
ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th/
โอน ‘เงินหมื่น’ เพิ่ม 2 รอบ เก็บตก 6.5 หมื่นราย ยังไม่ได้เงิน หนุนเอกชนดึง ‘ลิซ่า’ จัดเคาต์ดาวน์ปีใหม่ในไทย เร่งเคลียร์หุ้น 16 บริษัท กลัวแจ้งบัญชีทรัพย์สินต่อ ป.ป.ช.ไม่ครบ เผย ‘ทักษิณ’ ไม่มีแพลน ขออนุญาตศาลไปดูไบ ครม.ไฟเขียวสรรพากรแลกเปลี่ยนข้อมูลสินทรัพย์ดิจิทัล ตรวจภาษีข้ามชาติ ขยายเวลาส่งเงินสมทบ สปส.ในพื้นที่น้ำท่วม 42 จว. ผ่านแผนแม่ยกเครื่องกระบวนการยุติธรรมด้วยดิจิทัล มอบ ทส.เซ็น MOU ขอทุน ‘UNDP’ 44 ล้าน ทำรายงาน BTR – NC ตั้ง ‘มนตรี’ คุมบอร์ด รฟม. – ‘บิ๊กรอย – ฆนัท’ ถอนตัว
เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2567 นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ณ ห้องประชุม 501 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล ภายหลังการประชุม ครม. เสร็จสิ้น นายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี รายงานข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี และแถลงผลการประชุม ครม. ณ ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล
มอบ ‘ภูมิธรรม’ คืนพื้นที่เชียงราย 27 ต.ค.นี้
นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในที่ประชุม ครม. วันนี้ ศปช. ส่วนหน้าจังหวัดเชียงราย ได้รายงานแผนการดำเนินการส่งมอบพื้นที่คืนให้อำเภอเมืองเชียงราย และเทศบาลเชียงรายได้ในภายในวันที่ 27 ตุลาคมนี้ โดยมอบหมายให้นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ดำเนินการในเรื่องการส่งมอบพื้นที่
นางสาวแพทองธาร กล่าวต่อว่า ที่ประชุม ครม. รับทราบรายงานการดำเนินการ จากที่นางสาวธีรรัตน์ สําเร็จวาณิชย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย และพลเอก ณัฐพล นาคพาณิชย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม ยังคงปฏิบัติหน้าที่อยู่ในพื้นที่ส่วนหน้าจังหวัดเชียงราย และได้เข้าประชุม เพื่อรายงานผลการปฏิบัติงานว่ามีความคืบหน้าเป็นไปด้วยดี ผ่านโปรแกรม Zoom
โอน ‘เงินหมื่น’ เพิ่ม 2 รอบ เก็บตก 6.5 หมื่นราย ยังไม่ได้เงิน
นางสาวแพทองธาร กล่าวถึงโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ 10,000 บาทว่า “รอบที่ผ่านมาที่ได้มีการดำเนินการโอนเงินไปแล้ว และส่วนผู้ที่ยังไม่ได้รับเงินในหลายกลุ่ม ได้มีการดำเนินการติดต่อเข้ามาได้ และดำเนินการทยอยโอนเงินไปบ้างแล้ว ซึ่งยังเหลือขั้นตอนการโอนเงินเพิ่มในอีก 2 รอบ คือรอบวันที่ 21 พฤศจิกายน และ วันที่ 21 ธันวาคม 2567”
ด้านนายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลังเปิดเผยความคืบหน้าการจ่ายเงินตามโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ ปี 2567 ผ่านผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และคนพิการ (โครงการฯ) ซึ่งมีกลุ่มเป้าหมายโครงการรวมประมาณ 14.55 ล้านคน ว่า กระทรวงการคลังโดยกรมบัญชีกลางได้จ่ายเงิน 10,000 บาทต่อราย ให้แก่กลุ่มเป้าหมายในระหว่างวันที่ 25 , 26 , 27 และ 30 กันยายน 2567 แล้วรวม 14,438,628 ราย แบ่งเป็นจ่ายสำเร็จ 14,057,341 ราย และจ่ายไม่สำเร็จ 381,287 ราย
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2567 กรมบัญชีกลางได้สั่งจ่ายเงินในรอบการจ่ายเงินซ้ำ (Retry) ให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและคนพิการที่มีสิทธิจำนวน 414,908 ราย โดยประกอบด้วยการจ่ายเงินให้แก่ผู้มีสิทธิที่ยังจ่ายเงินไม่สำเร็จในรอบการจ่ายเงินที่ผ่านมา และการจ่ายเงินให้แก่คนพิการที่ได้ดำเนินการต่ออายุบัตรประจำตัวคนพิการหรือทำบัตรประจำตัวคนพิการหรือแก้ไขข้อมูลบัตรประจำตัวคนพิการเรียบร้อยแล้ว อย่างไรก็ดี พบว่า ในรอบการจ่ายเงินซ้ำดังกล่าว ยังมีการจ่ายเงินไม่สำเร็จจำนวน 64,892 ราย เนื่องจากสาเหตุดังนี้
-
1. คนพิการ จ่ายเงินไม่สำเร็จจำนวน 5,052 ราย มีสาเหตุจากบัญชีเงินฝากธนาคารถูกปิด เลขบัญชีเงินฝากธนาคารไม่ถูกต้อง และรวมถึงกรณีคนพิการที่ไม่เคยลงทะเบียนขอรับเบี้ยความพิการมาก่อน ทำให้ไม่มีเลขบัญชีเงินฝากธนาคารสำหรับรับเงิน กรมบัญชีกลางจึงได้จ่ายเงินให้คนพิการกลุ่มนี้ผ่านบัญชีพร้อมเพย์ที่ผูกกับเลขประจำตัวประชาชน แต่พบว่าปลายทางยังไม่ได้ผูกบัญชีพร้อมเพย์ จึงยังจ่ายเงินไม่สำเร็จเป็นจำนวน 4,646 ราย
2. ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จ่ายเงินไม่สำเร็จจำนวน 59,840 ราย มีสาเหตุหลักเนื่องจากยังไม่ได้ผูกบัญชีพร้อมเพย์กับเลขประจำตัวประชาชน บัญชีไม่มีการเคลื่อนไหว บัญชีเงินฝากธนาคารถูกปิด และเลขบัญชีเงินฝากธนาคารไม่ถูกต้อง ในจำนวนนี้รวมถึงกรณีผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่มีบัตรประจำตัวคนพิการด้วย แต่บัตรประจำตัวคนพิการหมดอายุ และยังไม่ได้ต่ออายุบัตรภายในวันที่ 31 สิงหาคม 2567 ซึ่งกลุ่มนี้จะได้รับการจ่ายเงินผ่านบัญชีพร้อมเพย์ ตามสิทธิของผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ดังนั้น เมื่อพบว่าปลายทางยังไม่ได้ผูกบัญชีพร้อมเพย์ จึงยังจ่ายเงินไม่สำเร็จ
จึงขอประชาสัมพันธ์ให้ผู้มีสิทธิดำเนินการผูกบัญชีพร้อมเพย์กับเลขประจำตัวประชาชน หรือ ติดต่อธนาคารเพื่อแก้ไขบัญชีเงินฝากธนาคารที่มีปัญหาข้างต้นโดยเร็ว นอกจากนี้ ปัจจุบันยังมีคนพิการอีกจำนวน 40,658 ราย ที่กรมบัญชีกลางยังไม่เคยสั่งจ่ายเงินให้ เนื่องจากจะต้องต่ออายุบัตรประจำตัวคนพิการ ทำบัตรประจำตัวคนพิการ หรือ แก้ไขข้อมูลประจำตัวคนพิการที่ศูนย์บริการคนพิการทั่วประเทศให้ถูกต้องเสียก่อน ตามเงื่อนไขของโครงการฯ ทั้งนี้ ขอให้ผู้มีสิทธิทุกกลุ่มที่ยังไม่ได้รับเงินเร่งดำเนินการภายในกำหนดเวลา
โฆษกกระทรวงการคลังยังได้เน้นย้ำว่า เมื่อพ้นกำหนดการ Retry ครั้งที่ 3 แล้ว จะยุติการจ่ายเงินให้แก่กลุ่มเป้าหมาย และถือว่ากลุ่มเป้าหมายไม่ประสงค์รับเงินภายใต้โครงการฯ
นอกจากนี้ โฆษกกระทรวงการคลังกล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้ภาครัฐได้จ่ายเงิน 10,000 บาท ให้แก่กลุ่มเป้าหมายแล้วรวมทั้งสิ้น 14,407,357 ราย ทำให้มีเม็ดเงินจากโครงการฯ หมุนเวียนสู่ระบบเศรษฐกิจจำนวน 144,073.57 ล้านบาท ขอให้พี่น้องประชาชนที่ได้รับเงินส่วนนี้แล้ว วางแผนการใช้จ่ายอย่างคุ้มค่าและให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อตนเองและครอบครัวต่อไป
ช่องทางการติดต่อ : 1. ตรวจสอบสิทธิและผลการโอนเงิน: เว็บไซต์ https://โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ2567.cgd.go.th (ตรวจสอบผลการโอนเงินได้ในวันถัดไป หลังจากวันที่จ่ายเงิน) 2. สอบถามข้อมูลผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ: ศูนย์ลูกค้าสัมพันธ์บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ผ่านระบบตอบรับอัตโนมัติ โทรศัพท์หมายเลข 0 2109 2345 กด 1 กด 5 ทุกวันไม่เว้นวันหยุดราชการและวันนักขัตฤกษ์ 24 ชั่วโมง 3. สอบถามข้อมูลคนพิการ: ศูนย์ช่วยเหลือสังคม สายด่วน 1300 กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ 4. สอบถามข้อมูลบุคคลล้มละลายหรือถูกพิทักษ์ทรัพย์: โทรศัพท์หมายเลข 0 2881 4999 หรือสายด่วน 1111 กด 79
หนุนเอกชนดึง ‘ลิซ่า’ จัดเคาต์ดาวน์ปีใหม่ในไทย
ผู้สื่อข่าวถามถึงความชัดเจนการเชิญ นางสาวลลิษา มโนบาล หรือ ‘ลิซ่า’ มาร่วมกิจกรรมเคาต์ดาวน์ที่ประเทศไทย โดย นางสาวแพทองธาร ตอบว่า “ลิซ่า เป็นเอกชน ทำร้อยเปอร์เซ็นต์ ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา (นายสรวงศ์ เทียนทอง) ได้ยินมาว่าเอกชนจะมีการเชิญลิซ่ามา แต่กระบวนการต่างๆ ยังไม่ทราบว่าจะทำอะไรบ้าง เป็นการจัดการของเอกชนร้อยเปอร์เซ็นต์ ถามว่าคอนเฟิร์ม หรือ ยัง…ยังไม่ทราบเลย วันนี้ก็ไปเช็คมาว่าเกิดอะไรขึ้น ก็ดีใจด้วยนะคะ นึกว่าเราจะเชิญ แต่เป็นทางเอกชนทั้งหมด”
ผู้สื่อข่าวถามว่า การเชิญไม่เกี่ยวอะไรกับรัฐบาลเลยใช่หรือไม่ นางสาวแพทองธาร ตอบว่า “ไม่เกี่ยวเลย”
เมื่อถามว่า หากลิซ่ามารัฐบาลยินดีสนับสนุนภาคเอกชนใช่หรือไม่ นางสาวแพทองธาร ตอบว่า “ยินดีแน่นอน อย่างน้อยๆ ลิซ่าเป็นคนไทย และเป็นคนที่ทั่วโลกสนับสนุนและมีแฟนคลับ คิดว่าทุกคนก็น่าจะชอบเช่นกัน ฉะนั้น ถ้าได้คิวมาได้จริงๆ ก็คงเป็นเรื่องตื่นเต้นมากๆ”
ถามว่า นายกฯ จะไปดูหรือไม่ ทำให้นางสาวแพทองธาร พูดว่า “จะมีบัตรไหมคะ อยากไป จะได้ไหมคะ อันนี้เป็นการบอกเอกชน”
เร่งเคลียร์หุ้น 16 บริษัท กลัวแจ้งบัญชีทรัพย์สิน ป.ป.ช.ไม่ครบ
เมื่อถามถึงความคืบหน้าการโอนหุ้นของบริษัทเอกชน ซึ่งมี 16 บริษัทที่นายกฯ ยังไม่ได้โอน นางสาวแพทองธาร ตอบว่า “ขณะที่ทางบริษัทช่วยดูอยู่ว่า มีอะไรที่ต้องเคลียร์ให้เป็นไปตามกฎหมายทุกอย่าง”
ถามต่อว่า จะทันก่อนยื่นบัญชีทรัพย์สิน และหนี้สินต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในวันที่ 6 พฤศจิกายน 2567 หรือไม่ นางสาวแพทองธาร ตอบว่า “จริง ๆ มีเวลาถึง 3 เดือน เขาให้เวลาถึง 3 เดือน ไม่น่าใช่วันที่ 6 พฤศจิกายน เพราะได้ตรวจสอบกับทีมกฎหมายแล้ว น่าจะเป็นช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน หรือ ต้นเดือนธันวาคม ขอบอกอีกที ซึ่งทีมกฎหมายบอกเหมือนกันว่า ให้ถ่ายรูปทรัพย์สินทุกสิ่งอย่างไว้”
ถามต่อว่ากังวลอะไรหรือไม่ นางสาวแพทองธาร ตอบว่า “กลัวไม่ครบ แต่จริงๆ ก็ได้ปรึกษา รองนายกรัฐมนตรีหลายคนว่า ทำอย่างไรกันบ้าง เพราะอยากจะให้ถูกต้อง ไม่ได้มีเรื่องอะไร”
ผบ.ตร.ยันไม่มีกลบเกลื่อนข้อมูลคดี‘ดิไอคอน’
ผู้สื่อข่าวถามเรื่องความคืบหน้าประเด็น ‘ดิไอคอน’ ที่ข้าราชการมีส่วนเกี่ยวข้อง นางสาวแพทองธาร ตอบว่า “คำถาม ทางตำรวจ ผบ.ตร. (พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์) ดำเนินการเรื่องนี้อยู่ พยายามจะหาข้อมูล-ข้อเท็จจริงตามหลักฐานที่มี ได้กำชับไปแล้วว่าถ้าได้ข้อมูลอะไร ก็ขอให้รายงานให้พี่น้องประชาชนทราบ”
“ส่วนเรื่องเจ้าหน้าที่ ก็อยากให้มีความชัดเจนว่าเป็นใคร ทางไหน อย่างไร เพราะประชาชนก็เรียกร้องเรื่องนี้กันเยอะว่าจะมีการกลบเกลื่อนข้อมูล ซึ่งจากการพูดคุยกับ ผบ.ตร. ยืนยันไม่มีการกลบเกลื่อนข้อมูล ได้หลักฐานอะไร ก็ว่ากันไปตามกระบวนการกฎหมาย” นางสาวแพทองธาร กล่าว
เผย ‘ทักษิณ’ ไม่มีแพลน ขออนุญาตศาลไปดูไบ
นางสาวแพทองธาร ตอบคำถามเรื่องนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้เตรียมขออนุญาตศาลเดินทางไปต่างประเทศเพื่อจะไปคุยกับนักธุรกิจที่ดูไบ ว่า “ยังไม่มีแพลนเลย”
เมื่อถามถึง หุ้นบริษัท อัลไพน์ กอล์ฟ แอนด์ สปอร์ตคลับ จำกัด กับบริษัท ประไหมสุหรี พร้อพเพอร์ตี้ จำกัด ก่อนหน้านี้ เป็นการโอน หรือ ขายให้กับคุณแม่และพี่สาวนั้น นางสาวแพทองธาร ตอบว่า “ยังไม่แน่ใจต้องไปดูในรายละเอียดซึ่งมีข้อมูลเยอะ”
หารือพรรคร่วมฯเรื่องกาสิโน แต่ยังไม่สรุป
เมื่อถามถึงวงดินเนอร์เมื่อวานนี้ (21 ต.ค. 67) ว่ามีการหารือเรื่องนโยบาย entertainment complex กับหัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาลหรือไม่ นางสาวแพทองธาร ตอบว่า “คุยหลายเรื่อง ส่วนเรื่องกาสิโนยังไม่สรุป”
เตรียมแต่งตั้งรองโฆษกฯเพิ่มอีก 3 คน
ด้านนายจิรายุ รายงานว่า นายกฯ มีข้อสั่งการเกี่ยวกับมาตรการเยียวยาเพิ่มเติม เพื่อฟื้นฟูชีวิต ฟื้นรายได้ ฟื้นเศรษฐกิจผู้ประสบอุทกภัยมากกว่า 55 จังหวัด ตามประกาศของราชการ
“สัปดาห์ที่แล้ว กระทรวงการคลังได้เสนอมาตรการเยียวยา โดยเฉพาะการฟื้นฟูการกอบกู้กิจการผ่านกิจการเงินกู้สินดอกเบี้ยต่ำ หรือ soft loan เพื่อลดค่าเช่า ช่วยเหลือเกษตรกร ตลอดจนมาตรการลดหย่อนภาษีต่างๆ ส่วนการแต่งตั้งรองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีนั้น นายกฯ ได้รับทราบข้อมูลและสั่งการในที่ประชุมไปแล้ว แต่ต้องรอตรวจสอบประวัติให้เรียบร้อยก่อน และแต่งตั้งพร้อมกันทั้ง 3 ท่าน ไม่สามารถแยกตั้งได้ ประวัติผ่านเรียบร้อย 2 ท่าน กำลังรอท่านที่สาม เพื่อที่จะเสนอใน ครม. โอกาสต่อไป” นายจิรายุ กล่าว
นอกจากนี้ นายจิรายุ กล่าวต่อว่า ศปช. ส่วนหน้าจังหวัดเชียงรายได้ระดมรถน้ำเข้าไปฉีดและทำความสะอาด คาดว่าสถานการณ์จะกลับเข้าสู่สภาวะปกติและพร้อมรับเทศากลหน้าหนาว ซึ่งถือเป็นไฮซีซั่นของประเทศไทยในภาคเหนือ
ตีกลับ ร่าง พ.ร.บ.จัดระเบียบฯกลาโหม
นายจิรายุ รายงานว่า ที่ประชุม ครม. วันนี้ ได้รับ “ร่าง พ.ร.บ.จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม พ.ศ. …” มาพิจารณาก่อนรับหลักการ ซึ่งที่ประชุมรัฐสภาได้มีการลงมติ และส่งให้รัฐบาลนำไปพิจารณา ซึ่งกรอบเวลาทั้งหมดจะครบภายในไม่กี่วันข้างหน้า
“ที่ประชุม ครม. มีความเห็นว่า เนื่องจากร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวมีรายละเอียดมาก และมีผลกระทบเป็นวงกว้าง ที่สำคัญ กระทรวงกลาโหมได้ยกร่างขึ้นมา” นายจิรายุ กล่าว
“นายกฯ บอกในที่ประชุมว่า ขอให้พูดคุยกับวิปรัฐบาล เพื่อเสนอไปยังรัฐสภา ในสัปดาห์หน้าร่างของรัฐบาลจะนำเข้าสู่การประกบเพื่อพิจารณาคู่กัน โดยเฉพาะสัดส่วนไม่ว่าจะเป็น สัดส่วน ครม.ในสภากลาโหม ขอให้กระทรวงกลาโหม เร่งสรุปความคิดเห็นต่างๆ” นายจิรายุ กล่าว
นายจิรายุ กล่าวถึงความเห็นของหน่วยงานต่างๆ ต่อร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าว ดังนี้
-
• กระทรวงกลาโหม บอกว่า ร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวมีความไม่ชัดเจน และได้ตัดอำนาจของสภากลาโหมในการให้ความเห็นสำหรับการดำเนินการที่สำคัญของรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม หรือคณะที่ปรึกษา อาจทำให้การพิจารณาของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมขาดความรอบคอบ รวมทั้งการผลักดันภาระความรับผิดชอบไปให้แต่รัฐมนตรีเพียงท่านเดียว
• กอ.รมน. และ ศรชล. เห็นว่า ยังไม่ควรรับหลักการร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าว
• สศช. เห็นว่าไม่ควรรับหลักการ เนื่องจาก ร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าว หลายมาตราให้อำนาจในการสั่งการและอนุมัติแก่บุคคล แต่ยังไม่มีกลไกป้องกันการใช้บุคคล จึงมีความจำเป็นต้องปรับปรุงบทบัญญัติในหลายประเด็น
• สำนักงบประมาณ เห็นว่า ไม่ควรรับหลักการ เนื่องจากเกี่ยวข้องกับงบประมาณยังไม่มีความชัดเจน
• สภาความมั่นคงแห่งชาติ เห็นว่า ไม่ควรรับหลักการ และขอให้พิจารณาอย่างรอบคอบและระมัดระวัง รวมทั้งคำนึงถึงผลกระทบให้รอบด้าน
“ที่ประชุม ครม. จึงมีมติยังไม่รับหลักการ และเห็นควรมอบหมายให้กระทรวงกลาโหม เร่งประเมินผลสัมฤทธิ์ของร่าง พร้อมเร่งผลักดันให้มีการเสนอร่างดังกล่าวที่มีการแก้ไขให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล”
มติ ครม.มีดังนี้
ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th
ขยายเวลาส่งเงินสมทบ สปส.ในพื้นที่น้ำท่วม 42 จว.
นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในที่ประชุม ครม. กระทรวงแรงงานได้เสนอให้ ครม. เห็นชอบในหลักการร่างประกาศรวม 2 ฉบับ ได้แก่
-
1. ร่างประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่อง ขยายกำหนดเวลาการยื่นแบบรายการแสดงการส่งเงินสมทบและการนำส่งเงินสมทบของนายจ้าง และผู้ประกันตนในท้องที่ที่ประสบภัยพิบัติ พ.ศ. …. ซึ่งมีสาระสำคัญเป็นการขยายกำหนดเวลาการยื่นแบบรายการแสดงการส่งเงินสมทบของนายจ้าง และการนำส่งเงินสมทบของนายจ้างตามมาตรา 47 วรรคสอง และการนำส่งเงินสมทบของผู้ประกันตนตามมาตรา 39 ในท้องที่ที่ประสบภัยพิบัติอย่างร้ายแรงจากวาตภัยและอุทกภัยในงวดเดือนกันยายน พ.ศ. 2567 ถึงงวดเดือนธันวาคม พ.ศ. 2567 เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนแก่นายจ้างและผู้ประกันตน
2. ร่างประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขให้ลดหย่อนการออกเงินสมทบของนายจ้าง และผู้ประกันตนในท้องที่ที่ประสบภัยพิบัติอย่างร้ายแรง พ.ศ. …. ซึ่งมีสาระสำคัญเป็นการลดหย่อนการออกเงินสมทบกองทุนประกันสังคมของนายจ้าง ผู้ประกันตนตามมาตรา 33 และผู้ประกันตนมาตรา 39 ในท้องที่ที่ประสบภัยพิบัติอย่างร้ายแรง โดยให้การลดหย่อนการออกเงินสมทบมีผลใช้บังคับในงวดเดือนตุลาคม พ.ศ. 2567 ถึงงวดเดือนมีนาคม พ.ศ. 2568
สาระสำคัญ
1. ร่างประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่อง ขยายกำหนดเวลาการยื่นแบบรายการแสดงการส่งเงินสมทบและการนำส่งเงินสมทบของนายจ้าง และผู้ประกันตนในท้องที่ที่ประสบภัยพิบัติ พ.ศ. …. (เดิม ภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดจากเดือนที่มีการหักเงินสมทบไว้)
2. ร่างประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขให้ลดหย่อนการออกเงินสมทบของนายจ้าง และผู้ประกันตนในท้องที่ที่ประสบภัยพิบัติอย่างร้ายแรง พ.ศ. ….
-
(1) กรณีนายจ้างซึ่งขึ้นทะเบียนนายจ้าง และผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ซึ่งขึ้นทะเบียนผู้ประกันตน ในท้องที่ที่กำหนดในข้อ 1. ให้ปรับลดอัตราเงินสมทบกองทุนประกันสังคม โดยให้นายจ้าง และผู้ประกันตนตามมาตรา 33 นำส่งเงินสมทบ จากเดิมอัตราฝ่ายละร้อยละ 5 เป็นอัตราฝ่ายละร้อยละ 3 ของค่าจ้างผู้ประกันตน
(2) กรณีผู้ประกันตนตามมาตรา 39 ซึ่งมีทะเบียนผู้ประกันตนในท้องที่ที่กำหนดในข้อ 1. ให้ปรับลดอัตราเงินสมทบกองทุนประกันสังคมของผู้ประกันตนตามมาตรา 39 โดยนำส่งเงินสมทบ จากเดิมอัตราร้อยละ 9 เป็นอัตราร้อยละ 5.90 ของค่าจ้างของผู้ประกันตน คิดเป็นจำนวนเงิน จากเดือนละ 432 บาท เป็นเดือนละ 283 บาท ทั้งนี้ คณะกรรมการพิจารณาร่างกฎหมายของ รง. ครั้งที่ 14/2567 เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2567 มีมติเห็นชอบร่างประกาศทั้ง 2 ฉบับแล้ว
“สาระสำคัญคือการขยายเวลาการยื่นแบบของนายจ้าง ตามมาตรา 47(2) และการนำเงินสมทบของผู้ประกันตนมาตรา 39 ในท้องที่ที่ประสบอุทกภัยและภัยพิบัติอย่างร้ายแรง ทั้งหมด 42 จังหวัด เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่นายจ้างและผู้ประกันตน ในงวดเดือนกันยายน ถึง ธันวาคม 2567 เดิมในงวดของเดือนนั้นจะต้องยื่นแบบรายการแสดงเงินสมทบดังกล่าวนี้ กระทรวงแรงงานบอกว่า ช่วงนี้ทั้งนายจ้างและลูกจ้างมีสภาพปัญหาอยู่ระหว่างการฟื้นตัวในช่วงของเดือนตุลาคมถึงธันวาคม” นายจิรายุ กล่าว
ออก กม.คุมเข้มการผลิต – ชื้อ – ขาย ยาผสมสารเสพติด
นายจิรายุ กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบร่างกฎกระทรวงการอนุญาตผลิต นำเข้า ส่งออก หรือ จำหน่ายยาเสพติดให้โทษในประเภท 3 พ.ศ. …. ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) ตรวจพิจารณาแล้วตามที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เสนอ
ร่างกฎกระทรวงดังกล่าว คณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติหลักการเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2566 และคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 3 กันยายน 2567 ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ตรวจพิจารณาแล้ว แต่เนื่องจากมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ จึงได้เสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง โดยเป็นการออกกฎกระทรวงขึ้นใหม่เพื่อใช้บังคับแทนกฎกระทรวงทั้ง 5 ฉบับ ซึ่งร่างกฎกระทรวงฉบับนี้ยังคงมีหลักการเช่นเดียวกับกฎกระทรวงฉบับเดิม โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้
-
1. กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการขออนุญาตผลิตนำเข้า ส่งออกหรือจำหน่าย ซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 3 ที่มีลักษณะเป็นตำรับยาที่มียาเสพติดให้โทษในประเภท 2 ผสมอยู่ (ยาเสพติดในประเภท 3 ได้แก่ ยาแก้ไอที่มีตัวยาโคเคอีน ยาแก้ท้องเสีย ที่มีฝิ่นผสมอยู่ด้วย ยาฉีดระงับปวดต่าง ๆ เช่น มอร์ฟีน เพทิดีน ซึ่งสกัดมาจากฝิ่น)
2. กำหนดคำนิยามคำว่า “ขายส่ง” โดยกระทรวงสาธารณสุข ขอปรับเพิ่มถ้อยคำในบทนิยามคำว่า “ขายส่ง” หมายความว่า การจำหน่ายโดยตรงให้แก่ (1) ผู้รับอนุญาตผลิต จำหน่าย หรือจำหน่ายโดยการขายส่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 3 เพื่อให้สอดคล้องกับร่างกฎกระทรวง การอนุญาตผลิต นำเข้า ส่งออก หรือ จำหน่ายวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 3 หรือประเภท 4 พ.ศ. ….
3. กำหนดคุณสมบัติของผู้ขออนุญาต (ปรับปรุงให้สอดคล้องตามกฎหมายว่าด้วยยา โดยเพิ่มเติมผู้ขออนุญาตจำหน่ายยาเสพติดในประเภท 3 โดยการขายส่ง)
4. กำหนดให้การขออนุญาตและการออกใบอนุญาต การออกใบแทนใบอนุญาต ให้ดำเนินการด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์เป็นหลัก (กำหนดขึ้นใหม่) และกำหนดให้ใบอนุญาตมีอายุถึงวันที่ 31 ธันวาคมของปีที่ออกใบอนุญาต และหากประสงค์จะต่อใบอนุญาตให้ยื่นคำขอก่อนใบอนุญาตสิ้นผล (คงเดิม)
5. กำหนดอัตราค่าธรรมเนียม และการยกเว้นค่าธรรมเนียมซึ่งอัตราค่าธรรมเนียมตามร่างกฎกระทรวงฉบับนี้ไม่เกินอัตราที่ประมวลกฎหมายยาเสพติดกำหนดไว้ โดยส่วนใหญ่ยังคงเป็นอัตราเดียวกับกฎกระทรวงฉบับเดิม และได้ปรับปรุงจากกฎกระทรวงฉบับเดิม เช่น เพิ่มเติมค่าธรรมเนียมใบอนุญาตจำหน่ายยาเสพติดให้โทษในประเภท 3 โดยการขายส่ง ฉบับละ 1,000 บาท เพื่อให้สอดคล้องตามกฎหมายว่าด้วยยา และแก้ไขอัตราค่าธรรมเนียมใบอนุญาตนำเข้า หรือ ส่งออกเฉพาะคราวยาเสพติดให้โทษในประเภท 3 เป็น ฉบับละ 500 บาท (เดิม 100 บาท) เพื่อให้สอดคล้องกับร่างกฎกระทรวงการอนุญาตผลิต นำเข้า ส่งออกหรือจำหน่ายวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 3 หรือประเภท พ.ศ. ….
ทั้งนี้ ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 30 วันนับแต่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
ผ่านแผนแม่ยกเครื่องกระบวนการยุติธรรมด้วยดิจิทัล
นายจิรายุ กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงทรวงยุติธรรม (ยธ.) เสนอ ดังนี้
1. เห็นชอบ (ร่าง) แผนแม่บทเทคโนโลยีสารสนเทศกระบวนการยุติธรรม ฉบับที่ 1 (พ.ศ. (พ.ศ. 2566 – 2569) ((ร่าง) แผนแม่บทฯ ตามที่คณะกรรมการพัฒนาการบริหารงานยุติธรรมแห่งชาติ (กพยช.) เสนอ
2. ให้หน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนําแผนแม่บทนี้ไปใช้เป็นกรอบทิศทางและแนวทางการดำเนินงาน รวมทั้งใช้เป็นกรอบแนวทางจัดทำและเสนอคำของบประมาณของหน่วยงานตามห้วงระยะเวลาการบังคับใช้ของแผน
3. ให้สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และสำนักงบประมาณ (สงป.) สนับสนุนโครงการ/กิจกรรมที่สอดคล้อง และสนับสนุนมิติ การบริหารงานและเป้าหมายของ (ร่าง) แผนแม่บทฯ และใช้เป็นแนวทางการจัดสรรงบประมาณ แก่หน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามห้วงระยะเวลาการบังคับใช้ของแผน
4. ให้สำนักงานกิจการยุติธรรม ยธ. ในฐานะฝ่ายเลขานุการ กพยช. (ร่าง) แผนแม่บทฯ ไปสู่การปฏิบัติ และรายงานผลต่อคณะรัฐมนตรีอย่างต่อเนื่อง เป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการประสาน สนับสนุน และติดตามประเมินผลการดำเนินงานตาม
สาระสำคัญ
1. (ร่าง) แผนแม่บทเทคโนโลยีสารสนเทศกระบวนการยุติธรรม ฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2566 – 2569) ที่กระทรวงยุติธรรม (ยธ.) เสนอมาในครั้งนี้ เป็นการดำเนินการต่อเนื่อง จากยุทธศาสตร์ที่ 5 การขับเคลื่อนกระบวนการยุติธรรมด้วยดิจิทัล ของแผนแม่บทการบริหาร งานยุติธรรมแห่งชาติ ฉบับที่ 3 (พ.ศ. 2562 – 2569) เพื่อใช้เป็นกรอบนโยบายทิศทางการดำเนินงาน และแนวทางประสานความร่วมมือในการพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในกระบวนการยุติธรรมให้มีความต่อเนื่องเป็นระบบ เชื่อมโยง และเกิด การใช้ทรัพยากรร่วมกันอย่างคุ้มค่า โดย (ร่าง) แผนแม่บทฯ ที่ ยธ. เสนอในครั้งนี้มุ่งเน้นการพลิกโฉมของระบบบริการด้านยุติธรรมสู่ดิจิทัล (Digital Transformation) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ในการให้บริการประชาชน และการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ ในกระบวนการยุติธรรม ในขณะที่ยุทธศาสตร์ที่ 5 มุ่งเน้นการเชื่อมโยงระบบฐานข้อมูลและระบบเทคโนโลยีสารสนเทศระหว่างหน่วยงาน ซึ่งได้ผ่านการพิจารณาจากสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติแล้ว
ทั้งนี้ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สำนักงบประมาณ สำนักงาน ก.พ. สำนักงาน สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงาน ก.พ.ร. สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ สำนักงานศาลปกครอง สำนักงานศาลยุติธรรม สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ สำนักงานอัยการสูงสุด และสำนักงานพัฒนา รัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) พิจารณาแล้วเห็นชอบ/เห็นชอบในหลักการ/ไม่ขัดข้อง
2. กพยช. [รองนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น (นายวิษณุ เครืองาม) เป็นประธาน] ในคราวการประชุมครั้งที่ 1/2565 เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2565 มีมติเห็นชอบ (ร่าง) แผนแม่บทฯ ซึ่งมีกรอบการดำเนินงานประกอบด้วย 3 เป้าหมายภาพรวม 3 ตัวชี้วัดภาพรวม และมีองค์ประกอบ แบ่งออกเป็น 3 มิติ 7 เป้าหมาย7 ตัวชี้วัด สรุปได้ ดังนี้
[pdf-embedder url=”https://thaipublica.org/wp-content/uploads/2024/10/แผนแม่บท.pdf”]ทั้งนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการดำเนินการตามแผนแม่บทดังกล่าวมี 13 หน่วยงาน ประกอบด้วย (1) หน่วยงานในกระบวนการยุติธรรม 7 หน่วยงาน เช่น ยธ. สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานศาลยุติธรรม เป็นต้น และ (2) หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 6 หน่วยงาน เช่น กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดศ.) สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) (สพร.) สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น โดยเฉพาะการดำเนินการในมิติที่ 3 ซึ่งเกี่ยวข้องกับการเสริมสร้างความมั่นคงปลอดภัยให้แก่ระบบเครือข่ายเทคโนโลยีสารสนเทศของหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรม
3. การขับเคลื่อนและการติดตามประเมินผล มีแนวทางการดำเนิน สรุปได้ ดังนี้
-
3.1 แนวทางการขับเคลื่อนแผนไปสู่การปฏิบัติ ขับเคลื่อน ผ่านกลไกคณะอนุกรรมการพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศกระบวนการยุติธรรม (เป็นคณะอนุกรรมการภายใต้ กพยช.) ในการเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจกับหน่วยงานกระบวนการยุติธรรมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้นําไปสู่การปฏิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้ง ประสานความร่วมมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อสนับสนุนการจัดสรรทรัพยากรต่าง ๆ ให้เกิดผลตามจุดมุ่งหมาย เช่น สศช. [กำกับดูแลทิศทางการพัฒนาตามแนวทางในแผนพัฒนาเศรษฐกิจ และสังคมแห่งชาติฉบับที่ 13 (พ.ศ. 2566 – 2570) เพื่อเป็นกรอบการพัฒนาในประเด็นที่เกี่ยวข้องในการยุติธรรม] สงป. (สนับสนุนคำของบประมาณในลักษณะงบประมาณบูรณาการ) สำนักงาน ก.พ. และสำนักงาน ก.พ.ร.(ส่งเสริมการพัฒนาความรู้ความสามารถของบุคลากร และสนับสนุนอัตรากำลัง) สพร. (ส่งเสริมและสนับสนุน Digital Government Transformation) กศ. (สนับสนุนการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลต่อยอดการวิจัยและพัฒนา และการพัฒนากำลังคนด้านดิจิทัล)
3.2 แนวทางการติดตามประเมินผล ดำเนินการผ่านกลไก คณะอนุกรรมการพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศกระบวนการยุติธรรม เพื่อให้ทราบถึงประสิทธิภาพ และประสิทธิผลการดำเนินงานตามแผนแม่บทฯ พร้อมจัดทำรายงานเสนอต่อ กพยช. ทราบเป็นประจำทุกปี โดยสำนักงานกิจการยุติธรรมทำหน้าที่กำกับติดตามตัวชี้วัดของแต่ละเป้าหมายและติดตามผลการดำเนินงานว่าตรงตามแผนหรือไม่ พร้อมปัญหาและอุปสรรคจากการนํา แผนแม่บทฯ ไปใช้
หมายเหตุ : การประเมินศักยภาพทางเทคโนโลยีสารสนเทศของหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมกำหนดเป็นระดับขั้นของความสำเร็จ (Milestone) แบ่งเป็น 4 ระดับคะแนน ดังนี้
-
ระดับคะแนนที่ 1 หน่วยงานไม่มีความพร้อมด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (Information and Communications Technology: ICT)
ระดับคะแนนที่ 2 หน่วยงานมีความตระหนักด้าน ICT แต่ยังไม่มีแบบแผนการนําไปใช้ที่ดีและถูกต้อง
ระดับคะแนนที่ 3 มีการใช้ ICT ในหน่วยงานเพื่อประโยชน์ในการบริหารจัดการการทำงานและมีแผนการทำงานด้าน ICT แต่อาจจะยังไม่เพียงพอ
ระดับคะแนนที่ 4 มีการใช้ ICT อย่างเต็มรูปแบบและมีวัฒนธรรมองค์กรในการใช้ ICT อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งมีแผนงาน ที่ชัดเจน
ทั้งนี้ เกณฑ์การประเมินประกอบด้วย 5 ด้าน ได้แก่ 1) ด้านโครงสร้างระบบ 2) ด้านข้อมูล 3) ด้านอุปกรณ์ เครื่องมือ และซอฟต์แวร์ 4) ด้านบุคลากร และ 5) ด้านธรรมาภิบาลข้อมูลและความมั่นคงปลอดภัยของระบบ
ไฟเขียวสรรพากรแลกเปลี่ยนข้อมูลสินทรัพย์ดิจิทัล ตรวจภาษีข้ามชาติ
นายจิรายุ กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบและอนุมัติตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ ดังนี้
-
1. เห็นชอบเพื่อให้คำมั่น และอนุมัติให้มีการลงนามร่างหนังสือให้คำมั่น (Letter of Commitment) เพื่อเข้าร่วมเป็นภาคีความตกลงระหว่างเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจ ในการแลกเปลี่ยนข้อมูลตามกรอบการรายงานข้อมูลสินทรัพย์ดิจิทัลแบบอัตโนมัติ (Multilateral Competent Authority Agreement on Automatic Exchange of Information pursuant to the Crypto-Asset Reporting Framework: CARF MCAA) (ร่างหนังสือให้คำมั่น CARF MCAA) และจะดำเนินการแลกเปลี่ยนข้อมูลตามกรอบการรายงานข้อมูลสินทรัพย์ดิจิทัลแบบอัตโนมัติ (CARF) ภายในปี 2571 โดยหากมีความจำเป็นต้องปรับปรุงแก้ไขเอกสารดังกล่าว ในส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญหรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของประเทศไทย ให้ กค. โดยกรมสรรพากรดำเนินการได้โดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอีก
2. อนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง หรือ ผู้แทนที่ได้รับมอบหมายเป็นผู้ลงนามร่างหนังสือให้คำมั่น CARF MCAA
สาระสำคัญของเรื่อง
-
1) หลักการของร่างหนังสือให้คำมั่น CARF MCAA จะเป็นการกำหนดให้ผู้มีหน้าที่รายงานข้อมูลบัญชีสินทรัพย์ดิจิทัลของลูกค้าและธุรกรรมที่เกิดขึ้น ต้องเก็บรวบรวม ตรวจสอบและรายงานข้อมูลดังกล่าวต่อ กค. (กรมสรรพากร) (รายละเอียดขอบเขตของผู้มีหน้าที่รายงานข้อมูลดังกล่าว ขอบเขตของข้อมูลสินทรัพย์ที่ต้องรายงาน วิธีการตรวจสอบและการรายงานข้อมูลปรากฏตามข้อ 4.) ซึ่งประเทศไทยจะดำเนินการแลกเปลี่ยนข้อมูลครั้งแรกแบบอัตโนมัติเป็นรายปีกับภาคีคู่สัญญาภายในปี 2571 เพื่อให้มีระยะเวลาเพียงพอสำหรับการเตรียมการด้านกฎหมายและระบบงานภายในประเทศที่เกี่ยวข้อง
ทั้งนี้ การส่งหนังสือให้คำมั่นดังกล่าวภายใน 31 ตุลาคม 2567 ประเทศไทยจะไม่ถูกระบุชื่อว่าเป็นประเทศที่ไม่ให้ความร่วมมือทางภาษีไปยังกลุ่มประเทศ G20 อันเป็นการแสดงให้เห็นถึงการยกระดับการแลกเปลี่ยนข้อมูลสินทรัพย์ดิจิทัลระหว่างประเทศให้เป็นไปตามมาตรฐานสากลของประเทศไทย โดย กค. มีหนังสือสอบถามกระทรวงการต่างประเทศ (กต.) (กรมสนธิสัญญาและกฎหมาย) สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) ธนาคารแห่งประเทศไทย และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (สำนักงาน กลต.) ซึ่งหน่วยงานดังกล่าวพิจารณาแล้วไม่มีขัดข้องตามที่ กค. เสนอ
2) ภายใต้กรอบความร่วมมือ Global Forum (ที่ประเทศไทยเข้าร่วมเป็นสมาชิกตามมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 23 สิงหาคม 2559) ประเทศไทยต้องดำเนินการยกระดับการแลกเปลี่ยนข้อมูลให้เป็นไปตามมาตรฐานสากลเพื่อเสริมสร้างความโปร่งใสทางภาษีของประเทศไทย โดยต้องขยายเครือข่ายภาคีคู่สัญญาในการแลกเปลี่ยนข้อมูลและต้องแลกเปลี่ยนข้อมูลแบบอัตโนมัติเป็นไปตามมาตรฐานที่ OECD และ Global Forum กำหนด
ปัจจุบันประเทศไทยมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลบัญชีทางการเงินแบบรายปีกับภาคีคู่สัญญาแบบส่ง และรับข้อมูลแบบต่างตอบแทน (Reciprocal) ที่เรียกว่า Common Reporting Standard (CRS) โดยเริ่มแลกเปลี่ยนข้อมูลดังกล่าวครั้งแรกเมื่อเดือนกันยายน 2566
3) ในปี 2565 Global Forum ได้พัฒนากรอบการรายงานข้อมูลสินทรัพย์ดิจิทัล (CARF) ตามข้อเรียกร้องของกลุ่มประเทศ G20 ที่มุ่งเน้นการจัดการความเสี่ยงทางภาษีจากสินทรัพย์ดิจิทัล ซึ่งมีการเติบโตอย่างรวดเร็วและยากต่อการควบคุมเนื่องจากสินทรัพย์ดิจิทัลสามารถถือครองได้ โดยไม่มีตัวกลางทำให้เสี่ยงต่อการถูกใช้หลบเลี่ยงภาษีและซ่อนทรัพย์สินในต่างประเทศ ดังนั้น กรอบการรายงานข้อมูลสินทรัพย์ดิจิทัล (CARF) จึงถูกพัฒนาขึ้น เพื่อสร้างมาตรฐานสากลสำหรับการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างรัฐบาล รวมถึงช่วยเพิ่มความโปร่งใสและประสิทธิภาพในการจัดเก็บภาษีจากธุรกรรมสินทรัพย์ดิจิทัล
4) หลักการของกรอบการรายงานข้อมูลสินทรัพย์ดิจิทัล (CARF) กำหนดให้ผู้มีหน้าที่รายงานจะต้องเก็บรวบรวม ตรวจสอบ และรายงานข้อมูลบัญชีสินทรัพย์ดิจิทัลของลูกค้า และธุรกรรมที่เกิดขึ้นต่อหน่วยงานภาษี (กรมสรรพากร) ตามที่กฎหมายภายในประเทศกำหนด ซึ่งจะดำเนินการแลกเปลี่ยนข้อมูลแบบอัตโนมัติเป็นรายปีกับภาคีคู่สัญญา โดยสามารถสรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
มอบ ทส.เซ็น MOU ขอทุน ‘UNDP’ 44 ล้าน ทำรายงาน BTR – NC
นายจิรายุ กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบร่างบันทึกความตกลงระหว่างโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ และหน่วยดำเนินงาน (ร่างบันทึกความตกลงฯ) และร่างเอกสารโครงการภายใต้ โครงการจัดทำรายงานความโปร่งใสรายสองปี (Biennial Transparency Report : รายงาน BTR) ฉบับที่ 1 และรายงานแห่งชาติ (Nations Communication : รายงาน NC) ฉบับที่ 5 รวมกับรายงาน BTR ฉบับที่ 2 (ร่างเอกสารโครงการฯ)
ทั้งนี้ หากมีความจำเป็นต้องแก้ไขปรับปรุงถ้อยคำในร่างบันทึกความตกลงฯ ที่มิใช่สาระสำคัญ ให้ ทส. โดยกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และสิ่งแวดล้อมพิจารณาดำเนินการได้ โดยไม่ต้องเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอีก รวมทั้งเห็นชอบให้เลขาธิการสำนักงานนโยบาย และแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และอธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม หรือ ผู้ที่ได้รับมอบหมายเป็นผู้ลงนามในบันทึกความตกลงร่วมกับผู้แทน UNDP ภายใต้โครงการจัดทำรายงาน BTR ฉบับที่ 1 และรายงาน NC ฉบับที่ 5 รวมกับรายงาน BTR ฉบับที่ 2 (โครงการจัดทำรายงาน BTR/NC) ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอ
สาระสำคัญ
-
1. ประเทศไทยเป็นประเทศภาคีของกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (กรอบอนุสัญญาฯ) ซึ่งกำหนดให้ประเทศภาคีต้องจัดทำรายงานแห่งชาติ (Nations Communication : รายงาน NC) ทุก ๆ 4 ปี และต่อมาในเดือนธันวาคม 2561 ที่ประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาฯ ได้กำหนดเพิ่มเติมให้รัฐภาคี ต้องส่งรายงานความโปร่งใสรายสองปี (Biennial Transparency Report : รายงาน BTR) ทุก ๆ 2 ปี ดังนั้น สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม ร่วมกับโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (United Nations Development Program me: UNDP) จึงได้จัดทำร่างบันทึกความตกลง ระหว่างโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ และหน่วยดำเนินงาน (ร่างบันทึกความตกลงฯ) และร่างเอกสารโครงการภายใต้โครงการจัดทำรายงาน BTR ฉบับที่ 1 และรายงาน NC ฉบับที่ 5 รวมกับรายงาน BTR ฉบับที่ 2 (ร่างเอกสารโครงการฯ) ซึ่งได้กำหนดรายละเอียดการสนับสนุนของ UNDP ที่จะช่วยเหลือประเทศไทยในการจัดทำรายงาน BTR ฉบับที่ 1 และฉบับที่ 2 และรายงาน NC ฉบับที่ 5 เช่น สรรหาบุคลากร/สินค้า/บริการ เพื่อนํามาดำเนินโครงการรายงานความคืบหน้า เป็นต้น ซึ่งจะเสนอขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนสิ่งแวดล้อมโลก จำนวน 1,233,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 44.56 ล้านบาท) โดยรายงาน BTR ฉบับที่ 1 จะต้องดำเนินการให้เสร็จสิ้นภายในปี 2567 ส่วนรายงาน NC ฉบับที่ 5 รวมกับรายงาน BTR ฉบับที่ 2 มีกำหนดส่งภายในปี 2569
ทั้งนี้ คณะกรรมการนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติในการประชุม ครั้งที่ 1/2567 ที่ประชุมมีมติเห็นชอบในหลักการต่อร่างบันทึกความตกลงฯ และร่างเอกสารโครงการฯ แล้ว
2. ร่างบันทึกความตกลงฯ เป็นข้อตกลงที่จะขอรับการสนับสนุนจาก UNDP เพื่อให้อํานวยความสะดวกในการดำเนินโครงการจัดทำรายงาน BTR/NC โดย UNDP จะให้การสนับสนุนและช่วยเหลือในกิจกรรมต่าง ๆ ของโครงการฯ (เช่น สรรหาบุคลากรอํานวยความสะดวกในกิจกรรมการฝึกอบรมส่งรายงานความก้าวหน้าในการสนับสนุนการดำเนินโครงการ) ตามคำขอของประเทศไทย
3. ร่างเอกสารโครงการฯ โดยมีรายละเอียดที่สำคัญ ดังนี้
ตั้ง ‘มนตรี’ คุมบอร์ด รฟม. – ‘บิ๊กรอย – ฆนัท’ ถอนตัว
นายจิรายุ กล่าวต่อว่า วันที่ประชุม ครม.มีมติอนุมัติ/เห็นชอบ การแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการและผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานรัฐ มีรายละเอียดดังนี้
1. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ (กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม)
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมเสนอแต่งตั้ง นางสาวอัณณ์ณิชา โตกิจกล้าธวัฒน์ ข้าราชการพลเรือนสามัญ ตำแหน่ง ผู้อำนวยการกอง (ผู้อำนวยการสูง) กองมาตรฐานการวิจัยและสถาบันพัฒนาการดำเนินการต่อสัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ให้ดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษาด้านระบบวิจัย (นักวิเคราะห์นโยบายและแผนทรงคุณวุฒิ) สำนักงานการวิจัยแห่งชาติกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ตั้งแต่วันที่ 4 เมษายน 2567 ซึ่งเป็นวันที่มีคุณสมบัติครบถ้วนสมบูรณ์ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้ง
2. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ (กระทรวงวัฒนธรรม)
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงวัฒนธรรมเสนอแต่งตั้ง นางสาวเด่นดาว ศิลปานนท์ ข้าราชการพลเรือนสามัญ ตำแหน่ง ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ (ภัณฑารักษ์เชี่ยวชาญ) สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรมศิลปากร ให้ดำรงตำแหน่ง ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านโบราณคดี (โบราณคดี และพิพิธภัณฑ์) (นักโบราณคดีทรงคุณวุฒิ) กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม ตั้งแต่วันที่ 31 กรกฎาคม 2567 ซึ่งเป็นวันที่มีคุณสมบัติครบถ้วนสมบูรณ์ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้ง
3. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่ง ประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ (กระทรวงศึกษาธิการ)
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงศึกษาธิการเสนอแต่งตั้ง นายชนะ สุ่มมาตย์ ข้าราชการพลเรือนสามัญ ตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาการแนะแนว (นักวิชาการศึกษาเชี่ยวชาญ) สำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ให้ดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษาด้านการศึกษาพิเศษและผู้ด้อยโอกาส (นักวิชาการศึกษาทรงคุณวุฒิ) สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ ตั้งแต่วันที่ 30 กรกฎาคม 2567 ซึ่งเป็นวันที่มีคุณสมบัติครบถ้วนสมบูรณ์ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้ง
4. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่ง ประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ (กระทรวงศึกษาธิการ)
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงศึกษาธิการเสนอ แต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญ สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ ให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ จำนวน 2 ราย ดังนี้
-
1. นางสาวลิลิน ทรงผาสุก นักวิชาการศึกษาเชี่ยวชาญ กลุ่มพัฒนาระบบบริหาร สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ให้ดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษาด้านนโยบายและแผน (นักวิชาการศึกษาทรงคุณวุฒิ) สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ ตั้งแต่วันที่ 29 มีนาคม 2567
2. นายวิษณุ ทรัพย์สมบัติ ผู้อำนวยการสำนัก (ผู้อำนวยการสูง) สำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ให้ดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษาด้านมาตรฐานการศึกษา (นักวิชาการศึกษาทรงคุณวุฒิ) สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ ตั้งแต่วันที่ 29 เมษายน 2567
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้ง
5. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่ง ประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ (กระทรวงศึกษาธิการ)
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงศึกษาธิการเสนอ แต่งตั้ง นางสาวรัตนา แสงบัวเผื่อน ข้าราชการพลเรือนสามัญ ตำแหน่ง ผู้อำนวยการสำนัก (ผู้อำนวยการสูง) สำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ให้ดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษาด้านพัฒนากระบวนการเรียนรู้ (นักวิชาการศึกษาทรงคุณวุฒิ) สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ ตั้งแต่วันที่ 7 พฤษภาคม 2567 ซึ่งเป็นวันที่มีคุณสมบัติครบถ้วนสมบูรณ์ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้ง
6. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่ง ประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ (กระทรวงสาธารณสุข)
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอ แต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญ สังกัดกระทรวงสาธารณสุข ให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ จำนวน 2 ราย ดังนี้
-
1. นายอุดม อัศวุตมางกุร ผู้อำนวยการกอง [ผู้อำนวยการเฉพาะด้าน (แพทย์) สูง] กองออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ กรมอนามัย ให้ดำรงตำแหน่ง สาธารณสุขนิเทศก์ (นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ) สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงสาธารณสุข ตั้งแต่วันที่ 10 มิถุนายน 2567
2. นางสาวอุไรวรรณ จำนรรจ์สิริ สาธารณสุขนิเทศก์ (นายแพทย์เชี่ยวชาญ) สำนักงานปลัดกระทรวง ให้ดำรงตำแหน่ง สาธารณสุขนิเทศก์ (นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ) สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงสาธารณสุข ตั้งแต่วันที่ 11 มิถุนายน 2567
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้ง
7. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่ง ประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ (สำนักนายกรัฐมนตรี)
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ เสนอแต่งตั้ง นายภพหล้า ปิยะปานันท์ ข้าราชการพลเรือนสามัญ ตำแหน่ง ผู้อำนวยการกอง (ผู้อำนวยการสูง) กองความมั่นคงจังหวัดชายแดนภาคใต้และชนต่างวัฒนธรรม สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ ให้ดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษาด้านนโยบายและยุทธศาสตร์ความมั่นคง (นักวิเคราะห์นโยบายและแผนทรงคุณวุฒิ) สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี ตั้งแต่วันที่ 20 กันยายน 2566 ซึ่งเป็นวันที่มีคุณสมบัติครบถ้วนสมบูรณ์
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้ง
8. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่ง ประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ (สำนักนายกรัฐมนตรี)
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน เสนอแต่งตั้ง นางสาวศุธาศินี สมิตร ข้าราชการพลเรือนสามัญ ตำแหน่ง ผู้อำนวยการกอง (ผู้อำนวยการสูง) กองยุทธศาสตร์และแผนงาน สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ให้ดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษาด้านการลงทุน (นักวิเคราะห์นโยบายและแผนทรงคุณวุฒิ) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน สำนักนายกรัฐมนตรี ตั้งแต่วันที่ 29 มีนาคม 2567 ซึ่งเป็นวันที่มีคุณสมบัติครบถ้วนสมบูรณ์
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้ง
9. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่ง ประเภทบริหารระดับสูง (สำนักนายกรัฐมนตรี)
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเสนอ แต่งตั้ง นางสาวนุชนาถ เกษมพิบูลย์ไชย ข้าราชการพลเรือนสามัญ ตำแหน่ง กรรมการร่างกฎหมายประจำ (นักกฎหมายกฤษฎีกาทรงคุณวุฒิ) สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ให้ดำรงตำแหน่ง รองเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อทดแทนตำแหน่งที่ว่าง ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2567 ซึ่งเป็นวันที่มีคำสั่งให้รักษาการแทนในตำแหน่งดังกล่าว
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้ง
10. เรื่อง การแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคมแห่งชาติ
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติ ตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เสนอแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคมแห่งชาติ จำนวน 8 คน เนื่องจากกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเดิมได้ดำรงตำแหน่งครบวาระ 2 ปี กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่เสนอแต่งตั้งในครั้งนี้ มีรายละเอียดดังนี้
-
1. ศาสตราจารย์พงษ์เทพ สันติกุล ด้านการจัดสวัสดิการสังคม
2. นายชินชัย ชี้เจริญ ด้านการจัดสวัสดิการสังคม
3. นางสาววิจิตา รชตะนันทิกุล ด้านการจัดสวัสดิการสังคม
4. นายสมชัย จิตสุชน ด้านการจัดสวัสดิการสังคม
5. นายถาวร สกุลพาณิชย์ ด้านสุขภาพอนามัย
6. ศาสตราจารย์สมพงษ์ จิตระดับ ด้านการศึกษา
7. นายสุเทพ ชิตยวงษ์ ด้านการศึกษา
8. นายโยธิน มูลกำบิล ด้านกฎหมาย
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2567 เป็นต้นไป
11. เรื่อง การแต่งตั้งกรรมการผู้แทนวิสาหกิจชุมชน และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน พ.ศ.2548
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) เสนอ แต่งตั้งกรรมการผู้แทนวิสาหกิจชุมชนและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจชุมชนรวม 13 คน ประกอบด้วยกรรมการผู้แทนวิสาหกิจชุมชน จำนวน 10 คน และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 3 คน เนื่องจากกรรมการผู้แทนวิสาหกิจชุมชนและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเดิมได้ดำรงตำแหน่งครบวาระสามปี เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2565 กรรมการผู้แทนวิสาหกิจชุมชนและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่เสนอแต่งตั้งในครั้งนี้ มีรายละเอียดดังนี้
1) กรรมการผู้แทนวิสาหกิจชุมชน
-
1. นางวันทรา ผ่านคำ (จังหวัดอุตรดิตถ์)
2. นายอิทธิ แจ่มแจ้ง (จังหวัดระยอง)
3. นางสาวพิชชาภา สุทัศน์ (จังหวัดพิจิตร)
4. นายกฤษฏิ์ พยัคกาฬ (จังหวัดเชียงใหม่)
5. นายธนากร จีนกลาง (จังหวัดบุรีรัมย์)
6. นางสารภี อิสโร (จังหวัดสงขลา)
7. ว่าที่ร้อยเอก จำรัส มีลิ (จังหวัดเพชรบุรี)
8. นางปนิดา มูลนานัด (จังหวัดเพชรบุรี)
9. นายวันชัย บุญสำราญ (จังหวัดสุราษฎร์ธานี)
10. นายกิติศักดิ์ ขจรภัย (จังหวัดสระบุรี)
2) กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
-
1. นางสาวชญานุช มณีรินทร์ (ด้านการบริหารธุรกิจ)
2. นางสาวนภาพร เพ็ชร์จินดา (ด้านการเงิน)
3. นายจีรณัทย์ สุทธวารี (ด้านการค้าและอุตสาหกรรม)
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2567 เป็นต้นไป
12. เรื่อง ขอถอนรายชื่อบุคคลที่ได้รับการเสนอชื่อ เพื่อแต่งตั้งเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย จำนวน 2 คน
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงคมนาคม (คค.) เสนอ ดังนี้
1. ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาแต่งตั้งบุคคลต่อไปนี้ เป็นประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ในคณะกรรมการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย ตามมาตรา 13 แห่งพระราชบัญญัติการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2543 และที่แก้ไขเพิ่มเติม โดยที่มีผลตั้งแต่วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติเป็นต้นไป ดังนี้
-
(1) นายมนตรี เดชาสกุลสม ประธานกรรมการ
(2) นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
(3) พลตำรวจเอก รอย อิงคไพโรจน์
(4) นายฆนัท ครุธกู กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
(5) นายพิษณุ โหระกุล กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
กระทรวงคมนาคมขอแจ้งข้อมูลเพิ่มเติมว่า พลตำรวจเอก รอย อิงคไพโรจน์ และนายฆนัท ครุธกูล แจ้งความประสงค์ ขอถอนตัวจากการสมัครเข้ารับการสรรหาเป็นบุคคลผู้สมควรได้รับการคัดเลือก เพื่อดำรงตำแหน่งกรรมการรัฐวิสาหกิจในคณะกรรมการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย เนื่องจากติดภารกิจ
2. คณะรัฐมนตรีอนุมัติตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ แต่งตั้งบุคคลเป็นประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ในคณะกรรมการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย จำนวน 3 คน ดังนี้
-
(1) นายมนตรี เดชาสกุลสม ประธานกรรมการ
(2) นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
(3) นายพิษณุ โหระกุล กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 22 ตุลาคม 2567 เป็นต้นไป
ทั้งนี้ สำหรับตำแหน่งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่ว่างลงอีก 2 ตำแหน่ง กระทรวงคมนาคมจะดำเนินการสรรหาเพิ่มเติมก่อนเสนอคณะรัฐมนตรีในโอกาสต่อไป
อ่าน มติ ครม. ประจำวันที่ 22 ตุลาคม 2567 เพิ่มเติม