ThaiPublica > คอลัมน์ > Big Four จะเปลี่ยนรูปแบบการประกอบวิชาชีพกฎหมายหรือไม่?

Big Four จะเปลี่ยนรูปแบบการประกอบวิชาชีพกฎหมายหรือไม่?

10 กันยายน 2021


พิเศษ เสตเสถียร

ผู้เขียนได้เขียนบทความเรื่อง “Big Four กับการรุกคืบเข้าสู่วงการกฎหมาย” ลงพิมพ์ใน “ไทยพับลิก้า” เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2019 พูดถึงการที่สำนักงานตรวจสอบบัญชีใหญ่ 4 แห่งอันได้แก่ PwC, Deloitte, EY และ KPMG ก้าวเข้ามาสู่วงการธุรกิจที่ปรึกษากฎหมายแข่งขันกับสำนักงานกฎหมาย

เมื่อต้นเดือนกันยายน 2564 นี้ LexisNexis Legal & Professional ซึ่งเป็นบริษัทบริการข้อมูลทางกฎหมายระดับโลกได้จัดทำรายงานเรื่อง“Are the Big Four reshaping the future of legal services?”เผยแพร่ออกมา ซึ่งในรายงานฉบับดังกล่าวมีข้อมูลที่น่าสนใจอยู่หลายประการเกี่ยวกับรูปแบบที่ปรึกษากฎหมายของ Big Four ที่กำลังทำอยู่

ในรายงานกล่าวว่า Big Four เข้าสู่วงการกฎหมายในทศวรรษ 1990 โดยในระยะเริ่มแรกนั้น Big Four มีนโยบายประกอบวิชาชีพกฎหมายแข่งกับสำนักงานกฎหมายโดยตรง ทำงานทุกอย่างเหมือนกับสำนักงานกฎหมาย แต่นโยบายนี้ได้เปลี่ยนแปลงไปแล้ว

นโยบายในปัจจุบัน สำนักงานกฎหมายของ Big Four จะไม่แข่งขันกับสำนักงานกฎหมายโดยตรง แต่มุ่งที่จะให้บริการลูกค้าในลักษณะของการให้คำปรึกษาและหาทางออก(solution)ในการทำธุรกิจร่วมกับที่ปรึกษาฝ่ายอื่น ๆ ที่ Big Four ดำเนินการอยู่เช่น ที่ปรึกษาทางธุรกิจ ที่ปรึกษาทางด้านไอที

David Wilkins ศาสตราจารย์แห่งคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัย Harvard กล่าวว่า “ยุทธศาสตร์ของ Big Four คือ การให้บริการที่แตกต่างออกไปจากการบริการแบบที่มุ่งแต่ค่าธรรมเนียม(fee-for-service model) ไปสู่การให้บริการแบบร่วมกันให้คำตอบทางธุรกิจ( integrated solutions model)”

Big Four จึงไม่จำเป็นต้องแข่งขันกับสำนักงานกฎหมาย งานกฎหมายแท้ ๆ จะให้สำนักงานกฎหมายทำไป Big Four จะรับงานที่เป็นทางด้านกฎหมายบวกธุรกิจ ซึ่งงานในลักษณะอย่างนี้สำนักงานกฎหมายจะไม่สามารถทำได้

ตัวอย่างเช่น การเข้าซื้อกิจการบริษัท Monsanto (ซึ่งเป็นบริษัทเคมีภัณฑ์ระดับโลก) โดยบริษัท Bayer (ซึ่งเป็นบริษัทเคมีภัณฑ์ระดับโลกเช่นกัน) มูลค่า 66,000 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2016 ขณะที่ทั้ง 2 บริษัทมีที่สำนักงานที่ปรึกษากฎหมายระดับโลกอย่าง Allen & Overy และ Wachtell, Lipton, Rosen & Katz ทำหน้าที่ในการเป็นที่ปรึกษากฎหมายในการรวมกิจการดังกล่าว แต่สำหรับงานภายหลังการรวมกิจการเช่น การรวมนโยบายและกระบวนการปฏิบัติงานต่าง ๆ ของบริษัททั้งสองเข้าด้วยกัน และการรวมสัญญาต่าง ๆ ทั้งหมดตกเป็นของ PwC

งาน Alternative Legal Service Provider หรือ ALSP ที่ให้บริการงานที่เกี่ยวข้องกับงานกฎหมายเช่น งานสนับสนุนการสืบสวนและฟ้องคดี งานค้นคว้าทางกฎหมาย งานตรวจสอบเอกสาร ฯลฯ เป็นงานสำคัญของสำนักงานกฎหมายของ Big Four งานพวกนี้ปกติเป็นงานของสำนักงานกฎหมาย แต่ทว่าสำนักงานกฎหมายนั้นมีต้นทุนซึ่งสูงขึ้นทุกวัน ทำให้ค่าธรรมเนียมที่คิดในการทำงานเหล่านี้สูงตามไปด้วย ลูกความจึงหันมาใช้บริการของบริษัท ALSP ซึ่งถูกกว่าแทน (รายละเอียดดูได้จากบทความของผู้เขียนเรื่องที่แล้ว)

งาน ALSP เพิ่มขึ้นเป็นอย่างมากในระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา Big Four ใช้เทคโนโลยีและกระบวนการที่มีประสิทธิภาพในการบริหารจัดการงานซึ่งมีปริมาณมาก และไม่ต้องใช้ความรู้ทางกฎหมายมากนักภายใต้ต้นทุนที่ต่ำกว่า

สำนักงานกฎหมายของ Big Four มีการใช้เทคโนโลยีช่วยในการทำงาน ตรงนี้เป็นจุดที่ต่างไปจากสำนักกฎหมายทั่วไป Fiona Maxwell ผู้สื่อข่าวสายการเงินอาวุโสจากสำนักข่าว MLex กล่าวว่า การใช้เทคโนโลยีเป็นองค์ประกอบหลักประการหนึ่งของการเสนอบริการทางกฎหมายของ Big Four

“Big Four ไม่ได้วางตำแหน่งตัวเองไว้เป็นสำนักงานกฎหมายเป็นเอกเทศ พวกเขารู้ว่านี่ไม่ใช่ช่องว่างในการทำมาหากินของพวกเขา เขาจึงไม่จำเป็นที่จะต้องพยายามเป็นสำนักกฎหมาย …. ในวงการกฎหมาย พวกเขาวางตัวเองไว้เป็นผู้เปลี่ยนแปลง(disruptors) มีงานกฎหมายมากมายที่สามารถใช้เครื่องจักรทำแทนได้เช่น การแก้ไขสัญญาบางอย่าง หรือประเด็นทางกฎหมายเช่น GDPR (กฎหมายเกี่ยวกับข้อมูลส่วนบุคคลของสหภาพยุโรป-ผู้เขียน)”

บริษัทต่าง ๆ หลายบริษัทเริ่มเปลี่ยนแปลงการให้งานกฎหมายมาที่ Big Four โดยเฉพาะการที่ Big Four สามารถให้คำตอบโดยมีเทคโนโลยีเข้าช่วยซึ่งคุ้มค่ากว่า(better value for money) และใช้เวลาเพียงครึ่งหนึ่งของเวลาที่สำนักงานกฎหมายใช้ ถ้าหากบริษัทนั้นต้องทำงานด้านการตรวจสอบบัญชี ภาษี หรืองานที่ปรึกษาอื่น ๆ กับ Big Four อยู่แล้ว ก็ทำไมจะเพิ่มงานด้านกฎหมายอีกอันหนึ่งไม่ได้

ในขณะที่สำนักงานกฎหมายจะทำงานแบบเป็น deal ครั้งเดียวจบ และงานจะมาต่อเมื่อลูกค้าเรียกใช้ แต่งานของสำนักงานกฎหมายของ Big Four จะเป็นงานแบบต่อเนื่องเพราะขายการบริการแบบต่าง ๆ ได้มากกว่างานกฎหมายอย่างเดียว

ในบทความเรื่อง The Triple Threat Facing Generalist Law Firms ของ Katherine Hollar Barnard ใน JD Supra บอกไว้ว่า Big Four จะมีความสัมพันธ์กับ COO, CEO, CFO และ CLO ของบริษัทต่างๆ มากกว่าสำนักงานกฎหมายที่มักจะคุ้นเคยกับหัวหน้าแผนกกฎหมายเพียงคนเดียว Big Four จะมีโครงการต่าง ๆ ให้กับผู้บริหารเช่น KPMG มีโครงการ “CFO Real Insights,” เผยแพร่บทวิเคราะห์ วิจัย สัมมนา เกี่ยวกับด้านการเงิน Deloitte มีโครงการ “Chief Executive Program” ให้ความรู้แก่ผู้บริหาร

ในประเทศอังกฤษ รายได้ด้านกฎหมายของ PwC เพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา ได้งานกับโครงสร้างบริษัท(business reorganisation) ของบริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่ BP และ บริษัทเครื่องสำอาง Shiseido งานเกี่ยวกับคดีภาษีจากสายการบินเช่น British Airways, Sky, Virgin Media, กลุ่มธุรกิจค้าปลีก Marks & Spencer Group และ ธนาคาร RBS

KPMG ซึ่งรายได้เพิ่มขึ้นเป็น 3 เท่าในรอบ 5 ปีได้งานจาก Sainsbury’s ซึ่งเป็นเครือข่ายซุปเปอร์มาร์เก็ตขนาดใหญ่ Deloitte ได้งานจาก Fujitsu, บริษัทโทรศัพท์ BT, EE และ Ikea ในขณะที่ EY ได้งานจาก Nokia, Tesco และบริษัทยา Merck Sharp & Dohme

บทความเรื่อง Is it time for law firms to take Big Four competition seriously? ของ Jenna Greene ใน Westlaw Today บอกว่า จากการศึกษาของ Robert Couture, Senior Research Fellow จาก Harvard Law School Center on the Legal Profession พบว่า

น่าประหลาดใจที่จากการสัมภาษณ์ผู้บริหาร 20 คนจากสำนักงานกฎหมายที่ใหญ่ระดับโลกใน Global 100 พบว่า 70% ไม่มีแผนต่อการรุกคืบของ Big Four

ขณะเดียวกันทางสำนักงานกฎหมายบางแห่งก็มีการปรับตัวเช่นเดียวกัน Dentons ซึ่งเป็นสำนักงานกฎหมายที่ใหญ่ที่สุดในโลกมีทนายความ 12,000 คนใน 204 สาขาก็มีพนักงาน 2,000 คนที่มิได้ทำงานด้านกฎหมาย แต่ทำทางด้านงานที่ปรึกษาแทน สำนักงานกฎหมายส่วนใหญ่จะมุ่งสู่เทคโนโลยีของกฎหมาย(LegalTech)มากกว่า โดยมุ่งหวังว่า จะทำให้เกิดเทคโนโลยีใหม่ ๆ ทางกฎหมายที่จะเอามาใช้ในการประกอบวิชาชีพได้อย่างเช่น Allen & Overy มี Fuse ทำหน้าที่สนับสนุนโครงการ LegalTech และ FinTech ต่าง ๆ Linklathers มี Nakhoda เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีทางกฎหมาย เป็นต้น

ต้องคอยดูกันต่อไปว่า รูปแบบที่ปรึกษากฎหมายพร้อมกับการเป็นที่ปรึกษาทางธุรกิจจะเป็นรูปแบบใหม่ที่เปลี่ยนแปลงรูปแบบการประกอบวิชาชีพกฎหมายแบบดั้งเดิมหรือไม่