ThaiPublica > ประเด็นร้อน > ความฝันของนักเศรษฐศาสตร์รุ่นใหม่ สร้างสังคมไทยแห่งโอกาส > ความฝันของนักเศรษฐศาสตร์รุ่นใหม่ สร้างสังคมไทยแห่งโอกาส

ความฝันของนักเศรษฐศาสตร์รุ่นใหม่ สร้างสังคมไทยแห่งโอกาส

19 ธันวาคม 2024


ประเทศไทยกำลังอยู่ในจุดเปลี่ยนสำคัญที่ต้องเผชิญกับความท้าทายทางเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว การพัฒนาในระยะต่อไปเพื่อให้เท่าทันโลกสมัยใหม่ไม่เพียงต้องพึ่งพาการขับเคลื่อนโดยภาครัฐหรือภาคธุรกิจ แต่ยังต้องอาศัย ‘คนไทย’ ที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความฝันและความมุ่งมั่นที่จะสร้างรากฐานให้กับอนาคตที่ดีให้กับทุกคน

บทความชุดนี้ได้รวบรวมมุมมองของนักเศรษฐศาสตร์รุ่นใหม่ 9 คนที่นำเสนอความฝันในหลากหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจ การศึกษา โครงสร้างสังคม และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น รวมไปถึงแนวคิดที่จะช่วยปลดล็อกศักยภาพของประเทศไทย เพื่อสร้างโอกาสให้ทุกคนในสังคมสามารถก้าวไปข้างหน้าได้อย่างเท่าเทียม

ทั้ง 9 บทความนี้ ถึงจะมาจากต่างมุมมองต่างความคิด แต่ก็มีจุดร่วม คือ ความฝันที่อยากจะเห็นชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทยดีขึ้นในหลากหลายมิติ จากการมีโอกาสและทางเลือกในการมีอาชีพการงานที่ดี เติบโตไปได้ไกลกว่าเดิม โดยบทความ “โอกาสของเด็กไทย ที่หายไป จากการขาดการลงทุน” ของ ลัทธกิตติ์ ลาภอุดมการ ชวนผู้อ่านตั้งคำถามถึงความฝันของเด็กไทย ทำไมส่วนใหญ่เด็กเก่งถึงเลือกเรียนแค่หมอและวิศวะ ทำไมคนจบสายวิทยาศาสตร์สุดท้ายก็เลือกที่จะไปเรียนต่อและทำงานในสาขาการเงินแทน ทำไมเด็กไทยที่มีความสามารถจึงไม่เลือกที่จะเรียนและทำงานที่หลากหลายตามความสนใจของตัวเองได้อย่างเต็มที่ ซึ่งในมุมมองของผู้เขียน สาเหตุหนึ่งเป็นเพราะโอกาสในการทำงานของเด็กไทยถูกจำกัดด้วยระบบเศรษฐกิจไทยที่ขาดการลงทุน ขาดการดึงดูดเงินลงทุนที่มีคุณภาพ ทำให้ไม่สามารถสร้างบริษัทชั้นนำระดับโลกที่เป็นผู้นำนวัตกรรม ที่จะสร้างงานมารองรับเด็กไทยที่เก่งและมีความสามารถสูงได้

สอดคล้องกับมุมมองของบทความ“จบปริญญา แต่ทำไมว่างงาน ปัญหานี้มีอะไรมากกว่าที่คิด” โดย ดร. ดล ตะวันพิทักษ์ ที่หยิบยกปัญหาอย่างหนึ่งของเด็กรุ่นใหม่ที่เผชิญกับปัญหาจบปริญญามาแล้วแต่ไม่สามารถหางานที่ตรงกับวุฒิการศึกษาของตัวเองที่ได้ใช้ศักยภาพเต็มที่ได้ ซึ่งผู้เขียนมองว่าปัญหานี้ไม่ใช่เป็นเพียงปัญหาด้านอุปทาน นั่นคือการที่มหาวิทยาลัยผลิตบัณฑิตออกมามากเกินไป ไม่ตรงความต้องการของตลาด หรือคุณภาพของบัณฑิตไม่สูงเท่าที่ควร แต่เป็นปัญหาด้านอุปสงค์ของตลาดแรงงานในระบบเศรษฐกิจไทยด้วย ที่ต้องการแรงงานระดับบัณฑิตศึกษาน้อยเกินไป โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับในต่างประเทศ ซึ่งต้นตอของปัญหานี้ ส่วนหนึ่งมาจากการที่ประเทศไทยไม่สามารถยกระดับอุตสาหกรรมให้ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีขั้นสูงขึ้นได้อย่างแท้จริง ยังคงรับจ้างผลิตแบบเดิมๆ จึงทำให้อุปสงค์ต่อบัณฑิตระดับปริญญามีไม่เพียงพอกับเด็กรุ่นใหม่ที่เรียนจบมา

ในทำนองเดียวกัน บทความเรื่อง “แบรนด์ไทย ไปแบรนด์โลก” โดย คณิน พีระวัฒนชาติ ก็วาดฝันอยากเห็นประเทศไทยสามารถสร้างแบรนด์ระดับโลกที่จะช่วยสร้างงาน สร้างอุตสาหกรรม และยกระดับเศรษฐกิจของประเทศได้เหมือนในหลายประเทศ แต่ด้วยข้อจำกัดหลากหลายประการ ทั้งในด้านการเข้าถึงแหล่งเงินทุน ผลิตภาพแรงงานที่ต่ำ การขาดแรงบันดาลใจและการขาดการส่งเสริมอย่างเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่เศรษฐกิจไทยยังคงขับเคลื่อนด้วยผู้เล่นหน้าเก่ารายใหญ่ที่มีความได้เปรียบกว่าในหลายด้าน ขณะที่ผู้เล่นรายเล็กหรือผู้เล่นหน้าใหม่ขาดแคลนทั้งเงินทุน การเข้าถึงทรัพยากร โอกาสในการแข่งขันที่เท่าเทียม โอกาสในการต่อยอดและสานต่อธุรกิจ ทำให้ยากมากที่ผู้ประกอบการไทยรุ่นใหม่ที่มีไฟและมีความฝัน จะสามารถสร้างแบรนด์ระดับโลกได้สำเร็จ

บทความอีกส่วนหนึ่งได้วาดภาพความฝันอยากให้คนไทยมีโอกาสในการมีชีวิตที่ดี มีทางเลือกในการใช้ชีวิต ไม่ถูกจำกัดด้วยโครงสร้างทางเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งพื้นฐานของการมีอนาคตที่ดีส่วนหนึ่งมาจากการมีโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพและทั่วถึง บทความ “ทำอย่างไรไม่ให้เรื่องของคุณภาพการศึกษาเป็นอุปสรรคของการตัดสินใจมีลูก” โดย มุทิตา อริยะวุฒิกุล ได้พูดแทนใจของคนรุ่นใหม่หลายคนในสังคมไทย ที่กังวลกับความสามารถในการสร้างครอบครัวและเลี้ยงดูบุตรได้อย่างสมบูรณ์ เพราะภาระที่ต้องแบกรับหากต้องการให้ลูกได้เข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพและโรงเรียนที่มีทรัพยากรเพียบพร้อม จากปัญหาความเหลื่อมล้ำและความล้มเหลวในระบบการศึกษาไทย ประกอบกับภาระทางการเงินที่หนักของการมีลูก กลายเป็นข้อจำกัดในการตัดสินใจสร้างครอบครัวและมีลูกของคนไทยในปัจจุบัน อัตราการเกิดที่ต่ำยังนำไปสู่ปัญหาสังคมสูงวัย ซึ่งสร้างแรงกดดันต่อระบบสวัสดิการของรัฐและเป็นตัวฉุดรั้งการเติบโตทางเศรษฐกิจในภาพรวมอีกด้วย เช่นเดียวกับบทความเรื่อง “เยาว์ เขลา ทึ่ง: หนทางปฏิรูปการศึกษาไทยในห้วงเศรษฐกิจใหม่” โดย สพล ตัณฑ์ประพันธ์ ที่เห็นถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการปฏิรูประบบการศึกษาไทยอย่างจริงจังและเป็นรูปธรรม มุ่งพัฒนาปรับปรุงคุณภาพการเรียนการสอนเพื่อให้เด็กไทยมีสมรรถนะไม่ด้อยไปกว่านานาประเทศ เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงในโลกยุคใหม่ และสามารถประยุกต์ใช้ความรู้ในโลกความเป็นจริง เพื่อให้ผลลัพธ์จากระบบการศึกษาไม่เป็นเพียงแค่กระดาษใบหนึ่งเท่านั้น แต่เป็นสิ่งที่ช่วยเพิ่มศักยภาพ เพิ่มคุณค่าและความหมายของมนุษย์ได้อย่างแท้จริง

นอกจากเรื่องคุณภาพการศึกษาแล้ว โอกาสในการมีทางเลือกในการใช้ชีวิต ยังถูกจำกัดด้วยโครงสร้างของระบบเศรษฐกิจและสังคมเมือง บทความเรื่อง “เศรษฐกิจใหม่ ไม่ใช่แค่กรุงเทพฯ ที่ขับเคลื่อนประเทศไทย” โดย นนท์ พฤกษ์ศิริ ตั้งคำถามชวนคิด ว่าทำไมงานดี ๆ รายได้สูง ส่วนใหญ่จึงกระจุกอยู่ในกรุงเทพฯ เท่านั้น จะดีแค่ไหนหากเด็กจบใหม่และคนวัยทำงานมีทางเลือกในชีวิตเพิ่มขึ้น สามารถกลับไปสร้างเนื้อสร้างตัวได้จากการหางานที่ดี ใช้ทักษะสูง ตรงกับศักยภาพของตัวเองได้ในต่างจังหวัด โดยเฉพาะในบ้านเกิดของตัวเอง ซึ่งภาพฝันนี้จะเป็นจริงได้เราต้องการโมเดลเศรษฐกิจแบบใหม่ที่กระจายความเจริญและกิจกรรมทางเศรษฐกิจออกจากกรุงเทพฯ ปลดล็อกศักยภาพของเศรษฐกิจภูมิภาคด้วยการกระจายอำนาจและทรัพยากรลงสู่ท้องถิ่น ซึ่งนอกจากจะช่วยสร้างแรงขับเคลื่อนใหม่ๆ ให้กับประเทศแล้ว ยังเป็นการสร้างโอกาสในการมีชีวิตที่เลือกได้ ที่คำตอบไม่ได้มีแค่ ‘กรุงเทพฯ’ เท่านั้น

ความปรารถนาที่จะมีคุณภาพชีวิตที่ดีจากการได้อยู่ใน ‘เมืองในฝัน’ ก็เป็นอีกหนึ่งความฝันของคนรุ่นใหม่ บทความ “เมืองอัจฉริยะไม่เพียงแต่ในกระดาษ” โดย ดร. ปิยะกุล สมสิริวงศ์ ได้หยิบยกแนวคิดของการสร้างเมืองแห่งอนาคตภายใต้หลักการการพัฒนา ‘เมืองอัจฉริยะ’ หรือ Smart City แต่ได้ชี้ให้เห็นถึงปัญหาของการขับเคลื่อนโครงการนี้ภายใต้บทบาทของภาครัฐ ที่ในปัจจุบันการพัฒนาเมืองตามแนวทางนี้ที่เน้นการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาเป็นเครื่องมือ และมักชี้วัดด้วยปริมาณเม็ดเงินที่ใส่เข้าไปในโครงการ โดยไม่ได้เริ่มต้นจากการเน้นคนเป็นจุดศูนย์กลางของการพัฒนา ผลลัพธ์คือเมืองอัจฉริยะนี้ยังคงมีความเป็นอัจฉริยะแค่ในกระดาษ ไม่ได้ตอบโจทย์และแก้ปัญหาคนในพื้นที่ได้อย่างตรงจุด

นโยบายและมาตรการของภาครัฐไทยยังมีอิทธิพลต่อการเลือกทางเดินชีวิตของคนไทย บทความเรื่อง “การคุ้มครองทางสังคมในบริบทความไม่แน่นอน”โดย วิไลลักษณ์ ภูลี ตั้งประเด็นที่น่าสนใจว่า คนไทยจำนวนมากเลือกไม่กล้าที่จะเลือกเดินตามความฝัน ไม่กล้าที่จะริเริ่มสร้างธุรกิจของตนเอง ไม่มีโอกาสได้ปลดปล่อยศักยภาพตามความชอบของตัวเองได้อย่างเต็มที่ เพราะขาดระบบคุ้มครองทางสังคม (Social protection) ที่เพียงพอที่จะคอยรองรับผลกระทบทางลบภายใต้ความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจและความไม่แน่นอนต่ออาชีพ ทำให้ทางเลือกชีวิตถูกจำกัดด้วยสถานะทางการเงินของครอบครัว พลเมืองไทยขาดโอกาสในการไขว่คว้ากล้าเสี่ยงตามความฝัน สังคมไทยขาดความยืดหยุ่นและเท่าเทียม ระบบเศรษฐกิจไทยขาดนวัตกรรมและแรงขับเคลื่อนจากคนรุ่นใหม่

แต่บทบาทของภาครัฐในการส่งเสริมชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีให้กับประชาชน ก็ถูกจำกัดด้วยภาระทางการคลังของภาครัฐไทยที่นับวันจะเพิ่มขึ้นเป็นเหมือนระเบิดเวลาที่รอวันปะทุ บทความเรื่อง “เปิดโลกการคลังบนเส้นทางแห่งอนาคตที่ยั่งยืน” โดย สัณหณัฐ เศรษฐศักดาศิริ ชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นเร่งด่วนที่ภาครัฐไทยจำเป็นต้องปฏิรูปทางการคลังทั้งด้านรายรับและรายจ่ายของภาครัฐ เพื่อความมั่นคงและยั่งยืนทางการคลังในระยะยาว ไม่ใช่เพียงเพื่อความอยู่รอดของรัฐบาล แต่เพื่อไม่ให้ข้อจำกัดด้านการคลังมาบดบังการพัฒนาประเทศ และเป็นเหตุให้คุณภาพชีวิตของประชาชนคนไทยลดลง สร้างภาระหนักอึ้งให้กับคนรุ่นลูกรุ่นหลานในอนาคต

9 ความฝันที่สะท้อนผ่านบทความชุดนี้ไม่ได้เป็นเพียงแค่ความปรารถนา แต่คือแรงบันดาลใจที่ชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นในการสร้างความเปลี่ยนแปลงที่เป็นรูปธรรมในประเทศไทย การปรับเปลี่ยนระบบเศรษฐกิจ การศึกษา และสังคม ให้เปิดโอกาสให้ทุกคนมีทางเลือกและความฝันที่เป็นจริงได้ และจะเป็นก้าวสำคัญที่นำพาประเทศไปสู่อนาคตที่มั่นคงและยั่งยืน ความฝันของนักเศรษฐศาสตร์รุ่นใหม่เหล่านี้จึงไม่ใช่เพียงเรื่องของคนรุ่นหนึ่ง แต่คืออนาคตของประเทศที่ทุกคนจะได้มีส่วนร่วมในการสร้างสังคมไทยแห่งโอกาสร่วมกัน