
ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th/
เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2568 นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่ ครั้งที่ 1/2568 ณ ห้องคอนเวนชั่น ฮอลล์ ศูนย์ประชุมนานาชาติฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ตำบลคอหงส์ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ภายหลังการประชุมนายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายนายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุม ครม. และข้อสั่งการนายกรัฐมนตรี
เยียวยาน้ำท่วมภาคใต้กว่า 4 ครัวเรือน 3,653 ล้าน
นางสาวแพทองธาร กล่าวต่อว่า ที่ประชุม ครม. มีมติอนุมัติตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ เรื่องการจ่ายช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในช่วงฤดูฝนปี 2567 เพิ่มเติม และขออนุมัติงบประมาณรายจ่าย 2568 งบกลางเพิ่มเติมจำนวน 3,653.72 ล้านบาท ตลอดจนอนุมัติพื้นที่ดำเนินการเพิ่มเติมในพื้นที่จังหวัดระนอง ซึ่งมีครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบจำนวน 405,069 ครัวเรือน
สั่งคลังหารือ ธปท.-แบงก์ เร่งขยายสินเชื่อ – การลงทุน ดัน GDP ปี’68 โต 3.5%
นางสาวแพทองธาร รายงานเรื่องจีดีพีว่า จากการรายงานตัวเลขในไตรมาส 4/2567 และแนวโน้ม 2568 โดยสภาพัฒน์ ฯ พบว่า จีดีพีไทยไตรมาส 4/2567 เติบโตขึ้นในเกือบทุกมิติ แต่การลงทุนภาคลงทุนหดตัวลง ซึ่งปัจจัยที่สำคัญคือภาคเอกชน เช่น เอสเอ็มอี ซึ่งมีสัดส่วนที่มาก
“จริงๆ แล้้วในธนาคารพาณิชย์ปกติแล้วยังมีกำไร แต่มีการปล่อยสินเชื่อที่ยังน้อยอยู่ โดยเฉพาะ SMEs ที่มีสัดส่วนถึง 75% ของผู้ประกอบการทั่วประเทศประเทศ หากมีการปล่อยสินเชื่อเพิ่มขึ้นก็จะเป็นการช่วยเอสเอ็มอีได้อย่างมาก” นางสาวแพทองธาร กล่าว
นางสาวแพทองธาร กล่าวต่อว่า “ที่ผ่านมาระยะเวลากว่าสิบปี การพัฒนาธุรกิจต่างๆ ของภาคเอกชนก็ลดน้อยลง มีอุตสาหกรรมที่เก่าไปแล้วด้วยซ้ำ เพราะไม่ได้เงินสินเชื่อในการพัฒนาตรงนี้ ภาครัฐก็พยายามทำในทุกๆ เรื่องเพื่อเป็นการสนับสนุนและกระตุ้นเศรษฐกิจให้ภาคเอกชนมีการลงทุนเพิ่มเติม”
นางสาวแพทองธาร กล่าวต่อว่า “ก็อยากให้ทั้งการคลัง และการเงิน ได้ทำงานประสานกันอย่างใกล้้ชิด เพื่อจะตอบโจทย์ตรงนี้ให้พี่น้องประชาชน เพื่อประโยชน์สูงสุดจะเกิดกับพี่น้องประชาชน อย่าง ‘เงินเฟ้อ’ ตอนนี้เองก็ยังต่ำอยู่ อันนี้เป็นสิ่งสำคัญที่จะต้องร่วมมือกันจริงๆ ต้องขอให้ท่านรองฯ (พิชัย ชุณหวชิร) ดูเรื่องการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทย ก็ต้องประสานทำงานกันอย่างใกล้ชิด เพื่อจะช่วยกันแก้ปัญหาเรื่องนี้ในทุกส่วน เป็นเรื่องสำคัญมากๆ ทำไมอยู่ฝั่งเดียวไม่ได้ ต้องช่วยกัน”
มอบพาณิชย์ขยายตลาดส่งออกทุเรียน
นางสาวแพทองธาร กล่าวถึงการลงพื้นที่ในจังหวัดพัทลุงและจังหวัดสงขลาว่า พัทลุงเป็นจังหวัดที่มีสถานที่สวยงาม และมีเอกลักษณ์หลายแห่ง รวมทั้งทะเลน้อยซึ่งมีความสำคัญอย่างมากในเชิงนิเวศ ความหลากหลาย แต่ปัจจุบันมีปัญหาเรื่องวัชพืช จึงได้สั่งการให้กระทรวงที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็น กระทรวงเกษตรฯ และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เร่งแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วน
นางสาวแพทองธาร กล่าวต่อว่า ยังมีเรื่องสะพานเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา และเกษตรกร-ชาวบ้าน ประสบปัญหาไม่มีไฟติดถนน จึงสั่งการให้กระทรวงคมนาคมไปดูเพิ่มเติมว่า ติดไฟพัฒนาอย่างไรให้อยู่ในเชิงอนุรักษ์ เพราะเป็นที่ท่องเที่ยวธรรมชาติ นักท่องเที่ยวต่างชาติชื่นชอบ และรัฐบาลก็เห็นศักยภาพในการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว
นางสาวแพทองธาร กล่าวต่อว่า จังหวัดพัทลุงมีศักยภาพในการส่งออกผลไม้ไปประเทศญี่ปุ่น โดยเฉพาะทุเรียนสายพันธุ์ที่มูลค่าสูง ดังนั้น ขอให้กระทรวงเกษตรฯ ให้ความรู้เชิงวิชาการให้เกษตรกรเพิ่มมากขึ้น และให้กระทรวงพาณิชย์หาตลาดเพิ่มเติมให้ประชาชนด้วย
นอกจากนี้ นางสาวแพทองธาร กล่าวต่อว่า จากการลงพื้นที่จังหวัดสงขลา ได้มีโอกาสไปเยี่ยมชมบริษัทไทยยูเนียน ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างมากในการส่งออกอาหารทะเลไปต่างประเทศ และมีการตั้งโรงงานในต่างประเทศมากมาย
“เป็นความสำเร็จที่เดี๋ยวจะขอโอกาสนี้ คุยกันนอกรอบให้แชร์ความสำเร็จนี้ เผื่อรัฐบาลจะส่งเสริมอะไรต่อพี่น้องภาคเอกชนได้อีก” นางสาวแพทองธาร กล่าว
สั่งหาสาเหตุส่งออกกุ้งตกต่ำ
นางสาวแพทองธาร เสริมว่า ปัจจุบันนี้ประเทศไทยประสบปัญหาเรื่องการส่งออกกุ้งที่ลดน้อยลงอย่างมาก สวนทางกับประเทศเพื่อนบ้านที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก ดังนั้น ต้องหาสาเหตุว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง
“คงจะต้องเพิ่มงบการทำ R&D การทำวิจัย ทำอย่างไรให้เกษตรกรสามารถเลี้ยงกุ้ง และสามารถเพิ่มการส่งออกของประเทศได้เยอะมากขึ้น อย่างน้อยๆ กลับไปที่จุดเดิมที่เราเคยเป็นก็ได้ เมื่อวานก็ได้แชร์ตัวเลขกับภาคเอกชน ก็รู้สึกว่ามีประโยชน์อย่างมาก” นางสาวแพทองธาร กล่าว

ดัน ‘ท่าจอดเรือสำราญ’ ยกระดับท่องเที่ยวสงขลา
นางสาวแพทองธาร กล่าวต่อว่า รัฐบาลได้พูดคุยกับกลุ่มผู้ประกอบการท่องเที่ยว และหอการค้าจังหวัดสงขลาในบริเวณเมืองเก่าสงขลา และได้รับข้อเสนอที่ดีอย่างมาก โดยเสนอยกระดับการท่องเที่ยวจังหวัดให้กลายเป็นเมืองท่องเที่ยวที่มีศักยภาพมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการท่องเที่ยวในเชิงเรือสำราญ เพราะเรือสำราญจะนำนักท่องเที่ยวที่มีการใช้จ่ายต่อหัวสูง และรัฐบาลเห็นว่าต้องต้องมีท่าจอดเรือสำราญมากกว่านี้ และพร้อมกว่านี้ โดยเรื่องนี้ก็ให้ศึกษาและจะติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิดต่อไป
ตรวจ ‘One Stop Service’ ด่านสะเดา
นางสาวแพทองธาร กล่าวต่อว่า ในช่วงบ่ายวันนี้ตนจะเดินทางไปที่ด่านศุลกากรสะเดา เพื่อตรวจสอบความคืบหน้าการเปิดใช้บริการด่านศุลกากร และจะส่งเสริมให้การค้าชายแดนที่มีปริมาณเพิ่มมากขึ้น ยกระดับเรื่อง one stop service ให้มากขึ้น
เร่งท่องเที่ยว-ลงทุนดัน GDP ปี’68 โต 3.5%
ผู้สื่อข่าวถามว่า รัฐบาลประกาศเป้าจีดีพีที่ 3.5% แต่สภาพัฒน์ ฯระบุว่า จีดีพีปี 2568 จะโต 2.8% นายกฯ พร้อมทำอะไรเพิ่มเติมเพื่อกระตุ้นจีดีพี โดย นางสาวแพทองธาร ตอบว่า “เมื่อกี้สิ่งที่พูดไปเรื่องสินเชื่อ รัฐบาลต้องคุยกับธนาคารแห่งประเทศไทยด้วยเพื่อร่วมมือกัน สิ่งที่รัฐบาลทำก็ให้การกระตุ้นเศรษฐกิจหลายอย่าง ตอนนี้เองจะเห็นว่าเอกชนที่ทำอุตสาหกรรมเกี่ยวกับการท่องเที่ยวต่างๆ ธุรกิจของเขาเอง ก็ไม่ได้้ถูกพัฒนามากมายด้วย เขาก็จะมีเรื่องสินเชื่อด้วย สถานที่ต่างๆ ก็ยังไม่ถูกพัฒนาอีกมากมาย”
“ที่เรามาในจังหวัดต่างๆ ในครั้งนี้ รัฐมนตรีหลายท่านไปแต่ละจังหวัด ก็เห็นว่า มีอีกหลายที่ที่มีศักยภาพอย่างมาก ซึ่งเราก็ต้องเน้นย้ำ อย่างที่เคยบอกเสมอว่า การท่องเที่ยวไม่จำเป็น ต้องเป็นเมืองหลักอย่างเดียว เมืองรองจริงๆ ก็สำคัญมากเช่นกัน…ภาคเอกชนก็ต้องดูด้วยว่า การที่จะลงทุนเพิ่มในระบบทำได้อย่างไรบ้าง ซึ่งก็ต้องย้อนกลับมาทางการเงินและสินเชื่อ” นางสาวแพทองธาร กล่าว
ถามต่อว่า จีดีพีไทยรั้งท้ายในอาเซียน นโยบายของนายกฯ จะทำให้จีดีพีขยับขึ้นไปมากน้อยแค่ไหน นางสาวแพทองธาร ตอบว่า “ตอนนี้การตั้งเป้าของรัฐบาล คลังตั้งเป้าไว้ 3% และจะพยายามดันให้เป็น 3.5% มันเหมือนกับเราจะ Reach Goal ของเรา เพราะฉะนั้นเรามั่นใจว่า ในเดือนที่เหลือของปีนี้เราจะผลักดัน รวมไปถึงการพูดคุยกับธนาคารพาณิชย์ และธนาคารแห่งประเทศไทยด้วย นี่คือ สิ่งสำคัญที่ต้องร่วมมือกันจริงๆ”
ถามต่อว่า นอกจากการท่องเที่ยวยังมีปัจจัยอะไรอีกบ้าง นางสาวแพทองธาร ตอบทันทีว่า “การลงทุนค่ะ” และพูดต่อว่า “การลงทุนของต่างประเทศด้วยเช่นกัน ที่ดิฉันเองไปพบปะกับต่างประเทศมา เราต้องดึงการลงทุน เพราะจริงๆ แล้วเศรษฐกิจมันแย่เป็นพักใหญ่ เพราะฉะนั้นการผลักดันทุกส่วนสำคัญมาก เราไม่สามารถทำ 1 อย่างแล้วเกิดเป็นเศรษฐกิจทันที เพราะฉะนั้นต้องช่วยกัน”
“นโยบายภาครัฐจึงไม่ได้ออกแค่หนึ่งนโยบายแล้ว ทำให้จีดีพีกระตุ้น เราทุกกระทรวงต้องทำเช่นกัน เอกชนก็ต้องช่วยด้วย มันเป็นทุกภาคส่วนจริงๆ เพราะมันไม่ใช่ปัญหาที่เกิดขึ้นเมื่อวานนี้ หรือ เมื่อปีสองปีที่แล้ว มันเป็นระยะเวลาที่ยาวนาน เพราะฉะนั้นต้องช่วยกันในทุกฝ่าย” นางสาวแพทองธาร กล่าว
เมื่อถามว่า การลงพื้นที่ที่ผ่านมาดูเหมือนว่าทำแบบชั่วครั้งชั่วคราว นายกฯ จะกระตุ้นผู้ว่าฯ อย่างไร โดย นางสาวแพทองธาร ตอบว่า “การที่เราไปพบเจอในแต่ละจังหวัด ก็ช่วยได้มาก และบางครั้งส่วนท้องถิ่นเอง เราก็ไปบอก และพูดคุยว่าเราสามารถจบที่ในท้องถิ่นตัวเองได้ด้วย เพราะหลาย ๆ พื้นที่ เขาก็สามารถแก้ไขปัญหาได้ในท้องถิ่น จริงๆ แล้วทุกจังหวัดที่ไป ก็พร้อมมากๆ ในการช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ และเป็น facilitator ให้พี่น้องประชาชน”
“เมื่อวานไปเดินเล่นมา กระทรวงมหาดไทย บอกว่า ทุกคนบอกอยากได้เรื่องของไฟมากขึ้น ก็รับเรื่องไปว่าเดี๋ยวจะดูแลเรื่องนี้ เพราะมันมีชุมชนที่เข้มแข็งอยู่ตามจังหวัดต่างๆ อยากให้ประชาชนแนะนำได้เลยว่า ผู้ว่าฯ และท้องถิ่นควรสามารถดำเนินการได้ ทางรัฐบาลเอง ก็ให้อำนาจกับท้องถิ่นแล้ว” นางสาวแพทองธาร กล่าว
เล็งจัด ‘เวิร์คช็อป’ ในพื้นที่ เคลียร์ม็อบต้าน ‘แลนด์บริดจ์-กาสิโน’
ผู้สื่อข่าวถามว่า ประชาชนในพื้นที่ยังคัดค้านต่อต้านโครงการแลนด์บริดจ์ รวมถึงกาสิโน นายกฯ จะทำความเข้าใจกับคนกลุ่มนี้อย่างไร โดย นางสาวแพทองธาร ตอบว่า “นอกจากที่เราจะให้รัฐมนตรีต่างๆ มาช่วยอธิบายแล้ว คงจะต้องมีการเวิร์คช็อปในพื้นที่ด้วย ซึ่งเป็นสิ่งที่รัฐบาลก็มองไว้อยู่แล้ว ทำให้ประชาชนเข้าใจมากขึ้นว่าเมื่อเกิดขึ้นจริงๆ แล้วจะเกิดผลดีอย่างไรบ้าง แน่นอนว่าการเปลี่ยนแปลงหลายๆ ครั้งเป็นเรื่องที่ดี แต่ต้องมีการปรับตัวหรือความเข้าใจกันเกิดขึ้น”
“เป็นหน้าที่ของรัฐบาลเองที่จะต้องอธิบายให้ประชาชนเข้าใจว่าเป้าหมายที่มองคืออะไร และประเทศชาติจะได้ประโยชน์อย่างไร เพราะฉะนั้นเรื่องของม็อบ หรือ อะไรต่างๆ ขอรัฐบาลเป็นผู้รับผิดชอบพูดคุยเองว่า ความคิดเห็นของพี่น้องประชาชนสำคัญต่อรัฐบาลแน่นอน เพราะฉะนั้นการคุย การอธิบายให้เข้าใจ การรับเสนอข้อเรียกร้องของประชาชน เป็นสิ่งที่สำคัญมากๆ เพราะฉะนั้นพร้อมในการเปิดรับ และพูดคุยกับทุกฝ่ายที่มีข้อเสนอแนะมาแน่นอน” นางสาวแพทองธาร ตอบ
มั่นใจ รมต.ทุกกระทรวงพร้อมรับศึกอภิปราย
ผู้สื่อข่าวถามว่า ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ‘ขุนพลที่ยื่นรอบข้างนายกฯ’ นายกฯ มั่นใจไหม (ขุนพล) ว่าจะสอบผ่าน เมื่อถามจบ นางสาวแพทองธาร หันไปมองคณะรัฐมนตรีด้านหลังและพูดว่า “โอ้โห คำถามของคุณพี่เขา” จากนั้นจึงตอบว่า “แน่นอนค่ะ เพราะจริงๆ แล้วในทุกกระทรวงเองก็มีการอัพเดทงานตลอด และตอนนี้ไม่ว่าจะเป็นนโยบายใด ๆ จะต้องมีการผลักดันมากยิ่งขึ้น ก็ต้องผลักดันกันไป แต่ทุกวันนี้ก็ไม่ได้มีปัญหาอะไรในการที่จะผลักดันนโยบายให้ออก คิดว่าทุกคนต้องตามระบบ ตอบตามกระบวนการจริงๆ ไม่น่ามีปัญหาอะไร”
ถามต่อว่า ต้องเก็งข้อสอบหรือไม่ นางสาวแพทองธาร ตอบทันทีว่า “แน่นอน จะไม่เก็งข้อสอบเข้าไปตัวเปล่าเดี๋ยวตกใจสิคะ”
ถามต่อว่า คิดว่าจะโดนเรื่องอะไรเป็นหลัก นางสาวแพทองธาร ตอบว่า “ไม่บอกค่ะ จะไม่เฉลยข้อสอบก่อน”
เผย ‘อิสราเอลยึดปาย’ เป็นข่าวเฟค
ผู้สื่อข่าวถามถึงดราม่าในโซเชียลมีเดีย เรื่องชาวอิสราเอลหลายพันคนที่อาศัยในอำเภอปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน ติดป้ายประกาศห้ามคนไทยเข้าพื้นที่ ซึ่งอาจทำให้ประชาชนเกิดความไม่พอใจ และบานปลายเป็นปัญหาระหว่างประเทศ แต่ยังไม่ทันถามจบ นางสาวแพทองธาร พูดขึ้นว่า “พอดีตรวจสอบแล้วไม่จริง ตรวจสอบแล้วว่าไม่จริง (หันหน้าไปถามคณะรัฐมนตรีที่ยืนด้านหลัง) เดี๋ยวอาทิตย์หน้าท่านรองอนุทินจะลงไปดูในพื้นที่”
ส่วนกรณีที่มีชาวกัมพูชา ขึ้นไปร้องเพลงบนปราสาทตาเมือนธม อำเภอพนมดงรัก จังหวัดสุรินทร์ เขตรอยต่อชายแดนประเทศไทย-กัมพูชา ทำให้หลายคนไม่สบายใจ นางสาวแพทองธาร ตอบว่า ไม่มีปัญหา ได้มีการพูดคุยกันในพื้นที่แล้ว ซึ่งในการเยือนประเทศกัมพูชา เร็วๆ นี้ จะมีการหยิบยกประเด็นดังกล่าวขึ้นมาพูดคุยอย่างแน่นอน
ชี้จีดีพี Q4/67 โต 3.2% มาจากนโยบายรัฐบาล
ด้านนายจิรายุ รายงานว่า สภาพัฒน์ได้รายงานภาวะเศรษฐกิจไทย ไตรมาสที่ 4 ปี 2567 และแนวโน้มปี พ.ศ. 2568 โดยระบุว่าตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ไตรมาสที่ 4 ของ ปี 2567 มีทิศทางที่ดีขึ้น โดยขยายตัว 3.2% เมื่อเทียบกับช่วงไตรมาสก่อนหน้าที่ผ่านมา แสดงให้เห็นถึงผลของมาตรการและนโยบายด้านเศรษฐกิจ ในการกระตุ้นเศรษฐกิจที่รัฐบาลได้ดำเนินการตลอดมาในช่วงเดือนตุลาคม – ธันวาคม 2567 ที่ผ่านมา
สั่งส่วนราชการเขียนแผน ของบฯแก้น้ำท่วม – แล้ง เน้นยั่งยืน
นายจิรายุ กล่าวต่อว่า จากปัญหาน้ำท่วมสามจังหวัดชายแดนใต้ นายกฯ ขอทุกกระทรวงเร่งแก้ไขหลังน้ำท่วม 3 จังหวัดใต้ ยะลา ปัตตานี นราธิวาส เมื่อปลายปีที่ผ่านมา อนุมัติ 300 ล้านบาท ฟื้นฟูแล้ว พร้อมขอให้กระทรวงเกี่ยวข้องจัดทำแผนป้องกันระยะยาว เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำแล้ง น้ำท่วมภาคใต้ให้ยั่งยืน
“นายกฯ ได้สั่งการในที่ประชุม ขอให้ส่วนราชการเขียนแผน หรือ ทำโครงการในการแก้ไขปัญหาแบบยั่งยืน ไม่ใช่ต้องรอน้ำท่วมแล้วมาเยียวยาแก้ไขปัญหาเป็นแผนระยะสั้น ขอให้ไปดำเนินการเขียนโครงการ เพราะไม่อย่างนั้นประเทศไทยก็จะเป็นอยู่อย่างนี้ ธันวาคมเจอภัยหนาว เมษายนเจอภัยแล้ง ตั้งแต่พฤษภาคมเจอภัยฝน” นายจิรายุ กล่าว
นอกจากนี้ สศช. ได้เสนอให้พิจารณาโครงการจังหวัดเพื่อฟื้นฟูซ่อมแชมโครงสร้างพื้นฐาน สาธารณูปโภค สาธารณูปการ ที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัยในพื้นที่ 3 จังหวัดภาคใต้ชายแดนที่เกิดเหตุเมื่อเดือนพฤศจิกายนและธันวาคมปีที่ผ่านมา
โดย สศช. เสนอ ครม. พิจารณาให้ความเห็นชอบในหลักการโครงการจังหวัดเพื่อฟื้นฟูซ่อมแซมโครงสร้างพื้นฐานสาธารณูปโภค สาธารณูปการ ที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัยในพื้นที่ 3 จังหวัดภาคใต้ชายแดน ที่เห็นควรสนับสนุน จำนวน 22 โครงการ กรอบวงเงินรวม 304.80 ลบ. โดยให้ จ.ยะลา จ.นราธิวาส และ จ.ปัตตานี ขอรับการจัดสรรจากงบฯ ปี 68 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ตามขั้นตอนของกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด รวมทั้งให้ สงป. ตรวจสอบความซ้ำซ้อนของโครงการและงบฯ ต่อไป โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้
สงป. สศช. และ มท. ได้ร่วมกันลงพื้นที่และพิจารณากลั่นกรองข้อเสนอโครงการของ จ.ยะลา จ.นราธิวาส และ จ.ปัตตานี เพื่อฟื้นฟูพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย โดยเห็นควรสนับสนุนโครงการจังหวัดเพื่อฟื้นฟูซ่อมแชมโครงสร้างพื้นฐานสาธารณูปโภค สาธารณูปการที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัยในพื้นที่ 3 จังหวัดภาคใต้ชายแดน เพื่อขอรับการจัดสรรจากงบฯ ปี 68 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวน 22 โครงการ กรอบวงเงินรวม 304.80 ล้านบาท โดยเฉลี่ยประมาณจังหวัดละ 100 ล้านบาท อาทิ การซ่อมถนนจัดทำเขื่อนป้องกันตลิ่ง โดย จ.ยะลา จัดทำคันกั้นน้ำริมแม่น้ำปัตตานี จำนวน 100 ล้านบาท จ.นราธิวาส 14 โครงการ 100.32 ล้านบาท และ จ.ปัตตานี 7 โครงการ 104.47 ล้านบาท
ทั้งนี้ ข้อเสนอโครงการเพื่อฟื้นฟูพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยในพื้นที่ 3 จังหวัดภาคใต้ชายแดน (จ.ยะลา จ.นราธิวาส และ จ.ปัตตานี) ครั้งนี้ จะช่วยให้โครงสร้างพื้นฐานที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัยได้รับการปรับปรุง ซ่อมแซม และฟื้นฟู ให้กลับมาใช้งานได้ตามปกติ ซึ่งจะช่วยบรรเทาและแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนในพื้นที่ รวมทั้งยังเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการป้องกันและบรรเทาความเสียหายจากอุทกภัยที่อาจเกิดขึ้นซ้ำในอนาคต โดยที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบ
มอบคลัง – พาณิชย์ – อุตฯ เพิ่มกำลังการผลิตในประเทศ
นายจิรายุ กล่าวต่อว่า จังหวัดพัทลุงและสงขลามีประเด็นที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะตัวเลขการลงทุนในภาคอุตสาหกรรมและการส่งออกที่เพิ่มมากขึ้น แต่การใช้กำลังการผลิตในประเทศ (Capital Utilization) ลดลง จึงขอให้กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงการคลัง กระทรวงพาณิชย์ ร่วมกันเร่งหามาตรการป้องกันปัญหาดังกล่าวให้เร็วที่สุด
นายจิรายุ กล่าวต่อว่า การแก้ไขปัญหาในพื้นที่จังหวัดพัทลุงและสงขลา จากการลงพื้นที่ตรวจราชการในจังหวัดพัทลุงและสงขลา ก่อนมาประชุม นายกรัฐมนตรีได้รับฟังปัญหาจากหลายภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง และสั่งการ ดังนี้
1. ให้กระทรวงเกษตรฯ และกระทรวงพาณิชย์ เร่งหาแนวทางสนับสนุนการปลูกกล้วยสายพันธุ์ของพัทลุง และทุเรียนภูบรรทัด ทั้งในด้านส่งเสริมการเพาะปลูกให้แพร่หลาย รวมทั้งการหาตลาดรองรับผลผลิต เพื่อเพิ่มมูลค่าของสินค้าในชุมชนให้มากขึ้น
2. ในพื้นที่ทะเลน้อย จังหวัดพัทลุง มีศักยภาพสูงทั้งด้านการท่องเที่ยวและการประมง ซึ่งจะช่วยสร้างรายได้ให้ประชาชน โดยทางจังหวัดและภาคเอกชน มีข้อเสนอให้ขุดลอกทะเลน้อย กำจัดวัชพืชต่างๆ ฟื้นฟูนิเวศ คืนธรรมชาติ พร้อมฟื้นการประมงและส่งเสริมอาชีพให้กับท้องถิ่น โดยขอให้หน่วยงานต่างๆ ดำเนินการเพิ่มเติม ดังนี้
-
• ให้กระทรวงทรัพยากรฯ ศึกษาและกำหนดแนวทาง พร้อมทั้งจัดเตรียมงบประมาณที่จำเป็นสำหรับดำเนินการ
• ให้กระทรวงเกษตรฯ โดยกรมประมง และกระทรวงทรัพยากรฯ หามาตรการในการสนับสนุนและให้ความรู้ทางวิชาการอย่างถูกต้อง สำหรับการทำประมงในพื้นที่จังหวัดสงขลา เช่น การเลี้ยงปลาดุกนา ทั้งในส่วนของระบบการหมุนเวียนน้ำ และพันธุ์ปลา เพื่อยกระดับให้ประชาชนมีรายได้ที่เพิ่มมากขึ้น
• ให้กระทรวงการท่องเที่ยวฯ ช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศให้มากขึ้นด้วย
• ให้กรมทางหลวง กระทรวงคมนาคม เร่งหามาตรการในการเพิ่มแสงสว่างให้กับสะพานเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา เพื่อให้เกิดความปลอดภัยในการเดินทาง และไม่กระทบต่อระบบนิเวศ
เยี่ยมชมกิจการ ‘ไทยยูเนียน’
นายจิรายุ รายงานว่า นายกฯ ได้เข้าเยี่ยมชมกลุ่มบริษัท ไทยยูเนียน ที่ประสบความสำเร็จในการส่งออกอาหารทะเลไปต่างประเทศ โดยมีข้อเสนอสำคัญ ที่จะขอให้กรมประมง ส่งเสริมการวิจัยพัฒนาพันธุ์กุ้งอย่างจริงจัง ฟื้นฟูความเข้มแข็ง ด้านการเลี้ยงกุ้งเพื่อการส่งออก ที่ไทยเคยเป็นอันดับต้น ๆ ของโลกอีกครั้ง
นายจิรายุ กล่าวต่อว่า นายกฯ สั่งการว่า สำหรับตัวเมืองจังหวัดสงขลามีศักยภาพสูงด้านการท่องเที่ยว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การท่องเที่ยวด้วยเรือสำราญ (Cruise) ขอให้กระทรวงคมนาคมเร่งศึกษาการก่อสร้างท่าเทียบเรือสำราญ และขอให้กระทรวงการท่องเที่ยวฯ ร่วมกับท้องถิ่น พัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ และการจัดกิจกรรมต่างๆ ของแหล่งท่องเที่ยว เช่น ในเมืองเก่าสงขลา อ.หาดใหญ่ หรือสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ โดยมอบหมายให้ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลาเป็นเจ้าภาพในการเป็นศูนย์กลางการประสานหน่วยงานต่างๆ ที่จะลงมาร่วมพัฒนาด้วย
มติ ครม.มีดังนี้

ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th
เห็นชอบแผนพัฒนาภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย 35 โครงการ 600 ล้าน
นางสาวศศิกานต์ วัฒนะจันทร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติรับทราบผลการประชุมบูรณาการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อพัฒนากลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย (สงขลา สุราษฎร์ธานี ชุมพร นครศรีธรรมราช และพัทลุง) และเห็นชอบในหลักการโครงการของกลุ่มจังหวัดและจังหวัด จำนวน 23 โครงการ กรอบวงเงิน 300,000,000 บาท (สามร้อยล้านบาทถ้วน) และโครงการข้อเสนอกลุ่มจังหวัดฯของภาคเอกชน จำนวน 12 โครงการ กรอบวงเงิน 300,000,000 บาท (สามร้อยล้านบาทถ้วน) ตามที่ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เสนอ
โดยสำหรับค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น เห็นสมควรให้ใช้จ่ายจากงประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉิน หรือ จำเป็น โดยขอให้หน่วยรับงบประมาณที่เป็นเจ้าของโครงการเร่งดำเนินการจัดทำรายละเอียดโครงการ และประมาณการค่าใช้จ่าย เพื่อขอทำความตกลงกับสำนักงบประมาณ นอกจากนี้ ยังได้มอบหมายให้สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปพิจารณาโครงการที่เป็นข้อเสนอกลุ่มจังหวัดของภาคเอกชน ในส่วนที่เหลือจำนวน 21 โครงการ เพื่อบรรจุไว้ในแผนปฏิบัติราชการประจำปีของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และ ขอรับการจัดสรรงบงบประมาณตามขั้นตอนต่อไป
รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ยกตัวอย่าง โครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชนพื้นที่มรดกโลกลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา , โครงการพัฒนาพื้นที่น้ำตกกระเปาะ เพื่อเพิ่มศักยภาพด้านการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ , โครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมคลองปรางหมู่ ซึ่งการดำเนินงานตามผลการประชุมฯดังกล่าว จะสามารถช่วยสนับสนุนและพัฒนากลุ่มจังหวัดฯ ไปสู่เป้าหมาย “พลิกฟื้นอ่าวไทยสู่ความยั่งยืน (Reslient and Sustainable AOTHA” โดยยกระดับการผลิต และแปรรูป เพื่อสร้างมูลค่าสินค้าเกษตร และอุตสาหกรรมให้เป็นอาชีพที่สร้างรายได้ให้กับพื้นที่ ฟื้นฟู/ส่งเสริมการท่องเที่ยวเชื่อมโยงชุมชนให้เติบโดอย่างยั่งยืน ซ่อม/สร้างโครงสร้างพื้นฐาน และสาธารณูปโภคให้ทั่วถึง และการบริหารจัดการน้ำ เพื่อแก้ไขปัญหาอุทกภัยและภัยแล้งอย่างเป็นระบบ ซึ่งจะนำไปสู่การยกระดับคุณภาพชีวิตให้ชุมชนในพื้นที่ได้ดีขึ้น
เคาะแผนอนุรักษ์ ‘โลมาอิรวดี’ ทะเลสาบสงขลา 402 ล้านบาท
นางสาวศศิกานต์ กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติอนุมัติกรอบค่าใช้จ่าย สำหรับแผนอนุรักษ์โลมาอิรวดีทะเลสาบสงขลา ในระยะ 5 ปีแรก วงเงิน 402.818 ล้านบาท ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ โดยให้ใช้จ่ายจากเงินช่วยเหลือจากต่างประเทศ และกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม เป็นลำดับแรก หากไม่เพียงพอ มอบหมายให้หน่วยงานผู้ดำเนินงานภายใต้แผนอนุรักษ์โลมาอิรวดีฯ ได้แก่ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และกรมประมง เสนอขอรับจัดสรรจากงบประมาณรายจ่ายประจำปี และ/หรือแหล่งเงินอื่น เพื่อเป็นค่าใช้จ่าย สำหรับแผนงานที่รับผิดชอบต่อไป
นอกจากนี้ คณะรัฐมนตรีได้มอบหมายให้ กค. นำขอบเขตงาน ตัวชี้วัด และกรอบค่าใช้จ่ายสำหรับแผนอนุรักษ์โลมาอิรวดีฯ ในระยะ 5 ปีแรก ดำเนินการเจรจาเงินกู้กับธนาคารโลก พร้อมจัดทำรายละเอียดของเอกสารที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งให้หน่วยงานดำเนินงานภายใต้แผนอนุรักษ์โลมาอิรวดีฯ สามารถดำเนินการควบคู่ไปกับการก่อสร้างโครงการสะพานข้ามทะเลสาบสงขลา อำเภอกระแสสินธุ์ จังหวัดสงขลา – อำเภอเขาชัยสน จังหวัดพัทลุง (โครงการสะพานข้ามทะเลสาบสงขลาฯ) ของกรมทางหลวงชนบท
อนึ่ง โลมาอิรวดี พบได้ทั้งในทะเลอ่าวไทยและอันดามัน ปัจจุบันประชากรโลมาอิรวดีในน่านน้ำไทยมีประมาณ 450 – 500 ตัว โดยโลมาอิรวดีมีความสามารถในการปรับตัวให้อาศัยอยู่ในแหล่งน้ำจืดได้ เช่น บริเวณทะเลสาบสงขลาตอนบน ซึ่งถือเป็น 1 ใน 5 แห่งของโลกที่มีโลมาอิรวดีอาศัยในแหล่งน้ำจืด
ขยายเวลาส่งนักศึกษาชายแดนใต้เรียนต่อมหาวิทยาลัย
นางสาวศศิกานต์ กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติอนุมัติโครงการจัดส่งนักศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้เข้าศึกษาต่อมหาวิทยาลัย (โครงการจัดส่งนักศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้เข้าศึกษาต่อมหาวิทยาลัย) ระยะที่ 11 (พ.ศ. 2567-2571) ภายใต้กรอบวงเงินงบประมาณจำนวน 32,630,000 บาท ตามที่กระทรวงมหาดไทย (มท.) เสนอ โดยส่งเสริมมาตราฐานการศึกษาให้เยาวชนที่ได้รับความเสียหาย หรือ ที่ได้รับผลกระทบจากสถานกาณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้มีโอกาสเข้าถึงการศึกษาในมหาวิทยาลัยที่มีคุณภาพมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลต่อการยกระดับคุณภาพชีวิตด้วยการกระจายความเจริญไปสู่พื้นที่ รวมทั้งสามารถเป็นผู้ประสานเชื่อมโยงความสัมพันธ์ และความเข้าใจอันดีระหว่างภาครัฐและประชาชน โดยมีผลการดำเนินการ 3 ด้าน รายละเอียดดังนี้
-
1. ด้านการคัดเลือกนักศึกษา
2. ด้านการจัดสรรเงินทุนอุดหนุนการศึกษา
3. ด้านการสงวนอัตราเข้ารับราชการ
รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การจัดสรรเงินทุนอุดหนุนการศึกษา และการสงวนอัตราการเข้ารับราชการที่กล่าวมาข้างต้น ยังคงดำเนินการในลักษณะเช่นเดียวกับโครงการจัดส่งนักศึกษาฯ ระยะที่ 10 รวมทั้งยังให้คงจำนวนมหาวิทยาลัยที่จะรับนักศึกษาตามโครงการจัดส่งนักศึกษาฯ ไว้จำนวน 12 แห่ง เช่นเดิม
ทั้งนี้ สำหรับเงินอุดหนุนทุนอุดหนุนการศึกษาในปี พ.ศ. 2567-2568 มท. ได้รับการจัดสรรเงินทุนดังกล่าว ตามพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 และพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 เรียบร้อยแล้ว
เวนคืนที่ดิน ต.พะตง จ.สงขลา ขุดคลองระบายน้ำ
นายอนุกูล พฤกษานุศักดิ์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืน ในท้องที่ตำบลพะตง อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้ รวมทั้งรับความเห็นของกระทรวงคมนาคม สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย
นายอนุกูล กล่าวว่า สาระสำคัญของร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืนในท้องที่ตำบลพะตงอำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา พ.ศ. ….เป็นการกำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืน ในท้องที่ตำบลพะตง อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา เพื่อก่อสร้างโครงการคลองระบายน้ำคลองตง อันเป็นประโยชน์แก่การชลประทาน สำหรับพื้นที่การเกษตร การอุปโภคและบริโภค การป้องกันและบรรเทาอุทกภัย ตลอดจนเพื่อนำที่ดินไปชดเชยให้เกิดความเป็นธรรมแก่เจ้าของที่ดินที่ถูกเวนคืน มีกำหนดใช้บังคับ 3 ปี โดยให้เริ่มต้นเข้าสำรวจที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ที่อยู่ภายในแนวเขตที่ดินที่จะเวนคืน ภายใน 160 วัน นับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับ และเมื่อการก่อสร้างสำเร็จแล้วจะช่วยบรรเทาปัญหาน้ำท่วมบริเวณพื้นที่เทศบาลตำบลพะตง อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา และสามารถเป็นเครื่องมือบริหารจัดการน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งเพิ่มเส้นทางการคมนาคมเข้าพื้นที่เกษตรกรรมเป็นการยกระดับความเป็นอยู่ของราษฎรในพื้นที่ให้ดีขึ้น และส่งเสริมกิจกรรมและประเพณีท้องถิ่น ได้แก่ ประเพณีลอยกระทง เทศกาลแข่งเรือ และเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ โดยเขตที่ดินที่จะเวนคืน มีปริมาณทรัพย์สินที่ต้องจัดกรรมสิทธิ์ประกอบด้วย ค่าซื้อที่ดินจำนวน 83 แปลง เนื้อที่ประมาณ 91-1-21.5 ไร่ เป็นเงินประมาณ 150,651,187.50 บาท ค่าทดแทนต้นไม้ หรือ ต้นผลไม้ โรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่นเป็นเงินประมาณ 93,000,000 บาท ค่าทดแทนเพิ่มขึ้นร้อยละ 2 เป็นเงินประมาณ 4,873,023.75 บาท ที่งอกริมตลิ่งเนื้อที่ประมาณ 6-0-22.8 ไร่ เป็นจำนวนเงิน 4,723,443.04 บาท ค่าทดแทนทรัพย์สินทั้งโครงการคิดเป็นเงินประมาณ 253,247,654.29 บาท รวมทั้ง เพื่อให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีสิทธิเข้าไปทำการสำรวจ เพื่อทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ที่ต้องได้มาโดยแน่ชัด โดยกรมการปกครองได้ตรวจแผนที่ท้ายร่างพระราชกฤษฎีกาในเรื่องนี้แล้ว
ตั้ง ‘มงคล วิมลรัตน์’ อธิบดีกรมพลศึกษา
นายอนุกูล กล่าวว่า วันนี้ที่ประชุม ครม.มีมติอนุมัติ/เห็นชอบ เรื่อง การแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการและผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานรัฐมีรายละเอียดดังนี้
1. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม)
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอ แต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญ สังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง จำนวน 2 ราย เพื่อทดแทนตำแหน่งที่ว่าง ดังนี้
-
1. นายบรรณรักษ์ เสริมทอง รองอธิบดีกรมป่าไม้ ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง
2. นายนิกร ศิรโรจนานนท์ รองอธิบดีกรมป่าไม้ ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป
2. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา)
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเสนอ แต่งตั้งนายมงคล วิมลรัตน์ ข้าราชการพลเรือนสามัญ ตำแหน่ง รองปลัดกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง ให้ดำรงตำแหน่ง อธิบดีกรมพลศึกษา กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เพื่อทดแทนตำแหน่งที่ว่าง
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป
3. เรื่อง ขออนุมัติต่อเวลาการดำรงตำแหน่งของข้าราชการพลเรือนสามัญผู้ดำรงตำแหน่ง ประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงเกษตรและสหกรณ์)
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ การต่อเวลาการดำรงตำแหน่งของ นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ ข้าราชการพลเรือนสามัญ ตำแหน่ง อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) ซึ่งจะดำรงตำแหน่งดังกล่าวครบ 4 ปี ในวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2568 ต่อไปอีก (ครั้งที่ 1) ตั้งแต่วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2568 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2568 ทั้งนี้ นายวิศิษฐ์ฯ จะเกษียณอายุราชการวันที่ 1 ตุลาคม 2568
4. เรื่อง ขออนุมัติต่อเวลาการดำรงตำแหน่งของข้าราชการพลเรือนสามัญผู้ดำรงตำแหน่ง ประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงพาณิชย์)
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เสนอ การต่อเวลาการดำรงตำแหน่งของ นางพิมพ์ชนก พิตต์ฟีลด์ (ชื่อสกุลเดิม นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร) ข้าราชการพลเรือนสามัญ ตำแหน่ง เอกอัครราชทูต คณะผู้แทนถาวรไทยประจำองค์การการค้าโลก และองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก ณ นครเจนีวา สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) ซึ่งจะดำรงตำแหน่งดังกล่าวครบ 4 ปี ในวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2568 ต่อไปอีก 1 ปี (ครั้งที่ 1) ตั้งแต่วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2568 ถึงวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2569
อ่าน มติ ครม.ประจำวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2568 เพิ่มเติม