเอว ตัวเปียกหมด แล้วก็เล่าถึงสิ่งต่างๆ มากมาย พอไปทริปเกี่ยวข้าวก็เจอคุณป้าเล่าว่าภูมิปัญญาข้าวมันเป็นแบบนี้นะ ร้องเพลงให้ฟัง เพลงสมัยก่อนเป็นแบบนี้นะ ตายแกเป็นประกาย

ผมก็เลยรู้สึกว่าคนเหล่านี้ ชาวนา ชาวไร่ เขาคิดว่าเขาต่ำต้อยมาโดยตลอด แต่ว่ามีเด็กจากในเมือง เรียนหมอ ไปไหว้เขา ไปบอกเขาว่า ช่วยสอนผมหน่อยนะครับ คุณลุงเก่งกว่าผมมาก เขารู้สึกว่าเขาตัวใหญ่ขึ้น มีความสุขขึ้น เขารู้สึกว่าสิ่งที่เขาทำมันถูก

เช่นเดียวกัน ผมไปเจอคนที่ทำงานเอ็นจีโอด้วยกัน เจอพี่คนนั้นคนนี้ มันเหนื่อย มันท้อ เจอปัญหามาก การไปของพวกเรานอกจากไปเกาะเขากินแล้ว วันสุดท้ายก่อนกลับก็คุยกัน เขาจะได้รู้ว่าสิ่งที่เขาทำมีความหมาย สร้างแรงผลักดันให้ชีวิต การเจอกันระหว่างคนที่ทำงานเพื่อสังคม กับคนเมืองที่ไปเจอกันก็ได้รับซึ่งกันและกันนะ เราได้เห็นการแก้ปัญหาจากเขา ในขณะเดียวกัน สิ่งที่เขาได้คือเขารู้สึกว่าสิ่งที่เขาทำไม่ได้เปล่าประโยชน์ มันมีความหมายจริงๆ กับคนอื่น

เมื่อเร็วๆ นี้ สัก 2 ปีก่อน ผมก็มีโอกาสได้เข้าร่วมโครงการ “เข้าไปในใจ” เป็นโครงการของ สสส. ที่ทำเรื่องของชนกลุ่มน้อย มี 7-8 ประเด็น เช่น สตรี คนแก่ คนพิการ คนไร้สัญชาติ ฯลฯ เอาครีเอทีฟ 8 คน จาก 8 วงการ มาเข้าใจประเด็นซึ่งกันและกัน และมาสื่อสารกันว่าเราจะไปสื่อสารประเด็นพวกนี้ให้คนเข้าใจปัญหาที่แท้จริงอย่างไร

ผมเลือกประเด็นคนไร้สัญชาติ ที่ผมว่ามันตลกคือ เมื่อเกือบ 20 ปีก่อน ผมไปฝังใจโครงการหนึ่งของมูลนิธิกระจกเงาที่เชียงราย เป็นโครงการที่ผมไม่ได้รู้รายละเอียดมากแต่มันยังจำอยู่ในใจทุกวันนี้ว่า เด็กไทย เกิดในเมืองไทย ด้วยปัญหาต่างๆ ทำให้มีมีสัญชาติ เข้าไม่ถึงสิทธิต่างๆ

แร้นแค้น กระจกเงาเขาก็สามารถระดมเด็กกลุ่มหนึ่งให้ได้สัญชาติไทยได้ เขาจัดงานวันเด็ก ของขวัญที่ให้กับเด็กคือสัญชาติไทย มันสั่นสะเทือนจิตใจผมว่าเจ๋ง โปรเจกต์นี้ แทนที่จะเป็นดินสอปากกา ที่รัฐบาลไทยชอบทำกัน

ผมไปเจอน้อง มช. (มหาวิทยาลัยเชียงใหม่) คนหนึ่ง เด็กผู้หญิงน่ารัก ขาวๆ สาวเหนือ น้องบอกว่าเขาเป็นเด็กเกิดในเมืองไทย ไม่มีสัญชาติไทย ถามว่าควรได้สัญชาติไทยไหม แม่เขาเป็นใคร แม่เขาเป็นคนลาว ข้ามมาจากฝั่งลาว มีบัตร สปป.ลาว ผ่านไปแล้ว 30 ปี ตามกฎหมายควรจะได้ไหม แล้วจะดีเหรอ? เริ่มเสียงแตก แล้วพ่อเขาล่ะ พ่อเขาข้ามมาจากฝั่งลาวเหมือนแม่เขา แต่ไม่มีบัตร สปป.ลาว ถามว่าพ่อเขาควรจะได้สัญชาติไหม ครอบครัวเดียวกันเจอ 3 เคส แล้วจะพูดอย่างไรไม่ให้คนบอกว่าโลกสวย เพราะมันมีเรื่องงบประมาณชาติ เรื่องต่างๆ มากมาย ผมคิดว่าจะทำอย่างไรดี

ช่วยโลกอย่างประมาณตน ทำหน้าที่ให้ดีที่สุด

ผมไปเจอสิ่งหนึ่งที่คิดว่าน่าจะดี คือ เราควรจะประมาณตนสักหน่อยว่าเราเป็นใคร ผมว่าหลายๆ ครั้งโลกฉิบหายเพราะว่าเราทำเกินตัว เกินหน้าที่ เราเป็นแค่คนสื่อสาร เราเป็นแค่คนพูดคุยกับคนก็อย่าไปทำสิ่งที่มันเกินหน้าที่เรา ถ้าอย่างนั้นเรื่องกฎหมายปล่อยให้เป็นหน้าที่ของนักรัฐศาสตร์นักกฎหมายไป ผมไม่ยุ่งเพราะผมไม่รู้เรื่องนี้ แต่ผมมีหน้าที่ทำให้คนกับคนมองกันให้เป็นคนเท่านั้นเอง แล้วสื่อแบบไหนที่ทำให้คนสร้างมิตรภาพกันได้ หนังสือเหรอ หนังสั้นเหรอ

ผมเลยนึกถึงประสบการณ์อันหหนึ่งตอนไปพม่า ถ่ายรายการพื้นที่ชีวิต ไปเจอพี่หม่องคนหนึ่งที่เขาเล่าทุกอย่างได้อย่างละเอียดทุกอย่างดีมาก เป็นปราชญ์ที่เข้าใจทุกอย่าง เขาเคยมาอยู่ประเทศไทยมาก่อน ทำงานห้องเย็นแถวพระรามสอง ผมนึกภาพ มันก็คือพม่าที่เราดูถูกกันนั่นแหละ ผมก็เลยคิดว่าคนถ้าได้อยู่ในที่ของตัวเองจะเฉิดฉายมากที่สุด ผมก็เลยพาคนไปหาคนไร้สัญชาติว่าเขารุ่มรวยวัฒนธรรมแค่ไหน เมื่อเรายอมรับ เข้าใจเขาแล้ว ปัญหาของเขาก็จะเป็นปัญหาของเรา

แน่นอนว่าถ้าชวนเขาไปดูเรื่องคนไร้สัญชาติ ก็คงไม่มีใครไป ต้องชวนว่าไปดูเรื่องชากันไหม เดินป่ากินอาหารอร่ยๆ กัน หลอกคนจำนวนมากมาได้ วันกลับถึงได้มาเฉลยว่าจริงๆ แล้วถูกหลอกมา ทุกคนเขาก็ตกใจมาก ว่าชาที่ได้จากเพื่อนของเรามีปัญหา ปัญหาของเพื่อนคือปัญหาของเรา

การทำงานต่างๆ ที่พูดไป บางครั้งก็ถูกมองว่าเป็นการทำงานสายอ่อน สายแข็ง อะไรก็ไม่รู้ จริงๆ แล้วสิ่งสำคัญคือช่วงเวลาสำคัญ ณ เวลานั้นต่างหาก ผมเคยถามเพื่อนที่ทำงานจัดแสงคอนเสิร์ต อาชีพนี้เศร้ามาก คือถ้าเป็นละครเวทียังอัดวิดีโอได้ แต่ถ้าจัดแสงคอนเสิร์ต มันเกิดขึ้นชั่วครู่แล้วก็หายไปเลย ผลงานเก็บพอร์ตได้ยากมาก เพื่อนบอกว่าไม่จริง ถ้าเกิดว่าจัดแสงสวยจริง คนจะจำแสงได้ทั้งชีวิต ผมก็คิดว่าเหมือนๆ กับเวลาไปฟังคนที่มีชื่อเสียงพูดถึงจุดเปลี่ยนของตัวเอง ทุกคนก็พูดถึงแค่ช่วงเวลาสั้นๆ เท่านั้น การสร้างช่วงเวลาที่น่าจดจำต่างหากคือสิ่งที่สำคัญสำหรับผม ก็เลยพยายามทำสิ่งนั้นมาตลอด

ขอกลับมาประโยคเดิม “เมื่อไหร่ก็ตามที่คุณมีโอกาสจะสร้างฝันสานจินตนาการให้กับคนรอบข้าง ขอจงสร้างแต่ฝันดี เพื่อฝันนั้นจะได้เติบโตขึ้นพร้อมกับความทรงจำที่งดงาม”