ThaiPublica > เกาะกระแส > เกาะกระแสนโยบายการเงิน > กนง. ลดดอกเบี้ย 0.25% เรียกความเชื่อมั่น ห่วงการเมืองปานปลาย กดเศรษฐกิจโตต่ำกว่า 3%

กนง. ลดดอกเบี้ย 0.25% เรียกความเชื่อมั่น ห่วงการเมืองปานปลาย กดเศรษฐกิจโตต่ำกว่า 3%

28 พฤศจิกายน 2013


กนง. มีมติ 6 ต่อ 1 ลดดอกเบี้ยนโยบายจาก 2.50% เป็น 2.25% เรียกความเชื่อมั่น หลังประเมินเศรษฐกิจมีทิศทางขาลง และการเมืองวุ่นวาย พร้อมปรับจีดีพีลงเหลือ 3% จากเดิม 3.7% ระบุมีความเสี่ยงสูงที่เศรษฐกิจจะขยายตัวต่ำกว่า 3% หากสถานการณ์การเมืองยืดเยื้อ และลดจีดีพีปีหน้าเหลือโตต่ำกว่า 4.8%

วันที่ 27 พฤศจิกายน 2556 คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติ 6 ต่อ 1 เสียงให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% จาก 2.50% เป็น 2.25% ต่อปี โดยให้มีผลทันที ทั้งนี้ กรรมการเสียงข้างน้อยหนึ่งคนมีความเห็นให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.50% เนื่องจากเห็นว่านโยบายการเงินในปัจจุบันยังผ่อนปรนเหมาะสมอยู่ และเป็นห่วงเรื่องการออมระยะยาว

แหล่งข่าวระดับสูงในธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า กรรมการ 1 เสียงที่เห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยเป็นคนนอก ธปท. และไม่ได้อยู่ด้านเศรษฐกิจมหภาคมากนัก มีความเห็นว่าน่าจะรอดูข้อมูลอีกระยะหนึ่งค่อยตัดสินใจ และเป็นกังวลว่าจะกระทบต่อการออมในระยะยาวด้วย เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงอยู่ใกล้ 0% แล้ว ประเด็นเรื่องเงินออมก็มีความกังวลอยู่ แต่เป็นเรื่องระยะยาว ขณะที่กรรมการส่วนใหญ่แสดงความเป็นห่วงเรื่องความไม่แน่นอนในระยะสั้นมากกว่า จึงเห็นควรลดดอกเบี้ยในครั้งนี้

ทั้งนี้ คาดการณ์ว่า คณะกรรมการฯ 1 เสียงที่เห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยน่าจะเป็น “นายอัศวิน คงสิริ” เพราะจากประวัติและประสบการณ์การทำงาน น่าจะผ่านงานด้านเศรษฐกิจมหภาคน้อยกว่ากรรมการผู้ทรงคุณวุฒิคนอื่น

สำหรับการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของ กนง. รอบนี้ ทำให้ตลาดการเงิน “ประหลาดใจ” พอสมควร เพราะส่วนใหญ่่คาดการณ์ว่า กนง. จะคงอัตราดอกเบี้ย ทั้งนี้ การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายครั้งนี้เป็นการปรับลดลงในรอบ 6 เดือน แต่เป็น “ครั้งที่สอง” ของปีนี้

ครั้งแรกปรับลดลงในการประชุม กนง. เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2556 โดยปรับลดลง 0.25% จาก 2.75% เป็น 2.50% เหตุผลรอบแรกระบุว่าเป็นเพราะข้อมูลตัวเลขเศรษฐกิจจริงไตรมาสแรกของปี 2556 ต่ำกว่าที่คาดมาก และในครั้งนี้ก็ไม่ต่างกัน คือมีสาเหตุมาจากข้อมูลตัวเลขเศรษฐกิจจริงในไตรมาสที่ 3

นายไพบูย์ กิตติศรีกังวาน
นายไพบูย์ กิตติศรีกังวาน

นายไพบูลย์ กิตติศรีกังวาน ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในฐานะเลขานุการนโยบายการเงิน แถลงผลการประชุม กนง. ว่า คณะกรรมการฯ ประเมินเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง แต่เศรษฐกิจไทยไตรมาสที่ 3 ของปี 2556 ขยายตัวต่ำกว่าที่คาดจากการใช้จ่ายภายในประเทศทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ด้านการส่งออกก็ยังไม่ฟื้นตัวชัดเจน และในระยะต่อไปเศรษฐกิจมีความเสี่ยงมากขึ้นจากความล่าช้าในการลงทุนของภาครัฐ ความเชื่อมั่นภาคเอกชนที่อาจเปราะบางยิ่งขึ้นจากความไม่สงบทางการเมือง

“คณะกรรมการฯ ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าที่คาดไว้เดิม และมีความเสี่ยงสูงกว่าการประชุมครั้งก่อน ภายใต้แรงกดดันด้านราคาที่ยังต่ำอยู่ ขณะที่สินเชื่อภาคครัวเรือนมีแนวโน้มขยายตัวชะลอลงบ้างแล้ว นโยบายการเงินจึงสามารถผ่อนคลายเพิ่มเติมเพื่อลดความเสี่ยงและสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ คณะกรรมการฯ จึงมีมติ 6 ต่อ 1 เสียงให้ลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.25% จาก 2.50% เป็น 2.25%” นายไพบูลย์กล่าว

สำหรับอัตราดอกเบี้ยจะมีทิศทางเป็นขาขึ้นหรือขาลง นายไพบูลย์กล่าวว่า เป็นเรื่องที่ไม่สามารถบอกได้ว่าดอกเบี้ยขาขึ้นหรือขาลง แต่เท่าที่มอง อาจมีความชัดเจนระดับหนึ่งว่าเป็นภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวมากกว่าที่ ธปท. คาดการณ์ ความจำเป็นที่จะดำรงนโยบายการเงินผ่อนปรนยังมีอีกระยะหนึ่ง แต่ในที่สุดต้องรอดุูข้อมูลตัวเลขเศรษฐกิจจริงที่ปรากฏว่าเป็นอย่างไร

อย่างไรก็ตาม ทิศทางนโยบายการเงินนั้น นายไพบูลย์กล่าวว่า นโยบายการเงินต้องยืดหยุ่นปรับเปลี่ยนได้เท่าทันกับสถานการณ์ และสอดคล้องกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริงและความเสี่ยงในระยะข้างหน้า

ขณะที่แหล่งข่าว กนง. ยอมรับว่า การลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอาจไม่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจโดยตรง เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยในปัจจุบันก็ต่ำอยู่แล้ว แต่การปรับดอกเบี้ยครั้งนี้ต้องการสร้าง “ความเชื่อมั่น” ให้ระบบเศรษกิจมากกว่า เพราะรัฐบาลทำไม่ได้ในสถานการณ์ความไม่สงบทางการเมือง และตัวเลขเศรษฐกิจทุกตัวมีทิศทางขาลง จำเป็นต้องสร้างความเชื่อมั่นพยุงเศรษฐกิจให้เดินต่อไปได้

เพราะฉะนั้น แม้การประชุม กนง. ในวันที่ 27 พฤศจิกายน 2556 จะเป็นการประชุม กนง. ครั้งสุดท้ายของปีนี้ แต่หากสถานการณ์ความไม่สงบทางการเมืองมีปัญหาความรุนแรงเพิ่มขึ้น ก็มีโอกาสที่ กนง. จะเรียกประชุมวาระพิเศษเพื่อพิจารณานโยบายอัตราดอกเบี้ย จากวาระปกติแล้ว กำหนดการประชุม กนง. ครั้งต่อไปคือวันที่ 22 มกราคม 2557

“ไม่มีใครกล้าประเมินสถานการณ์ทางการเมืองจะเกิดอะไรขึ้น เพราะมีความไม่แน่นอนสูง แต่หากมีเหตุการณ์ความรุนแรงเกิดขึ้น กนง. ก็พร้อมจะประชุมนัดพิเศษ และพิจารณานโยบายดอกเบี้ยเพื่อดูเศรษฐกิจ ซึ่งยังมีช่องให้ดำเนินการได้อีกนิดหน่อย” แหล่งข่าว กนง. กล่าว

การประชุม กนง. รอบนี้ยังพิจารณาปรับประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ปี 2556 ลงจาก 3.7% เป็น 3% รวมทั้งปรับลดจีดีพีปี 2557 ต่ำลงกว่าที่เดิมประมาณการไว้ที่ 4.8% หลังจากเพิ่งแถลงปรับประมาณการไปเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม ที่ผ่านมา และเป็นการพิจารณาปรับประมาณการก่อนกำหนดการที่วางไว้ คือ ปกติจะต้องพิจารณาทบทวนจีดีพีในการประชุม กนง. ครั้งหน้า จากนั้นจะประกาศและแถลงรายละเอียดให้ทราบช่วงสิ้นเดือนมกราคม 2557

อย่างไรก็ตาม การปรับประมาณการจีดีพีของ กนง. เหลือเพียง 3% เป็นการคาดการณ์ทิศทางเดียวกับสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ที่ปรับประมาณการลงจาก 3.8-4.2% เป็น 3 % เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา

หมายเหตุ : ตัวเลขประมาณการ GDP ของสศช. เป็นตัวเลข "ค่ากลาง" ของการประมาณการ
หมายเหตุ: ตัวเลขประมาณการ GDP ของ สศช. เป็นตัวเลข “ค่ากลาง” ของการประมาณการ (หน่วย: ร้อยละ)

นายไพบูลย์กล่าวว่า กนง. พิจารณาปรับลดจีดีพีทั้งปีนี้เหลือ 3% เนื่องจากเห็นภาพที่ชัดเจนว่า เศรษฐกิจไตรมาสที่ 3 ของปี 2556 ต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้เดิม และยังไม่เห็นสัญญาณการฟื้นตัว รวมทั้งเมื่อพิจารณาองค์ประกอบต่างๆ ของเครื่องชี้เศรษฐกิจล่าสุดเดือนตุลาคม กนง. คิดว่ายังมีความอ่อนแอมากกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ รวมทั้งความเชื่อมั่นมีความเปราะบางจากเหตุการณ์ทางการเมือง ซึ่งอาจมีผลต่อภาวะเศรษฐกิจ การลงทุน การใช้จ่ายในระยะข้างหน้า

“การปรับลดประมาณการจีดีพีลงเหลือ 3% ยังไม่ได้พิจารณาผลกระทบทางการเมือง เพราะไม่รู้ว่าการเมืองจะดำเนินต่อไปอย่่างไร เป็นเรื่องที่ต้องติดตามต่อไป เพราะมีความไม่แน่นอนสูง แต่หากสถานการณ์ความไม่สงบทางการเมืองมีปัญหายืดเยื้อ หรือมีความรุนแรงเกิดขึ้น ก็มีความเสี่ยงที่จีดีพีปี 2556 จะขยายตัวต่ำกว่า 3%” นายไพบูลย์กล่าว

เลขานุการ กนง. กล่าวว่า ส่วนจีดีพีปี 2557 แม้ กนง. จะปรับประมาณการลงจากคาดการณ์เดิม 4.8% แต่ยังขยายตัวดีกว่าปีนี้ โดยคาดว่ายังขยายตัวได้ในอัตรา 4% กว่าเล็กน้อย เพราะมองว่าเศรษฐกิจโลกค่อนข้างมีเสถียรภาพมมากกว่าเดิม ดังนั้น การส่งออกของไทยน่าจะได้ประโยชน์บ้าง แต่จะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับความสามารถแข่งขัน และเทคโนโลยีในการผลิตสินค้า แต่คาดว่าการส่งออกปีหน้าจะกระเตื้องขึ้นจากปีนี้ ขณะเดียวกัน การลงทุนภาครัฐยังเป็นปัจจัยสำคัญ แต่ประมาณการเศรษฐกิจครั้งนี้ได้ลดทอนวงเงินการลงทุนภาครัฐน้อยกว่าประมาณการครั้งก่อน รวมทั้งคาดการณ์การเบิกจ่ายล่าช้าออกไปอีก

ด้านหล่งข่าวจาก กนง. กล่าวว่า เหตุผลที่ปรับประมาณการจีดีพีทั้งปี 2556 เหลือ 3% เนื่องจากข้อมูลตัวเลขเศรษฐกิจจริงไตรมาส 3 ที่ออกมาต่ำกว่าคาดและมีแนวโน้มชะลอตัวลงทุกตัว ทั้งการบริโภคภาคเอกชน การลงทุนภาคเอกชน การใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ การส่งออก รวมถึงการท่องเที่ยวซึ่งที่ผ่านมาเป็นปัจจัยหลักช่วยดึงเศรษฐกิจไทยไม่ให้ชะลอลงมาก แต่เหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมืองทำให้ 28 ประเทศประกาศเตือนนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาไทย เพราะฉะนั้น หากการเมืองยืดเยื้อจะส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวแน่นอน ทำให้ตัวช่วยเศรษฐกิจหายไปอีก

“หากการเมืองยืดเยื้อ หรือมีเหตุการณ์เลวร้ายลง คงกระทบเศรษฐกิจไตรมาส 4 ของปีนี้ ทำให้ขยายตัวได้ต่ำกว่าที่คาดการณ์ และทำให้ทั้งปีมีโอกาสต่ำกว่า 3% เพราะการประมาณการครั้งนี้ไม่ได้ประเมินสถานการณ์การเมืองว่าจะจบอย่างไร หรือมีทิศทางเป็นอย่างไร เนื่องจากมีความไม่แน่นอนสูง แต่มีความเสี่ยงสูงที่จีดีพีจะขยายตัวไปทางด้านต่ำกว่าที่ประมาณการ” แหล่งข่าว กนง. กล่าว

ขณะที่เศรษฐกิจปีหน้า แม้ กนง. จะประเมินว่าขยายตัวดีกว่าปีนี้ แต่แหล่งข่าว กนง. ระบุว่า เศรษฐกิจปีหน้ายังน่าเป็นห่วง เพราะยังไม่เห็นว่าจะมีปัจจัยอะไรไปขับเคลื่อนเศรษฐกิจอย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นการใช้จ่ายของครัวเรือน การลงทุนของภาคเอกชน การลงทุนภาครัฐ และการส่งออก แม้จะปรับตัวดีขึ้นบ้างแต่ยังมีความเสี่ยงสูงว่าจะขยายตัวต่ำกว่าที่คาด เพราะบรรยากาศทางการเมืองมีความไม่แน่นอนสูง ทำให้ผู้บริโภคและนักลงทุนมีความระมัดระวังในการใช้จ่าย การลงทุน ขณะที่รัฐบาลก็ไม่สามารถขับเคลื่อนนโยบายได้เต็มที่ โดยเฉพาะการลงทุนโครงการ 2 ล้านล้านบาท และโครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท ที่ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ

ทั้งนี้ ตัวเลขการส่งออกล่าสุดเดือนตุลาคม 2556 ยังคงติดลบ 0.67%

“แม้เศรษฐกิจโลกจะค่อยๆ ฟื้นตัวดีขึ้น แต่การส่งออกของไทยยังได้ประโยชน์ไม่เต็มที่ ในขณะที่ปัจจัยในประเทศมีแนวโน้มขาลง จึงน่าเป็นห่วงว่าหากสถานการณ์ความไม่สงบทางการเมืองยืดเยื้อ จะกระทบการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในปีนี้และปีหน้า ทำให้เศรษฐกิจเติบโตต่ำกว่าศักยภาพที่ควรจะเป็น” แหล่งข่าว กนง. กล่าว

อ่านเพิ่มเติม ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ นำเสนอบทวิเคราะห์เรื่อง ธปท. ลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.25% เหลือ 2.25% เหนือความคาดหมายของตลาด