
ปิดงบปี’67 ยสท.กำไร 746 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 241% ใจปล้ำประกาศรับซื้อใบยาสูบ สายพันธุ์ ‘เบอร์เลย์ – เตอร์กิช’ ไม่จำกัดจำนวน พร้อมขยายเวลารับใบยาสูบสายพันธุ์ ‘เวอร์ยิเนีย’ ถึงสิ้น 28 ก.พ.นี้ – สายพันธุ์ ‘เบอร์เลย์’ รับซื้อถึงสิ้นเดือน เม.ย.นี้
8 ปี หลังจากที่กระทรวงการคลังปรับโครงสร้างภาษีบุหรี่ไป 2 ครั้ง ได้ส่งผลกระทบต่อภาพรวมของอุตสาหกรรมยาสูบทั้งระบบมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการยาสูบแห่งประเทศไทย หรือ “ยสท.” ได้รับผลกระทบหนักที่สุด ก่อนปรับโครงสร้างภาษีในปี 2560 เดิมเคยมีกำไร 9,343 ล้านบาท แต่หลังจากการปรับโครงการภาษีบุหรี่ ครั้งที่ 1 เริ่มมีผลบังคับใช้ในปี 2561 ยสท.เหลือกำไรจากการประกอบธุรกิจแค่ 843.25 ล้านบาท ปี 2562 กำไรลดลงเหลือ 513 ล้านบาท พอมาถึงปี 2563 แม้ยอดขายบุหรี่ของ ยสท.ยังตกอยู่ แต่มีการปรับลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน ทำให้กำไรต่อซองเพิ่มขึ้นจาก 55 สตางค์ต่อซอง เพิ่มเป็น 63 สตางค์ ทำให้กำไรของ ยสท.ปีนี้เพิ่มขึ้นเป็น 550 ล้านบาท
จากนั้นในปี 2564 ยสท.มีการปรับกลยุทธ์การตลาด โดยการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ๆเข้าไปเจาะตลาดกลุ่มล่าง ทำให้ยอดขายบุหรี่ของ ยสท.ในปีนี้เพิ่มขึ้นเป็น 18,686 ล้านมวน กำไรต่อซองเพิ่มขึ้นเป็น 1.11 บาท และกำไรจากการดำเนินงานเพิ่มขึ้นเป็น 1,041 ล้านบาท พอเริ่มจะเข้าที่เข้าทาง กระทรวงการคลังก็มาปรับโครงสร้างภาษีบุหรี่เป็นครั้งที่ 2 เริ่มมีผลบังคับใช้ในปี 2565 ยอดขายบุหรี่ของ ยสท.ลดลงเหลือ 13,322 ล้านมวน กำไรต่อซองลดลงเหลือ 18 สตางค์ กำไรจากการดำเนินงานปีนี้เหลือแค่ 120 ล้านบาท แทบจะไม่เหลือเงินนำส่งคลัง ปี 2566 ยอดขายบุหรี่เพิ่มขึ้นเป็น 14,027 ล้านมวน กำไรต่อซองเพิ่มเป็น 31 สตางค์ ปีนี้ ยสท.มีกำไรเพิ่มขึ้นเป็น 219 ล้านบาท
ส่วนผลประกอบการของ ยสท.ล่าสุดในปี 2567 นายภูมิจิตต์ พงษ์พันธุ์งาม ผู้ว่าการการยาสูบแห่งประเทศไทย (ยสท.) กล่าวว่า ปีนี้ยอดการจัดจำหน่ายบุหรี่ของ ยสท.ต่ำกว่าเป้าหมายเล็กน้อย โดย คณะกรรมการการยาสูบแห่งประเทศไทยได้ตั้งเป้าหมายยอดการจัดจำหน่ายบุหรี่ในปี 2567 ไว้ที่ 12,100 ล้านมวน ผลการดำเนินงาน ณ สิ้นปี 2567 ยสท.สามารถจัดจำหน่ายบุหรี่ไปได้ 11,731 ล้านมวน ทั้งนี้ เนื่องจาก ยสท.ได้มีการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ลดการสูญเสีย (Lost) และดำเนินนโยบายเชิงรุกส่งใบยาสูบ และบุหรี่ออกไปขายในต่างประเทศเพิ่มขึ้น ทำให้กำไรต่อซองในปีนี้เพิ่มขึ้นเป็น 1.32 บาท ส่งผลทำให้ผลประกอบการโดยรวมในปีนี้มีกำไร 746 ล้านบาท เปรียบเทียบกับปีก่อนมีกำไร 219 ล้านบาท หรือ เพิ่มขึ้น 241%
“ส่วน Market Share บุหรี่ของ ยสท. ก็ปรับตัวดีขึ้นเป็นลำดับ โดยในปี 2566 บุหรี่ของ ยสท.มีส่วนแบ่งการตลาดอยู่ที่ 48% ปี 2567 ส่วนแบ่งการตลาดเพิ่มขึ้นเป็น 53.4% แต่โดยธรรมชาติของตลาดบุหรี่ หรือ Market Size ในตอนนี้ไม่ว่าจะเป็นบุหรี่นอก หรือ บุหรี่ของ ยสท.มีแนวโน้มลดลงปีละประมาณ 10% เปรียบเสมือนก้อนขนมเค้กที่มีขนาดเล็กลงไปเรื่อย ๆ ทำให้การแข่งขันเพื่อแย่งชิงส่วนแบ่งการตลาดทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น นอกจากจะแข่งขันกับบุหรี่นำเข้าแล้ว และยังมีบุหรี่เถื่อน และบุหรี่นวตกรรมใหม่อีก ดังนั้น ในปี 2568 บอร์ด ยสท.จึงตั้งเป้าฯยอดขายไว้ที่ 11,700 ล้านมวน เท่ากับยอดขายจริงในปี 2567”
ถามว่าในปี 2568 ยสท.จะกลับไปมีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้นเป็น 1,000 ล้านบาท เหมือนปี 2564 ได้หรือไม่ นายภูมิจิตต์ ตอบว่า “คงจะไม่ถึง เพราะการบริโภคยาสูบทั้งตลาด (Market Size) ไม่ว่าจะเป็นบุหรี่นำเข้า หรือ บุหรี่ของ ยสท. ตอนนี้มียอดรวมอยู่ที่ประมาณ 20,000 ล้านมวน และมีแนวโน้มลดลงทุกปี ปีละประมาณ 10% ขณะที่เครื่องจักรของ ยสท.ที่เราออกแบบไว้มีกำลังการผลิตอยู่ที่ 30,000 ล้านมวนต่อปี แต่การผลิตบุหรี่ออกมาขายจริงมียอดอยู่ที่ประมาณ 11,700 ล้านมวน ดังนั้น หากต้องการให้ ยสท.มีกำไรได้มากกว่านี้ ก็อาจจะต้องแก้ไขกฎหมาย เพื่อให้ ยสท.ประกอบธุรกิจรับจ้างผลิตบุหรี่ขายในประเทศได้ ซึ่งกำลังการผลิตของ ยสท.ตอนนี้มีความพร้อมที่จะดำเนินการได้ทันที รวมทั้งเร่งรัดการส่งออกใบยาสูบและบุหรี่ออกไปจำหน่ายในประเทศเพื่อนบ้าน และประเทศที่มีตลาดแรงงานไทย อาทิ เกาหลีใต้ รัสเซีย และซาอุดีอาระเบีย เป็นต้น”
หลังจากที่ผลประกอบการของ ยสท.ในปีที่ผ่านมา เริ่มปรับตัวดีขึ้น ที่ประชุมบอร์ดของ ยสท.มีมติเห็นชอบให้ขยายระยะเวลาการรับซื้อใบยาสูบออกไป สำหรับใบยาสูบพันธุ์เวอร์ยิเนีย รุ่นต้นฤดู จากเดิมมีกำหนดสิ้นสุดวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2568 ขยายระยะเวลาจนถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2568 และใบยาสูบพันธุ์เบอร์เลย์ รุ่นกลางฤดู จากเดิมมีกำหนดสิ้นสุดวันที่ 11 เมษายน 2568 ขยายระยะเวลาเป็นวันที่ 30 เมษายน 2568 ทั้งนี้ เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรผู้เพาะปลูกใบยาสูบที่ต้องเผชิญกับปัญหาสภาพอากาศที่ส่งผลกระทบต่อกระบวนการเพาะปลูก และเก็บเกี่ยวเป็นวงกว้าง โดยเฉพาะสถานการณ์ฝนตกหนักและอุทกภัยในช่วงเดือนสิงหาคม – กันยายน 2567 ที่ส่งผลให้การเพาะปลูกล่าช้า และเมื่อต้นยาสูบเจริญเติบโตในช่วงเดือนธันวาคม 2567 – มกราคม 2568 ยังต้องเผชิญกับสภาพอากาศที่หนาวเย็นกว่าปกติในพื้นที่ภาคเหนือและภาคเหนือตอนล่าง จึงส่งผลให้ใบยาสูบแก่ช้าลง ชาวไร่จึงต้องใช้เวลานานขึ้นในการเก็บเกี่ยว และยังประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานคัดแยกเกรดของใบยา ซึ่งการขยายเวลาในครั้งนี้ถือเป็นข่าวดีสำหรับเกษตรกรชาวไร่ยาสูบ เพราะช่วยให้ชาวไร่มีระยะเวลาในการจำหน่ายใบยาสูบให้กับ ยสท. เพิ่มขึ้น เนื่องจากใบยาเวอร์ยิเนียรุ่นต้นฤดูจะมีราคาสูงกว่ารุ่นปลายฤดู กิโลกรัมละ 3 บาท และใบยาเบอร์เลย์รุ่นกลางฤดู จะมีราคาสูงกว่ารุ่นปลายฤดู กิโลกรัมละ 2 บาท จึงส่งผลให้ชาวไร่ยาสูบมีโอกาสสร้างรายได้เพิ่มขึ้นจากการขยายเวลารับซื้อใบยาในฤดูกาลนี้
นอกจากมาตรการขยายเวลารับซื้อแล้ว ยสท. ยังคงเดินหน้าสนับสนุนชาวไร่ยาสูบอย่างเต็มที่ ด้วยนโยบาย “รับซื้อใบยาสูบไม่จำกัดจำนวน” เฉพาะสายพันธุ์เบอร์เลย์และเตอร์กิช ซึ่งเป็นของขวัญให้แก่ชาวไร่ตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมา และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มโควตารับซื้อใบยาเวอร์ยิเนียอีกในปีหน้า
นายภูมิจิตต์ ยืนยันว่า จะเคียงข้างเกษตรกรชาวไร่ยาสูบ และให้การสนับสนุนในทุกมิติ เพราะเราตระหนักถึงความสำคัญของชาวไร่ในฐานะฟันเฟืองสำคัญของอุตสาหกรรมยาสูบไทย และยังคงดำเนินโครงการช่วยเหลือเกษตรกรในทุกด้าน เช่น โครงการฝึกอบรมและศึกษาดูงาน เพื่อเพิ่มศักยภาพการเพาะปลูก โครงการสนับสนุนแหล่งน้ำและระบบน้ำหยด ลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต โครงการศูนย์เผยแพร่การจัดการศัตรูพืชแบบผสมผสาน ช่วยให้เกษตรกรลดการใช้สารเคมี โครงการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัยพิบัติ พร้อมเยียวยาและสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง และโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เช่น การสนับสนุนงบประมาณให้โรงบ่มใบยาเบอร์เลย์ สำหรับโรงบ่มสร้างใหม่ โรงละ 50,000 บาท และการต่อเติมโรงบ่มเดิม โรงละ 30,000 บาท โดยในปีงบประมาณ 2567 ชาวไร่ในพื้นที่จังหวัดเพชรบูรณ์ได้รับการสนับสนุนก่อสร้างโรงบ่มจำนวน 19 โรง และต่อเติมโรงบ่มอีกจำนวน 20 โรง
“ยสท. พร้อมเป็นแรงสนับสนุนหลักให้กับชาวไร่ยาสูบ และยังคงมุ่งมั่นดำเนินงานภายใต้แนวทางที่สมดุลระหว่างภาคเกษตรกรรม อุตสาหกรรม และสังคม เพื่อสร้างความมั่นคงให้กับชาวไร่ พร้อมพัฒนาอุตสาหกรรมยาสูบไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน ในวันเดียวกันนี้ มีผู้แทนจากสมาคมชาวไร่ยาสูบเดินทางเข้าพบผู้ว่าการ ยสท. ในโอกาสลงพื้นที่จังหวัดเพชรบูรณ์ เพื่อแสดงความขอบคุณที่ได้ประกาศรับซื้อใบยาสูบแบบไม่จำกัดจำนวน ซึ่งถือเป็นของขวัญปีใหม่ที่ช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของชาวไร่ และสร้างความมั่นใจให้กับเกษตรกรที่เป็นต้นน้ำของอุตสาหกรรมยาสูบ” ผู้ว่าการ ยสท. กล่าวทิ้งท้าย