ThaiPublica > คอลัมน์ > งานออกแบบนวัตกรรมยุค 70s Cassandra

งานออกแบบนวัตกรรมยุค 70s Cassandra

12 กุมภาพันธ์ 2025


1721955

มินิซีรีส์สัญชาติเยอรมนี 6 อีพีจบ Cassandra (2025) สองอีพีแรกเปิดรอบปฐมทัศน์โลกในเทศกาลหนัง Fantasy Film Fest ในมิวนิกเมื่อปลายมกราคมที่ผ่านมา และเพิ่งจะเปิดตัวบนสตรีมมิ่งให้ดูกันทั่วโลกรวดเดียวหกตอนจบเมื่อ 6 กุมภาพันธ์นี้เอง มันคือพล็อตระทึกขวัญจิตวิทยา(และอาจมีฆาตกรรม)แสนคลิเชที่ห้ำหั่นกันระหว่างหญิง 2 คน เพียงแค่อัพเกรดขึ้นด้วยการที่หญิงหนึ่งเป็นโรบอต และเธอเป็นนวัตกรรมแห่งโลกยุค 70s

ครอบครัวแสนอบอุ่นแต่มีปมอดีตบางอย่างที่ค่อย ๆ ถูกเปิดเผยขึ้น ประกอบด้วย ซามีร่า กับดาวิด แม่ พ่อ และลูกชาย ลูกสาว ฟินน์ กับจูโน ย้ายเข้ามาในบ้านสมาร์ทโฮมที่ถูกทิ้งร้างเอาไว้ตั้งแต่ยุค70s ก่อนจะพบว่าบ้านหลังนี้มีโรบอตหญิงรับใช้นามว่า “คาสซานดร้า” ผู้เพียบพร้อมและชาญฉลาด ทำอาหารแสนอร่อย ทำความสะอาดบ้านก็สุดเนี๊ยบ ทว่ามันมีความลับดำมืดที่ครอบครัวนี้ยังไม่รู้ แล้วในระหว่างนั้นซีรีส์ก็เริ่มย้อนกลับไปเล่าเรื่องของอีกครอบครัวหนึ่งที่เคยอยู่อาศัยในบ้านหลังนี้ในช่วงยุค 70s หรือก็คือยุคที่เยอรมันยังคงแบ่งเป็นตะวันออกกับตะวันตก

แม้จะค่อนข้างเดาได้ใน 2 อีพีแรก แต่ซีรีส์ก็ค่อย ๆ ไต่ความระทึกขึ้นในอีพี 3 อย่างรวดเร็ว แล้วความเปรียบเทียบระหว่างโลกยุคปัจจุบันกับอดีตยุค70 ที่เหมือนความเจริญก้าวหน้าน่าจะทำให้ผู้คนเปลี่ยนไปแล้ว แต่กลับพบว่ามันยังคงระอุไปด้วยบรรยากาศแห่งความเกลียดชัง ทั้งเหยียดเพศ(เนื่องจากลูกชายบ้านนี้เป็นเกย์) เหยียดผิว(และลูกสาวบ้านนี้เป็นคนดำ) และชนชั้น(อาชีพของพ่อผู้เป็นนักเขียนดัง ส่วนแม่เป็นศิลปินที่ไม่ค่อยมีรายได้) ไปจนถึงความเป็นมนุษย์ที่ถือดีว่าเป็นผู้สร้าง ผู้อยู่ในจุดสูงสุดของผู้ล่า(และผู้ทำลาย) แต่จะเป็นเช่นนั้นจริงหรือ?

Cassandra นามนี้จากไหน

บทความนี้ตั้งใจจะคลี่ที่มาในแง่มุมอันเกี่ยวข้องกับศิลปะและการออกแบบ ดังนั้นลำดับแรกที่เห็นได้ชัดตั้งแต่ชื่อเรื่องก็คือ คาสซานดร้า จริง ๆ แล้วนามนี้เป็นชื่อในปกรณัมกรีก อย่างไรก็ตามเราต้องขอออกตัวก่อนว่าสิ่งที่จะเล่าต่อไปนี้เป็นเพียงการคาดเดา เพราะตัวซีรีส์ก็ไม่เคยเผยถึงแหล่งที่มาของชื่อตัวละครนี้ เพียงแต่เราพบว่าชื่อ “คาสซานดร้า” นั้นเป็นชื่อเดียวกับในตำนานกรีก และมีบางอย่างที่สอดพ้องกับสิ่งที่เกิดขึ้นในซีรีส์เรื่องนี้ด้วย

คาสซานดร้า หรือบางทีก็เรียกเธอว่า “อเล็กซานดร้า” เป็นเจ้าหญิงแห่งกรุงทรอย พี่ชายของเธอคือ เฮกเตอร์ (วีรบุรุษแห่งสงคราม) ภายหลังเธออุทิศตนเป็นปุโรหิตหญิง (priestess นักบวชในราชสำนักผู้ประกอบพิธีกรรมทางศาสนา) แด่เทพอพอลโล (เทพแห่งการยิงธนู ดนตรี การร่ายรำ ความจริงและคำทำนาย กวี การเยียวยารักษา ดวงอาทิตย์ เทพแห่งแสง)

คาสซานดร้าจัดว่าเป็นหญิงงามชาญฉลาดแต่ชาวเมืองหาว่าเธอจิตไม่ปกติ เนื่องด้วยคำสาปของอพอลโล กล่าวคือครั้งหนึ่งอพอลโลเคยมอบญาณทิพย์มองเห็นอนาคตให้แด่เธอ เนื่องจากเธอดีลกับเทพอพอลโลว่าจะร่วมหลับนอนกับเขา แต่ครั้นได้รับพรแล้วเธอกลับถอนคำพูด เพราะเธอตระหนักได้ว่าหากยอมรับดีลนี้แปลว่าเธอจะรักษาพรหมจรรย์ไว้ไม่ได้ อันขัดต่อหน้าที่ปุโรหิตของนาง ทำให้อพอลโลโกรธ แต่เขาไม่อาจริบพรไปจากเธอได้ อพอลโลจึงเพิ่มคำสาปเข้าไปว่า “แม้เธอจะมองเห็นอนาคต แต่จะไม่มีใครเชื่อคำทำนายของเธอเลย”

คาสซานดร้าคือผู้พยากรณ์ความหายนะของกรุงทอย เธอคอยเตือนชาวทรอยว่าจะมีทหารกรีกซ่อนตัวอยู่ในม้าไม้ยักษ์ แต่กลับไม่มีใครเชื่อ หาว่าเธอเป็นบ้า แล้วกรุงทรอยก็แตกดังคำทำนาย สุดท้ายเธอถูกข่มขืนโดย อาเจ็กซ์ หนึ่งในทหารกรีก บนฐานแท่นบูชาเทพอะธีน่า การณ์นี้ทำให้เทพอะธีน่าโกรธ เธอขว้างสายฟ้าฟาดเรือของอาเจ็กซ์แตกเป็นเสี่ยง แต่เขาหนีไปเกาะหินกลางมหาสมุทรได้ เทพโพไซดอนจึงฟาดตรีศูลลงบนหินนั้นแตกเป็นเสี่ยงทำให้อาเจ็กซ์จมน้ำตายกลางทะเลลึก

ส่วนหนึ่งที่เห็นได้ชัดในซีรีส์นี้คือ ซามีร่า ผู้เป็นแม่พบว่า คาสซานดร้ามีพฤติกรรมผิดปกติ เธอพยายามจะบอกดาวิดหลายต่อหลายครั้ง แต่เขาไม่เคยเชื่อ แล้วหาว่าเธอเป็นบ้า จนในที่สุดเหตุการณ์ร้ายก็เกิดขึ้นจริงจนได้ ส่วนเจ้าหุ่นยนต์คาสซานดร้าตัวต้นเรื่องในซีรีส์ ก็คือหุ่นยนต์ป่วยจิตขนานแท้

สมาร์ทโฮม

ไอเดียแรกสุดของบ้านอัจฉริยะ “สมาร์ทโฮม” ถูกนำเสนอขึ้นในงานชิคาโก เวิร์ล แฟร์ เมื่อปี 1933 ในฐานะ “บ้านแห่งวันพรุ่งนี้” แต่เป็นแค่แนวคิดที่ยังไม่เกิดขึ้นจริง กระทั่งปี 1966 จิม ซูเธอร์แลนด์ วิศวกรชาวอเมริกันได้สร้าง ECHO IV อันเป็นตู้อุปกรณ์ที่สามารถควบคุมอุณภูมิห้องและระบบเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านบางชิ้นได้ กระทั่งในปี 1975 จากอุปกรณ์ขนาดใหญ่นั้นก็กลายเป็นกล่องส่งสัญญาณที่เรียกว่า X10 อันถูกคิดค้นโดย Pico Electronics บริษัทในสกอตแลนด์ มันคือเครื่องควบคุม เชื่อมต่อเครื่องใช้ในบ้านให้ทำงานแบบอัตโนมัติได้ผ่านคอนโซลควบคุมและรีโมตคอนโทรล แต่ต่อมามันถูกใช้ในอาคารโรงงาน

อย่างไรก็ตาม สมาร์ทโฮม แบบในซีรีส์เรื่องนี้ออกจะเกินจริงไปสักหน่อย เนื่องจากเอาเข้าจริงสมาร์ทโฮมในยุค 70s เป็นเพียงการติดตั้งแผงควบคุมระบบไฟต่าง ๆ เอาไว้ในจุดใดจุดหนึ่งของบ้านเท่านั้น แต่กว่าที่มันจะอัจฉริยะได้ขนาดจะปรับสมดุลใดใดให้กับผู้อยู่อาศัยภายในบ้านจริง ๆ อย่างในซีรีส์ มันเพิ่งเกิดขึ้นในยุคดิจิตอล หลังปี 2000 นี้เอง

กล่าวคือโปรโตคอลบ้านอัจฉริยะเกิดขึ้นจริง ๆ ในปี 2002 ด้วยอุปกรณ์ที่เรียกว่า KNX ที่พัฒนามาในยุค 90s โดยในช่วงแรกสิ่งที่มันทำได้คือฟังก์ชั่นพื้นฐานสำหรับควบคุมระบบเครื่องทำความร้อน ระบบระบายอากาศ เปิดปิดม่านหรือมูลี่ หรี่แสงโคมไฟ หรือเปิดปิดประตูอัตโนมัติได้เท่านั้น โดยทำงานร่วมกับระบบปฏิบัติการของคอมพิวเตอร์วินโดว์ XP ในขณะนั้นซึ่งยังไม่เสถียรสักเท่าไหร่

กระทั่งในเยอรมนี Haus der Gegenwart (บ้านแห่งปัจจุบัน) เป็นต้นแบบบ้านที่จัดแสดงขึ้นในงาน Federal Garden Show ที่เมืองมิวนิก-รีม เมื่อปี 2005 ซึ่งถือเป็นความสำเร็จแรกอย่างแท้จริงเพราะสามารถควบคุมระบบอิเล็กทรอนิกส์ในบ้านได้ทั้งหมดจากส่วนกลางเป็นครั้งแรก จากต้นแบบนี้ต่อมาในปี 2008 มันถูกพัฒนาเป็น House V อันเป็นโครงการหมู่บ้านอัจฉริยะในมิวนิกซึ่งนอกจากจะพัฒนาแผงควบคุมเป็นระบบจอสัมผัสแล้ว ยังสามารถใช้งานได้ผ่านสมาร์ทโฟน หรือไอแพดได้ด้วย แล้วนับตั้งแต่ปี 2015 อาคารอัจฉริยะเหล่านี้ก็กระจายตัวไปมากกว่าหนึ่งล้านอาคารทั่วยุโรป

โรบอตยุค 70s

ออกตัวไว้อีกครั้งว่าสิ่งที่เรากำลังจะนำเสนอนี้ อาจไม่ใช่ไอเดียเบื้องหลังการออกแบบเจ้าหุ่นกระป๋องคาสซานดร้าจอมบงการ แต่เป็นสิ่งที่เราเสิร์ชเจอในเนตแล้วพบว่าในยุค 70s มันมีการเสนอขายหุ่นยนต์แม่บ้านจริง ๆ มันดังอยู่ช่วงนึงเชียวล่ะ แล้วหน้าตามันก็ค่อนข้างจะละม้ายกับคาสซานดร้าในซีรีส์เรื่องนี้อย่างมาก

คือเมื่อปี 1968 บริษัท Quasar ในรัฐนิวเจอร์ซีย์ได้โฆษณาหุ่นยนต์ขนาดเท่าตัวคนจริง ๆ ชื่อว่า “Klatu” โดยอ้างว่ามันสามารถทำงานเป็นแม่บ้านได้เหมือนคนจริง ๆ มันประกอบด้วยชิ้นส่วนกว่า 40 ชิ้น โดยทีมวิศวกรและนักวิทยาศาสตร์ 8 คน ซึ่งเกือบทั้งหมดเสียชีวิตหรือป่วยหนักก่อนจะสร้างเสร็จ (อันนี้น่าจะเป็นสตอเบอแหลขึ้นมาเพื่อช่วยส่งเสริมการขายให้มีสตอรี่น่าสนใจเสียมากกว่า)

Klatu ถูกผลิตออกมาทั้งหมด 32 ตัว ในช่วงกลางยุค 70s มันถูกโฆษณาว่าสามารถดูดฝุ่น ปัดฝุ่น ทำอาหาร พาสุนัขไปเดินเล่น ซักผ้า ฯลฯ ได้ ตอบสนองต่อคำสั่งเสียงได้ อย่างไรก็ตามความเป็นจริงแล้วมันเป็นแผนโฆษณาสำหรับหุ่นที่ใช้เป็นเหมือนป้ายไฟโฆษณาให้เช่า และทำอะไรไม่ได้เลยนอกจากเดินไปเดินมา หรือส่งเสียงเท่านั้น มันมีไว้สำหรับโชว์ในกิจกรรมหรืองานเปิดตัวต่าง ๆ ด้านเทคโนโลยี หรือไว้เอาใจเด็ก ๆ แล้วเราต้องไม่ลืมว่าหลังยุค 60s สมัยสงครามเย็น มันคือช่วงที่สหรัฐแข่งขันกับสหภาพโซเวียตในด้านเทคโนโลยีอวกาศ มันจึงมีของประหลาด ๆ แบบนี้มากมาย

Guten Morgen Sonnenschein

เพลงปลุกให้ตื่นตอนเช้าสุดหลอนหูในซีรีส์เรื่องนี้ เป็นเพลงจากยุค 70s จริง ๆ Guten Morgen, Sonnenschein (1977) เป็นผลงานเพลงของ นานา มูสคูรี เธอเป็นนักร้องชาวกรีกที่เคยออกอัลบัมมามากกว่า 200 อัลบัมในอย่างน้อย 13 ภาษา อาทิ กรีก ฝรั่งเศศ อังกฤษ เยอรมัน ดัตช์ โปรตุเกส อิตาเลียน ญี่ปุ่น สเปน ฮีบรู เวลส์ จีนกลาง และคอร์ซิกา

เธอแจ้งเกิดในวงการเมื่อปี 1963 ในฐานะตัวแทนจากลักเซมเบิร์กในงานประกวดเพลงยูโรวิชั่น ก่อนจะดังเป็นพลุแตกไปทั่วยุโรป ด้วยเพลง “The White Rose of Athens (1969)” ซึ่งบันทึกครั้งแรกเป็นภาษาเยอรมันอันดัดแปลงมาจากเพลงกรีกที่เธอแต่งเอง

ในแง่มุมทางสังคมการเมือง ปี 1993 มูสคูรี ได้รับการแต่งตั้งเป็นฑูตสันถวไมตรีขององค์กรยูนิเซฟ ต่อจากออเดรย์ เฮปเบิร์น นักแสดงสาวดาวค้างฟ้าผู้ลาลับในปีนั้น และได้รับเลือกให้เป็นสมาชิกรัฐสภายุโรปในฐานะสมาชิกจากรัฐสภากรีกตั้งแต่ปี 1994 ถึงปี 1999 ต่อมาในปี 2006 เธอได้รับเชิญเป็นพิเศษในรอบชิงชนะเลิศยูโรวิชั่น จากการถูกเสนอชื่อให้เป็นศิลปินที่มียอดขายสูงสุดตลอดกาล ปี 2015 เธอคว้ารางวัล Echo Music Prize สำหรับความสำเร็จโดดเด่นจากสมาคมดนตรีเยอรมัน Deutsche Phono-Akademie

พรมหกเหลี่ยม

สิ่งหนึ่งที่เราเชื่อว่าคอหนังต้องสังเกตเห็น แม้มันจะไม่ได้โดดเด่นมาก แต่ช่วงท้ายซีรีส์มีการโฟกัสไปให้เห็นพื้นพรมลายหกเหลี่ยมอย่างจงใจ แล้วมันก็ช่างละม้ายพรมในหนังดังของผู้กำกับหนังชั้นครู สแตนลีย์ คูบริก The Shining (1980) ที่ดัดแปลงมาจากนิยายชื่อเดียวกันในปี 1977 ของปรมาจารย์แนวสยองขวัญ สตีเฟ่น คิง ในนิยายเล่าถึงครอบครัวพ่อแม่ลูกที่ติดแหงกในโรงแรมชื่อโอเวอร์ลุค ปกติโรงแรมนี้จะปิดให้บริการในช่วงฤดูหนาวที่พายุหิมะจะปกคลุมไปทั่วอยู่แล้ว ตัวผู้เป็นพ่อ ซึ่งเป็นนักเขียนติดเหล้าหนักและเคยมีอดีตทุบตีเมีย จึงหวังจะรับงานเฝ้าโรงแรมแห่งนี้เพื่อถือโอกาสสานสัมพันธ์กับลูกเมีย แต่แล้วเหตุการณ์ประหลาดก็เกิดขึ้น ในแง่พล็อตว่าด้วยการติดอยู่ในพื้นที่หนึ่งนาน ๆ ก็คล้ายกับเรื่องราวบางส่วนของซีรีส์นี้

ทว่าหากสังเกตดี ๆ จะพบว่าหนังของคูบริกสร้างขึ้นปี 1980 ขณะที่ซีรีส์ย้อนกลับไปเล่าและเห็นพรมนี้มาตั้งแต่ปี 1971 เราคนดูถ้ารู้ปีขนาดนี้ก็จะคิดว่ามันเป็นไปได้อย่างไรที่พรมแบบนี้จะไปปรากฏก่อนเวลาที่มันเคยปรากฏขึ้นครั้งแรก แต่ในความเป็นจริงแล้ว พรมนี้ไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อใช้ใน The Shining กล่าวคือมันมีพรมลักษณะนี้อยู่แล้วในยุค 70s จากเว็บสำหรับเนิร์ดหนังที่คลั่งเฟอร์นิเจอร์ filmandfurniture ระบุว่า “มีแฟนเว็บชาวเยอรมันรายหนึ่งเธอเล่าว่าบ้านของเธอมีพรมผืนนี้ที่เธอเห็นมันมานานและพ่อแม่ของเธอซื้อมันมาในช่วงปี 1970”

เว็บนี้ได้เจาะลึกเสาะไปว่า “ที่ผ่านมามีความพยายามค้นหาว่าใครคือผู้ออกแบบ เพราะแม้แต่ตัวเว็บจะไปถามอดีตทีมงานของคูบริก ก็เคยได้ข้อมูลมาว่าไม่ทราบแหล่งที่มาว่าซื้อมาจากใคร อย่างไรก็ตามปัจจุบันเรายืนยันได้แล้วว่ามันเป็นผลงานออกแบบของ เดวิด ฮิกส์ (1929-1998) และพรมนี้เรียกว่า Hicks’ Hexagon ฮิกส์เป็นนักออกแบบชาวอังกฤษผู้โด่งดังในด้านตกแต่งภายใน ซึ่งเดิมทีจะออกแบบให้กับพวกเศรษฐีไฮโซทั้งหลาย กระทั่งเขาได้แต่งงานกับเลดี้พาเมลา เมาท์แบตเทน (ลูกสาวคนเล็กของลอร์ด หลุยส์ เมาท์แบตเทน ผู้มีศักดิ์เป็นลุงของพระเจ้าฟิลิป พระสวามีของควีนเอลิซาเบธที่ 2)

นับแต่นั้นนายฮิกส์ก็ผูกขาดงานออกแบบให้กับปราสาทวินด์เซอร์ ไปจนถึงพระราชวังบักกิงแฮม ฮิกส์เริ่มออกแบบพรมลายของตัวเองเมื่อปี 1963 อย่างไรก็ตาม ฮิกส์ไม่ได้อยู่ในรายชื่อเครดิตของหนัง The Shining เนื่องจากฝ่ายอาร์ตเป็นผู้ซื้อพรมนี้มาโดยไม่รู้ว่าใครออกแบบ และพรมนี้ออกวางจำหน่ายมาตั้งแต่ยุค60s แล้ว” จึงไม่ผิดฝาผิดตัวแต่อย่างไร เมื่อในซีรีส์ Cassandra ที่ย้อนไปเล่าเรื่องราวในยุค60s และ70s ด้วย จะปรากฏให้เห็นพรมนี้ที่เริ่มโด่งดังจากหนังอเมริกันยุค 80s ของคูบริก

Filmandfurniture ยังระบุเพิ่มเติมด้วยว่า “แม้เราจะไม่เคยรู้เหตุผลว่าทำไม คูบริก จึงเลือกพรมนี้เข้ามาในฉากหนังดังเรื่องนั้น แต่เรามีทฤษฎีของเราเองว่า 1.เพราะมันดูชวนขนลุก น่าหลงไหล โดดเด่นและดูมีลางร้าย 2.คือว่า Hex ใน Hexagon (หกเหลี่ยม) มันมีความหมายว่า “คำสาป ความปรารถนาในความชั่วร้ายอย่างแรงกล้า” มันจึงเป็นสัญลักษณ์ที่เพอร์เฟ็คต์ที่สุดในการจะสื่อถึงความชั่วร้าย เช่นเดียวกับความเชื่อเลขซาตานอย่าง 666 หรือดาวหกแฉก”