หลายคนคงจะเคยได้ยินคำสอนคลาสสิกที่ว่า “เรียนจบสูงๆ โตขึ้นจะได้เป็นเจ้าคนนายคน” ซึ่งเป็นคำสอนที่สะท้อนถึงความเชื่อที่ว่า การศึกษาที่สูงจะนำไปสู่อาชีพการงานที่ก้าวหน้า
ซึ่งจะว่าไปแล้วก็เป็นคำสอนที่สมเหตุสมผล เพราะระดับการศึกษาที่สูงก็มักจะมาควบคู่กับความรู้ความสามารถที่สูง และตำแหน่งงานที่ดีก็ย่อมต้องการคนที่มีความสามารถสูงเพียงพอ เราจึงเห็นเด็กไทยจำนวนมากพยายามเรียนให้สูงที่สุดเท่าที่จะทำได้ ด้วยหวังว่าจบออกมาแล้วจะมีอาชีพการงานที่มั่นคง ทำให้ทุกวันนี้ การเรียนจบปริญญาตรีแทบจะกลายเป็นบรรทัดฐานของสังคมไทยไปแล้ว
แต่ในปัจจุบัน สิ่งที่เกิดขึ้นกลับไม่เป็นไปตามความคาดหวังเหล่านั้น ทุกวันนี้เรามักจะได้ยินอยู่เสมอๆ ว่า เด็กไทยเรียนสูงขึ้นแต่ตกงานมากขึ้น โดยเฉพาะบัณฑิตมหาวิทยาลัยที่ตกงานมากที่สุด บางทีก็มีข่าวว่า ราชการเปิดรับสมัครงานแค่ไม่กี่ตำแหน่ง แต่มีคนมาสมัครเป็นพันๆ คน สะท้อนถึงโอกาสในการหางานที่ยากขึ้นแม้จะเรียนจบมาสูง สิ่งเหล่านี้สร้างความกดดันให้กับการหางานของเด็กรุ่นใหม่มากขึ้นเรื่อยๆ จนในตอนนี้การว่างงานเป็นหนึ่งในปัญหาที่เด็กรุ่นใหม่แสดงความกังวลมากที่สุดไปแล้ว1
เกิดอะไรขึ้นในเศรษฐกิจสังคมไทย ปัญหาอยู่ตรงไหน เด็กรุ่นใหม่คาดหวังอะไร แล้วภาครัฐพอจะทำอะไรได้บ้าง ในบทความนี้ ผู้เขียนมีมุมมองที่อยากจะมาแชร์ให้ฟัง
ปัญหา “จบปริญญา แต่ว่างงาน” นั้นเกิดขึ้นจากการที่เรามีอุปทานของบัณฑิตเพิ่มขึ้นสูงกว่าอุปสงค์มาก โดยในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา แรงงานไทยมีการศึกษาสูงขึ้นเรื่อยๆ มีคนที่จบมหาวิทยาลัยเพิ่มขึ้นจาก 11% เป็น 20% หรือเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัว แต่อุปสงค์ต่อบัณฑิตเหล่านี้กลับไม่เพิ่มขึ้นเลย2 บัณฑิตที่จบออกมาจึงไม่มีงานรองรับ อาจจะตกอยู่ในสภาพว่างงาน หรือไม่ก็ต้องยอมรับงานที่ไม่ได้ตรงกับสาขาหรือวุฒิการศึกษาของตนไปก่อน แล้วค่อยมองหางานใหม่ทีหลัง3
ปัญหานี้สามารถมองได้สองมุม คือ (1) ประเทศไทยมีอุปทานของบัณฑิตมากเกินไป เพราะอุปทานเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัว หรือ (2) ประเทศไทยมีอุปสงค์ต่อบัณฑิตน้อยเกินไป เพราะอุปสงค์ไม่เพิ่มขึ้นเลยแม้จะผ่านมากว่า 20 ปีแล้วก็ตาม ซึ่งอันที่จริงก็อาจจะถูกต้องทั้งสองมุมก็ได้ เพียงแต่ที่ผ่านมา บทวิเคราะห์ส่วนใหญ่มักจะมองปัญหานี้จากมุมที่ว่ามีอุปทานมากเกินไปเพียงมุมเดียว ทำให้เวลามีข่าวหรือมีการสัมภาษณ์บุคคลต่างๆ ก็มักจะมีแต่ประเด็นปัญหาจากฝั่งอุปทานที่ถูกกล่าวถึง ไม่ว่าจะเป็นมหาวิทยาลัยที่ผลิตบัณฑิตออกมามากเกินไป คุณภาพของบัณฑิตไม่ได้สูงเท่าที่ควร บัณฑิตจบมาในสาขาที่ไม่ตรงกับความต้องการของตลาด ฯลฯ
แต่ถ้าเรามองปัญหานี้จากมุมที่ว่ามีอุปสงค์น้อยเกินไป ภาพของปัญหานี้ก็จะชัดเจนขึ้น ในประเทศไทยนั้น ถ้ามีการเปิดรับสมัครงาน 100 ตำแหน่ง จะมีตำแหน่งที่ต้องการคนจบปริญญาตรีหรือสูงกว่าเพียง 12 ตำแหน่งเท่านั้น4 ซึ่งน้อยมากเมื่อเทียบกับประเทศในแถบเอเชียด้วยกันอย่างเกาหลีใต้ ที่ในการเปิดรับสมัคร 100 ตำแหน่งเท่ากัน จะมีตำแหน่งที่ต้องการแรงงานกลุ่มดังกล่าวถึง 70 ตำแหน่ง หรือแม้แต่ประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซีย ที่จะมีตำแหน่งที่ต้องการแรงงานกลุ่มดังกล่าวถึง 30 ตำแหน่ง5 ยิ่งเทียบกับประเทศในแถบยุโรปแล้วยิ่งไม่ต้องพูดถึง ประเทศเหล่านั้นมีอุปสงค์ต่อบัณฑิตมหาวิทยาลัยสูงมาก อย่างในประเทศเบลเยียม ทุกๆ 100 ตำแหน่งงานที่เปิดรับสมัคร จะมีตำแหน่งที่ต้องการแรงงานกลุ่มดังกล่าวถึง 95 ตำแหน่ง หรือประเทศออสเตรีย ที่แม้จะมีอุปสงค์ต่อบัณฑิตมหาวิทยาลัยต่ำที่สุดในยุโรป ก็ยังมีตำแหน่งที่ต้องการแรงงานกลุ่มดังกล่าวถึง 30 ตำแหน่ง ซึ่งสูงกว่าประเทศไทยอยู่ดี สถิติทั้งหมดนี้จึงบ่งชี้ว่า ประเทศไทยมีอุปสงค์ต่อบัณฑิตน้อยเกินไปอย่างชัดเจน
นั่นหมายความว่า ปัญหา “จบปริญญา แต่ว่างงาน” ไม่ได้เกิดขึ้นเพียงเพราะเรามีอุปทานของบัณฑิตมากเกินไปอย่างเดียว แต่เพราะเรามีอุปสงค์ต่อบัณฑิตน้อยเกินไปด้วย
สำหรับเรื่องที่เรามีอุปทานของบัณฑิตมากเกินไปนั้น ได้มีการพูดถึงและเสนอแนะแนวทางแก้ไขกันมาเยอะแล้ว แต่เรื่องที่เรามีอุปสงค์ต่อบัณฑิตน้อยเกินไปนั้น นอกจากจะไม่ค่อยมีใครพูดถึงแล้ว ยังเป็นเรื่องที่แก้ไขได้ยากกว่าอีกด้วย เพราะเป็นผลมาจากโครงสร้างของเศรษฐกิจไทยโดยตรง
ในประวัติศาสตร์เศรษฐกิจโลก อุปสงค์ต่อบัณฑิตมักจะขึ้นอยู่กับระดับการพัฒนาของเทคโนโลยีในประเทศ6 ซึ่งเทคโนโลยีในที่นี้ไม่ได้หมายถึงแค่เครื่องไม้เครื่องมือหรือเครื่องจักรกลต่างๆ เท่านั้น แต่รวมถึง know-how ทั้งหลายด้วย ยิ่งประเทศมีระดับการพัฒนาของเทคโนโลยีสูง ความต้องการจ้างงานบัณฑิตก็จะสูงตามไปด้วย อย่างเช่นประเทศเกาหลีใต้ ที่เป็นที่รับรู้กันอยู่แล้วว่ามีระดับการพัฒนาของเทคโนโลยีที่สูงมาก อุตสาหกรรมของเขาต้องการแรงงานที่มีความสามารถในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเหล่านั้น ดังนั้น การที่ประเทศของเขาจะต้องการบัณฑิตมหาวิทยาลัยถึง 70 ตำแหน่งในทุกๆ 100 ตำแหน่งงานที่เปิดรับสมัครจึงไม่ใช่เรื่องที่น่าแปลกใจ ในทำนองเดียวกัน ประเทศในแถบยุโรปก็มีระดับการพัฒนาของเทคโนโลยีที่สูง อุตสาหกรรมส่วนใหญ่ของแต่ละประเทศมีความเกี่ยวข้องกับการใช้เทคโนโลยีระดับสูง7 ความต้องการบัณฑิตของประเทศเหล่านี้จึงสูงถึง 30-95 ตำแหน่งในทุกๆ 100 ตำแหน่งงานที่เปิดรับสมัคร
ทีนี้หันกลับมาดูที่ประเทศไทยกันบ้าง ก็เป็นที่รับรู้กันอีกเช่นกันว่า ระดับการพัฒนาของเทคโนโลยีของเรานั้นไม่สูงนัก อุตสาหกรรมของเราเน้นการผลิตสินค้าที่กระบวนการผลิตไม่ได้ซับซ้อนมาก เช่น ถ่านโค้กและปิโตรเลียม ยางและพลาสติก เสื้อผ้าและสิ่งทอ เป็นต้น8 แม้ว่าจะมีอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีระดับสูงอยู่บ้าง แต่ก็มักจะเป็นการรับจ้างผลิตโดยไม่ได้มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้ เช่น ยานยนต์ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น อุตสาหกรรมของเราจึงไม่ได้ต้องการแรงงานบัณฑิตมากนักแต่ต้องการแรงงานระดับวิชาชีพ (ปวช., ปวส.) เสียมากกว่า
ดูไปดูมากลายเป็นว่า ปัญหา “จบปริญญา แต่ว่างงาน” เป็นตัวชี้วัดอย่างหนึ่งของการ(ไม่)พัฒนาของเทคโนโลยีของบ้านเราเสียอย่างนั้น
ดังนั้น สิ่งที่คนรุ่นใหม่อย่างตัวผู้เขียนเองอยากจะเห็นก็คือ การที่ประเทศไทยพัฒนาไปสู่การเป็นประเทศที่มีเทคโนโลยีระดับสูง อุตสาหกรรมของเรามีความต้องการบัณฑิตเพิ่มมากขึ้น ปัญหาการว่างงานของบัณฑิตลดลง และเด็กรุ่นใหม่มีงานที่เหมาะสมกับระดับความสามารถของตนเองรองรับอย่างเพียงพอ
ผู้เขียนเชื่อว่าทุกภาคส่วนเห็นพ้องต้องกันว่า การพัฒนาเทคโนโลยีเป็นเรื่องที่สำคัญสำหรับประเทศไทย เพราะมันหมายถึงขีดความสามารถในการแข่งขันบนเวทีโลก เห็นได้จากการที่สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) เพิ่มงบประมาณในการทำวิจัยและพัฒนาขึ้นทุกปี และการที่สภาพัฒน์บรรจุแผนการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไปสู่การขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมไว้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13
อย่างไรก็ตาม การพัฒนาเทคโนโลยีเป็นเรื่องที่ท้าทาย เพราะต้องใช้ทั้งเวลาและเงินทุนจำนวนมากในการวิจัยและพัฒนา โดยในปี 2565 ประเทศไทยใช้งบประมาณไปกับการวิจัยและพัฒนาเพียง 1.3% ของจีดีพี9 ขณะที่ประเทศที่ขึ้นชื่อเรื่องนวัตกรรมอย่างเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และสหรัฐฯ ใช้งบประมาณไปกับการนี้ถึง 5.2%, 3.7%, และ 3.4% ของจีดีพีตามลำดับ10, 11, 12 ผู้เขียนจึงเห็นว่ารัฐบาลควรเป็นหัวหอกในการผลักดันเรื่องนี้ ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มงบประมาณในการวิจัยและพัฒนาให้สูงขึ้น ลดข้อจำกัดที่สร้างความยุ่งยากในการอนุมัติโครงการวิจัยต่างๆ ลง และส่งเสริมความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน
หากเราสามารถยกระดับเทคโนโลยีประเทศไทยได้สำเร็จ นอกจากจะเป็นการเพิ่มศักยภาพของเราในการแข่งขันบนเวทีโลกแล้ว ยังเพิ่มโอกาสให้เด็กรุ่นใหม่ได้มีงานที่เหมาะสมกับความสามารถของตนเองทำอีกด้วย
เหมือนยิงปืนนัดเดียวได้นกสองตัว
อ้างอิง
1. Deloitte. (2024). Deloitte Global 2024 Gen Z and Millennial Survey. https://www2.deloitte.com/content/dam/Deloitte/th/Documents/Events/2024GenZMillennialSurvey_Thailand.pdf. สืบค้นเมื่อ 22 สิงหาคม 2567
2. ดิลกะ ลัทธพิพัฒน์, นฎา วะสี, ณัฐพร อุดมเกียรติกูล, และจิรัฐ เจนพึ่งพร (2566). พลวัตและความท้าทายของตลาดแรงงานไทย. https://www.pier.or.th/abridged/2023/20/.
3. Donovan, K., Lu, W. L., and Schoellman, T. (2023). Labor Market Dynamics and Development. Quarterly Journal of Economics, 138(4), 2287–2325.
4. กรมการจัดหางาน. (2567). สถิติความต้องการแรงงานรายจังหวัด ประจำเดือนกรกฎาคม 2567. https://www.doe.go.th/prd/lmia/statistic/param/site/131/cat/93/sub/0/pull/category/view/list-label, ตารางที่ 4. สืบค้นเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2567
5. OECD. (2022). Skills for Jobs 2022: Key Insights. https://www.oecdskillsforjobsdatabase.org/data/S4J2022_results.pdf. สืบค้นเมื่อ 26 กรกฎาคม 2567
6. Acemoglu, D. (2002). Technical Change, Inequality, and the Labor Market. Journal of Economic Literature, 40(1), 7-72.
7. HitHorizons. (2024). Breakdown of European Companies by Country. https://www.hithorizons.com/eu/analyses/country-statistics. สืบค้นเมื่อ 28 กรกฎาคม 2567
8. กุศลิน จารุชาติ (2564). อุตสาหกรรมไทย: อยู่ตรงไหนและจะแข่งขันอย่างไรในเวทีโลก. https://www.krungsri.com/th/research/research-intelligence/thailand-sectoral-potential-2021. สืบค้นเมื่อ 28 กรกฎาคม 2567
9. สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ. (2565). สอวช. เผยตัวเลขลงทุน R&D ของไทยเติบโตขึ้นต่อเนื่อง แม้เผชิญโควิด-19. https://www.nxpo.or.th/th/11221/. สืบค้นเมื่อ 11 สิงหาคม 2567
10. Statistics Bureau of Japan. (2023). Results of the Survey of Research and Development. https://www.stat.go.jp/english/data/kagaku/1550.html. สืบค้นเมื่อ 11 สิงหาคม 2567
11. Statista. (2022). Total amount of expenditure on research and development (R&D) in South Korea from 2010 to 2022. https://www.statista.com/statistics/1228017/south-korea-expenditure-for-rnd/. สืบค้นเมื่อ 11 สิงหาคม 2567
12. World Bank Group. (2024). Research and Development Expenditure (% of GDP) – United States. https://data.worldbank.org/indicator/GB.XPD.RSDV.GD.ZS?locations=US. สืบค้นเมื่อ 11 สิงหาคม 2567