ThaiPublica > เกาะกระแส > สภาพัฒน์ฯ เปิด “TPMAP” ต้นแบบ Big Data ชี้เป้ารัฐบาล “คนจนอยู่ไหน” ช่วยให้ตรงจุด

สภาพัฒน์ฯ เปิด “TPMAP” ต้นแบบ Big Data ชี้เป้ารัฐบาล “คนจนอยู่ไหน” ช่วยให้ตรงจุด

6 มีนาคม 2022


เนื้อหาการบรรยายเป็นส่วนหนึ่งของการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนเชิงพื้นที่ (SDG Localization) ผ่านช่องทางออนไลน์ โดยมีข้าราชการและผู้นำความเปลี่ยนแปลงระดับท้องถิ่นทั่วประเทศเข้าร่วมรับฟัง จัดงานโดยสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.)หรือสภาพัฒน์ฯ เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2565

นางสาวสรยา ยศยิ่งยง ผู้แทน จากกองยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ สศช. บรรยายในหัวข้อ “การลดความยากจนกับการพัฒนาที่ยั่งยืน” โดยนำระบบ TPMAP (Thai People Map and Analytics Platform) มาเล่าในฐานะเครื่องมือเชิงนโยบายที่ช่วยแก้ปัญหาความยากจนอย่างยั่งยืนว่า จุดเริ่มต้นของเครื่องมือดังกล่าวมาจากพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ต้องการทราบว่าใครคือคนจน คนจนอยู่ที่ไหน จึงได้ประสานกับสภาพัฒน์ฯ ทำให้สภาพัฒน์ฯ เริ่มพัฒนา TPMAP ในปี 2560

นางสาวสรยา ขยายความว่า TPMAP เป็นระบบฐานข้อมูลขนาดใหญ่ที่ใช้ระบุปัญหาความยากจนและความต้องการการพัฒนา ตั้งแต่ระดับบุคคล ครัวเรือน ชุมชน ท้องถิ่น จังหวัดและประเทศ นับเป็นเครื่องมือเชิงนโยบายแรกของประเทศที่สามารถระบุกลุ่มเป้าหมายของการพัฒนาได้ทั้งครัวเรือนและบุคคล

“โจทย์คือเราต้องการรู้ว่าเขาเป็นใคร ดังนั้นข้อมูลที่เรามีต้องมีเลขบัตรประชาชน 13 หลัก สภาพัฒน์ฯ เลยไปนั่งคิดกับ NECTEC ตกผลึกกันมาว่าการจะรู้ปัญหา ต้องรู้ก่อนว่าเขาคือใคร เราต้องไปรวบรวมดาต้าเลขฐานข้อมูลให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้”

นางสาวสรยา กล่าวต่อว่า เดิมทีตัว P จาก TPMAP มาจากคำว่า Property หรือความยากจน แต่เมื่อรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ออกแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี สภาพัฒน์ฯ จึงเปลี่ยนแนวคิดความยากจนเป็นคำว่า People หรือหมายถึงประชาชนแทน

นางสาวสรยา กล่าวต่อว่า กลุ่มเป้าหมายใน TPMAP หรือที่เรียกว่าคนจนในปี 2565 มีทั้งสิ้น 1,025,782 คน โดยใช้เกณฑ์ชี้วัดจาก 5 มิติ ได้แก่ สุขภาพ ความเป็นอยู่ การศึกษา รายได้ และการเข้าถึงบริการของภาครัฐ โดยคนหนึ่งคนไม่จำเป็นต้องชี้วัดด้วยเกณฑ์เดียวเท่านั้น ต่อมาคือกระบวนการจัดลำดับความสำคัญการรองรับความช่วยเหลือ แต่ทั้งนี้เกณฑ์ที่ต้องได้รับการช่วยเหลือโดยเร็วที่สุดคือ รายได้ สุขภาพและความเป็นอยู่

นางสาวสรยา เล่าต่อว่า จาก 5 มิติข้างต้น สภาพัฒน์ฯ ได้ปรับคำนิยามให้ครอบคลุมมากขึ้น โดยเปลี่ยนจากมิติรายได้เป็น ‘ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ’ มิติการศึกษา เพิ่มเป็น ‘การศึกษาและทักษะที่จำเป็น’ มิติความเป็นอยู่ เพิ่มเป็น ‘คุณภาพชีวิตความเป็นอยู่’ สุดท้ายมิติการเข้าถึงบริการภาครัฐ เพิ่มเป็น ‘การเข้าถึงบริการความช่วยเหลือและการมีส่วนร่วมในสังคม’

นางสาวสรยา กล่าวต่อว่า การแก้ปัญหาความยากจนต้องมองถึงความพร้อมในทุกมิติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความพร้อมเชิงพื้นที่ โดย TPMAP ได้นำข้อมูลในพื้นที่ต่างๆ ร่วมกับข้อมูลพิกัดบริการสาธารณะและข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียม มาวิเคราะห์เป็นข้อมูลความยากจนทั้งหมด

“จังหวัดหนึ่งมีปัญหามิติสุขภาพ สภาพัฒน์ฯ เอาข้อมูลไปให้สปสช.ตรวจสอบดูเรื่องสิทธิการรักษาพยาบาล ปรากฏว่าคนที่ตกเกณฑ์สุขภาพ ในแบบสอบถามอ้างว่าเขาไม่รู้สิทธิตัวเอง แต่จากการพูดคุยเขาได้ไปใช้สิทธิก่อนที่จะมีการลงพื้นที่สัมภาษณ์ด้วยซ้ำ แสดงว่ามันมีการเหลื่อมของข้อมูล สภาพัฒน์นำข้อมูลไปแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง”

นางสาวสรยา กล่าวต่อว่า ข้อมูลที่ประชาชนสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ทันที ได้แก่ (1) ข้อมูล Analytics หรือเครื่องมือวิเคราะห์และคำนวณข้อมูลสถิติประชากรตามเงื่อนไขต่างๆ (2) Pivot Table หรือข้อมูลที่นำเสนอในรูปแบบตาราง และ (3) ข้อมูลกลุ่มเปราะบาง โดยสามารถดาวน์โหลดนำไปใช้ต่อได้

นางสาวสรยา กล่าวถึงระบบ Logbook สำหรับเจ้าหน้าที่รัฐว่า ระบบได้ให้สิทธิกับเจ้าหน้าที่รัฐที่มียูสเซอร์เนมและรหัสผ่านเท่านั้น โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่จากศจพ. (ศูนย์อำนวยการขจัดความยากจนและพัฒนาคน ทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง) โดยสามารถเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลได้ ตั้งแต่ชื่อ นามสกุล เลขบัตรประชาชน ที่อยู่ตามจริง สมาชิกในครัวเรือน ฯลฯ

อย่างไรก็ตาม TPMAP มีหน่วยงานที่เป็นผู้ขับเคลื่อนที่สำคัญคือ ศจพ. ตั้งอยู่ในกระทรวงมหาดไทย หน่วยงานดังกล่าวมาจากคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 347/2563 ลงวันที่ 30 ตุลาคม 2563 เพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำ โดยมีผู้แทนจากทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีส่วนร่วม อาทิ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงแรงงาน กระทรวงการคลัง กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

“เราจะทราบได้ว่าที่ผ่านมาเขาได้รับการช่วยเหลืออะไร โดยใคร และความช่วยเหลือนั้นยั่งยืนหรือเปล่า จำเป็นต้องมีการปรับเปลี่ยนความช่วยเหลือไหม และมีการรายงานผลการดำเนินงานอย่างสม่ำเสมอ…TPMAP เป็นการชี้เป้าเบื้องต้นว่าควรให้ความสำคัญใคร เมื่อ (เจ้าหน้าที่) ลงไปแล้วจะเห็นสภาพความเป็นอยู่ ปักหมุดพิกัดเข้ามาในระบบ แล้วในอนาคตจะเป็นข้อมูลในการติดตามต่อไป เป็นข้อมูลในการบริหารจัดการทรัพยากรและลงพื้นที่ แต่เราไม่เคยบอกว่าระบบ TPMAP ถูกร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะมันมาจากข้อมูลตั้งต้นที่อาจจะคลาดเคลื่อนได้ แต่อย่างน้อยเราชี้เป้าได้ 70 ถึง 80 เปอร์เซ็นต์ว่ากลุ่มเป้าหมายกระจุกตัวตรงนี้ ให้แก้ปัญหาตรงนี้ก่อน แต่มันไม่ได้บอกต้นตอปัญหาว่าเกิดจากอะไร ดังนั้นจึงต้องลงพื้นที่และซักถามพูดคุยกับเขา

“สภาพัฒน์ฯ เคยมีโอกาสลงพื้นที่สมุทรสงคราม 3 อำเภอ ตอนนั้นมีปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัย เราคิดว่าเขาติดการพนันหรือติดเหล้า ปรากฏว่าเขาโดนโกงโฉนดที่ดิน เพราะไม่รู้ ไม่มีการศึกษา อ่านหนังสือไม่ออก แก่มาก อยู่คนเดียว ไม่มีรายได้ และในระบบบอกว่ามีคุณยายคนเดียว แต่ตอนลงพื้นที่ก็รู้ว่ามีหลานอยู่ด้วย เลยเอาหลานมาเป็นข้อมูลเพิ่มเติมในระบบทำให้สมบูรณ์มากขึ้น”

นอกจากนี้ยังมีการใช้ TPMAP เป็นเครื่องมือขับเคลื่อนโครงการ “คู่เสี่ยว เกี่ยวก้อย แก้จนคนขอนแก่น” โดยให้ข้าราชการ 1 คน จับคู่ดูแลครัวเรือนที่ตกเกณฑ์จำนวน 2 ครัวเรือน และหาสาเหตุความยากจน จากนั้นจึงตกลงกับภาคเอกชนในการสนับสนุนความช่วยเหลือต่างๆ

แนวคิดในการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำของเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องกับ TPMAP แบ่งออกเป็น 4 ระดับ ได้แก่ ระดับการเติมเต็มข้อมูล ระดับการแก้ไขปัญหาบุคคลและครัวเรือน ระดับการพัฒนาไปสู่ความยั่งยืน และระดับติดตามและประเมินผล

ที่สำคัญคือการนำหลัก PDCA (Plan-Do-Check-Act) มาแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

นางสาวสรยา กล่าวต่อว่า เมื่อมีการกำหนดแผนให้เจ้าหน้าที่รัฐแล้ว รัฐบาลจึงได้พัฒนาแผนระดับจังหวัด เพื่อให้ตอบโจทย์เชิงพื้นที่ โดยหนึ่งในนโยบายที่พัฒนามาคือ ‘เมนูแก้จน’ ซึ่งออกแบบให้สอดคล้องกับการพัฒนาแนวคิด ‘อยู่รอด พอเพียง ยั่งยืน’

ตัวอย่างเมนูแก้จนคือ การแก้ปัญหาในตำบลหนองโพ อำเภอตาคลี กับตำบลเขาชนกัน อำเภอแม่วงก์ จังหวัดนครสวรรค์ ซึ่งทั้งสองพื้นที่ไม่มีศักยภาพในการสร้างสถานประกอบการสร้างอาชีพ แต่จุดแข็งของชุมชนทั้งสองพื้นที่คือการรวมกลุ่มของคนในชุมชน ดังนั้นเมนูแก้จนจึงแก้ปัญหาด้วยกันสร้างการมีส่วนร่วมของคนในชุมชนมาเป็นภาคีการแก้ปัญหา

จากเมนูแก้จนตามนโยบายของรัฐบาล สภาพัฒน์ฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จึงต่อยอดเป็น “ศจพ.โมเดล” โดยมีหลักคิด คือนำจุดแข็งของพื้นที่มาพัฒนาและแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน ตัวอย่างเช่น จังหวัดพิษณุโลกระดับอำเภอเข้มแข็ง จังหวัดอุดรธานีมีสถาบันการศึกษาเข้มแข็ง และเอาจุดแข็งมาพัฒนาเชิงพื้นที่ และต่อยอดให้จังหวัดอื่นๆ นำโมเดลไปใช้

“การแก้ปัญหาความยากจนจะไม่ทำงานเป็นไซโล แต่ต้องทำงานร่วมกันทุกภาคส่วนในพื้นที่ แต่ต้องย้ำกับเจ้าหน้าที่ว่า อย่าไปติดแค่ความยากจน แต่ต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาคนทุกช่วงวัยด้วย การแก้ปัญหานี้ภาครัฐทำคนเดียวไม่ได้ เลยต้องมีภาคีต่างๆ เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย เพราะเราต้องการให้คนในพื้นที่หลุดความยากจนและได้รับการพัฒนาที่เหมาะสมกับตัวเองและบริบทในพื้นที่”