ThaiPublica > เกาะกระแส > OECD ลดคาดการณ์เศรษฐกิจโลกปี 2562 รอบใหม่โต 3.3% การค้าตึงเครียด – จีนชะลอตัว

OECD ลดคาดการณ์เศรษฐกิจโลกปี 2562 รอบใหม่โต 3.3% การค้าตึงเครียด – จีนชะลอตัว

7 มีนาคม 2019


ที่มาภาพ: http:// www.oecd.org/newsroom/oecd-sees-global-growth-slowing-as-europe-weakens-and-risks-persist.htm

องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (Organisation for Economic Co-operation and Development – OECD) ออกรายงานเศรษฐกิจที่ปรับลดประมาณการณ์การเติบโตเศรษฐกิจโลกปี 2019 และ 2020 ลงรอบใหม่หลังจากที่ได้ปรับลดไปแล้วเมื่อเดือนพฤศจิกายนปีก่อน

เศรษฐกิจโลกปี 2019 จะขยายตัว 3.3% จากประมาณการณ์เดิม 3.5% และชะลอตัวลงจาก 3.6% ในปี 2018 ส่วนปี 2020 จะขยายตัว 3.4% จาก 3.5% โดยความเปราะบางทางเศรษฐกิจมาจากการชะลอตัวอย่างรุนแรงของจีนและเศรษฐกิจยุโรปที่อ่อนแอ ประกอบกับการชะลอตัวของการค้าและการผลิตของโลก ความไม่แน่นอนเชิงนโยบาย และความเสี่ยงจากตลาดเงิน จะมีผลต่อการเติบโตระยะปานกลางของเศรษฐกิจโลก

รายงาน OECD ระบุว่า เศรษฐกิจโลกกำลังเผชิญกับความผันผวนและความท้าทายอย่างหนัก การลดลงอย่างรวดเร็วของเศรษฐกิจของประเทศใหญ่เพียงหนึ่งประเทศจะมีผลต่อการเติบโตของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะเมื่อผลนั้นขยายวงไปสู่ตลาดเงิน

“ความไม่แน่นอนของนโยบาย ความตึงเครียดทางการค้าที่ยังคงมีอยู่ และความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจและผู้บริโภคที่ลดลง เป็นปัจจัยที่มีผลต่อการอ่อนตัวของเศรษฐกิจ ดังนั้น การหารือร่วมกันของหลายประเทศจะลดความเสี่ยงและการดำเนินนโยบายร่วมกันก็จะช่วยให้หลีกเลี่ยงการชะลอตัวได้” นายลอว์เรนซ์ บูเน หัวหน้าเศรษฐกรของ OECD กล่าว

รายงาน Interim Economic Outlook ยังได้ปรับลดประมาณการณ์ทางเศรษฐกิจกลุ่มประเทศ G-20 เกือบทุกประเทศ โดยเฉพาะในยูโรโซน

ในประเทศที่พัฒนาแล้ว ภาวะตลาดแรงงานที่ปรับตัวดีขึ้น เงินเฟ้อทั่วไปที่อ่อนตัวลง รวมทั้งมาตรการทางการคลังที่มีเป้าหมายช่วยเหลือครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำในบางประเทศ ซึ่งรวมฝรั่งเศสและอิตาลี จะเป็นปัจจัยที่ช่วยสนับสนุนการขยายตัวของรายได้จริงรวมทั้งการใช้จ่ายของครัวเรือน ขณะเดียวกัน นโยบายการเงินยังคงสนับสนุนกิจกรรมทางเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม ความไม่แน่นอนเชิงนโยบายและความเชื่อมั่นที่ลดลงจะมีผลต่อการลงทุนและการค้า

สำหรับแนวโน้มการเติบโตในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่โดยรวมจะทรงตัวในปี 2019-2020 โดยเศรษฐกิจจีนจะค่อยๆ ชะลอตัวลง แม้ออกมาตรการใหม่มากระตุ้น รวมทั้งการปรับตัวรับความท้าทายหลังจากได้รับผลกระทบจากตลาดเงินในปีก่อนยังคงต่อเนื่อง ส่วนประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่รายอื่น เช่น อินเดีย อินโดนีเซีย ความเสี่ยงด้านต่ำจากความตึงเครียดในตลาดเงินลดลง ขณะที่การลงทุนยังแข็งแกร่ง รายได้ที่ดีขึ้นและการปฏิรูปในช่วงก่อนหน้าจะสนับสนุนความต้องการในประเทศ

การเติบโตของการค้าโลกชะลอตัวลงอย่างรวดเร็วและผลสำรวจยังพบว่าคำสั่งซื้อใหม่ยังคงลดลงต่อเนื่องในหลายประเทศ ข้อจำกัดทางการค้าที่นำมาใช้ในปีก่อนถ่วงการเติบโตทางเศรษฐกิจ การลงทุน และมาตรฐานการครองชีพ โดยเฉพาะในกลุ่มครัวเรือนรายได้ต่ำ

ที่มาภาพ: http:// www.oecd.org/economy/outlook/economic-outlook/

ทางด้านตลาดแรงงานยังคงเติบโตดี และค่าจ้างเริ่มขยับขึ้นอย่างช้าๆ ซึ่งจะช่วยสนับสนุนรายได้และการใช้จ่ายของครัวเรือน โดยตลาดแรงงานในประเทศ OECD เกือบทั้งหมดดีขึ้น แม้เศรษฐกิจเติบโตไม่มากนัก การว่างงานลดลงต่อเนื่อง ส่วนอัตราเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับต่ำ ในประเทศพัฒนาแล้ว โดยเฉพาะญี่ปุ่นและยุโรป เป็นผลจากราคาน้ำมันดิบที่ลดลง ขณะที่แรงกดดันเงินเฟ้อในจีนและอินเดียอ่อนตัวลง

สำหรับการดำเนินนโยบายการเงินในประเทศพัฒนาแล้วจะเป็นการตัดสินใจจากข้อมูลมากขึ้น หากความไม่แน่นอนลดลง ประเด็นหลักจะอยู่ที่การปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้น ส่วนนโยบายการเงินของธนาคารกลางในประเทศอื่นๆ ยังคงสนับสนุนการขยายตัวและรักษาอัตราดอกเบี้ยระยะยาวให้อยู่ในระดับต่ำต่อเนื่อง นอกจากนี้ สัญญานการชะลอปรับอัตราดอกเบี้ยยังมีผลให้ตลาดเงินฟื้นตัว ทั้งในประเทศพัฒนาแล้วและประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ แต่ก็มีความเสี่ยงที่จะทำให้ความเปราะบางทางการเงินมีมากขึ้น

รายงานยังระบุว่า ความไม่แน่นอนของนโยบายการค้าที่ยังมีอยู่ จะเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญต่อการลงทุน การจ้างงานและมาตรฐานการครองชีพในโลก ความเข้มงวดของกติกาการค้าที่เพิ่มขึ้นจะมีผลต่อผู้บริโภค การเรียกเก็บภาษีสินค้านำเข้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนในปีก่อนได้ทำให้เศรษฐกิจทั้งสองประเทศชะลอตัวลงและทำให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น รวมทั้งมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจประเทศอื่นๆ

แม้ว่าสหรัฐฯ กับจีนจะสามารถบรรลุข้อตกลงทางการค้ากันได้ในเร็วๆ นี้ แต่ความเสี่ยงคงมีอยู่ จากมาตรการที่เข้มงวดที่จะนำมาใช้ในช่วงที่เหลือของปีนี้ รวมถึงกติกาสำหรับภาคธุรกิจที่อ่อนไหวต่อการค้า เช่น รถยนต์และอะไหล่ ซึ่งสหรัฐฯ กับอียูอยู่ระหว่างการเจรจา จะมีผลกระทบสหภาพยุโรป เพราะการส่งออกรถยนต์ของยุโรปมีสัดส่วน 1 ใน 10 ของการส่งออกทั้งหมดไปสหรัฐฯ มาตรการนี้จะมีผลต่อต้นทุนธุรกิจนอกเหนือไปจากต้นทุนทางภาษีที่เพิ่มขึ้นไปก่อนหน้านี้

“การเจรจาแบบพหุภาคีจะช่วยให้หลีกเลี่ยงความเสียหายจากการกีดกันและการจำกัดทางการค้าได้ และเป็นการใช้ประโยชน์จากการเปิดเสรีที่จะมีผลดีต่อทุกประเทศ” และรายงานยังระบุว่า การค้าโลกซึ่งเป็นเส้นเลือดใหญ่ของเศรษฐกิจโลกได้ชะลอตัวลงอย่างเห็นได้ชัดจาก 4% ในปี 2018 และจาก 5.25% ในปี 2017 เพราะการกีดกันทางการค้ามีผลต่อการลงทุนและการค้าทั่วโลก

การปฏิรูปเชิงโครงสร้างเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับทุกประเทศ เพื่อยกระดับมาตรฐานการครองชีพระยะปานกลางและเปิดโอกาสให้กับประชากรทุกคน

รายงาน OECD ระบุว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ จะขยายตัวในอัตรา 2.5% ในปี 2019 และสูงกว่า 2% เล็กน้อยในปี 2020 เพราะผลจากมาตรการทางการคลังลดลง ขณะที่อัตราภาษีที่สูงขึ้นจะมีผลต่อต้นทุนของภาคธุรกิจ อีกทั้งการปิดทำการชั่วคราวของหน่วยงานรัฐจะมีผลต่อการเติบโตในไตรมาส 1 ปีนี้

สำหรับญี่ปุ่น เศรษฐกิจปีนี้และปีหน้าจะเติบโต 0.75% จากผลกำไรภาคธุรกิจและการขาดแคลนแรงงานยังคงกระตุ้นการลงทุน ขณะที่การใช้จ่ายชั่วคราวที่เพิ่มขึ้นและการลดภาษีในปีงบประมาณ 2019 จะรองรับผลกระทบระยะสั้นจากการขึ้นภาษีบริโภคที่จะมีผลเดือนตุลาคมปีนี้

รายงานคาดการณ์เศรษฐกิจจีนว่าจะขยายตัว 6.2% ในปีนี้และเติบโต 6% ในปี 2020 จากมาตรการชุดใหม่ที่จะกลบการค้าที่ชะลอตัว การชะลอตัวอย่างรวดเร็วของเศรษฐกิจจีนจะกระทบการขยายตัวและการค้าของโลก

OECD ยังเตือนว่าความไม่แน่นอนที่ยังมีอยู่ในยุโรป รวมไปถึงการถอนตัวออกจากสหภาพยุโรปของอังกฤษ ซึ่งหากไม่ราบรื่นก็จะมีผลกระทบมหาศาลต่อเศรษฐกิจยุโรป นอกเหนือไปจากผลกระทบจากความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน และความอ่อนแอของประเทศสมาชิก เช่น อิตาลี ส่งผลให้เศรษฐกิจยุโรปจะขยายตัว 1.0% ปีนี้และ 1.2% ในปีหน้า

ยูโรโซนยังต้องมีนโยบายเชิงโครงสร้างและเศรษฐกิจโดยรวม เพื่อเสริมแรงจูงใจให้มีการลงทุนและแก้ปัญหาความต้องการระยะสั้นที่อ่อนตัวลงและการเติบโตระยะปานกลางที่ชะลอตัว

สำหรับอังกฤษ รายงาน OECD ประเมินว่า เศรษฐกิจเติบโตไม่มากอัตราต่ำกว่า 1% ทั้งปี 2019 และ 2020 แม้ตลาดแรงงานที่แข็งแกร่งยังคงสนับสนุนการใช้จ่ายของครัวเรือน แต่ความไม่แน่นอนของการถอนตัวออกจากสหภาพยุโรปและเศรษฐกิจที่ชะลอตัวในอียู กดดันความเชื่อมั่นภาคธุรกิจ แนวโน้มการลงทุน และการส่งออก