
ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th/
เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2568 นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี ณ ห้องประชุม 501 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล ภายหลังการประชุมนายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายนายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุม ครม. และข้อสั่งการนายกรัฐมนตรี
จ่ายเยียวยาเรือประมง 923 ลำ 1,622 ล้าน
นางสาวแพทองธาร กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติอนุมัติตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอโครงการนำเรือประมงออกนอกระบบเพื่อการจัดการทรัพยากรประมงทะเลที่ยั่งยืน โดยอนุมัติงบกลางปี 2568 วงเงิน 1,622.60 ล้านบาท เพื่อดำเนินโครงการในการชดเชยเรือประมง จำนวน 923 ลำ ซึ่งเป็นการจ่ายเงินเยียวยาให้แก่เรือประมงที่ประสงค์จะเลิกอาชีพทำการประมงและเรือประมงพาณิชย์ที่เหลืออยู่
อนุมัติ 200 ล้าน ทำฝนหลวง 4 จังหวัด
นางสาวแพทองธาร กล่าวต่อว่า ที่ประชุม ครม. มีมติอนุมัติตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอการรับสนับสนุนงบประมาณงบกลาง โครงการจัดหาชุดเครื่องผลิตสารฝนหลวงสูตร 3 น้ำแข็งแห้ง ประจำปีงบประมาณ 2568 วงเงิน 200 ล้านบาท โดยติดตั้งในพื้นที่ของศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวง 4 แห่ง ประกอบด้วย จังหวัดตาก พิษณุโลก บุรีรัมย์ และขอนแก่น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติการฝนหลวงในการป้องกันแก้ไขปัญหาภัยแล้งและการดัดแปลงสภาพอากาศให้บรรเทาปัญหาเรื่องฝุ่นละอองขนาดเล็ก
เผยต่อสัญญา ‘MotoGP’ หรือไม่ ดูผลประโยชน์ชาติเป็นหลัก
ผู้สื่อข่าวถามถึง (ค.ศ. 2026) หลังจากที่นายเนวิน ชิดชอบ ครูใหญ่ของพรรคภูมิใจไทย ให้สัมภาษณ์ว่าการจัด MotoGP สนามประเทศไทยในปีนี้ อาจเป็นปีสุดท้าย เนื่องจากสัญญาการจัดการแข่งขัน MotoGP ที่กำลังจะสิ้นสุดในปี 2569 และรัฐบาลอาจไม่ต่อสัญญา ผู้สื่อข่าวจึงนำประเด็นนี้มาถามนายกรัฐมนตรี
โดย นางสาวแพทองธาร ตอบว่า “เดี๋ยวจะให้กระทรวงท่องเที่ยวฯ ศึกษาในรายละเอียดเพิ่มเติม ยังมีโอกาสนะคะ เดี๋ยวคุยกันอีกทีว่าอย่างไร”
เมื่อถามถึงเหตุผลที่ไม่ต่อสัญญา นางสาวแพทองธาร นิ่งคิด ทวนคำถาม และตอบว่า “เดี๋ยวขอดูเรื่องตัวเลขด้วย เดี๋ยวให้กระทรวงท่องเที่ยวฯ มานำเสนออีกทีว่าเรื่องตัวเลขข้างในเป็นอย่างไรบ้าง ได้ผลอะไรกับประเทศบ้าง ถ้าจริงๆ แล้วทุกโครงการเป็นประโยชน์ต่อประเทศ ต่อประชาชน โดยเฉพาะหมู่มาก ก็คงต้องทำต่อแน่นอน แต่ถ้าไม่มีประโยชน์ เช่น ขาดทุน ก็เอามาดูกันก่อนว่าเป็นอย่างไรบ้างจะได้สนับสนุนงบฯถูก”
ถามต่อว่า เรื่องดังกล่าวถูกโยงกับประเด็นทางการเมือง โดยเฉพาะนายเนวิน ชิดชอบ นางสาวแพทองธาร ตอบว่า “แต่ถ้าเงินเข้าจังหวัด เข้าประเทศ ถึงใครจะเป็นเจ้าของ มันก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง มันเป็นธุรกิจของเขา เข้าใจว่าบางทีเอกชนกับภาครัฐ บางทีมันต้องไปด้วยกันแบบนี้แหละ เดี๋ยวขอดูรายละเอียดและความสมเหตุสมผล จะมองว่าเป็นการเมืองก็ได้ค่ะ แต่ดิฉันมองเรื่องธุรกิจ-เงินว่าเข้าประเทศแค่ไหน ขอตัดสินแบบนั้น” นางสาวแพทองธาร กล่าว
ไม่ทิ้งเกษตรกร – ชี้ สส.เพื่อไทยเปิดเรดาร์ – ไล่บี้ปมราคาตก
เมื่อถามถึงข้อเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ นางสาวแพทองธาร ตอบว่า “เรื่องราคาเกษตร เราดูกันอย่างจริงจังเรื่องนี้ ล่าสุดหอมแดงก็ราคาขึ้นแล้ว และมีพืชผลหลายตัวที่ราคาขึ้นตอนนี้ ส่วนตัวที่ยังราคาตกอยู่ ก็กำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปเจาะลึกรายละเอียด”
“ไม่ต้องเป็นห่วง เรื่องนี้เปิดเป็นเรดาร์เลยค่ะ เพราะ สส. หรือ อะไรในพรรค ก็คอยย้ำเตือนเรื่องนี้ตลอด เรื่องราคาพืชผลไม่ทิ้งไปไหนแน่นอน ก็จะพยายามเร่งดูในเรื่องนี้ให้ดีขึ้น” นางสาวแพทองธาร ตอบ
แจง ‘ทักษิณ’ เข้าบ้านพิษฯ ถกแผนรับมือ – ดีล ‘ทรัมป์’
ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีที่นายทักษิณ ชินวัตร ประชุมกับทีมที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี ที่บ้านพิษณุโลก เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2568 โดย นางสาวแพทองธาร ตอบว่า “ทีมที่ปรึกษาก็เล่าให้ฟัง ถามแนวทางว่ามีเรื่องอเมริกา มีคุยว่าในการดีลอย่างนั้นอย่างนี้จะมองภาพอย่างไร คือ ในกลุ่มที่ปรึกษาบ้านพิษณุโลกจะเป็นผู้ที่มีประสบการณ์ความสามารถ – ผู้รู้ และบางทีเราก็เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาให้ข้อมูลและสิ่งที่จำเป็นการในประกอบข้อมูล”
“วันนั้นที่คุณพ่อมาก็ได้ถามแน่ๆ ว่ามองภาพอย่างไรพอทรัมป์ขึ้นมา และมองเศรษฐกิจของโลกเป็นอย่างไร แต่วันนั้นไม่ได้เจอกัน คุณพ่อออกไปแล้ว แต่ท่านที่ปรึกษาก็เล่าให้ฟัง แต่ยังไม่ได้คุยกับคุณพ่อเรื่องนี้” นางสาวแพทองธาร ตอบ
นายกฯ ‘เจนวาย’ พร้อมสู้ศึกอภิปราย
เมื่อถามถึงการเตรียมความพร้อมรับศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกฯ โดยก่อนหน้านี้นายกฯ ระบุว่า มีองครักษ์ และมอบหมายตำแหน่งนี้ให้ใคร นางสาวแพทองธาร ตอบว่า “ยังไม่มีดีเทล แต่ทุกคนให้ข้อมูลมามากพอสมควรแล้วว่าจะเป็นอย่างไรบ้าง จริงๆ เราไม่เคยโดนอภิปรายมาก่อนเหมือนกัน เอาแน่ ๆ ต้องชี้แจงข้อเท็จจริง และเน้นย้ำเรื่องกฎหมายด้วย”
ถามต่อว่า ในเวทีอภิปรายจะเป็น KPI ของแต่ละกระทรวงด้วยหรือไม่ นางสาวแพทองธาร หัวเราะ และตอบว่า “KPI แต่ละกระทรวง แต่อภิปรายนายกฯ คนเดียว”
“ไม่หรอกค่ะ เดี๋ยวลองดูกัน เพราะตอนที่ไปคุยกันทั้งหมด ทุกกระทรวงพร้อมชี้แจงอยู่แล้ว คิดว่าถ้าจะเห็น KPI ก็เห็นตั้งแต่ตอนทำงานแล้วว่านโยบายแต่ละกระทรวงออกไหม” นางสาวแพทองธาร ตอบ
ผู้สื่อข่าวถามอีกว่า นายกฯ ได้เตรียมข้อมูลอะไรเป็นพิเศษบ้าง นางสาวแพทองธาร ตอบว่า “มันก็อาจจะบอกไม่ได้ตอนนี้นะ แต่ข้อมูล ข้อเท็จจริง ตัวเลขต่างๆ ก็เตรียมข้อมูลที่จับต้องได้ก่อน”
เมื่อถามว่า เวทีนี้จะเป็นเวทีที่ได้โชว์ศักยภาพความเป็นผู้นำ หรือไม่ เนื่องจากเป็นประเด็นที่ฝ่ายค้านจะอภิปราย นางสาวแพทองธาร ตอบว่า “ในเรื่องที่ฝ่ายค้านตั้งหัวข้อเรื่องภาวะผู้นำ ก็ต้องชี้แจงแหละค่ะ จริงๆ ภาวะผู้นำก็อาจให้ประชาชนตัดสิน เราก็ไม่อยากไปชี้นิ้วว่าใครเป็นผู้นำ หรือ ไม่ใช่ผู้นำในแบบของเรา จะว่าใครเราก็ต้องเป็นผู้นำให้ได้ก่อน แล้วค่อยพูดถึงคนอื่นได้”
“ดิฉันเองก็ทำเต็มที่ เตรียมข้อมูลที่จริงไปเล่าให้ประชาชนฟัง อันนั้นน่าจะเป็นสิ่งที่ถูกต้องกว่า ส่วนโพลสำนักไหน ๆ มารับฟังหมด ถือว่าอย่างน้อยได้เก็บความคิดเห็นของประชาชนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งมาแล้ว ซึ่งน่ารับฟังทั้งนั้น และพร้อมที่จะปรับตัว…คิดว่าทุกกระทรวงควรจะรับความคิดเห็นของประชาชนไปปรับปรุงเพิ่มเติมด้วย” นางสาวแพทองธาร กล่าว
นางสาวแพทองธาร ยังตอบย้ำว่าจะใช้เวทีนี้เป็นโอกาสในการชี้แจงให้ประชาชนว่า “เป็นเวทีที่ดีที่จะได้ให้ประชาชนเข้าใจในข้อมูลที่แท้จริง และเข้าใจความเป็นดิฉันด้วยซึ่งเป็นนายกฯ เจนวาย ก็อยากให้ทุกคนเข้าใจว่าบางทีเราอาจจะยังไม่มีนายกฯ เจนวาย ก็จะได้เข้าใจซึ่งกันและกัน”
เร่งปิดดีล ‘เมกะโปรเจ็กต์ – ลดราคาพลังงาน’ดันจีดีพีปีนี้ 3.5%
ก่อนเดินทางไปประชุม ‘ITB Berlin 2025’ ณ กรุงเบอร์ลิน สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี นางสาวแพทองธาร โพสต์ข้อความผ่าน Facebook ว่า ในการประชุม ครม. สัปดาห์ที่แล้ว ดิฉันได้ให้ท่านรองนายกฯ พิชัย ชุณหวชิร ทำแผนงานกระตุ้นเศรษฐกิจให้ GDP โต 3-3.5% โดยในวันนี้หลังประชุม ครม. ท่านพิชัยได้รายงานความคืบหน้าจากการหารือกับ ก.คลัง สภาพัฒน์ ธปท. สำนักงบประมาณ และ กพร. โดยแบ่งแผนงานดังนี้ค่ะ
แผนการดำเนินงานระยะสั้น-กลาง
-
1. เร่งการเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ กองทุนต่างๆ ซึ่งมีเงินค้างอยู่กว่า 1 แสนล้านบาท
2. เพิ่มประสิทธิภาพการใช้งบประมาณ และผันเม็ดเงินไปสนับสนุนการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจ
3. เร่งการลงทุนของภาคเอกชน โดยเฉพาะการลงทุนผ่าน BOI ซึ่งในปี 2567 มีการยื่นขอสนับสนุนราว 1.14 ล้านล้านบาท โดยเราจะช่วยดูแลอำนวยความสะดวกเรื่อง Ease of Doing Business โดยเฉพาะเรื่องใบอนุญาตต่างๆ
4. เร่งปิดดีลการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ เช่น ระบบน้ำ เพื่อสอดรับกับความต้องการ ทั้งด้านเกษตร อุตสาหกรรม และการอุปโภคบริโภค รวมถึงโครงการ Land Bridge รถไฟเชื่อมต่อกับจีน ขยายสนามบินและท่าเรือ เพื่อให้ไทยเป็นศูนย์กลางด้านการขนส่ง ตามนโยบาย Ignite Thailand
5. กระตุ้นการส่งออก เช่น การเปิดตลาดใหม่ เร่งเจรจากับประเทศคู่ค้า ลดคอขวดด้านพิธีการส่งออก โดยดิฉันขอให้ดูแลเรื่องราคาสินค้าเกษตรควบคู่ไปด้วย
6. ด้านการท่องเที่ยว เน้นการจัดงาน/เทศกาล เพิ่มการใช้จ่ายต่อหัวและทำให้ระยะเวลาในการท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยว อยู่ในประเทศนานขึ้น
สำหรับแผนระยะกลาง-ยาว เน้นการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน
-
1. เริ่มปฏิรูปโครงสร้างอุตสาหกรรมแบบ Sandbox โดยยึดความต้องการของตลาดโลกที่เปลี่ยนไป และการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้อุตสาหกรรมเดิม
2. ปรับโครงสร้างด้านราคาพลังงาน และการเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียน เช่น นโยบาย Direct PPA และ UGT เพื่อตอบโจทย์มาตรฐานการค้าการลงทุนปัจจุบัน
ลงพื้นที่อรัญประเทศ ขอบคุณทุกหน่วยช่วยแก้ปัญหาคอลเซ็นเตอร์
ด้านนายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รายงานว่า จากที่นายกฯ ลงพื้นที่ตรวจราชการอำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว ซึ่งอยู่ตรงข้ามกับปอยเปต ประเทศกัมพูชา และได้ติดตามข้อสั่งการ เพื่อแก้ไขปัญหาอาชญากรรมแก๊งคอลเซ็นเตอร์ พบว่าทุกภาคส่วนได้ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี ทั้ง สตช. กระทรวง DE กระทรวงกลาโหม หน่วยงานความมั่นคง กสทช. และภาคเอกชน ในการตัดสัญญาณ อินเตอร์เน็ตและโทรศัพท์ และตัดสายเชื่อมสัญญาณ ตลอดจนลดความสูงและความแรงของเสาสัญญาณ ซึ่งถือว่าได้ผลเป็นอย่างมาก
“กรณีลงไปพื้นที่ดังกล่าว ขอขอบคุณส่วนราชการทุกส่วน โดยเฉพาะภาคเอกชนเข้ามาพูดคุยเรื่องการลดสัญญาณกำลังส่ง ผมไปเห็นสัญญาณมือถือจาก 5 ขีดเต็มจอ บางช่วงลดลงเหลือ 1-2 ขีด บางช่วงลงเหลือ 3G 4G บ้าง ปกติเป็น 5G นายกฯ สั่งการให้กระทรวงดีอีไปพูดคุยว่า ทางเทคนิคอะไรที่เหมาะสม” นายจิรายุ กล่าว
นายจิรายุ กล่าวต่อว่า นายกฯ ขอให้พึงระวังถึงผลกระทบต่อพี่น้องประชนในพื้นที่เรื่องการเข้าถึงสัญญาณโทรศัพท์และอินเตอร์เน็ต แม้ปัญหาดังกล่าวจะดีขึ้น แต่ทุกภาคส่วนต้องทำงานอย่างต่อเนื่องและหากติดขัดปัญหาด้านใด ก็ขอให้เร่งประสานมาที่รัฐบาล จะได้เร่งแก้ไขปัญหาได้อย่างเร่งด่วนต่อไป
สั่งศึกษาสร้างกำแพงไทย-กัมพูชา สกัดข้ามแดนผิด กม.
นายจิรายุ กล่าวต่อว่า นายกฯ ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งศึกษาถึงแนวทางการสร้างกำแพงระหว่างชายแดนไทย-กัมพูชา เพื่อป้องกันการข้ามแดนโดยผิดกฎหมายและการเดินทางของแก๊งคอลเซนเตอร์ โดยขอให้ กระทรวงการต่างประเทศ และกระทรวงกลาโหมประสานงานกับหน่ายงานที่เกี่ยวข้องของประเทศกัมพูชาเพื่อหาข้อสรุป ร่วมกันต่อไป
กำชับกรมศุลฯ X-ray ตู้คอนเทนเนอร์ – ตรวจใบขนสินค้า
นอกจากนี้ นายจิรายุ กล่าวต่อว่า นายกฯ ขอให้กรมศุลกากร กระทรวงการคลัง ศึกษาถึงความจำเป็นในการจัดซื้อจัดจ้าง อุโมงค์ X-ray เพื่อใช้ในด่านศุลกากรบริเวณชายแดนไทย-กัมพูชา ในการตรวจสอบสิ่งของต้องสงสัย เพื่อให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
“นายกฯ ย้ำว่า ขอให้ตรวจอย่างเข้มข้น ถ้ามาเป็นตู้คอนเทนเนอร์ก็ต้องตรวจ เพราะใบสำแดงก็แจ้งมาอยู่แล้วว่าเป็นสินค้าอะไรแบบไหน อย่างไร ถ้าสินค้าใดเป็นที่ต้องสงสัยก็ต้องเปิดตู้ดู แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องให้กระทรวงการคลังและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปเตรียมการศึกษา” นายจิรายุ กล่าว
สั่งศึกษา CCTV พร้อม AI ตรวจเข้าเมืองผ่านช่องทางธรรมชาติ
นายจิรายุ กล่าวต่อว่า นายกฯ ขอให้ กระทรวงมหาดไทย และหน่วยงานความมั่นคง และส่วนราชการที่เกี่ยวข้องศึกษาถึงความจำเป็นในการติดตั้งกล้อง CCTV โดยเฉพาะเทคโนโลยี AI เพิ่มบริเวณแนวชายแดนไทย-กัมพูชา เพื่อติดตามและดูสถานการณ์ได้อย่างครอบคลุม และทั่วถึงมากยิ่งขึ้นต่อไป
“กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดนเคยศึกษาว่า พรมแดนต่างๆ ที่เป็นช่องทางธรรมชาติ 51 อำเภอมันมีช่องทางย่อยออกไปอีกเป็นร้อยจุด เป็นทางเดินป่าข้ามไปยังฝั่งตะวันตก ตะวันออกหรือภาคใต้” นายจิรายุ กล่าว
มติ ครม.มีดังนี้

ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th/
ทุ่ม 1,622 ล้าน เยียวยาเรือประมงปิดกิจการ 923 ลำ
นายอนุกูล พฤกษานุศักดิ์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า วันนี้ที่ประชุม ครม.มีมติอนุมัติโครงการนำเรือประมงออกนอกระบบ เพื่อการจัดการทรัพยากรประมงทะเลที่ยั่งยืน ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ ดังนี้
-
1. อนุมัติโครงการนำเรือประมงออกนอกระบบเพื่อการจัดการทรัพยากรประมงทะเลที่ยั่งยืน
2. อนุมัติกรอบวงเงินงบประมาณในการดำเนินโครงการนำเรือประมงออกนอกระบบฯ โดยมีงบประมาณค่าใช้จ่ายในการชดเชยเรือประมง จำนวน 923 ลำ วงเงิน 1,622,605,300 บาท (หนึ่งพันหกร้อยยี่สิบสองล้านหกแสนห้าพันสามร้อยบาทถ้วน) โดยขอใช้งประมาณรายจ่ายงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568
นายอนุกูล กล่าวว่า กรมประมงได้จัดทำโครงการนำเรือประมงออกนอกระบบ เพื่อการจัดการทรัพยากรประมงทะเลที่ยั่งยืน โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้
1. วัตถุประสงค์
-
1.1 เพื่อบริหารจัดการกองเรือประมงพาณิชย์ โดยรักษาความสมดุลของจำนวนเรือประมงพาณิชย์กับปริมาณสัตว์น้ำที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้อย่างยั่งยืน
1.2 เพื่อนำเรือประมงออกนอกระบบอย่างถาวร ตามแผนการบริหารจัดการประมงทะเลของประเทศไทย
1.3 เพื่อส่งเสริมชาวประมงให้ได้มีโอกาสประกอบอาชีพอื่น
1.4 เพื่อเปิดโอกาสให้ชาวประมงสามารถน้ำเรือประมงไปประกอบอาชีพอื่นนอกภาคประมง
2. เป้าหมาย
เรือประมงกลุ่มเรือที่ได้รับใบอนุญาตทั่วการประมงพาณิชย์ที่มีความประสงค์จะเลิกอาชีพทำการประมง ที่ผ่านการตรวจสอบ และเห็นชอบจากคณะอนุกรรมการกลั่นกรองการนำเรือออกนอกระบบ เพื่อการจัดการทรัพยากร ประมงทะเลที่ยั่งยืน และคณะกรรมการนโยบายการประมงแห่งชาติ โดยมีผลตรวจสอบคุณสมบัติเป็นเรือประมงกลุ่มขาว และได้รับการประเมินราคาค่าใช้จ่ายในการนำเรือประมงออกนอกระบบ จำนวน 923 ลำ วงเงิน 1,622,605,300 บาท ซึ่งสามารถแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้
-
2.1 กลุ่มเรือที่ประสงค์แยกชิ้นส่วนหรือทำลายเรือ โดยการแยกชิ้นส่วนให้สิ้นสภาพ จำนวน 873 ลำ เป็นเงิน 1,517,870,400 บาท
2.2 กลุ่มเรือที่ประสงค์แยกชิ้นส่วนหรือทำลายเรือ โดยการนำไปใช้ประโยชน์อื่น เช่น ร้านกาแฟ ห้องสมุด โรงแรม ที่พัก เป็นต้น จำนวน 3 ลำ เป็นเงิน 1,034,600 บาท
2.3 กลุ่มเรือที่ประสงค์เปลี่ยนประเภทเรือ เช่น เรือลากจูง เรือโดยสาร เรือบรรทุกสินค้า เป็นต้น จำนวน 47 ลำ เป็นเงิน 103,700,300 บาท
3. ระยะเวลาดำเนินงาน ระยะเวลาดำเนินการ 1 ปี
จัดงบฯ 200 ล้าน ซื้อ ‘น้ำแข็งแห้ง’ ทำฝนหลวง แก้ภัยแล้ง – PM2.5
นายอนุกูล กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติอนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่าย เพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อดำเนินโครงการจัดหาชุดเครื่องผลิตสารฝนหลวงสูตร 3 (น้ำแข็งแห้ง) จำนวน 4 แห่ง วงเงินงบประมาณ 200,000,000 บาท (สองร้อยล้านบาทถ้วน) ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) เสนอ
นายอนุกูล กล่าวว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ขอรับการสนับสนุนงบประมาณตามระเบียบว่าด้วยการบริหารงบประมาณรายจ่ายงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น พ.ศ. 2562 เพื่อดำเนินงานตามโครงการจัดหาชุดเครื่องผลิตสารฝนหลวงสูตร 3 (น้ำแข็งแห้ง) จำนวน 4 แห่ง ดังนี้
-
1) ชุดเครื่องสารฝนหลวงสูตร 3 พร้อมติดตั้ง ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือ ตำบลน้ำรึม อำเภอเมืองตาก จำนวน 1 ชุด งบประมาณ 50,000,000 บาท
2) ชุดเครื่องผลิตสารฝนหลวงสูตร 3 พร้อมติดตั้ง ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือตอนล่าง ตำบลอรัญญิก อำเภอเมืองพิษณุโลก จังหวัดพิษณุโลก จำนวน 1 ชุด งบประมาณ 50,000,000 บาท
3) ชุดเครื่องผลิตสารฝนหลวงสูตร 3 พร้อมติดตั้ง ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ตำบลร่อนทอง อำเภอสตึก จังหวัดบุรีรัมย์ จำนวน 1 ชุด งบประมาณ 50,000,000 บาท
4) ชุดเครื่องผลิตสารฝนหลวงสูตร 3 พร้อมติดตั้ง ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตำบลบ้านเป็ด อำเภอเมืองขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น จำนวน 1 ชุด งบประมาณ 50,000,000 บาท วงเงินงบประมาณทั้งสิ้น จำนวน 200,000,000 บาท โดยขอรับการสนับสนุนงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ทั้งนี้ ได้จัดทำแผนการบริหารจัดการและแผนการใช้จ่ายงบประมาณ ซึ่งเป็นไปตามพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 มาตรา 27
สำหรับประโยชน์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติการฝนหลวง ในการป้องกันแก้ไขปัญหาภัยแล้ง และการดัดแปลงสภาพอากาศในการบรรเทาปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก เป็นการบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่เกษตรกรและประชาชนผู้ประสบภัยแล้งและภัยพิบัติ อย่างต่อเนื่องและรวดเร็ว
ปรับระบบบริหารจัดการ ‘นมโรงเรียน’ ลดต้นทุนขนส่ง
นายอนุกูล กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติทบทวนระบบบริหารจัดการนมโรงเรียนและให้ใช้ข้อเสนอแนวทางการพัฒนาโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน (โครงการนมโรงเรียนฯ) ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) เสนอ ดังนี้
1. ทบทวนมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2562 เรื่อง ของ ขอทบทวนมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2552 เรื่อง การทบทวนระบบบริหารจัดการนมโรงเรียน และให้ใช้ข้อเสนอแนวทางการพัฒนาโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน (โครงการนมโรงเรียนฯ)
2. เห็นชอบการกำหนดวัตถุประสงค์ของโครงการนมโรงเรียนฯ จำนวน 4 ข้อ ดังนี้
-
(1) นักเรียนทั้งประเทศได้ดื่มนมที่มีคุณภาพ
(2) เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมสามารถผลิตขายน้ำนมโคที่มีคุณภาพได้และมีความยั่งยืนในอาชีพ
(3) เพื่อสร้างศักยภาพ ความเข้มแข็งให้กับสหกรณ์โคนม รัฐวิสาหกิจและสถาบันการศึกษาในการดำเนินกิจการผลิตนมในลำดับแรก ซึ่งจะเกิดความมั่นคงทางอาหารของประเทศ
(4) ผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์นมได้รับการจัดสรรสิทธิและพื้นที่การจำหน่ายอย่างเหมาะสมและเป็นธรรม
สาระสำคัญของเรื่อง กระทรวงเกษตรฯ รายงานว่า
1. สถานการณ์การผลิตและการเลี้ยงโคนมในปัจจุบัน มีจำนวนเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมลดลงจาก 15,724 ราย ในปี 2566 เป็นจำนวน 14,997 ราย ในปี 2567 ส่งผลให้ปริมาณน้ำนมโคของทั้งประเทศลดลงจาก 1.026 ล้านตันต่อปี ในปี 2566 เป็น 1.011 ล้านตันต่อปี ในปี 2567 รวมทั้งจำนวนแม่โครีดนมยังมีแนวโน้มลดจำนวนลงอย่างต่อเนื่องโดยลดลงจาก 244,292 ตัว ในปี 2566 เป็น 233,501 ตัวในปี 2567 ประกอบกับภายใต้ความตกลงการค้าเสรีไทย – ออสเตรเลีย [Thailand – Australia Free Trade Agreement (TAFTA)) และความตกลงความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจที่ใกล้ชิดยิ่งขึ้นไทย – นิวชีแลนด์ [Thaland – New Zealand Closer Economic Partnership (TNZCEP)) ทำให้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2568 ประเทศไทย ต้องยกเลิกโควตาภาษีของนมผงขาดมันเนย และนมและครีม ให้เป็นร้อยละ 0 ความตกลงดังกล่าว จึงผลกระทบต่อภาคการผลิตของอุตสาหกรรมนมของไทย เนื่องจากทำให้ต้นทุนการผลิตอุตสาหกรรมนมสูงขึ้น รวมทั้งแนวโน้มจำนวนเด็กนักเรียนของไทยลดลงอย่างต่อเนื่อง จากจำนวนนักเรียนในโครงการนมโรงเรียนฯ ปี 2563 จำนวน 7,036,845 คน แต่ในปี 2567 กลับลดเหลือจำนวน 6,525,110 คน ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อจำนวนที่จะนำมาจัดสรรสิทธิโดยเฉพาะภาคสหกรณ์โคนม รัฐวิสาหกิจ และสถานศึกษา (ตั้งแต่เริ่มโครงการนมโรงเรียนฯ ในปี 2562 มีแนวโน้มการได้รับสิทธิจำหน่ายนมโรงเรียนลดลงตามลำดับ)
2. เนื่องจากแนวโน้มภาคสหกรณ์โคนมรัฐวิสาหกิจ และสถานศึกษาได้รับการจัดสรรสิทธินมโรงเรียนลดลง รวมถึงการยกเลิกโควตาภาษีของนมผงขาดมันเนย และนมและครีมให้เป็นร้อยละ 0 ส่งผลให้อุตสาหกรรมโคนมมีข้อจำกัดด้านการแข่งขันทางการตลาด ประกอบกับข้อมูลสถิติการเลี้ยงโคนม และเขตการบริหารราชการของ กรมปศุสัตว์ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน และการกระจายตัวของโรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์นมไม่สัมพันธ์กับหลักโลจิสติกส์ โดยการทบทวนปรับปรุงมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว จะช่วยลดปัญหาการจัดสรรสิทธิการจำหน่ายนมโรงเรียนในบางกลุ่มพื้นที่ที่มีปัญหาการขนส่งช่วยลดต้นทุนค่าขนส่ง อีกทั้งยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการกำกับดูแลการดำเนินโครงการนมโรงเรียนฯของคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการอาหารนม เพื่อเด็กและเยาวชนด้วย
3. การขอทบทวนมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2562 ในประเด็นโครงสร้างระบบบริหารโครงการนมโรงเรียนฯ จากเดิมที่แบ่งกลุ่มพื้นที่ 5 เขตพื้นที่ เป็น 7 เขตพื้นที่ จะสามารถช่วยแก้ไขปัญหาด้านการขนส่งนมโรงเรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในเขตภาคใต้ ซึ่งเมื่อมีการแบ่งเขตใหม่จะสามารถช่วยลดระยะทางในการขนส่งนมโรงเรียนได้จากเดิมที่ต้องขนส่งระยะทางไกลที่สุด 1,191 กิโลเมตร เหลือเพียงแค่ 505 กิโลเมตร อย่างไรก็ตาม การแบ่งเขตกลุ่มพื้นที่ใหม่นี้ อาจจะไม่ช่วยทำให้จำนวนนักเรียนและจำนวนศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบมีการกระจายตัวอย่างสมดุลในแต่ละกลุ่มพื้นที่มากนัก ซึ่ง กษ. สามารถทดแทนได้จากการรับนมของพื้นที่นอกเขต โดยปัจจุบันในแต่ละกลุ่มพื้นที่มีปริมาณนมยื่นสมัครเข้าร่วมโครงการนมโรงเรียนฯ ต่อวันเพียงพอต่อความต้องการในกลุ่มพื้นที่นั้น ๆ อยู่แล้ว
จัดงบกลาง 153 ล้าน จัดงานเทศกาลมหาสงกรานต์
นากจากนี้ที่ประชุม ครม.ยังมีมติอนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นจำนวน 153,034,700 บาท เพื่อดำเนินโครงการ Maha Songkran World Water Festival 2025 ตามที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา (กก.) โดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เสนอ โดยมีสาระสำคัญดังนี้
1. ททท. ได้ดำเนินการปรับรายละเอียดงบประมาณของการจัดงาน Maha Songkran World Water Festival 2025 ซึ่งสำนักงบประมาณได้พิจารณากรอบวงเงินให้ ททท. จำนวน 193,034,700 บาท แบ่งเป็น การจัดกิจกรรม ณ ท้องสนามหลวง จำนวน 93,264,800 บาท การจัดทำขบวนพาเหรด จำนวน 48,000,000 บาท การโฆษณาและประชาสัมพันธ์งบกลางฯ จำนวน 11,769,900 บาท และให้ใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย จำนวน 40,000,000 บาท ททท. จึงขอรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวน 153,034,700 บาท
2. สำนักงบประมาณแจ้งว่า นายกรัฐมนตรีได้เห็นชอบให้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา โดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ใช้จ่ายจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ภายใต้กรอบวงเงิน 153,034,700 บาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดงาน Maha Songkran World Water Festival 2025 ด้วยแล้ว
ประโยชน์และผลกระทบ
-
• เพื่อกระตุ้นให้เกิดการเดินทางท่องเที่ยวในช่วงเทศกาลสงกรานต์ทั้งนักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างชาติ โดยคาดการณ์จำนวนนักท่องเที่ยวเข้าร่วมงานมากกว่า 800,000 คน ซึ่งจะก่อให้เกิดรายได้และเงินหมุนเวียนในช่วงของการจัดงานประมาณ 3,200,000,000 บาท อันส่งผลต่อเศรษฐกิจภาพรวมของประเทศ
• เป็นการร่วมอนุรักษ์และสืบทอดประเพณีอันดีงามของประเทศไทยให้ปรากฏแก่สายตาชาวโลก ตอกย้ำความเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ (Representative List of the Intangible Cultural Heritage of Humanity)
• กระตุ้นการท่องเที่ยวและการใช้จ่าย รวมถึงสร้างรายได้หมุนเวียนทางเศรษฐกิจของประเทศ
กำหนดลักษณะต้องห้าม – คุณสมบัติผู้สมัคร ‘ผู้ใหญ่บ้าน’
นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ลักษณะปกครองท้องที่ (ฉบับที่…) พ.ศ…. ตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ โดยมีสาระสำคัญเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 12 (11) พ.ร.บ. ลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ. 2457 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ลักษณะปกครองท้องที่ (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2542 โดยมีสาระสำคัญดังนี้
1. ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยว่า มาตรา 12 (11) แห่งพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พระพุทธศักราช 2567 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2542 ในส่วนที่กำหนดให้การกระทำผิดเกี่ยวกับกฎหมายว่าด้วยป่าไม้ กฎหมายว่าด้วยยาเสพติด และกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้ง โดยกำหนดคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้ที่จะได้รับเลือกเป็นผู้ใหญ่บ้าน โดยไม่จำแนกประเภทการกระทำและความหนักเบาแห่งสภาพบังคับนั้น เป็นการเพิ่มภาระหรือจำกัดสิทธิของบุคคลเกินสมควรแก่เหตุ ซึ่งไม่ได้สัดส่วนกัน ขัดหรือ แย้งต่อมาตรา 26 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
2. กระทรวงมหาดไทยจึงเสนอร่างพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้เคยมีมติอนุมัติหลักการ และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ตรวจพิจารณาแล้ว มีสาระสำคัญเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พระพุทธศักราช 2457 เกี่ยวกับคุณสมบัติ และลักษณะต้องห้ามของผู้ใหญ่บ้าน โดยกำหนดให้ผู้ที่จะได้รับเลือกเป็นผู้ใหญ่บ้าน ต้องไม่เป็นผู้เคยต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุดว่ากระทำความผิดตามกฎหมาย และฐานความผิดตามที่กำหนดไว้ในบัญชีท้ายพระราชบัญญัติฯ บัญชี ก (5 ฉบับ) เช่น ประมวลกฎหมายยาเสพติด กฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้ง และผู้ที่จะได้รับเลือกเป็นผู้ใหญ่บ้าน ต้องไม่เป็นผู้เคยต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุดว่ากระทำความผิดตามกฎหมาย และฐานความผิดตามที่กำหนดไว้ในบัญชีท้ายพระราชบัญญัติฯบัญชี ข (7 ฉบับ) เช่น กฎหมายเกี่ยวกับป่าไม้ ป่าสงวนแห่งชาติ กฎหมายเกี่ยวกับอาวุธปืน และยังไม่พ้นกำหนดเวลา 10 ปี นับแต่วันพ้นโทษ หรือ วันพ้นระยะเวลารอการลงโทษ หรือ รอการกำหนดโทษ แล้วแต่กรณี ถือเป็นผู้ขาดคุณสมบัติ และมีลักษณะต้องห้ามที่จะได้รับเลือกเป็นผู้ใหญ่บ้าน (พ้นกำหนดระยะเวลา 10 ปี สามารถสมัครเพื่อเข้ารับเลือกเป็นผู้ใหญ่บ้านได้)
อุดฯปรับ มอก. ‘มอเตอร์ไฟฟ้ากระแสสลับสามเฟส’ ใหม่
นางสาวศศิกานต์ วัฒนะจันทร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติอนุมัติหลักการ ร่างกฎกระทรวงกําหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมมอเตอร์ไฟฟ้ากระแสสลับ ชนิดเหนี่ยวนําสามเฟส ต้องเป็นไปตามมาตรฐาน พ.ศ…… ตามที่ กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) เสนอ
โดยร่างกฎกระทรวงดังกล่าว มีสาระสำคัญเป็นการปรับปรุงมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมมอเตอร์เหนี่ยวนําสามเฟส ประสิทธิภาพต่ำ มาตรฐานเลขที่ มอก. 867 – 2550 ซึ่งเป็นการยกเลิกมาตรฐานเดิม และ กำหนดมาตรฐานใหม่ ให้เป็นไปตามมาตรฐานเลขที่ มอก. 866 เล่ม 30 (101)-2561 เนื่องจากข้อกำหนดอันเป็นสาระสำคัญมีการเปลี่ยนแปลง
โดยทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้จัดให้มีการประชุม เพื่อรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสียหรือผู้มีประโยชน์เกี่ยวข้อง และได้มีการให้ความเห็นชอบในร่างกฎกระทรวง กําหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมมอเตอร์ไฟฟ้ากระแสสลับ ชนิดเหนี่ยวนําสามเฟส จึงเห็นสมควรให้มีการแก้ไข ปรับปรุงมาตรฐานให้สอดคล้องกับข้อกำหนดจากมาตรฐานอ้างอิงที่มีการปรับปรุง สอดคล้องกับมาตรฐานระหว่างประเทศ และรองรับเทคโนโลยีการทำและการใช้งานในประเทศอย่างทั่วถึง ต้องเป็นไปตามมาตรฐานเลขที่ มอก. 866 เล่ม 30 (101)-2561 โดยกำหนดให้มีผลบังคับใช้เมื่อพ้นกำหนด 365 วัน นับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
แก้ไข พ.ร.บ.คุ้มครอง-ส่งเสริมแพทย์แผนไทย ฯ
นางสาวศศิกานต์ กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์ไทย (ฉบับที่..) พ.ศ. … ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) ตรวจพิจารณาแล้ว ตามที่ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เสนอ
ร่าง พ.ร.บ. ฯ มีสาระสำคัญเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติคุ้มครอง และส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย พ.ศ. 2542 โดยปรับปรุงกลไกและมาตรการคุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยและสมุนไพรให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น แก้ไขเพิ่มเติมบทกำหนดโทษทางอาญา และแก้ไขบทกำหนดโทษสำหรับความผิดไม่ร้ายแรงให้มีเพียงโทษปรับสถานเดียว รวมทั้งปรับปรุงอัตราค่าธรรมเนียมท้ายพระราชบัญญัติให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน
รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยเพิ่มเติมว่า การแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติดังกล่าว เพื่อขยายความคุ้มครอง ส่งเสริมและพัฒนาการใช้ประโยชน์ในภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยในทุกประเภท ให้ครอบคลุมถึงตำรับยาแผนไทยของชุมชนและของนิติบุคคล รวมทั้งปรับปรุงองค์ประกอบของคณะกรรมการคุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์ฯ อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการและกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทย และการแพทย์ทางเลือก และแก้ไขขั้นตอนในการจดทะเบียนสิทธิ การกำหนดเงิน และทรัพย์สินของกองทุนภูมิปัญญาการแพทย์ฯ ตลอดจนปรับปรุงอัตราค่าธรรมเนียม เพื่อให้การคุ้มครองส่งเสริมและพัฒนาการใช้ประโยชน์ในภูมิปัญญาการแพทย์ฯ และสนุมไพรเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นการรับรองสิทธิในภูมิปัญญาการแพทย์ฯที่หลากหลายและสอดคล้องกับอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ
โดยให้ สธ. แก้ไขบัญญัติในร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ให้สอดคล้องกับ พ.ร.บ. ว่าด้วยการปรับพินัย พ.ศ. 2565 ก่อนแล้วส่งให้ ปสส. พิจารณาต่อไป ทั้งนี้ ที่ประชุม ครม. ยังรับทราบแผนในการจัดทำกฎหมายลำดับรอง กรอบระยะเวลา และกรอบสาระสำคัญของกฎหมายลำดับรองที่ออกตามร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว จำนวน 14 ฉบับ เป็นกฎกระทรวง 8 ฉบับ เป็นประกาศ 3 ฉบับ และเป็นระเบียบ 3 ฉบับ โดยมีระยะเวลาดำเนินการภายหลังพระราชบัญญัติมีผลใช้บังคับประมาณ 90 – 240 วัน
อนุมัติร่างเอกสารผลประชุม กมธ.ว่าด้วยสถานภาพสตรีสมัยที่ 69
นางสาวศศิกานต์ กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติอนุมัติ ร่างเอกสารผลลัพธ์การประชุมคณะกรรมาธิการว่าด้วยสถานภาพสตรีสมัยที่ 69 (Commission on the Status of Women-CSW69) (การประชุม CSW69) และอนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคม และความมั่นคงของมนุษย์ หรือ ผู้แทนที่ได้รับมอบหมายในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนไทยในการประชุม CSW69 ให้การรับรอง (adopt) ร่างเอกสารผลลัพธ์ของการประชุม CSW69 ระหว่างวันที่ 10 – 21 มีนาคม 2568 ซึ่งจะมีการรับรองร่างเอกสารผลลัพธ์ของการประชุม CSW69 ในวันที่ 10 มีนาคม 2568 ณ สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เสนอ
รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวเพิ่มเติมว่า การประชุม CSW69 จะมีการเสนอร่างเอกสารผลลัพธ์ของการประชุมฯ เพื่อให้ผู้เข้าร่วมประชุมพิจารณาให้การรับรอง โดยไม่มีการลงนามในวันที่ 10 มีนาคม 2568 จำนวน 2 ฉบับ ดังนี้
-
1) ร่างปฏิญญาทางการเมืองเนื่องในโอกาสครบรอบ 30 ปี ของการประชุมระดับโลกว่าด้วยเรื่องสตรี ครั้งที่ 4 (Political Declaration on the Occasion of the Thirtieth Anniversary of the Fourth World Conference on Women)
2) ร่างแผนงานระยะหลายปีของคณะกรรมาธิการว่าด้วยสถานภาพสตรี (Multi-year Programme of Work of the Commission on the Status of Women)
โดยการให้ความเห็นชอบต่อร่างดังกล่าว สอดคล้องกับนโยบายและผลประโยชน์ของไทย ไม่มีผลผูกพันในเชิงงบประมาณ โดยเป็นการย้ำเจตจำนงและความมุ่งมั่นของไทยในการร่วมมือกับนานาชาติ เสริมสร้างความเชื่อมโยงและความเข้มแข็งต่อประเด็นการส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศและการเสริมพลังสตรีระดับโลก
ทั้งนี้ การประชุม CSW69 จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีในช่วงเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม ณ สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา เพื่อติดตามการดำเนินการตามปฏิญญาปักกิ่งและแผนปฏิบัติการเพื่อความก้าวหน้าของสตรี และในทุก ๆ 5 ปี จะมีการจัดประชุมเพื่อรับรองเอกสารผลลัพธ์การประชุมใหม่ เพื่อเป็นการแสดงเจตนารมณ์ร่วมกันของประเทศภาคีสมาชิกในการดำเนินงานด้านความเสมอภาคทางเพศและการเสริมพลังของสตรี ซึ่งไทยได้เข้าร่วมการประชุมมาอย่างต่อเนื่อง
ต่ออายุ ‘ปัญญา ชูพานิช’ นั่งผู้อำนวยการ สนข.อีก 1 ปี
นางสาวศศิกานต์ กล่าวว่า วันนี้ที่ประชุม ครม.มีมติอนุมัติ และเห็นชอบการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการ และผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานรัฐ โดยมีรายละเอียดดังนี้
1. เรื่อง ขออนุมัติต่อเวลาการดำรงตำแหน่งของข้าราชการพลเรือนสามัญผู้ดำรงตำแหน่ง ประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงคมนาคม)
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติต่อเวลาการดำรงตำแหน่งของ นายปัญญา ชูพานิช ข้าราชการพลเรือนสามัญ ตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กระทรวงคมนาคม (คค.) ซึ่งได้ดำรงตำแหน่งดังกล่าวครบ 4 ปี เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2568 ต่อไปอีก 1 ปี (ครั้งที่ 1) ตั้งแต่วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2568 ถึงวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2569
2. เรื่อง การแต่งตั้งกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี (สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี)
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเสนอแต่งตั้ง นายธเนศพล ธนบุณยวัฒน์ เป็นกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่นายกรัฐมนตรีลงนามในประกาศแต่งตั้ง ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้เห็นชอบด้วยแล้ว
อ่าน มติ ครม.ประจำวันที่ 3 มีนาคม 2568 เพิ่มเติม