ThaiPublica > คนในข่าว > เปิดโลกธรณีวิทยากับ “สมหมาย เตชวาล” เรื่องเล่าใต้ผืนดิน และการพลิกโฉม “อุทยานธรณีสตูล” ผ่านโลกออนไลน์

เปิดโลกธรณีวิทยากับ “สมหมาย เตชวาล” เรื่องเล่าใต้ผืนดิน และการพลิกโฉม “อุทยานธรณีสตูล” ผ่านโลกออนไลน์

20 กันยายน 2021


นายสมหมาย เตชวาล อธิบดีกรมทรัพยากรธรณี กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

คำกล่าวที่ว่าใต้ผืนดินทุกพื้นที่ทั่วโลกมีเรื่องราวทางธรรมชาติซ่อนอยู่ ดูจะเป็นคำกล่าวที่ไม่เกินเลยนัก เพราะเมื่อดิน หิน แร่หรือตะกอนอยู่ในมือของ “นักธรณีวิทยา” จะสามารถเล่าเรื่องราวเบื้องลึกเบื้องหลังปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่เคยเกิดขึ้นในอดีตได้

แม้อาชีพนักธรณีวิทยาจะไม่เป็นที่นิยมมากนัก เนื่องจากสภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากร ตลอดจนรูปแบบการใช้ชีวิตของคนยุคปัจจุบันที่เน้นให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมประเด็นใหญ่ๆ ไม่ว่าจะเป็นภาวะโลกร้อน น้ำแข็งทั่วโลกละลาย ไฟป่า น้ำท่วม ฯลฯ ทำให้ศาสตร์ของการศึกษาใต้ผืนดินมักไม่ถูกพูดถึงในวงกว้าง แต่นักธรณีวิทยาก็ยังนับว่ามีความสำคัญต่อสังคมในวงกว้าง โดยเฉพาะมิติที่หลายคนมองข้ามอย่าง “ความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม”

โดยทั่วไปคนมักจะเข้าใจผิดระหว่างคำว่า “อุทยานแห่งชาติ” และ “อุทยานธรณี” รวมถึง “ธรณีวิทยา” ทั้งที่เป็นคนละความหมายกัน โดยอุทยานแห่งชาติมีความหมายเชิงพื้นที่ที่มีป่าไม้พืชพรรณและสัตว์ป่าภายใต้กฎหมาย

แต่นิยามของธรณีวิทยาคือสาขาวิชาที่ศึกษาองค์ประกอบ โครงสร้าง เเละกระบวนการตามธรรมชาติของโลกที่เกิดขึ้น ในแต่ละช่วงเวลาผ่านธรณีหรือ “พื้นแผ่นดิน”

คำว่าธรณีวิทยายังครอบคลุมไปถึงมิติชีวิตผู้คน วัฒนธรรม และการวางแผนทั้งทางธุรกิจและทำความเข้าใจความเป็นไปของโลกที่จะเกิดขึ้นในอนาคต โดยมี “อุทยานธรณี” (geopark) เป็นพื้นที่สำหรับทำกิจกรรมด้านการท่องเที่ยวเชิงธรณีวิทยา เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนโดยใช้ธรรมชาติเป็นจุดขายในพื้นที่นั้นๆ

สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า มีโอกาสสัมภาษณ์ผู้ที่อยู่ในแวดวงวิทยาอย่าง “สมหมาย เตชวาล” ปัจจุบันดำรงตำแหน่งเป็นอธิบดีกรมทรัพยากรธรณี กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และเป็นหนึ่งในหัวหอกสำคัญในการผลักดันศาสตร์ของธรณีวิทยาในประเทศไทย

“ตอนจบใหม่ๆ ผมไปสำรวจหลายพื้นที่ในประเทศไทย เคยอยู่พังงาเป็นปี ไปตั้งแคมป์ที่เหมืองแร่ดีบุก ทุกวันไปสำรวจเก็บหินแกรนิต แถวนั้นเป็นพื้นที่มีแร่ดีบุกที่มีศักยภาพฝังอยู่ในหินแกรนิต เราก็ไปหาแร่โดยเก็บตัวอย่างและดูศักยภาพหิน ผมอยู่แบบนี้ 7-8 เดือน บางวันแบกหินจนหลังแอ่น บางวันฝนตกใส่รองเท้าคอมแบต ขาแช่น้ำทั้งวัน บางวันเจอทาก เป็นชีวิตนักสำรวจ ก็สนุกที่ทำแบบนั้น”

รอยเลื่อนหินสองยุค-สะพานข้ามกาลเวลา-หมู่เกาะเภตรา

ตัวอย่างการทำงานของนักธรณีวิทยาเมื่อเจอพื้นที่ “ถ้ำ” เริ่มจากศึกษาพื้นที่และหลักฐานต่างๆ เก็บตัวอย่างหิน รวมถึงดูการสะสมตัวของตะกอนภายในถ้ำ ดูหินงอก-หินย้อย ซากสัตว์ ตลอดจนฟอสซิล แล้วนำมาหาอายุของพื้นที่และโลก นำไปสู่ความเข้าใจว่าพื้นที่นี้ในอดีตเมื่อหลายพันปีก่อนมีสภาพเป็นอย่างไร เปลี่ยนแปลงอย่างไร ยิ่งกว่านั้นยังสามารถประเมินได้ว่าอนาคตจะมีรูปแบบการเปลี่ยนแปลงเหมือนในอดีตหรือไม่ อย่างไร

นายสมหมายกล่าวต่อว่า นักธรณีวิทยาได้สำรวจภายในประเทศและพบว่าประเทศไทยมี 16 รอยเลื่อน แสดงว่าพื้นที่ประเทศไทยในอดีตมีการเปลี่ยนแปลงอันหลากหลาย แตกต่างจากปัจจุบันอย่างสิ้นเชิง

“เคยสำรวจพบว่ามีซากหอย ที่เจดีย์จังหวัดปทุมธานี จนรู้ว่าเมื่อ 6,000 ปีที่แล้วปทุมธานีเคยเป็นทะเลมาก่อน ขึ้นไปถึงอยุธยา อ่างทอง สุพรรณบุรี ไล่ถึงตะวันตกขอบๆ ชัยนาท ลพบุรี สระบุรีถึงฉะเชิงเทรา แสดงว่าที่เราอยู่ตอนนี้กับเมื่อ 3,000-6,000 ปีที่แล้วไม่เหมือนกัน ระดับน้ำทะเลเปลี่ยนแปลง หรือบางที่ในประเทศไทย เช่น อำเภอแม่แตงจังหวัดเชียงใหม่ เคยมีร่องรอยตะกอนธารน้ำแข็งมาก่อนด้วย”

“ตอนเราค้นพบซากวาฬที่ฝังตัวที่สมุทรสาคร พื้นที่ที่พบซากวาฬอยู่ห่างจากชายทะเล 12 กิโลเมตร พอวัดอายุตะกอนและหาอายุซากวาฬจะได้ประมาณ 3,000 ปี แสดงว่า 3,000 ปีก่อนเป็นทะเล แล้วทะเลเกยเข้ามา ทำให้รู้ว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมในอดีตทะเลเคยเข้ามาถึงสมุทรสาคร”

สิ่งเหล่านี้เรียกว่า “ร่องรอยทางธรณีวิทยา” ซึ่งมีอยู่ทั่วประเทศ เมื่อศึกษาแล้วจะเข้าใจวิวัฒนาการของโลกและกระบวนการทางธรรมชาติ

ถ้ำภูผาเพชร
แนวหิน สาหร่ายสโตรมาโตไลต์

ขณะเดียวกัน ร่องรอยบางพื้นที่อาจไม่ได้มีพื้นที่มากพอจะเป็นอุทยานธรณีได้ โดยองค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติหรือยูเนสโก (UNESCO) จะเป็นผู้คัดเลือกอุทยานธรณีที่สำคัญทั่วโลก ด้วยการประเมินเงื่อนไข 4 ข้อ คือ (1) มีคุณค่าทางมรดกระดับนานาชาติ (2) มีการบริหารจัดการที่ดี (3) มีการให้ความรู้หรือประชาสัมพันธ์ให้คนในพื้นที่เข้าใจ และ (4) มีเครือข่ายทั้งในและนอกพื้นที่เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ ยูเนสโกได้คัดเลือกอุทยานธรณีระดับโลกทั้งสิ้น 147 แห่งทั่วโลก

ร่องรอยทางธรณีวิทยาเปรียบเหมือนจิ๊กซอว์ชิ้นเล็กๆ แต่อุทยานธรณีเปรียบเหมือนจิ๊กซอว์หลายชิ้นที่ประกอบกันจากร่องรอยจำนวนมากจนเป็นพื้นที่ขนาดใหญ่ระดับแหล่งท่องเที่ยวหรือชุมชน

ในประเทศไทยเองก็มีร่องรอยทางธรณีวิทยา โดยเฉพาะซากฟอสซิลที่เป็นจุดเด่นของแต่ละพื้นที่ ขอนแก่นและนครราชสีมามีฟอสซิลไดโนเสาร์ หรือเพชรบูรณ​์ก็มีฟอสซิลที่มีความหลากหลายและเป็นรอยต่อระหว่างทวีปโบราณสองทวีปมาชนกัน

“เวลาไปเที่ยวอุทยานธรณีก็จะมีเรื่องราวของโลก ธรณีวิทยาจะทำให้แหล่งท่องเที่ยวน่าสนใจมากขึ้น”

จากผืนทะเล 500 ล้านปี สู่ขุนคีรียิ่งใหญ่ ผูกพันกับวิถีชีวิตผู้คน

ประเทศไทยมีพื้นที่ที่ได้รับเลือกให้เป็นมรดกโลกคือ “อุทยานธรณีสตูล” (Satun UNESCO Global Geopark) ซึ่งจังหวัดสตูลในอดีตกว่า 520 ล้านปีเป็นพื้นที่ทะเลโบราณ จนกระทั่งมีการตกตะกอนของหินและแร่ ต่อมาแผ่นดินยุบตัวเป็นแผ่นดิน มีการค้นพบฟอสซิลตั้งแต่แมงดาทะเล หมึกทะเล หอยทะเลโบราณ สาหร่ายโบราณ นำมาสู่สโลแกนของอุทยานธรณีสตูลว่า “จากผืนทะเล 500 ล้านปี สู่ขุนคีรียิ่งใหญ่ ผูกพันกับวิถีชีวิตผู้คน”

อุทยานธรณีสตูลเริ่มเป็นแหล่งท่องเที่ยวช่วงปี 2552-2553 จากที่นักธรณีวิทยาลงพื้นที่สำรวจและพบว่ามีหินที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศอยู่บนเกาะตะรุเตา ต่อมาจึงถูกพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ และเริ่มมีการให้ความรู้กับคนในพื้นที่ ที่สำคัญคือการสร้างความรู้ให้มัคคุเทศก์ โดยทำคู่มือเล่าเรื่องเพื่อให้มัคคุเทศก์อธิบายภาษาธรณีวิทยาแบบวิชาการเป็นภาษาที่เข้าใจได้ง่าย

“ตอนนั้นเราคิดว่าน่าจะมีกลไกขึ้นมา ก็คุยกับจังหวัด หลังจากเรารู้ว่าจังหวัดมีอะไรก็นำเสนอกับผู้ว่าจังหวัด ให้ความรู้มาเรื่อยๆ จนกระทั่งเริ่มมีการทำข้อมูลของแหล่งต่างๆ อบรมมัคคุเทศก์ พัฒนาโรงเรียนสอนหลักสูตรอุทยานธรณีให้เด็กมัธยมปลาย เข้าใจว่าธรณีวิทยาเป็นวิทยาศาสตร์ใกล้ตัวและมีความสัมพันธ์กับชีวิตประจำวัน เราเริ่มต้นจาก bottom up วิธีการต้องปูพื้นก่อน คนในพื้นที่รับทราบ ตอนหลังมีเครือข่ายโรงเรียน”

เกาะตะรุเตา

นายสมหมายกล่าวอีกว่า การท่องเที่ยวธรณีวิทยายังมีการสร้างการมีส่วนร่วมกับคนในพื้นที่ โดยให้คนในุชมชนใช้ประโยชน์จากอุทยานธรณีสตูลไปต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ชุมชน ตัวอย่างเช่น วิสาหกิจชุมชนทำสี-ลวดลายผ้าบาติกโดยใช้ดินจากธรรมชาติหลายร้อยล้านปี สะท้อนวัฒนธรรมอันเก่าแก่ หรือการทำผ้าให้เป็นลายฟอสซิล สร้างรายได้ให้ชุมชนมากกว่าหลักแสนบาทต่อเดือน จากเดิมที่ขายได้ผ้าได้เพียงหลักหมื่นเท่านั้น

นอกจากนี้ ร้านขายอาหารยังใช้ชื่อฟอสซิลมาเป็นเมนูอาหาร เช่น นอติลอยด์น้ำดำ (nautiloidea) ไข่ไทรโลไบต์ (trilobite) รวมถึงโรงแรมและรีสอร์ทก็ใช้ชื่อฟอสซิลมาเป็นจุดขายให้รู้ว่าจังหวัดสตูลเป็นเมืองอุทยานธรณี

“ธรรมชาติมีอยู่แล้ว แต่เขาไม่รู้ว่ามี ตอนหลังมีเรื่องราวทางธรณีวิทยาที่เพิ่มเข้ามาและเอาไปใส่ในพื้นที่ มันมีจุดขายที่เป็นสตอรี่ ทำให้ชาวบ้านรักษามรดกและเขารู้สึกว่าต้องดูแลด้วย”

ฟอสซิลไทรโลไบต์
ผ้ามัดย้อม-สีต้นตะบูน

ในสถานการณ์โควิด-19 ที่ทำให้การท่องเที่ยวต้องชะงัก นายสมชาย ในฐานะอธิบดีกรมทรัพยากรธรณี จึงต้องจัดการท่องเที่ยวออนไลน์ในรูปแบบ virtual tour ช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยวในสถานการณ์วิกฤติ ทั้งยังเป็นการสนับสนุนการเที่ยวเมืองรอง และตอกย้ำให้เห็นถึงความสำคัญของการจัดงานมหกรรมเที่ยว “อุทยานธรณี” ในประเทศไทย และให้ชุมชนท้องถิ่นมีส่วนร่วม เพื่อสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวและบริการ

ปี 2564 นับเป็นครั้งที่ 8 ที่กรมทรัพยากรธรณีจัดงานในชื่อ “มหกรรมเที่ยวทิพย์อุทยานธรณีโลกสตูล” ปีปกติใหม่ 2564 (Virtual Satun UNESCO Global Geopark Tourism in the New Normal Year 2021 Festival) ตั้งแต่วันที่ 23-24 กันยายน 2564 โดยนักท่องเที่ยวออนไลน์สามารถชม 6 เส้นทางเสมือนจริง (virtual trails) กับอุทยานธรณีโลกสตูล ผ่านนิทรรศการเสมือนจริง (virtual exhibition) กับอุทยานธรณีทั่วประเทศ

เส้นทางเสมือนจริงทั้ง 6 นับเป็นจุดเด่นของมหกรรมเที่ยวทิพย์ในครั้งนี้ โดยทั้ง 6 เส้นทาง ได้แก่ เส้นทางเชื่อมทะเลอันดามันสู่ทะเลโบราณ  เส้นทางตื่นตาท่องป่าหินปูน เส้นทางบุกถ้ำ-ทะลุป่าหลุมยุบโบราณ เส้นทางท่องดงฟอสซิลเขาน้อย เส้นทางถ้ำเลสเต โกดอน  และเส้นทางข้ามกาลเวลา

ภายในงานยังมีการเสวนาออนไลน์จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ผู้แทนจากอุทยานธรณีต่างๆ ในประเทศไทย และวิสาหกิจชุมชนในพื้นที่ เพื่อนำเสนอทิศทางและบทบาทของงานด้านอุทยานธรณีระดับโลกกับการสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) และการขับเคลื่อนอุทยานธรณีโลกภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก พร้อมนำเสนอการพัฒนาและกลไกการขับเคลื่อนอุทยานธรณีของประเทศไทย ตลอดจนการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ของแต่ละอุทยานธรณี

สะพานข้ามกาลเวลา-หมู่เกาะเภตรา
สันหลังมังกร

ความรู้ด้านธรณียังรวมไปถึงการเฝ้าระวังภัยธรรมชาติ ร่องรอยต่างๆ ที่ปรากฏบนพื้นแผ่นดิน สะท้อนปรากฏการณ์ธรรมชาติในอดีต เช่น หลุมยุบ ร่องรอยดินโคลนถล่ม หรือการป้องกันสึนามิ และเมื่อเข้าใจสภาพพื้นที่จึงนำไปสู่การวางแผนการรับมือความเสี่ยงต่างๆ อย่างพื้นที่ที่มีโครงสร้างเป็นหินจะไม่เหมาะกับโครงสร้างพื้นฐาน การวิเคราะห์องค์ประกอบในพื้นที่ทำให้ออกแบบสิ่งปลูกสร้างได้ดีขึ้น

“ร่องรอยบนแผ่นดินบ่งบอกสิ่งที่เกิดมาในอดีต แร่ น้ำบาดาล ปิโตรเลียม ถ่านหิน โดยการอาศัยความรู้แผนที่ธรณีวิทยา ต้องเก็บตัวอย่างดินมาวิเคราะห์ถึงโครงสร้างความต่อเนื่องถึงใต้ดิน มันต้องสำรวจก่อนว่าพื้นที่ไหนมีหินปูน ถ้ำน้ำ โพรงใต้น้ำ หรืออาจมีโพรงข้างใต้ บางพื้นที่อาจจะไม่มีสภาพความมั่นคงก็ไม่ควรสร้างอาคารหรือสิ่งก่อสร้างใหญ่ๆ”

“กรณีเหมืองทองคำหรือแหล่งปิโตรเลียมใต้ดินลึกๆ ไม่มีใครรู้ว่าใต้ดินมีน้ำมัน ถ้าไม่มีการสำรวจหลักฐานร่องรอยธรณีวิทยาบนผิวดิน เราจะไม่รู้ว่าในไทยมีทรัพยากรปิโตรเลียมจำนวนมากพอสมควร ประเทศเรามีแก๊สธรรมชาติและน้ำมันที่กำแพงเพชร สุโขทัย ขอนแก่น อู่ทอง สุพรรณบุรี อ่าวไทย วิเชียรบุรี และแหล่งปิโตรเลียมใต้ดินที่อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่”

นายสมหมายกล่าวต่อว่า ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่ใช้ประโยชน์จากธรณีวิทยาในการรับมือแผ่นดินไหว ซึ่งมาจากการให้ความสำคัญกับการศึกษาและให้ความรู้กับคนในประเทศ เพราะด้วยสภาพภูมิประเทศแบบเกาะ จนมีการเปรียบเทียบว่า “ธรณีวิทยาคือพื้นฐานทางปัญญาของคนญี่ปุ่น”

“ตอนผมไปญี่ปุ่น เขาพาไปดูพื้นที่ ‘เซนได’ (Sendai) ซึ่งเคยเกิดแผ่นดินไหวตามด้วยสึนามิปี 2554 (2011) นักธรณีวิทยาญี่ปุ่นเคยทำนายว่ามันจะเกิดสึนามิแรงๆ ผลออกมาแทบไม่คลาดเคลื่อนเพราะอยู่ในระยะเวลาบวกลบแค่ 5 ถึง 10 ปีจากที่คาดการณ์ เขาดูว่าเซนไดเคยเกิดแผ่นดินไหว-สึนามิเมื่อ 600 ปีที่แล้ว และมันเคยเกิดก่อนหน้านี้เมื่อ 1,200 ปีก่อน พอตรวจร่องรอยหาอายุตะกอนทั้งชายทะเลกับตะกอนที่อยู่ในที่ลึก ปรากฏว่าพื้นที่ชายทะเลในปัจจุบันมีตะกอนที่มาจากทะเลลึก แสดงว่าเคยมีการเกิดสึนามิพาตะกอนในที่ลึกมาสะสมตัวที่ชายฝั่ง เขาหาคาบการเกิดพบว่าจะเกิดทุก 600 ปีที่รุนแรง ทำให้เขาคาดการณ์และเตรียมการได้ล่วงหน้า ถึงคนทั่วไปไม่ค่อยเชื่อ แต่ก็ลดผลกระทบความเสียหาย ชีวิตคนได้มาก”

ทั้งหมดทำให้เห็นว่าธรณีวิทยาเป็นสิ่งที่ช่วยยกระดับชีวิตผู้คน โดยเฉพาะด้านการท่องเที่ยวและการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน รวมทั้งการบริหารความเสี่ยงล่วงหน้าเพื่อบรรเทาความเสียหายจากหนักเป็นเบา