ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์
Tuli Kupferberg กวีและนักเขียนชาวอเมริกัน ได้เคยกล่าวไว้ว่า
“When patterns are broken, new worlds emerge.” หรือ “เมื่อรูปแบบเดิมถูกทำลาย โลกใหม่ก็ถือกำเนิดขึ้น”
ในห้วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา ภายใต้ Unipolar World สหรัฐอเมริกาในฐานะผู้นำโลก ได้สร้างคุณูปการกับประชาคมโลก เป็น Creative Destruction ทั้งในมิติความมั่งคั่งและความมั่นคง ผ่าน Rule-Based Institutional & Regulatory Frameworks ต่างๆ
เมื่อ “โลกหมุนกลับทิศ”
ประชาคมโลก ณ ขณะนี้ กำลังเผชิญสภาวะไร้ผู้นำโลก (G-Zero World) เพราะประธานาธิบดี ทรัมป์ไม่ได้ทำตัวเป็นผู้นำโลก แต่ลดตัวลงเล่นบทบาทเป็นแค่ผู้นำประเทศ ที่คิดแต่จะ Make America Great Again (MAGA) เพียงเพราะความหวาดกลัวว่าจีนจะแซงหน้าสหรัฐอเมริกาในทุกด้าน อย่างไรก็ดี นโยบายภายใต้แคมเปญ MAGA กลับไม่ใช่ Creative Destruction ที่จะตอบโจทย์พลวัตโลกศตวรรษที่ 21 ในเชิงสร้างสรรค์ แต่กลับเป็น Destructive Creation ที่ส่งผลกระทบเชิงโครงสร้างทั้งในแนวลึกและเป็นวงกว้างต่อทั้งประชาคมโลกและตัวสหรัฐอเมริกาเอง
ภูมิทัศน์โลกได้เปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ เป็น “โลกหมุนกลับทิศ” เกิด New Age of Nationalism เกิด Anti-Globalist Spirit ลมเปลี่ยนทิศจาก International เป็น Local Orientation และจาก Universal เป็น National Centricity
MAGA กำลังทำลายความเป็นผู้นำโลกของสหรัฐอเมริกา ทำลายโลกเสรีที่ตัวเองสร้างขึ้น กำลังทำลายเศรษฐกิจโลกทั้งระบบ นโยบายภายใต้ MAGA สหรัฐอเมริกาได้เปลี่ยนมิตรเป็นศัตรู ในทางกลับกัน กลับส่งเสริมให้จีนเปลี่ยนศัตรูเป็นมิตรมากขึ้น
พูดอีกนัยหนึ่งก็คือ นโยบายต่างๆ ภายใต้การนำของประธานาธิบดีทรัมป์ เป็นตัวเร่งการเปลี่ยนแปลงให้จีนเป็นมหาอำนาจโลกแทนเร็วขึ้น
การอุบัติขึ้นของ The New USA
หากรูปแบบการแข่งขันทางภูมิรัฐศาสตร์ยังเป็นเช่นนี้ต่อไป โลกจะค่อยๆ เปลี่ยนจากโลกขั้วเดียว (Unipolar World) ที่สหรัฐอเมริกาเป็นแกนนำ กลายเป็นโลกหลายขั้ว (Multipolar World) หรืออาจจะปรับเปลี่ยนจนกลายเป็นโลกสองขั้ว (Bi-Polar World) ในที่สุด
และหนึ่งในขั้วอำนาจที่จะมีบทบาทนำภายใต้โลกหลายขั้ว คือ “The New USA”**
The New USA ในที่นี้ ไม่ใช่ The New United States of America แต่เป็น The United States of Asia หรือ “สหรัฐแห่งเอเชีย” ซึ่งประกอบด้วย 3 อนุภูมิภาค (ดูรูปที่ 1: The New USA)
-
– East Asia นำโดย จีน ญี่ปุ่น และ เกาหลีใต้
– Southeast Asia นำโดย ASEAN 10 และ
– South Asia นำโดย อินเดีย
แกนอำนาจหลักของ The United States of Asia จะอยู่ที่จีน ในทางภูมิรัฐศาสตร์ จีนกำลังแผ่อิทธิพลกระจายออกไปตามภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลก ทั้งในเอเชีย (โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาเซียน) ในแอฟริกา และในลาตินอเมริกา
การแผ่อิทธิพลเข้ามาในเอเชียของจีนเป็นภัยคุกคามโดยตรงต่อญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ การแทรกซึมเข้าไปในแอฟริกาเป็นภัยคุกคามโดยตรงต่อยุโรป และการรุกคืบเข้าไปในลาตินอเมริกาเป็นภัยคุกคามโดยตรงต่อสหรัฐอเมริกา (ดูรูปที่ 2: โมเดลภูมิรัฐศาสตร์ที่มีจีนเป็นศูนย์กลาง)
ล่าสุด ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ได้นำเสนอแนวคิด “Asian Family” เพื่อสร้างความเป็นเอกภาพของ The New USA เพื่อรับมือกับแรงกดดันจากสหรัฐฯ ที่พยายามโน้มน้าวและบีบบังคับให้ประเทศต่างๆ จำกัดความสัมพันธ์กับจีน
จิ๊กซอว์ตัวสำคัญในการต่อเชื่อมจีนกับภูมิภาคต่างๆ ที่ขยายวงออกไปจาก The New USA คือ BRICS และโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (Belt and Road Initiative หรือ BRI)
ภูมิรัฐศาสตร์และภูมิเศรษฐศาสตร์โลกจากนี้ไป จึงอาจจะมีความเป็นไปได้ของการเกิด China-Centric Global Politics & Economy แทนที่ US-Centric Global Politics & Economy เดิม และเปลี่ยนโลกหลายขั้วที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบัน เป็นโลกสองขั้วระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกา
ในขณะที่ The New USA หมายถึง “The United States of Asia” โดยมีจีนเป็นแกนอำนาจหลัก ด้วยการดำเนินนโยบายที่ผิดพลาดของประธานาธิบดี ทรัมป์ MAGA อาจหมายถึง “Make America Gloom Again” ก็เป็นได้
เราคือไทย ใครคือเรา ในโลกหมุนกลับทิศ
ภายใต้ภูมิทัศน์ใหม่ของโลก พวกเราต้องเผชิญกับภัยคุกคามและโอกาสชุดใหม่ หัวใจสำคัญที่จะทำให้แต่ละรัฐชาติ ยังสามารถ Survive & Thrive ได้เมื่อโลกหมุนกลับทิศ คือ “เกียรติภูมิและศักดิ์ศรีของความเป็นชาติ”
อาจารย์ธีรยุทธ บุญมี ได้เคยกล่าวไว้ว่าความผูกพันอยู่กับกลุ่ม ทำให้ความเป็นชาติถูกฝังอยู่ในสามัญสำนึกของคนทั่วไป ความเป็นชาติช่วยทำหน้าที่สร้างความมั่นคงทางจิตใจที่จะต้องอยู่ร่วมกับผู้คนที่มีลักษณะคล้ายกับตน ทำให้รักกลุ่มรักพ้องของตน สำหรับบางคนชาติให้มากกว่าความมั่นคงทางจิตใจ เพราะชาติเป็นจิตวิญญาณของผู้คนในประเทศ ดังนั้น เพื่อที่จะรักษาชาติของเขาไว้ เขาพร้อมที่จะพลีชีพเพื่อชาติได้คำว่าแผ่นดินพ่อ แผ่นดินแม่ มาตุภูมิ หรือปิตุภูมิ จึงเป็นคำที่ใช้เพื่อสะท้อนคุณค่าอันใหญ่หลวงของชาติที่มีต่อผู้คน
จึงเป็นคำถามที่พวกเราคนไทยทุกคนจะต้องช่วยกันตอบว่า ประเทศไทยจะต้องเป็นอย่างไรในโลกหมุนกลับทิศ
ด้วยการค้นหาอัตลักษณ์ เอกลักษณ์คุณค่า จิตวิญญาณตัวตนของคนไทยเพื่อปลุกจิตสำนึกของความเป็นชาตินิยมให้กลับคืนมา เป็นชาตินิยมที่สะท้อนออกมาผ่านความรักชาติ รักแผ่นดินเกิด ที่สะท้อนออกมาเป็นความภาคภูมิใจที่ได้เกิดมาเป็นคนไทยอย่างลึกซึ้ง ไม่ใช่ชาตินิยมแบบคลั่งชาติ ที่มุ่งเน้นแต่คิดถึงผลประโยชน์ของชาติตนเองฝ่ายเดียว แต่เป็นชาตินิยมเชิงบวก เป็นชาตินิยมที่คิดถึงการอยู่ร่วมกันอย่างมีสันติสุขของประชาคมโลก
คำถามที่ท้าทายคือ จะทำอย่างไรให้คนไทยมีจิตสำนึกของความรักชาติ ท่านองคมนตรี เกษม วัฒนชัย ได้เคยกล่าวไว้อย่างน่าฟังถึง “เกียรติภูมิและศักดิ์ศรีของความเป็นชาติไทย” ด้วย 4 ประเด็นคำถามที่เกี่ยวเนื่องกัน
1. พวกเรามีความเข้าใจในประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของชาติไทยมากน้อยแค่ไหน
2. มีจิตสำนึก และตระหนักในคุณค่าของความเป็นไทยมากน้อยเพียงใด
3. ก่อเกิดเป็นความรัก ความภาคภูมิใจ ความผูกพัน และความหวงแหนในความเป็นไทย ความเป็นคนไทย ในความเป็นประชาชาติไทยขนาดไหน
4. มีความรู้สึกห่วงใย อยากร่วมรับผิดรับชอบ ทุ่มเทกำลังกายกำลังใจ ยอมเสียสละเพื่อความอยู่รอดและประโยชน์สุขให้กับประเทศชาติมากน้อยเพียงใด
เกียรติภูมิและศักดิ์ศรีความเป็นชาติเป็นผลลัพธ์ของ 3 องค์ประกอบสำคัญ คือ อำนาจอธิปไตย ความเป็นอัตลักษณ์ และจิตสำนึกร่วม
1. อำนาจอธิปไตย สะท้อนถึงความเป็นอิสระ ไม่ต้องตกอยู่ในอาณัติของใคร
2. ความเป็นอัตลักษณ์ สะท้อนความเป็นตัวตนไม่ต้องไปตามแบบใคร
3. จิตสำนึกร่วม สะท้อนถึงระบบคุณค่า ความเชื่อ ความศรัทธา ที่ยึดเหนี่ยวเกี่ยวโยงกับผู้คนในสังคมเข้าด้วยกัน เต็มเปี่ยมไปด้วยความหวังของการได้มาอยู่ร่วมกัน ฝันร่วมกัน ทำร่วมกัน ซึ่งครอบคลุมถึงการอยู่ด้วยกันระหว่างผู้คนในชาติ และการอยู่ร่วมกันในประชาคมโลก
เกียรติภูมิและศักดิ์ศรีความเป็นชาติจึงเป็นภูมิคุ้มกันที่ดีที่สุดในโลกจากนี้ไป เมื่อต้องเผชิญกับความท้าทาย ความเสี่ยง ภัยคุกคามและวิกฤติชุดใหม่
ถึงเวลาแล้วที่เราต้องปลุกจิตสำนึกคนไทยให้ตระหนักถึงการปกป้องอธิปไตย ความภูมิใจในอัตลักษณ์ การปลุกจิตสำนึกร่วม พร้อมๆ กับการสร้างความมุ่งมั่นอย่างแรงกล้า ที่จะขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่ประเทศที่มีความเป็นปกติสุข เกิดประโยชน์สุข และสร้างสันติสุข ร่วมกับประชาคมโลก
**จากหนังสือ “เมื่อโลกไม่ใช่ใบเดิม” สุวิทย์ เมษินทรีย์ สำนักพิมพ์การเงินธนาคาร 2553