ดร.ชัยวัฒน์ วิบูลย์สวัสดิ์
สามเดือนที่ผ่านมา มุมดอกไม้งามที่ลุงหมีเห็นอยู่ทุกวันมีการเปลี่ยนแปลงอย่างน่าสนใจ
มุมนี้คือซุ้มดอกเฟื่องฟ้าที่ราวสะพานข้ามคลองหน้าบ้านของลุงหมี จากที่เคยเป็นซุ้มดอกไม้สีม่วงงดงามหนาแน่นจนกลายเป็นจุดถ่ายรูปประจำหมู่บ้าน ตั้งแต่เดือนธันวาคมปีก่อนดอกเฟื่องฟ้าสีม่วงก็ค่อยๆเปลี่ยนสีและร่วงโรยจนบนราวสะพานไม่มีความงามดอกสีม่วงเหลือในเดือนมีนาคม คงไว้แต่ใบสีเขียวเพื่อรอเวลาดอกสีม่วงจะออกมาบานในรอบใหม่อีกสองสามเดือน ดังในรูปเปรียบเทียบข้างล่าง
จุดแรกที่น่าสนใจคือ ในขณะที่ดอกเฟื่องฟ้าด้านบนราวสะพานร่วงโรยไป ดอกเฟื่องฟ้าจากต้นเดียวกันในด้านหลังหรือด้านที่หันหน้าไปทางคลองกลับยังออกดอกหนาแน่นเช่นเดิม เแต่ได้กลายสีจากสีม่วงเป็นสีเหลืองและน้ำตาลแทน
ลุงหมีสอบถามจากทีมดูแลสวนที่บ้านถึงสาเหตุที่ดอกเฟื่องฟ้าที่หันหน้าไปทางทิศลำคลองยังไม่ร่วงโรยตามดอกบนราวสะพาน ก็ได้การคาดคะเนว่าน่าจะมาจากปัจจัยสองประการคือ ประการแรกเฟื่องฟ้าซุ้มนี้อยู่เหนือลำคลอง จึงได้รับความชุ่มชื่นจากไอระเหยของน้ำอยู่ตลอดทำให้กิ่งก้านต้นไม้ด้านหลังราวสะพานไม่แห้งกรอบเร็ว ดอกไม้จึงร่วงหล่นช้า ประการที่สองในฤดูหนาวเป็นช่วงตะวันอ้อมข้าว ดอกไม้ที่หันหน้าไปทางทิศใต้จะได้รับแสงแดดส่องลงมาเต็มๆทั้งวันทำให้กิ่งก้านแข็งแรงกว่าปกติ ดังเห็นได้ในรูป
ต้นเฟื่องฟ้าอีกต้นหนึ่งที่เลื้อยข้ามรั้วบ้านลงสู่ลำคลองก็ยังคงออกดอกแน่นหนา แต่ดอกไม้ได้กลายสีเป็นสีม่วงสลับกับสีเหลืองและตัดกับสีเขียวของใบไม้จนเป็นลวดลายที่สวยงาม
ลุงหมีไปเฝ้าสังเกตการเปลี่ยนสีของดอกเฟื่องฟ้าบนราวสะพานก็พบว่าในบางกิ่งมีดอกสีม่วงกับดอกสีเหลืองอยู่ปนกันดังในรูปคู่ข้างล่าง ทีมจัดสวนที่บ้านอธิบายว่าการมีสีผสมกันหลายสีในกิ่งเดียวกันอาจเป็นการกลายสีตามธรรมชาติ คือดอกสีม่วงเริ่มเฉี่ยวเฉาจนกลายเป็นสีเหลืองอ่อนตามด้วยสีน้ำตาลแล้วก็หลุดจากกิ่งไป แต่มีการสลับสีสามารถทำให้เกิดขึ้นได้ด้วยการตัดต่อกิ่งหรือทาบกิ่งของดอกสีอื่นเข้ามาบนต้นสีเดิมก็ได้
ที่สวนในบ้านลุงหมีก็มีมุมหนึ่งซึ่งมองเห็นดอกเฟื่องฟ้าสีม่วงอยู่ปนกับดอกสีเหลือง แต่กรณีนี้เป็นเพราะได้ปลูกต้นเฟื่องฟ้าดอกสีม่วงไว้ติดกับต้นเฟื่องฟ้าสีเหลืองเข้ม กิ่งก้านของสองต้นจึงเลื้อยเข้าพันกันจนดูเป็นเฟื่องฟ้าที่มีดอกสองสีขึ้นมา( ไม่ใช่การกลายสีแบบดอกเฟื่องฟ้าบนราวสะพาน)