พิเศษ เสตเสถียร
ท่ามกลางการระบาดของโรคไวรัสโควิด-19 ที่มีสายพันธุ์ใหม่ๆ เกิดขึ้นเป็นระยะๆ นับตั้งแต่สายพันธุ์อัลฟา เบตา เดลตา และสายพันธุ์ล่าสุดก็คือ โอไมครอน ตอนนี้มีสายพันธุ์ย่อยเรียกว่า BA.1 BA.2 เข้าไปอีก
เมื่อวันที่ 14 มกราคมที่ผ่านมา ศาล District Court for the Northern District of California ได้มีคำพิพากษาในคดี SEC v. Panuwat ก่อให้เกิดหลักของ insider trading สายพันธุ์ใหม่ขึ้นมาเหมือนกัน
คดีนี้ นาย Matthew Panuwat (เข้าใจว่าคงมีเชื้อไทยอยู่ด้วย) เป็นผู้อำนวยการฝ่ายของบริษัท Medivation, Inc. ซึ่งเป็นบริษัททางการแพทย์ มีหน้าที่ในการทำงานร่วมกับผู้บริหารของบริษัทและที่ปรึกษาทางการเงินในการรวมกิจการของ Medivation, Inc. กับบริษัทอื่น และนาย Panuwat ได้รับแจ้งจาก CEO ว่า บริษัท Pfizer มีความประสงค์จะซื้อกิจการของ Medivation
Panuwat จึงได้ไปซื้อออปชันหุ้นของบริษัท Incyte, Inc. ซึ่งไม่ได้เป็นคู่กรณีของการรวมกิจการครั้งนี้ แต่เป็นบริษัทที่จะได้รับผลประโยชน์ในฐานะคู่ค้าของ Medivation
หลังจากที่ข่าวเรื่องการรวมกิจการของ Medivation และ Pfizer ประกาศออกไป หุ้นของ Medivation ก็ขึ้น 20% รวมทั้งหุ้นของบริษัทขนาดกลางอื่นๆ ด้วย ในจำนวนนั้นก็มีหุ้นของบริษัท Incyte, Inc. ด้วย
และจากการที่นาย Panuwat ได้ไปซื้อออปชันของหุ้น Incyte, Inc. ไว้ดังที่กล่าวมาแล้ว ก็เลยได้กำไรไป 107,666 ดอลลาร์
แต่เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2021 SEC ก็ฟ้องคดีกล่าวหาว่า นาย Panuwat ทำละเมิดมาตรา 10(b) ของ the Exchange Act และ Rule 10b-5 ซึ่งออกตามมาตราดังกล่าวกำหนดความผิดเกี่ยวกับ insider trading เพราะนาย Panuwat ไปซื้อออปชันของบริษัทภายหลังจากที่ได้ทราบเรื่องการรวมกิจการของ Medivation และ Pfizer
คดีนี้เป็นคดีที่แปลก เพราะตามปกติคดี insider trading ก็จะเกี่ยวข้องกับบริษัทที่เข้ามาซื้อขายหรือรวมกัน ไม่รวมถึงบริษัทที่สาม นับเป็นหลักกฎหมายใหม่ที่ SEC (ก.ล.ต. สหรัฐฯ) นำมาบังคับใช้
ศาลตัดสินว่าถ้อยคำของกฎหมาย insider trading ใช้คำว่า ข้อมูลที่เป็นความลับของบริษัทหนึ่ง กฎหมายจึงห้ามมิให้ไปซื้อขาย “หุ้นใด” (“any security”) โดยใช้ข้อมูลที่เป็นความลับนั้น เพราะฉะนั้น นาย Panuwat จึงมีความผิดฐาน insider trading เพราะใช้ข้อมูลความลับของ Medivation ไปซื้อหุ้น Incyte, Inc.,
คดีนี้ยังไม่แน่ว่าจะมีการอุทธรณ์ไปที่ศาลสูงต่อไปหรือไม่ แต่ในชั้นนี้ก็คือ การไปซื้อหลักทรัพย์ของบริษัทที่เกี่ยวข้องโดยใช้ข้อมูลที่เป็นความลับ แม้จะเป็นของอีกบริษัทหนึ่ง ผู้ซื้อก็มีความผิดฐาน insider trading
ในกฎหมายไทย พระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ 2536 ก็ได้พูดถึง insider trading ไว้ในมาตรา 242 ว่า
“ห้ามมิให้บุคคลใดซึ่งรู้หรือครอบครองข้อมูลภายในที่เกี่ยวกับบริษัทที่ออกหลักทรัพย์กระทำการดังต่อไปนี้
(1) ซื้อหรือขายหลักทรัพย์ หรือเข้าผูกพันตามสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่เกี่ยวข้องกับหลักทรัพย์ไม่ว่าเพื่อตนเองหรือบุคคลอื่น……..”
ถ้าจะว่าไปแล้ว จะตีความแบบกฎหมายฝรั่งก็อาจจะได้ เพราะคำว่า “หลักทรัพย์” ในกฎหมายไทย ไม่ได้ถูกจำกัดว่าต้องเป็นหลักทรัพย์ของบริษัทที่ออกหลักทรัพย์เท่านั้น
ฝรั่งเขาเลยเรียกการกระทำเช่นนี้ว่า “shadow trading” คือ การใช้ข้อมูลที่เป็นความลับของบริษัทหนึ่งไปซื้อหลักทรัพย์ของบริษัทที่มีผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจร่วมกัน
“shadow trading” ก็เลยนับเป็นสายพันธุ์ใหม่ของ insider trading