ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > ทีโออาร์โครงการน้ำ 3.5 แสนล้าน เอกชนติงเอื้อต่างชาติ แนะทบทวนภาพรวมทั้งระบบ ทำอีไอเอ และกำหนดสเปกให้ชัดเจน

ทีโออาร์โครงการน้ำ 3.5 แสนล้าน เอกชนติงเอื้อต่างชาติ แนะทบทวนภาพรวมทั้งระบบ ทำอีไอเอ และกำหนดสเปกให้ชัดเจน

29 กรกฎาคม 2012


นายปลอดประสพ สุรัสวดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
นายปลอดประสพ สุรัสวดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

หลังจากที่สำนักงานนโยบายและบริหารจัดการน้ำและอุทกภัยแห่งชาติ (สบอช.) เปิดให้ผู้สนใจมารับเอกสารการจัดซื้อจัดจ้าง (TOR) โครงการลงทุนตามแผนปฏิบัติการบรรเทาอุทกภัยในพื้นที่ลุ่มน้ำแบบบูรณาการและยั่งยืน (กรณีลุ่มน้ำเจ้าพระยา) ภายในวงเงินกู้ 3.5 แสนล้านบาท ตั้งแต่วันที่ 9-23 กรกฎาคม 2555 ปรากฏว่ามีผู้สนใจมารับ TOR ทั้งสิ้น 379 ราย ประกอบด้วย ภาคธุรกิจในประเทศ 303 ราย ภาคธุรกิจต่างประเทศ 37 ราย ส่วนราชการ 17 ราย สถานทูต 22 ราย

เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2555 นายปลอดประสพ สุรัสวดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในฐานะประธานคณะกรรมการการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) ได้เชิญนักธุรกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศ เอกอัครราชทูต และสื่อมวลชน มารับฟังรายละเอียดโครงการเสนอกรอบความคิด (Conceptual Plan) ออกแบบก่อสร้างระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืนและระบบแก้ไขปัญหาอุทกภัยของประเทศ ณ ศูนย์ประชุมอุทยานวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) มีผู้ลงทะเบียนเข้าร่วมประชุมประมาณ 942 คน

นายปลอดประสพกล่าวว่า วัตถุประสงค์ของการจัดงานประชุมในครั้งนี้ เพื่อความโปร่งใสและเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย จึงได้เปิดกว้างให้ผู้ที่สนใจได้เข้ามามีส่วนร่วมในโครงการลงทุนของรัฐบาล ทั้งนี้ในช่วงเช้าของวันที่ 24 กรกฎาคม 2555 ที่ประชุม ครม. มีมติแต่งตั้งตนเป็นประธานคณะกรรมการพิจารณาคัดเลือกบริษัทที่จะมาออกแบบก่อสร้างโครงการนี้ ส่วนคณะกรรมการมี 16 คน ประกอบด้วยปลัดกระทรวง 6 คน หัวหน้าส่วนราชการ 5 คน และผู้ทรงคุณวุฒิ 5 คน โดยคณะกรรมการชุดนี้มีหน้าที่ศึกษาและคัดเลือกข้อเสนอของภาคเอกชนที่เข้าร่วมประมูลเพื่อนำไปสู่การลงนามในสัญญาว่าจ้างในอนาคต ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของสำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ เป็นผู้มีอำนาจลงนาม แต่ต้องผ่านความเห็นชอบจากรัฐมนตีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และที่ประชุม ครม.

“หลายท่านคงสงสัย ประธานคณะกรรมการคัดเลือกโครงการเป็นประธาน กบอ. และเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ จะกลายเป็นว่าผมทำเรื่องขึ้นมาแล้วเสนอถึงผมเอง ซึ่งผมเชื่อว่าคณะกรรมการทั้ง 16 คนคงไม่ยอมที่จะให้ผมทำอะไรเกินเลย นอกจากนี้ผมต้องแต่งตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมาช่วยทำงานอีกหลายชุด” นายปลอดประสพกล่าว

นายปลอดประสพกล่าวต่อไปว่า ตนขอย้ำ ปัจจุบันยังไม่ใช่การจัดซื้อจัดจ้าง ไม่มีการลงนามในสัญญาใด ๆ และยังไม่มีการนำเงินงบประมาณออกไปจ่ายให้ใครทั้งสิ้น จะมากล่าวหากันลอยๆ ไม่ได้ เพราะยังไม่ได้จัดสินใจเลือกผู้รับเหมารายใด ยืนยัน ไม่มีการเลือกใครเอาไว้ในใจ และโครงการนี้เปิดกว้าง นักธุรกิจทุกคนเข้าร่วมประมูลได้ทั้งหมด รวมทั้งบริษัทต่างชาติที่สนใจต้องปฏิบัติตามกฎหมายไทย จะใช้ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศมาอ้างก็ไม่ได้ นับตั้งแต่วันนี้มีเวลาเหลืออีก 90 วัน โดยผู้ที่สนใจจะเข้าร่วมประมูลจะต้องส่งรายงานนำเสนอกรอบแนวคิดภายในช่วง 60 วัน จากนั้นจะเรียกบริษัทที่ยื่นแผนฯ มาสัมภาษณ์และคัดเลือกแบบ Short list ภายใน 30 วัน

“นับจากวันที่ 24 กรกฎาคม 2555 ทุกท่านที่มารับ TOR ไป จะต้องมายืนยันว่าจะเข้าร่วมประมูลงานหรือไม่ และจะเข้ามาในรูปแบบใด เช่น เป็นบริษัทเดียว เป็นกลุ่มที่ทำ Joint venture หรือ Consortium ต้องนำเอกสารแสดงหลักฐานภายใน 30 วัน ส่วนบริษัทต่างชาติที่ไม่จดทะเบียนในไทย ต้องได้รับการรับรองจากสถานทูต จากนั้นคณะกรรมการคัดเลือกโครงการจะตรวจสอบคุณสมบัติ หากผ่านการพิจารณาจะประกาศรายชื่ออยู่ในกลุ่ม Long list ภายใน 30 วัน” นายปลอดประสพกล่าว

นายปลอดประสพกล่าวต่อไปอีกว่า ผู้ที่สนใจจะต้องจัดทำรายงานเพื่อนำเสนอกรอบแนวคิด ตามแผนแม่บทการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งใน TOR มี 8 แผนงาน ได้แก่ 1. แผนงานฟื้นฟู อนุรักษ์ป่าและระบบนิเวศ 2. แผนการจัดการบริหารน้ำประจำปีของประเทศ ทั้งอ่างเก็บน้ำ เขื่อนขนาดใหญ่ที่มีอยู่ในปัจจุบัน 3. แผนงานฟื้นฟูและปรับปรุงประสิทธิภาพสิ่งก่อสร้างเดิมหรือตามแผนที่วางไว้ 4. แผนงานพัฒนาคลังข้อมูล ระบบพยากรณ์และเตือนภัย 5. แผนงานเผชิญเหตุการณ์ฉุกเฉินเฉพาะพื้นที่ 6. แผนงานกำหนดพื้นที่รับน้ำนองและมาตรการเยียวยา 7. แผนงานปรับปรุงองค์กรเพื่อบริหารจัดการน้ำ และ 8. แผนงานสร้างความเข้าใจ การยอมรับ และการมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการอุทกภัยขนาดใหญ่ของทุกภาคส่วน

และยังครอบคลุมไปถึงแผนบริหารจัดการน้ำในลุ่มน้ำอื่นอีก 6 แผนงาน ซึ่งจะดำเนินการในพื้นที่ 17 ลุ่มน้ำของภาคเหนือ กลาง ตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ ประกอบด้วย 1. แผนงานฟื้นฟู อนุรักษ์ป่าและที่ดิน 2. แผนงานสร้างอ่างเก็บน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำ 3. แผนงานจัดทำผังการใช้ที่ดิน 4. แผนการปรับปรุงสภาพทางน้ำสายหลักและคันริมตลิ่ง 5. แผนงานปรับปรุงคลังข้อมูล ระบบพยากรณ์และเตือนภัย และ 6. แผนบริหารจัดการ และการเยียวยา

นอกจากนี้ ผู้เข้าร่วมประมูลงานจะต้องทำรายงานเสนอกรอบแนวคิดในการบริหารจัดการน้ำเพิ่มเติมอีก 2 แผนงาน ได้แก่ แผนการผันน้ำข้ามลุ่มน้ำต่างๆ (Transbasin diversion) และแผนการสร้างแนวเขื่อนกันน้ำทะเล (SEA BARIER) ซึ่งไม่ได้บังคับ แต่ทางรัฐบาลต้องการทราบไอเดียใหม่ๆ หากนำเสนอมาด้วยจะได้รับการพิจารณาเป็นพิเศษ

“ในส่วนของแผนแม่บทการบริหารจัดการน้ำ ในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา 8 แผนงานนั้น ในจำนวนนี้มี 2 แผนงาน ได้แก่ แผนงานฟื้นฟู อนุรักษ์ป่าและระบบนิเวศ และแผนการจัดการบริหารน้ำประจำปีของประเทศ ผู้เข้าร่วมประมูลงานไม่ต้องบรรจุงบประมาณลงไป เพราะรัฐบาลได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรฯ เป็นผู้ดำเนินการ แต่ผู้เข้าร่วมประมูลงาน ต้องนำเสนอ เนื่องจากทางการต้องการทราบไอเดีย” นายปลอดประสพกล่าว

ส่วนหลักเกณฑ์ในการให้คะแนนจะพิจารณาคัดเลือกจะมี 8 หัวข้อหลัก คือ 1. การนำเสนอรายงานกรอบแนวคิดถูกต้องและครบถ้วน 2. ความสอดคล้องกับแผนแม่บทฯ 3. มีความเป็นไปได้และความเหมาะสมทางด้านเทคนิค 4. ความเชื่อมโยงระบบได้ทั้งหมด 5. พิจารณาจากประสบการณ์มีความรู้และความชำนาญ 6. กรอบระยะเวลาในการออกแบบก่อสร้างใช้เวลาน้อยที่สุด 7. ประมาณการค่าใช้จ่ายหรืองบประมาณ และ 8. ประเมินผลสัมฤทธิ์ของโครงการนี้ ซึ่งหัวข้อเหล่านี้จะเป็นหัวข้อการให้คะแนน

“การคัดเลือกจะทำเป็นแบบ Short list ทุกๆ แผนงานจะคัดเลือกให้เหลือ 3 บริษัท จากนั้นคณะกรรมการคัดเลือกโครงการ คัดเลือกบริษัทที่ได้คะแนนสูงสุดเพียง 1 บริษัท เพื่อทำสัญญาในอนาคต บริษัทหนึ่งอาจจะได้รับงานมากกว่า 1 แผนงานก็ได้ หรือแต่ละแผนงานอาจจะมี 8 บริษัทที่ได้รับงานนี้ก็ได้ หรืออาจจะมีบริษัทหนึ่งที่อาจได้มากกว่า 1 เรื่องก็ได้ จะขึ้นอยู่กับคะแนนที่ได้รับ เพราะอาจจะมีบริษัทหนึ่งบริษัทใดมากกว่าหนึ่งหัวข้อก็เป็นไปได้ ขอย้ำว่าเรื่องเวลา ราคา เทคนิค และประสบการณ์ จะเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในการตัดสินใจ”

เนื่องจากโครงการลงทุนเหล่านี้มีเวลาจำกัด เพราะต่อสู้กับปัญหาน้ำท่วม จึงต้องใช้รูปแบบ Design & build ซึ่งจะมีการว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษา 2 กลุ่ม กลุ่มแรกทำหน้าที่บริหารโครงการ (Project management company) และ กลุ่มที่ 2 วิเคราะห์ ประเมินการออกแบบและการก่อสร้าง (Construction)

นายสุพจน์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
นายสุพจน์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

นายสุพจน์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะเลขาธิการ กบอ. กล่าวว่า สำหรับกรอบระยะเวลาในการดำเนินการนับจากวันที่ 24 กรกฎาคม 2555 มีดังนี้

1. ผู้ที่จะเข้าร่วมประมูลงานต้องยื่นเอกสารประวัติการทำงาน คุณสมบัติตามที่กำหนดไว้ใน TOR ภายในวันที่ 24 สิงหาคม 2555

2. คณะกรรมการคัดเลือกโครงการจะตรวจสอบและแจ้งผลการคัดเลือกภายในวันที่ 24 กันยายน 2555

3. บริษัทที่ผ่านการตรวจสอบมีเวลา 3 เดือนในการส่งรายงานกรอบความคิด โดยจะต้องส่งร่างเอกสารก่อนวันที่ 23 พฤศจิกายน 2555

และ 4. คณะกรรมการคัดเลือกฯ สัมภาษณ์ และส่งเอกสารฉบับสมบูรณ์ภายในวันที่ 28 ธันวาคม 2555 หลังจากนั้นคณะกรรมการจะคัดเลือกและประกาศผลคัดเลือกโดยภายในวันที่ 31 มกราคม 2556

เอกชนติงโครงการแก้น้ำท่วม 3 แสนล้าน ทีโออาร์เอื้อต่างชาติ – ข้อมูลไม่ครบ

แหล่งข่าวจากกลุ่มวิศวกรที่ปรึกษา ให้ความเห็นต่อเรื่องที่รัฐบาลเปิดให้เอกชนเสนอกรอบแนวคิด เพื่อมาออกแบบการก่อสร้างระบบบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืนว่า ตามรายละเอียดที่ประกาศมีการกำหนดวันที่ 9-23กรกฎาคม 2555 เปิดให้ผู้สนใจรับเอกสาร จากนั้นวันที่ 24 สิงหาคม 2555 ส่งเอกสารคุณสมบัติบริษัทว่าแต่ละรายมีความสามารถที่จะทำงาน 300,000 ล้านบาทนี้ได้หรือไม่ ต่อจากนั้นวันที่ 24 กันยายน 2555 ประกาศผลว่าใครมีคุณสมบัติผ่านบ้าง

ทั้งนี้คุณสมบัติที่กำหนดไว้คือว่าจะต้องมีการทำงานที่มีมูลค่าการก่อสร้างตั้งแต่ 2,000 ล้านบาทขึ้นไป และใน 10 ปีต้องมีผลงานรวมกันไม่ต่ำกว่า 30,000 ล้านบาท โดยแต่ละชิ้นที่จะนับรวมกันต้องมีมูลค่ามากกว่า 2,000 ล้านบาท

ในประเด็นนี้มองว่ามีไม่ค่อยเหมาะสมอยู่บ้าง เนื่องจากบริษัทที่มีคุณสมบัติเคยทำงาน 2,000 ล้านบาท ต้องมีขนาดใหญ่จริงๆ บริษัทไทยที่จะมีคุณสมบัติเช่นนั้นไม่ถึง 10 ราย เพราะฉะนั้นหลายๆ คนเป็นห่วงว่ากรอบมันแคบเกินไป ทำให้มีคนที่เสนอได้มีน้อยราย หรือจะเสนอได้ต้องเอาต่างชาติมาร่วมด้วย ถึงจะผ่านคุณสมบัติไปได้

“จริงๆ การออกแบบโครงการก่อสร้าง คนไทย ไม่ว่าจะเป็น ผู้รับเหมาไทย ที่ปรึกษาไทย มีความรู้มีความสามารถมีประสบการณ์ที่จะทำได้เองทั้งหมด แต่เข้าใจรัฐบาลต้องการแนวคิด แนวทางอะไรใหม่ๆ ที่ได้รับผลสำเร็จในต่างประเทศมาใช้ในประเทศไทย แต่ทั้งนี้ควรจะใช้ความรู้พื้นฐานและประสบการณ์คนไทยเสียก่อน วิธีการควรให้คนไทยเป็นบริษัทนำ leading firm แต่ประกาศหลักเกณฑ์นี้ ไม่ได้กำหนดว่าจะเป็นบริษัทไทยหรือต่างชาติ ก็มองว่าบริษัทที่จะมีประสบการณ์ตามนั้นก็มีแต่ต่างชาติ ก็เป็นห่วงกันว่าให้โอกาสคนไทยน้อยไป”

ทั้งนี้ เกณฑ์ที่รัฐบาลใช้ในการกำหนดกรอบมูลค่าชิ้นงานในรอบ 10 ปี มูลค่ารวมกัน 30,000 ล้านบาทมานั้น มาจากตัวเลขร้อยละ 10 จากมูลค่าโครงการ 300,000 ล้านบาท ดังนั้นถ้าหากว่าโครงการไหนมีมูลค่าเท่าไหร่ ก็ควรให้เขามีประสบการณ์ตามเกณฑ์ที่ใช้ร้อยละ 10 ที่รัฐบาลกำหนดไว้ เช่น โครงการกลุ่มงานสร้างอ่างเก็บน้ำมีมูลค่างาน 50,000 ล้านบาท ก็ควรมีประสบการณ์ 10 ปี มูลค่า 5,000 ล้านบาท หากไปกำหนด 30,000 ล้านบาท ก็จะเป็นการปิดกั้นคนไทยมากไป จึงอยากให้รัฐบาลทบทวนและลดขนาดมูลค่าชิ้นงานลงมาโดยดูตามความเหมาะสมของโครงการ

หรือกลุ่มงานที่ใหญ่ๆ อาทิ กลุ่มจัดทำทางน้ำหลากฟลัดเวย์ มูลค่า 120,000 ล้านบาท ถ้าร้อยละ 10 ก็มูลค่า 12,000 ล้านบาท บริษัทไทยที่มีผลงาน 10 ปี มูลค่า 12,000 ล้านบาท ก็น่าจะมีมากขึ้น สำหรับคนที่จะเสนอทำฟลัดเวย์

หรือกลุ่มงานการปรับปรุงระบบคลังข้อมูลและระบบพยากรณ์และเตือนภัยฯ มูลค่า 3,000 ล้านบาท ถ้าเขามีประสบการณ์ 10% ก็ 300 ล้านบาท เป็นการเปิดโอกาสให้มีการแข่งขันมากขึ้น หลากหลายขึ้น โอกาสคนไทยเข้ามาต่อสู้ได้ดีขึ้น

แหล่งข่าวกล่าวต่อว่า ประเด็นสำคัญอีกอันหนึ่งคือ การที่คณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) เอาแผนของคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (กยน.) มาใช้โดยหยิบเอามาทั้งแผน ซึ่งแผนงานเหล่านี้ยังไม่มีการศึกษาเป็นองค์รวมประกอบกัน เพราะลุ่มน้ำเจ้าพระยาประกอบด้วยลุ่มน้ำย่อย 8 ลุ่มน้ำ ได้แก่ ปิง วัง ยม น่าน สะแกกรัง เจ้าพระยา ป่าสัก ท่าจีน การนำโครงการมาเรียงๆ กันมันต้องร้อยเรียงให้ประสานสอดคล้อง บางอันเล็กไป บางอันใหญ่ไป เวลามองทั้งระบบลุ่มน้ำต้องศึกษาโครงการในระบบลุ่มน้ำ ทั้งลุ่มน้ำ ให้ถึงระดับการศึกษาความเหมาะสม Feasibility study ของระบบลุ่มน้ำทั้งลุ่มน้ำ อันนี้ยังไม่มีการดำเนินการ

“การนำโครงการมาจัดเรียง แล้วบอกว่าเป็นแผนแม่บท มันยังไม่สมบูรณ์ มีหลายโครงการ โครงการที่นำมาประมูลออกแบบพร้อมก่อสร้าง จริงๆ ต้องมีการศึกษาถึงขั้น Feasibility study มาแล้ว มีบางโครงการที่ทำถึงร้อยละ 80% แล้ว แต่ประเด็นสำคัญว่าร้อยละ 80% นี้มีการประสานกันดีแล้วหรือยัง หรือมันต่างจุดต่างทำ พอนำมาสานรวมกันต้องมีการมองภาพใหญ่อีกที ผมว่าตรงนี้ต้องทำก่อน ซึ่งก็มีคนท้วงติงว่าจะทำให้โครงการล่าช้า อันนี้ก็ต้องยอมรับว่าส่วนหนึ่งทำให้โครงการล่าช้า ใช่ แต่เราจะได้ของที่ดี สมบูรณ์แบบ”

แหล่งข่าวกล่าวต่อว่า ถ้ารีบทำการศึกษาความเหมาะสม ซึ่งอาจจะใช้เวลา 8 เดือน ต้องเร่งทำให้เสร็จ รวมทั้งรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ต้องผ่าน ดังนั้นบางโครงการที่ยังมีผลกระทบสิ่งแวดล้อมไม่ได้ทำ ก็ต้องรีบทำเพื่อว่าหากเขาประมูลได้ก็จะได้ไปก่อสร้างเลย หรือบางโครงการเคยทำไว้แล้วหากเกิน 5 ปีก็ต้องทำใหม่ ดังนั้นต้องรีบหันกลับมาทำพวกนี้ ก่อนที่จะประมูลจะดีกว่า

“เพราะถ้าหากผู้รับเหมาะประมูลได้แล้ว จะเอาไปออกแบบรายละเอียด หรือจะก่อสร้างทำไม่ได้ เพราะการเวนคืนที่ยังไม่ผ่าน รายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมยังไม่ผ่านมา เขาจะฟ้องเอาว่ามอบสถานที่ก่อสร้างล่าช้า จะต้องไปเสียค่าปรับให้ผู้ประมูลอีก เหมือนบางโครงการ อันนี้เป็นสิ่งที่เป็นห่วง ต้องหันกลับมาดูตัวเอง ทบทวนเรื่องเหล่านี้”

สำหรับผู้ที่มีบทบาทในการทบทวนคือ กบอ. มีที่ กยน. เป็นที่ปรึกษา ซึ่งเป็นผู้ที่เคยทำแผนนี้มา ต้องรวบรวมแผนและทำให้ถึงระดับ Feasibility study ซึ่งต้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำ สภาพัฒน์ฯ กรมทางหลวง กรมควบคุมมลพิษ กรมทรัพยากรธรณี กรมป่าไม้ สำนักงานสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ให้เข้ามาช่วยศึกษาด่วน หากระดมจริงๆ 8 เดือนก็น่าจะแล้วเสร็จ แล้วนำประมูล ออกแบบพร้อมก่อสร้าง ก็จะได้งานที่ดีถูกต้อง

อย่างไรก็ตาม โครงการลงทุน 300,000 ล้านบาท ต้องมีความชัดเจน ณ ขณะนี้มีความชัดเจนระดับหนึ่ง แต่ยังไม่ควรถึงระดับประมูล ต้องทำภาพองค์รวมก่อน ซึ่งยังไม่ได้ทำ รวมทั้งในส่วนย่อย อาทิ ด้านวิศวกรรม สิ่งแวดล้อม จริงๆ ต้องมีเอกสารประมูลเชิญชวนให้มาประกวดราคา ในลักษณะออกแบบพร้อมก่อสร้างเบ็ดเสร็จ ซึ่งต้องมีรายละเอียดได้แก่

1. ต้องกำหนดรายละเอียดองค์ประกอบโครงการที่เหมาะสม กำหนดวัตถุประสงค์โครงการขนาดเล็ก ขนาดใหญ่ คือต้องมีแบบที่ถึงขั้นที่เรียกว่ามีเอาท์ไลน์ดีไซน์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งเอกสารประกอบการประกวดราคา อันนี้ทีมงานต้องเร่งทำ หลายโครงการมีอยู่แล้ว ของกรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำ กรมทางหลวง ก็ต้องจัดทบทวนให้เรียบร้อย

2. เมื่อผู้รับเหมาได้เอาท์ไลน์ดีไซน์ไปแล้ว ต้องมีเกณฑ์การออกแบบให้ผู้ประมูลว่าการก่อสร้างใหญ่ขนาดนี้อยู่ตรงไหน ใช้ปูนเท่าไหร่ ใช้เหล็กเท่าไหร่ ทั้งนี้เพื่อให้ผู้สนใจเอาเอาท์ไลน์ดีไซน์ และดีไซน์ไครทีเรีย ไปทำการออกแบบ

3. อีกอันต้องมีการกำหนดรายละเอียดด้านวิศวกรรมและวิชาการ เรียกว่า specification ตอนนี้มีเอกสารประกอบ 2 เล่มที่แจกในวันแถลงข่าว 24 กรกฎาคม 2555 งานแต่ละงานต้องกำหนสเปก เกณฑ์ความปลอดภัยเป็นอย่างไร แรงลมขนาดไหน ถ้าอยู่ในพื้นที่นี้ เช่น แก่งเสือเต้น สเปกแรงลมขนาด 160 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ต้องต้านทานแผ่นดินไหวขนาด 5 ริกเตอร์ ค่าความปลอดภัยต้องกำหนดให้เขาว่าเท่าไหร่ อาคารใต้ดิน บนดินต้องเป็นเท่าไหร่ มีสเปกเยอะแยะที่ต้องกำหนด แต่นี่เราเอาออกมาประมูล การตกลงราคาที่เซ็นสัญญาอาจจะไม่เหมาะสม อาจจะมากไป น้อยไป ซึ่งเป็นเงินของประชาชน

ดังนั้น โดยสรุปต้องตั้งหลักให้ดี ศึกษาความเหมาะสมทั้งระบบ ศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมในทุกโครงการ ทำเอกสารประกวดราคาที่สมบูรณ์มีแบบเอาท์ไลน์ ดีไซน์ มีสเปก มีดีไซน์ไครทีเรีย มีราคากลางที่เหมาะสม โดยมีการถอดปริมาณงานคูณกับราคาต่อหน่วย อันนี้ยังไม่ได้ทำ ต้องกลับไปทำพวกนี้ แม้บางโครงการได้ทำราคากลางแล้ว แต่ยังไม่มีราคาล่าสุด ณ ปี 2555 หรือยัง เพราะราคาปูน ราคาเหล็ก ณ ปัจจุบันหรือยัง ก็คูณได้เลย ออกมาเป็นราคากลาง

“นี่ยังไม่ได้ถอดปริมาณงานเพราะแบบไม่มี พอมารวมกันในโครงการอ่างเก็บน้ำ ปิง วัง ยม นาน สะแกกรัง มูลค่า 60,000 ล้านบาท แต่ละลุ่มน้ำใช้ปูนกี่คิว ถอดออกมาหรือยัง แก่งเสือเต้นพร้อมแล้ว ถอดปริมาณงานมาแล้วก็คูณราคาวัสดุปัจจุบันได้เลย แต่สิ่งแวดล้อมทำมาเกิน 5 ปี ต้องไปทำมาใหม่ในบางประเด็น หรือสิ่งแวดล้อมเขื่อนแม่วงษ์ยังมีข้อสงสัย เรื่องกวาง เสือ ต้องไปสำรวจเพิ่มต้อง รีบไปทำ ไม่ใช่ประมูลเสร็จ ส่งมอบพื้นที่ให้ผู้รับเหมาไม่ได้ จะถูกฟ้องได้ นี่คือขั้นตอนที่รวบรัดมากไป คงต้องไปปรับปรุงให้ดี”

แหล่งข่าวกล่าวว่า อย่างโครงการที่ 7 “การปรับปรุงคลังข้อมูล ระบบพยากรณ์และเตือนภัย รวมทั้งการบริหารจัดการน้ำ(หลาก- แล้ง )กรณีต่างๆ” สามารถเร่งรัดเอกสารประกวดราคาที่มีสเปก มีดีไซน์ไคทีเรียที่มีราคากลางที่สมบูรณ์ได้ ซึ่งอาจจะใช้เวลา 3 เดือน ก็สามารถเปิดประมูลได้ ไม่ต้อง 8 เดือนเหมือนโครงการอื่นๆ

“เช่น สเปกติดตั้งเครื่องวัดน้ำ เครื่องวัดผลแล้วส่งผลมาภายใน 15 นาที หรือ 30 นาที หรือกี่นาทีตามแต่จะกำหนด หรือเครื่องจะต้องทนความร้อนที่อุณหภูมิ 35 องศา 40 องศา ราคาก็จะต่างกัน หรือในกรณีไฟดับ ต้องมีเครื่องสำรองไฟใช้ได้ 3 วัน จะต้องมีการสำรองข้อมูลได้ 10 วัน สเปกต้องระบุให้ชัดเจน การส่งข้อมูลจะส่งสัญญาณแบบไหน ถ้าระบบล่มต้องมีระบบสำรองอย่างไร อาทิ ถ้าใช้ระบบสำรองวิทยุสื่อสาร ต้องมีทาวเวอร์สูงๆ ต้นละ 3 แสน เป็นต้น หรือห้องวอร์รูมต้องมีทีวีแบบไหน จอพลาสมา จอแอลอีดี ขนาดจอ 40 นิ้ว 60 นิ้วจะต้องมีกี่จอ บอกเสปกเหล่านี้มา เพราะราคาต่างกันหมด เรื่องเหล่านี้ยังไม่มีใครกำหนด นี่คือสิ่งที่ต้องกำหนดออกมาให้ละเอียด”

[scribd id=101018456 key=key-676mhmnwe9s6jl6mxpd mode=list]