ทุกคนต่างใฝ่ฝันถึงชีวิตที่มีความมั่นคงทางการเงิน การมีเงินเก็บสักก้อนเป็นเหมือนฟูกที่คอยรองรับเราในยามที่ชีวิตเกิดเรื่องไม่คาดฝัน การมีรายได้ที่มั่นคงก็ช่วยให้เราวางแผนอนาคตได้อย่างสบายใจ
ประเทศชาติก็เช่นเดียวกัน การคลังที่เข้มแข็งเปรียบเสมือนกระเป๋าเงินของประเทศ เมื่อประเทศมีเงินเก็บมากพอ ก็สามารถนำไปใช้ในการพัฒนาประเทศได้อย่างหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการสร้างโรงเรียน โรงพยาบาล ถนนหนทาง หรือแม้แต่การรองรับเหตุการณ์ฉุกเฉินต่างๆ เช่น ภัยธรรมชาติ หรือวิกฤติเศรษฐกิจ ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงกับคุณภาพชีวิตของประชาชน
แน่นอนว่า การรักษาเสถียรภาพทางการคลังต้องแลกมาด้วยการตัดสินใจที่ยากลำบาก อาจต้องมีการปรับขึ้นภาษี หรือลดรายจ่ายในบางส่วน แต่หากมองในระยะยาว การลงทุนเพื่อความมั่นคงทางการคลังจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศ ไม่ใช่เพียงแค่เรื่องความอยู่รอดของรัฐบาล แต่หมายถึงชีวิตความเป็นอยู่ของพวกเราทุกคน
จากอดีตสู่ปัจจุบัน ภาพการคลังของประเทศเราเป็นอย่างไร
ที่ผ่านมา ประเทศไทยสามารถรักษาเสถียรภาพทางการคลังได้ดี โดยเฉพาะในช่วงก่อโควิด-19 ที่สามารถรักษาระดับหนี้สาธารณะ1 ไว้ที่ประมาณร้อยละ 40 ของ GDP มายาวนานหลายทศวรรษ สะท้อนว่า ประเทศของเรายังมีพื้นทางการคลังหรือ fiscal space ในการกระตุ้นเศรษฐกิจและช่วยเหลือพวกเราในยามวิกฤติ อย่างที่พวกเราได้เห็นในช่วงปี 2563 และ 2564 ที่เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 รัฐบาลสามารถอัดฉีดเงินเพื่อช่วยเหลือเยียวยาประชาชนและผู้ประกอบการครั้งใหญ่ ซึ่งบรรเทาความเดือดร้อนให้กับพวกเราในช่วงเวลาที่ยากลำบาก
อย่างไรก็ดี ช่วงหลังโควิด-19 จะเห็นได้ว่าเสถียรภาพทางการคลังของไทยเริ่มสั่นคลอน ในระยะหลังการขาดดุลการคลังต่อปีใหญ่ขึ้นจนเกินร้อยละ 3 ของ GDP ขณะที่หนี้สาธารณะก็ทะลุเพดานเดิมที่ร้อยละ 60 ของ GDP และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในระยะปานกลาง2 เกือบแตะเพดานใหม่ที่ร้อยละ 70 ของจีดีพี
และถ้ามองลึกลงไป ประเทศกำลังมีค่าใช้จ่ายในการชำระหนี้3 ที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องเช่นกัน โดยเฉพาะรายจ่ายดอกเบี้ยที่จะพุ่งแตะระดับ 4 แสนล้านบาทต่อปีในอนาคตอันใกล้ แปลว่ารัฐไทยต้องแบ่งเงินรายได้จำนวนมากถึงร้อยละ 10 ไปจ่ายคืนให้กับเจ้าหนี้ ทำให้เหลือเงินน้อยลงสำหรับการลงทุนในโครงการพัฒนาประเทศหรือบริการสาธารณะอื่นๆ ที่จะสร้างประโยชน์ให้กับประชาชน รวมถึงส่งผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือของประเทศ ทำให้นักลงทุนต่างชาติไม่มั่นใจที่จะลงทุนในประเทศของเรา
หากเรายังเพิกเฉยต่อปัญหานี้ต่อไป อาจทำให้พวกเรามีความเสี่ยงที่จะตกอยู่ในสถานการณ์เลวร้ายเช่นเดียวกับเวเนซุเอลา ศรีลังกา และอาร์เจนตินา ที่การใช้งบประมาณที่ไม่เหมาะสมและการก่อหนี้สินจำนวนมาก นำมาซึ่งความล่มสลายของระบบการคลัง ทำให้ประเทศเหล่านั้นต้องเผชิญกับวิกฤติเศรษฐกิจ เงินเฟ้อสูง และความขาดแคลนสินค้าขั้นพื้นฐาน ประชาชนต้องดิ้นรนเพื่อความอยู่รอด
ฉะนั้น โจทย์สำคัญที่หลายคนน่าจะอยากเห็นในวันข้างหน้า คือ พวกเราจะทำอย่างไรให้ประเทศยังคงรักษาเสถียรภาพทางการคลังไว้ได้ ซึ่งภาครัฐจำเป็นต้องเพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย เพื่อลดขนาดการดุลและระดับหนี้สาธารณะลง เพื่อสร้าง fiscal space ในอนาคต ซึ่งแนวทางนี้เรียกว่า “fiscal consolidation4” หรือกระบวนการปรับภาวะการคลังให้เข้าสู่สมดุล
1) การเพิ่มรายได้ภาษีอย่างเร่งด่วนและทั่วถึง
ที่ผ่านมา ไทยสามารถจัดเก็บภาษีได้ค่อนข้างต่ำ โดยล่าสุดปี 2566 รัฐบาลจัดเก็บรายได้อยู่ที่ประมาณ 14.9 ต่อ GDP ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของกลุ่มประเทศ emerging economies5 และเมื่อมองย้อนกลับไปในช่วงหลังเกิดวิกฤติต้มยำกุ้งเมื่อปี 2540 จนถึงปัจจุบัน พบว่า รายได้รัฐบาลเฉลี่ย6 อยู่ที่ประมาณร้อยละ 15.5 ต่อ GDP สะท้อนว่าการจัดเก็บภาษีของเราไม่ได้พัฒนาขึ้นเลยในช่วงเกือบสามทศวรรษ
การเพิ่มรายได้ภาษีไม่ได้แปลว่าต้องขึ้นภาษี แต่เราอาจเริ่มต้นจากการขยายฐานภาษี เพราะปัจจุบันยังมีกลุ่มคนที่มีศักยภาพในการเสียภาษีจำนวนมากอยู่นอกระบบภาษี โดยเฉพาะภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ดูจากตัวเลขกำลังแรงงาน7 ปี 2567 อยู่ที่ราว 40.2 ล้านคน แต่มีผู้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเพียง 11.4 ล้านคน และเสียภาษีจริงๆ เพียงแค่ 4.0 ล้านคน ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 10.1 ของกำลังแรงงานทั้งหมด
เช่นเดียวกับระบบภาษีเงินได้นิติบุคคล ที่พบว่า ล่าสุดมีจำนวนผู้ประกอบการที่เป็นนิติบุคคล8อยู่ที่ 9.3 แสนราย จากทั้งหมด 3.2 ล้านราย คิดเป็นเกือบ 1 ใน 3 ของผู้ประกอบการทั้งประเทศ แม้บางรายที่ไม่ได้เป็นนิติบุคคลอาจเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) และภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา แต่ก็คาดได้ว่าส่วนใหญ่ยังไม่ได้อยู่ในระบบภาษีหรือหลีกเลี่ยงภาษี
ทุกคนน่าจะเห็นตรงกันว่า ประเทศของเราจำเป็นต้องขยายฐานภาษี ซึ่งหนึ่งในวิธีที่น่าสนใจคือ การปรับปรุงกฎหมายมาตรา 56 แห่งบทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากร ให้ผู้ที่อยู่ในกำลังแรงงานหรือบุคคลทุกคนที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาทุกๆ ปี และพิจารณายกเว้นภาษี อุดหนุนเงินสวัสดิการ หรือคืนภาษี VAT ให้กับผู้ที่มีรายได้ต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนด ขณะที่ผู้มีรายได้สูงก็จะต้องเสียภาษีตามเกณฑ์ปัจจุบัน
และน่าจะเป็นประโยชน์ไม่น้อยถ้ามีการเชื่อมโยงฐานข้อมูลบิ๊กดาต้าระดับบุคคลและผู้ประกอบการจากหน่วยงานต่าง ๆ ผนวกระบบเข้ากับเทคโนโลยีเอไอที่จะเข้ามาช่วยคัดกรอง ตรวจสอบ และวิเคราะห์แบบแสดงรายการภาษีที่จะมีจำนวนมากขึ้นอย่างต่อเนื่องในอนาคต เพื่อดึงประชาชนและธุรกิจรายใหม่ให้เข้าสู่ระบบมากขึ้น อันจะช่วยเพิ่มรายได้ภาษีของรัฐบาลได้
การปรับอัตรา VAT ขึ้นเป็นอีกแนวทางที่ต้องพิจารณา จากอัตราปัจจุบันที่ร้อยละ 7 ซึ่งต่ำเป็นอันดับ 2 ของโลก9 และต่ำกว่าเกือบทุกประเทศในกลุ่มที่มีรายได้ต่อหัวใกล้เคียงกับไทยอย่างอินโดนีเซีย มาเลเซีย โคลัมเบีย และเม็กซิโก ทำให้มีความจำเป็นในการปรับ VAT ขึ้น ซึ่งอาจจะดำเนินการตามแนวทางบางส่วนของญี่ปุ่น10 ที่เพิ่งจะปรับ VAT ขึ้นเป็นร้อยละ 10 ไปเมื่อปลายปี 2562
เราอาจจะทำอย่างค่อยเป็นค่อยไป เพื่อให้ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันของประชาชนอย่างน้อยที่สุด ซึ่งพิจารณายกเว้นการปรับ VAT ขึ้นสำหรับสินค้าและบริการบางประเภทที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตของประชาชนเท่านั้น เช่น อาหารสด น้ำดื่ม ยารักษาโรค ค่าสาธารณูปโภค บริการทางการแพทย์ การศึกษา บริการขนส่งสาธารณะ เป็นต้น
ปัจจุบัน ไทยมีการยกเว้น VAT ที่ครอบคลุมกิจการบางส่วนดังกล่าว แต่ยังมีอีกหลายประเภทที่อยู่นอกเหนือ เช่น บริการนักแสดงสาธารณะ บริการจัดแข่งขันกีฬาสมัครเล่น การเช่าอสังหาริมทรัพย์ การขายสลากกินแบ่งรัฐบาล การขายบุหรี่ซิกาแรต จึงจำเป็นต้องมีการทบทวนให้มีความเหมาะสมมากขึ้น ควบคู่กับการดำเนินมาตรการบรรเทาผลกระทบสำหรับกลุ่มเปราะบาง โดยใช้เงินบางส่วนที่จัดเก็บได้จากการปรับ VAT ขึ้นดังกล่าว รวมถึงสื่อสารให้ประชาชนเข้าใจถึงเหตุผลและความจำเป็นในการปรับภาษีขึ้นด้วย
2) การใช้จ่ายอย่างเหมาะสมและเปิดโอกาสให้เอกชนมีส่วนร่วม
ภาครัฐจำเป็นต้องมุ่งเน้นจัดสรรงบประมาณรายจ่ายอย่างเหมาะสม โดยเฉพาะรายจ่ายเพื่อรองรับสังคมสูงวัยที่กำลังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง11 ซึ่งล่าสุดปี 2566 รายจ่ายสวัสดิการบุคลากรภาครัฐ มีจำนวนอยู่ที่ 5.1 แสนล้านบาท ขณะที่สวัสดิการประชาชน มีค่าใช้จ่ายเกือบ 4.0 แสนล้านบาท โดยทั้ง 2 รายการจะกินส่วนแบ่งสูงถึงเกือบ 1 ใน 3 ของงบประมาณรายจ่ายทั้งหมด และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาลเมื่อประเทศเข้าสู่สังคมสูงวัยระดับสุดยอด (super-aged society) ในปี 2577 และเมื่อถึงตอนนั้นไทยจะกลายเป็นสังคมที่มีผู้สูงอายุประมาณ 1 ใน 4 ของประชากรทั้งหมด
เพื่อลดแรงกดดันทางการคลัง เราไม่ควรใช้จ่ายแบบเหวี่ยงแห แต่ต้องดำเนินการแบบมุ่งเป้ามากยิ่งขึ้น โดยใช้ฐานข้อมูลเชิงลึกของประชาชนและผู้ประกอบการมาคัดกรองกลุ่มเป้าหมายให้เหมาะสมตามลักษณะเฉพาะต่างๆ เช่น อายุ เพศ รายได้ ที่อยู่อาศัย พฤติกรรม อาชีพ ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการใช้จ่ายภาครัฐได้
นอกจากนี้ รัฐยังควรส่งเสริมให้ภาคเอกชนเข้ามามีบทบาทในการพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเชิงสังคมผ่านกระบวนการ PPP (public-private partnership หรือ การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน) ให้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการยกระดับระบบการศึกษา สาธารณสุข สิ่งแวดล้อม ชุมชน และบริการภาครัฐอื่นๆ ซึ่งจะช่วยลดภาระงบประมาณ และเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการประชาชนด้วยเช่นกัน
ภาระการคลังที่เรื้อรังเปรียบเสมือนระเบิดเวลาที่ค่อยๆ นับถอยหลัง
ถ้ายังคงปล่อยปละละเลย ไม่เร่งดำเนินการปรับปรุงแก้ไข อาจส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจและสังคมไทยในระยะยาวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ระดับหนี้สาธารณะที่พุ่งสูงขึ้นจะกลายเป็นภาระที่หนักอึ้งต่อประเทศ จนไปบดบังการพัฒนาประเทศ เป็นเหตุให้คุณภาพชีวิตของประชาชนลดลงเรื่อยๆ
ดังนั้น…
การเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้รัฐบาล และการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายอย่างเหมาะสม จะช่วยเสริมสร้างเกราะป้องกันทางการคลัง ไม่ให้พวกเราและคนรุ่นลูกรุ่นหลานตกอยู่ในสถานการณ์ที่ยากลำบากเหมือนกับหลายๆ ประเทศที่เผชิญมาก่อนหน้านี้
เอกสารอ้างอิง
1. สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ. (2567). ข้อมูลหนี้สาธารณะคงค้าง รายปีงบประมาณ. ภาพรวมหนี้สาธารณะ. https://www.pdmo.go.th/th/public-debt/debt-outstanding
2. คณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐ. (2567). หนี้สาธารณะคงค้างต่อ GDP ปี 2566 – 2571. แผนการคลังระยะปานกลาง (ปีงบประมาณ 2568 – 2571) ฉบับทบทวน ครั้งที่ 2. เว็บไซต์สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง. https://www.fpo.go.th/main/Economic-report/รายงานความคืบหน้ามาตรการรัฐบาล/19493.aspx
3. คณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐ. (2567). งบชำระหนี้ต่องบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 – 2571. แผนการคลังระยะปานกลาง (ปีงบประมาณ 2568 – 2571) ฉบับทบทวน ครั้งที่ 2. เว็บไซต์สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง. https://www.fpo.go.th/main/Economic-report/รายงานความคืบหน้ามาตรการรัฐบาล/19493.aspx
4. Balasundharam, V., Basdevant. O., Benicio. D., Ceber A., Kim Y., Mazzone. L., Selim H., Yang. Y. (2023). Fiscal consolidation: What can we learn from the past?. International Monetary Fund. https://blog-pfm.imf.org/en/pfmblog/2023/05/08/fiscal-consolidation-what-can-we-learn-from-the-past
5. สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง. (2567). รายงานความเสี่ยงทางการคลัง ประจำปีงบประมาณ 2566. เว็บไซต์สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง. https://www.fpo.go.th/main/getattachment/Economic-report/Risk-of-Fiscal-Report/19494/รายงานความเสี่ยง-66-ณ-21-มี-ค-67.pdf.aspx
6. สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง. (2567). ผลการจัดเก็บรายได้รัฐบาล. ข้อมูลสถิติหมวดการคลังและภาษีอากร. https://www.fpo.go.th/main/getattachment/b5a16b43-d61e-4060-9030-59feb647f68f/4908.aspx
7. สำนักงานสถิติแห่งชาติ. (2567). รายงานสำรวจภาวการณ์ทำงานของประชากรไตรมาสที่ 2 พ.ศ. 2567. เว็บไซต์สำนักงานสถิติแห่งชาติ. https://www.nso.go.th/nsoweb/storage/survey_detail/2024/20240808130114_63827.pdf
8. กรมพัฒนาธุรกิจการค้า. (2567). ข้อมูลสถิติการจดทะเบียนนิติบุคคล. เว็บไซต์กรมพัฒนาธุรกิจการค้า. https://www.dbd.
go.th/data-storage/attachment/d78305f80116c17a31ed9626.pdf
9. PricewaterhouseCoopers. (2024). Value-added tax (VAT) rates. PricewaterhouseCoopers. https://taxsummaries.
pwc.com/quick-charts/value-added-tax-vat-rates
10. Lin. (2565). รับมือญี่ปุ่นปรับขึ้นภาษีเป็น 10% วิธีใช้จ่ายให้คุ้มค่าราคาถูก. Matcha. https://matcha-jp.com/th/6744
11. สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง. (2567). รายงานความเสี่ยงทางการคลัง ประจำปีงบประมาณ 2566. เว็บไซต์สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง. https://www.fpo.go.th/main/getattachment/Economic-report/Risk-of-Fiscal-Report/19494/รายงานความเสี่ยง-66-ณ-21-มี-ค-67.pdf.aspx