ปัณฑพ ตั้งศรีวงศ์ รายงาน
วันที่ 6 มีนาคม 2568 Eleven Media Group รายงานคำให้สัมภาษณ์ของ พล.ต. ส่อมินทูน โฆษกสภาบริหารแห่งรัฐ (SAC) เมียนมา ระบุว่า โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาดกำลังการผลิต 110 เมกะวัตต์ ที่เป็นความร่วมมือระหว่างเมียนมาและรัสเซีย จะถูกสร้างขึ้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย ในภาคตะนาวศรี
พล.ต. ส่อมินทูนให้สัมภาษณเรื่องนี้หลังเสร็จสิ้นการประชุมด้านเศรษฐกิจ “เมียนมา-รัสเซีย” ที่กรุงมอสโก เมืองหลวงของรัสเซีย เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2568
พล.ต. ส่อมินทูนกล่าวว่า โรงไฟฟ้านิวเคลียร์แห่งนี้จะใช้เทคโนโลยีของรัสเซีย และเป็นส่วนหนึ่งของข้อตกลงร่วมที่เมียนมาจะให้รัสเซียเข้ามาพัฒนาเมกะโปรเจกต์ “ทวาย” โดยการสร้างท่าเรือน้ำลึกและเขตเศรษฐกิจพิเศษขึ้นบนพื้นที่ 196 ตารางกิโลเมตร ริมฝั่งทะเลอันดามัน ที่บ้านนะบูแล ห่างจากตัวเมืองทวายขึ้นไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ 17 ไมล์ หรือประมาณ 27 กิโลเมตร (ดูแผนที่ประกอบ)

โครงการทวายเป็นเมกะโปรเจกต์ของเมียนมาที่อยู่ใกล้ชิดกับประเทศไทยมาก ตามข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์เมียนมา ท่าเรือน้ำลึกและเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายอยู่ห่างจากชายแดนไทยที่บ้านพุน้ำร้อน ตำบลบ้านเก่า อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี 132 กิโลเมตร ห่างจากกรุงเทพฯ 300 กิโลเมตร ห่างจากโครงการอีสเทิร์นซีบอร์ด 450 กิโลเมตร และห่างจากเมืองหวุงเต่า เมืองชายทะเลฝั่งตะวันออกของเวียดนาม 1,050 กิโลเมตร
ตามข่าวระบุว่า สถานที่ก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในเมียนมา เป็นข้อสรุปที่ได้ระหว่างการเดินทางเยือนรัสเซียอย่างเป็นทางการของ พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย ประธาน SAC ตามคำเชิญของประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ระหว่างวันที่ 3-7 มีนาคมที่ผ่านมา
พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย ได้เข้าพบและประชุมร่วมกับประธานาธิบดีปูติน ที่พระราชวังเครมลิน ในวันที่ 4 มีนาคม ซึ่งได้มีการลงนามความร่วมมือกับ Rosatom หน่วยงานด้านพลังงานปรมาณูของรัฐบาลรัสเซีย เพื่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาด 110 เมกะวัตต์ขึ้นในเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย
ตามข่าวที่ถูกเผยแพร่โดยสำนักข่าวรอยเตอร์ส โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ทวายแห่งนี้ สามารถเพิ่มกำลังการผลิตขึ้นไปได้อีกเป็น 3 เท่าในอนาคต

พล.ต. ส่อมินทูนกล่าวว่า การสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ถือเป็นจุดสำคัญแห่งแรกของรัสเซียในการลงทุนพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษและท่าเรือน้ำลึกทวาย ซึ่งรัสเซียให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก เพราะตั้งอยู่ตรงจุดยุทธศาสตร์สำคัญในภาคใต้ของเมียนมา ใกล้กับช่องแคบมะละกา และอยู่บนเส้นทางการค้าที่สามารถเชื่อมมหาสมุทรอินเดียทางฝั่งตะวันตก กับทะเลจีนใต้ในฝั่งตะวันออก…
การเดินทางไปเยือนรัสเซียของ พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย เมื่อวันที่ 3-7 มีนาคมที่ผ่านมา มีข้อสังเกตว่า กำหนดการได้ถูกจัดขึ้นอย่างเร่งรีบ และกระชั้นชิด
วันเสาร์ที่ 22 กุมภาพันธ์ แม็กซิม เรเชตนิคอฟ รัฐมนตรีกระทรวงพัฒนาเศรษฐกิจ รัสเซีย ได้เดินทางไปยังกรุงเนปยีดอ และร่วมประชุมกับ พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย กับผู้บริหารหน่วยงานที่สำคัญของเมียนมา เช่น พล.อ. แยวินอู เลขาธิการร่วม SAC รัฐมนตรีกระทรวงต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจ รวมทั้งผู้ว่าการธนาคารกลางเมียนมา (CBM)

รุ่งขึ้น วันอาทิตย์ที่ 23 กุมภาพันธ์ มีการประชุมร่วมระหว่างผู้บริหารหน่วยงานรัฐของรัฐบาลเมียนมาและรัสเซีย ว่าด้วยเรื่องเศรษฐกิจและการค้า ครั้งที่ 5 ซึ่งจัดขึ้นที่ Myanmar International Convention Center 2 ในกรุงเนปยีดอ
ในการประชุมนี้ แม็กซิม เรเชตนิคอฟ รัฐมนตรีกระทรวงพัฒนาเศรษฐกิจ รัสเซีย ได้ลงนามบันทึกความร่วมมือเพื่อการลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย ร่วมกับ อู คันส่อ รัฐมนตรีกระทรวงการลงทุนและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เมียนมา
นอกจากนี้ ตัวแทนรัฐบาลเมียนมาและรัสเซียได้ยังเซ็นข้อตกลงร่วมกันอีก 9 ฉบับ ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจ เช่น ด้านการธนาคาร การศึกษา การสื่อสาร เทคโนโลยี และความร่วมมือด้านบุคลากร
ถัดมา 1 สัปดาห์ วันเสาร์ที่ 1 มีนาคม ฝ่ายสารสนเทศ SAC ได้ส่งเอกสารแถลงข่าวไปยังสื่อมวลชนเมียนมาว่า ประธานาธิบดีปูตินได้ส่งคำเชิญอย่างเป็นทางถึง พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย ให้ไปเยือนรัสเซีย โดยคาดว่ากำหนดการเดินทางจะจัดขึ้น “ในเร็วๆ นี้”
แต่ 2 วันจากนั้น เช้าวันจันทร์ที่ 3 มีนาคม เวลา 07.30 น. ตามเวลาเมียนมา พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย ก็ขึ้นเครื่องบินเที่ยวบินพิเศษจากสนามบินทหารในกรุงเนปยีดอไปยังรัสเซียโดยทันที
ตามภาพข่าวที่นำเสนอในสื่อของเมียนมา ที่สนามบินทหารกรุงเนปยีดอในตอนเช้าของวันที่ 3 มีนาคม มีกรรมการ SAC บุคคลในคณะรัฐบาลเมียนมา และตัวแทนจากสถานทูตรัสเซียประจำเมียนมา ไปส่ง พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่ายขึ้นเครื่องบินไม่ถึง 20 คน!
เมียนมาและรัสเซียมีความร่วมมือด้านพลังงานนิวเคลียร์มานานแล้ว อย่างน้อยก็ตั้งแต่ปี 2550
สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์กรมหาชน) ของไทย เคยมีรายงานโดยอ้างข้อมูลจากแถลงการณ์ของ Rosatom ว่า เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2550 รัสเซียและเมียนมาได้ลงนามข้อตกลงที่จะสร้างเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์วิจัยแบบน้ำมวลเบา (light-water nuclear reactor) ขนาด 10 เมกะวัตต์ ซึ่งจะใช้เชื้อเพลิงยูเรเนียม-235 เสริมสมรรถนะ 20% โดยมี Atomstroyexport บริษัทก่อสร้างด้านนิวเคลียร์ของรัฐบาลรัสเซียเป็นผู้สร้าง และ Rosatom จะฝึกอบรมด้านวิทยาศาสตร์นิวเคลียร์แก่บุคลากรของเมียนมา 300 คน เพื่อให้สามารถใช้งานเครื่องปฏิกรณ์นี้ได้
ปี 2558 สมัยประธานาธิบดีเต็งเส่ง ก็มีรายงานการลงนามข้อตกลงความร่วมมือด้านพลังงานนิวเคลียร์ระหว่างเมียนมาและรัสเซีย เพื่อแก้ไขปัญหาขาดแคลนพลังงานไฟฟ้าในประเทศ แต่ในตอนนั้น ไม่มีการเผยแพร่รายละเอียดของข้อตกลงนี้ออกสู่สาธารณะ
มาถึงยุคของ พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย การสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ก็เป็นเช่นเดียวกับเมกะโปรเจกต์ “ทวาย” เพราะ พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย มีความประสงค์โดยส่วนตัวที่ต้องการสร้างขึ้นในเมียนมาให้ได้ เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนพลังงานไฟฟ้าในประเทศ ซึ่งเป็นปัญหาที่เรื้อรังมาหลายปี

1 ปีหลังการรัฐประหาร พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย เดินทางไปรัสเซียครั้งแรก เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2565 เป็นการไปแบบส่วนตัว พร้อมกับ ดร.มิวเตงจ่อ รัฐมนตรีกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อเข้าชมงาน Atom Expo
พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่ายได้ไปเยี่ยมสำนักงานใหญ่ของ Rosatom และได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MOU) กับอะเล็กซี ลิคาชอฟ ผู้อำนวยการใหญ่ Rosatom ในความร่วมมือระหว่างเมียนมาและรัสเซียเพื่อพัฒนาพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ
วันที่ 18 พฤศจิกายน 2565 ดร.มิวเตงจ่อ รัฐมนตรีกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เมียนมา ซึ่งอยู่ระหว่างการเยือนกรุงเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก ของรัสเซีย ได้ลงนามข้อตกลงในความร่วมมือกับตัวแทนของ Rosatom ที่จะตั้งศูนย์ข้อมูลเทคโนโลยีนิวเคลียร์ (Nuclear Technology Information Center) ขึ้นในกรุงย่างกุ้ง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษา สร้างแบบจำลองการใช้พลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติในรูปแบบต่างๆ เพื่อสร้างความเข้าใจและความเชื่อมั่นให้เกิดขึ้นกับผู้คนและสังคมของเมียนมา

วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2566 พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย ได้เป็นสักขีพยานในพิธีเซ็น MOU อย่างเป็นทางการ ระหว่าง อู มิวเตงจ่อ รัฐมนตรีกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กับอะเล็กซี ลิคาชอฟ ผู้อำนวยการใหญ่ Rosatom เพื่อร่วมกันจัดตั้งศูนย์ข้อมูลเทคโนโลยีพลังงานนิวเคลียร์ขึ้นในกรุงย่างกุ้ง
เอกสาร MOU ได้ถูกจัดพิมพ์เป็น 3 ภาษา ได้แก่ ภาษาพม่า ภาษารัสเซีย และภาษาอังกฤษ ระบุว่า รัฐบาลทหารเมียนมาได้แสดงความตั้งใจอย่างเต็มที่ เพื่อจะร่วมมือกับ Rosatom ในการนำพลังงานนิวเคลียร์มาใช้อย่างสันติในหลายด้าน เช่น การวิจัยทางวิทยาศาสตร์ การผลิตยารักษาโรค อาหาร รวมถึงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานนิวเคลียร์
วันที่ 7 กรกฎาคม 2567 The Irrawaddy มีรายงานโดยอ้างข้อมูลจากนิตยสาร Nuclear Engineering International ของอังกฤษ ที่เปิดเผยว่า รัฐบาลรัสเซียได้อนุมัติการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาดเล็กในเมียนมา
เนื้อข่าวระบุว่า Rosatom จะสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แบบน้ำอัดความดัน (pressurized water reactor หรือ PWR) กำลังผลิตขั้นต่ำ 110 เมกะวัตต์ขึ้นในเมียนมา ซึ่งเป็นไปตาม MOU ที่ พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่ายได้ไปเซ็นไว้กับอะเล็กซี ลิคาชอฟ ผู้อำนวยการใหญ่ Rosatom ตั้งแต่วันที่ 11 กรกฎาคม 2565
The Irrawaddy ระบุว่า เจ้าหน้าที่ของ Rosatom ได้เดินทางเข้าไปในเมียนมา เพื่อสำรวจหาสถานที่ตั้งโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ตั้งแต่ปี 2565 แล้ว
……
หากเปรียบเทียบไทม์ไลน์ของการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในเมียนมา กับการฟื้นเมกะโปรเจกต์ “ทวาย”แล้ว จะเห็นว่าการตัดสินใจสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขึ้นในเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายไม่ใช่เรื่องที่เพิ่งมีการตัดสินใจหลังจาก พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่ายได้พบกับประธานาธิบดีปูติน เมื่อวันที่ 4 มีนาคมที่ผ่านมา ตามที่เป็นข่าว
แต่เป็นเรื่องที่ได้มีการสำรวจและวางแผนไว้ล่วงหน้าแล้ว อย่างน้อย 3 ปี!
(ดูไทม์ไลน์การฟื้นเมกะโปรเจกต์ “ทวาย” ได้จากบทความเรื่อง “บทบาท-ศักยภาพของ ‘รัสเซีย’ ที่กำลังเพิ่มสูงขึ้นในทะเลอันดามัน”https://thaipublica.org/2025/02/pundop153-dawei-russia-andaman-sea/)
ตัวอย่างไทม์ไลน์ที่มีนัยสำคัญของเมกะโปรเจกต์ “ทวาย” เทียบกับไทม์ไลน์โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในเมียนมา…
– 9 พฤศจิกายน 2564 พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย พูดในที่ประชุม SAC ครั้งที่ 17/2021 ว่าจะเดินหน้าเมกะโปรเจกต์ “ทวาย”
– 11 กรกฏาคม 2565 พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย ไปรัสเซียเพื่อดูงาน Atom Expo และได้เซ็น MOU กับอะเล็กซี ลิคาชอฟ ผู้อำนวยการใหญ่ Rosatom ในความร่วมมือพัฒนาพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติในเมียนมา หลังจากนั้น เจ้าหน้าที่ Rosatom ก็เริ่มเดินทางเข้ามาสำรวจหาพื้นที่ก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในเมียนมา
– 7 กันยายน 2565 พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย พบกับประธานาธิบดีปูตินครั้งแรกหลังการรัฐประหาร ในการประชุม Far East Economic Forum ครั้งที่ 7 ที่รัสเซีย
– 4 พฤศจิกายน 2565 พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย เดินทางไปดูพื้นที่ก่อสร้างโครงการทวายที่ชายหาดนะบูแล
– 18 พฤศจิกายน 2565 ดร.มิวเตงจ่อ รัฐมนตรีกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เมียนมา ไปเซ็นข้อตกลงกับตัวแทน Rosatom ที่รัสเซีย เพื่อตั้งศูนย์ข้อมูลเทคโนโลยีพลังงานนิวเคลียร์ขึ้นในกรุงย่างกุ้ง
– 6 กุมภาพันธ์ 2566 รัฐบาลเมียนมาจัดพิธีเซ็น MOU อย่างเป็นทางการ ระหว่าง อู มิวเตงจ่อ รัฐมนตรีกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กับอะเล็กซี ลิคาชอฟ ผู้อำนวยการใหญ่ Rosatom เพื่อตั้งศูนย์ข้อมูลเทคโนโลยีพลังงานนิวเคลียร์ขึ้นในกรุงย่างกุ้ง โดยมี พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่ายเป็นสักขีพยาน
– 7-9 พฤศจิกายน 2566 กองทัพเรือเมียนมาและรัสเซียจัดซ้อมรบทางทะเล (Maritime Security Sea Exercise) โดยใช้กระสุนจริงร่วมกันเป็นครั้งแรกในทะเลอันดามัน พื้นที่ซ้อมรบครอบคลุมน่านน้ำฝั่งตรงข้ามเมืองมะริดและเมืองทวาย
– เดือนมีนาคม 2567 พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่ายให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว ITAR-TASS ของรัสเซียว่า รัฐบาลทหารเมียนมาอยากได้ความช่วยเหลือจากรัสเซีย เพื่อเริ่มต้นโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษและท่าเรือน้ำลึกทวาย
– 16 พฤษภาคม 2567 Construction World นิตยสารด้านธุรกิจและการก่อสร้างของอินเดีย รายงานว่า รัฐบาลทหารเมียนมากำลังเจรจาให้รัสเซียเป็นผู้ลงทุนและบริหารโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษและท่าเรือน้ำลึกทวาย
– 7 กรกฎาคม 2567 นิตยสาร Nuclear Engineering International ของอังกฤษ รายงานว่า รัฐบาลรัสเซียได้อนุมัติการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาดเล็กในเมียนมา แต่ยังไม่ระบุสถานที่ว่าจะสร้างที่ใด
– 20-24 ตุลาคม 2567 กองทัพเรือเมียนมาและรัสเซียจัดซ้อมรบร่วมทางทะเลโดยใช้กระสุนจริงในทะเลอันดามันเป็นครั้งที่ 2
– 21 มกราคม 2568 Iskander Kubarovich Azizov เอกอัครราชทูตรัสเซีย ประจำเมียนมา ไปประชุมร่วมกับ อู เมียตโก่ มุขมนตรีภาคตะนาวศรี เรื่องการลงทุนท่าเรือน้ำลึกและเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย
– 22 กุมภาพันธ์ 2568 แม็กซิม เรเชตนิคอฟ รัฐมนตรีกระทรวงพัฒนาเศรษฐกิจ รัสเซีย ลงนามบันทึกความร่วมมือในโครงการท่าเรือน้ำลึกและเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย กับ อู คันส่อ รัฐมนตรีกระทรวงการลงทุนและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เมียนมา ที่กรุงเนปยีดอ
– 3 มีนาคม 2568 พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่ายเดินทางไปรัสเซีย
– 4 มีนาคม 2568 พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่ายประชุมร่วมกับประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน และมีการเปิดเผยภายหลังว่า โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาด 110 เมกะวัตต์จะถูกสร้างขึ้นในเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย
ดูจากไทม์ไลน์ การฟื้นเมกะโปรเจกต์ “ทวาย” และการเกิดขึ้นของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในเมียนมา ได้เดินหน้าคู่ขนานกันมานาน อย่างน้อย 3 ปี
เมียนมากำลังจะมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ที่ตั้งอยู่ห่างจากกรุงเทพ 300 กิโลเมตร…