ThaiPublica > เกาะกระแส > เขื่อนแก่งเสือเต้น: เหตุผล 12 ข้อที่ไม่ควรสร้าง “เขื่อน”

เขื่อนแก่งเสือเต้น: เหตุผล 12 ข้อที่ไม่ควรสร้าง “เขื่อน”

3 มกราคม 2013


โครงการแก่งเสือเต้นเริ่มต้นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2523 ภายใต้ความรับผิดชอบของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟฝ.) ต่อมาในปี พ.ศ. 2528 จึงเปลี่ยนมาเป็นกรมชลประทานจนถึงปัจจุบัน โดยให้เหตุผลเพื่อสร้างเขื่อนกักเก็บน้ำไว้ใช้สำหรับการเกษตร อุปโภค-บริโภค และป้องกันน้ำท่วมพื้นที่จังหวัดแพร่ สุโขทัย พิษณุโลก และพิจิตร เพิ่มพื้นที่ชลประทาน 367,233 ไร่

จุดที่สร้างเขื่อนอยู่ในเขต อ.สอง จ.แพร่ กั้นลุ่มน้ำยมเหนือจุดบรรจบของแม่น้ำยมและแม่น้ำงาวไปทางเหนือน้ำ 7 กิโลเมตร ซึ่งเป็นเขื่อนหินถมดาดคอนกรีต ระดับสันเขื่อนอยู่ที่ +261 เมตรระดับน้ำทะเลปานกลาง (ม.รทก.) สันเขื่อนกว้าง 10 เมตร ยาว 540 เมตร ความสูงเขื่อนจากท้องน้ำ 72 เมตร ระดับน้ำกักปกติ/สูงสุด +258 ม.รทก. ต่ำสุด +218 ม.รทก. พื้นที่ผิวน้ำที่ระดับเก็บกักสูงสุด 65 ตารางกิโลเมตร ความจุ 1,175 ล้านลูกบาศก์เมตร

มูลค่าการก่อสร้างปัจจุบัน 12,900 ล้านบาท

ขณะที่พื้นที่ท่วมน้ำทั้งหมด 40,625 ไร่ มีหมู่บ้านที่ต้องอพยพ 4 หมู่ คือ ดอนชัย ดอนชัยสักทอง ดอนแก้ว และแม่เต้น ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ และอีก 9 หมู่บ้านที่ ต.สระ และ ต.บ้านมาง อ.เชียงม่วน จ.พะเยา ก็จะได้รับผลกระทบด้วย

ตั้งแต่โครงการแก่งเสือเต้นเริ่มต้นจนถึงปัจจุบัน หลาย หน่วยงานได้เข้ามาศึกษาผลกระทบต่างๆที่จะเกิดขึ้นจากโครงการนี้ รวมทั้งกระแสคัดค้านจากหลายองค์กร เช่นเดียวกับชาวสะเอียบ ที่รวบรวมเหตุผล 12 ประการ ที่ไม่ควรสร้างเขื่อน ได้แก่

1. ไม่คุ้มทุน ข้อสรุปจากงานวิจัยของสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เนื่องจากแก่งเสือเต้นเป็นเขื่อนในโครงการผันน้ำกก-อิง-ยม-น่าน สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้เพียง 48 เมกะวัตต์

2. แก้ปัญหาภัยแล้งไม่ได้ เพราะเขื่อนนี้เปรียบเสมือนโอ่งใหญ่ที่มีก๊อกอยู่สูง ในฤดูแล้งไม่สามารถปล่อยน้ำเพื่อการชลประทานได้ เพราะต้องเก็บไว้ผลิตกระแสไฟฟ้าและป้องกันผลเสียเรื่องการบริหารน้ำในเขื่อนของปีต่อๆ ไป ส่วนหน้าฝนก็ป้องกันน้ำท่วมไม่ได้เพราะเขื่อนมีน้ำอยู่แล้ว 2 ใน 3 ของความจุอ่าง

3. ป้องกันน้ำท่วมลุ่มน้ำยมและกรุงเทพฯ ไม่ได้ จากการศึกษาขององค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) และธนาคารโลก ระบุในรายงานการศึกษาความเหมาะสมของโครงการแก่งเสือเต้นว่า เขื่อนแก่งเสือเต้นสามารถป้องกันน้ำท่วมได้ร้อยละ 8 ต่อปี มูลค่า 3.2 ล้านบาท และระบุในหัวข้อ 9.4 ว่า “โครงการแก่งเสือเต้นจะควบคุมและลดระดับน้ำท่วมในพื้นที่ตอนล่าง ในพื้นที่ราบลุ่มหรือที่ราบลุ่มน้ำท่วมถึงริมฝั่งน้ำยมเฉพาะพื้นที่ระหว่างสบงาวกับเด่นชัยเท่านั้น ส่วนพื้นที่ล่างลงมาปัญหาน้ำท่วมไม่ได้เกิดจากแม่น้ำยม แต่เกิดลำน้ำสาขาและแม่น้ำน่าน

4. พื้นที่ชลประทานไม่เป็นจริง เพราะเป็นพื้นที่ชลประทานเดิมเกือบทั้งหมด จากพื้นที่ 385,400 ไร่ ของเขื่อนแก่งเสือเต้น เป็นพื้นที่ชลประทานของโครงการแม่ยม 1 แสนไร่ และโครงการสูบน้ำด้วยพลังงานไฟฟ้าของกรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงาน 26 โครงการรวม 72,800 ไร่ พื้นที่ชลประทานส่วนที่เหลืออยู่ในเขตลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนบนที่อยู่ห่างไปกว่า 300 กิโลเมตร และไม่ได้มีคลองส่งน้ำจากเขื่อนแก่งเสือเต้นเลย

5. กระทบต่อระบบนิเวศป่าไม้ เพราะน้ำเขื่อนที่ระดับเก็บกักปกติจะท่วมป่าไม้ใจกลางอุทยานแห่งชาติแม่ยม 53.85 ตารางกิโลเมตร ซึ่งเป็นป่าเบญจพรรณที่มีสักทองหนาแน่น ไม้สืบพันธ์ตามธรรมชาติได้ดี และมีสักทองอยู่ทั่วไป

ที่มาภาพ: http://www.localtalk2004.com
ที่มาภาพ: http://www.localtalk2004.com

จากการศึกษาของมหาวิทยาลัยมหิดลที่เสนอต่อธนาคารโลกระบุว่า ป่าสักทองที่จะน้ำท่วมนี้เป็นป่าสักทองที่สมบูรณ์ที่สุดเพียงแห่งเดียวของไทย โดย ศ.ดร.วรเรณ บรอคเคลเมน อาจารย์ด้านชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ป่าแม่ยมเป็นป่าสักที่ดีที่สุด ใหญ่ที่สุด และหายากที่สุดในประเทศไทย มีความหลากหลายทางชีวภาพสูง มีสัตว์ที่หายากและใกล้สูญพันธุ์หลายชนิด เช่น นกลุมพู นกยูงพันธุ์ไทย มีคุณค่าที่ไม่สามารถประเมินเป็นเงินได้

รายงานประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ระบุว่า การสูญเสียป่าไม้จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศเฉพาะถิ่น โดยเฉพาะอุณหภูมิ ความชื้น และรูปแบบการตกของฝน การสูญเสียแหล่งต้นน้ำยม

นอกจากนี้นักชีววิทยายังระบุว่า จะเกิดการสูญเสียแหล่งพันธุกรรมที่หลากหลายทางชีวภาพที่ประเมินค่าไม่ได้ โดยเฉพาะการสูญเสียโอกาสการใช้ประโยชน์ทางพันธุกรรมของพืชสมุนไพรกว่า 135 ชนิด

6. กระทบต่อระบบนิเวศลุ่มน้ำยมตอนล่าง เพราะการสร้างเขื่อนจะทำให้สูญเสียที่ราบลุ่มแม่น้ำยม ซึ่งเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่ใหญ่ที่สุดในประเทศกว่า 3 แสนไร่ ที่ขึ้นทะเบียนตามข้อตกลงว่าด้วยพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระดับนานาชาติ หรืออนุสัญญาแรมซาร์ และยังทำลายแหล่งความหลากหลายทางชีวภาพโดยเฉพาะถิ่นที่อยู่ของนกน้ำนานาชนิด เช่น เขตห้ามล่าสัตว์ป่าหนองน้ำขาว

นอกจากนี้ยังทำให้ อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก น้ำท่วมมากขึ้น เพราะน้ำทางตอนบนถูกควบคุม ทำให้เปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดินและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานง่ายขึ้น ส่งผลให้ที่ราบลุ่มและหนองน้ำต่างๆ เสื่อมสภาพ และสูญเสียหน้าที่การเป็นบ่อพักน้ำ ดังนั้น จึงเกิดน้ำท่วมในลุ่มน้ำเจ้าพระยาและกรุงเทพฯ มากขึ้น เพราะน้ำไหลลงสู่พื้นที่ตอนล่างได้เร็ว

7. เขื่อนไม่ปลอดภัยจากปัญหาแผ่นดินไหว เนื่องจากเขื่อนตั้งอยู่บนรอยเลื่อนแพร่ ซึ่งกรมทรัพยากรธรณีจัดให้อยู่ในเขตเสี่ยงภัยที่เกิดความเสียหายจากแผ่นดินไหวระดับปานกลาง

ระหว่างปี 2520-2538 รอยเลื่อนนี้เกิดแผ่นดินไหวรวม 71 ครั้ง เป็นแผ่นดินไหวรุนแรง 4 ครั้ง คือ 22-23 ธันวาคม 2523 ขนาด 4 ริกเตอร์ และ 4.2 ริกเตอร์ ที่ อ.เด่นชัย จ.แพร่ 24 กรกฎาคม 2532 ขนาด 4.2 ริกเตอร์ ที่ อ.ปง จ.พะเยา และ 9 ธันวาคม 2538 ขนาด 5.1 ริกเตอร์ ที่ อ.สูงแม่น จ. แพร่ โดยเกิดอาฟเตอร์ช็อกอีก 6 ครั้ง ซึ่งครั้งหลังสุดนี้เกิดห่างจากเขื่อนประมาณ 50 กิโลเมตร รอยเลื่อนที่เคลื่อนตัวยาว 80 กิโลเมตร วางขนานตัวกับแม่น้ำยมและตั้งรับเขื่อน พร้อมทั้งมีรอยเลื่อนของเปลือกโลกแยกออกไปพาดผ่านเขื่อนแก่งเสือเต้นพอดี

นอกจากนี้ยังพบรอยเลื่อนขนาดใหญ่ที่มีพลังห่างจากเขื่อนไปทางทิศตะวันตก 31 กิโลเมตร ซึ่งมีนัยสำคัญที่จะเกิดแผ่นดินไหวขนาด 7 ริกเตอร์ได้ และเมื่อเขื่อนตั้งบนรอยเลื่อน หากเกิดแผ่นดินไหว น้ำจะเป็นตัวลั่นไกที่ทำให้แผ่นดินไหวหนักมากขึ้น

8. ไม่เกิดความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ เนื่องจากแนวโน้มค่าก่อสร้างเขื่อนที่สูงขึ้นเรื่อยๆ จากในปี 2538 ราคา 3,593.8 ล้านบาท ปี 2539 ราคา 4,083 ล้านบาท ปี 2543 ราคา 6,338.35 ล้านบาท และล่าสุด 12,900 ล้านบาท และหากสร้างจริงราคาจะสูงกว่านี้

ดังตัวอย่างที่เคยเกิดขึ้นกับ 4 เขื่อนใหญ่ ที่ราคาก่อสร้างเกินกว่าที่ ครม. อนุมัติ คือ เขื่อนศรีนครินทร์ จาก 1,800 เป็น 4,623 ล้านบาท เขื่อนเขาแหม จาก 7,711 เป็น 9,100 ล้านบาท เขื่อนบางลาง จาก 1,560 เป็น 2,729.2 ล้านบาท และเขื่อนปากมูล จาก 3,880 เป็น 6,600 ล้านบาท ซึ่งงบประมาณที่เพิ่มขึ้นล้วนมาจากการป้องกันปัญหาทางธรณีวิทยาทั้งสิ้น

9. เขื่อนอายุสั้น เพราะแม่น้ำยมมีอัตราการพังทลายของหน้าดินสูง มีหินที่ถูกกัดเซาะได้ง่าย จึงมีตะกอนสูง อันเป็นสาเหตุให้เกิดตะกอนในเขื่อนมาก ส่งผลให้เขื่อนมีอายุใช้งานสั้นลง

“แม่น้ำยมเป็นแม่น้ำที่มีการตกตะกอนมากกว่า 540 ล้านตันต่อปี ซึ่งจะทำให้เขื่อนแก่งเสือเต้นมีดินเต็มปริมาตรออกแบบเก็บกักตะกอนของเขื่อนภายใน 20 ปี เขื่อนจึงมีอายุสั้นลง 30 ปี” ศ.ดร.ปริญญา นุตาลัย แห่งสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชียกล่าว

10. ส่งผลกระทบต่อชาวบ้าน เพราะน้ำจะท่วมที่อยู่อาศัยของชาวบ้านกว่า 2,700 ครัวเรือน ในเขต ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ และแอ่งเชียงม่วน อ.เชียงม่วน จ.พะเยา ในขณะที่กรมชลประทานเสนอตัวเลขชาวบ้านที่อพยพเพียง 620 ครัวเรือนใน 3 หมู่บ้านของ ต.สะเอียบเท่านั้น ซึ่งเป็นตัวเลขที่ศึกษามาตั้งแต่ปี 2535

11. เกิดความไม่เป็นธรรมในสังคม ซึ่งต่างกับที่กรมชลประทานมักอ้างว่าสร้างเขื่อนเพื่อประโยชน์ของประชาชน สิ่งที่แสดงถึงความไม่เป็นธรรมอย่างแรก คือ ที่ดินส่วนใหญ่ถือครองโดยนายทุน ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 10 ของคนทั้งประเทศ ถือครองที่ดิน 97 ล้านไร่ ในขณะที่คนอีกร้อยละ 90 หรือประมาณ 50 ล้านคนถือครองที่ดินรวมกัน 50 ล้านไร่ ดังนั้น ที่ดินใต้เขื่อนส่วนใหญ่จึงไม่ใช่ของคนจน ประการที่สอง คือ เขื่อนสร้างเพื่อนำน้ำไปใช้ในพื้นที่เอกชน 385,000 ไร่ แต่ต้องสูญเสียพื้นที่ป่าของรัฐซึ่งเป็นของส่วนรวมอย่างน้อยที่สุด 45,000 ไร่

12. มีทางเลือกอื่นเพื่อจัดการลุ่มน้ำยมโดยไม่ต้องสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น ซึ่งแนวคิดหลักที่ควรนำมาพิจารณาคือ การจัดการโดยใช้แนวทางทางภูมินิเวศวิทยาการจัดการน้ำแบบใหม่และการพัฒนาที่ยั่งยืน เช่น ฟื้นฟูป่าต้นน้ำ ขุดลอกตะกอนแม่น้ำ สร้างถนนยกสูงหรือเจาะถนนไม่ให้ขวางทางน้ำ สร้างบ้านใต้ถุนสูง การพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็ก การพัฒนาระบบประปา ฯลฯ นอกจากนี้ควรใช้ประโยชน์จากพื้นที่ให้เหมาะสมและสอดคล้องกับระบบนิเวศ เช่น เป็นแหล่งท่องเที่ยว แหล่งประมง หรือเขตอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ

ระบบการจัดการแบบนี้ทั้งสอดคล้องกับระบบนิเวศ ไม่สร้างความขัดแย้งในสังคม ใช้งบประมาณไม่มาก ประชาชนมีส่วนร่วมได้ทุกระดับ และสามารถป้องกันน้ำท่วมพื้นที่ตอนล่างจนถึงกรุงเทพฯ และหากรักษาพื้นที่ราบลุ่มตอนล่างน้ำยมไว้เป็นที่พักน้ำ จะสามารถพักน้ำไม่ให้ไหลสู่เจ้าพระยาได้พร้อมกัน 500-1,500 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งมากกว่าเขื่อนแก่งเสือเต้นเสียอีก

(อ่าน 12 ทางออกเขื่อนแก่งเสือเต้นในตอนต่อไป)