ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > เขื่อนแก่งเสือเต้น (ตอนที่4) : ทางออก “12 ข้อ” แก้ไขน้ำท่วม-น้ำแล้ง ลุ่มน้ำยม

เขื่อนแก่งเสือเต้น (ตอนที่4) : ทางออก “12 ข้อ” แก้ไขน้ำท่วม-น้ำแล้ง ลุ่มน้ำยม

6 มกราคม 2013


รายงานข่าวตอนที่แล้วได้พูดถึงเหตุผล 12 ข้อที่ไม่ควรสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น ของชาวสะเอียบและองค์กรต่างๆ ดังนั้น เมื่อผลการศึกษาและข้อมูลต่างๆ จากหน่วยงานรัฐและเอกชนระบุออกมา บวกกับการศึกษาหาข้อมูลเองของชาวบ้าน พวกเขาจึงมีข้อสรุปว่า การสร้างเขื่อนนี้ไม่เกิดประโยชน์ที่แท้จริงตามวัตถุประสงค์ของโครงการ และส่งผลกระทบในทุกมิติ

การต่อสู้ของชาวสะเอียบคือการคัดค้านบนพื้นฐานของข้อมูลที่เกิดขึ้นจริง และแม้ว่าพวกเขาจะปฏิเสธการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าพวกเขาจะปฏิเสธโครงการอื่นๆ ของรัฐ เพราะพวกเขาประกาศทางเลือกอื่นๆ ให้รัฐบาลแทนการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นเพื่อแก้ปัญหาเรื่องน้ำด้วย

ดังนั้น เขื่อนแก่งเสือเต้นจึงเป็นความต้องการของรัฐบาลที่เล็งเห็นว่า การสร้างเขื่อนคือทางออกของการแก้ปัญหา ขณะที่ชาวสะเอียบมองว่า ยังมีทางเลือกอื่นๆ ที่สามารถใช้เป็น “การแก้ปัญหา” เพราะการสร้างเขื่อนไม่ใช่คำตอบสุดท้าย

ลุ่มน้ำยมในยามหน้าแล้ง ที่มาภาพ: http://images.voicecdn.net
ลุ่มน้ำยมในยามหน้าแล้ง ที่มาภาพ: http://images.voicecdn.net

สำหรับทางออกเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง ในลุ่มน้ำยมที่ชาวสะเอียบเสนอทั้ง 12 ข้อ คือ

1. ฟื้นฟูป่าต้นน้ำ รักษาป่าที่เหลืออยู่ ป้องกันการบุกรุกป่า ปล่อยให้ป่าเป็นที่ซับน้ำกลายเป็นเขื่อนถาวร ยั่งยืน และช่วยดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ ฟอกอากาศให้บริสุทธิ์ ให้ออกซิเจนแก่มนุษย์

2. รักษาและพัฒนาป่าชุมชน ทุกชุมชนควรมีป่าชุมชนไว้เป็นแหล่งอาหารและยาสมุนไพรของตัวเอง เหมือนร้านค้าที่ไม่ต้องจ่ายเงินซื้อ และช่วยกันอนุรักษ์ป่า ยิ่งเป็นเขตอุทยานแห่งชาติหรือป่าสงวนยิ่งต้องเข้มงวด ห้ามมีโครงการขนาดใหญ่ที่กระทบต่อป่าและสัตว์ป่า

3. ปลูกต้นไม้ ทุกๆ คนต้องช่วยกันสร้างพื้นที่สีเขียวให้กับตนเองสู่สังคมขนาดใหญ่ หยุดตัดไม้ทำลายป่าเพื่อปลูกต้นไม้สร้างภาพ แต่ควรปล่อยให้ป่าฟื้นสภาพเอง ซึ่งมีความหลากหลายทางพันธุกรรมมากกว่า

4. พัฒนาระบบภาษีสิ่งแวดล้อม หากชุมชนไหนมีศักยภาพในการรักษาและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเพื่อชุมชนตัวเองหรือชุมชนอื่นๆ ได้ดี ควรได้รับการสนับสนุนและไปหนุนช่วยเหลือชุมชนอื่นๆ ด้วย

5. ฟื้นฟูระบบเหมืองฝาย พัฒนาฝายดักตะกอน ฝายชะลอน้ำ ฝายกักเก็บน้ำ ในทุกพื้นที่ที่มีศักยภาพ

6. เพิ่มพื้นที่เก็บน้ำตามลำน้ำสาขา พัฒนาอ่างเก็บน้ำขนาดกลางและขนาดเล็กในลำน้ำสาขาแม่น้ำยมทั้ง 77 แห่ง เพราะสามารถเก็บน้ำได้มากกว่าเขื่อนแก่งเสือเต้น 3 เท่า

7. สร้างแก้มลิงทุกชุมชน ซึ่งกรมทรัพยากรน้ำสำรวจไว้แล้วรวม 395 แหล่ง สามารถเก็บน้ำได้ 1,500 ล้านลูกบาศก์เมตร ใช้งบประมาณกว่า 4,000 ล้านบาท ในขณะที่เขื่อนแก่งเสือเต้นเก็บน้ำได้เพียง 1,175 ล้านลูกบาศก์เมตร ใช้งบประมาณกว่าหมื่นล้านบาท

8. พัฒนาหนึ่งหมู่บ้านหนึ่งแหล่งน้ำ หนึ่งตำบลหนึ่งแหล่งน้ำ

9. สนับสนุนการจัดการน้ำระดับครัวเรือนและชุมชนโดยใช้ภูมิปัญญาชาวบ้าน เช่น ฝายต้นน้ำ ฝายทดน้ำ ฝายกักเก็บน้ำ ขุดบ่อหรือสระน้ำในไร่นา รวมถึงอนุรักษ์และฟื้นฟูระบบเหมืองฝายในท้องถิ่น ซึ่งสามารถให้ประโยชน์ได้จริงแก่ชุมชน และใช้งบประมาณน้อย

10. กระจายอำนาจและงบประมาณให้กับชุมชนท้องถิ่น เพื่อวางแผนระบบการจัดการน้ำโดยชุมชน รวมถึงสนับสนุนงบประมาณเพื่อฟื้นฟูป่าต้นน้ำ และให้สิทธิและอำนาจแก่ชุมชนจัดการน้ำเองโดยมีกฎหมายรองรับ

11. ทบทวนนโยบายการส่งเสริมปลูกพืชเศรษฐกิจ โดยเฉพาะฤดูแล้ง และส่งเสริมแนวคิดเศรษฐกิจแบบพอเพียง ส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกพืชอายุสั้น และปลูกพันธุ์พืชที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่เพื่อลดการบุกรุกพื้นที่ป่า และลดปริมาณการใช้น้ำเพื่อการเกษตรนอกฤดู

12. ส่งเสริมระบบการใช้ที่ดินที่สอดคล้องกับภูมิสังคม สนับสนุนโฉนดชุมชน สร้างความมั่นคงทางอาหารให้ชุมชน ยุติการขับไล่ชุมชนออกจากป่า แต่สนับสนุนให้คนที่อยู่กับป่า รักป่า รักษาต้นน้ำ รวมถึงจัดการผังเมืองให้สอดคล้องกับธรรมชาติและภูมิสังคม