ในช่วงวัยเรียนที่ผ่านมา (ไม่นาน) ของผู้เขียนซึ่งเป็นคนกรุงเทพฯ โดยกำเนิด ได้พบเจอกับเพื่อนร่วมชั้นหลายๆ คนซึ่งมาจากต่างจังหวัด พอเรียนจบแล้วพวกเขาเหล่านี้ส่วนใหญ่จวบจนตอนนี้ ก็ยังไม่ได้กลับไปใช้ชีวิตในวัยทำงานที่จังหวัดของตัวเอง ไม่ใช่ว่าพวกเขาเหล่านั้นชื่นชอบการใช้ชีวิตในกรุงเทพฯ แต่เพราะงานทักษะสูงที่ตรงกับความรู้ความสามารถของพวกเขาในประเทศไทยกว่า 40% อยู่ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล1 นอกจากนี้ ความพร้อมทางด้านโครงสร้างพื้นฐาน การศึกษา การแพทย์ ก็ทำให้หลายคนเลือกลงหลังปักฐานที่กรุงเทพฯ
เรื่องราวเหล่านี้อาจเกิดขึ้นกับผู้คนอีกเกือบ 2 ล้านคน ที่เข้ามาใช้ชีวิตในกรุงเทพฯ2 คงจะดีไม่น้อย ถ้าทุกๆ คนสามารถที่จะกลับไปยังบ้านเกิดแล้วสร้างตัวเองในแบบที่ต้องการได้ อย่างน้อยก็เป็นทางเลือกของชีวิตที่เพิ่มขึ้น ที่คำตอบไม่ได้มีแค่ “กรุงเทพฯ”
ในอนาคตข้างหน้า ผู้เขียนจึงอยากเห็นภาพเมืองนอกกรุงเทพฯ ที่มีเศรษฐกิจหลากหลายพอ ที่จะทำให้คนจำนวนมากสามารถกลับไปสร้างตัวได้ อยากเห็นเมืองท่องเที่ยวที่มีงานออฟฟิศรายได้สูง เพื่อเป็นทางเลือกให้แก่คนในท้องถิ่น อยากเห็นเมืองเกษตรกรรมที่มีงานให้แก่นักวิจัยเก่งๆ ซึ่งสุดท้ายจะสามารถสร้างงานวิจัยที่ช่วยเพิ่มพูนมูลค่าสินค้าของตัวเองได้ อยากเห็นเศรษฐกิจไทยที่ถูกขับเคลื่อนจากทั้งประเทศ ไม่ใช่แค่เพียงกรุงเทพฯ
แต่ความจริงในปัจจุบันยังห่างไกลจากภาพฝันนั้นมาก เพราะกิจกรรมทางเศรษฐกิจเกือบครึ่งหนึ่งของประเทศ3 เกิดขึ้นในกรุงเทพฯ และปริมณฑล และเศรษฐกิจในกรุงเทพฯ และปริมณฑลก็ยังโตเร็วกว่าพื้นที่อื่นๆ ในประเทศ โดยค่าเฉลี่ยการเติบโตในช่วง 5 ปีก่อนโควิด-19 ของกรุงเทพฯ และปริมณฑลอยู่ที่ 4.5% มากกว่าค่าเฉลี่ยทั้งประเทศที่ 3.4% การมีกรุงเทพฯ เป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจเพียงแห่งเดียว ทำให้เศรษฐกิจไทยอ่อนไหวต่อสถานการณ์ต่างๆ ที่เข้ามากระทบกรุงเทพฯ อย่างที่เห็นได้ชัดในเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ปี 2554 ที่แม้ว่าจะท่วมพื้นที่เพียงประมาณ 5% ของประเทศ4 แต่ก็ทำให้เศรษฐกิจหดตัวลงไปถึง 4%5 เพราะ 5% ที่ท่วมนั้นเป็นพื้นที่สำคัญทางเศรษฐกิจซึ่งนับรวมกรุงเทพฯ และปริมณฑลเข้าไปด้วย
นอกจากนี้ การเติบโตของกรุงเทพฯ ไปข้างหน้าก็มีขีดจำกัดทางทรัพยากร มิติที่เห็นได้เด่นชัดที่สุดก็คือที่ดิน ซึ่งทำให้อุปทานของที่อยู่อาศัยใหม่โตไม่ทันอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เห็นได้จากราคาบ้านเดี่ยวในกรุงเทพฯ ที่เพิ่มขึ้นกว่า 30% ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา6 ที่ดินที่มีอยู่จำกัดยังทำให้การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเพิ่มเติมเพื่อแก้ไขปัญหาเรื้อรังของกรุงเทพฯ เป็นเรื่องยาก ไม่ว่าจะเป็นปัญหาการจราจรหรือปัญหาน้ำท่วม เพราะต้องเวนคืนที่ดินที่มีอาคารบ้านเรือนอยู่แล้วเป็นมูลค่ามหาศาล เหล่านี้เป็นปัจจัยที่ล้วนแล้วแต่จะทำให้ที่กรุงเทพฯ รองรับการเติบโตในอนาคตได้ยากขึ้น
วันนี้เศรษฐกิจไทยเผชิญกับความท้าทายมากมาย ที่ทำให้ความสามารถในการเติบโตของเศรษฐกิจลดลงเรื่อยๆ โมเดลการเติบโตของประเทศโดยการพึ่งพาเศรษฐกิจของกรุงเทพฯ อย่างที่ผ่านมา จึงอาจไม่ใช่คำตอบของเศรษฐกิจไทย การพัฒนาเศรษฐกิจภูมิภาคให้เข้มแข็งและหลากหลายจึงเป็นหนึ่งในทางออกสำคัญ ที่จะช่วยปลดล็อกให้ไทยนำเอาทรัพยากรจากทุกที่ทั่วประเทศ มาใช้เพิ่มการเติบโตของเศรษฐกิจได้อย่างเต็มที่
ความพยายามในการกระจายความเจริญเติบโตของเศรษฐกิจไปนอกกรุงเทพฯ ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะที่ผ่านมา ภาครัฐพยายามผลักดันนโยบายต่างๆ ทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐาน เช่น การสร้างถนน การทำให้พื้นที่ห่างไกลเข้าถึงอินเทอร์เน็ต หรือการเพิ่มอำนาจให้ท้องถิ่น ซึ่งมีหมุดหมายสำคัญคือการออก พ.ร.บ.กระจายอำนาจให้ท้องถิ่น เมื่อกว่า 20 ปีที่ผ่านมา7 แต่ด้วยสภาวะทางเศรษฐกิจและการเมือง ทั้งความผันผวนทางการเมืองซึ่งทำให้กระบวนการกระจายอำนาจไปยังท้องถิ่นสะดุดลงอยู่เรื่อยไป หรือความผันผวนทางเศรษฐกิจซึ่งทำให้นโยบายเศรษฐกิจต้องมุ่งเน้นการจัดการปัญหาเฉพาะหน้า แทนที่จะให้ความสำคัญกับการพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่นในระยะยาว ทำให้การพัฒนาเศรษฐกิจนอกกรุงเทพฯ ยังไม่คืบหน้ามากนัก8 แต่ความหวังก็ยังไม่ได้หมดไป เพราะถ้ามองไปข้างหน้า เราจะเห็น 2 กระแสโลกใหญ่ๆ ที่จะช่วยเร่งให้เกิดการสร้างเศรษฐกิจนอกกรุงเทพฯ
กระแสแรกคือ การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ (climate change) ซึ่งกรุงเทพฯ จะได้รับผลกระทบจากอุณหภูมิที่สูงขึ้นมากกว่าพื้นที่อื่นๆ ในประเทศไทย เนื่องจากพื้นผิวคอนกรีตในตัวเมืองจะดูดซับความร้อนได้มากกว่าพื้นที่รอบข้าง ซึ่งทำให้ในอุณหภูมิเฉลี่ยในกรุงเทพฯ สูงกว่าบริเวณรอบข้างได้มากถึง 4 องศาเซลเซียส9 นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศจะทำให้ฝนในกรุงเทพฯ กระจุกตัวอยู่ในฤดูฝนมากขึ้น10 ซึ่งทำให้ปัญหาน้ำท่วมจะยิ่งทวีความรุนแรง ทั้งหมดนี้จะส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตในกรุงเทพฯ มากขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่การเดินทางในช่วงเย็นฤดูฝนที่เป็นปัญหาสำคัญสำหรับคนทำงานที่ยังต้องเข้าออฟฟิศ การใช้ชีวิตนอกบ้านในตอนกลางวันที่นับวันจะยิ่งทำได้ยากขึ้นเพราะอากาศร้อนจัดกว่าเก่า หรือสุดท้ายรุนแรงไปถึงขั้นที่จะลดทอนคุณภาพชีวิตของคนกรุงเทพฯ จนเป็นตัวเร่งให้คนกรุงเทพฯ อาจต้องคิดถึงทางเลือกอื่นๆ ให้กับชีวิต
กระแสที่สอง การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีที่ทำให้การทำงานยืดหยุ่นได้มากขึ้น สามารถทำงานจากระยะไกลได้ ประกอบกับความพร้อมด้านอินเทอร์เน็ตของไทยที่ถือว่าเป็นหนึ่งในผู้นำของโลกทั้งในด้านความครอบคลุมและความเร็ว11 จะเป็นตัวปลดล็อกที่สำคัญที่จะทำให้ทั้งภาครัฐและเอกชนเริ่มคิดถึงวิธีการทำงานใหม่ๆ โดยไม่จำเป็นต้องให้กิจกรรมทั้งหมดอยู่ในกรุงเทพฯ เพื่อประหยัดต้นทุน และลดความเสี่ยงในการดำเนินกิจการได้ ซึ่งในที่สุดก็จะทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจกระจายตัวไปยังพื้นที่อื่นๆ ในประเทศ
หากมองอย่างผิวเผิน การพัฒนาเศรษฐกิจภูมิภาคอาจจะต้อง “ยกภูเขา” รื้อโครงสร้างกันขนานใหญ่ แต่แท้จริงแล้ว เราสามารถเริ่มต้นจากก้าวเล็กๆ ได้ และที่สำคัญ เราไม่ได้เริ่มจากศูนย์ การมุ่งเน้นการพัฒนาเมืองที่มีศักยภาพทางด้านเศรษฐกิจ มีโครงสร้างพื้นฐานที่พร้อม และมีการเชื่อมต่อที่ดีกับกรุงเทพฯ อยู่แล้ว หรือที่เรียกว่าเมืองรอง (secondary city) เช่น เชียงใหม่ ขอนแก่น นครราชสีมา หรือหาดใหญ่ เป็นก้าวแรกที่ดี12 โดยรัฐบาลกลางอาจต่อยอดจากฐานเศรษฐกิจเดิมด้วยการลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานตามความต้องการที่แตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ พร้อมทั้งเร่งส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมใหม่ๆ ที่สอดคล้องกับศักยภาพของแต่ละพื้นที่
ก้าวต่อไป คือ การเพิ่มศักยภาพของรัฐบาลท้องถิ่น เพื่อนำการตัดสินใจในเรื่องการพัฒนาท้องถิ่นเข้าใกล้ประชาชนให้ได้มากที่สุดผ่านการกระจายอำนาจ โดยการกระจายอำนาจนี้ไม่ใช่เป็นเพียงการแบ่งงาน หรือความรับผิดชอบให้ท้องถิ่นเพียงอย่างเดียว แต่ต้องรวมถึงการให้อำนาจการตัดสินใจเรื่องงบประมาณและบุคลากรด้วย เพื่อให้ท้องถิ่นคล่องตัวในการบริหารจัดการและพัฒนาตนเอง นอกจากนี้ การส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน ในการวางแผนและตัดสินใจเกี่ยวกับการพัฒนาในท้องถิ่น ก็เป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้เกิดความโปร่งใสและความรับผิดชอบในการบริหารงาน
เมื่อให้ภารกิจและอำนาจในการตัดสินใจแล้ว รัฐบาลกลางยังต้องมั่นใจว่าท้องถิ่นมีทรัพยากรที่เพียงพอ ในการที่จะดำเนินภารกิจเหล่านั้นให้ประสบผลสำเร็จด้วย ไม่ว่าจะเป็นการจัดสรรงบประมาณจากส่วนกลางลงสู่ท้องถิ่นให้มากขึ้น เนื่องจากปัจจุบันงบประมาณกว่า 80% กระจุกตัวอยู่ที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล13 หรือการควบรวมท้องถิ่นขนาดเล็กหลายแห่งเข้าด้วยกัน เพื่อให้มีทรัพยากรเพียงพอที่จะบริหารงานที่ส่วนกลางมอบหมาย 14
การพัฒนาเศรษฐกิจนอกกรุงเทพฯ เพื่อนำไปสู่แรงขับเคลื่อนใหม่ของเศรษฐกิจไทยไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็ต้องไม่ลืมว่า การแก้ไขปัญหาของเศรษฐกิจไทยในวันนี้ไม่ว่าจะในด้านใดก็ตาม ล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องที่ไม่ง่ายทั้งสิ้น ดังนั้น การพัฒนาจังหวัดอื่นๆ ให้มีเศรษฐกิจที่โตด้วยตัวเองได้มากขึ้น ก็นับเป็นโอกาสที่ไม่ควรมองข้าม เพราะ…
นี่คือหนทางที่นอกจากจะช่วยยกระดับความสามารถในการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในภาพรวมได้แล้ว ยังจะเป็นการสร้างโอกาสให้กับคนไทยทุกคน ไม่ว่าจะอยู่ที่ใดในประเทศนี้
อ้างอิง
1. สรวิศ มา. “การหา ‘งานที่ดี’ อาจเป็นเพียงความฝันของเยาวชนไทยส่วนใหญ่.” กุมภาพันธ์ 19, 2565. https://101pub.org/decent-jobs-for-youth/
2. เป็นตัวเลขประชากรแฝงกลางคืนของกรุงเทพฯ ในปี 2566 หมายถึง ประชากรที่มาอาศัยอยู่ประจำในจังหวัดนั้น แต่ไม่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านของจังหวัดนั้น ที่มาของข้อมูล : สำนักงานสถิติแห่งชาติ. (2566). สรุปผลที่สำคัญการสำรวจประชากรแฝง พ.ศ. 2566
3. ข้อมูลในปี 2565 จาก สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (2565) ผลิตภัณฑ์ภาคและจังหวัด แบบปริมาณลูกโซ่
4. GISTDA (2565) เปรียบเทียบพื้นที่น้ำท่วมไทยช่วงเดือนกันยายน 2554, 2564 และ 2565 https://www.gistda.or.th/news_view.php?n_id=6360&lang=TH คำนวณโดยผู้เขียน
5. การขยายตัวของ GDP ไตรมาส 4 ปี 2554 เทียบระยะเดียวกันปีก่อน
6. การขยายตัวของดัชนีราคาบ้านเดี่ยวรวมที่ดินในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ซึ่งจัดทำโดยธนาคารแห่งประเทศไทย ณ สิ้นปี 2567 เทียบสิ้นปี 2558
7. พ.ร.บ.กำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542
8. สรวิศ มา. “ประเมินสถานะการกระจายอำนาจ: 2 ทศวรรษที่ยังไปไม่ถึงเป้า.” 3 พฤศจิกายน 2565. https://101pub.org/two-decades-decentralization/
9. Danny Marks “Taking on Bangkok’s punishing heat.” 3 พฤษภาคม 2567 https://www.bangkokpost.com/opinion/opinion/2785989/taking-on-bangkoks-punishing-heat.
10. World Bank Group. “Thailand Economic Monitor June 2023: Coping with Floods and Droughts” 28 มิถุนายน 2566. https://www.worldbank.org/en/country/thailand/publication/thailand-economic-monitor-june-2023-coping-with-floods-and-droughts
11. ผลสำรวจจาก Ookla ในปี 2565 และ Opensignal ในปี 2564
12. World Bank Group. “Thailand Economic Monitor July 2024: Unlocking the Growth Potential of Secondary Cities” 3 กรกฎาคม 2567. https://www.worldbank.org/en/country/thailand/publication/temjuly2024
13. ฉัตร คำแสง. “งบประมาณไทย จ่ายไปที่ไหนบ้าง?.” 2 พฤษภาคม 2565. https://101pub.org/budget-centralization/
14. สรัช สินธุประมา “จัดความสัมพันธ์ท้องถิ่น-ส่วนกลางใหม่ ไปให้ถึงการ ‘ถ่ายโอนอำนาจ’”. 27 กรกฎาคม 2566. https://101pub.org/next-step-devolution/