ThaiPublica > คอลัมน์ > คดี “ซินแสโชกุน” ไม่ใช่คดีสุดท้าย

คดี “ซินแสโชกุน” ไม่ใช่คดีสุดท้าย

18 เมษายน 2017


พิเศษ เสตเสถียร

น.ส.พสิษฐ์ อริญชย์ลาภิศ หรือซินแสโชกุน ที่มาภาพ : http://img.tnews.co.th/userfiles/images/560000003914201.JPEG

อนุสนธิจากคดีของ “ซินแสโชกุน” หรือ น.ส.พสิษฐ์ อริญชย์ลาภิศ ที่ถูกกล่าวหาว่าหลอกลวงประชาชนโดยการให้เข้าลงทุนที่ให้ผลตอบแทนสูง แล้วให้ไปเที่ยวต่างประเทศในราคาที่ต่ำมาก เรื่องเกิดมาแดงขึ้นก็เพราะมีผู้ที่มาเข้าร่วมการทำธุรกิจนี้ร่วมพันคนจนเนืองแน่นสนามบินสุวรรณภูมิแต่ไม่ได้ไป การกระทำของ “ซินแสโชกุน” เช่นนี้อาจเข้าข่ายความผิดฐานแชร์ลูกโซ่

ห่างมาอีก 2-3 วัน แพทย์หญิงของโรงพยาบาลของรัฐแห่งหนึ่ง พร้อมกลุ่มผู้เสียหายซึ่งมีทั้งแพทย์ วิศวกร และพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน รวมกว่า 10 คน เดินทางไปแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจกองปราบปรามว่า ถูกว่าที่ น.ต. แพทย์หญิงโรงพยาบาลรัฐเหมือนกันหลอกลวงโดยการชักชวนให้ร่วมลงทุนในบริษัททัวร์และจองโรงแรมซึ่งเป็นบริษัทของแฟนว่าที่ น.ต. แพทย์หญิงคนดังกล่าว โดยอ้างว่าจะได้รับผลตอบแทนร้อยละ 6 ถึง 18 ต่อเดือนโดยมีผู้เสียหายเกือบ 40 คน มูลค่าความเสียหายกว่า 64 ล้านบาท นับเป็นคดีที่ 2 ที่ติดต่อจากคดีแรกเพียงไม่กี่วัน

ท่านชูชาติ ศรีแสง อดีตผู้พิพากษาหัวหน้าคณะศาลฎีกาได้ให้ข้อสังเกตไว้ใน Facebook ของท่านในเรื่องนี้ว่า

“…กรณีนี้ผู้ได้รับความเสียหายต่างก็มีปัญญาเฉลียวฉลาดกันทั้งนั้น แต่เพราะความโลภที่ได้จะผลตอบแทนในการลงทุนสูงถึงร้อยละ 6 ถึง 18 ต่อเดือน ทั้งหลงเชื่อผู้มาหลอกลวงว่าเป็นแพทย์ทำงานอยู่โรงพยาบาลรัฐชื่อดัง ปัญญาและความฉลาดที่มีอยู่ก็หายไปหมด จึงไม่มีสติพอที่จะคิดว่าการทำธุรกิจที่มีผลกำไรโดยมีผลตอบแทนให้แก่ผู้ลงทุนถึงร้อยละ 6 ถึง 18 ต่อเดือน หรือร้อยละ 72 ถึง 216 ต่อปี มันจะเกิดขึ้นได้อย่างไร เว้นแต่การทำธุรกิจที่ผิดกฎหมาย หรือหากมีได้จริงผู้ทำธุรกิจก็คงไม่มาชวนคนอื่น เพราะธุรกิจที่มีกำไรสูงหากขาดเงินทุนก็ย่อมสามารถไปกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงินได้”

ด้วยเหตุผลเพียงเท่านี้ ฟังดูก็ไม่น่าจะมีใครไปหลงเชื่อแล้ว แต่ว่าเรื่องแปลกแต่จริงก็คือ แชร์ลูกโซ่นี้เล่นกันมาหลายยุคหลายสมัย มีคนตกเป็นเหยื่ออยู่เรื่อย และไม่ได้มีเล่นกันแต่ในหมู่คนไทย ในต่างประเทศก็มีแชร์ลูกโซ่กันทั้งนั้น

แชร์ลูกโซ่ Ponzi Scheme เรียกตามชื่อของนาย Charles Ponzi ผู้ดำเนินกิจการแชร์ลูกโซ่ในสหรัฐอเมริกาในปี ค.ศ. 1920 ที่มาภาพ : https://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/6/66/Charles_Ponzi.jpg

อันว่าแชร์ลูกโซ่นี้ ฝรั่งเขาเรียกว่า “Ponzi Scheme”ตามชื่อของนาย Charles Ponzi ผู้ดำเนินกิจการแชร์ลูกโซ่ในสหรัฐอเมริกาในปี ค.ศ. 1920 ตามประวัติมีว่านาย Ponzi ถือกำเนิดเป็นชาวอิตาเลียน ภายหลังย้ายมาอยู่สหรัฐอเมริกาในปี ค.ศ. 1903 ทำงานที่ถูกกฎหมายและผิดกฎหมายหลายอย่าง จนกระทั่งวันหนึ่ง เขาได้รับจดหมายฉบับหนึ่งจากสเปนโดยจดหมายนั้นมีใบ International Reply Coupon (IRC) แนบมาด้วย นาย Ponzi ไม่รู้จัก IRC มาก่อน ก็ไปสอบถามจากคนอื่นเขาดูว่าคืออะไร พอรู้ว่าคืออะไรเท่านั้น เขาก็เห็นโอกาสทำกำไรได้จากตั๋ว IRC นั้นทันที

IRC นั้นเป็นเอกสารทางไปรษณีย์ที่ให้ผู้ส่งจดหมายในประเทศหนึ่งที่จะส่งไปให้ผู้รับในอีกประเทศหนึ่ง เพื่อผู้รับจะได้ใช้ตั๋ว IRC นี้ชำระเงินค่าซื้อแสตมป์เมื่อตอบจดหมายนั้น พูดง่ายๆ คือ ผู้ส่งได้ให้เงินเป็นค่าไปรษณีย์สำหรับผู้รับในการตอบจดหมายนั่นเอง โดยตั๋วนี้จะแลกเป็นเงินหรือซื้อเป็นแสตมป์ก็ได้ แต่ความที่อยู่คนละประเทศที่มีค่าส่งและค่าของเงินต่างกัน เหมือนกับการซื้อขายเงินตราต่างประเทศที่เงินสองสกุลจะมีค่าต่างกัน นาย Ponzi จึงมองเห็นผลกำไรจากส่วนต่างนั้น

นาย Ponzi จึงลาออกจากงานที่ทำ ยืมเงินมาแล้วส่งไปให้ญาติในอิตาลีเพื่อทำการซื้อตั๋ว IRC ส่งมาและทำกำไรจากการซื้อขายนี้กว่า 50% จากนั้น เขาจึงได้ตั้งบริษัทชื่อ Securities Exchange Company (ชื่อเหมือนตลาดหลักทรัพย์) ทำการซื้อมาขายไปตั๋ว IRC นี้ ได้กำไรมหาศาล นาย Ponzi เปลี่ยนเป็นมหาเศรษฐีในเวลาไม่นาน ภายหลังก็มีคนอื่นแห่กันเข้ามาลงทุนกันอย่างมากมาย จนสุดท้ายว่ากันว่าตั๋ว IRC มีอยู่ 27,000 ใบ แต่มีคนเข้ามาลงทุนถึง 16 ล้านใบ ดังนั้น จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะตั๋วมากขนาดนั้น การซื้อขายตั๋วก็เลยต้องกลายเป็นแชร์ลูกโซ่ เอาเงินของคนซื้อทีหลังมาจ่ายคนซื้อทีแรก

ที่มาภาพ : http://i.dailymail.co.uk/i/pix/2013/04/21/article-2312590-196BB8AA000005DC-740_964x995.jpg

ในที่สุด หลังจากดำเนินการมาได้ร่วมปี นาย Ponzi ก็ถูกจับกุมและนำตัวขึ้นศาล ในการพิจารณาศาลเห็นว่าผิดจริง จึงพิพากษาให้จำคุก 5 ปี เป็นอันจบสิ้นแชร์ลูกโซ่ของนาย Ponzi แต่ชื่อของเขาก็ยังอยู่ถึงทุกวันนี้ เวลาฝรั่งพูดถึงแชร์ลูกโซ่ เขาก็จะเรียกว่า Ponzi Scheme ตามนามกรของนาย Ponzi (ไม่รู้ว่าเป็นเกียรติหรือเปล่า?)

ในเมืองไทยเรานั้น แชร์ลูกโซ่ที่เรารู้จักกันดีเป็นครั้งแรกและมีชื่อเสียงโด่งดังก็คือ “แชร์แม่ชม้อย” ราวปี 2526-2527 ที่ลงทุนรถน้ำมัน มีหน่วยในการลงทุนเป็นคันรถ จะลงทุนกี่คันก็ว่ากันไป ตอนหลังคนเล่นมากขึ้นก็แตกหน่วยออกมาเป็นล้อรถ ใครเบี้ยน้อยหอยน้อย (แต่อยากรวย) ก็ลงทุนแค่เป็นล้อ

หลังจากแชร์แม่ชม้อยก็มีแชร์แม่นกแก้ว แชร์ชาร์เตอร์ ไปจนถึงแชร์บลิตเชอร์ ล่าสุดก็มีแชร์ยูฟันด์ แล้วก็ยังมีแชร์ก๋วยเตี๋ยว แชร์สมุนไพร แชร์พวงมาลัย ฯลฯ นับกันไม่หวาดไหว

เมื่อหลายปีก่อน ก็มีผู้หญิงไทยถูกจำคุกในประเทศอังกฤษ เพราะไปเป็นเจ้ามือแชร์ลูกโซ่นี่เหมือนกัน เรียกว่าคนไทยเรานี่ดูเหมือนจะเชี่ยวชาญเรื่องแชร์ลูกโซ่ (ดู Thai Business Woman Jailed in UK for Running Ponzi Scheme โพสต์เมื่อ 29 August 2013 ใน thaivisa.com)

เมื่อเกิดมีแชร์แม่ชม้อยขึ้นและรัฐบาลต้องการที่จะปราบปราม ก็ได้มีการตราพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527 ขึ้น กำหนดให้การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนนี้เป็นความผิดตามกฎหมาย นับเป็นกฎหมายเกี่ยวกับแชร์ลูกโซ่โดยตรง

ตามพระราชกำหนดนี้ “กู้ยืมเงิน” หมายความว่า “รับเงิน ทรัพย์สิน หรือผลประโยชน์อื่นใด ไม่ว่าในลักษณะของการรับฝาก การกู้ การยืม การจำหน่ายบัตรหรือสิ่งอื่นใด การรับเข้าเป็นสมาชิก การรับเข้าร่วมลงทุน การรับเข้าร่วมกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือในลักษณะอื่นใด โดยผู้กู้ยืมเงินหรือบุคคลอื่นจ่ายผลประโยชน์ตอบแทน หรือตกลงว่าจะจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนแก่ผู้ให้กู้ยืมเงิน ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นการรับเพื่อตนเองหรือรับในฐานะตัวแทนหรือลูกจ้างของผู้กู้ยืมเงินหรือของผู้ให้กู้ยืมเงิน หรือในฐานะอื่นใด และไม่ว่าการรับหรือจ่ายเงิน ทรัพย์สิน ผลประโยชน์อื่นใด หรือผลประโยชน์ตอบแทนนั้น จะกระทำด้วยวิธีการใด ๆ”

ตอนนั้นใครๆ ก็คิดว่าแชร์แม่ชม้อยเป็นคดีแรกในเมืองไทย แต่เชื่อไหมครับว่า แชร์ลูกโซ่นี้มีตั้งแต่ก่อนปี พ.ศ. 2498 เสียอีก ปรากฏหลักฐานเป็นคำพิพากษาฎีกาที่ 1201-1203/2498 ความว่า

“จำเลยที่ 1 ตั้งสำนักงานขึ้นให้ชื่อว่าชัยวัฒนา มีวัตถุประสงค์ทำการค้าและชักชวนให้ประชาชนนำเงินมาฝากเป็นการเข้าหุ้น แต่การเข้าหุ้นนี้จำเลยคิดผลประโยชน์ให้ร้อยละ 50 ต่อเดือนเป็นรายเดือน มีประชาชนหลายจังหวัดนำเงินมามอบให้จำเลยเป็นจำนวนมากมายหลายสิบล้านบาท เพราะหวังประโยชน์ตอบแทนอันสูง ข้อที่จำเลยแก้ว่าจำเลยนำเงินไปหมุนเวียนทำการค้ายานานาชนิดโดยเอากำไรมาแบ่งปันแก่ผู้ฝากหรือผู้ถือหุ้นนั้นไม่น่าเชื่อเพราะจำเลยมิได้มีบัญชีหรือหลักฐานอันใดแสดงให้เห็นเป็นเช่นนั้นและเมื่อคำนวนอัตราผลประโยชน์ร้อยละ 50 ต่อเดือนที่จำเลยเคยคิดให้แล้วในต้นเงินเพียงร้อยบาท ถ้าฝากจำเลยสมทบทั้งต้นและผลประโยชน์ในปีหนึ่งจำเลยจะต้องจ่ายเป็นเงินหนึ่งหมื่นเศษถ้าถึงปีที่ 2 ก็เป็นจำนวนเกินล้านบาท ซึ่งเป็นที่เห็นได้ชัดว่าจำเลยจะไปหาผลกำไรจากการค้าที่ไหนมาจ่ายแม้แต่จำเลยเองก็ว่าหุ้นส่วนมีกำไรเท่าใดไม่อาจรู้ได้ แต่กระนั้นจำเลยก็คงจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ฝากไปได้ เหตุที่จำเลยจ่ายเงินปันผลทั้ง ๆ ที่ไม่รู้ว่ามีกำไรเท่าใดนั้นย่อมประกอบให้เห็นเจตนาจำเลยในการลวงให้เขาหลวงเชื่อโดยแท้ ข้ออ้างจำเลยที่ว่าเพราะเจ้าพนักงานมาควบคุมให้กิจการชงักจึงไม่สามารถจ่ายเงินแก่ผู้ฝากนั้น ศาลฎีกากลับเห็นว่าถ้าเจ้าพนักงานไม่เข้าควบคุมแล้วก็อาจมีผู้รู้เท่าไม่ถึงการนำเงินมาฝากจำเลยมากขึ้นทำให้เกิดความเดือดร้อนแก่ประชาชนยิ่งขึ้น

การกระทำของจำเลยเป็นการใช้อุบายเป็นทำนองว่าตนทำการค้าใหญ่โตให้เขานำเงินมาฝากเข้าเป็นหุ้นส่วน โดยสัญญาจะจ่ายเงินปันผลให้เขาร้อยละ 50 ต่อเดือน ทั้ง ๆ ที่ตนเองก็รู้ดีว่าไม่สามารถจะจ่ายให้เขาได้ จึงนับว่าเป็นความเท็จจนเขาหลงเชื่อนำเงินมาฝากมากมายเช่นนี้ ย่อมเข้าอยู่ในลักษณะความผิดฐานฉ้อโกงตามมาตรา 304”

(ไม่ต้องประหลาดใจว่าในคำพิพากษาทำไมมีคำที่สะกดผิดหลายที่ การสะกดถ้อยคำเป็นไปตามวิธีการสะกดสมัยนั้น ไม่ได้สะกดผิด)

จะเห็นได้ว่าแชร์ลูกโซ่เป็นของที่มีมาทุกยุคทุกสมัย หลายครั้งที่ลูกแชร์น่าจะรู้ว่าเป็นของไม่จริง แต่ก็ยังไปเล่น ทำไมหรือครับ?

คำตอบมีประการเดียวครับคือ “ความโลภ”

ทุกคนมีความโลภ เมื่อเห็นเขาจ่ายค่าตอบแทนแพงๆ ก็อยากได้กัน แม้จะรู้ว่ามันเป็นแชร์ลูกโซ่ซึ่งผิดกฎหมาย และวันหนึ่งแชร์ลูกโซ่ที่เล่นนี้ต้องพัง ก็ยังอยากเล่น

เพราะฉะนั้น ในอนาคตก็ต้องมีคดีแชร์ลูกโซ่ออกมาอีกเรื่อยๆ ตราบใดที่มนุษย์ยังมีความโลภ ได้แต่หวังว่าพวกเราในวันนี้คงจะไม่เป็นเหยื่อของแชร์ลูกโซ่ที่จะมีมาในวันข้างหน้า

ขอจบบทความนี้ด้วยคำกล่าวของท่านชูชาติ ศรีแสง ที่ว่า

“…พระพุทธองค์ทรงตรัสสั่งสอนมากว่า 2,600 ปีแล้วว่า ความโกรธ ความโลภ และความหลง เกิดขึ้นกับใครเมื่อใด ผู้นั้นปัญญาจะหมดไป”