นักวิชาการประเมินสถานการณ์ โลกรวน ภัยพิบัติ น้ำท่วม น้ำแล้ง มีความรุนแรงมากขึ้น ขณะที่รัฐล้มเหลวรับมือน้ำท่วม ยกตัวอย่างเหตุการณ์น้ำ แม่สาย จ.เชียงราย เตือนภัยหลายหน่วยงานจนสับสน จี้บริหารแบบ “single command” ทางออกจัดการปัญหา

เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2567 เวทีเสวนา Dialogue Forum 1 l Year 5: โลกรวนในโลกร้อน: ไต้ฝุ่นยางิ Monsoons และความท้าทายด้านภูมิอากาศในภูมิภาค จัดโดย มูลนิธิคอนราด อาเดนาวร์ สำนักงานประเทศไทย (Konrad Adenauer Foundation (KAS), Thailand Office) และความร่วมมือกับองค์กรพันธมิตร, สำนักข่าว Bangkok Tribune ร่วมกับ Decode.plus Thai PBS, SEA-Junction, และชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม เพื่อร่วมกันประเมินความเสี่ยงและบทเรียนที่เกิดขึ้นกับเหตุการณ์น้ำท่วมเชียงราย
กรุงเทพฯ ร้อนขึ้น-ลุ่มเจ้าพระยาน้ำท่วมถี่ขึ้น
รศ. ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ศูนย์วิจัยอนาคตศึกษา และผู้เชี่ยวชาญ IPCC ได้กล่าวถึงสถานการณ์ความเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ หรือโลกร้อน โลกรวนว่า สภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงทำให้เกิดภัยพิบัติที่มีความถี่มากขึ้น ทั้งน้ำแล้งและน้ำท่วม ขณะที่เทคโนโลยีปัจจุบันทำให้การพยากรณ์ทำได้ยากมากขึ้น โดยในอนาคตอยู่ระหว่างการพัฒนาและการนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาใช้ในการพยากรณ์เพื่อให้แม่นยำมากขึ้น
ผลกระทบจากปัญหาโลกรวน ทำให้ประเทศไทยไม่เหมือนเดิม โดยคาดการณ์ว่าในอนาคต (2040-2059) กรุงเทพมหานครจะมีจำนวนวันที่อุณหภูมิสูงเกิน 35 องศาเซลเซียสเพิ่มมากขึ้น จากเดิม 17 วันจะเพิ่มขึ้นเป็น 3 เดือน
นอกจากนี้ ยังเกิดความเปลี่ยนแปลงทั้งในเรื่องฝนแล้งและฝนตกมากสลับกันไป โดยมีความรุนแรงและมีความถี่มากขึ้น เช่น ลุ่มเจ้าพระยา จะเห็นว่าเวลาแล้งก็แล้งหนัก ท่วมก็ท่วมหนัก มีความถี่ของความรุนแรง โดยเทียบกับปริมาณฝนในปี 2554 ที่ปริมาณฝนตกเกิน 200 มิลลิเมตร หรือฝน 6 เดือน จะมาทุก 50 ปี แต่ในอนาคต ฝนในรูปแบบดังกล่าวจะมาถี่มากขึ้น รอบหนึ่งแค่ 10 ปีเท่านั้น
“ทั้งความถี่และความรุนแรงจะเพิ่มมากขึ้น ซึ่งในลุ่มเจ้าพระยาเราได้ทำการศึกษาพบว่ามีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นจริง ซึ่งคำถามคือ เราจะอยู่กันอย่างไรเมื่อความแปรปรวนมากขึ้น โดยทุกคนบอกว่าเราต้องปรับตัวเองและแก้ปัญหาที่ต้นตอ เช่น ประเทศไทยประกาศ ปี 2050 carbon neutrality และปี 2065 เป็น net zero ซึ่งเป้าหมายดังกล่าวเราต้องเดินไปให้ถึง”

น้ำท่วมเชียงรายรัฐล้มเหลวจัดการน้ำท่วมในภาวะวิกฤติ
รศ. ดร.เสรี กล่าวถึงการรับมือกับปัญหาโลกรวนของไทยว่าล้มเหลว และอาจจะไม่สามารถรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นได้ หากไม่มีการบูรณาการอย่างจริงจัง โดยเฉพาะบทเรียนในการจัดการน้ำในพื้นที่ภาคเหนือ เชียงราย ที่ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต และโดยเฉพาะน้ำท่วมที่จังหวัดเชียงราย คาดความเสียหายกว่า 30,000 ล้านบาท
“ต้องยอมรับว่าการทำงานของรัฐล้มเหลว แม้หน่วยงานภาครัฐ เช่น สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) จะรวบรวมข้อมูลบูรณาการเพื่อส่งให้หน่วยงานต่างๆ แล้ว แต่สุดท้ายประชาชนในพื้นที่ก็ยังไม่ได้รับข่าวสาร หนีน้ำท่วมไม่ทัน หน่วยงานต่างๆ ก็ต่างคนต่างเข้าไปช่วยเหลือโดยไม่มีศูนย์กลางคอยบัญชาการ ทั้งหมดทั้งมวลเกิดจากการที่มีช่องว่างในการทำงานระหว่างหน่วยงานและท้องถิ่น ซึ่งท้องถิ่นเองก็ประสบปัญหาว่าได้รับข่าวสารจากหลายหน่วยงานมากเกินไป และสุดท้ายแล้วต้องเชื่อข้อมูลชุดไหน หรือหน่วยงานไหนในการแจ้งเตือนภัย”
รศ. ดร.เสรีมองว่า แผนแม่บทในการรับมือภัยพิบัติมีอยู่แล้ว คือ แผนแม่บทบริหารจัดการน้ำ ภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ซึ่งกำหนดแนวทางในการปฏิบัติไว้ โดยแบ่งออกเป็น
1. การเตรียมตัวก่อนเหตุการณ์ คือการประเมินความเสี่ยง ฝนตกที่ไหน ปริมาณเท่าไหร่ พื้นที่ไหนได้รับผลกระทบเพื่อเตรียมรับมือ
2. เตรียมความพร้อม โดยต้องจัดระบบการจัดการ มีแผนรองรับ พื้นที่รองรับการอพยพ และการแจ้งเตือนภัย แต่เหตุการณ์น้ำท่วมเชียงราย ไม่เห็นความชัดเจนในเรื่องนี้เลย
3. การจัดการภาวะฉุกเฉิน หรือเมื่อเกิดเหตุแล้ว ต้องช่วยเหลืออย่างไร อพยพไปที่ไหน ซึ่งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในพื้นที่เชียงราย จะเห็นว่ามีความสับสนมาก
4. การฟื้นฟูหลังน้ำลด ซึ่งตอนนี้โคลนเต็มบ้านของชาวบ้าน ไม่รู้จะฟื้นฟูอย่างไร และใช้ระยะเวลาเท่าไหร่
แต่เเมื่อเกิดเหตุการณ์จริงขึ้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ได้ทำตามขั้นตอนที่วางไว้
“ผมมองว่าขั้นตอนทั้งหมดล้มเหลว ไม่ทำหน้าที่ และถึงเวลาที่นายกรัฐมนตรีจะต้องทุบโต๊ะบูรณาการหน่วยงานร่วมกันว่า จะให้ข้อมูลหลักมาจากหน่วยงานใด ใครมีหน้าที่ทำอะไรบ้าง และในการตั้งคณะกรรมการอำนวยการและบริหารสถานการณ์อุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม (คอส.) ก็ควรแยกหน่วยงานที่มีอำนาจสั่งการ ออกจากหน่วยงานที่ต้องปฎิบัติหน้าที่ เพื่อให้การพูดคุยและการสั่งงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ไม่เสียเวลา ขณะเดียวกัน สุดท้ายแล้วท้องถิ่นที่ได้รับข้อมูล ก็ต้องนำไปบริหารจัดการในพื้นที่ให้ดีด้วย”

ไทยมีปัญหาช่องว่างการสื่อสาร
ด้านนางสาวกานท์กลอน รักธรรม โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติประจำประเทศไทย (UNDP) กล่าวถึง สถานการณ์ความเปลี่ยนแปลงของภาวะอากาศที่อาจจะส่งผลกระทบกับประเทศไทยว่า เหตุการณ์น้ำท่วมจังหวัดเชียงรายสะท้อนว่า มีปัญหาช่องว่างในการสื่อสารที่ไม่ดีเพียงพอ โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางที่ได้รับผลกระทบ ต้องมีการสื่อสารเพื่อให้รับมือได้มากที่สุด แต่ยังไม่ได้ทำการสื่อสารเพื่อสร้างความเข้าใจอย่างแท้จริง
“ปัญหาการสื่อสารเรื่องความเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศในไทยมีค่อนข้างมาก โดยเฉพาะเมื่อได้ติดตามรายงานแห่งชาติว่าด้วยความเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ ฉบับที่ 4 ซึ่งจัดทำโดยสำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม กรมโลกร้อน รายงานฉบับนี้มีความสำคัญมากเพราะต้องนำเสนอต่อที่ประชุมโลกทุก 4 ปีว่า สถานการณ์โลกร้อนในไทยมีความเสี่ยงอะไร รวมไปถึงการเสนอนโยบายที่จะรับมืออย่างไร ซึ่งคนไทยควรจะได้รับการสื่อสารในเรื่องเหล่านี้มากขึ้น”
สำหรับเนื้อหาในรายงานแห่งชาติว่าด้วยความเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ พบว่ากลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือเกษตรกร เพราะพื้นที่เกือบครึ่งของประเทศไทยใช้ทำเกษตรกรรม เมื่อเกิดภัยพิบัติจึงส่งผลกระทบต่อเกษตรกร
ด้านการประเมินความเสี่ยงในภาพรวมระยะยาว ที่ใช้ช่วงเวลาในอดีต ปัจจุบัน และอนาคตในช่วง 4-15 ปี มาประเมินความเสี่ยง 3 รูปแบบ คือ ความร้อน ภัยแล้ง และน้ำท่วม พบว่าผลกระทบของการจัดการทรัพยากรน้ำ ทั้งน้ำท่วมและน้ำแล้ง จะกระทบกับกรุงเทพฯ โคราช อุบลฯ เชียงใหม่ ส่วนผลต่อการเกษตรและความมั่นคงทางอาหารพบว่า โลกที่ร้อนขึ้นกระทบกับความเป็นอยู่ของสัตว์น้ำ ทำให้ตายหรืออยู่ไม่ได้ เช่น กุ้ง ปลา ส่วนสัตว์บกจะเป็นลูกวัว และในส่วนของพืชนั้น กระทบนาข้าว อ้อย ขาดน้ำ
ส่วนผลกระทบต่อจัดการทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมพบว่า อุบลราชธานีและเชียงใหม่มีความเสี่ยงหนักมาก เพราะสัตว์บกและสัตว์น้ำอยู่ไม่ได้ และมีโรคระบาดจากสัตว์เพิ่มมากขึ้น ขณะที่จังหวัดตามชายฝั่งทะเล เกิดการกัดเซาะชายฝั่ง 23% คิดเป็นมูลค่า 6,000 ล้านบาท ส่วนจังหวัดที่ได้รับผลกระทบต่อการท่องเที่ยว เช่น สุราษฎร์ธานี กรุงเทพฯ เชียงใหม่ อุบลราชธานี ภูเก็ต

ไฟป่า-ต้นไม่หาย เหตุน้ำโคลนถล่มเชียงราย
ดร.เจน ชาญณรงค์ ประธานชมรมผู้รับพระราชทานทุนมูลนิธิอานันทมหิดล และผู้ก่อตั้ง FB Page ฝ่าฝุ่น กล่าวว่า เหตุการณ์น้ำท่วมภาคเหนือในปีนี้แตกต่างจากเดิม แม้ข้อมูลพบว่าปริมาณน้ำฝนปีนี้มีความผิดปกติเพียงเล็กน้อย ไม่ได้เพิ่มขึ้น หรือมีค่าปกติ แต่อาจจะมีบางพื้นที่ที่มีค่าฝนเฉลี่ยมาก แต่ปัญหาที่พบคือ มีปัญหาเรื่องเสถียรภาพของดิน เพราะมีดินถล่ม ได้รับความเสียหายจำนวนมาก เพราะชั้นดินไม่สามารถอุ้มน้ำได้เหมือนเดิม เนื่องจากต้นไม้หายไป ทำให้เกิดดินถล่ม โดยเฉพาะดินบริเวณภาคเหนือที่ผ่านไฟป่ามาแล้วหลายพื้นที่และหลายครั้ง
ดร.เจนกล่าวว่า ไฟป่าแต่ละครั้ง นอกจากเกิดความเสียหายเผาต้นไม้แล้ว ผลกระทบของไฟป่าหลังจากนั้นมีมากและยังอยู่อีกนาน เพราะความร้อนเกิดขึ้นเผาส่วนประกอบของดิน หรือชีวมวลในดินทำให้ไม่สามารถอุ้มน้ำได้ และกว่าดินจะสามารถฟื้นฟูกลับมาได้ต้องใช้เวลากว่า 6-7 ปี เพราะฉะนั้น เรื่องไฟป่าสำคัญมาก และจำเป็นต้องมีข้อมูลการเกิดไฟป่าว่าเกิดขึ้นในพื้นที่ใดบ้าง เพื่อนำข้อมูลมาใช้ประโยชน์ ในการวางแผนรับมือสถานการณ์ เช่น น้ำท่วม ดินถล่ม ที่จะเกิดในอนาคตได้

แจ้งเตือนภัยแต่ข้อมูลไม่ถึงประชาชน
ขณะที่นายฐนโรจน์ วรรัฐประเสริฐ ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการน้ำแห่งชาติ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวถึงการเตือนภัยว่า เหตุการณ์น้ำท่วมในจังหวัดเชียงราย มีการคาดการณ์ถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจากพายุยางิ พร้อมออกจดหมายเตือนไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดแล้วก่อน 30 วัน โดยในวันที่ 15-26 สิงหาคมก่อนเกิดเหตุการณ์ 2 สัปดาห์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ ที่ดูแล สทนช. ได้ลงพื้นที่ ประชุมร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนพายุยางิจะเข้าไทย
นอกจากนี้ ก่อนเกิดเหตุการณ์น้ำท่วม 7 วัน ได้ลงพื้นที่เพื่อตรวจความพร้อมในการเตรียมรับมือ และมีการประเมินวิกฤติและแจ้งเตือนล่วงหน้า 3 วันไปยังหน่วยงานทั้งหมดแล้วก่อนที่พายุจะเข้ามาเช่นกัน
“ต้องบอกว่าตามกฎหมาย สทนช. ไม่ได้มีอำนาจในการแจ้งเตือนประชาชน แต่เรามีอำนาจในการแจ้งเตือนไปยังหน่วยงาน ซึ่งหลังจากการประเมินสถานการณ์ของพายุยางิแล้ว เราได้ส่งจดหมายแจ้งการประเมินและการรับมือไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อแจ้งเตือนภัยแล้ว แต่หลังจากนั้นหน่วยงานในพื้นที่ต้องแจ้งเตือนภัยไปยังประชาชน”
สำหรับเหตุการณ์แม่น้ำสาย ที่มีข้อมูลสถานีวัดน้ำเพียงจุดเดียวนั้น และขณะนี้ไม่สามารถใช้งานได้ เนื่องจากได้พังทลายจากน้ำหลากไปแล้ว รวมทั้งในประเทศเมียนมา ไม่มีจุดติดตั้งสถานีวัดน้ำที่จะสามารถรับรู้สถานการณ์น้ำบริเวณต้นน้ำได้นั้น เลขาธิการ สทนช. ได้ประชุมร่วมกับคณะกรรมการแม่น้ำโขง และคณะกรรมการล้านช้างแม่โขง ของประเทศจีน โดยได้ข้อสรุปว่า วันที่ 28 ตุลาคมนี้จะติดตั้งสถานีวัดน้ำในเมียนมา 3 จุด และจะได้รับงบประมาณจากจีนในการจัดทำระบบ early warning ให้แม่น้ำสายโดยเฉพาะแล้ว
นายฐนโรจน์กล่าวว่า ที่ผ่านมา สทนช. ได้ให้ข้อมูลไปแล้ว แต่ต้องมีแนวทางทำให้เครือข่ายที่รับข้อมูลมีประสิทธิภาพ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กรมทรัพยากรน้ำ และกรมทรัพยากรธรณี ได้พยายามสร้างความเข้าใจถึงการเตรียมการเมื่อได้รับข้อมูล โดยเฉพาะหน่วยงานหลักที่ใกล้ชิดประชาชนมากที่สุด คือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่ต้องเรียนรู้สถานการณ์ และเรียนรู้ระบบว่าข้อมูลที่ได้คืออะไร แล้วแจ้งถึงความเสี่ยงให้กับประชาชน ซึ่งในส่วนนี้ต้องปรับปรุงและเพิ่มประสิทธิภาพมากขึ้น
น้ำท่วมเชียงใหม่ ได้แจ้งเตือนภัยแล้ว
ส่วนสถานการณ์ปัจจุบันที่น้ำท่วมเชียงใหม่ โดย สทนช. ได้คาดการณ์ระดับน้ำที่สะพานนวรัฐ (สะพานข้ามแม่น้ำปิง) จังหวัดเชียงใหม่ ว่าระดับน้ำจะสูงขึ้นจาก 4 เมตรกว่า เป็น 4.50-5.00 เมตร ภายในวันที่ 26 กันยายน และตัวเมืองเชียงใหม่จะได้รับผลกระทบจากน้ำล้นตลิ่ง ที่ทำให้เกิดน้ำท่วมได้ ทั้งนี้ สทนช. ได้ประเมินและแจ้งข้อมูลไปยังทีมงานของนายกรัฐมนตรี และกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) แล้ว ซึ่ง ปภ. เองก็สามารถส่งข้อความแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่เสี่ยงได้แล้ว
นอกจากนี้ มีคำสั่งล่าสุดของนายกรัฐมนตรี แต่งตั้งนายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ให้เข้ามารับผิดชอบการจัดการน้ำท่วม ผ่านกองอำนวยการน้ำแห่งชาติที่ขณะนี้อยู่ระหว่างการเตรียมการจัดตั้ง เพื่อบูรณาการสรุปประเมินปริมาณน้ำ และรับหน้าที่หลักให้ข้อมูลเรื่องน้ำ และมีอำนาจเบ็ดเสร็จ (single command) ทำหน้าที่เสนอแนวทางการตัดสินใจดำเนินการ ให้คณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาสั่งการ
Single Command คือคำตอบ
ผศ. ดร.สิตางศุ์ พิลัยหล้า ภาควิชาวิศวกรรมทรัพยากรน้ำ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า สถานการณ์น้ำท่วมในภาคเหนือปีนี้ มีความหนักหน่วงไม่ต่างจากน้ำท่วมภาคกลางในปี 2554 แม้น้ำจะมาเร็วไปเร็ว แต่สร้างความเสียหายมาก โดยปัจจัยที่น้ำท่วมภาคเหนือแตกต่างจากน้ำท่วมภาคกลางในปี 2554 เพราะมาจากลักษณะภูมิประเทศภาคเหนือของไทยที่เปลี่ยนแปลงไปหลายด้าน ดังนี้
1. พื้นที่ป่าไม้ลดลง น้ำท่วมปีนี้ส่วนใหญ่เป็นดินโคลนถล่ม ซึ่งผิดปกติ น้ำที่ท่วมปีนี้มาจากการกัดเซาะหน้าดิน เนื่องจากพื้นที่ป่าไม้ลดลงมากที่สุดในรอบ 10 ปี โดยขณะนี้เหลือพื้นที่ป่าไม้ 31.4% ขณะที่มีเป้าหมายจะเพิ่มพื้นที่ป่าไม้เป็น 40% แต่คงไม่สามารถบรรลุเป้าหมายได้ เพราะพื้นที่ป่าไม้ยังคงลดลงต่อเนื่อง
2. การเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดิน เช่น มีการสร้างถนน อาคารพาณิชย์ ขวางทางน้ำ
3. การรุกล้ำลำน้ำ ทำให้ทางน้ำแคบลง ทั้งการสร้างแพ ร้านอาหาร โรงแรมต่างๆ ขณะที่หน่วยงานรับผิดชอบดูแลมีหลายส่วน แต่ไม่มีการจัดการ การรุกล้ำลำน้ำทำให้น้ำไหลลงมาเร็ว
4. โครงสร้างทางชลศาสตร์ที่อาจทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการเกิดภัยมีความรุนแรงมากขึ้น เช่น คันกั้นน้ำที่กักเก็บมวลน้ำ เพราะว่าทำให้น้ำมีโมเมนตัมมากขึ้น มีพลังทำลายล้างมากขึ้น รวมไปถึงความเสี่ยงจากการเสื่อมสภาพและแตก ก็จะสร้างความเสียหายรุนแรงได้

“เหตุจากการกระทำของมนุษย์ พื้นที่ป่าลดลง การรุกล้ำลำน้ำ เป็นตัวเร่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ โลกร้อนขึ้น น้ำมากขึ้น ทั้งกิจกรรมต่างๆ ส่งผลทำให้ปริมาณฝนผิดปกติ ซึ่งถ้าปีใดฝนตกมากกว่าปกติ ก็จะเกิดน้ำท่วมหนักมากขึ้น ในขณะเดียวกัน หากปีใดฝนน้อยกว่าปกติ ก็จะแห้งแล้งหนักมาก”
ผศ. ดร.สิตางศุ์กล่าวอีกว่า การบริหารจัดการน้ำมีทั้งในภาวะปกติและภาวะวิกฤติ ซึ่งรัฐบาลจำเป็นต้องดำเนินการทั้งด้าน supply side และ demand side โดย สทนช. ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแล (regulator) ด้านน้ำของประเทศ ต้องผลักดันให้เกิดกลไกจัดการน้ำในภาวะวิกฤติแบบ single command ตามที่ระบุไว้ใน พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ 2561 ให้เกิดขึ้นให้ได้
“ที่แม่สาย แม้ต้นน้ำมาจากเมียนมากว่า 80% และของไทยเองแค่ 20% แต่คำถามคือ น้ำเข้าทางแม่น้ำอาย จ.เชียงใหม่ ก่อนเข้าเชียงรายมีเวลา 1 วันในการเตรียมตัว ทำให้ไม่เข้าใจว่า 1 วันในการเตรียมรับหายไปไหน โดยไม่มีการส่งต่อข้อมูลจากต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำเลย”
ผศ. ดร.สิตางศุ์กล่าวอีกว่า การผันแปรและการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ มีปัจจัยความไม่แน่นอนมากมาย ซึ่งทุกพื้นที่มีความเสี่ยงที่จะเกิดภัยธรรมชาติ และยังยากต่อการคาดการณ์ ดังนั้น…
“การจะลดความสูญเสียที่อาจเกิดขึ้น คือต้องมีกลไกแจ้งเตือนภัยอย่างเป็นระบบ แต่ตอนนี้ยังไม่เป็นระบบ รวมไปถึงในเรื่องความช่วยเหลือเรื่องน้ำท่วมจากหน่วยงานต่างๆ เข้าไปคนละทิศละทาง ของบางอย่างไปกระจุกตัวอย่างบางจุด ในขณะที่บางจุดไม่ได้รับการช่วยเหลือ ดังนั้น จำเป็นต้องมี single command ทำงานเป็นระบบระเบียบ เช่นเดียวกับสถานการณ์ทีมหมูป่าติดถ้ำ”