ThaiPublica > เกาะกระแส > SCB EIC ชี้เศรษฐกิจกำลัง Landing จะ Hard หรือ Soft อยู่ที่นโยบาย ถ้า Hard Landing โตแค่ 1.9%

SCB EIC ชี้เศรษฐกิจกำลัง Landing จะ Hard หรือ Soft อยู่ที่นโยบาย ถ้า Hard Landing โตแค่ 1.9%

12 กันยายน 2024


วันที่ 12 กันยายน 2567 ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) ได้จัดบรรยายสรุปมุมมองเศรษฐกิจไทย ประจำไตรมาส 3 ปี 2567 โดย ดร.สมประวิณ มันประเสริฐ รองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงาน Economic Intelligence Center (EIC) และรองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงานกลยุทธ์องค์กร ธนาคารไทยพาณิชย์ นายนนท์ พฤกษ์ศิริ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส และนางสาวฐิตา เภกานนท์ นักวิเคราะห์อาวุโส

สามเงื่อนไขเศรษฐกิจโลก Soft Landing

นายนนท์ พฤกษ์ศิริ ให้ข้อมูลภาพรวมเศรษฐกิจโลก โดยกล่าวว่า เศรษฐกิจโลกชะลอตัวลงตามคาด แต่ยังคงประมาณการเติบโตเศรษฐกิจสหรัฐไว้ที่ 2.5% สำหรับปีนี้ และยังแข็งแกร่ง แม้อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับสูง ในปีหน้าคาดการณ์เศรษฐกิจสหรัฐจะชะลอลงไปที่ 1.9%

ส่วนเศรษฐกิจจีนคาดว่าจะขยายตัวได้ 5% ตามเป้าหมายของพรรคคอมมิวนิสต์จีน จากการส่งออกที่ขยายตัวค่อนข้างดี ซึ่งเป็นผลจากการเร่งนำเข้าก่อนที่จะมีมาตรการกีดกันสินค้าจีนมากขึ้น ขณะที่อุปสงค์ภายในของจีนยัง ทั้งกำลังซื้อ และความเชื่อมั่นของผู้บริโภคยังอ่อนแอ จึงคาดการณ๋ในปีหน้าเศรษฐกิจจะชะลอตัวลงมาที่ 4.5%

ส่วนประเทศอื่นที่โตช้าในปีนี้ ทั้งยูโรโซน และญี่ปุ่นคาดว่าจะมีแรงส่งที่ดีขึ้นในปีหน้า ขณะที่ประเทศที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลก คือ อินเดียซึ่งเติบโตเร็ว และอาเซียนที่ขยายตัวต่อเนื่อง

“โดยรวมเศรษฐกิจมีสัญญานที่ชะลอตัวลง ในเศรษฐกิจขนาดใหญ่ ทั้งสหรัฐ จีน แต่โอกาสที่จะ soft landing ของเศรษฐกิจโลกยังมีอยู่ เงื่อนไขที่จะเกิด soft landing ได้ ได้แก่ หนึ่ง เงินเฟ้อโลกต้องชะลอลง เพื่อที่ธนาคารกลางประเทศหลักๆสามารถปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงได้ ซึ่งจะช่วยพยุงเศรษฐกิจในปีหน้าไม่ให้ชะลอลงได้ สอง การค้าโลกต้องไม่สะดุด สามตลาดแรงงานต้องมีเสถียรภาพ เข้าสู่จุดสมดุลมากขึ้น ไม่มีการปลดพนักงานครั้งใหญ่” นายนนท์กล่าว

นายนนท์ พฤกษ์ศิริ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส SCB EIC

อย่างไรก็ตาม ยังมีความเสี่ยงด้านลบ ที่จะมีผลเงื่อนไขของการ soft landing เกิดได้ยากขึ้น เช่น ความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ มาตรการกีดดันทางการค้าที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ซึ่งหากทั้งสองประเด็นนี้เกิดขึ้น เงินเฟ้อโลกอาจจะไม่ลดต่ำอย่างที่คาดการณ ดอกเบี้ยโลกก็จะไม่ลดลง

เศรษฐกิจสหรัฐชะลอตัวลงแล้ว โดยข้อมูลตลาดแรงงานเมื่อเทียบกับประเทศใหญ่ ก็ถือว่าแข็งแกร่ง แต่อัตราว่างงานที่เพิ่มขึ้นเร็วจนเข้าเกณฑ์ดัชนีเตือนเศรษฐกิจถดถอยของสหรัฐฯ ทำให้ตลาดกลับมากังวลว่าเศรษฐกิจโลกอาจเข้าสู่ภาวะถดถอย (Hard landing) อีกครั้ง
และประเมินว่าธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด)จะปรับลดดอกเบี้ยลงมากถึง 1% ในปีนี้

“เรานี้คาดการณ์ไว้อยู่แล้วว่า ตลาดแรงงานสหรัฐจะชะลอตัว EIC จึงคาดว่าในปีนี้ เฟดจะลดดอกเบี้ย 0.75% ในการประชุมที่เหลืออีก 3 ครั้งในปี เมื่อเฟดเข้าสู่วงจรการผ่อนคลายนโยบายการเงิน(easing cycle) แบบเต็มตัว ก็น่าจะทำให้เศรษฐกิจสหรัฐในปีหน้าเข้าสู่ภาวะ soft landing ได้ ไม่ากังวลมากเพราะตลาดแรงงานชะลอตัวมาจากจุดที่ร้อนแรงมาก” นายนนท์กล่าว

เงินเฟ้อและดอกเบี้ยที่ลดลงคือ ประเด็นหลักของเศรษฐกิจในปีหน้า โดยคาดว่าเงินเฟ้อยังมีความหนืดและจะปรับลดลงอย่างค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งจะทำให้ธนาคารกลางประเทศหลักเข้าสู่วงจรผ่อนคลาย เริ่มปรับลดดอกเบี้ยแต่ไม่ได้ปรับลงเร็ว

EIC คาดว่า ธนาคารกลางยุโรป(ECB) จะลดดอกเบี้ยได้อีก 0.50% ส่วนธนาคารกลางที่จะไม่ปรับลดดอกเบี้ย ได้แก่ ธนาคารกลางญี่ปุ่น(BOJ) เนื่องจากเงินเฟ้อปีนี้ขยับขึ้น บวกกับการปรับนโยบายการเงินให้กลับสู่ภาวะปกติ BOJ จะค่อยๆปรับอัตราดอกเบี้ยให้ไปสู่ neutral rate ในระดับที่สอดคล้องกับการเติบโตระยะยาวมากขึ้น

โดยรวมเศรษฐกิจโลกยังขยายตัวในปีหน้า และมีโอกาสสูงที่จะเกิด soft landing จากการผ่อนคลายนโยบายการเงิน

ด้านการค้าโลกแม้ยังเติบโตในปีหน้า แต่ก็มีความเสี่ยงด้านลบเช่นกัน ซึ่งจะมีผลต่อการส่งออกของไทย ในระยะสั้นความเสี่ยงของการค้าโลก คือ ค่าระวางเรือ ค่าขนส่ง ที่อยู่ในระดับสูง เป็นผลจากความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ ในระยะต่อไป ความเสี่ยงต่อการค้าโลกคือ การกีดกันทางการค้าที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะจากสหรัฐที่ใช้กับจีน ในช่วงที่โดนัลด์ ทรัมป์ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐ ก็ได่ขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจีน ต่อมาในสมัยประธานาธิบดีสหรัฐโจ ไบเดน ก็ยังคงภาษีนั้นอยู่

ในระยะปานกลาง มาตรการกีดกันไม่ได้จำกัดวงเฉพาะการค้า แต่ขยายไปถึงภาคบริการ การลงทุน และการเคลื่อนย้ายแรงงานทั่วโลกอีกด้วย นอกจากนี้ในแง่ความร่วมมือก็ลดลง จากความขัดแย้งที่เกิดขึ้น ความร่วมมือที่ลดลงในระยะยาว จะทำให้คลี่คลายสถานการณ์ความขัดแย้งได้ยากขึ้น

“ความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ ในระยะปานกลาง และมาตรการกีดกันทางการค้า จะทำให้เศรษฐกิจโลกได้น้อยลง เงินเฟ้อก็อาจจะไม่ลดลงไปที่ระดับก่อนโควิด โลกมีความท้าทายขึ้น”นายนนท์กล่าว

ดร.สมประวิณ มันประเสริฐ รองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงาน Economic Intelligence Center (EIC) และรองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงานกลยุทธ์องค์กร ธนาคารไทยพาณิชย์

เศรษฐกิจไทย hard landing หรือ soft landing อยู่ที่นโยบาย

ดร.สมประวิณ มันประเสริฐ กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยเริ่มโตช้ากว่าเศรษฐกิจโลกมาระยะหนึ่งแล้ว ก่อนวิกฤติการเงินโลก(Global Financial Crisis;GFC) ปี 2008 เศรษฐกิจไทยโตสูงกว่าโลก ขณะที่ก่อนเกิดการระบาดของโควิด ไทยโตใกล้เคียงกับโลก แต่หลังโควิดไทยเริ่มโตต่ำกว่าโลก นอกจากนี้ เศรษฐกิจไทยมีพัฒนาการแย่ลง เริ่มออกห่างจากประเทศภูมิภาค แต่เข้าใกล้ประเทศลาตินอเมริกา เมื่อเทียบกับประเทศที่มีรายได้สูงกว่า ไทยโตได้ช้ากว่า ไม่ว่าจะเป็นประเทศรายได้สูงในตะวันตก ในเอเชีย ในอเมริกากลาง หรือในอาเซียน อย่างมาเลเซีย เมื่อเทียบกับประเทศรายได้ที่ต่ำกว่า ไทยก็โตช้ากว่า และที่สนใจเมื่อเทียบประเทศรายได้ต่ำกว่าอีกกลุ่มหนึ่งกำลังโตตามไทยมาติดๆ ทั้ง เวียดนาม ฟิลิปปินส์

“ประเทศไทยโตช้ากว่าประเทศอื่น และน่าจะโตช้ากว่าต่อไปอีก และขยายตัวต่ำทั้งในปีนี้และปีหน้า EIC คาดว่า ปีนี้จะโต 2.5% ส่วนปีหน้าได้ปรับลดลงจาก 2.9% มาที่ 2.6% และคาดว่าการเติบโตตามศักยภาพของไทยอยู่ที่ 2.7% การเติบโตที่ 2.6% หมายถึงโตต่ำกว่าศักยภาพ ซึ่งส่วนต่าง 0.1% มาจากปัจจัยวัฎจักร” ดร.สมประวิณกล่าว

ดร.สมประวิณกล่าวว่า องค์ประกอบหลักเศรษฐกิจแผ่วลง โดยการบริโภคต่ำลง การลงทุนภาคเอกชนลดลง การท่องเที่ยวลดลง…

“ซึ่งเศรษฐกิจอาจจะเกิด hard landing ได้ หากเกิด 3 เหตุการณ์พร้อมกัน อย่างแรกเศรษฐกิจโลกถดถอย แม้จะมีการคาดการณ์ว่าจะ soft landing แต่ยังบอกไม่ได้ว่า การเงินที่ตึงตัวจะส่งผลเร็วลุกลามไปภาคการเงินของโลกหรือไม่ อย่างที่สองถ้าการเมืองไทยไม่มีเสถียรภาพ และอย่างที่สาม ภาคการเงินตึงตัวสูงมาก หนี้เสียเพิ่มสูงขึ้น สุดท้าย hard landing แบบนี้เศรษฐกิจไทยโตได้ 1.9% และดอกเบี้ยนโยบายจะลดลงไปถึง 1.5%”

“เศรษฐกิจกำลัง landing แต่บอกไม่ได้ว่า จะ hard landing หรือ soft landing อยู่ที่นโยบาย หากนโยบายการเงินและนโยบายการคลังช่วยกันประคอง hard landing ก็จะไม่เกิดขึ้น แต่หากนโยบายไปในทิศทางที่ต่างกัน ก็มีโอกาสที่จะ hard landing ก็ได้” ดร.สมประวิณ กล่าว

แม้โอกาสที่เศรษฐกิจไทยจะเกิด hard landing ยังน้อยกว่า 50% “แต่เศรษฐกิจไทยก็จะ landing เศรษฐกิจทั้งโลกก็ landing แต่เป็น soft landing ซึ่ง cycle ของโลกในปีหน้าแม้ GDP ไม่ได้ปรับลง แต่การมีนโยบายโลกตึงตัวมา 2-3 ปีแล้วก็ส่งผ่านเข้าไปในวัฎจักรเศรษฐกิจโลกมากขึ้นเรื่อยๆ และโลกเก่งทำให้ soft landing แต่ของไทยไม่ทราบได้ แต่ landing แน่นอน”

สำหรับการส่งออกมีแนวโน้มขยายตัวดีขึ้น แต่ต่ำกว่าที่ผ่านมา และส่งออกได้น้อยกว่าโลกในเกือบทุกหมวดสินค้า การส่งออกที่โตต่ำก็มีผลต่อการผลิต ที่แม้จะดีขึ้นแต่โตต่ำกว่าค่าเฉลี่ย มีผลต่อเนื่องถึงการลงทุน ทำให้การลงทุนภาคเอกชนลดลงเรื่อยๆ และที่สำคัญเริ่มขยายผลไปที่การจ้างงาน

“วันนี้เราเริ่มเห็นสัญญานการจ้างงานที่ลดลงในภาคการผลิต ขยายวงไปที่ภาคบริการ การค้า ยิ่งไปกว่านั้นค่าจ้างที่แท้จริงเริ่มลดลงในอุตสาหกรรมบางกลุ่ม ค่าจ้างเมื่อเทียบกับเงินเฟ้อ กลุ่มที่เกี่ยวข้องกับการบริการ ทั้งภาคขนส่ง ค้าปลีก อสังหาริมทรัพย์ ค่าจ้างลดลง เรากังวลใจที่ปัญหาลามจากภาคการผลิตไปที่ภาคบริการ เพราะภาคบริการเป็นภาคที่ใช้แรงงานเข้มข้น (labour-intensive) ซึ่งมีผลกระทบมหาศาล และทำให้อุปสงค์ลดลงไปอีก” ดร.สมประวิณกล่าว

นอกจากนี้รายได้ภาคเกษตรมีแนวโน้มกลับมาหดตัวในปี 2568 ตามทิศทางราคาสินค้าเกษตรสำคัญที่จะลดลง จึงไม่สามารถ เป็นปัจจัยสนับสนุนการบริโภคภาคเอกชนในปีหน้าได้เช่นในปีนี้

การบริโภคสินค้าคงทนลดลง เห็นสัญญานได้จากยอดขายรถที่ลดลง เพราะรายได้ที่ลดลงทำให้ผู้บริโภคไม่ต้องการผูกมัดกับค่าใช้จ่ายในระยะยาว และมีแนวโน้มลดการใช้จ่ายสินค้าและบริการไม่จำเป็นลง การท่องเที่ยวในประเทศไม่น่าจะเติบโตนัก โดยจากผลสำรวจ ของ EIC พบว่า เกือบครึ่งหนึ่งของนักท่องเที่ยวไทยลดหรืองดการท่องเที่ยวในประเทศเมื่อภาระค่าใช้จ่ายโดยรวมเพิ่มขึ้น

ผลสำรวจ Consumer Survey ในเดือนสิงหาคม ได้คำตอบ ว่า เกือบ 3 ใน 5 ของผู้ตอบแบบสอบถามคาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2568 จะแย่กว่าปีนี้ โดยกลุ่มลูกจ้าง Part-time เจ้าของกิจการ และผู้ประกอบอาชีพอิสระมีมุมมองต่อเศรษฐกิจไทยในเชิงลบมากกว่ากลุ่มลูกจ้างประจำโดยเฉพาะกลุ่มลูกจ้างภาครัฐ

ผู้บริโภคมีแนวโน้มลดการใช้จ่ายสินค้าและบริการที่ไม่จำเป็นในปี 2568 โดยกว่าครึ่งของผู้ตอบแบบสอบถามมีแนวโน้มจะลดการใช้จ่ายหมวดเครื่องแต่งกาย เครื่องประดับ กระเป๋า รองเท้า หมวดทานอาหารนอกบ้าน รวมถึงการพบปะสังสรรค์ การท่องเที่ยวต่างประเทศ และหมวดความบันเทิง เช่น โรงภาพยนตร์ คอนเสิร์ต และส่วนหนึ่งเพราะเห็นว่าค่าครองชีพในปีหน้าจะสูงขึ้น สะท้อนจากค่าใช้จ่ายปกติในชีวิตประจำวัน เช่น ค่าอาหาร ค่าเดินทาง ที่ผู้ตอบแบบสอบถามเกือบครึ่งหนึ่งมองว่ามีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้น จึงพยายามควบคุมค่าใช้จ่ายรวมไม่ให้เพิ่มขึ้นมาก

ดร.สมประวิณกล่าวว่า ภาคการเงินก็ตึงตัวขึ้นมาก สินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ลดลง คุณภาพสินเชื่อด้อยลง การยืมเงินส่งต่อในระบบธนาคารก็ทำได้ยาก ช้าลง น้อยลง เงินก็หมุนเวียนในเศรษฐกิจได้น้อยลง

“ส่วนภาคการคลังมีข้อจำกัดมากขึ้นต่อเนื่อง หนี้สาธารณะมีแนวโน้มชนเพดาน 70% ในอีก 2 ปี ซึ่งเร็วขึ้นจากเดิม 1 ปี ซึ่งการคาดการณ์นี้ได้คำนึงถึงการใช้เงินไปแล้วบางส่วน เป็นผลจากประมาณการ GDP ต่ำลง รวมถึงโครงการกระเป๋าเงินดิจิทัลใช้วงเงินสูง แต่กระตุ้นเศรษฐกิจได้ผลไม่เต็มที่และชั่วคราว ดังนั้นช่องว่างของการทำนโยบายการคลังก็มีน้อยลง ข้อจำกัดของนโยบายการเงิน การคลังมีมากขึ้น” ดร.สมประวิณกล่าว

EIC ประเมินนโยบายทั้งในระยะสั้นและระยะยาว และมีจุดเน้นมากขึ้น นโยบายที่เห็นคือ ระยะที่ 1 แจกเงินเฉพาะกลุ่มเปราะบาง ผลที่ได้ต่อ GDP มีประมาณ 0.5-0.7% ซึ่งดร.สมประวิณกล่าวว่า”ช่วยได้ แต่ไม่ได้แก้ปัญหา”

ในระยะสั้นผู้ที่จะได้ประโยชน์ นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลคาดว่าจะส่งผลบวกต่อธุรกิจที่เกี่ยวโยงกับการบริโภค ท่องเที่ยว และภาคเกษตร ขณะที่ธุรกิจที่มีแรงงานขั้นพื้นฐานในสัดส่วนสูงจะได้รับผลกระทบด้านต้นทุน และธุรกิจพลังงานอาจได้รับผลกระทบด้านรายได้ สำหรับนโยบายส่งเสริมความสามารถในการแข่งขัน จะส่งผลบวกต่อธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างพื้นฐาน อุตสาหกรรมที่สอดรับเทรนด์โลก และอุตสาหกรรมแห่งอนาคต สำหรับนโยบายสิ่งแวดล้อมยังเป็นทั้งความท้าทายและโอกาสให้หลายธุรกิจต้องปรับตัว

สำหรับนโยบายการเงิน ดร.สมประวิณกล่าวว่า EIC ติดตามการสื่อสารของคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) พบว่า ในการประชุมเดือน สิงหาคม กนง. เริ่มสื่อสารให้ความสำคัญกับการติดตามความเชื่อมโยงระหว่างเศรษฐกิจและภาวะการเงิน และ ประเมินว่า กนง. มีแนวโน้มเริ่มลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมรอบเดือนธันวาคม จากสัญญาณ อุปสงค์ในประเทศชะลอตัวลงชัดเจนขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นผลต่อเนื่องจากภาวะการเงินตึงตัวนาน

ทางด้านค่าเงิน ช่วงที่ผ่านมาแข็งค่าเร็วหลังดัชนีเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่า ราคาทองคำสูงขึ้น และความกังวลการเมืองไทยที่คลี่คลาย
ในระยะสั้นเงินบาทอาจอ่อนค่าเล็กน้อยจากปัจจัยเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ก่อนกลับสู่เทรนด์แข็งค่าตาม easing cycle ของสหรัฐฯ สำหรับ ณ สิ้นปี 2567 และ 2568 ประเมินเงินบาทอยู่ในกรอบ 34 – 34.5 และ 33 – 34 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ตามลำดับ

  • EIC ชี้ เศรษฐกิจไทยโตช้า เปราะบางและไม่แน่นอน อุตสาหกรรมไทยยังมีโอกาสให้รีบคว้าท่ามกลางโลกแบ่งขั้ว
  • ธุรกิจไทยยังเผชิญความท้าทายเชิงโครงสร้าง

    นางสาวฐิตา เภกานนท์ นักวิเคราะห์อาวุโส SCB EIC
    นางสาวฐิตา เภกานนท์ ภาคธุรกิจไทยยังต้องเผชิญความท้าทายเชิงโครงสร้าง ฟันเฟืองการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยกำลังเผชิญความท้าทายจากรอบด้าน โดยเฉพาะ
    1) อุตสาหกรรมยานยนต์ที่อาจสูญเสียกำลังการผลิตในประเทศของกลุ่มเฝ้าระวัง ที่มีกำลังการผลิตรวมกัน 8.5 แสนคันหรือราว 40% ของกำลังการผลิตทั้งหมด หากการปรับตัวของค่ายรถยนต์ไม่เท่าทันกับกระแสนิยมที่กำลังเปลี่ยนไป

    ในระยะถัดไป การผลิตรถยนต์ไฟฟ้า ทั้งกลุ่ม Hybrid และ BEV จะมีบทบาทต่ออุตฯ ยานยนต์ไทยมากยิ่งขึ้น เพราะแรงส่งจากกระแสนิยมของผู้บริโภค มาตรการจากภาครัฐ และทิศทางการลงทุนของค่ายรถยนต์ต่าง ๆ โโยโรงงานรถยนต์ไฟฟ้าที่เริ่มเดินสายการผลิต/เริ่มก่อตั้งโรงงาน ณ ปี 2567 มีกำลังการผลิตรวมกัน 4 แสนกว่าคัน

    2) ผู้ประกอบการ SME เผชิญแรงกดดัน จากกำลังซื้อในประเทศที่เปราะบาง อีกทั้ง ยังถูกซ้ำเติมจากการตีตลาดจากสินค้านำเข้า ระบวนการผลิตและการตลาดล้าสมัย ดังนั้น การผลักดันให้ภาคธุรกิจเหล่านี้เติบโตได้อย่างยั่งยืนต้องพึ่งพามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้น ควบคู่กับนโยบายยกระดับความสามารถทางการเเข่งขันในระยะยาว

    SME ไทยเผชิญกับความท้าทายที่สูงขึ้นจากปัจจัยรอบด้าน ส่งผลให้ธุรกิจที่ปรับตัวได้ช้าและไม่เท่าทันต่อ การเปลี่ยนแปลงทยอยปิดกิจการลง โดยเฉพาะธุรกิจประมง ผลิตเหล็ก เคมีภัณฑ์ และโรงพิมพ์

    ความเชื่อมั่นของ SME จะปรับตัวดีขึ้น หากภาครัฐและภาคการเงินเพิ่มบทบาทในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ผ่านมาตรการทางการคลัง ลดความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ และผ่อนคลายนโยบายการเงินลง

    โดย EIC มีข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย เพื่อส่งเสริมศักยภาพ SME ไทย ให้เติบโตได้อย่างยั่งยืน 4 ข้อคือ 1)กำหนดโควตาการจัดซื้อจัดจ้างสินค้าและบริการจาก SME ในท้องถิ่น 2)สิทธิการลดหย่อนภาษี จากการซื้อเครื่องจักรและรายจ่ายการอบรมแรงงาน 3)โครงการค้ำประกันสินเชื่อเพื่อการพัฒนาคุณภาพ สินค้าและบริการ 4)กระจายโครงการฝึกอบรม ให้ความรู้ต่าง ๆ สู่จังหวัด เมืองรอง

    น้ำท่วมภาคเกษตรเสียหาย 2.6 พันล้าน

    ดร.เกียรติศักดิ์ คำสี นักวิเคราะห์อาวุโส ตอบคำถามเรื่องผลกระทบน้ำท่วมในภาคเหนือว่า ก่อนที่จะเกิดน้ำท่วมหนักที่เชียงราย ได้คาดการณ์ว่าจะมีมูลค่าความเสียหายไว้ที่ 2,200 ล้านบาท โดยผลกระทบส่วนใหญ่คือพื้นที่นาข้าว ส่วนผลกระทบน้ำท่วมที่เชียงราย เบื้องต้นคาดการณ์ว่าความเสียหายของภาคเกษตรจะเพิ่มขึ้นเป็น 2,600 ล้านบาท

    ดร.เกียรติศักดิ์กล่าว่า ก่อนเกิดน้ำท่วมที่เชียงราย EIC มองเห็นภาพว่าสถานการณ์เริ่มที่จะคลี่คลาย แต่หลังจากน้ำท่วมหนักที่เชียงราย สิ่งที่เห็นคือ ฝนตกแรงมาก ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลกระทบจากภาวะโลกร้อน และกรณีที่แม่สายในรอบ 2 เดือนนี้ น้ำท่วมไปแล้ว 6 ครั้ง ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 7 และเป็นครั้งที่รุนแรงมาก จากพายุยางิที่ตกในฝั่งเมียนมา และน้ำได้ไหลจากต้นน้ำเข้าในตัวเมือง ซึ่งคาดว่าจะสร้างความเสียหายต่อประมาณกว่า 1 แสนครัวเรือน แต่ EIC ยังไม่ได้ประเมินผลกระทบ

    ที่เชียงราย EIC ประเมินว่าหากฝนไม่ตกเพิ่ม ไม่เกิน 10 วัน น้ำน่าจะลดลงได้ สถานการณ์ทีผ่านมาจนถึงปัจจุบัน เป็นลักษณะน้ำท่วมฉับพลัน ฝนตกลงมามาก ดินไม่สามารถที่จะอุ้มน้ำเพิ่มขึ้นได้มาก เมื่อฝนตกลงอีก จึงเกิดน้ำหลากอย่างเดียว พื้นที่เกษตรจึงได้รับผลกระทบ อย่างไรก็ตามข้าวสามารถแช่น้ำได้ประมาณ 3-5 วัน ถ้าน้ำลดเร็ว ความเสียหายก็จะน้อย จะเห็นได้พื้นที่ในวงกว้างได้รับผผลกระทบ แต่พื้นที่เสียหายจริงอาจจะน้อย