ThaiPublica > คอลัมน์ > แชร์ลูกโซ่: ผู้เสียหายมีโอกาสได้เงินคืนแค่ไหน

แชร์ลูกโซ่: ผู้เสียหายมีโอกาสได้เงินคืนแค่ไหน

21 ตุลาคม 2024


พิเศษ เสตเสถียร

ข่าวเรื่องแชร์ลูกโซ่ของบริษัทดิ ไอคอน ข้อมูลเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2567 มีผู้เสียหายที่เข้าแจ้งความร้องทุกข์แล้วกว่า 5,648 คน และมูลค่าความเสียหายรวมกว่า 1,611 ล้านบาท เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าในสังคมไทย

“แชร์ลูกโซ่” เป็นของคู่สังคมไทยมาช้านาน ที่ปรากฏเป็นคดีครั้งแรกก็ตั้งแต่ปี 2498 โน่น เป็นเวลาเกือบ 70 ปีมาแล้ว เรียกว่าเล่นกันมาทุกยุคทุกสมัยหลายชั่วอายุคน

ศาลฎีกาได้วินิจฉัยคดีแชร์ลูกโซ่เป็นครั้งแรกในคำพิพากษาฎีกาที่ 1201-1203/2498 ซึ่งมีรายละเอียดว่า

จำเลยตั้งสำนักงานขึ้นโดยใช้ชื่อว่า “บริษัทชัยวัฒนา” โดยอ้างว่ามีวัตถุประสงค์ในการทำการค้า และชักชวนให้ประชาชนนำเงินมาฝากเป็นการเข้าหุ้น โดยเสนอผลประโยชน์ตอบแทนในอัตราร้อยละ 50 ต่อเดือน มีประชาชนหลงเชื่อนำเงินมาฝากเป็นจำนวนมาก หลายสิบล้านบาท เพราะหวังผลประโยชน์ตอบแทนอันสูง แต่ในความเป็นจริง จำเลยไม่ได้นำเงินไปลงทุนประกอบธุรกิจตามที่กล่าวอ้าง แต่กลับนำเงินของผู้ฝากรายใหม่ไปจ่ายผลตอบแทนให้กับรายเก่า

ศาลฎีกาพิพากษาว่า การกระทำของจำเลยเป็นการฉ้อโกงประชาชน โดยใช้อุบายหลอกลวงว่าตนทำการค้าใหญ่โต และให้ประชาชนนำเงินมาฝากเข้าหุ้นส่วน โดยสัญญาจะจ่ายเงินปันผลให้ในอัตราที่สูง ทั้งที่ตนเองก็รู้ดีว่าไม่สามารถจะจ่ายให้ได้ จึงถือเป็นการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ และเป็นความผิดฐานฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญา

การเล่นแชร์ลูกโซ่ก็คงจะมีตลอดมา แต่ไม่เป็นข่าว จนกระทั่งในปี 2527 เกิดการเล่นแชร์ลูกโซ่ครั้งใหญ่ดำเนินการโดยนางชม้อย ทิพย์โส เรียกกันว่า “แชร์แม่ชม้อย” ของที่เอาสมมติลงทุนกันก็คือ “รถน้ำมัน”

แชร์แม่ชม้อยเกิดความโด่งดังขึ้นมาเพราะมีประชาชนเข้าไปร่วมเล่นกว่า 16,000 ราย คิดเป็นจำนวนเงินกว่า 4 พันล้านบาท

ศาลอาญาได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดเมื่อวันที่ 27 ก.ค. 2532 พิพากษาว่า นางชม้อยมีความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนตามประมวลกฎหมายอาญา และฐานฉ้อโกงประชาชนตามพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน โดยให้จำคุกฐานฉ้อโกงประชาชนตามประมวลกฎหมายอาญา จำคุก 117,595 ปี และฐานกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน ตามพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน รวมจำคุกคนละ 154,005 ปี

แต่เมื่อรวมโทษทุกกระทงความผิดแล้ว คงจำคุกทั้งสิ้น 20 ปี และให้คืนเงินที่ฉ้อโกงประชาชน รวมจำนวน 4,554,582,440 บาท แก่ผู้เสียหายแต่ละคน ซึ่งเมื่อมีคำพิพากษาแล้วทรัพย์สินของนางชม้อยกับพวกได้ถูกเฉลี่ยคืนให้แก่ผู้เสียหายในคดี

ทั้งนี้ นางชม้อยจำคุกอยู่ในเรือนจำเพียง 7 ปี 11 เดือน 5 วัน เพราะได้รับการลดลงโทษ 2 ครั้ง และพ้นโทษเมื่อวันที่ 27 พ.ย. 2536

ผลของคดีแม่ชม้อยที่สำคัญก็คือทางการต้องออก “พระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527” เพื่อการปราบปรามแชร์ลูกโซ่โดยเฉพาะ

แต่ใช่ว่าเมื่อออกพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนฯแล้ว แชร์ลูกโซ่จะยุติลง กลับปรากฏว่า แชร์ลูกโซ่ก็เกิดมีขึ้นเป็นระยะ ๆ เช่น แชร์เสมาฟ้าคราม แชร์แม่นกแก้ว แชร์ซินแสโชกุน แชร์ forex 3d แชร์ u-fund แชร์แม่มณี และอีกสารพัดแชร์เกิดเป็นคดีความกันไม่สิ้นสุด

ล่าสุดก็ยังมีคดีผู้กระทำผิดเกี่ยวกับแชร์ลูกโซ่เช่น ในปี 2566 ที่ผ่านมาก็มีคำพิพากษาฎีกาที่ 326/2566 ซึ่งวินิจฉัยว่า โจทก์ได้รับการชักชวนให้มาลงทุนกับบริษัท อ. ซึ่งเป็นบริษัทระดมเงินไปลงทุนในกิจการต่าง ๆ เช่น ร้านเพชร น้ำมันเครื่องโอดีอาร์ สนามกอล์ฟโอดี ผู้ที่ลงทุนด้วยจะได้ผลตอบแทนในอัตราร้อยละ 10 ต่อเดือน หรือร้อยละ 120 ต่อปี โดยจำเลยจะจ่ายเป็นเงินดอลลาร์สหรัฐเดือนละครั้ง เป็นเวลา 24 เดือน รวมทั้งบอกวิธีการแนะนำชักชวนผู้อื่นมาลงทุนกับบริษัท และรายได้ของผู้ชักชวนหรือแนะนำผู้อื่นลงทุนด้วย ต่อมาโจทย์ได้โอนเงินให้กับไปให้จำเลย โจทก์โอนเงินเข้าบัญชีของจำเลยรวมทั้งหมด 51 ครั้ง ภายหลังโจทก์พบว่า บริษัทจำเลยไม่มีชื่อในนิติบุคคลจดทะเบียนไว้ การกระทำของจำเลยกับพวกจึงเป็นการหลอกลวงผู้อื่นด้วยการปกปิดความจริง ซึ่งควรบอกให้แจ้งแก่ประชาชนโดยทุจริตอันเป็นความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงประชาชน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1172/2566 ซึ่งวินิจฉัยว่า จำเลยเดินทางไปประเทศญี่ปุ่นชักชวนโจทก์ร่วมทั้งยี่สิบหกให้ร่วมลงทุนผ่านทางเว็บไซต์ managedsavings.com และผ่านทางโบรชัวร์โฆษณาการลงทุนอันเป็นการรับฝากเงินโดยสัญญาว่าจะจ่ายคืนเมื่อทวงถามหรือเมื่อสิ้นระยะเวลาที่กำหนดไว้ และจะจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนให้ในอัตราที่สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่สถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วยดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงินจะพึงจ่ายได้ โดยจำเลยรู้อยู่แล้วว่าไม่สามารถประกอบกิจการใด ๆ โดยชอบด้วยกฎหมายที่จะให้ผลประโยชน์ตอบแทนพอเพียงที่จะนำมาจ่ายในอัตรานั้นได้ ศาลพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527

ในคดีความเกี่ยวกับแชร์ลูกโซ่ทั้งหลาย ผู้กระทำความผิดก็คงต้องรับโทษทางอาญาตามกฎหมาย แต่ในความเป็นจริง ก็จะมีการได้รับการลดโทษตามกฎหมายและการอภัยโทษต่าง ๆ ดังเช่นกรณีของนางชม้อยที่กล่าวมาข้างต้น สรุปแล้วก็คงจะไม่เกินคนละ 10 ปี

ทรัพย์สินทั้งหลายของผู้กระทำผิดที่ถูกยึดมาก็คงนำมาแบ่งให้กับผู้เสียหายตามส่วน เช่นของนางชม้อยก็ถูกยึดมาบังคับคดี แต่หลังจากนั้นก็ไม่ปรากฏรายละเอียดว่าทรัพย์สินดังกล่าวขายได้เงินเท่าไหร่ และผู้เสียหายได้รับเงินคืนเท่ากับความเสียหายหรือไม่ รวมทั้งในคดีแชร์ลูกโซ่อื่น ๆ ก็ไม่ปรากฏรายละเอียดของการขายแต่อย่างใด

ผู้เขียนก็เดาเอาเองว่าคงจะไม่มีคดีแชร์ลูกโซ่คดีไหนที่ผู้เสียหายได้รับเงินคืนเต็มจำนวน และถ้าจะได้รับก็คงจะไม่เกิน 10% ของเงินลงทุน เพราะผู้กระทำผิดคงจะเอาไปใช้จ่ายหมดแล้ว หรือมิฉะนั้นก็คงซุกซ่อนไว้จนตำรวจหาเงินนั้นไม่พบ

ยิ่งสมัยนี้สามารถแปลงร่างเปลี่ยนเงินสดเป็นเงินคริปโตได้ อย่างในกรณีของดิ ไอคอน ก็มีข่าวว่าโอนเงินกว่า 8,000 ล้านบาทไปเป็นเงินคริปโต ดังนั้น จึงขอสรุปว่า ผู้เสียหายส่วนใหญ่ไม่ได้เงินคืน

รวมความแล้วถ้าเป็นอย่างที่ผู้เขียนคาดเดาจริง ผู้เสียหายก็คงจะสูญเงินเปล่า ไม่ได้อะไรกลับคืนมา ส่วนผู้กระทำความผิดก็อาจจะคิดว่า ยอมรับโทษสูงสุดไม่เกิน 10 ปี พอพ้นโทษออกมาแล้วก็กลับไปใช้เงินก้อนมหาศาลที่ซุกซ่อนไว้ สุขสบายไปตลอดชีวิต

นี่ก็อาจจะเป็นเหตุผลก็ได้ว่า ทำไมแชร์ลูกโซ่จึงเป็นของที่มีปรากฏอยู่ในสังคมไทยตลอดมา และก็อาจจะตลอดไป