ThaiPublica > เกาะกระแส > เกาะกระแสเศรษฐกิจ > สภาพัฒน์ฯ รายงานจีดีพี Q3/2556 โต 2.7% ต่ำสุดในรอบ 6 ไตรมาส และกดเป้าทั้งปีเหลือ 3%

สภาพัฒน์ฯ รายงานจีดีพี Q3/2556 โต 2.7% ต่ำสุดในรอบ 6 ไตรมาส และกดเป้าทั้งปีเหลือ 3%

19 พฤศจิกายน 2013


สภาพัฒน์ฯ แถลงจีดีพีไตรมาส 3/2556 ขยายตัว 2.7% โดยภาคท่องเที่ยวเป็นปัจจัยหลักหนุนเศรษฐกิจ ขณะที่การบริโภคครัวเรือน – ใช้จ่ายภาครัฐ-ส่งออก – นำเข้า ติดลบ ฉุดเศรษฐกิจโตไม่สูง คาดไตรมาสสุดท้ายปีนี้ขยายตัวได้ 1% ผลจากฐานปีก่อนสูง 19.1% และปรับประมาณการทั้งปีเหลือ 3% เพราะส่งออกไม่โต ส่วนปีหน้าคาดโต 4-5%

18 พฤศจิกายน 2556 สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ สภาพัฒน์ฯ แถลงตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ไตรมาส 3 ปี 2556 ขยายตัว 2.7% เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน “ต่ำที่สุดในรอบ 6 ไตรมาส” แต่เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า ขยายตัวเพิ่มขึ้น 1.3%

ขณะที่จีดีพี 9 เดือนของปีขยายตัว 3.7% และคาดการณ์จีดีพีทั้งปี 2556 โต 3% ลดลงจากประมาณการเดิม 3.8-4.3% ส่วนปี 2557 คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจะปรับตัวดีขึ้นเติบโตได้ในอัตรา 4-5%

จีดีพีรายไตรมาสQ3-56

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ เลขาธิการ สภาพัฒน์ฯ กล่าวว่า การขยายตัวของเศรษฐกิจไตรมาส 3 ปี 2556 มาจากภาคการท่องเที่ยวและการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวเป็นหลัก

โดยไตรมาส 3 ปี 2556 มีนักท่องเที่ยวต่างช่างชาติจำนวน 6.7 ล้านคน เพิ่มขึ้น 26.1% เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน และมีรายได้จากการท่องเที่ยวประมาณ 3.2 แสนล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 32.7%

“ทั้งปีคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะเพิ่มขึ้นเป็น 26.2 ล้านคน หรือเพิ่มขึ้น 17% จากปีก่อนมีจำนวน 20 ล้านคน เพราะฉะนั้น ภาคการท่องเที่ยวจะทำให้เศรษฐกิจเราเติบโตได้ในปีหน้า” นายอาคมกล่าว

ขณะที่การใช้จ่ายภาคครัวเรือน หรือการบริโภคเอกชน ลดลง 1.2% เทียบกับไตรมาสก่อนหน้าขยายตัว 2.5% สาเหตุที่ลดลงมาจากยอดจำหน่ายรถยนต์ไตรมาสนี้มี 145,801 คัน ลดลงจาก 193,756 คันในไตรมาสเดียวกันของปีที่แล้ว ซึ่งเป็นผลจากมาตรการคืนภาษีรถยนต์คันแรกใกล้หมดแล้ว เพราะฉะนั้น ยอดจำหน่ายรถยนต์เริ่มกลับสู่ภาวะปกติ ส่วนหมวดการใช้จ่ายอื่นๆ ยังขยายตัวปกติ

นายอาคมกล่าวว่า 9 เดือนแรกของปีนี้ การใช้จ่ายครัวเรือนขยายตัว 1.9% ส่วนหนึ่งเป็นส่วนของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ใช้จ่ายค่าที่พัก ค่าโรงแรม ค่าอาหาร รวมอยู่ในส่วนของการบริโภคภาคครัวเรือน ทำให้สาขาโรงแรมและภัตตาคาร 9 เดือนแรกขยายตัว 14.7% ขณะที่หากดูเฉพาะไตรมาส 3 ของปีนี้ขยายตัว 15.1% เพิ่มขึ้นจาก 14.2% ในไตรมาสก่อนหน้า

สำหรับสาเหตุที่ทำให้เศรษฐกิจไตรมาส 3 ของปีนี้ไม่เติบโตมาก นายอาคมกล่าวว่ามาจากการการลงทุน การส่งออก รายได้ภาคเกษตร และภาคอุตสาหกรรมลดลง

โดยลงทุนรวมลดลง 6.5% การลงทุนภาครัฐหดตัว 16.2% เป็นการลดลงทั้งการลงทุนของรัฐบาลรัฐวิสาหกิจ เพราะการเบิกจ่ายค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับช่วงต้นปีงบประมาณที่เบิกจ่ายค่อนข้างสูง ส่วนการลงทุนภาคเอกชนหดตัว 3.3% เนื่องจากฐานของระยะเดียวกันปีก่อนขยายตัวสูงเพราะเพิ่งฟื้นจากน้ำท่วมปี 2554 จึงลงทุนซื้อเครื่องมือเครื่องจักร เพระฉะนั้นปีนี้แม้ว่าการลงทุนภาคเอกชนจะมีเม็ดเงินลงทุน แต่อัตราการเติบโตจะลดลง

อย่างไรก็ตาม แม้การลงทุนเครื่องมือเครื่องจักรจะลดลง แต่ภาคก่อสร้างขยายตัวเพิ่มขึ้น 4.8% ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนอสังหาริมทรัพย์ทั้งในกรุงเทพฯ หัวเมืองใหญ่ และเมืองบริวาร โดยมีทั้งบ้านและคอนโดที่มีราคาปานกลาง ซึ่งจะอยู่บริเวณเส้นทางรถไฟฟ้ารางคู่ และรถไฟความเร็วสูงที่รัฐบาลกำลังมีแผนการลงทุน ทั้งนี้ 9 เดือนแรกของปีนี้ การลงทุนโดยรวมขยายตัว 1.1%

สำหรับภาคการส่งออกสินค้าไตรมาส 3 ของปีนี้มีมูลค่า 57,964 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หดตัว 1.8% แต่ถ้าหักทองคำออกจะมีมูลค่าการส่งออกสินค้า 56,150 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือขยายตัวเพิ่มขึ้น 1%

“ตัวเลขส่งออกต้องดูทั้งสองตัว คือตัวเลขโดยรวมที่ติดลบ 1.8% กับตัวเลขที่หักทองคำออกจะขยายตัวเพิ่มขึ้น 1%” นายอาคมกล่าว

นอกจากนี้ เลขาสภาพัฒน์ฯ มีความเห็นว่า แม้การส่งออกของไทยที่หักทองคำออกแล้วจะขยายตัว 1% ซึ่งเป็นตัวเลขค่อนข้างต่ำ แต่ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะประเทศไทย ทั้งเอเชียและอาเซียนมีปัญหาการส่งออกติดลบเหมือนกัน เนื่องจากเป็นผลจากเศรษฐกิจสหรัฐฯ และยุโรปยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ ส่วนญี่ปุ่นฟื้นตัวแต่เขาเน้นใช้สินค้าในประเทศ ทำให้การสั่งซื้อสินค้าค่อนข้างต่ำ ประกอบกับค่าเงินเยนอ่อนลง

ทั้งนี้ ตัวเลขส่งออก 9 เดือนแรกของปีนี้มีมูลค่า 169,708 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือขยายตัว 0.2% ขณะที่มูลค่าการส่งออกในรูปเงินบาทลดลง 2.4%

ส่วนภาคเกษตรกรรมลดลง 0.7% เนื่องจากผลผลิตข้าว มันสำปะหลัง ข้าวโพด ได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้ว และภาวะฝนทิ้งช่วง และปัญหาโรคกุ้งตายด่วน อย่างไรก็ตาม ราคาสินค้าเกษตรขยายตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 8 ไตรมาส โดยเป็นการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าหมวดประมง ปศุสัตว์ ไม้ผล และมันสำปะหลัง ในขณะที่พืชผลสำคัญหดตัว ส่งผลให้รายได้เกษตรกรลดลง 1.4% แต่รวม 9 เดือนแรกของปีนี้ ภาคเกษตรกรรมขยายตัว 0.9%

ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมลดลง 0.4% ตามการส่งออกที่ลดลง และปริมาณการผลิตรถยนต์ที่ลดลง สอดคล้องกับดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมที่หดตัว 3.6% แต่ 9 เดือนแรกของปี ภาคอุตสาหกรรมขยายตัว 1.1%

สำหรับภาคก่อสร้างลดลง 2.2% ส่วนใหญ่เป็นการก่อสร้างภาครัฐที่ลดลง 9.6% ขณะที่การก่อสร้างภาคเอกชนขยายตัว 4.8% ซึ่งเป็นการลงทุนอสังหาริมทรัพย์ตามหัวเมืองใหญ่ โดย 9 เดือนแรกของปี ภาคก่อสร้างขยายตัว 3.9%

ส่วนการคาดการณ์เศรษฐกิจทั้งปี 2556 นายอาคมกล่าวว่า สภาพัฒน์ฯ ประมาณการอัตราการเติบโตไว้ที่ 3% เนื่องจากส่งออกต่ำกว่าที่คาดการณ์ โดยคาดว่าการส่งออกทั้งปีนี้จะไม่เติบโต หรือเติบโต 0% เมื่อเทียบกับปีก่อน และปริมาณการผลิตรถยนต์ทั้งปีมีแนวโน้มต่ำกว่าเป้าหมายการผลิตของภาคเอกชนที่ 2.5 ล้านคัน รวมทั้งการลงทุนภาครัฐไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ และไตรมาสสุดท้ายของปีนี้คาดว่าจีดีพีจะขยายตัวได้ประมาณ 1% เพราะฐานจีดีพีของไตรมาส 4 ปีที่แล้วสูงมากถึง 19.1%

การปรับจีดีพีสภาพัฒน์

“ประมาณการจีดีพีปีนี้โต 3% เราประเมินตามภาวะปกติไม่ได้นำสถานการณ์การเมืองเข้ามาพิจารณาด้วย และคิดว่าเหตุการณ์ทางการเมืองจะไม่กระทบการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นปัจจัยหลักสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจไทย เพราะการท่องเที่ยวไม่ได้อยู่ที่กรุงเทพฯ ส่วนใหญ่เป็นการท่องเที่ยวในภูมิภาค และกรุงเทพฯ ไม่ได้เป็นศูนย์กลางที่นักท่องเที่ยวจะลงเพื่อเดินทางต่อ ส่วนใหญ่จะไปลงที่เชียงใหม่ หาดใหญ่ และภูเก็ต” นายอาคมกล่าว

ทั้งนี้ การปรับลดจีดีพีทั้งปีนี้ของสภาพพัฒน์ฯ เหลือ 3% ถือเป็นการคาดการณ์ที่ต่ำที่สุดเมื่อเทียบกับหน่วยทางการอื่นๆ ที่ปรับลดลงก่อนหน้านี้ อาทิ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คาดการณ์ไว้ที่ 3.7% สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) 3.7% กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) 3.1% ธนาคารโลก 4% และธนาคารพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) 3.8% เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ล่าสุด ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้ปรับลดประมาณการจีดีพีปีนี้อยู่ที่ 3% จากเดิมที่คาดการณ์ไว้ที่ 3.7%

เลขาธิการสภาพัฒน์ฯ กล่าวว่า สำหรับประมาณการจีดีพีปี 2557 คาดว่าจะเติบโตในอัตรา 4-5% ดีขึ้นกว่าปีนี้ จะมาจาก 2 ปัจจัยหลัก คือ เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นจากปีนี้ โดยไอเอ็มเอฟประมาณการเศรษฐกิจโลกปีหน้าจะขยายตัว 3.5% จากปีนี้ที่คาดการณ์เติบโตเพียง 2.9% เพราะฉะนั้นจะเป็นโอกาสให้ภาคการส่งออกกลับมาขยายตัวได้ปกติในอัตรา 7%

ปัจจัยที่สอง คือ การลงทุนภาครัฐ โดยเฉพาะการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง 2 ล้านล้านบาท และโครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท ซึ่งคาดว่าถ้า พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินโครงการฯ 2 ล้านล้านบาทดำเนินการได้ จะทำให้มีเงินลงทุนออกมาประมาณ 1.6 แสนล้านบาท และโครงการบริหารจัดการน้ำฯประมาณ 66,522 ล้านบาท

“อย่างไรก็ตาม แม้ถ้า พ.ร.บ. เงินกู้ฯ 2 ล้านล้านบาท และการเบิกจ่ายเงินโครงการน้ำฯ ยังไม่สามารถดำเนินการได้โดยเร็ว แต่นายอาคมประเมินว่า แผนการลงทุนยังคงดำเนินการต่อ โดยมีการเตรียมการศึกษารายละเอียดไว้ให้พร้อมเมื่อสามารถเบิกจ่ายเงินได้ก็ลงทุนได้ทันที แต่ถ้ามีปัญหาเบิกจ่ายจาก พ.ร.บ.เงินกู้ฯ ไม่ได้จริงๆ ก็ต้องหาวิธีใช้เงินจากงบประมาณ และเงินกู้ตามกฎหมายงบประมาณแทน” เลขาธิการสภาพัฒน์ฯ กล่าว

อย่างไรก็ตาม หากการลงทุนภาครัฐขยับได้ การลงทุนภาคเอกชนก็จะขยับตามมาก โดยมีข้อสังเกตว่าสินเชื่อภาคธุรกิจของธนาคารพาณิชย์เพิ่มขึ้นไม่มาก หากดูแลให้เอกชนโดยเฉพาะเอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งเงินทุนมากขึ้นก็จะทำให้เกิดการลงทุน การจ้างงาน และการส่งอออกสินค้าในอนาคตเพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ ธปท. รายงานภาวะสินเชื่อธนาคารพาณิชย์ ณ สิ้นไตรมาส 3 ปี 2556 ว่า สินเชื่อธุรกิจของธนาคารพาณิชย์อยู่ที่ 9.9% ขณะที่สินเชื่อเอสเอ็มอีขยายตัว 14.7%

เลขาธิการสภาพัฒน์ฯ ระบุว่า แม้ทั้งปี 2556 จีดีพีของไทยจะโตเพียง 3% แต่ถือว่าเป็นการฟื้นตัวต่อเนื่องจากที่ประสบปัญหาวิกฤติน้ำท่วม แต่จำเป็นต้องประคับประคองให้เศรษฐกิจเราปรับตัวเข้าสู่ภาวะปกติได้ เพราะการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกแม้จะมีแนวโน้มดีขึ้น แต่ยังฟื้นตัวไม่เต็มที่

“เศรษฐกิจไทยโดยปกติจะเติบโตในอัตรา 4-5% แต่ถ้าเราลงทุนโครงสร้างพื้นฐานได้ตามเป้าหมายอาจทำให้จีดีพีเราโตได้ 5-6% เพราะฉะนั้น ถ้าเศรษฐกิจไทยโตได้ในอัตรา 4-6% เราจะมั่นใจว่าภาวะเศรษฐกิจเราดี แต่ถ้าหลุดจากแนวโน้มนี้ไป ผู้ที่ดูนโยบายการเงินและการคลังก็ต้องชั่งน้ำหนักให้ดีระหว่างการเติบโตที่เหมาะสมกับความร้องแรงของเศรษฐกิจ จะต้องหาความสมดุลว่าอยู่ที่ไหน” นายอาคมกล่าว

ทั้งนี้ ไอเอ็มเอฟเสนอให้ ธปท. ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยสู่ระดับปกติหากมีแรงกดดันเงินเฟ้อ

สำหรับประมาณการเงินเฟ้อของ ธปท. ในปี 2556 ธปท. อยู่ที่ 2.2% ส่วนสภาพัฒน์ฯ อยู่ที่ 2.4% และในปี 2557 ธปท. ประมาณการอยูที่ 2.4% ส่วนสภาพัฒน์ฯ คาดการณ์ไว้ที่ 2.1-3.1%

ดาวโหลดเอกสารเพิ่มเติม ผลิตภัณฑ์มวลรมในประเทศ ไตรมาสที่ 3/2556, ภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาสที่สาม และแนวโน้มปี 2556-2557